ตากใบ กระจกสะท้อนกระบวนการยุติธรรม - Decode
Reading Time: 2 minutes

ขยายประเด็น

นวลน้อย ธรรมเสถียร

ผ่านกันไปอีกปีหนึ่งสำหรับวันครบรอบเหตุการณ์ตากใบเมื่อ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา หลาย ๆ ฝ่ายได้ใช้โอกาสนี้ในการแสดงออกเรื่องปัญหาความไม่เป็นธรรมซึ่งก็เหมือนกับอีกหลายเหตุการณ์ คือเมื่อถึงคราวครบรอบก็พูดกันทีหนึ่ง แต่สรุปแล้วก็อาจจะแค่ได้พูดถึงเท่านั้น

อันที่จริงจะพูดว่าไม่มีอะไรใหม่เกิดขึ้นเลยก็อาจจะไม่ตรงทีเดียวนัก เพราะปีนี้เราได้เห็นกลไกของรัฐสภาออกแถลงการณ์เรื่องตากใบ โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นกรรมาธิการวิสามัญที่เพิ่งจะตั้งขึ้นมาใหม่ ทำให้รัฐสภามีความเคลื่อนไหวในเรื่องสำคัญคือปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ในจังหวะที่สอดรับกับสถานการณ์อย่างมาก

เนื้อหาแถลงการณ์ที่ออกมาเมื่อ 25 ตุลาคมที่ผ่านมามีสาระสำคัญเรียกร้องให้รัฐบาลสร้างความเป็นธรรมในกรณีตากใบ โดยระบุอย่างจำเพาะเจาะจงให้มีการดำเนินคดีอาญากับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมที่นำไปสู่การเสียชีวิตของคนจำนวน 85 คนให้ทันก่อนที่อายุความของคดีอาญาจะหมดลงในปีหน้า

ยิ่งกว่านั้นยังเรียกหามาตรการที่จะจำกัดไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจเกินขอบเขต ไม่บังคับใช้กฎหมายจนเกิดการเลือกปฏิบัติและลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเรียกร้องให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่ก็ยกเลิกกฎหมายความมั่นคงที่ใช้อยู่ในพื้นที่ซึ่งมีอยู่สามฉบับคือกฎอัยการศึก พรก.ฉุกเฉินและพรบ.ความมั่นคง แถลงการณ์บอกว่า การสร้างความเป็นธรรมบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาคจะเป็นการ “ถอนฟืนออกจากไฟ” คือลดความรู้สึกเชิงลบที่ประชาชนมีต่อเจ้าหน้าที่และจะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างบรรยากาศการพูดคุยได้

แถลงการณ์จากรัฐสภาฉบับนี้ผู้เขียนถือว่ามีความหมายอย่างยิ่ง แม้ว่าในทางความเป็นจริงของชีวิต จะเป็นที่รู้กันว่าการจัดการปัญหาภาคใต้ยังคงอยู่ในมือของข้าราชการประจำฝ่ายความมั่นคงซึ่งระบบเข้มแข็งขึ้นอย่างมากภายในเวลาเกือบเก้าปีของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา และก็ต้องยอมรับด้วยว่ากลไกของรัฐบาลพลเรือนชุดใหม่ยังไม่เข้มแข็งพอในอันที่จะกำหนดมาตรการที่เกี่ยวกับสามจังหวัดภาคใต้ได้อย่างเต็มที่ การที่พรรคการเมืองในรัฐสภาสามารถแสดงบทบาทติดตามกระบวนการสร้างสันติภาพได้อย่างเป็นทางการ อย่างน้อยก็เป็นย่างก้าวสำคัญของการที่กลไกที่เป็นตัวแทนประชาชนจะเข้ามามีส่วนในเรื่องกระบวนการแก้ปัญหาสามจังหวัดภาคใต้ได้ การออกแถลงการณ์เรื่องของเหตุการณ์ตากใบถือได้ว่าเป็นการจัดวางท่วงทำนองที่อ่านได้ว่าฝ่ายตัวแทนของประชาชนมองความขัดแย้งในพื้นที่ จชต.เป็นปัญหาด้านการเมืองอย่างชัดเจน

กรณีตากใบไม่ได้มีความสำคัญต่อเฉพาะพ่อแม่ญาติพี่น้องของคนที่เสียชีวิต หรือกับสังคมและชุมชนคนในสามจังหวัดเท่านั้น แต่กับสังคมไทยโดยรวมด้วย  เพราะนี่เป็นตัวอย่างที่สำคัญมากที่สุดอันหนึ่งของปัญหาความไม่เป็นธรรมที่กำลังถูกปล่อยผ่านด้วยวิธีการเยียวยาด้วยเงินและปล่อยให้เวลาลบความทรงจำในขณะที่ช่องทางการทวงถามความยุติธรรมตามระบบถึงทางตัน

และอาจจะเพราะด้วยเหตุนี้ การจัดงานรำลึกหรือการพูดถึงแม้จะดูซ้ำซากแต่ก็ยังเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับสังคมไทยเพราะเราต้องเตือนความทรงจำกันเรื่อยไปว่าปัญหาไม่ได้หายไปไหน เหตุการณ์ละเมิดแบบนี้ซึ่งถือเป็นอาชญากรรมไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่ควรจะต้องเริ่มคลี่คลายกันด้วยความเป็นธรรมเป็นอันดับแรก ผู้เขียนเป็นหนึ่งในนักข่าวที่เคยสัมภาษณ์ผู้เสียหายหลายกรณีรวมทั้งตากใบและพบว่า สาระสำคัญที่ผู้เสียหายที่ถูกกระทำโดยรัฐเสนอคือพวกเขาไม่ได้ต้องการเงินมากไปกว่าความยุติธรรม

ในเรื่องของตากใบที่มาพูดกันหนักในปีสองปีนี้เนื่องจากเริ่มมีผู้แสดงความเป็นห่วงกันมากกรณีอายุของคดีความที่กำลังจะหมดลงในปีหน้า จากที่ได้สนทนากับนักกฎหมายหลายคน พวกเขายอมรับว่าความเคลื่อนไหวเรื่องนี้ถึงทางตันไปนานแล้วตั้งแต่ขั้นตอนของการไต่สวนการตายซึ่งปกติแล้วถือเป็นจุดเริ่มต้นนับหนึ่งสำหรับการจะดำเนินคดีอาญาในกรณีที่พบว่ามีการตายเกิดขึ้นภายใต้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ คำสั่งไต่สวนการตายกรณีตากใบมีออกมาห้าปีให้หลังเหตุการณ์ เมื่อเดือน พ.ค.2552 ศาลสงขลาอ่านคำสั่งไต่สวนการตายกรณี 78 คนที่เสียชีวิตบนรถบรรทุกในระหว่างการขนย้ายจากหน้าสถานีตำรวจตากใบไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร

คำสั่งดังกล่าวที่มีเนื้อหายาวร่วมสิบหกหน้าแต่มีสาระสำคัญน่าที่คนอ่านทั่วไปสรุปได้สั้น ๆ ว่าการเสียชีวิตของพวกเขาเป็นเพราะขาดอากาศหายใจ แน่นอนว่าก่อนหน้านั้นมีผู้รู้หลายคนคาดหวังว่ากระบวนการทางศาลจะทำให้เกิดการแสวงหาความเป็นจริงมากกว่านั้นว่าการขาดอากาศหายใจมีเงื่อนไขและมีผู้กระทำที่ทำให้เกิดสภาพการณ์เช่นนั้นได้อย่างไร แต่คำสั่งไต่สวนคดีที่เป็นประวัติศาสตร์คดีนี้ก็ไปไม่สุด สำหรับกรณีตากใบ หนทางที่จะสานต่อให้มีการดำเนินการเป็นคดีอาญาขึ้นมาจึงถูกปิดไป ทางเลือกลำดับถัดไปจึงหมายถึงการที่กลุ่มผู้เสียหายหรือญาติจะฟ้องร้องดำเนินคดีเอง แต่หนทางนี้ก็ไม่เกิดแม้จะมีการพูดกันมานานแล้วก็ตาม

มีผู้เข้าใจไปว่า ญาติของผู้เสียหายกรณีตากใบไม่กล้าพอที่จะเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม แต่ถ้าย้อนกลับไปดูเราจะพบว่ากลุ่มญาติจำนวน 34 คนได้ไปยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ทบทวนคำสั่งไต่สวนการตายมาแล้ว เรื่องนี้ผ่านเข้าสู่การพิจารณาของศาลฎีกาและศาลฎีกาได้ยกคำร้องของญาติกลุ่มนี้ไปเมื่อ ส.ค.2556

ผู้เขียนเองนั้นอยากเห็นนักกฎหมายวิเคราะห์ผลกระทบของคำสั่งของศาลฎีกาดังกล่าวนี้ว่ามันจะกลายเป็นบรรทัดฐานให้กับกรณีอื่น ๆ ในอนาคตหรือไม่ว่าต่อไปการจะขอให้ทบทวนคำสั่งไต่สวนการตายถือว่าทำไม่ได้อย่างสิ้นเชิงและการไต่สวนการตายของศาลชั้นต้นถือเป็นที่สุดในทุกกรณี ที่ตั้งคำถามดังนี้ไม่ใช่เพราะไม่ต้องการยอมรับอำนาจศาล แต่มองในแง่ผลประโยชน์ของประชาชนทั่วไปที่อาจกลายเป็นเหยื่อของความไม่เป็นธรรมอันเนื่องมาจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ ว่าพวกเขาจะมีช่องทางและโอกาสอย่างไรบ้างในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องหาความเป็นธรรม ช่องทางและโอกาสเช่นนี้จำเป็นต้องมี ผู้เขียนเชื่อว่าไม่ว่าระบบจะดีเพียงใดแต่ก็ยังมีโอกาสที่จะเกิดรูโหว่และมีผู้เสียหายที่ตกหล่นได้เสมอ

ที่จริงแล้วคดีตากใบไม่ใช่คดีเดียวที่ผลการไต่สวนการตายออกมาแล้วทำให้กระบวนการทางอาญาถึงทางตัน การไต่สวนการตายของเหตุการณ์อีกเป็นจำนวนมากที่เป็นการเสียชีวิตภายใต้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ก็มีอาการแบบนี้ หรือแม้แต่บางคดีที่คำสั่งไต่สวนการตายออกมาชัดเจน แต่เรากลับไม่ได้ยินเรื่องการสอบสวนเพื่อเริ่มต้นกระบวนการทางคดีอาญาแต่อย่างใด

ยกตัวอย่างคดีที่ผู้เขียนรู้รายละเอียดบ้างก็คือคดีของอัสฮารี สะมะแอ เด็กหนุ่มจากอำเภอยะหา จังหวัดยะลาที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมควบคุมตัวเมื่อ ก.ค.2550 และเสียชีวิตหลังจากนั้น คดีอัสฮารีเป็นหนึ่งในไม่กี่คดีที่ศาลมีคำสั่งไต่สวนการตายว่าเสียชีวิตเพราะการทำร้ายของเจ้าหน้าที่ แต่ผ่านไปสิบกว่าปีเรายังไม่ได้ยินว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ริเริ่มกระบวนการทางอาญาอย่างไร

เท่าที่ได้ติดตามคดีไต่สวนการตายหลายต่อหลายคดีใน จชต.และได้สัมภาษณ์นักกฎหมายสิทธิมนุษยชนทั้งจากส่วนกลางและในพื้นที่ที่เป็นตัวแทนผู้ที่ถูกกล่าวหาต่อสู้ในคดีความมั่นคงในพื้นที่ จชต.พวกเขารู้ว่ามีความหวังน้อยมากกับกระบวนการทางศาลที่จะช่วยกรุยทางให้กับการดำเนินคดีอาญา หลายกรณีที่เกิดการตายอันพิสดารขึ้นและทำให้สังคมในพื้นที่เกิดความเคลือบแคลง ก็จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่ละชุดมักจะประกอบไปด้วยบุคคลที่มีสถานะและได้รับความเชื่อถือ

ในระยะแรกวิธีการนี้ก็ทำให้เกิดความหวัง และหลายครั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงก็จะได้ข้อสรุปว่าผู้ตายไม่เกี่ยวข้องกับการก่อเหตุและถูกกระทำจนเสียชีวิต แต่ครั้นเมื่อเวลาผ่านไปและเมื่อเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามระบบ ผลของการไต่สวนการตายมักจะออกมาว่าเจ้าหน้าที่กระทำตามหน้าที่ ซึ่งทำให้กระบวนการทางคดีอาญาแน่นิ่งอยู่เพียงเท่านั้น อีกอย่าง กระบวนการไต่สวนการตายนี้มักจะใช้เวลา มันมักจะเริ่มในจังหวะที่อารมณ์คุกรุ่นของผู้คนเริ่มสงบลงเพราะได้ผลสรุปของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงไปปลอบประโลมใจกลายเป็นการลดแรงเสียดทานลงไปแล้วระดับหนึ่ง

คนทำข่าวคดีความมั่นคงในภาคใต้อย่างผู้เขียนพบว่า

คำสั่งไต่สวนการตายส่วนใหญ่ลงเอยว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามหน้าที่

มีคดีน้อยมากที่สวนทางกับทิศทางนี้ แต่คดีใด ๆ ก็ไม่ชัดเจนเท่ากับคดีตากใบที่พวกเขาเหล่านั้นเป็นผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมและตายระหว่างการขนย้าย มิหนำซ้ำตายเป็นจำนวนมาก ในบรรดาคดีต่าง ๆ จึงกล่าวได้ว่าคดีตากใบเป็นคดีที่ท้าทายนักกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมไทยเป็นอย่างยิ่ง เพราะระบบที่วางไว้ทำให้ดูเหมือนว่าประตูสู่ความยุติธรรมถูกปิดไปแล้วสำหรับบรรดาคดีต่าง ๆ เหล่านั้น ยิ่งเมื่อมีคำพิพากษาไม่รับคำร้องของญาติตากใบ ยิ่งเท่ากับตอกย้ำเรื่องนี้ให้ชัดเจนหนักขึ้นไปอีก

ผู้เขียนเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจที่ไม่มีใครคิดแก้ไขประการใด ผู้พิพากษารายหนึ่งเคยกล่าวอธิบายกระบวนการในชั้นศาลว่า สิ่งที่ศาลทำได้คือตัดสินไปตามข้อมูลที่มีการนำเสนอเท่านั้น แต่อย่างน้อยที่สุดกระบวนการทำงานในเรื่องการไต่สวนการตายน่าจะต้องได้รับการทบทวนในเรื่องการได้มาซึ่งข้อมูลหรือไม่

อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีตากใบ หรือแม้แต่กรณีอื่น ๆ ก็อาจจะมีทางเลือกอีกประการหนึ่งในแง่คดี พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ แห่งมูลนิธิผสานวัฒนธรรมให้ความเห็นว่า อันที่จริงแล้วอัยการสูงสุดมีอำนาจสั่งฟ้องได้ ดังนั้นความหวังเวลานี้ควรจะฝากไว้กับอัยการสูงสุดสำหรับความเป็นธรรมกรณีตากใบ

จะหวังได้แค่ไหน ผู้เขียนก็ไม่ค่อยแน่ใจ

หนทางที่เป็นไปได้อีกประการหนึ่งก็คือการที่ผู้เสียหายจะรวมตัวฟ้องกันเอง แต่กับทางเลือกนี้มีนักกฎหมายหลายคนที่เชื่อว่าคดีตากใบจะไม่เกิด เพราะผู้เสียหายหรือครอบครัวไม่มีใครกล้าออกหน้าเพื่อฟ้องร้องหน่วยงานรัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐ จากที่ผู้เขียนได้คุยกับบุคคลที่เป็นผู้ประสานงานญาติกลุ่มใหญ่ของกรณีตากใบ คือ แยนะ สะแลแม เธอยืนยันไว้ตั้งแต่ปีที่แล้วว่า อันที่จริงแล้วมีญาติบางคนที่อยากจะฟ้องร้อง แต่ติดขัดปัญหาว่าไม่รู้ว่าควรจะเริ่มอย่างไร

แยนะเล่าว่า ที่จริงแล้วหลายปีก่อนหน้านี้เคยมีความคิดกันในกลุ่มญาติว่าจะรวมตัวฟ้องร้องด้วยตัวเอง ต่อมามีผู้ค้นพบว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติหรือ กสม.ในยุคก่อน คสช.มีอำนาจที่จะเป็นตัวแทนประชาชนฟ้องร้องได้ จึงมีการจัดประชุมญาติหารือในเรื่องนี้ร่วมกับนักกฎหมายและ กสม.แต่แล้วหลังจากนั้นเรื่องราวก็เงียบไปพร้อมกับการตัดสินใจว่าไม่ฟ้องร้อง แยนะอธิบายว่า ในช่วงเวลานั้นทั้งตัวเธอเองและชาวบ้านไม่มีความรู้หรือความเข้าใจในเรื่องของการที่จะดำเนินการตามกฎหมาย แม้ว่าจะอยากได้ความเป็นธรรมแต่หลายคนหวาดกลัวการมีคดีความกับรัฐ บางคนเชื่อว่าทำไปก็ไม่ได้อะไรนอกจากพ่ายแพ้ ความไม่รู้และความหวาดกลัวเป็นต้นตอ ในขณะเดียวกันก็มีการเยียวยาชาวบ้านด้วยมาตรการชุดเดียวกันกับที่ใช้เยียวยาผู้เสียหายจากกรณีการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์ ความต้องการที่จะฟ้องร้องกลไกรัฐก็ถูกเก็บไว้กับตัวอย่างเงียบ ๆ เพราะเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้

อาการเช่นนี้หลาย ๆ คนอธิบายว่ามันคือความอ่อนแอของภาคประชาชนที่เกิดกับหลายกรณีไม่เพียงแค่กรณีตากใบเท่านั้น นานแล้วผู้เขียนเคยสนทนากับพ่อของเด็กหนุ่มรายหนึ่งที่ถูกทำร้าย เป็นที่เข้าใจกันในหมู่ผู้เกี่ยวข้องว่าผู้ปกครองรายนี้ต้องการจะฟ้องร้องดำเนินคดี นั่นจะกลายเป็นคดีสำคัญที่หลายคนจับตามอง แต่แล้วว่าที่เจ้าทุกข์ก็เปลี่ยนใจ เมื่อถามว่าทำไมเปลี่ยนใจ ผู้ปกครองรายนี้ตั้งคำถามว่า หลังจากที่ครอบครัวเอาคนจำนวนหนึ่งเข้าคุกได้ พวกเขาจะต้องเผชิญกับอะไรต่อไป บรรดาสมัครพรรคพวกของคนเหล่านั้นจำนวนมากจะคิดอย่างไรกับเขา และใครจะปกป้องครอบครัวเขาจากคนเหล่านั้นซึ่งมีทั้งอำนาจและพวกพ้อง ท้ายที่สุดเขาตัดสินใจส่งลูกไปเรียนต่อต่างประเทศ

ผู้เขียนคิดถึงคดีนี้อยู่เนิ่นนาน ยังจำภาพนัยตาที่มีน้ำตาคลอได้ และเชื่อว่าปัญหาสำคัญของการทวงถามความยุติธรรมในพื้นที่สามจังหวัดไม่ได้มีแค่การไปฟ้องร้องเท่านั้น แต่มันคือการสู้กับพฤติกรรมการสร้างความเป็นพรรคพวกอาศัยเกาะกุมอำนาจในระบบราชการกระทำเพื่อตัวเอง

เราไม่มีกลไกพิทักษ์ปกป้องคนที่ต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเอง หรือหากจะมี กลไกดังกล่าวก็น่าจะถูกทำให้เสียหายไปแล้วด้วยระบบความเป็นพรรคพวก อย่าว่าแต่การต่อสู้ทางคดีเป็นเรื่องที่ต้องอดทนเพราะต้องใช้เวลา ความแน่วแน่ พลังงาน ในเมื่อตัวอย่างของการต่อสู้ที่ผ่าน ๆ มาก็ไม่ปรากฎว่าสู้แล้วได้อะไรขึ้นมา สิ่งนี้ย่อมส่งผลลดทอนความเชื่อมั่นในช่องทางนี้โดยปริยาย

ความตายที่ตากใบยังสะท้อนปัญหาใหญ่คือทัศนะต่อผู้ต้องสงสัย

คุณค่าของชีวิตผู้คนลดลงทันทีเมื่อเขาถูกตีตราว่ากระทำผิด ซึ่งอันที่จริงแล้วหลายคนก็เชื่อว่าตากใบคือความผิดพลาด ไม่ใช่เจตนาทำให้คนตาย แต่เป็นความผิดพลาดที่เริ่มต้นด้วยทัศนะที่ไม่เคารพชีวิตคนอื่นโดยเฉพาะคนที่มองกันว่าเป็น “ตัวปัญหา” ซึ่งเราได้เห็นภาพสะท้อนทัศนะเช่นนี้ครั้งแล้วครั้งเล่าเมื่อมีการสลายการชุมนุมกลายเป็นคำถามต่อความเป็นมืออาชีพของเจ้าหน้าที่ไป

กรณีของตากใบมันจึงสะท้อนภาพหลายประการที่ประกอบกันเข้ากลายเป็นอุปสรรคของการคลี่คลายความขัดแย้ง ทั้งภาพความอ่อนแอของภาคประชาชนที่อันที่จริงแล้วเป็นผลพวงของปัญหาที่ใหญ่กว่าคือการใช้กลไกรัฐเพื่อพวกพ้อง และปัญหาความเป็นมืออาชีพของคนทำงานภาครัฐ รวมไปถึงกระบวนการยุติธรรมที่ไม่มีช่องทางให้กับการแสวงหาความยุติธรรมของคนตัวเล็กตัวน้อย