หรือชุมชนอุดมคติไม่มีอยู่จริง - Decode
Reading Time: 3 minutes

ชาวบ้าน ชาวช่อง

ศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา

เทอมนี้ผมสอนวิชาชุมชนศึกษาเป็นเทอมแรกแทนอาจารย์ที่เคยสอนวิชานี้ ซึ่งขอลาศึกษาต่อในคาบแรกผมถามนักศึกษาในห้องว่า พวกเขารู้สึกโหยหาอยากเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่ไหนสักแห่งหรือไม่ อย่างไร นักศึกษาในห้องเรียนราว 70 คน ตอบแทบจะไปทางเดียวกันว่า ไม่รู้สึกเช่นนั้น

คำตอบของนักศึกษาที่ไม่เห็นว่า “ชุมชน” จะมีความสลักสำคัญสำหรับชีวิตพวกเขา ทำให้ผมคิดว่าจำเป็นต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับ “ชุมชน” ในบริบทสังคมร่วมสมัยว่า ชุมชน สูญสลายเป็นแค่อดีตให้พูดถึง หรือชุมชนยังมีความจำเป็นในยุคนี้อยู่ และหน้าตาของชุมชนเปลี่ยนไปอย่างไร

“ชุมชน” ไม่ได้สูญสลาย แค่เปลี่ยนรูป

ผมคิดว่าเหตุผลที่ทำให้คนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เห็นว่า “ชุมชน” ไม่มีความสำคัญอีกแล้ว เพราะความเข้าใจความหมายของชุมชนว่า หมายถึง ชุมชนประเพณี (traditional community) ก่อนที่สังคมจะเปลี่ยนผ่านสู่ยุคทันสมัยหรือยุคสมัยใหม่ (modernity)  หรือพูดให้ง่ายขึ้นว่า ภาพจำของชุมชนลักษณะนี้ ก็คือ ชุมชนในหมู่บ้านชนบท อยู่บนฐานเครือญาติ ผู้คนประกอบอาชีพเกษตรกรรมคล้าย ๆ กัน รู้หน้ารู้ตากันหมด มีความสัมพันธ์แบบเห็นหน้าตัวเป็น ๆ (face to face) ไม่ได้ผ่านสื่อกลาง ภาพจำแบบโรแมนติกมากกว่านั้นก็คือ เป็นชุมชนที่ผู้คนมีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน และค่อนข้างจะปราศจากความขัดแย้ง

คนส่วนใหญ่ที่อยู่ในโลกของความเป็นจริง ย่อมบอกได้ว่า ชุมชนลักษณะนี้แทบจะหาได้ยากในสังคมทุกวันนี้ หรืออาจจะตั้งคำถามย้อนกลับไปอีกว่า อย่าว่าแต่ปัจจุบันเลย แม้แต่ในอดีต ชุมชนอุดมคติลักษณะนี้มีอยู่จริงหรือ

อย่างไรก็ดี ลักษณะของการโหยหาชุมชนในอดีตที่สมาชิกในชุมชนเกื้อกูลกัน เป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในหลายสังคมคล้าย ๆ กัน เช่น ในยุโรปตั้งแต่ร้อยกว่าปีที่แล้ว ที่ผลของการกลายเป็นสังคมอุตสาหกรรม สังคมทุนนิยม และสังคมเมือง ทำให้ชาวยุโรปกลายเป็นปัจเจกชนเคว้งคว้างอยู่ในสังคมเมืองอันสับสนอลหม่าน นักคิดชาวตะวันตกหลายคนจึงหวนคิดถึงชุมชน ที่ผู้คนยังสัมพันธ์กันแบบพึ่งพาซึ่งกันและกัน ส่วนในบ้านเรา กระแส แนวคิด “วัฒนธรรมชุมชน” ซึ่งเริ่มเกิดขึ้นในช่วงกลางทศวรรษ 2520 จนถึง 2530 ก็เป็นปฏิกิริยาจากการพัฒนาที่ทำให้สังคมชนบทเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว การผลิตทางเกษตรถูกโยงใยให้สัมพันธ์กับตลาดและระบบทุนนิยมมากขึ้น ผู้คนถูกมองว่า เป็นปัจเจกและเห็นแก่ตัวมากขึ้น ทำให้เกิดปฏิกิริยาโหยหาคืนวันอันแสนสุข     

อย่างไรก็ดี ลักษณะของการโหยหาชุมชนดังกล่าว ถูกวิจารณ์ในทางวิชาการว่า ทั้งในแง่ที่ว่า เป็นการวาดภาพ หรือ “เขียน” ชุมชนในอดีตโดยนักอุดมคติหรือนักวิชาการเท่านั้น[i] ในความเป็นจริงชุมชนในอดีตใช่ว่าจะมีแต่ความเกื้อกูลปราศจากความขัดแย้ง และอีกทั้ง ภาพชุมชนดังกล่าว เป็นการแช่แข็งความหมายของชุมชนให้ผูกติดกับอดีตที่เชื่อมโยงกับท้องถิ่น (local) เฉพาะคือในหมู่บ้านชนบท

ในความเป็นจริง หากนิยามความเป็นชุมชนว่า เป็นความสัมพันธ์ของผู้คนนอกเหนือขอบเขตของครอบครัวที่ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันแบบซึ่งหน้า และผู้คนรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่ง (belonging) ของชุมชนที่พวกเขาสังกัดอยู่ ชุมชนที่ว่านี้ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในชนบท หากแต่ในสังคมเมือง ก็ยังมีความสัมพันธ์แบบชุมชนได้ ตัวอย่าง ชุมชนในบริบทสังคมเมืองไทยเช่น ชุมชนของคนอพยพย้ายถิ่น ไม่ว่าจะเป็น คนอีสานที่อพยพเข้าเมืองมาทำงานและอยู่ที่เดียวกัน หรือคนเชื้อสายจีนที่อพยพเข้ามาอยู่ในละแวกเดียวกัน มีศาลเจ้าเป็นศูนย์กลางยึดเหนี่ยวผู้คน และก่อรูปความสัมพันธ์แบบชุมชนขึ้น ระยะหลังเราก็เห็นชุมชนของแรงงานชาวพม่ามากขึ้น เช่น ย่านหอพักแถวตลาดไท วันอาทิตย์มีชาวพม่าไปวัดกันเนืองแน่น

อย่างไรก็ดี ชุมชนในบริบทเมืองที่ผมยกตัวอย่างข้างต้น มักจะเป็นชุมชนของคนที่ค่อนข้างเป็นคนชายขอบของเมือง ที่ทำให้พวกเขาต้องมีการรวมตัวช่วยเหลือซึ่งกันและกัน คำถามก็คือ ในหมู่ชนชั้นกลางมีความสัมพันธ์แบบชุมชนหรือไม่ ตอบโดยทั่วไป ผู้ที่อาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมหรือหมู่บ้านจัดสรร แทบจะมีปฏิสัมพันธ์กันน้อยมาก

ผมเคยถามนักศึกษาว่า ถ้าเกิดเราขึ้นลิฟท์ในคอนโดมิเนียม แล้วอยากสร้างความสัมพันธ์กับคนที่อยู่คอนโดเดียวกันง่าย ๆ ด้วยการทักถามว่า ไปไหนมาหรือครับ ทำงานเหนื่อยมั้ย ? เหมือนคนในหมู่บ้านทักทายกัน ได้หรือไม่ นักศึกษาทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นไปไม่ได้ เพราะคนถูกถามจะรู้สึกขยาดหวาดระแวง ว่าเราพยายามล่วงเลยรุกล้ำเรื่องส่วนตัวของเขา

สะท้อนว่าความเป็นส่วนตัวถูกให้ความสำคัญอย่างมากสำหรับคนเมือง จนชวนให้คิดว่า ชุมชนไม่น่าจะเหลือความสำคัญ ซึ่งไม่ใช่ความเข้าใจที่ถูกต้องนัก เราบอกได้แค่ว่า คนเมืองไม่ได้มีความสัมพันธ์แบบชุมชนกับคนในละแวกบ้าน แต่จะเป็นความเข้าใจผิดที่คิดว่า คนในเมืองไม่มีความสัมพันธ์แบบชุมชน มีแต่ความเป็นปัจเจกล้วน ๆ หรือสัมพันธ์กับผู้อื่นเฉพาะด้านเศรษฐกิจ

เมื่อนักศึกษาตอบผมว่า ไม่รู้สึกว่าชุมชนสำคัญ ผมถามพวกเขาต่อว่า ชีวิตประจำวันของพวกเขานอกจากเรียนแล้วทำอะไรกันบ้าง คำตอบที่ได้แบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ ๆ คือ ปฏิสัมพันธ์กับคนบนโลกออนไลน์ และแวะเวียนอยู่ตามชมรมต่าง ๆ

คำตอบสองข้อนี้ ทำให้ผมกระจ่างว่า จริง ๆ แล้วไม่ใช่ว่าคนรุ่นใหม่ มีแต่ชีวิตปัจเจกพวกเขามีความสัมพันธ์ในลักษณะชุมชนเช่นกัน แต่เป็นชุมชนที่ไม่ได้อยู่ในภาพจำว่า ต้องเป็นชุมชนในชนบท หรือชุมชนที่ผูกติดอยู่กับพื้นที่  

ชุมชนที่ไม่ผูกติดกับสถานที่ (post-place community)

ในสังคมเมืองร่วมสมัย ผู้คนแม้จะอาศัยอยู่ในละแวกบ้านใกล้เคียงกัน แต่ทำงานแตกต่างกันมาก และคนก็ให้ความสำคัญกับชีวิตการงานมากกว่าด้านอื่น ๆ ละแวกบ้านจึงไม่ใช่ที่มาของความสัมพันธ์แบบชุมชน ประกอบกับชีวิตคนเมืองที่มีความเป็นปัจเจกมากขึ้นทำให้แต่ละคนมีอิสระที่จะเลือกปฏิสัมพันธ์กับใคร โดยไม่จำเป็นต้องสัมพันธ์กับผู้คนในย่านที่ตัวเองเกิด หรือย่านที่ตัวเองอยู่ เมื่อผู้คนสามารถเลือกคนที่ตนอยากมีส่วนร่วมด้วย การเกิดความสัมพันธ์แบบชุมชน จึงไม่จำเป็นต้องผูกติดกับพื้นที่ ขอให้ผู้คนที่สัมพันธ์กันต่างรู้สึกว่า พวกเขาเป็นสมาชิกของกลุ่มบางอย่างร่วมกัน ก็เกิดความเป็น “ชุมชน” ชุมชนลักษณะนี้จึงถูกเรียกว่า ชุมชนที่ไม่ผูกติดกับสถานที่ (post-place community) ซึ่งมีหลายประเภทย่อย แต่ผมอยากกล่าวถึงสักสองประเภท

ประเภทแรก คือ ชุมชนบนโลกออนไลน์ ที่เติบโตอย่างมากอันเนื่องมาจากความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารจากยุคอินเทอร์เน็ตถึงยุคดิจิทัล ในแวดวงวิชาการไทย อาจารย์อานันท์ กาญจนพันธุ์ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เคยพูดเรื่องนี้ไว้นานแล้ว โดยยกตัวอย่างชุมชนบนหน้าปัดวิทยุ อย่างสถานีวิทยุ จส.100 ที่เคยโด่งดังในช่วงทศวรรษ 2530 ซึ่งการจราจรในกรุงเทพฯ ติดอย่างหฤโหด ผู้คนที่ต่างโทรมาแจ้งข่าวสารการจราจรและช่วยเหลือซึ่งกันและกันว่า เป็นตัวอย่างของ “ชุมชน” ที่ไม่จำเป็นต้องผูกติดกับหมู่บ้านหรือพื้นที่ที่ไหน ขอให้สาระสำคัญคือ ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันและรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มความสัมพันธ์นั้น ก็นับว่าเป็น “ชุมชน” หลังจากนั้นก็เป็นยุคของเวปบอร์ดที่ผู้คนมาแลกเปลี่ยนความเห็น หรือถกเถียงกันอย่างเข้มข้น ตั้งแต่เวปบอร์ดของ Pantip จนถึงฟ้าเดียวกัน และมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งผู้ก่อตั้งคืออาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เพิ่งล่วงลับไปเมื่อเดือนที่แล้ว

ระยะหลังชุมชนบนโลกออนไลน์ขยายตัวมากขึ้น จากการขยายตัวของ สื่อสังคมออนไลน์ (social media) แพลตฟอร์มต่าง ๆ หลายคนอาจจะรู้สึกว่า โลกทางสังคมออนไลน์วุ่นวายเกินกว่าจะนับเป็นชุมชน และผู้คนต่างแสดงความเป็นตัวตน ความเป็นปัจเจก มากกว่า เกิดความรู้สึกถึงความเป็นชุมชน แต่เจอราร์ด เดอลันตี (Gerald Delanty) นักสังคมวิทยาที่ทบทวนแนวคิดเกี่ยวกับชุมชน[ii] ชี้ให้เห็นว่า ความเป็นปัจเจกกับความเป็นชุมชนไม่จำเป็นต้องอยู่ตรงข้ามกันเสมอไป เพราะการที่คนแสวงหาชุมชนนั้นก็เพราะอยากหาพื้นที่แสดงตัวตน และชุมชนบนโลกออนไลน์ ซึ่งเปิดโอกาสให้คนเข้าถึงได้ง่าย ทำให้การแสดงความเป็นตัวตนหรือแสดงความสามารถเด่นชัด ความเป็นปัจเจกกับชุมชนจึงตอบสนองซึ่งกันและกัน

ชุมชนประเภทนี้มักถูกเรียกว่า ชุมชนเสมือน (virtual community) ซึ่งเจอราร์ด เดอลันตี เตือนว่า แม้จะใช้คำว่า ชุมชนเสมือน แต่เราไม่ควรยึดติดว่า ชุมชนแบบไหนจริง (real) ชุมชนแบบไหนเสมือน (virtual) เพราะไม่อาจจะเปรียบเทียบกันได้ว่า อันไหนจริงกว่ากัน อีกทั้ง หากมองชุมชนเป็นปฏิสัมพันธ์ที่อยู่บนฐานของสมาชิกที่รู้สึกว่า เป็นคนร่วมชุมชนเดียวกัน ซึ่งต้องอาศัยการสื่อสารนั้น ชุมชนเสมือนที่สมาชิกสามารถสื่อสารกันได้ทั่วถึง ก็มีความเป็นชุมชนไม่น้อยไปกว่าชุมชนบนฐานของพื้นที่

ประเภทที่สอง คือ ชุมชนที่สมาชิกเข้าร่วมจากความสมัครใจ ดังเช่นนักศึกษาไปร่วมกลุ่มชมรมต่าง ๆ หากขยายไปนอกมหาวิทยาลัย เราจะเห็นชุมชนของคนที่มีไลฟ์สไตล์ตรงกัน เช่น คนเต้นแอโรบิค คนปั่นจักรยาน ชุมชนคนห่วงใยสุขภาพ หรือชมรมต่าง ๆ ผมมีเพื่อนตั้งแต่สมัยเรียนคณะประมงคนหนึ่ง ปัจจุบันเธอเป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัทข้ามชาติ ด้วยชีวิตการงานที่แบกความรับผิดชอบไว้สูงบวกกับภาระต้องดูแลลูก ทำให้ไม่เหลือมิติชีวิตด้านอื่นที่ไม่ใช่งานและก็ไม่ใช่ครอบครัว เพื่อนเปรยกับผมว่า สมัยที่ทำงานอยู่มาเลเซีย ยังรู้สึกดีกว่านี้ เพราะไม่ได้แบกงานมากเท่าทุกวันนี้ อีกทั้งยังมีเวลาวันหยุดไปทำกิจกรรมอาสาสมัคร ทำให้ชีวิตอิ่มเอมกว่าปัจจุบัน

ความรู้สึกของเพื่อนผมข้างบนชี้ให้เห็นว่า ชีวิตมนุษย์เรานั้นไม่อาจอยู่แต่ในโลกการงานและพื้นที่ส่วนตัวของครอบครัว แล้วเป็นปัจเจกเคว้งคว้างอยู่ในสังคมที่ผันผวนได้ ตรงกันข้ามยิ่งอยู่ในโลกที่ผันผวน มนุษย์เราต้องการพื้นที่ (ในความหมายนามธรรมไม่ใช่สถานที่) ที่สามารถพบปะกับคนที่มีความสนใจคล้ายกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน โดยเฉพาะกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ พื้นที่เหล่านี้ ก็คือ รูปแบบหนึ่งของ “ชุมชน” นั่นเอง

ผมคิดว่า ชุมชนในลักษณะนี้จะขยายตัวมากขึ้น เพื่อให้ชีวิตของผู้คนมีความหมายมากขึ้น ผมสอบถามคุณสิทธิพล ชูประจง จากมูลนิธิกระจกเงา ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรที่เปิดพื้นที่ให้กับคนเมืองได้มาทำกิจกรรมอาสาสมัครแผนกต่าง ๆ เช่น คัดแยกหนังสือ สนับสนุนคนไร้บ้าน ครูอาสาต่างจังหวัด พบว่า แต่ละปีมีอาสาสมัครมากกว่าหนึ่งหมื่นคน หากนับรวมมูลนิธิและกลุ่มชมรมต่าง ๆ อีกเป็นร้อยองค์กร ผมคิดว่า เรามีพลเมืองที่แสวงหาพื้นที่ “ชุมชน” อาสาสมัครไม่น้อย

มากกว่านั้น ชุมชนบนโลกออนไลน์กับชุมชนของเหล่าอาสาสมัคร ไม่จำเป็นต้องแยกขาดจากกัน ชุมชนในโลกออนไลน์นั้นมีข้อดีตรงที่ใคร ๆ ก็เข้าถึงได้ แต่ข้อเสียก็คือ มีลักษณะเบาบางและชั่วคราว เปลี่ยนแปลงง่าย หากเชื่อมโยงกับชุมชนที่มีปฏิบัติการได้ก็จะเกิดพลังมหาศาล ตัวอย่างที่ผมทราบจากการทำวิจัยเรื่องการเคลื่อนไหวแนวทางสันติวิธี ก็คือ การเคลื่อนไหวของเยาวชนในช่วงปี 2563-2564 ที่เราเห็นว่าคนรุ่นใหม่อยู่แต่บนโลกออนไลน์นั้น อันที่จริงมีกลุ่มกิจกรรมจำนวนมากที่ทำงานดังมดงานที่ทำให้ขบวนการใหญ่ขับเคลื่อนไปได้ อีกทั้งการมาร่วมกิจกรรมต่างหากที่ทำให้หลายคนซึ่งเคยรู้สึกโดดเดี่ยวเคว้งคว้างได้สัมผัสถึงความรู้สึกร่วมทุกข์ร่วมสุขกับคนอื่น

ปัจเจกชนในโลกที่เปราะบาง

หัวใจสำคัญที่ผมหยิบยกเรื่อง “ชุมชน” มาพูดถึงเพื่อแสดงให้เห็นว่า ลำพังปัจเจกชนนั้นไม่อาจมีพลังที่รับมือกับโลกที่เปราะบางได้ เพราะมนุษย์อย่างเราไม่ใช่ซุปเปอร์ฮีโร่อย่างในการ์ตูน ตัวอย่างเช่น วิกฤติโควิด-19 ใหญ่เกินกว่าปัจเจกชนจะรับมือตามลำพัง ในสถานการณ์นี้เช่นนี้ คนในเมืองจำนวนมากต่างช่วยกันคนละไม้คนละมือเพื่อรับมือกับวิกฤติ เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเส้นด้ายที่เป็นสายใยยึดโยงผู้คนเข้าด้วยกัน [iii]

ในโลกอันเปราะบางเราจะเจอวิกฤติบ่อยมากขึ้น หน้าฝนทีก็ต้องกังวลกับน้ำท่วม หน้าหนาวก็ห่วงเรื่อง PM 2.5 การเมืองก็ไม่นิ่ง มนุษย์ที่รวมกันเป็นกลุ่มเท่านั้น จึงช่วยกันรับมือได้ การเริ่มต้นกับคนในละแวกบ้านที่อาจยังไม่ตระหนักถึง “ชุมชน” อาจจะยากไป แต่ยุคดิจิทัล เอื้อให้คนที่คิดตรงกันมาพบและประสานพลังกันได้ง่ายขึ้น ความเป็นชุมชนอาจไม่ได้เริ่มต้นที่เพื่อนบ้าน แต่สามารถเกิดขึ้นได้

ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้ต้องการจะลดทอนคุณค่าของชุมชนบนฐานของพื้นที่แต่อย่างใด เพราะไม่ว่าชุมชนบนฐานของพื้นที่หรือชุมชนที่ไม่ผูกติดกับพื้นที่ก็ตาม ต่างมีคุณค่าถักทอปัจเจกชนเข้าด้วยกันไม่ต่างกัน

อย่าปล่อยให้ความอ้างว้างเปล่าในโลกที่โกลาหลกัดกร่อนชีวิตให้มนุษย์เปราะบางลงมากไปกว่านี้


  • วิทยานิพนธ์ปริญญาโท สาขามานุษยวิทยา ของอาจารย์ยุกติ มุกดาวิจิตร ซึ่งต่อมากลายเป็นหนังสือชื่อ อ่าน ‘วัฒนธรรมชุมชน’ วาทศิลป์และการเมืองของชาติพันธุ์นิพนธ์แนววัฒนธรรมชุมชน. (2548) โดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน  เป็นตัวอย่างของงานวิพากษ์ การเขียนสร้าง ‘ชุมชน’ ในอุดมคติ
  • เนื้อหาของตอนนี้ส่วนใหญ่เก็บความมาจากหนังสือ Community โดย Gerard Delanty พิมพ์ครั้งแรกปี 2003 แต่ได้รับความนิยม ถูกแก้ไขและพิมพ์ซ้ำ รวม 3 ครั้ง
  • ผมได้ข้อคิดเห็นในประเด็นนี้ จากบทความวิจัย “บทบาทของพลเมืองผู้กระตือรือร้น (Active Citizen) ในภาวะวิกฤติ” ของ อาจารย์ อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่นำเสนอต่อ สำนักงานวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส) เมื่อปี 2565 ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้