Post-Election (3) จับสัญญาณการเปลี่ยนแปลงสังคม เมื่อประชาชนไม่ได้เป็นของตายของใคร - Decode
Reading Time: < 1 minute

ประกายไฟลามทุ่ง

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ตามมุมมองของ S.M.Lipset นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ให้ความเห็นว่า หลังจากการเลือกตั้งครั้งสำคัญ ความเข้าใจต่อประเด็นต่าง ๆ ในสังคมจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่มีความเป็นธรรมชาติและมีความสมดุล ส่งผลให้มีผู้คนมากขึ้นที่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจของสังคม และเกิดการแข่งขันเพื่อความเชื่อมั่นจากผู้เลือกตั้ง สังคมจึงมีแนวโน้มที่จะพยายามในการแก้ไขปัญหาทางสังคมและการตัดสินใจที่ส่งผลต่อชีวิตประจำวันของผู้คน สังคมเกิดความโปร่งใสมากขึ้น และส่งผลให้เกิดความเป็นประชาธิปไตยในการทำความเข้าใจประเด็นต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นประเด็นความเสมอภาคทางเพศ ประเด็นสิ่งแวดล้อม ความเข้าใจต่อประเด็นละเอียดอ่อนทางสังคม การเลือกตั้งหนึ่งครั้งอาจไม่ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจทางการเมืองได้อย่างก้าวกระโดด

แต่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมจะเกิดขึ้นไวกว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งอาจเกิดได้ทันทีหลังการเลือกตั้ง ดังนั้นในกรณีของสังคมไทยแม้การเลือกตั้ง อาจยังไม่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางอำนาจรัฐที่ชัดเจน แต่สุดท้ายการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในการทำความเข้าใจประเด็นต่าง ๆ ก็ได้เกิดขึ้นแล้วอย่างแน่นอน โดยสามารถสรุปประเด็นได้ดังนี้

การตื่นตัวและความสนใจในประเด็นสาธารณะเพิ่มขึ้น

ผู้เลือกตั้งสามารถติดตามและเข้าใจข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยมีสื่อมวลชนและเทคโนโลยีออนไลน์เป็นช่องทางสำคัญในการเผยแพร่ข้อมูล ดังนั้นความคาดหวังต่อสื่อและบทบาทของสื่อจึงเปลี่ยนไปอย่างก้าวกระโดด สื่อไม่ได้มีบทบาทเพียงแค่รายงานสถานการณ์เท่านั้น แต่ผู้คนจะคาดหวังให้สื่อทำงานเชิงลึกในการวิเคราะห์ความเป็นไปมากขึ้น ขณะเดียวกันมาตรฐานความถูกต้องแม่นยำ ก็เป็นที่คาดหวังมากขึ้น สิ่งที่น่าสนใจแม้ว่าผู้คนทุกวันนี้สามารถเป็นสื่อเองได้ และมีสื่อในมือ แต่ในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงหลังการเลือกตั้งที่เปิดกว้าง ผู้คนก็จะคาดหวังบทบาทสื่อสาธารณะในลักษณะดั้งเดิมมากขึ้นคือ การชี้หนทางที่ถูกที่ควรแก่สังคม การร่วมกับประชาชนกดดันผู้มีอำนาจ อยู่เคียงข้างกับหลักการสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย เป็นสิ่งที่สังคมคาดหวังมากขึ้น

การรับรู้ต่อคุณค่าความถูกต้องทางการเมือง

ความถูกต้องทางการเมืองเป็นประเด็นการถกเถียงพูดคุยกันมาตลอดทศวรรษที่ผ่านมาซึ่งเป็นกรอบการวิเคราะห์ที่พิจารณามากกว่าแค่ความสำเร็จทางการเมือง แต่ยังดูองค์ประกอบอื่น ๆ เข้าไว้ด้วยกันไม่ว่าจะเป็น การเคารพต่อความหลากหลายทางเชื้อชาติ ประเด็นทางสิ่งแวดล้อม หรือประเด็นรายละเอียดวิธีการทางการการขับเคลื่อนทางการเมืองต่าง ๆ เราจะเห็นได้ว่าสังคมใส่ใจในรายละเอียดเรื่องเหล่านี้มากขึ้น ดังนั้นการขับเคลื่อนประเด็นทางการเมืองต่าง ๆ ชนชั้นนำจะไม่สามารถผลักดันประเด็นใหญ่ โดยละทิ้งประเด็นย่อย เพราะเราจะเห็นได้ว่า ประเด็นเฉพาะกลุ่มกับประเด็นใหญ่ในสังคม ถูกเชื่อมร้อยให้เป็นเรื่องเดียวกัน ดังนั้นการกล่าวว่าต้องสู้ประเด็นนี้ก่อนแล้วพับประเด็นเรื่องอื่นที่ “เล็กกว่า” จึงจะสมเหตุสมผลน้อยลง หรือในขณะเดียวกันการพิจารณาความเป็นไปได้ ผ่านมุมมองของชนชั้นนำเพียงอย่างเดียวและละเลยความเป็นไปได้ในมุมมองอื่นก็เป็นที่ยอมรับได้น้อยลงเช่นกัน

เงื่อนไข “เวลาและการรอคอย” เปลี่ยนไป

นโยบายหนึ่งอาจใช้เวลารอคอยได้หลักปี ในอดีตเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ในปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงทางสังคมซึ่งมีสถานการณ์ใหม่เข้ามาทุกวัน เป็นกระแสบ้างไม่เป็นกระแสบ้าง เคยมีการเปรียบเทียบว่า สองสัปดาห์ในประเด็นสาธารณะเมื่อยี่สิบปีก่อน อาจให้ความรู้สึกเหมือนกับระยะเวลาสามเดือนในปัจจุบัน อันหมายความว่าความอดทนของประชาชนต่อผู้มีอำนาจมีน้อยลง การกดดันเรียกร้องจะเกิดขึ้นไว ความนิยมสามารถผันแปรเป็นความเกลียดชังเบื่อหน่ายได้โดยง่าย ผู้คนจะมีความรู้สึกร่วมในการรวมตัวและตั้งคำถามร่วมกันมากขึ้น การรวมตัว การตั้งคำถาม การไม่พอใจกับสถานะที่ไม่ถูกต้องจะเป็นเรื่องปกติใหม่ของสังคม ที่มีการเปิดเสรีมากขึ้น

ประชาชนไม่ได้เป็นของตายของใคร

เราจะเห็นได้ว่าด้วยคลื่นของข้อมูลข่าวสาร การเปลี่ยนแปลงด้านความคิด วิถีชีวิต จุดยืนทางการเมือง อุดมการณ์ หลักคิดของชีวิตมีความลื่นไหล ดังนั้น หากกล่าวโดยสรุปคือประชาชนไม่ได้เป็นของตายของใคร และในขณะเดียวกัน เราอาจเห็นผู้คนที่เคยมีอุดมการณ์ซ้ายสุดกลายเป็นขวา หรือจากขวากลายเป็นซ้าย เพราะในสังคมสมัยใหม่มนุษย์สามารถมีการเปลี่ยนแปลงประสบการณ์และบริบทแวดล้อมของผู้คนได้หลายครั้งในแต่ละช่วงชีวิต สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งในไทยและในระดับสากล

ดังนั้นการทำความเข้าใจชุดอุดมการณ์ที่หลากหลายในสังคมเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น แต่แม้สังคมจะสามารถโยกซ้าย โยกขวาได้ตามคลื่นกระแสของข้อมูลและอารมณ์ทางสังคม แต่ในภาพรวมแล้วสังคมจะมีความก้าวหน้ามากขึ้น ยอมรับความหลากหลายมากขึ้น และแม้ทุกคนจะมีพื้นที่และสื่อของตัวเอง แต่โดยรวมสิ่งที่น่าประหลาดใจ เราจะเริ่มเรียนรู้การยอมรับระหว่างกันมากขึ้น และอดทนอดกลั้นต่อกันมากขึ้น

สิ่งที่ผู้เขียนเสนอไม่ได้เป็นสูตรสำเร็จว่า สังคมจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางก้าวหน้าโดยอัตโนมัติ แต่สิ่งที่เราเห็นคือวิถีชีวิตและความเข้าใจระหว่างกันในสังคมได้มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น เมื่อความขัดแย้งได้โยนเข้าสู่คูหาเลือกตั้งภายใต้กติกาเดียวกัน ไม่ว่าผลการตั้งรัฐบาลจะสำเร็จหรือไม่ ตามแนวทางของพรรคการเมืองที่ได้เสียงสูงสุดผ่านการเลือกตั้ง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็ได้เป็นเครื่องยืนยันถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ที่ไม่ว่าเราจะชอบหรือชัง เราก็จำเป็นต้องเรียนรู้อุดมการณ์ วิถีชีวิต ทัศนคติที่แตกต่างหลากหลาย ปรับเปลี่ยน ลื่นไหลตลอดเวลาและหาแนวทางอยู่ร่วมกันในสภาพการเปลี่ยนแปลงนี้

บทความที่เกี่ยวข้อง

Post-Election (1) การเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์ทางการเมือง

Post-Election (2) การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ เปลี่ยนทุนนิยมให้มีหัวใจ