Post-Election (2) การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ เปลี่ยนทุนนิยมให้มีหัวใจ - Decode
Reading Time: < 1 minute

ประกายไฟลามทุ่ง

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

หลังจากที่ผมได้พูดถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 แล้ว อีกเงื่อนไขหนึ่งซึ่งสะท้อนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญไม่น้อยกว่าเงื่อนไขทางการเมือง คือ เงื่อนไขทางเศรษฐกิจ นับเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก บทความนี้จะชวนพิจารณาถึงความคิดที่เปลี่ยนแปลงไปต่อคำอธิบายทางเศรษฐกิจจากการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ซึ่งพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล

1.อวสานของคำอธิบายแนวเสรีนิยมใหม่

พรรคเส้นด้ายซึ่งเป็นพรรคเล็ก ๆ ที่มีจุดยืนสนับสนุนเสรีนิยมใหม่เพิ่มอำนาจของกลุ่มทุน และวิจารณ์นโยบายสวัสดิการอย่างเปิดเผย ได้รับคะแนนนิยมเพียงหลักพันคะแนน ขณะที่พรรคเพื่อไทยเมื่อประกาศปฏิเสธนโยบายรัฐสวัสดิการในช่วงโค้งสุดท้ายก็ส่งผลสำคัญต่อคะแนนนิยม แนวคิดการสนับสนุนกลุ่มทุนขนาดใหญ่และเชื่อว่าผลประโยชน์ต่าง ๆ จะไหลรินสู่ประชาชนก็เริ่มกลายเป็นเรื่องพ้นสมัยไปเช่นเดียวกัน เพราะจากประสบการณ์ของประชาชน เมื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจใด ๆ ที่เริ่มจากชนชั้นนำ แทบไม่มีโอกาสไหลรินสู่คนส่วนใหญ่แต่อย่างใด

2.ทุนผูกขาด และทุนนิยมที่มีหัวใจ

คือคำที่ผิดเพี้ยนสำหรับคนส่วนใหญ่ ก่อนหน้านี้การวิพากษ์ปัญหาของกลุ่มทุนอาจถูกผูกขาดโดยกลุ่มอนุรักษนิยมบางกลุ่มที่ต้องการคงไว้ซึ่งโครงสร้างอำนาจแบบเดิม แต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้มีการขยายประเด็นว่า กลุ่มทุนผูกขาดได้ส่งผลต่อชีวิตปากท้องของประชาชนอย่างไร ความมั่งคั่งของพวกเขาแลกกับชีวิตของประชาชนที่ยากลำบากอย่างไร และในขณะเดียวกันการอธิบายว่า เราสามารถปรับเปลี่ยนทุนนิยมให้มีหัวใจ ร้องขอให้ชนชั้นนายทุนเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ ก็ฟังดูไม่สมเหตุสมผล เหมือนการร้องขอให้หมาป่าไม่กินเนื้อ ดังนั้น ความต้องการของประชาชน จึงไม่ใช่ความเมตตาทางเศรษฐกิจ แต่พวกเขาปรารถนาต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และข้ออ้างของกลุ่มทุนผูกขาดว่าพวกเขาเก่ง ขยัน หรือฉลาดจนได้รับความมั่งคั่งมหาศาลนี้ ก็สมเหตุสมผลน้อยลงทุกทีในสายตาของประชาชน

3.รัฐสวัสดิการไม่ใช่คำทางเศรษฐกิจที่มีความสลับซับซ้อนอีกต่อไป

ย้อนกลับไปหลายปีก่อนคำว่ารัฐสวัสดิการอาจเป็นคำที่มีความหมายซับซ้อน ยากต่อการเข้าใจ ถูกผูกขาดโดยนักวิชาการ หรือนักเคลื่อนไหวกลุ่มเล็ก ๆ แต่หลังจากการเคลื่อนไหวของประชาชนนับตั้งแต่ ปี 2563-2564 คำว่ารัฐสวัสดิการถูกนำเสนออย่างมากและกลายเป็นทางออกสำคัญต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม การเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า และนำสู่การสร้างสวัสดิการถ้วนหน้าให้แก่ประชาชน กลายเป็นเรื่องพื้นฐานที่ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่า ทำไมเราไม่จำเป็นต้องรอให้เศรษฐกิจใหญ่ก่อนถึงจะสามารถสร้างความเป็นธรรมทางสังคมได้ เพราะเราสามารถเริ่มสร้างความเป็นธรรมได้ตั้งแต่จุดเริ่มต้น โดยไม่จำเป็นต้องรอคอยให้ดอกผลทางเศรษฐกิจไหลรินมาจากด้านบน

นอกจากพรรคก้าวไกลที่ได้คะแนนนิยมอย่างมากที่พูดถึงรัฐสวัสดิการ ก็ไม่อาจมองข้ามพรรคประชาชาติที่เริ่มต้นจากพรรคขนาดเล็กในระบบการเลือกตั้งปี 2562 สู่การได้ 9 ที่นั่งในสภาในระบบการเลือกตั้งที่เอื้อต่อพรรคขนาดใหญ่มากขึ้น พรรคประชาชาติเป็นหนึ่งพรรคที่มีนโยบายหลักคือเรื่องรัฐสวัสดิการ โดยเฉพาะประเด็นเรียนฟรี ล้างหนี้ กู้ยืมเพื่อการศึกษา ความสำเร็จของพรรคก้าวไกล และพรรคประชาชาติ นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ย้ำให้เห็นว่าระบบเศรษฐกิจการเมืองแบบรัฐสวัสดิการ ไม่ใช่ของแปลกใหม่อีกต่อไป ผู้คนรู้ถึงความแตกต่างของระบบสวัสดิการแบบสงเคราะห์ และระบบสวัสดิการแบบถ้วนหน้า ความล้มเหลวของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำตลอดเกือบสิบปีที่ผ่านมา ได้เร่งเร้าให้ประชาชนแสวงหาทางเลือกมากขึ้นในการเปลี่ยนแปลงสังคมในเส้นทางใหม่ ๆ

4.กรุงเทพฯ ที่เคยถูกเข้าใจว่าเป็นฐานที่มั่นของพรรคการเมืองชนชั้นกลางได้มีการเปลี่ยนแปลงไป

เหมือนมหานครเมืองใหญ่ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นลอนดอน นิวยอร์ค มุมไบ โตเกียว ไม่ใช่ภาพมหานครของความเจริญก้าวหน้าอย่างเดียวแต่ยังเป็นภาพสะท้อนเมืองแห่งความเหลื่อมล้ำ เมืองแห่งความยากจน เมืองแห่งการต่อสู้ เมืองของทุนผูกขาดขนาดใหญ่ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นเมืองแห่งความหวัง ดังนั้นการปรารถนาความเปลี่ยนแปลงจึงไม่ได้เกิดขึ้นในกลุ่มคนที่ยากจนทุกข์ยากทางเศรษฐกิจที่สุด แต่เป็นเมืองของผู้คน ของชนชั้นแรงงานที่เปี่ยมความหวัง และปรารถนาการเปลี่ยนแปลง ลักษณะเช่นนี้จะสะท้อนมุมมองใหม่เกี่ยวกับการจัดวางชนชั้นทางเศรษฐกิจ ซึ่งเราไม่อาจวิเคราะห์ผ่านชนชั้นการบริโภคได้ แต่ต้องหมายรวมถึงชนชั้นผ่านความสัมพันธ์การผลิต และผู้คนในเมืองใหญ่เหล่านี้ก็เป็นภาพสะท้อนว่าพวกเขาไม่ได้เป็นชนชั้นกลางทางเศรษฐกิจที่นิ่งเฉย อนุรักษนิยม เพราะสภาพความเป็นอยู่ที่ผ่านมา พวกเขาต้องการระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรมมากกว่านี้ ผูกขาดน้อยกว่านี้ และเห็นถึงชีวิตของพวกเขามากกว่านี้ ผ่านระบบค่าจ้างและสวัสดิการ

เมื่อพิจารณาในสี่ปรากฏการณ์การเปลี่ยนผ่านของความเข้าใจต่อสภาพเศรษฐกิจไทย จะเห็นได้ว่า ไม่ใช่เพียงแค่การเปลี่ยนแปลงทางอุดมการณ์ทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงชุดอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจ ความเชื่อความเข้าใจต่อความเหลื่อมล้ำที่เปลี่ยนไป ตลอดจนความเชื่อความคิดต่อการจัดสรรทรัพยากร ซึ่งสะท้อนความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่ชี้ให้เห็นรูปธรรมว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจปากท้อง การเมืองและปากท้องเป็นเรื่องเดียวกัน เราไม่จำเป็นต้องรอให้เศรษฐกิจเติบโตเราจึงสมควรจะมีชีวิตที่ดี ไม่จำเป็นต้องทำงานหนัก หรือทุกข์ทรมานเพื่อให้เราสามารถมีชีวิตที่ดี ความเข้าใจทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปย่อมเสริมพลังต่อการเปลี่ยนแปลงของประชาชนเช่นกัน