เก่า ใหม่ ซ้าย ขวา ในสนามการเมืองไทย - Decode
Reading Time: 3 minutes

ในความเคลื่อนไหว

รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ

การเลือกตั้งปี 2566 จบไปแล้วนานนับเดือน แต่ฝุ่นยังตลบไม่จางหาย ช่วงสัปดาห์แรกหลังการเลือกตั้งสังคมรู้สึกมีความหวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดี แต่หลังจากนั้นไม่นานข่าวสารทางการเมืองกลับเต็มไปด้วยความสับสนอลหม่าน ความซับซ้อนซ่อนเงื่อน ข่าวลวง และข่าวปล่อย ที่ทำให้ความหวังของผู้คนมลายหายไปอย่างรวดเร็ว หลายคนรู้สึกไปในทางเดียวกันว่าทำไมการเปลี่ยนผ่านนั้นแสนยากเย็นและเต็มไปด้วยความน่าเศียรเวียนเกล้าเช่นนี้

อย่างไรก็ตาม ในบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนอยากจะชวนให้มองพ้นไปจากความสับสนเฉพาะหน้า และเพ่งมองลงไปถึงแบบแผนใหม่ ๆ ที่ก่อตัวขึ้นแล้วในการเมืองไทย ในท่ามกลางความไม่แน่นอนนั้นกลับมีความแน่นอนบางอย่างซ่อนอยู่

เทรนด์ 9 ประการของการเมืองไทยดังต่อไปนี้ คือ สิ่งที่ผู้เขียนอยากนำเสนอ

1.คนไทยตื่นตัวและผูกพันกับเลือกตั้งสูงเป็นประวัติศาสตร์ 

ผู้เขียนเคยตั้งข้อสังเกตนี้แล้วในบทความอีกชิ้นหนึ่งก่อนหน้านี้ว่าตัวเลขการไปใช้สิทธิชี้ให้เห็นว่าการเลือกตั้งปี 2566 คือการเลือกตั้งที่คนตื่นตัวออกไปใช้สิทธิสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของไทย ทุกจังหวัดมีอัตราการไปใช้สิทธิที่สูงขึ้น รวมถึงคนกรุงเทพฯ ที่เคยครองแชมป์นอนหลับทับสิทธิสูงหลายสมัย แต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้เปอร์เซ็นต์การไปใช้สิทธิของคนกรุงเทพฯ นั้น เกือบเท่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ

หมายความว่าอย่างไร? คนไทยยังมีความหวังกับการไปใช้สิทธิผ่านคูหาเลือกตั้งว่ามันจะทำให้ชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนไปได้ ซึ่งสวนทางกับเทรนด์ในประเทศที่ประชาธิปไตยตั้งมั่นแล้วซึ่งคนไปใช้สิทธิน้อยลง (บางประเทศลดลงไปต่ำประมาณ 50%) เพราะคนเบื่อหน่ายการเลือกตั้ง เลือกไปแล้วก็รู้สึกว่าเปลี่ยนอะไรไม่ได้ ได้แต่ผู้แทนหน้าเดิม พรรคการเมืองแบบเดิม และการเล่นการเมืองแบบเดิม ๆ

แต่สำหรับคนไทย แม้ว่าจะผ่านการรัฐประหาร ความขัดแย้ง และกฎกติกาการเลือกตั้งที่เข้าใจยากและถูกเปลี่ยนจนสับสนอยู่บ่อยครั้ง แทนที่คนไทยจะเบือนหน้าหนีการเมือง แต่กลับพากันเดินไปเข้าคูหากันอย่างคึกคักเป็นประวัติศาสตร์ สิ่งนี้คือสัญญาณที่ดีมาก ๆ ของการเมืองไทย เพราะการเลือกตั้งคือการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สงบสันติที่สุดแล้วในบรรดากระบวนการทางการเมืองทั้งหมด และมันยังเป็นการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่พื้นฐานที่สุดของความเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง

ฉะนั้น ไม่ว่าชนชั้นนำและผู้มีอำนาจจะทำให้การเมืองเละเทะและหมดความหวังเช่นใด แต่ประชาชนทั่วไปไม่ได้เบื่อหน่ายและสิ้นหวังตามไปด้วย อาจจะตรงกันข้ามด้วยซ้ำ

2.การเมืองไทยพ้นจากระบบ 2 พรรคใหญ่ไปเป็นระบบหลายพรรค โดยมี 2 พรรคเด่นอยู่ในขั้วเสรีประชาธิปไตยทั้งคู่

การแข่งขันในการเลือกตั้งครั้งนี้ มีความหลากหลายมากกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อน ๆ เพราะมีพรรคที่เป็นตัวเลือกให้คนเลือกมากขึ้น หลากหลายทั้งนโยบายและเฉดอุดมการณ์ทางการเมือง พูดภาษาการเมืองแบบง่าย ๆ ก็คือ ในชั้นสินค้าทางการเมืองครั้งนี้ มีให้เลือกตั้งแต่เฉดซ้ายมาก ซ้ายกลาง ขวากลาง ไปจนถึงขวาตกขอบ ผลการเลือกตั้งสะท้อนให้เห็นว่าคนไทยเลือกสนับสนุนพรรคการเมืองแบบหลากหลายมากขึ้น ทำให้ไม่มีพรรคใดได้เสียงและที่นั่งอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ อย่างน้อยมี 6 พรรคหลักในสนามตอนนี้ คือ ก้าวไกล เพื่อไทย ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ และประชาธิปัตย์ ซึ่งการมีทางเลือกที่หลากหลายนี้ก็เป็นสัญญาณที่ดีของการเมืองไทยเช่นกัน

พรรคใหญ่ที่เด่นและมีที่นั่งมากที่สุดในการเมืองไทยในปัจจุบัน ก็คือ พรรคก้าวไกล กับเพื่อไทย (สองพรรครวมกันได้คะแนนบัญชีรายชื่อถึง 25 ล้าน และที่นั่งเกือบ 60% ของสภา) ซึ่งทั้งสองพรรคเดิมอยู่ในขั้วฝ่ายค้านด้วยกัน และถูกสื่อขนานนามว่าเป็นพรรค “ขั้วประชาธิปไตย” จุดนี้เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ เพราะในอดีตสองพรรคใหญ่สุดในการเมืองไทยมาจากขั้วตรงข้ามกัน คือ เสรีนิยมประชาธิปไตยกับอนุรักษนิยม (เช่นครั้งก่อนก็คือ เพื่อไทยกับพลังประชารัฐ) หมายความว่าในสนามตอนนี้ พรรคฝ่ายที่ค่อนมาทางซ้าย (ซ้ายในความหมายแบบไทย ๆ มิใช่แบบสากล เพราะการเมืองไทยไม่มีพรรคใดที่มีนโยบายหรืออุดมการณ์ไปในทางสังคมนิยมแบบซ้ายในความหมายสากล) มีชัยเหนือพรรคฝ่ายขวา (คะแนนนิยมและที่นั่งห่างกันค่อนข้างมากแบบไม่สูสี) และกลายเป็น “ผู้เล่น” กระแสหลักในการแข่งขัน

ในการเลือกตั้งครั้งหน้า เทรนด์เช่นนี้ก็น่าจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลง หมายความว่าการแข่งขันระหว่างพรรคเพื่อไทยกับก้าวไกลจะยิ่งเข้มข้นขึ้นหลังจากนี้เป็นต้นไป เพราะเดิมพันคือ การแย่งชิงการดำรงตำแหน่งพรรคการเมืองใหญ่อันดับ 1 ของไทย ไม่ว่าเพื่อไทยกับก้าวไกลจะจับมือกันเป็นรัฐบาล ฝ่ายค้าน หรืออยู่คนละฝากฝั่งทางการเมือง คะแนนนิยมของทั้งสองพรรคทำให้ทั้งคู่ตกอยู่ในสถานะของการเป็นคู่แข่งของกันและกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ในระบอบประชาธิปไตย คู่แข่ง (competitor) ไม่จำเป็นต้องเป็นศัตรู (enemy)

3.พรรคขั้วอนุรักษนิยมถดถอย 

เทรนด์ข้อนี้เห็นได้ชัดตั้งแต่สนามเลือกตั้งผู้ว่ากทม. แล้ว ที่ผู้สมัครซึ่งเสนอแนวนโยบายและวาทกรรมการหาเสียงแบบเอียงขวาเป็นฝ่ายที่พ่ายแพ้และไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ในการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคที่นำเสนอตนเองเป็นพรรคแบบอนุรักษนิยมสุดขั้วที่สุดอย่างพรรคไทยภักดีได้คะแนนรวมทั้งประเทศเพียง 1 แสนคะแนน จึงไม่มีผู้แทนในสภาแม้แต่คนเดียว ในขณะที่พรรครวมไทยสร้างชาติ พลังประชารัฐ และประชาธิปัตย์มีที่นั่งรวมกันเพียง 101 ที่นั่ง และคะแนนพรรครวมประมาณ 6 ล้านกว่าคะแนน ซึ่งน้อยกว่าคะแนนของฝั่ง “ซ้าย” ถึงเกือบ 20 ล้านคะแนน

การเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นสนามที่ท้าทายของพรรคแนวอนุรักษนิยมว่าจะปรับตัวอย่างไรเพื่อครองใจของประชาชนเสียงข้างมากได้ (เพราะ “ตัวช่วย” อย่างวุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งก็จะหมดวาระแล้วและไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ อีก) อันที่จริง ในหลายประเทศ พรรคอนุรักษนิยมเป็นพรรคกระแสหลักที่ครองใจประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพราะปรับตัวให้ทันสมัยอยู่เสมอทั้งในแง่นโยบายทางเศรษกิจและสังคม มิใช่เป็นขวาตกขอบที่เน้นการเมืองแบบคับแคบและกีดกันคนส่วนใหญ่ออกไป

4.ก้าวไกลยกระดับเป็นพรรคระดับชาติ

การเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคที่ทำผลงานได้น่าแปลกใจที่สุดก็คือ พรรคก้าวไกล ผลการเลือกตั้งชี้ให้เห็นว่าก้าวไกลก้าวข้ามพ้นจากการถูกปรามาสว่าเป็นพรรคของคนเมือง มีการศึกษา และเป็นพรรคของ “เด็ก” คะแนนบัญชีรายชื่อถึง 14 ล้านเสียง บวกกับการชนะ ส.ส.เขตถึง 112 ที่นั่งโดยกระจายตัวไปทุกภูมิภาค โดยเฉพาะในภาคใต้ ซึ่งก้าวไกลได้ทั้ง ส.ส.เขต และครองแชม์ปาร์ตี้ลิสต์หลายจังหวัด  ก็ทำให้ก้าวไกลกลายเป็นพรรคใหญ่ระดับชาติอย่างแท้จริง ที่มีฐานเสียงทั้งในเมืองและชนบท ทั้งในหมู่คนรุ่นใหม่ รุ่นกลาง และผู้สูงวัย เรียกว่าข้ามเจเนอเรชั่น 

ทฤษฎี “สองนคราประชาธิปไตย” จึงใช้ไม่ได้อีกต่อไป รวมถึงแนวคิดเรื่อง “สงครามระหว่างวัย” ก็อาจจะมีข้อจำกัดในการอธิบายการเมืองไทยเสียแล้ว เพราะเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้ใหญ่จำนวนมากทีเดียวที่ลงคะแนนให้กับพรรคที่มีอุดมการณ์แหวกแนวนี้ ทั้งโดยการชักชวนจากลูกหลานและที่ตัดสินใจเองเพราะอยากลองแนวทางการเมืองแบบใหม่

โจทย์ใหญ่ของก้าวไกลคือ ช่องว่างระหว่างความนิยมของพรรคกับความนิยมส่วนตัวของผู้สมัคร คะแนนของพรรคนั้นสูงกว่าคะแนนของผู้สมัครมาก หมายความว่า หากกระแสความนิยมของพรรคลดน้อยถอยลง โอกาสแพ้ในเขตเลือกตั้งก็มีสูงมากเพราะผู้สมัครไม่ได้มีฐานเสียงที่แข็งแรงเป็นของตัวเอง เนื่องจากก้าวไกลไม่ได้ใช้การเมืองแบบเน้นเครือข่ายหัวคะแนนและระบบอุปถัมภ์ท้องถิ่น ชัยชนะของพรรคจึงมาจากนโยบายและอุดมการณ์เป็นสำคัญ

ในทางกลับกัน จุดอ่อนนี้ก็คือจุดแข็ง เพราะพรรคแบบก้าวไกลนั้นถูกยุบก็ตั้งใหม่ได้ ส.ส.ของพรรคคนใดย้ายพรรคก็มีแนวโน้มสอบตกสูง (ดังที่เห็นจากชะตากรรมของ “งูเห่า” ในการเลือกตั้งครั้งนี้) จึงเป็นพรรคที่พร้อมเลือกตั้งอยู่เสมอ

5.เพื่อไทยยังแข็งแรง แต่อยู่ในสถานะแชมป์ที่เสียบัลลังก์

เลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ยักษ์ใหญ่ทางการเมืองอย่างเพื่อไทยเสียตำแหน่งแชมป์ (หลังจากชนะเลือกตั้งอย่างต่อเนื่องทุกครั้งตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา) และไม่ได้เสียให้กับคู่แข่งเดิมหรือฝั่งอนุรักษนิยม แต่เสียให้กับพรรคน้องใหม่ในฝั่งเดียวกันเอง ความตึงเครียด ลักลั่น กระอักกระอ่วนใจจึงเกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเป็นความพ่ายแพ้แบบที่ไม่ได้คาดคิดและไม่ได้เตรียมใจ

แต่หากดูจากคะแนนและที่นั่ง เพื่อไทยยังคงแข็งแรงในอีสานและภาคเหนือที่เป็นฐานเสียงเดิมของพรรค พรรคเพื่อไทยไม่ได้แพ้แบบหมดรูปจนกลายเป็นพรรคขนาดเล็ก ความท้าทายจึงอยู่ที่การปรับตัวโดยเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในแคมเปญเลือกตั้ง 2566 เพื่อทวงบัลลังก์กลับมา ซึ่งแนวทางที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ การปักหมุดอุดมการณ์ผู้นำประชาธิปไตยให้เหนียวแน่นและมั่นคง เพราะในสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต คู่แข่งของเพื่อไทยไม่ใช่พรรคฝั่งอนุรักษนิยมแต่คือพรรคในขั้วประชาธิปไตยด้วยกันเอง ในสนามเช่นนี้ ใครมั่นคงชัดเจนในการนำเสนอตนเองเป็นพรรคประชาธิปไตยที่ตอบสนองความเดือดร้อนและความปรารถนาของประชาชนได้ชัดเจนกว่า คนนั้นคือผู้ชนะ

6.พรรคทหารไม่สดใส

พรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติซึ่งนำโดยอดีตหัวหน้าคณะรัฐประหารประสบความพ่ายแพ้อย่างหมดรูปในการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยเข้าเส้นชัยเป็นลำดับที่ 4 และ 5 ตามลำดับ ต้องถือว่าเป็นจุดตกต่ำที่สุดของ “พรรคนอมินีทหาร” เมื่อเทียบกับอดีต เพราะในยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม จอมพลถนอม กิตติขจร และพลเอกสุจินดา คราประยูร พรรคที่ตั้งขึ้นเพื่อสืบทอดอำนาจให้อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหารล้วนชนะเลือกตั้งมาเป็นอันดับที่ 1 เสมอ ในครั้งนี้ทั้งสองพรรคทำผลงานได้ย่ำแย่ทั้งในระบบเขตและบัญชีรายชื่อ ความท้าทายสำคัญ คือ จะทำให้พรรคไม่แตกสลายลงไปอย่างไรและกลับมาชนะได้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า นี่เป็นปัญหาของพรรคทหารมาตลอดประวัติศาสตร์ ที่ตั้งขึ้น ดำรงอยู่ และดับไปในเวลาอันสั้น เพราะขาดความเป็นสถาบันทางการเมือง แต่เป็นแค่พาหะชั่วคราวเพื่อสนองความทะยานอยากทางอำนาจของนายพล

คำถามใหญ่คือ หากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และพลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ เลิกเล่นการเมือง พรรคการเมืองทั้งสองจะยังดำรงอยู่หรือไม่? เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์

7.ภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์กลายสภาพเป็นพรรคภูมิภาคมากกว่าพรรคระดับชาติ

ทั้งสองพรรคยังคงมีที่นั่งและฐานเสียงในบางพื้นที่ เป็นแต่ฐานเสียงที่เฉพาะเจาะจงอยู่ในบางจังหวัดและบางภูมิภาคเป็นหลัก มากกว่าที่จะเป็นฐานเสียงในวงกว้างที่กระจายตัวทั่วประเทศในทุกภาค นอกจากนั้นทั้งสองพรรคได้คะแนนในระบบบัญชีรายชื่อน้อยมาก คือ 3.03% (ภูมิใจไทย) และ 2.47% (ประชาธิปัตย์) จากผู้มาใช้สิทธิทั้งประเทศ สะท้อนว่าไม่มีความนิยมต่อแบรนด์พรรคทั้งสองในระดับประเทศ โดยเฉพาะพรรคเก่าแก่อย่างประชาธิปัตย์ ต้องถือว่าเป็นวิกฤตรุนแรง เพราะเคยได้คะแนนบัญชีรายชื่อสูงถึง 12 ล้านคะแนน (ประมาณ 40%) แต่ครั้งนี้กลับได้คะแนนไม่ถึง 1 ล้านคะแนน

ทั้งสองพรรคจึงอยู่บนทางแพร่ง หากสบายใจกับ “คอมฟอร์ตโซน” คือเกาะอยู่กับฐานเสียงในภูมิภาคที่ตนเองเข้มแข็ง ก็อยู่รอดได้แต่จะไม่โตไปมากกว่านี้และยากที่จะยกระดับเป็นพรรคใหญ่อันดับ 1 หรือ 2 แต่หากอยากเป็นพรรคระดับชาติขนาดใหญ่อย่างแท้จริง ก็ต้องปรับเปลี่ยนแนวทางขนานใหญ่

8.พรรคขนาดเล็กประสบความสำเร็จยาก

ภายใต้กติกาการเลือกตั้งและสภาพความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน พรรคขนาดเล็กมีอนาคตที่ไม่สดใส เพราะระบบบัตรสองใบเน้นไปที่พรรคใหญ่ที่มีแบรนด์แข็งแรง บวกกับความขัดแย้งแบ่งขั้วที่ยังดำรงอยู่ทำให้ประชาชนต้องการความชัดเจน เน้นเลือกพรรคใหญ่จากขั้วใดขั้วหนึ่งเพื่อไปตั้งรัฐบาลสู้กับฝ่ายตรงข้าม แทบไม่มีใครเจียดคะแนนมาให้พรรคเล็ก ฉะนั้นพรรคอย่างไทยสร้างไทย เสรีรวมไทย ประชาชาติ ชาติไทย ชาติพัฒนากล้า จึงเผชิญความท้าทายอย่างรุนแรงหากจะอยู่รอดและประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะในปัจจุบันสนามแข่งขันไม่เหลือพื้นที่ให้ “ตลาดทางเลือก” มากเท่าใดนัก

9.การเมืองแนวอุปถัมภ์ท้องถิ่นยังไม่ล้มหายตายจาก แต่ไปต่อลำบาก

แนวทางการเมืองแบบเก่าของไทย คือ การหาเสียงโดยใช้ระบบการจ้างหัวคะแนน สร้างเครือข่ายอุปถัมภ์ในท้องถิ่น และอาศัยบารมีส่วนตัวของตระกูลการเมืองและเจ้าพ่อ (ที่ปัจจุบันคนทั่วไปเรียกว่า “ระบบบ้านใหญ่”) ผลการเลือกตั้งครั้งนี้สะท้อนว่าแนวทางแบบนี้ยังคงใช้ได้ผลอยู่ในบางพื้นที่ แต่ในภาพรวมต้องถือว่าไม่ประสบความสำเร็จ ผู้สมัครและพรรคการเมืองที่เน้นแนวทางแบบนี้แม้จะฝ่าด่านเข้าเส้นชัยมาได้ แต่ใช้ต้นทุนสูงมาก ข้อมูลจากภาคสนามที่ผู้เขียนได้มา แต่ละเขตเลือกตั้งที่ใช้แนวทางการเมืองแบบเก่านี้ต้องใช้เงินสูงถึง 70-80 ล้าน และใช้เงินซื้อเสียงต่อหัวสูงถึง 1,000-2,000 บาท ในขณะที่การเมืองแบบใหม่ที่เน้นการขายนโยบายระดับชาติและอุดมการณ์ที่ชัดเจน กลับลงทุนน้อยกว่าและได้ส.ส.เข้าสู่สภามากกว่า

Image Name

ทั้งหมดนี้คือ เทรนด์ของการเมืองไทยที่จะไม่ย้อนกลับไปอีกแล้ว และจะอยู่จนถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า