ผู้ลี้ภัยหมายเลข 00 ชีวิตถูกแช่แข็งไว้กับคำว่า "ระหว่าง" - Decode
Reading Time: 3 minutes

กว่า 1,800,000 คน เป็นผู้ลี้ภัยที่ยังอยู่ในประเทศเมียนมา

กว่า 1,400,000 คน เป็นผู้ลี้ภัยที่เพิ่งเกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร

กว่า 18,000 คน เป็นนักโทษการเมืองในคุกทหาร

กว่า 3,500 คน เป็นผู้เสียชีวิต

และ 367 คน เป็นผู้เสียชีวิตที่ยัง ‘เด็ก’

สงครามและการสู้รบในเมียนมา ทำให้ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศทางผ่าน
แต่เป็นประเทศไทยที่พำนักของผู้ลี้ภัยกว่า 100,000 คน ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา
และยังมีผู้ลี้ภัยที่อาศัยในเขตเมืองอีกราว 5,000 คน เกือบครึ่งหนึ่งของกลุ่มคนเหล่านี้เป็น “เด็ก”
เป็นความจริงที่รัฐไทยยอมรับได้ยาก และมักจะหลีกเลี่ยงการใช้คำเรียกมาตลอด 40 ปี
แต่การมีอยู่จริงของ “ผู้ลี้ภัย”ในประเทศไทย เริ่มปรากฏชัดทั้งพื้นที่และปริมาณ

กว่า 5,000 คน คือผู้ลี้ภัยในแม่สอด เชียงใหม่ และกรุงเทพมหานคร

กว่า 90,000 คน คือผู้ลี้ภัยในแหล่งพักพิงชั่วคราว 9 แห่งที่ชั่วคราวมากว่า ’40 ปี’

ทว่าแท้จริงแล้วประเทศไทยไม่มีผู้ลี้ภัย ด้วยกรอบคิดด้านความมั่นคงของรัฐ การปฏิเสธข้อตกลงระหว่างประเทศในอนุสัญญาที่ว่าด้วยผู้ลี้ภัยปี ค.ศ.1951 และพิธีสารที่ว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยปี ค.ศ.1967 รวมไปถึงการใช้มาตรา 54 ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ที่ให้สิทธิ์เจ้าหน้าที่รัฐสามารถส่งตัวคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาต กลับออกไปนอกราชอาณาจักรได้ และในระหว่างรอส่งกลับก็สามารถกักตัวคนต่างด้าวผู้นั้นไว้นานเท่าใดก็ได้ (ตามปากคำของแรงงานต่าวด้าวในห้องกักกันบอกว่า “คุกยังดีกว่าเสียอีก”)

กรอบคิดและนโยบายทำให้คนเหล่านี้ไม่ได้รับสิทธิการคุ้มครองในฐานะผู้ลี้ภัยในประเทศไทย ซ้ำร้ายยังกลายเป็นผู้ที่หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ไม่มีสิทธิ์อาศัยในไทยอย่างมนุษย์ ไม่สามารถเดินทางต่อไปยังประเทศที่สาม และอาจได้รับโทษจนถูกส่งกลับประเทศต้นทางที่ยังคุกรุ่นไปด้วยสงคราม

วงเสวนา “In-Between | ชีวิตติดกับ” จึงเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญที่ว่าด้วยเรื่องผู้ลี้ภัย ที่ร่วมกันเปล่งเสียงของผู้ลี้ภัยที่ยังไม่ถูกได้ยิน และรวบรวมหลากความเห็นจากคนทำงานเรื่อง ผู้ลี้ภัยมาอย่างยาวนาน เพื่อทำให้ “ชีวิตระหว่างทาง” ของผู้ลี้ภัยได้เห็นแสงที่ปลายทางเสียที

ผู้ลี้ภัยหมายเลข 0

“รัฐต้องยอมรับก่อนว่ามีผู้ลี้ภัยอยู่จริง ๆ”

กระดุมเม็ดใหญ่ที่รัฐไทยต้องปลดให้ได้เสียก่อน ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอธิบายว่า และการที่รัฐไทยไม่ยอมรับคำว่าผู้ลี้ภัยนั้นเป็นดาบสองคม คมแรกคือ ระเบียบสำนักนายกว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวปี พ.ศ.2562 ที่คณะกรรมการคัดกรองส่วนใหญ่เป็นตัวแทนจากภาคความมั่นคงของรัฐ และใช้กรอบคิดด้านความมั่นคงจนส่งผลร้ายที่ผู้ที่ลี้ภัยเข้าประเทศไทย เช่น ต้องหลบหนีจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ ถูกกักตัวอยู่ในสถานกักกัน หรือถูกส่งกลับไปหาอันตรายที่รออยู่ประเทศต้นทาง

คมที่สองคือ การใช้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาเป็นหลักการหนึ่งในการคัดกรอง ที่ทำให้หากเรายอมรับคำว่าผู้ลี้ภัย นั่นหมายถึงเราชี้นิ้วไปที่ประเทศต้นทาง และบอกเขาว่าคุณกำลังประหัตประหารประชาชนของคุณเอง

ดร.ศรีประภาอธิบายเพิ่มว่า แม้ไทยจะไม่ได้เป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัยปี ค.ศ.1951 และพิธีสารที่ว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยปี ค.ศ.1967 แต่ก็ยังเป็นภาคีระหว่างประเทศในเรื่องสิทธิมนุษยชนกว่าอีก 7 ฉบับ ซึ่งมีภารกิจในการคุ้มครองมนุษย์ทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย ฉะนั้นการเข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาใด ๆ คงไม่สำคัญเท่ากับการทำตามสิ่งที่ตนพูดไว้

เพราะอย่างไรก็ดี ประเทศไทยมีกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ให้ผู้ลี้ภัยอยู่พอสมควร อย่างเช่น พ.ร.บ.การศึกษาที่ระบุว่าเด็กทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ พ.ร.บ.ทะเบียนราษฎร์ที่สามารถจดทะเบียนราษฎร์หากเกิดที่ประเทศไทย หรือกระทั่งพ.ร.บ.คนเข้าเมืองที่แท้จริงมีช่องที่สามารถคุ้มครองคนเหล่านี้และให้สิทธิที่จะอยู่ในประเทศไทยชั่วคราวได้ แต่เจ้าหน้าที่กลับใช้มันในการจับคนใส่ห้องกัก ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นในประเทศไทย

“สองอาทิตย์ที่ผ่านมาก็เพิ่งเสียชีวิตไป 2 คนจากความไม่พร้อม”

พงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ นายก อบต.แม่สามแลบ จ.แม่ฮ่องสอน เล่าถึงสถานการณ์ผู้ลี้ภัยในปัจจุบันที่ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง จากผลพวงของสงครามที่ยังไม่สงบจึงทำให้ยังมีผู้ลี้ภัยอีกมากที่ยังไม่ถูกนับในตัวเลขอย่างเป็นทางการ เขาอธิบายว่าหลังการรัฐประหารในเมียนมา ทำให้การลี้ภัยทวีความรุนแรงขึ้น และมีลักษณะของผู้ลี้ภัยที่แตกต่างไปจากครั้งก่อน ๆ หลาย เพราะในครั้งนี้ผู้ลี้ภัยหลายคนไม่ได้พบเจอการภาวะการอพยพมาหลักสิบปี และในกลุ่มผู้ลี้ภัยนั้นมีทั้งเด็กแรกเกิด หญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุ รวมถึงผู้พิการ ทำให้การเตรียมการในการลี้ภัยเต็มไปด้วยความยากลำบาก

ทว่าความช่วยเหลือในปัจจุบันยังไม่เพียงพอและขาดประสบการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดหาพื้นที่ปลอดภัยและเหมาะสมกับสภาวะการณ์ที่เต็มไปด้วยผู้ลี้ภัยที่อาจไม่มีความพร้อมนักในการอพยพ พงษ์พิพัฒน์ยกตัวอย่างถึงหญิงมีครรภ์ที่เมื่อถึงแหล่งพักพิงแล้วก็คลอดทารกทันที ทว่ากลับไม่มีที่อยู่อาศัยหรืออาหารการกินที่เหมาะสมใด ๆ เลย

“การไปเรียน ไปหาหมอ ทุกกิจกรรมที่ทำในไทย
ล้วนเกี่ยวข้องกับกฎหมายหมดเลย”

เสียงจาก วริศรา รุ่งทอง คนทำงานจากโครงการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ลี้ภัย ที่ต้องเผชิญกับข้อจำกัดทางกฎหมายที่ส่งผลการคุ้มครองผู้ลี้ภัยเต็มไปด้วยความยากลำบาก และคนทำงานเองก็มืดแปดด้าน เธอมองว่า พ.ร.บ.คนเข้าเมืองที่มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2522 นั้นไม่ละเอียดมากพอและไม่สอดรับกับสถานการณ์ผู้ลี้ภัยในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังรัฐประหารเมียนมาเมื่อราว 2 ปีก่อน ที่ทำให้มีผู้ลี้ภัยที่ต้องได้รับการคุ้มครองมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะกลุ่มผู้ลี้ภัยชาวเมียนมา อุยกูร์ โรฮิงญา ที่เป็น กลุ่มพิเศษที่รัฐมองว่ากระทบถึงปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ และส่งผลถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง โดยกลุ่มนี้จะถูกจัดการโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติหรือหน่วยงานความมั่นคง ต่างจากกลุ่มทั่วไปที่สามารถติดต่อผ่านสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้ ซึ่งผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาไม่สามารถเข้าถึงการลงทะเบียนกับ UNHCR อย่างเป็นระบบ มันทำให้โอกาสที่จะได้รับการคุ้มครองน้อยลงไป

“เราต้องเปลี่ยนทัศนะว่าเขาเป็นคนที่มีศักยภาพ
เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ”

ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ว่าทางเลือกหลักของผู้ลี้ภัยมีอยู่สามทาง หนึ่งคือ การเดินทางไปยังประเทศที่สามที่แทบเป็นไปไม่ได้จากข้อจำกัด ต่าง ๆ สองคือ การกลับประเทศต้นทางที่ยากพอกัน เพราะรัฐบาลเมียนมานั้นยังไม่มีท่าทีที่ชัด ในการจัดการประชาชนที่พลัดถิ่น ปัญหาการสู้รบที่ยังลุกลามต่อเนื่อง อีกทั้งปัญหาเรื่องที่ทำกิน ที่หลายคนจากประเทศต้นทางมาแล้วกว่า 30 ปี จนสิทธิที่จะครอบครองที่ดินก็เลือนลางไปด้วย

กระทั่งทางเลือกที่สามอย่างการอาศัยอยู่ในประเทศไทย ก็ยังถูกขัดขวางด้วยข้อกฎหมายของรัฐ ดร.ชยันต์ยกกรณีของค่ายกักกันชั่วคราวตั้งอยู่มากว่า 40 ปีแล้ว บางค่ายมีความพยายามปรับตัว เข้ากับสังคมไทยด้วยการเปิดโรงเรียนมัธยมศึกษา คนเหล่านั้นสามารถพูดภาษาได้หลากหลาย ทั้งอังกฤษ เมียนมา และไทย แต่ถึงอย่างนั้นรัฐไทยก็ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการให้ความช่วยเหลือ

“เราต้องเร่งดำเนินการให้พวกเขา (ผู้ลี้ภัยในค่ายกักกัน) เข้าระบบแรงงาน”

ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเสริมว่าคนในค่ายพักพิงชั่วคราวนั้น ไม่ได้เชื่อมต่อกับคนเมียนมาเป็นหลัก 40 ปีแล้ว ฉะนั้นเขาเป็นเหมือนคนไทยต้องให้เขาเข้าไปลงทะเบียนแรงงานได้ ทว่าสำหรับศยามลปัญหาผู้ลี้ภัยต้องไม่มองแบบปะปนกัน เพราะกลุ่มผู้ลี้ภัยมีหลากหลายมาก ทั้งกลุ่มผู้ลี้ภัยในค่าย กลุ่มหมายเลข 00 ผู้มีวีซ่าและได้รับนุญาตให้ทำงานเป็นการชั่วคราว กลุ่มที่เพิ่งหนี้ภัยประหารจากประเทศต้นทาง ซึ่งแต่ละกลุ่มมีเงื่อนไขบางอย่างที่แตกต่างกัน

อย่างกลุ่มผู้ลี้ภัยในค่ายที่ถูกแช่แข็งให้อยู่ในค่ายไม่สามารถประกอบกิจกรรมใดได้ กลุ่มหมายเลข 00 บางคนก็ตกหล่นจากสิทธิ์ในการทำงาน หรือกลุ่มที่ต้องหนีภัยประหารใหม่ ที่อยู่ภายใต้ระเบียบคัดกรองคนต่างด้าวปี พ.ศ.2562 แต่กลับยังมีปัญหามากในทางปฏิบัติ เช่น ต้องลงทะเบียนภายใน 60 วัน ซึ่งเป็นการยากเพราะว่าผู้ลี้ภัยหลายคนไม่มีล่ามและต้องใช้เอกสารจำนวนมาก

 “เราจำเป็นต้องมองนโยบายสามชุด
คือ ภายในประเทศ บริเวณชายแดน และต่างประเทศ”

ทางด้าน กัณวีร์ สืบแสง ตัวแทนจากพรรคเป็นธรรมหนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล มองว่าปัญหาผู้ลี้ภัยมันมากกว่าเกินกว่าที่หน่วยงานเพียงหน่วยเดียวจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ เพราะปัญหาไม่ได้เกิดแค่เพียงชายแดน แต่ยังอยู่ลึกเข้ามาอีกในประเทศ และไกลออกไปนอกเส้นพรมแดน การเสนอให้ประเทศไทยร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัยปี ค.ศ.1951 และพิธีสารที่ว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยปี ค.ศ.1967 เป็นหนึ่งในสิ่งที่ต้องทำเพื่อแสดงออกว่าประเทศไทยเคารพหลักสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง

แต่สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการคือการสร้างศักยภาพในการทำงานเรื่องผู้ลี้ภัยให้มีประสิทธิภาพ ประเทศไทยมีสิ่งที่เรียกว่า NSM หรือ National Screening Macanisim ซึ่งเป็นระเบียบสำนักนายกที่ว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรไทย ซึ่งระเบียบนี้มีมาตั้งแต่ 2562 และได้รับมติเห็นชอบร่างจากคณะรัฐมนตรี และประกาศคณะกรรมการคัดกรองตามหลักการเมื่อ 5 ตุลาคม 2565 แต่ก็ยังอยู่ในขั้นตอนของการ “วางกรอบปฏิบัติ” ซึ่งการพัฒนากรอบดังกล่าวจำเป็นต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ มามีส่วนร่วมด้วย ซึ่งถ้าทำได้เราจะเป็นผู้นำระหว่างประเทศในเรื่องนี้

เริ่มนับหนึ่งให้ผู้ลี้ภัย

กว่า 40 ปีที่ปัญหาผู้ลี้ภัยยังคงติดหล่ม พล.อ.นิพันธ์ ทองเล็ก อดีตเจ้ากรมกิจการชายแดนทหารอธิบายว่า รัฐไทยมีความพยายามที่จะเจรจากับรัฐทหารเมียนมาเพื่อรับผู้ลี้ภัยกลับประเทศต้นทาง แต่รัฐทหารเมียนมาปฏิเสธไม่รับกลับ โดยให้เหตุผลว่าไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าคนเหล่านี้มาจากประเทศเมียนมา ทำให้ประเทศไทยอยู่ในสภาพจำนนต่อปัญหา ฉะนั้นความท้าทายหลักของประเทศไทยคือ การนำผู้ลี้ภัยเหล่านี้ออกมาจากค่าย ตรวจสอบ และนำเข้าสู่ระบบ การใช้กระบวนการทางกฎหมายจึงสำคัญยิ่ง เพราะเมื่อคุยกับท้องถิ่น ท้องถิ่นก็จะชี้นิ้วขึ้นข้างบน การทำนโยบายแบบ Top down (ส่วนกลางสู่ท้องถิ่น) จึงจำเป็นและจะนำไปสู่การเปิดประตูมนุษยธรรม (Humanitarian corridor) “ถ้ามีรัฐบาลใหม่ขออย่างเดียวคือ ประตูมนุษยธรรมสักสองสามจุดเพื่อบรรเทาทุกข์” เขาเสริม

ทางด้าน พิศาล มาณวพัฒน์ อดีตเอกอัครราชทูตและสมาชิกวุฒิสภาในปัจจุบันกล่าวเสริมว่า สี่สิบปีที่ผ่านมาไม่เคยมีนายกลงไปแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัย ทั้ง ๆ ที่การทำให้เขาสามารถอยู่ในสังคมไทยได้นั้นไม่ยากเลย แม้ไทยจะไม่ได้ร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย แต่นั่นไม่ได้สำคัญไปกว่าการกระทำที่สอดรับกับกติกาสากลในเรื่องสิทธิมนุษยชน เรามีหมอชายแดนที่ทำงานเพื่อมนุษยธรรมตลอดเวลา แต่เขากลับไม่มีงบประมาณมากพอที่จะรองรับจรรยาบรรณแพทย์ที่ต้องไม่เลือกปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนเมียนมา พิศาลจึงเสนอว่า ถ้าสาธารณสุขมีปัญหา ก็อยากให้กระทรวงการต่างประเทศตั้งงบประมาณเพื่อสนับสนุนหมอชายแดน และเมื่อเขาสามารถทำงานเพื่อมนุษยธรรมได้อย่างไม่เลือกปฏิบัติ มันจะเป็นรั้วของชาติที่แข็งแรง

กัณวีร์ กล่าวต่อว่า การเปิดประตูมนุษยธรรม (Humanitarian corridor) ไม่ใช่ปัญหาของเมียนมา แต่เป็นปัญหาในระดับภูมิภาค ซึ่งประเทศในอาเซียนจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยนี้ ซึ่งถ้าเปิดประตูนี้ได้ และมีการร่วมมือของประเทศที่เกี่ยวข้อง เราสามารถทำให้ผู้ลี้ภัยมีตัวตนและส่งเสียงได้อย่างแท้จริง รวมไปถึงการผลักดันฉันทามติ 5 ข้อ (A-Five Point Consensus) ของประเทศในอาเซียนให้เกิดขึ้นจริง

อย่างไรก็ดี การเปิดประตูมนุษยธรรมดังกล่าว กลไกท้องถิ่นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการสนับสนุนให้เป็นหลักในการบริหารจัดการผู้ลี้ภัย เพราะงั้นการใช้กลไกทหารอย่างเดียว ใช้กฎอัยการศึก หรือใช้การพิจารณาวงรอบระเบียบปฏิบัติประจำ (รปจ.) ของทางหน่วยงานความมั่นคง ทำให้เกิดการผลักดันส่งกลับ แต่หากเราใช้กลไกท้องถิ่นร่วมไปกับกลไกที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะทำให้การเปิดประตูมนุษยธรรมมีประสิทธิภาพมากขึ้น และทำให้ประเทศไทยมีจุดยืนระหว่างประเทศว่า เราใช้หลักมนุษยธรรมนำการเมืองอย่างแท้จริง “จุดยืนทางการทูตของไทยต้องชัด เพราะตอนนี้มันย่ำอยู่กับที่เป็นเวลานานตั้งแต่สงครามเย็น เราต้องเปลี่ยนกรอบคิดให้เป็นพหุภาคี แสวงหาความเป็นผู้นำ และทำงานให้มีความสมดุลเรื่องสิทธิมนุษยชน”

ซึ่งทาง พงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ เสนอไปในทางเดียวกัน คือ ควรทบทวนการทำงานแนวชายแดนและมีนโยบายที่จะเปิดพื้นที่ให้กับคนเหล่านี้ รวมถึงเปิดพื้นที่ให้กลุ่มองค์กรที่มีประสบการณ์ในการทำงานด้านนี้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ เพราะตอนนี้เจ้าหน้าที่ภาครัฐในพื้นที่ที่มีปัญหา ก็ไม่รู้ว่าจะจัดการกับปัญหาผู้ลี้ภัยใหม่ได้อย่างไร เพราะแนวทางการแก้ปัญหาหาใช่การปล่อยให้เข้ามาอย่างเดียว หากรวมไปถึงการจัดหาที่อยู่อาศัย อาหารการกินที่เหมาะสม พื้นที่ที่ปลอดภัย เพื่อรักษาชีวิตของผู้ประสบภัยไว้ได้ แม้ตอนนี้จะมีการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอ เพราะแต่ละพื้นที่มีความแตกต่าง เราจึงจำเป็นต้องให้ท้องถิ่นและชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการด้วย

ศยามลเสริมว่า ประเทศไทยไม่สามารถปิดตาข้างเดียวได้แล้ว เรื่องมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนต้องทำอย่างเร่งด่วน ที่สำคัญก็คือว่าถ้าเราคิดว่าเขาเป็นมนุษย์และมองเขา เป็นพี่น้อง เราจึงต้องช่วยเหลือเขา อย่ามองเรื่องความช่วยเหลือเป็นเรื่องความมั่นคง เพราะมันมีข้อจำกัด และต้องออกแบบระบบที่อำนวยความสะดวกให้เขาเข้าถึงมากที่สุด มันต้องทำงานร่วมกันหลายฝ่ายมันถึงไปกันได้

และการแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยต้องมองเป็นระบบ เป็นกลุ่มและปะปนกันไม่ได้ กลุ่มแรกคือผู้ลี้ภัยในค่ายกักกันที่ต้องเปิดค่ายให้เขาออกมาทำงาน กลุ่มสองคือบุคคลหมายเลข 00 ที่หมายถึงคนที่มีวีซ่าและได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศเป็นการชั่วคราว ซึ่งกลุ่มนี้จำต้องประสานกับกระทรวงแรงงาน รวมถึงระเบียบคัดกรองที่ยังใช้ได้ไม่เต็มที่ เพราะต้องรอประกาศผลบังคับใช้ภายใน 180 วัน ศยามลจึงเสนอว่า จำเป็นต้องจัดพื้นที่รองรับให้ผู้ลี้ภัยอยู่ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน และการออกแบบกฎหมายต้องใช้หลักอำนวยความยุติธรรมและความสะดวก จึงต้องไม่มีเอกสารจำนวนมาก รวมถึงการตีความการใช้กฎหมายไม่ควรใช้หลักความมั่นคงนิติรัฐ เพราะเป็นการละเลยสิทธิเสรีภาพและผลักภาระให้ผู้เข้ารับบริการจากรัฐ

ซึ่งในกลุ่มผู้ลี้ภัยที่รัฐไทยมองว่าเป็นปัญหาต่อความมั่นคง วริศราเสนอว่า รัฐไทยควรจะหันมาทบทวนตัวบทกฎหมายว่าผู้ลี้ภัยในไทยควรจะมีสิทธิเข้าถึงสิทธิ์บางประการได้ เช่น สิทธิในการไปประเทศสาม สิทธิที่จะได้รับการคัดกรองหากจะถูกส่งกลับไปยังประเทศต้นทาง (ต้องไม่ส่งกลับหากประเทศต้นทางยังมีอันตราย) รวมไปถึงสิทธิในการทำงานระหว่างรอการพิจารณาส่งกลับหรือส่งไปยังประเทศที่สาม รวมไปถึงสิทธิในการประกันตัวในห้องกักของผู้ลี้ภัยชาวเมียนมา และการปรับปรุงห้องกักให้สามารถอาศัยได้โดยไม่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ทางด้าน ดร.ศรีประภา เห็นตรงกันว่า สิ่งจำเป็นอย่างยิ่งคือการสร้างระเบียบคัดกรองที่มีแนวนโยบายระยะยาวมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาเราจัดการกับปัญหาแบบเฉพาะหน้ามาตลอด ถัดมาคือการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประกันสังคม ยุติการมองปัญหาผู้ลี้ภัยแบบแยกส่วน และมองมนุษย์เป็นมนุษย์ที่ต้องการความคุ้มครองเหมือนกันทุกคน รวมถึง ดร. ชยันต์ ที่มองว่ารัฐไทยควรเปิดค่ายและขยายโอกาส ทบทวนว่าพวกเขาหาใช่เพียงผู้ลี้ภัยเท่านั้น หากแต่เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพ เป็นกำลังทางเศรษฐกิจและดึงเขาเหล่านี้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาแนวทางและนโยบายที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย