ทรงอย่าง bad sad อย่าง Tom เมื่อทุนนิยมตีตราว่าเรา 'ขี้แพ้' - Decode
Reading Time: 3 minutes

ยังดูการ์ตูนอยู่อีกเหรอ

ความรักทำให้คนตาบอด เป็นสำนวนที่บรรยายถึงอาการ ‘คลั่งรัก’ จนลืมมองสิ่งรอบข้างในชีวิตไป

แต่สำหรับเจ้า Tom จาก Tom and Jerry ในตอน Blues Cat Blues ความรักไม่ได้ทำให้ทอมตาบอดเพียงอย่างเดียว ความรักในโลกทุนนิยมที่ต้องใช้เงินซื้อใจเธอมา ทำให้ทอมถึงกับต้องยอมเสียแขนและขาไปอย่างละข้าง รวมถึงโดนคิดค่าดอกเบี้ยร้อยละ 112 ต่อปี จากการกู้หนี้นอกระบบ เพื่อจะเปลี่ยนความรักโรแมนติกกลายเป็นสินค้าหรูหราชิ้นหนึ่ง

เมื่อรักแบบ ‘กัดก้อนเกลือกิน’ ไม่ถูกนับเป็นความรักในโลกทุนนิยม ในวันที่ธนบัตรเท่านั้นที่ทำให้เราได้โบยบินคือความจริงตรงหน้า เพราะความจนทำให้เราพ่ายแพ้ทุกอย่าง โดยเฉพาะในเรื่องของความรัก

Tom ทุ่มเท แต่เธอทุ่มทิ้ง

Blue cat blues เป็นตอนที่ 103 ของการ์ตูนทอมแอนด์เจอรี่ยุคคลาสสิคในฐานะผลงานของผู้สร้าง Hanna Barbera

เนื้อหาตอนนี้แทบไม่ต่างจาก Tom and Jerry ตอนอื่น ๆ ที่ทอมและเจอรี่วิ่งไล่จับกัน ทว่า สิ่งที่ทำให้เป็นที่จดจำในตอนนี้ คือตั้งแต่ฉากแรกทอมนั่งหมดอาลัยตายอยากอยู่กลางทางรถไฟ

เจ้าหนูเพื่อนซี้เจอรี่ รับบทผู้บรรยายชีวิตของทอมผู้น่าสงสาร(Poor Tom) เรื่องราวเริ่มต้นที่วันนั้น วันที่แสนธรรมดาของเพื่อนซี้หนูและแมว จนกระทั่งแมวขาว สวยเริ่ด เชิด หยิ่ง เข้ามาขโมยหัวใจของทอมตั้งแต่แรกพบ ทอมยอมเป็นทาสรักผู้ซื่อสัตย์ เธออยากได้อะไรทอมก็หามาให้ ความรักในครั้งนั้นจากแมวเทาผู้โด่งดังก็ได้กลายเป็นเจ้าลา(Donkey) ซึ่งเป็นสัตว์สัญญะของความโง่เขลา

ระหว่างที่ทอมคอยแกว่งชิงช้าให้เธอ แต่แมวดำดูดีมีสตางค์นามว่า บุช ได้เห็นกับเธอเข้า นั่นทำให้เกมที่ทอมถูกตัดสินให้พ่ายแพ้ตั้งแต่เกมยังไม่เริ่ม ก็ดำเนินไปอย่างช้า ๆ ให้ทอมทรมานไปเรื่อย ๆ

ไม่ว่าทอมจะทำอย่างไรในเกมของความทุ่มเท ทอมก็สู้บุชไม่ได้เลย

ในขณะที่บุชซื้อซุ้มดอกไม้ พร้อมเขียนว่า ‘Love from Butch’ ทอมกลับทำได้เพียงเด็ดดอกไม้ข้างทางมาฝาก หรือจะเอาน้ำหอมมาซื้อใจเธอ แต่บุชกลับส่งรถบรรทุกที่หอบน้ำหอมเต็มคันรถมาเกทับ แม้กระทั่งแหวนเพชร สัญลักษณ์ของการขอแต่งงานที่ทอมไปกู้หนี้ยืมสินมา กลับสู้แหวนเพชรของบุชไม่ติดแม้แต่ฝุ่น ในขณะที่เพชรบนแหวนของทอม เม็ดเล็กเสียจนต้องใช้แว่นขยายส่อง แต่เพชรของบุช ต้องเอาหน้ากากอ็อกเหล็กมาใส่ขณะมอง เพราะเพชรเม็ดนั้นมันสว่างจ้าเสียเหลือเกิน

เป็นเรื่องน่าปวดใจที่พระเอกของการ์ตูนเรื่องนี้อย่างทอมต้องมารับบทคนแพ้ ในขณะที่สถานะอย่างทอมเป็นแมวบ้านธรรมดา หากเปรียบกับโลกความเป็นจริงคงเป็นคนชนชั้นกลาง แต่บุชซึ่งเป็นคนรวย มีสถานะทางสังคมและเงินทองที่มากกว่า ที่การเลือกคู่ครองแบบทุนนิยมจัดสรรให้ เป็นเหมือนการเลือกสินค้า ซึ่งวัดจากความพึงพอใจของลูกค้าอย่างแมวสาว

ความทุ่มเทของทอมซึ่งเกิดจากความหลงใหล ความรัก ความต้องการไม่แพ้บุช แต่เพราะสินค้าที่ไม่ผ่านมาตรฐานของระบบ ทอมที่พ่ายแพ้ในด้านฐานะและหน้าตา ทุนนิยมจึงทำให้ความรักเกิดนิยามของความคุ้มค่าซึ่งมีราคาเป็นเวลาในระยะยาว(คู่ชีวิต)

เนื้อเพลงของวง Tattoo Colour ที่ว่า ‘มีจริงหรือรักแรกพบเพียงสบตาแค่หนึ่งครั้ง’
ใช่… รักแรกพบอาจมีอยู่จริง ถ้าเงินในบัญชีคุณมีมากพอก็เป็นได้

ใส่ใจได้แค่มอง ขับ Rollsroyce ได้ทั้งใจ

ในอีกมุมหนึ่งทำไมใครสักคนต้องมาเลือกความรักที่จะพากันลำบากไปด้วย หากแต่การวิเคราะห์เรื่องนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่การพิสูจน์ว่ากล่าวโทษบุญวาสนาเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งที่ทุนนิยมในรูปแบบของสื่อ(หนัง, เพลง , ละคร etc.) กับความเป็นจริงที่ Tom and Jerry ตอนนี้นำเสนอถึงความรัก มีจุดเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

ความรักในเรื่องถูกทำให้บุคคลหรือความรักที่มอบให้กับบุคคลต้องมีแพ็กเกจจิ้งที่ดี และแน่นอน ราคาค่างวดในการศัลยกรรมความรัก อาจส่งผลให้ใครหลายคนอาจต้องเป็นหนี้เป็นสินจากการอยากจะมีเท่าเขาหรือเธอ ทอมเองก็เช่นกัน

หลังจากที่ทอมส่งดอกไม้ไปให้กับแมวสาว ทอมรู้ตัวดีว่าเขาสามารถให้เธอได้มากกว่านี้ ทอมเริ่มเข้าถึงแหล่งเงินกู้นอกระบบโดยมีสัญญาที่ขูดรีดเกินไป โดยสิ่งของที่ทอมไปกู้ยืมเพื่อหวังชนะใจแมวสาว เป็นสัญญะของความเพียบพร้อมของความเป็นคู่ชีวิตในระบบทุนนิยม ได้แก่ แหวนเพชร(แหวนแต่งงาน) และรถ

ซึ่งสิ่งของที่ทอมใช้ร่างกายไปเป็นหลักประกันในการกู้ยืม รวมถึงอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 112 ต่อปีนั้น ไม่ว่าจะมองอย่างไรก็ไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย เม็ดเงินที่ทอมได้กลับมาสามารถซื้อได้เพียงเพชรเม็ดจิ๋วที่ต้องใช้แว่นขยายส่องและรถบุโรทั่งคันเก่าจากสุสานรถมือสอง

นี่เป็นหลักฐานอีกชิ้นในเรื่องที่พิสูจน์ว่า ความรักในระบบทุนนิยม บีบให้คนที่ไม่ดีในระบบหรือคนจนถูกด้อยค่าลงไป เพราะหากเปรียบเทียบกันจริง ๆ ร่างกายมนุษย์ส่วนหนึ่งจึงไม่น่ามีราคาเพียงแค่จะซื้อของเก่ามือสองเป็นแน่

ความรักในเรื่องที่สื่อออกมา ทำให้เรามองเห็นถึงมิติที่ความรัก ถูกยึดโยงกับสิ่งของในฐานะวัตถุนิยมมากขึ้น นอกจากนี้ความรักที่ดียังคงยึดโยงกับฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม หลายคนไม่สามารถเข้าถึงความรักได้ และความรักถูกทำให้กลายเป็นของหายากและเลอค่ามากยิ่งขึ้น เมื่อความรักที่ดีมาพร้อมกับฐานะที่ดี

เมื่อนำมาขบคิดกับคำพูดของอแล็ง บาดียู(Alain Badiou) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส มนุษย์ในโลกทุนนิยมถูกทำให้ค้นหาการเติมเต็มอยู่ตลอดเวลา ความรักเป็นหนึ่งในนั้น 

ความรักถูกสร้างภาพให้เกิดความพึงพอใจ เช่น ถ้าหากฉันได้เป็นแฟนกับเธอ/เขาคนนี้ ฉันคงมีความสุขที่สุด เป็นปลายทางที่ระบบทุนนิยมทำให้เราเชื่อในฐานะที่ความรักเป็นสินค้าประเภทหนึ่งในการบริโภคนิยม แต่ความเป็นจริงไม่ใช่ อย่างในเรื่อง เราจะเห็นทอมยอมทุ่มเทมากขึ้นอยู่เรื่อย ๆ แต่ไม่ว่าพยายามแค่ไหนสถานะชนชั้นกลางของทอมไม่สามารถเอาชนะคนรวยอย่างบุชได้

บุชคือแมวหนุ่มผิวเข้มฐานะดี มีบ้านเป็นของตัวเอง ระหว่างนั่งสูบซิก้าร์จึงได้พบกับแมวสาวระหว่างที่ทอมแกว่งชิงช้าให้เธออยู่ ในขณะที่ทอมต้องผลัดกันแย่งอาหารกับเจอรี่อยู่เสมอ นั่นเป็นข้อแตกต่างที่พิสูจน์ว่าทอมไม่สามารถเติมเต็มแมวสาวได้เท่ากับบุชทำได้ ณ ขณะนั้นอย่างแน่นอน

ในขณะที่ ฌาคส์ ลากองส์(Jacques Lacan) นักจิตวิเคราะห์ชาวฝรั่งเศส กล่าวไว้ว่า “ความรักคือการให้อะไรบางอย่างที่คุณไม่มีแก่คนที่ไม่ได้ต้องการมัน” คำพูดนี้แสดงถึงมนุษย์ที่มีความรักคือผู้บกพร่อง เราต่างประคับประคองความบกพร่องนี้ไปจนสุดเส้นทางรัก 

แต่ทุนนิยมไม่ได้มอบความหมายแบบนั้น ทุนนิยมบอกว่า การมีความรักคือการเติมเต็ม เป็นการเติมเต็มแบบที่คุณไม่สามารถทำได้คนเดียว คุณต้องมีใครสักคนเข้ามาเติมเต็มช่องว่างตรงนั้น นั่นหมายความว่าการมีความรักจะทำให้คุณเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์พร้อม แต่ในความเป็นจริง คือทอมถูกทำให้พิการไปแล้วครึ่งตัวอีกทั้งเป็นหนี้ที่เงื่อนไขคือการผ่อนจ่าย 200 กว่าปี เท่ากับหากทอมตายไป เงื่อนไขหนี้สินนี้ก็ยังไม่จบไม่สิ้น

ทอมมีรอยประทับของความพ่ายแพ้ในความรักเพิ่มขึ้นทุกครั้ง เมื่อเขาพยายามที่จะชนะใจแมวสาวในเกมที่เขารับบทเป็นผู้แพ้ตั้งแต่เริ่ม ขวดนมที่ตั้งอยู่บนโต๊ะคงไม่พอที่จะทำให้ทอม ล้างภาพเธอออกไปจากใจได้โดยเร็ว

ต่อให้รักแท้ ยังไงก็แพ้ทุนนิยม

แม้ไม่มีหลักฐานพิสูจน์ว่าตั้งแต่เมื่อไหร่กัน ทุกครั้งที่อกหักผู้คนมักจะบอกให้ ‘ดื่มเพื่อลืมเธอ’ เช่นเดียวกับทอม ที่กำลังดื่มนมนับสิบลังเพื่อล้างแผลใจจากความเจ็บปวดที่บุชได้มอบไว้ให้กับเขา

แม้ความพยายามที่ทอมทำให้ จะดูเป็นความรักที่บริสุทธิ์เสียจนใกล้เคียงกับคำว่ารักแท้ แล้วจริง ๆ คำว่ารักแท้ชนะทุกอย่าง เป็นจริงหรือไม่ในระบบทุนนิยม

บาดิยูยังนำเสนอถึงชุดความคิด ที่นักคิด นักปฏิวัติ รวมไปถึงนักรัก จะต้องแยกรักแท้กับรักเทียมให้ออก กล่าวอย่างสั้น รักเทียมถูกเร่งให้พบมากขึ้นด้วยภาวะสุขนิยมที่ทุนนิยมผลิตความรักออกมาในรูปแบบของสื่อ คือ ความรักถูกทำให้ย่อยง่าย ถูกทำให้เป็นเป้าหมายที่ใครหลายคนสามารถเข้าถึง และหากได้ครอบครองจะนับว่าเป็นผู้สมบูรณ์พร้อม

ในขณะที่ทอม แมวหนุ่มชนชั้นกลาง ตามคติของสังคมที่ถึงวัยหนึ่งอาจต้องหาที่ลงหลักปักฐาน แต่งงานเพื่อสืบสกุล แต่เพราะทอมดันไปหลงรักแมวสาวผู้เย่อหยิ่ง อีกทั้งรูปร่างหน้าตาเธอดูจะไม่ใช่แมวที่ไลฟ์สไตล์คล้ายกันเป็นแน่ ทอมยอมกระโดดเข้ากองไฟพร้อมเสียใจเพื่อความรักครั้งนี้ ความรักของทอมดูจะเป็นความโรแมนติกที่แท้จริงตามนิยามของธเนศ วงศ์ยานนาวา ที่ว่า “ความรักคือการเสียสละ แบบไม่สมหวังนั่นแหละถึงเรียกว่าความรัก”

ความรักของทอมดูจะเป็นความรักที่บริสุทธิ์ เป็นความรักที่โรแมนติกเอาเสียมาก ๆ แม้ไม่มีเงิน ก็ยอมทำสัญญากู้ยืมขูดรีด ชนิดที่มีหนึ่งร้อยบาทจะหามาให้เธอหนึ่งพันบาท 

แต่เพราะอย่างนั้นทอมจึงเป็นผู้พ่ายแพ้โดยสมบูรณ์แบบ เพราะเป็นรักแท้ถึงได้เป็นผู้แพ้ในระบบทุนนิยม ทุนนิยมไม่ได้บอกว่าใครรักมากกว่าชนะ แต่ความเป็นสินค้าที่ส่งต่อไปยังความรัก ทอมเป็นสินค้าที่ไม่คุ้มค่าพอสำหรับแมวสาว หลังจากที่ทอมเมามายและพบว่าแมวสาวได้แต่งงานกับบุชไปแล้ว จึงเป็นดังภาพที่เห็นในฉากแรก ว่าทอมพร้อมจะทิ้งชีวิตหลังจากหมดสิ้นรักครั้งนี้ไปแล้ว

มีทฤษฎีคิดกันไปต่าง ๆ นานาก่อนหน้าว่าทอมได้ตัดสินใจฆ่าตัวตายจริงหรือไม่ เพราะในเนื้อหาของตอนก็จบไปเสียก่อนที่เรื่องราวจะกระจ่าง แต่ทางสตูดิโอก็ได้ออกแจ้งว่าทอมได้ตายไปแล้วในตอนนั้น ซึ่งสาเหตุดังกล่าวเกิดจากที่ช่วงหนึ่งสตูดิโอไม่มีเงินผลิตการ์ตูนซีรีส์นี้ต่อ จึงต้องการตัดจบเรื่องราวเพื่อนซี้แมวและหนูไว้เพียงเท่านี้

อย่างไรก็ตาม ทุนนิยมไม่ได้ทำร้ายเราแต่เพียงเท่านี้ ทอมถูกทำให้ไร้ค่าเพราะทอมไม่สามารถเป็นผู้สมบูรณ์พร้อม(มีความรักที่สมหวัง) แบบฉบับทุนนิยมได้ มันส่งผลถึงคุณค่าของตัวตนที่ยังยึดโยงกับระบบ ทอมถูกทำให้ไร้ค่าในวันที่หัวใจของเขาไร้รัก

อีกทั้งการก่อร่างสร้างหนี้ของทอมเองเพื่อจะเอาชนะใจแมวสาว ทอมเป็นหนี้ชนิดที่อีก 8 ชีวิตที่เหลือดังคำกล่าว แมว 9 ชีวิต ก็ไม่มีทางใช้หนี้หมด ทั้ง 2 เหตุผลเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ทอมเลือกจะไปนั่งรออยู่กลางรางรถไฟ ในช่วงท้าย ๆ ของตอนเราจะได้ยินเสียงรถไฟใกล้เข้ามาเรื่อย ๆ โดยที่ทอมไม่ลุกไปไหน

แม้เจอรี่จะเป็นเหมือนผู้สังเกตการณ์ตลอดทั้งเรื่อง ทว่า สุดท้ายแล้ว เจอรี่กลับพบว่าหนูสาวที่เขาชอบก็แต่งงานไปไม่ต่างจากเหตุการณ์ที่ทอมเพิ่งพบเจอ หัวใจที่แตกสลายของเจอรี่กำลังย้ำเตือนเราว่า ไม่ว่าใครก็เป็นผู้พ่ายแพ้ในเกมความรักในระบบทุนนิยมได้ทั้งนั้น

แม้เนื้อเรื่องไม่ได้สอดแทรกถึงฐานะและความเท่าเทียมชัดเจนนัก ทว่า ในโลกความเป็นจริง เมืองที่ดี สังคมที่ดี จะทำให้ความรักสามารถเข้าถึงได้ทุกคนไม่ว่าเราจะมีเพชรเม็ดเล็กแค่ไหน หรือสามารถซื้อน้ำหอมได้เป็นคันรถบรรทุก เราอาจจะไม่ต้องทนเห็นเจ้าทอมพยายามมากขนาดนี้ ทอมอาจได้มีความรักที่ดีครั้งหนึ่งในชีวิต

เพราะฉะนั้น สังคมที่เราสามารถคิดเรื่องอื่นนอกจากว่าจะหาเงินมาใช้หนี้อย่างไร โดยการกระเทาะโครงสร้างของทุนนิยมด้วยค้อนที่ชื่อว่ารัฐสวัสดิการ นั่นอาจเป็นปลายทางที่เราตามหามากกว่าความรักที่ดี คือเราทุกคนจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่างหาก

ภายใต้การเข้าถึงความรักที่ดี คือคำถามต่อคุณค่าและตัวตนในระบบทุนนิยม
ท้ายที่สุด ความรักไม่จำเป็นต้องจบลงอย่างสมหวัง แต่นั่นก็ไม่จำเป็นที่เราจะต้องหมดคุณค่าเมื่อถึงเวลาที่ใครสักคนหมดรักเรา เหมือนอย่างทอมและเจอร์รี่ที่นั่งอยู่กลางรางรถไฟในตอนนี้

Poor Tom. In a few minutes, it will all be over.
And for the first time since he met her, 

he’ll be happy.

-Jerry Mouse

รับชม Blues Tom Blues

หนังสืออ้างอิง

สรวิศ ชัยนาม,/ทำไมเราถึงตกหลุมรัก,/แปลโดย สุชานาฎ จารุไพบูลย์,/ครั้งที่ 2,/สำนักพิมพ์ ILLUMINATIONS,/(2021)

กิตติพล สรัคคานนท์,/ในความรัก เราต่างเป็นนักทฤษฎี,/ครั้งที่ 1,/สำนักพิมพ์ SALMON BOOKS,/ตุลาคม(2020)