นโยบายแรงงานแพลตฟอร์ม พรรคไหนที่เขาจริงใจกับเรา - Decode
Reading Time: 3 minutes

ไม่น่าเกิน 5 เดือนข้างหน้าจะถึงวันเลือกตั้งที่เรารอคอย

De/code เกาะติดนโยบายของพรรคการเมืองที่มีแนวคิดในการสร้างความเป็นธรรมให้แรงงานแพลตฟอร์ม สำรวจจุดยืนและมุมมองของพรรคต่อสิทธิและสวัสดิการของแรงงานในสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งการเสนอนโยบายที่เป็นรูปธรรมในการแก้ปัญหา เป็นการรวบรวมแนวคิดจากพรรคการเมืองทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กที่มีนโยบายในเรื่องนี้อย่างชัดเจน

นอกจากนี้ได้มีการติดต่อไปยังรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ทั้งในฐานะผู้ดูแลนโยบายด้านแรงงานและการเป็นตัวแทนของพรรครวมไทยสร้างชาติ แต่ได้รับคำตอบว่ารัฐมนตรีมีภารกิจรัดตัวและยังไม่สะดวกให้สัมภาษณ์ แต่เราจะตามติดเพื่อถามถึงนโยบายในประเด็นด้านแรงงานและประเด็นต่างๆ ที่ส่งผลต่อสิทธิและสวัสดิการของประชาชนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งพรรคการเมืองอื่นๆ ที่ยังไม่ได้แถลงนโยบายในครั้งนี้ เปิดพื้นที่ให้เจ้าของอำนาจอธิปไตยตัวจริง คือพี่น้องแรงงานและประชาชนทั่วไปช่วยกันพิจารณา  

Pitching รอบแรกพร้อมแล้ว เริ่ม!

พรรคประชาธิปัตย์ 

แนวคิด : แรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ หมายรวมถึงแรงงานแพลตฟอร์ม ต้องได้รับสิทธิและความคุ้มครองของกฎหมายประกันสังคม มาตรา 33 ส่วนเสรีภาพในการรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องสิทธิหรือต่อรองกับนายจ้าง แรงงานสามารถทำได้ โดยไม่จำเป็นต้องอิงกับอนุสัญญา ILO 87 และ 98

นโยบาย : ชูนโยบายให้ทุกคนอยู่ในระบบประกันสังคมอย่างทั่วถึง สนับสนุนให้แรงงานมีรายได้ตามสมควร โดยไม่ได้ประกาศตัวเลขรายได้ขั้นต่ำ แต่เน้นสวัสดิการต่างๆ ด้านค่าครอง เพื่อแบ่งเบาภาระของผู้ใช้แรงงาน

พิสิฐ ลี้อาธรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความเห็นว่าการที่แรงงานแพลตฟอร์มมีรายได้ไม่สม่ำเสมอ ไม่ได้ทำให้ขาดคุณสมบัติของการเป็นลูกจ้าง  เพราะระบบประกันสังคมของประเทศต้องเปิดโอกาสให้พวกเขาได้รับสวัสดิการต่างๆ ตามสิทธิประกันสังคมมาตรา 33 โดยชี้ว่ากฎหมายเป็นเรื่องของการตีความ สิ่งที่เป็นอยู่คือการที่บริษัทแพลตฟอร์มเลี่ยงบาลีโดยเรียกแรงงานว่า “พาร์ทเนอร์” เพื่อไม่ให้สถานะลูกจ้าง

“การตีความของกฎหมายแรงงานและประกันสังคมต้องครอบคลุมทุกคน ทุกวันนี้การตีความและการปฏิบัติตามกฎหมายยังแคบเกินไป เจตนาของคนสร้างกฎหมายแต่แรกต้องการให้ครอบคลุมทุกฝ่าย แต่ว่าวิธีปฏิบัติ วิธีการจ่ายเงิน พิจารณาเพียงว่าเป็นเงินเดือนประจำรึเปล่า ผมว่าไม่ถูกครับ ผู้เสียหายคือไรเดอร์ควรจะรวมตัวกันแล้วฟ้องศาลแรงงานได้ ว่านายจ้างคือบริษัทแพลตฟอร์มเบี้ยวกฎหมายแรงงาน ไม่ยอมให้เขาได้ผลประโยชน์ในเรื่องประกันสังคม”

สำหรับหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทํางานตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization- ILO) ในการที่ไทยไม่ได้ร่วมให้สัตยาบันในอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อส่งเสริมเสรีภาพในการสมาคม และสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ให้ความเห็นว่า ไรเดอร์สามารถรวมตัวกันเพื่อเจรจาต่อรองได้โดยไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับอนุสัญญาดังกล่าว โดยเล็งเห็นว่า ILO อาจกลายเป็นภาระผูกพันของไทย เช่นเดียวกับกรณีการลงนามความร่วมมือในการต่อต้านปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย “IUU Fishing”  (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing) โดยเทียบเคียงว่าการลงนามในอนุสัญญา ILO อาจทำให้ไทยเกิดความเสียเปรียบเช่นเดียวกับความร่วมมือ IUU Fishing ซึ่งเป็นนิยามขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ

“การรวมตัวเพื่อเจรจาเป็นสิทธิโดยชอบธรรมที่ใครต่อใครก็ทำได้อยู่แล้ว ผมไม่เห็นเหตุผลว่าทำไมต้องไปอิงกับ ILO ซึ่งเป็นกฎหมายของยุโรป อเมริกาเองก็ปฏิเสธที่จะเข้าร่วม กฎหมายของยุโรปเป็นประโยชน์กับยุโรปเอง ทำไมต้องมาบังคับในเอเชีย เพราะในเอเชียสามารถรวมตัวกันและเจรจากับนายจ้างได้อยู่แล้ว เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่ทุกคนทำได้ ถ้าเอาบ่วงมาผูกคอเรา โดยไปเอา ILO มาเป็นที่ตั้ง ผมไม่แน่ใจว่าเราจะมีอะไรที่ต้องอยู่ภายใต้บังคับของเขาอีกรึเปล่า อย่างเรื่องประมง กับ IUU เขาก็ลากเราเข้าไปจนเราเสียหายไปเยอะแยะ”

ส่วนนโยบายที่เกี่ยวเนื่องกับคุณภาพชีวิตของแรงงาน ประชาธิปัตย์เน้นในเรื่องของสวัสดิการในด้านต่างๆ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของผู้ใช้แรงงาน

“เราสนับสนุนให้แรงงานมีรายได้ตามสมควร อาจไม่ได้ประกาศเรื่องตัวเลขว่าต้องได้กี่ร้อยบาทอย่างชัดเจน แต่ว่าจะดูเรื่องของสวัสดิการต่างๆ ให้ทั่วถึง รวมทั้งเรื่องของค่าครองชีพต่างๆ ซึ่งเราดูอยู่ เช่น ถ้าต้องดูแลเรื่องของการศึกษาบุตร เราก็ให้เต็มที่ อย่างเรื่องอาหารกลางวัน เรื่องนมโรงเรียน ซึ่งเราได้ประกาศไปแล้ว”

พรรคสังคมประชาธิปไตยไทย

แนวคิด : สนับสนุนแนวทางขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน UNGP(United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights) ที่รัฐบาลไทยเซ็นรับรองแล้ว ให้การทำธุรกิจกับสิทธิประชาชนต้องไปด้วยกัน รัฐต้องปกป้องสิทธิของแรงงาน สนับสนุนให้องค์กรด้านแรงงานรวมตัวกันให้แข็งแรง

นโยบาย : ทุกคนต้องเข้าถึงหลักประกันสังคมอย่างเท่าเทียมไม่ว่าจะเป็น ม.33 . ม.39 หรือ ม.40  ไรเดอร์ไม่มีเงินจ่ายรัฐต้องสนับสนุน ผลักดันให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญา  155 กับ 187 ว่าด้วยความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยในการทํางาน รวมทั้งอนุสัญญา  87 , 98 สิทธิเสรีภาพในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง และอนุสัญญา183 (อนุญาตให้ลูกจ้างหญิงหยุดพักให้นมบุตร) , อนุสัญญา 159 (ว่าด้วยการฟื้นฟูด้านการฝึกอาชีพและการจ้างงาน(บุคคลพิการ)  และอนุสัญญา 190 (ว่าด้วยการขจัดความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกแห่งการทำงาน)

สาวิทย์ แก้วหวาน หัวหน้าพรรคสังคมประชาธิปไตยไทย สมาทานแนวคิดของการทำธุรกิจที่ต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ตามหลักการขององค์การสหประชาชาติ โดยเน้นว่าเป็นหน้าที่ของรัฐโดยตรงในการเขามาคุ้มครองสิทธิของแรงงาน

“ในการเจรจาทำไมต้องปล่อยให้ไรเดอร์เผชิญกับเจ้าของแอปพลิเคชั่น ทำไมรัฐบาลไม่เจรจากับเจ้าของแอปพลิเคชั่นเจ้าของแพลตฟอร์มทั้งหลาย รัฐบาลต้องทำหน้าที่เจรจา ถ้าไม่ตกลงต้องปิดแพลตฟอร์ม ถ้าไม่คุ้มครองสิทธิแรงงานต้องไม่ให้เปิดบริการในประเทศไทย วันนี้ต้องไม่ลืมว่ารัฐบาลไทยไปเซ็นรับรองเรื่องธุรกิจกับสิทธิประชาชนว่าต้องไปด้วยกัน (UNGP) เพราะฉะนั้นต้องปกป้องสิทธิไรเดอร์และพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ถ้าไทยจะก้าวไปสู่เวทีโลก มีแนวทางการทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน เราสามารถที่จะร้องเรียนได้ต่อหน่วยงานในระดับสากลได้ ไม่ว่าจะเป็นองค์การแรงงานระหว่างประเทศ องค์การสหประชาชาติ และที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือว่าองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นองค์กรที่เชื่อมั่นอย่างมากว่าการรวมกลุ่มจะนำไปสู่ความก้าวหน้าอันยั่งยืน”

ด้วยแนวคิดที่ชัดเจนของพรรคสังคมประชาธิปไตยไทย นโยบายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานแพลตฟอร์มที่ประกาศไว้ก่อนนับถอยหลังสู่คูหาเลือกตั้ง คือการสนับสนุนสิทธิของแรงงาน โดยเฉพาะสิทธิในการรวมตัวเพื่อเจรจาต่อรองกับนายจ้างอย่างชอบธรรม

 “แม้ว่ากฎหมายจะไม่เอื้อในประเด็นเรื่องการรวมตัว แต่ในความเป็นมนุษย์ ถ้ามนุษย์ปฏิเสธสิทธิเสรีภาพ มนุษย์จะไม่แตกต่างจากสัตว์ ดังนั้นจึงอยากบอกแรงงานว่าอย่าไปคาดหวังจากใครมาก กฎหมายจะเอื้อหรือไม่ก็แล้วแต่ รัฐธรรมนูญปัจจุบันมาตรา 42 เขียนไว้ สิทธิในการรวมกลุ่มกันเป็นสิทธิที่ห้ามแทรกแซง พี่น้องรวมกลุ่มกันได้ ผมจัดตั้งเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ เป็นชาวเมียนมา ไปจัดตั้งสหภาพพนักงานประกันสังคม โดยกฎหมายไม่เอื้อให้ตั้ง การตั้งองค์กรเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเราตั้งขึ้นมาได้ มีพลังสร้างความเข้มแข็งได้ เมื่อเรากลุ่มก้อนผมเชื่อว่านักการเมืองต้องฟัง”

พรรคก้าวไกล

แนวคิด : เศรษฐกิจแพลตฟอร์มมีแนวโน้มที่จะเติบโตมากยิ่งขึ้น ในขณะที่สิทธิในการทำงานของไรเดอร์ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยเฉพาะยังไม่มีการนิยามว่าใครคือผู้มีส่วนร่วมในความรับผิดชอบเรื่องหลักประกันอุบัติเหตุ สำหรับเรื่องสวัสดิการมีแนวคิดว่าทุกอาชีพควรได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย และได้รับสวัสดิการที่เป็นธรรม

นโยบาย : รัฐบาลต้องยกระดับประกันสังคมให้เป็นประกันสังคมแบบถ้วนหน้า สำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากธุรกิจแพลตฟอร์ม 5 ส่วนหลักๆ คือรัฐ เจ้าของแพลตฟอร์ม ไรเดอร์ ผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภค ร้านอาหาร ควรจะเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบในการสร้างหลักประกันอุบัติเหตุให้ไรเดอร์

นุชประภา โมกขศาสตร์ นักวิจัย Think Forward Center ตัวแทนจากพรรคก้าวไกล เผยนโยบายของพรรคก้าวไกลในสองส่วนหลัก ในส่วนแรกคือการสร้างหลักประกันด้านอุบัติเหตุให้กับไรเดอร์ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจน

“เรามองว่าสิทธิในการทำงานของไรเดอร์ที่ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม เช่น ต้องแบกรับความเสี่ยงในเรื่องอุบัติเหตุ แล้วใครควรจะเข้ามาเป็นผู้มีส่วนร่วมในความรับผิดชอบในการดูแลเรื่องหลักประกันอุบัติเหตุ โดยใช้หลักการว่าใครคือผู้ที่ได้ประโยชน์จากการทำงานลักษณะนี้ ผู้ที่ได้ประโยชน์คือเจ้าของแพลตฟอร์มและผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภค หรืออาจจะมีในส่วนของร้านอาหารด้วย ตรงนี้เราอาจจะต้องมาทำการตีความอีกทีว่าผู้ที่ได้รับประโยชน์คือใครบ้าง จึงเสนอว่าผู้ที่ได้รับประโยชน์ควรจะเข้ามามีส่วนร่วมในความรับผิดชอบในการสร้างหลักประกันอุบัติเหตุให้ไรเดอร์”

ส่วนเรื่องของสวัสดิการของแรงงานแพลตฟอร์มที่ปัจจุบันยังไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิเท่าที่ควร ตัวแทนพรรคก้าวไกลสนับสนุนหลักการของประกันสังคมแบบถ้วนหน้า รวมทั้งต้องทบทวนนิยามต่างๆ ของแรงงานอิสระให้ทันกันสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้การคุ้มครองสิทธิเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

“ขณะนี้มีกฎหมายประกันสังคมมาตรา 40 ที่จะเป็นหลักประกันเรื่องสวัสดิการต่างๆ ให้กับผู้ใช้แรงงานที่อาจจะไม่ได้มีนายจ้างประจำ เราเสนอให้รัฐเข้ามาดูแลและคุ้มครองตรงนี้มากยิ่งขึ้น และเห็นด้วยกับการยกระดับประกันสังคม ให้เป็นประกันสังคมแบบถ้วนหน้าซึ่งจะครอบคลุมผู้ใช้แรงงานอิสระทั่วประเทศ ในอนาคตเศรษฐกิจแพลตฟอร์มจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย การทำงานอาจจะมีความหลากหลายมากขึ้น ประเด็นที่ถกเถียงกันมากคือกรณีว่างงาน แล้วอาชีพอิสระจะมีการนิยามการว่างงานว่าอย่างไร เช่น ไรเดอร์อาจจะเจ็บป่วย เกิดอุบัติเหตุ หรือไรเดอร์หญิงต้องลาคลอด ไม่สามารถไปทำงานได้ หรือกรณีถูกแขวน เลิกจ้างจากเจ้าของแพลตฟอร์ม เพราะฉะนั้นนี่คือนิยามการว่างงานที่แตกต่างหลากหลาย ต่างจากลูกจ้างทั่วไปที่สามารถนิยามได้ชัดเจน ตรงนี้ต้องมาคุยกันว่าจะนิยามอย่างไร เพื่อที่จะจัดให้มีหลักประกันการว่างงานที่ชัดเจน”

พรรคเพื่อไทย

แนวคิด : สังคมต้องมองธุรกิจแพลตฟอร์มให้กว้างกว่าเรื่องเศรษฐกิจ แต่ต้องคำนึงถึงแรงงานที่อาจจะไม่ได้รับความเป็นธรรม สนับสนุนให้ผู้เกี่ยวข้อง 4 ส่วน คือแรงงาน ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค และบริษัทแพลตฟอร์ม มีอำนาจต่อรองหรือสิทธิเท่าๆ กัน

นโยบาย : นโยบายด้านค่าจ้างแรงงาน “เงินโอนคนสร้างตัว” เน้นไปที่แรงงานแพลตฟอร์มและแรงงานนอกระบบ หากแรงงานมีรายได้ต่ำไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด จะมีการชดเชยรายได้ในสัดส่วนขั้นบันได ผลักดันกฎหมายใหม่ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจแพลตฟอร์มโดยตรง โดยไม่ติดอยู่ในกรอบของกฏหมายสมัยเก่า

เผ่าภูมิ โรจนสกุล ผู้อำนวยการศูนย์นโยบาย พรรคเพื่อไทย มีแนวคิดว่าภาคนโยบายควรมีกรอบแนวคิดใหม่ให้สอดคล้องกับธุรกิจแพลตฟอร์ม โดยเป็นกฎหมายที่ยืนอยู่บนสถานการณ์ปัญหาของแรงงาน และสามารถนำมาปรับใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม

“พรรคเพื่อไทยมองว่าธุรกิจนี้จะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ควรจะมีกฎหมายที่ออกมาดูแลด้านนี้โดยเฉพาะ แต่การจะออกกฎหมายซึ่งเกี่ยวข้องกับธุรกิจสมัยใหม่ที่มีรูปแบบเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ควรเป็นกฎหมายที่มีความยืดหยุ่นสูง สามารถปรับเปลี่ยนตามรูปแบบธุรกิจ แต่ควรจะมีกฎเกณฑ์ของการดูแลสิทธิแรงงาน ทั้งในด้านรายได้และอื่นๆ ให้เป็นระบบ ไม่ลอยเกินไปจนไม่สามารถระบุอะไรได้ เช่น รายได้ของแรงงานแพลตฟอร์มควรจะมีสูตรในการคำนวณที่เป็นหลักฐานในการคำนวณรายได้ขั้นต่ำ อาจไม่ได้ระบุว่าไรเดอร์ต้องมีรายได้กิโลเมตรละเท่าไหร่ แต่ต้องมีสูตรในการคำนวณว่าไรเดอร์ต้องมีรายได้อย่างน้อยเท่ากับเงินเฟ้อ บวกราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าสึกหรอต่อกิโลเมตร รวมถึงเรื่องของอุบัติเหตุอะไรต่างๆ ซึ่งรายได้ของเขาควรจะสะท้อนปัจจัยต่างๆ เหล่านี้”

ต่อเนื่องจากนโยบายนี้ คือการเสนอนโยบายที่เกี่ยวข้องกับค่าจ้างแรงงานโดยตรง ภายใต้นโยบาย “เงินโอนคนสร้างตัว” ซึ่งไม่ได้อยู่ในร่มของนโยบายแรงงานขั้นต่ำ 600 บาท ซึ่งเป็นนโยบายเด่นของทางพรรค

“พรรคเพื่อไทยผลักดันประเด็นแรงงานขั้นต่ำ แต่เราก็เข้าใจในโมเดลธุรกิจว่าในเรื่องของค่าแรงขั้นต่ำอาจไม่เหมาะกับโมเดลของธุรกิจแพลตฟอร์ม หรือแรงงานที่เราไม่สามารถระบุเวลาในการทำงานได้ เพราะฉะนั้นค่าแรงขั้นต่ำแบบครอบจักรวาลสำหรับแรงงานไรเดอร์ ผมคิดว่ายังอาจจะไม่ตรงประเด็น เพราะฉะนั้นเราเสนออีกนโยบายคือ “เงินโอนคนสร้างตัว” ยกตัวอย่างนาย ก.ไก่ ได้เงินรวมทั้งเดือนไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งตัวเลขเราจะดูกันอีกทีซึ่งอาจจะเป็นเส้นความยากจน หรืออาจจะเป็นเส้นของค่าแรงขั้นต่ำที่ทำให้เท่ากันระหว่างแรงงานในระบบและนอกระบบ ใครที่รายได้ต่ำกว่านั้นจะได้รับการชดเชยจากภาครัฐ เป็นเงินโอนเข้าไปโดยผูกกับรายได้ เช่น คุณทำงานมากขึ้น ก็ได้ 40% ของรายได้ที่เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นจะเป็นสัดส่วนของรายได้แบบขั้นบันได  นโยบายนี้ยังเป็นประโยชน์ที่ทำให้สามารถประเมินรายได้ของประชากรไทยแต่ละคนได้ เพราะเขาต้องแจ้งว่ามีรายได้ต่อเดือนเท่าใด ถ้ารายได้ไม่ถึงรัฐจึงเติมให้ นี่คือนโยบายที่เราจะดูแลแรงงานนอกระบบและแรงงานแพลตฟอร์ม”

พรรคไทยสร้างไทย

แนวคิด : ปัญหาความไม่เป็นธรรมต่อไรเดอร์เกิดจากการไม่มีข้อตกลงในการจ้างที่ชัดเจน ควรมีสัญญาจ้างเป็นรายปี เข้าใจตรงกันทั้งสองฝ่าย ข้อตกลงใดๆ เช่น การลดรายได้ ไม่สามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขในระหว่างปี มีการระบุเรื่องสวัสดิการให้ชัดเจน ควรมีการประกันกลุ่มทั้งการประกันอุบัติเหตุและประกันอื่นๆ ที่มากกว่า นอกจากนั้นรัฐบาลควรสนับสนุนให้ไรเดอร์สามารถใช้ฐานรายได้ของตนเพื่อขอสินเชื่อได้

นโยบาย : นโยบาย “กองทุนเครดิตประชาชน” ให้ประชาชนกู้เงินในอัตราดอกเบี้ย 1% ต่อเดือน เพื่อนำเงินไปสร้างงานทางเลือกอื่นๆ  และนโยบาย “บำนาญประชาชน 3000 บาท” สำหรับผู้สูงอายุวัย 60 ขึ้นไป เพื่อผ่อนภาระของคนวัยทำงาน รวมทั้งไรเดอร์ที่ต้องทำงานหาเลี้ยงพ่อแม่วัยชรา

เจตุบัญชา อำรุงจิตชัย รองโฆษกพรรคไทยสร้างไทย แสดงความเห็นว่าปัญหาหลักๆ ของแรงงานแพลตฟอร์มในปัจจุบัน คือการที่ไรเดอร์ไม่มีอำนาจต่อรอง และไม่ค่อยมีทางเลือกในการหางานทำ ดังนั้นเองจึงเป็นที่มาของนโยบาย “กองทุนเครดิตประชาชน” ซึ่งมีจุดประสงค์ในการกระตุ้นให้แรงงานก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการและมีทางเลือกในการประกอบอาชีพมากขึ้น

”สิ่งที่ทำได้คือสวัสดิการของรัฐที่จะเปิดทางให้คนทำอาชีพไรเดอร์มีตัวเลือกมากขึ้น หันไปเป็นเจ้าของกิจการมากขึ้น โดยมีเงินทุนจากรัฐสนับสนุน เมื่อมีตัวเลือกเพิ่มขึ้น อำนาจต่อรองจะเพิ่มขึ้น เพราะตอนนี้มันไม่มีตัวเลือกเขาเลยไม่สามารถต่อรองได้ พรรคไทยสร้างไทยเรามีนโยบาย “กองทุนเครดิตประชาชน”  คือการที่ประชาชนทั่วไปสามารถเอาบัตรประชาชนใบเดียวมาขอกู้ได้ โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ ไม่ต้องตรวจสอบเครดิตบูโรอะไรเลย เริ่มต้นที่ 5,000-50,000 บาท แต่ว่าคุณต้องรักษาเครดิตของตัวคุณเอง ถ้าคุณจ่ายตรงเวลาเครดิตสกอร์ของคุณจะสูงขึ้น นโยบายนี้จะสามารถผันงานให้เขาเป็นเจ้าของกิจกรรมได้โดยไม่ต้องไปพึ่งบริษัท เพราะตอนนี้รัฐบาลไม่ได้มีนโยบายที่มาซัพพอร์ทให้เขามีทางเลือก”

สำหรับนโยบาย “บำนาญประชาชน 3000 บาท” สำหรับผู้สูงอายุวัย 60 ขึ้นไป ตัวแทนพรรคไทยสร้างไทยออกตัวว่าอาจไม่เกี่ยวข้องกับแรงงานแพลตฟอร์มโดยตรง แต่เป็นการช่วยลดภาระวัยแรงงานในการดูแลพ่อแม่วัยชรา หากได้รับการสนับสนุนเงินส่วนนี้จากภาครัฐ

“นโยบาย “บำนาญประชาชน 3000 บาท” เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะคนที่วิ่งไรเดอร์ ผมมองว่า 50% อาจจะเป็นคนที่จำเป็นต้องส่งเงินกลับบ้าน เพราะมีคนที่อยู่ข้างหลัง พ่อแม่ที่อายุเยอะแล้วไม่มีงานทำ เขาต้องส่งเงินกลับบ้านทุกเดือน แต่ถ้าพรรคไทยสร้างไทยได้เป็นรัฐบาล นโยบายนี้จะถูกส่งตรงถึงผู้สูงอายุ ผู้ที่อายุเกิน 60 ทั้งหมดเลย เส้นความยากจนตอนนี้อยู่ที่ 2,500 แล้วเงินชราภาพรัฐบาลให้แค่ 600 เอง มันไม่พออยู่แล้ว แต่ถ้าคุณได้บำนาญประชาชนไป เท่ากับคุณได้วันละ 100 นะ ทำกับข้าวกินเองได้ ไม่เป็นภาระให้ลูกหลาน ไรเดอร์ส่วนใหญ่อยู่ในวัยกลางคน ไหนจะภรรยา ลูกที่ต้องเรียน แล้วถ้าต้องห่วงพ่อแม่ที่อยู่ต่างจังหวัดอีก ผมมองว่ามันจะทำให้เราไม่สามารถหลุดพ้นกับดักความยากจนได้ แต่ถ้าไม่ต้องห่วงพ่อแม่ทางบ้าน เค้าได้ 3,000 ทุกเดือน คุณก็หายใจหายคอโล่งขึ้น ไม่ต้องไปกู้นอกระบบ เอาเงินเก็บไปทำมาหากินอย่างอื่น เป็นเจ้านายตัวเองได้ ไม่ต้องไปวิ่งไรเดอร์ ทำให้พ้นจากการกดขี่ของนายทุนได้”

เราถือว่านโยบายจากตัวแทนพรรคการเมืองเหล่านี้คือคำมั่นสัญญาต่อแรงงานแพลตฟอร์ม รวมทั้งแรงงานนอกระบบทุกอาชีพที่จะได้อานิสงส์จากนโยบายเหล่านี้ ยังมีประเด็นความไม่เป็นธรรมอีกมากในสังคมที่รอคอยการผลักดันในระดับนโยบาย แม้ว่าประชาธิปไตยจะถูกเตะตัดขาด้วยรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ประชาชนที่ต่อสู้เพื่อสิทธิเสียงของคนที่ถูกกดทับไม่เคยหมดหวัง หลังจากรอคอยมาอย่างยาวนานในที่สุดเราจะได้ใช้สิทธิในวันเลือกตั้งที่ใกล้เข้ามา  Decode จะติดตามไปจนสุดทางไม่ว่าก่อนหรือหลังเลือกตั้ง โดยเฉพาะหลังเลือกตั้งที่ช่วงน้ำผึ้งพระจันทร์ระหว่างพรรคการเมืองกับประชาชนอาจจะสิ้นสุดลงแล้ว  

ข้อมูลนโยบายของพรรคสังคมประชาธิปไตยไทยและพรรคก้าวไกล : จากงานสัมนา “นโยบายเศรษฐกิจแพลตฟอร์มที่เป็นธรรม” สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม ร่วมกับมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ประเทศไทย