51,000 ล้านตันต้องใช้หูฟัง - Decode
Reading Time: 2 minutes

ทันทีที่หลานฉันหัดพูด ฉันก็กลายเป็นป้าโดยสมบูรณ์

ลำพังแค่ บิลล์ เกตส์ เขียน สื่อทั่วโลกก็เงี่ยหูฟัง

“ผมกำลังจะเป็นคุณปู่ มันทำให้ผมสะเทือนใจ เมื่อผมนึกถึงโลกที่หลานของผมจะเกิดมา”

จดหมายฉบับล่าสุดที่บิลล์ เกตส์ เขียนบนบล็อกส่วนตัวที่ชื่อ Gates Notes หลังได้ข่าวจากเจนิเฟอร์ เกตส์ ลูกสาวของเขากำลังจะคลอดลูกคนแรกในปีนี้ แน่ล่ะ! เป็นเบื้องหลังของสปีชที่แข็งกร้าวถึงยักษ์ใหญ่ทั่วโลกให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกให้เหลือ ‘ศูนย์’ (Net Zero)ให้ได้ภายในปี 2050 ทั้งยังเสนอตัวทำสงครามกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้ง ๆที่เกสต์มีบ้านหลังใหญ่ ทั้งยังบินไปไหนมาไหนด้วยเครื่องบินส่วนตัว รวมถึงไปร่วมประชุมเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ปารีสด้วย คาร์บอนฟุตพริ้นต์ของเขาก็สูงลิ่ว “ผมขอรับผิดทั้งสามกระทง และผมก็รู้สึกผิดกับมันมานานแล้ว” คำสารภาพในระดับ 70 เดซิเบลไม่ได้ดังไปกว่าสิ่งที่ “คิด” และ “จะทำ”

ถ้าว่ากันตามจริง โลกเราไม่ได้ขาดแคลนเศรษฐีที่คิดการใหญ่ หรือคิดว่าเทคโนโลยีจะแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง แม้แต่เกสต์ที่เป็นคนรวยคนหนึ่งที่บ้าเทคโนโลยี และมองหาเทคโนโลยีมาแก้ไขปัญหาแทบทุกเรื่อง แต่พอเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เขาย่อมรู้ดีว่านวัตรกรรมไม่ใช่สิ่งเดียวที่จะแก้ปัญหา ในเมื่อปัญหานี้มีแต่จะเลวร้ายลงทุกที

จะไปให้ถึง ‘ศูนย์’ จึงต้องใช้หูฟัง ซุ่มเสียงของคนยากจนกับกลุ่มอภิมหาทุนขนาดใหญ่ของโลกไปพร้อมกัน เพราะโลกใบนี้ที่มีประชากรทั้งหมดประมาณ 5,000 ล้านคน แต่เป็นคนจน 3,000 ล้านคน พูดง่าย ๆว่าเกือบค่อนโลกที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ใครก็ตามที่เคยผ่านการเซ้งร้าน-ตกงาน-ติดโควิด จะเข้าใจว่าผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่เรื่องนามธรรมหรือเหลวไหลอย่างที่นักการเมืองตะวันตกกล่าวอ้าง ตรงกันข้ามมันเป็นนาฏกรรมของความเป็นความตายที่ถูกพิสูจน์จากตัวเลขสองหลักของการตายรายวัน อาจเลวร้ายพอ ๆกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ถ้าไม่ลดการปล่อยคาร์บอน ในหนังสือ How to Avoid a Climate Disaster ที่เกตส์คำนวณค่าเฉลี่ยจากข้อมูลการระบาดของไข้หวัดสเปนในปี 1918 กับการระบาดของโควิด-19 เมื่อไปถึงกึ่งศตวรรษ คาดว่าอุณภูมิโลกที่สูงขึ้นจะทำให้อัตราการตายสูงขึ้นในปริมาณที่เท่ากันคือ 14 ต่อ 100,000 คนต่อปี และเมื่อไปถึงสิ้นศตวรรษ ถ้าการปล่อยคาร์บอนยังสูงอยู่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจทำให้อัตราการตายพุ่งสูงเป็น 75 ต่อ 100,000 คน

หรือพูดให้ชัดกว่านั้น เมื่อไปถึงกึ่งศตวรรษ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะคร่าชีวิตคนเท่ากับโควิด และเมื่อถึงปี 2100 มันจะฆ่าคนมากกว่านั้นเป็นห้าเท่า เนื้อหาหลักของหนังสือเล่มนี้จึงไม่ได้เน้นเรื่องการปรับตัว แต่เน้นสิ่งที่ต้องทำ

ประเทศที่ร่ำรวยที่สุด สมควรเป็นผู้แผ้วถางทางให้ไปถึงศูนย์สุทธิภายในปี 2050 ประเทศรายได้ปานกลางก็เป็นรายต่อไปที่จะเดินตามแผนนี้ในที่สุด

ยิ่งเกสต์เขียน ยิ่งทำให้เขาเองต้องรับผิดต่อการลดก๊าซเรือนกระจกด้วย อย่างน้อยที่สุดก็ลดคาร์บอนฟุตพริ้นต์ คือสิ่งเล็กน้อยที่สุดที่คนรวยพึงกระทำ เขาเริ่มลดมันผ่านการลงทุนในบริษัทที่มีโรงแยกคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากอากาศ หรือ Direct air capture และหาทางอื่นในการลดคาร์บอนฟุตพริ้นต์ส่วนตัวของเขาไปเรื่อย ๆหนึ่งในนั้นคือการทุ่มเงินมากกว่าหนึ่งพันล้านดอลลาร์ให้กับหนทางที่เขาเชื่อว่าจะพาโลกไปสู่เลขศูนย์ได้ อย่างการผลิตพลังงานสะอาดที่เชื่อถือได้และราคาถูก รวมถึงผลิตซีเมนต์ เหล็กกล้า เนื้อสัตว์ และอื่น ๆที่ปล่อยคาร์บอนในปริมาณต่ำ เท่าที่รู้ไม่มีใครลงทุนโดยตรงกับเทคโนโลยีดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากอากาศมากกว่าเขาแล้ว เพียงแต่การลงทุนกับบริษัทพวกนี้ก็ไม่ทำให้คาร์บอนฟุตพริ้นต์ของเขาลดลงแต่อย่างใด

หนำซ้ำบริษัทพวกนี้ยังกำจัดคาร์บอนได้มากกว่าที่เกสต์และครอบครัวสร้างเอาไว้เสียอีก เกตส์เริ่มคำนวณว่าเราต้องการกำจัดก๊าซเรือนกระจก 51,000 ล้านตันออกจากชั้นบรรยากาศทุกปี ในฐานะนักเทคโนโลยี เกตส์ทำสเปรดชีตขึ้นมาเพื่อกำจัดก๊าซเรือนกระจก   51,000 ล้านตันและปล่อยคาร์บอนสุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี 2593 ในหนังสือเขียนละเอียดถึงแผนการแก้ปัญหาที่เป็นรูปเป็นร่างไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทของรัฐบาลกลาง ท้องถิ่น หรือแม้แต่บริษัทเอกชน

“เราต้องเร่งมือนะครับ เพราะไม่ใช่แค่โลกของคนรวยเท่านั้น…

เกือบทุกแห่งทั่วโลกผู้คนมีชีวิตยืนยาวขึ้นมีสุขภาพที่ดีขึ้น มีความต้องการรถยนต์ ถนน อาคารบ้านเรือน ตู้เย็น คอมพิวเตอร์ เครื่องปรับอากาศ และต้องการพลังงานที่จะนำมาใช้กับสิ่งเหล่านี้มากขึ้น ทำให้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อคนสูงตามไปด้วย แม้แต่กังหันลมที่ใช้ผลิตไฟฟ้า แผงโซลาร์เซลล์ เตานิวเคลียร์ โรงเก็บไฟฟ้า ล้วนแล้วแต่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้นทั้งนั้น” เกตส์อาจพูดถูกในเรื่องขนาดและความเร่งด่วนของปัญหา ถึงแม้จะเป็นข่าวดีสำหรับคนที่กำลังจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่เป็นข่าวร้ายสำหรับสภาพภูมิอากาศที่เราทุกคนใช้ร่วมกัน ถ้ามองว่า คาร์บอน 40% ที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศมาจากประชากรที่ร่ำรวยที่สุดที่มีอยู่เพียง 16% จะเกิดอะไรขึ้น ถ้ามีคนใช้ชีวิตแบบคนรวย 16% นี้มากขึ้น คำตอบของเกตส์คือ โลกเราจะต้องการพลังงานเพิ่มขึ้น 50% ภายในปี 2050 และถ้ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร การปล่อยคาร์บอนก็จะเพิ่มขึ้นในปริมาณไล่เลี่ยกัน  

ถ้าโลกยังมีคำว่า “โลกร้อน” ที่ฟังดูอบอุ่น แต่ถ้าประมงพาณิชย์ไทย หรือแม้แต่ผู้ผลิตไวน์ในอังกฤษ เจ้าของร้านแชมเปญในสกอตแลนด์ไม่สามารถอธิบายความรุนแรงของพายุ และน้ำท่วมได้มากพอ เราก็กำลังล้มเหลวในความพยายามที่เชื่องช้า หนังสือเล่มนี้กำลังตะโกนบอกความล้มเหลวของตลาดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

โลกร้อนกับพลังงานจึงเป็นเรื่องเดียวกันที่ซับซ้อนและใหญ่โต ในเมื่อไม่สามารถปฏิเสธการผลิตไฟฟ้าให้กับประชากรที่ยากจนที่สุดในโลกจำนวน 800 ล้านคนได้ จุดเริ่มต้นของเขาคือแผนพัฒนาพลังงานสะอาดที่ราคาถูกและแน่นอนสำหรับคนจน แม้ว่าความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ได้ทำให้ราคาของพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลมและคลื่น แบตเตอรี่ ยานพาหนะไฟฟ้า และสมาร์ทกริดมีราคาลดลงได้ แต่ถ้าต้องการพลังงานสะอาดในราคาย่อมเยา เราต้องไปไกลกว่านี้อีกมาก เกตส์ต้องการสิ่งที่เขาเรียกว่า “มาตรฐานพอร์ตโฟลิโอที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้” โดยกำหนดราคาพลังงานที่เป็นธรรม

แต่นโยบายที่ล้าสมัยกำลังดำเนินไปด้วยกันกับการรับมือกับเรื่องสภาพภูมิอากาศและการเปลี่ยนผ่านพลังงานตามสมัยของการเลือกตั้งทุก ๆสี่ปี แปดปี และรัฐบาลใหม่ก็มักจะมาด้วยนโยบายเร่งด่วนด้านพลังงานของตัวเอง จริงอยู่ว่า “ความเร่งด่วน” ไม่ใช่เรื่องผิดแผกอะไร แต่เกตส์ยอมรับว่ามีผลกระทบต่อนักวิจัยที่พึ่งพาเงินสนับสนุนจากรัฐบาล และเจ้าของธุรกิจที่พึ่งพาสิทธิประโยชน์ด้านภาษี วงจรของการเลือกตั้ง และนโยบายรัฐจึงสร้างความไม่แน่นอนในตลาดภาคเอกชนอย่างมาก

ยิ่งนโยบายคลุมเครือ ยิ่งน่าเบื่อกว่าการคิดค้นแบตเตอรี่ชนิดใหม่ที่ฟังดูเร้าใจมากกว่าซะอีก เขาย้ำมากกว่าสามครั้งถ้าเราจะมองปัญหาโลกร้อน ตัวเลข 51,000 ล้านตันจะเป็นตัวตั้งของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์สร้างให้กับโลก เพื่อให้เห็นภาพใหญ่และไม่หลงทางไปกับการแก้ปัญหาโลกร้อนแบบงู ๆปลา ๆ แถมยังเขียนติดตลกด้วยว่าลำพังคำว่า “นโยบายรัฐ” คงไม่ทำให้คนโกรธ จนเป็นบ้าหรอก แต่ทุกนโยบายตั้งแต่ภาษีไปจนถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมมีผลอย่างมากต่อพฤติกรรมของประชาชนและภาคเอกชน เราจะไปไม่ถึงศูนย์แน่ถ้าไม่แก้ที่นโยบายรัฐ หนังสือพยายามวางจุดเน้นเรื่องสิ่งประดิษฐ์ที่จะเป็นตัวช่วยให้เราไปถึงศูนย์ มันคือนโยบายใหม่ด้วย ซึ่งในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก นอกจากเรื่องอากาศสะอาดแล้ว นโยบายด้านพลังงานที่เป็นธรรมก็สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน แน่ล่ะ! ถ้าถามความชอบส่วนตัวร้อยทั้งร้อยไม่หักเศษ เกตส์ น่าจะชอบวิทยาศาสตร์มากกว่าการเมือง “ผมคิดว่าตัวเองเหมือนวิศวกรมากกว่านักวิทยาศาสตร์ทางการเมือง”

เหตุผลของเขาทำให้ฉันนึกถึงความเชื่อที่คล้ายกันของ John นักเศรษฐศาสตร์ในยุคก่อนสงคราม เมย์นาร์ด เคนส์ ความก้าวหน้าทางความคิดทางเศรษฐกิจของจอห์นได้เสนอทางออกจากวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำของโลกและการว่างงานในช่วงทศวรรษที่ 1930

แต่ต้องมาตกม้าตายใน ‘ด่านการเมือง’ เพราะไม่สามารถโน้มน้าวใจฝ่ายการเมืองได้

บ้างก็ว่ามันง่ายที่เข้าใจผิดว่าสิ่งแวดล้อม = ปลูกต้นไม้ และไม่เกี่ยวกับการเมือง แต่ง่ายกว่านั้นที่เข้าใจถูกเสียใหม่ว่าถ้าเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศย่อมมีการเมืองแฝงฝังทุกอณู เวที COP ที่เกือบจะไม่ใช่เวทีสิ่งแวดล้อม ได้กลายเป็นเวทีเจรจาทางการเมืองอย่างเปิดเผย

ยิ่งประเทศไหนมีพื้นที่ประชาธิปไตยมากขึ้น ‘บลา บลา บลา’ จะไม่เป็นข้ออ้างมากเท่ากับประเทศที่มีอำนาจนิยมนำที่ต่างกีดกันการมีส่วนร่วมของคนเล็กคนน้อย อย่างในสหภาพยุโรปมีการขับเคลื่อนนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างชัดเจน ทั้งยังมีพื้นที่ให้ประชาชนกลุ่มต่าง ๆเสนอความเห็น เป็นกลไกติดตามตรวจสอบฝ่ายการเมือง ทั้งกำลังทำอะไร-ถึงไหนแล้ว เป็นไปได้ว่าถ้ามีกลไกตรวจสอบอำนาจรัฐและฝ่ายการเมืองมีบทบาทนำก็อาจทำให้สิ่งที่เกรตาพูดมาตลอดว่าผู้นำประเทศเอาแต่บลา บลา บลา อย่างบ้าคลั่งก็คงจะลดลงในพ.ศ.นี้

หนังสือ: How to Avoid a Climate Disaster
ผู้เขียน : Bill Gates
สำนักพิมพ์: Sophia

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี