กระแสล้มเลือกตั้ง: จากโลกถึงไทย - Decode
Reading Time: < 1 minute

ในความเคลื่อนไหว

รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ

ภาพความรุนแรงและการประท้วงไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งที่บราซิลเมื่อวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา ถึงขั้นที่กลุ่มผู้ประท้วงที่สวมใส่เสื้อฟุตบอลและโบกสะบัดธงชาติบราซิลบุกเข้าพังทำเนียบประธานาธิบดี รัฐสภา และที่ทำการศาลสูงของประเทศ กลายเป็นข่าวใหญ่ที่ได้รับความสนใจไปทั่วโลก ต้อนรับการเริ่มต้นปี 2566 ที่ไม่สดใสนัก

เหตุการณ์ที่บราซิลถือเป็นสัญญาณและภาพสะท้อนการเมืองโลกในยุคปัจจุบันที่มีความแตกแยก แบ่งขั้วสูง (deep polarization) มีความผันผวนไม่แน่นอน และขาดฉันทามติร่วมกันแม้แต่กฎกติกาพื้นฐานที่ทุกฝ่ายยอมรับ

นักสังเกตการณ์การเมืองลาตินอเมริกาล้วนระบุว่า พวกเขาไม่แปลกใจที่การประท้วงก่อความไม่สงบเพื่อคัดค้านผลการเลือกตั้งเกิดขึ้นในบราซิล เพราะอุณหภูมิทางการเมืองมีความคุกรุ่นมานานตั้งแต่หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนตุลาคมเมื่อปีที่แล้ว และทวีความร้อนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนแค่รอวันที่จะถึงจุดระเบิด ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนนักการเมือง 2 ฝ่ายคือ ลูอีซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา หรือที่เรียกขานกันสั้น ๆ ว่า “ลูลา” ซึ่งมีแนวนโยบายไปทางซ้าย กับกลุ่มที่สนับสนุนนายชาอีร์ โบลโซนาโร อดีตประธานาธิบดีฝ่ายขวาจัด (ผู้ถูกขนานนามว่าคือ “ทรัมป์แห่งบราซิล”) มีความร้าวลึกอยู่ในขั้นที่ต่างฝ่ายต่างมองอีกพวกว่าเป็นศัตรู ที่อยู่ร่วมสังคมกันไม่ได้ (ผมเคยเขียนถึงความแตกแยกในบราซิลไปแล้วในคอลัมน์นี้)

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สังคมการเมืองบราซิลแตกแยกและมีความเสี่ยงเรื่องความรุนแรงทางการเมืองสูงขึ้นเรื่อย ๆ ก็เป็นเพราะว่า อดีตประธานาธิบดีโบลโซนาโร ซึ่งพ่ายแพ้การเลือกตั้งไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง ปฏิเสธที่จะแสดงความยินดีกับผู้ชนะ กระทั่งไม่ยอมเข้าร่วมพิธีสาบานตนของลูลาผู้เป็นคู่แข่ง เรียกว่าขาดความเป็นสุภาพบุรุษทางการเมืองและทำลายธรรมเนียมทางการเมืองที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ที่ผู้แพ้ยอมรับผลการเลือกตั้งโดยดี ซ้ำร้ายไปกว่านั้น เขายังกล่าวหาว่ามีการโกงเลือกตั้งและเขาเป็นผู้ถูกปล้นชัยชนะไป ทั้งที่ไม่มีหลักฐานใด ๆ รองรับ องค์กรสังเกตการณ์เลือกตั้งจากนานาชาติรายงานตรงกันว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีบราซิลเป็นไปอย่างใสสะอาดบริสุทธิ์ยุติธรรม แม้ว่าจะมีการแข่งขันกันอย่างสูสีและดุเดือด

ตั้งแต่หลังการเลือกตั้งเป็นต้นมา โบลโซนาโรและทีมงานจงใจเผยแพร่ข้อมูลเท็จและทฤษฎีสมคบคิด (conspiracy theory) เกี่ยวกับการโกงการเลือกตั้ง พร้อมกับปลุกระดมผู้สนับสนุนของเขาให้คัดค้านผลการเลือกตั้งครั้งนี้ สำทับด้วยการสร้างการเมืองแห่งความกลัวว่าหากปล่อยให้ลูลาบริหารประเทศ บราซิลจะกลายเป็นรัฐคอมมิวนิสต์

การประท้วงก่อความไม่สงบบุกเข้าทำลายสถานที่ราชการอันเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจสูงสุด 3 ฝ่ายของประเทศ จึงเป็นผลลัพธ์บั้นปลายที่ไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใด เมื่อเข้าใจสภาพเงื่อนไขของการเมืองบราซิลที่สุกงอมต่อความรุนแรง กล่าวคือ มีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการครบถ้วนที่สังคมหนึ่งจะไม่สงบ – ความแตกแยกแบ่งขั้วร้าวลึก ข้อมูลเท็จที่แพร่กระจาย บวกกับนักการเมืองที่ไม่ยอมรับกติกาพื้นฐานทางการเมือง

หลังเหตุการณ์การประท้วงสงบลง ผู้ประท้วงมากกว่าหนึ่งพันคนถูกจับกุม เจ้าหน้าที่รัฐด้านความมั่นคงหลายนายถูกพักและไล่ออกจากราชการเพราะปล่อยปละละเลย ไม่ทำหน้าที่ควบคุมสถานการณ์ความสงบจนปล่อยให้ลุกลามบานปลาย ประเด็นนี้นับเป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารหลายนายชื่นชมอดีตผู้นำฝ่ายขวาอย่างโบลโซนาโร และแสดงความเป็นปฏิปักษ์กับผู้นำคนใหม่ที่ชนะการเลือกตั้งอย่างชัดเจน สังคมการเมืองบราซิลจึงน่าเป็นห่วงมาก ๆ หลังจากนี้ เมื่อผู้นำที่ชนะการเลือกตั้งต้องบริหารประเทศท่ามกลางความแตกแยกของประชาชน กลไกรัฐที่ไม่เชื่อฟัง และกติกาประชาธิปไตยที่ถูกสั่นคลอน

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในบราซิลสะท้อนเทรนด์ที่ใหญ่และน่ากังวลที่กำลังระบาดไปทั่วโลก เทรนด์ที่ว่านั้นก็คือ นักการเมืองและผู้สนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายที่แพ้การเลือกตั้ง ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง และใช้ความรุนแรงเข้าขัดขวางกระบวนการเปลี่ยนผ่านอำนาจ ทำให้การเลือกตั้งไม่สงบราบรื่น เลือกตั้งไปแล้วไม่จบ ดังเหตุการณ์การบุกรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2021 โดยกลุ่มผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวยังส่งผลสะเทือนต่อการเมืองสหรัฐฯ และการเมืองโลกมาจนถึงปัจจุบัน

ในทางวิชาการ เราเรียกปรากฏการณ์นี้ว่าเป็น ความรุนแรงในการเลือกตั้ง (electoral violence) ซึ่งถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ย้อนแย้ง เพราะโดยปรกติแล้ว การเลือกตั้งเป็นกลไกของสังคมสมัยใหม่ ที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้สังคมสามารถถ่ายโอนอำนาจได้อย่างสันติ จะทะเลาะขัดแย้งกันขนาดไหนก็ไปสู้กันในสนามเลือกตั้ง ให้ประชาชนร่วมกันตัดสิน นโยบายของฝ่ายใดดึงดูดและโดนใจประชาชนมากกว่า ก็ได้สิทธิอันชอบธรรมในการขึ้นสู่อำนาจ จัดตั้งรัฐบาล และผลักดันนโยบายตามที่สัญญาไว้กับประชาชน สังคมก็สามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยไม่ต้องการเกิดรบราฆ่าฟันหรือปะทุเป็นสงครามกลางเมืองเหมือนในการเมืองสมัยโบราณที่ตัดสินกันด้วยความรุนแรงและการใช้กำลัง

การเลือกตั้งจึงเป็นกลไกทางการเมืองที่ถูกรังสรรค์ขึ้นมาเพื่อระงับความรุนแรง สิ่งที่น่าวิตกคือ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานี้ สถาบันและกระบวนการเลือกตั้งถูกสั่นคลอน จากนักการเมืองและประชาชนบางกลุ่ม เราเห็นปรากฏการณ์ของขบวนการต่อต้านการเลือกตั้ง (anti-election movements) ซึ่งมีตั้งแต่พยายามขัดขวางล้มการเลือกตั้งไม่ให้เกิดขึ้นได้ ดังเช่น ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2556-2557 ในสังคมไทยของเราเองภายใต้การเคลื่อนไหวของกลุ่ม กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) จนทำให้การเมืองเดินไปสู่ทางตันและเป็นอัมพาต เพราะเมื่อไม่ยอมรับให้การเลือกตั้งเป็นช่องทางที่ยอมรับร่วมกันในการตัดสินว่าใครควรเข้าสู่อำนาจรัฐ ก็ไม่เหลือช่องทางอื่น นอกจากการเปิดทางให้กองทัพเข้ามาแทรกแซงยึดอำนาจด้วยกำลัง

ในกรณีของไทยนั้นจัดว่าเป็นความรุนแรงก่อนการเลือกตั้ง ส่วนการประท้วงในบราซิลและสหรัฐฯ นั้นเป็นความรุนแรงหลังการเลือกตั้ง ที่กลุ่มขบวนการทางการเมืองไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งที่ประกาศไปแล้ว และใช้ความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อทำให้ผลนั้นเป็นโมฆะหรือพลิกฝ่ายตนจากผู้แพ้ให้เป็นผู้ชนะ กรณีบราซิลนั้น กลุ่มผู้ประท้วงที่สนับสนุนโบลโซนาโรถึงขั้นเรียกร้องอย่างเปิดเผยให้ทหารเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง (รัฐประหาร) เพื่อโค่นล้มลูลา เคราะห์ดีที่กองทัพบราซิลซึ่งก็เคยมีประวัติเข้ามาแทรกแซงการเมืองอยู่บ่อยครั้งในอดีต เรียนรู้บทเรียนจากอดีตแล้วว่าการรัฐประหารไม่ใช่วิถีทางที่โลกในยุคปัจจุบันยอมรับ ขืนทำลงไปก็มีแต่จะทำให้ประเทศของตนเสียหายและถดถอยหนัก จึงวางตัวนิ่งเฉย และเข้ามาช่วยรัฐบาลจัดการรักษาความสงบตามวิถีประชาธิปไตย จนประเทศเดินหน้าต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ เทรนด์นี้จะยังไม่หายไปไหน เพราะมีขบวนการในหลายประเทศทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง ฉะนั้นประเทศใดที่มีความแตกแยกแบ่งขั้วสูง และมีนักการเมืองที่หวงแหนอำนาจและมีทัศนคติ (หรือพฤติกรรมในอดีต) ที่แสดงให้เห็นว่าไม่ยอมรับกติกาประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ก็จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงในการเลือกตั้งได้

ประเทศไทยของเราเข้าข่ายนั้น จึงต้องจับตาดูอย่างระมัดระวังว่า หากฝ่ายผู้มีอำนาจพ่ายแพ้การเลือกตั้ง และไม่สามารถรักษาอำนาจต่อไปได้ ผู้มีอำนาจดังกล่าวจะยอมรับผลการเลือกตั้งและลงจากอำนาจโดยดีหรือไม่ ถ้าไม่ สังคมไทยก็คงเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับวิกฤตรุนแรงอีกครั้ง