สังคมที่เริ่มต้นเท่ากันมันดีกับทุกคน? - Decode
Reading Time: < 1 minute

ประกายไฟลามทุ่ง

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ในช่วงปีที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสเดินทางพบปะคนรุ่นใหม่มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนในระดับชั้นมัธยม อายุตั้งแต่ 14-15 ปี จนกระทั่งถึงช่วงเตรียมเข้ามหาวิทยาลัย ผมมักมีกิจกรรมประกอบคำบรรยายเรื่องรัฐสวัสดิการ ด้วยการใช้ 20 คำถามและให้นักเรียนตอบคำถามตามเงื่อนไขจดคะแนนในกระดาษโพสต์อิท คำถามทั้งหมดไม่ใช่เรื่องที่เกิดจากการตัดสินใจของพวกเขาและเธอ ไม่ใช่เรื่องที่เกิดจากนิสัยส่วนตัว หรือทางเลือกของชีวิต แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่มีมาโดยกำเนิด เช่น “คุณกู้เงินระหว่างเรียนหรือไม่” “พ่อแม่ต้องทำงานกะดึกหรือไม่” “เคยโดนกลั่นแกล้งล้อเลียนในโรงเรียนด้วยรูปลักษณ์หรือไม่” “มีภาระที่ต้องรับผิดชอบมากกว่าตัวเองหรือไม่” “เคยไปต่างประเทศหรือไม่” คำถามเหล่านี้เป็นคำถามพื้นฐานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการตัดสินอะไรเลยของแต่ละคน ไม่เกี่ยวว่า คุณเก่ง คุณฉลาด คุณขยัน แต่คำถามเหล่านี้สะท้อนสิ่งที่แต่ละคนได้มาโดยกำเนิดโดยไม่ได้เลือก

เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อแผ่นโพสต์อิทที่เขียนความฝันพื้นฐานของแต่ละคน ถูกแปะลงบนโต๊ะหน้าชั้นเรียนที่มีลำดับคะแนน เราไม่เห็นว่าแต่ละคนที่เป็นเจ้าของโพสต์อิทได้คะแนนเท่าไร แต่บนโต๊ะมีจุดเริ่มต้นที่ ติดลบ 10 จนกระทั่งถึง บวกสิบ แต่ละคนมีจุดเริ่มไม่เท่ากัน

แต่ละจังหวัดที่ผมได้ไปร่วมทำกิจกรรมผลที่ได้แตกต่างกัน แต่ส่วนมากคือ เด็ก ๆ นักเรียนยิ่งจังหวัดห่างไกล อยู่นอกเขตเทศบาล แนวโน้มที่คะแนนจะไม่สูงนัก และทุกที่จะมีกลุ่มที่ได้คะแนนน้อยที่สุด ความฝันที่มีใกล้เคียงกันไม่แตกต่างกัน อยากเป็นครูคณิตศาสตร์ อยากเป็นนักร้อง อยากเลี้ยงดูพ่อแม่ อยากไปเที่ยว อยากเป็นนักมวย ฯลฯ ความฝันที่ใกล้เคียงกันเหล่านี้แต่กลับแตกต่างกันที่จุดเริ่มต้น

เมื่อกิจกรรมเสร็จสิ้นลงทุกครั้ง ผมจะพิจารณากองโพสต์อิท และตั้งคำถามว่าเด็กที่เกิดมาแล้วคะแนนติดลบ 5 คะแนนมีผลต่อความฝันอยากเป็นครู ชีวิตของเธอต้องพยายามมากแค่ไหนเพื่อให้ได้ความฝันพื้นฐานธรรมดาเหล่านี้ บางคนโชคดีอุทิศแรงกายแรงใจทั้งชีวิต ก็คงสามารถบรรลุได้ แต่ก็คงเป็นเพียงคนส่วนน้อย ขณะเดียวกันเมื่อครั้งผมทำกิจกรรมนี้ในมหาวิทยาลัยกลางเมือง นักศึกษาส่วนมากมีชีวิตเริ่มต้นที่คะแนน +3 +4 กับคำถาม 20 ข้อที่เท่ากัน แต่จุดเริ่มต้นของชีวิตที่แตกต่างกัน นักศึกษามหาวิทยาลัยในเมืองเพียงแค่ตื่น และตั้งใจเรียนให้จบ พวกเขาไปเรียนต่อต่างประเทศ กลับมาทำงานองค์กรข้ามชาติ หรือไม่ก็เริ่มธุรกิจ เส้นทางชีวิตของผู้คนก็จะต่างกันกลายเป็นคนละโลกในเวลาที่ผ่านไปในชีวิตไม่กี่ปี

มันคือโศกนาฏกรรมของสามัญชนในประเทศนี้โดยแท้

ผมคิดต่อว่าสังคมแบบไหนที่จะทำให้เด็กธรรมดาคนหนึ่งที่เติบโตนอกเขตเทศบาล ได้วิ่งตามความฝันของตนอย่างเต็มที่ มันก็คงได้คำตอบง่าย ๆ ว่า “สังคมที่มีความยุติธรรม”

เราไม่ได้เรียกร้องให้คนที่เกิดมามีต้นทุนชีวิต +3 +4 ลงมาติดลบหรือเริ่มต้นที่ศูนย์แต่อย่างใด เราแค่อยากให้เด็กน้อยที่ชีวิตติดลบ ได้เริ่มต้นใกล้เคียงกับลูกหลานชนชั้นกลางที่มีโอกาสมากล้นในเมือง มันไม่ใช่เพียงแค่ความยุติธรรมตามกฎหมาย หรือความยุติธรรมในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ แต่หมายรวมถึงความยุติธรรมในสังคมที่ทำให้เราสามารถเข้าถึงสวัสดิการที่ดีได้เช่นการเรียนหนังสือ การรักษาพยาบาล เงินบำนาญ ขนส่งสาธารณะ รวมถึงการเข้าถึงการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยโดยไม่ต้องมีหนี้สิน สิ่งนี้จะทำให้เราอยู่ในสังคมที่ยุติธรรมมากขึ้น และเริ่มต้นเท่ากัน

คำถามง่าย ๆ ว่ามันเป็นสิ่งที่น่ากลัวหรือไม่หากคนเราสามารถเริ่มต้นเท่ากัน เรามักมีผีในจินตนาการมากมายซึ่งผมมีโอกาสพูดถึงในบทความอื่นว่าด้วยมายาคติของรัฐสวัสดิการไปแล้ว แต่ในส่วนท้ายที่ผมจะย้ำคือ มันจะมีอะไรดี ๆ ถ้าเราเกิดในสังคมที่ผู้คนมีจุดเริ่มต้นชีวิตที่ได้รับการสนับสนุนหรือมีหลังพิงที่ปลอดภัย

1.เศรษฐกิจจะเติบโตและมีความหลากหลายมากขึ้น เมื่อผู้คนเติบโตในสังคมที่ยุติธรรม ตลาดแรงงานจะมีความหลากหลายมีตัวเลือกมากขึ้น รวมถึงการเกิดกลุ่มธุรกิจใหม่ ๆ ก็จะมีความเปิดกว้างมากขึ้น

2.สังคมที่ยุติธรรมมากขึ้น จะนำสู่ความก้าวหน้าทางสังคมมิติอื่น ๆ ไม่ว่าจะเรื่องเพศ สิ่งแวดล้อม ชนกลุ่มน้อย ความหลากหลายทางวัฒนธรรม เพราะผู้คนธรรมดาสามารถส่งเสียงในประเด็นของตนได้มากขึ้น

3.สังคมที่ยุติธรรมมากขึ้น ทำให้ระยะห่างทางสังคมน้อยลงทำให้เราสามารถรู้สึกเป็นมิตรกับผู้คนต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น ปัญหาอาชญากรรมน้อยลง และเกิดความเป็นหนึ่งเดียวกันทางสังคมมากขึ้น

มันไม่ใช่เรื่องน่ากลัวหากคนเราสามารถมีจุดเริ่มต้นที่ใกล้เคียงกัน ในสังคมที่มีความปลอดภัย สังคมทั้งสังคมจะกลายเป็นบ้านของเรา ที่เรารู้สึกอยากให้คนในบ้านของเราได้มีชีวิตที่ดีเช่นเดียวกับที่เราหรือคนที่เรารักได้รับเช่นกัน