หน้าที่ของชุมชนแออัดในสังคมเหลื่อมล้ำ - Decode
Reading Time: 3 minutes

ชาวบ้าน ชาวช่อง

ผศ.ดร.บุญเลิศ  วิเศษปรีชา

ก่อนหน้านี้ผมเขียนเล่าถึง ที่มาของสลัมหรือชุมชนแออัด https://decode.plus/20220914-slum/ และตั้งใจจะเขียนถึง “หน้าที่” ของชุมชนแออัดและคนสลัมต่อเมือง แต่ตอนที่แล้วจำเป็นต้องแทรกด้วยเรื่องนโยบายขายที่ดินให้ต่างชาติ จึงขอกลับมาเรื่องคนสลัมอีกครั้ง

ในสาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มีทฤษฎีพื้นฐานที่นักศึกษาต่างได้เรียนกันเป็นบทแรก ๆ คือ ทฤษฎีโครงสร้างการหน้าที่ (structural functional theory) ซึ่งมีคำอธิบายโดยสรุปว่า วัฒนธรรม พฤติกรรมของผู้คน ตลอดจนสิ่งที่ดำรงอยู่ในสังคม ที่อาจดูเหมือนไม่สมเหตุสมผล ไม่น่าดูชม แต่หากพฤติกรรมหรือสิ่งนั้นยังดำรงอยู่ ไม่สูญสลายไป นั่นแสดงว่า วัฒนธรรมนั้นยังมีหน้าที่ทางสังคมค้ำจุนให้โครงสร้างสังคมดำรงอยู่ ไม่แตกสลาย

หากนำทฤษฎีโครงสร้างการหน้าที่ข้างต้นมาวิเคราะห์การดำรงอยู่ของชุมชนแออัด เราก็สามารถตั้งสมมติฐานเบื้องต้นได้ว่า การที่ชุมชนแออัดไม่ได้ถูกทิ้งร้างไร้ผู้คน หากแต่ยังมีคนจำนวนมากอยู่อาศัย มากกว่านั้น เวลาที่มีการบังคับรื้อย้ายชุมชนแออัด ก็มักพบการต่อต้านของคนในชุมชนไม่มากก็น้อย นั่นย่อมแสดงว่า ชุมชนแออัดต้องมีหน้าที่ตอบสนองความต้องการสังคม

คำตอบเบื้องต้นก็คือ สลัมหรือชุมชนแออัด ทำหน้าที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย ที่ไม่มีรายได้มากพอที่จะไปเช่าที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐานอย่างอะพาร์ตเมนต์ บ้านเช่า หรือ เช่าห้องในคอนโดมีเนียม จึงอยู่ในชุมชนแออัดที่มีมาตรฐานด้านคุณภาพต่ำกว่าที่อยู่อาศัยทั่วไป

การพูดถึงหน้าที่ด้วยคำอธิบายข้างต้น อาจฟังดูไม่เห็นภาพนัก แต่หากผมพูดอีกแบบว่า ถ้าไม่มีชุมชนแออัดให้คนจนอยู่อาศัยแล้ว คนจำนวนมากจะต้องกลายเป็นคนไร้ที่อยู่ หลับนอนในที่สาธารณะ ผมคิดว่า เราจะตระหนักถึงหน้าที่ของชุมชนแออัดต่อเมืองมากขึ้น

ผมเคยอยู่และทำวิจัยเกี่ยวกับคนไร้บ้านในญี่ปุ่นอยู่ 6 เดือน ทำให้ผมเห็นภาพข้างต้นชัดเจนขึ้น ในกรุงโตเกียว มีแต่อะพาร์ตเมนต์มาตรฐานคุณภาพดี และแน่นอนว่า ราคาค่าเช่าก็แพง หรือเรียกว่าเหมาะสมกับรายได้ที่สูงสำหรับคนมีงานทำที่นั่นก็ได้ ปัญหาคือคนที่ไม่มีงานทำหรือมีงานไม่ประจำ มีรายได้ไม่มากพอที่จะจ่ายอะพาร์ตเมนต์ที่ได้มาตรฐาน คนกลุ่มนี้จึงต้องกลายมาเป็นคนไร้บ้าน

เปรียบเทียบกับคนจนเมืองในไทย ในชุมชนแออัดมีคนจำนวนมากที่ทำงานรับจ้างตามแต่คนจะเรียกไปทำงาน อาจจะทำงาน 1-3 วันต่อสัปดาห์ แต่หากเขามีบ้านอยู่ในชุมชนแออัด อย่างน้อยก็มีที่อยู่คุ้มหัวไม่ต้องเป็นคนไร้บ้าน

โครงการจ้าง วาน ข้า ของมูลนิธิกระจกเงา ที่จ้างคนไร้บ้านทำงานสัปดาห์ละ 1-3 วัน ได้ค่าแรงวันละ 400 บาท คนไร้บ้านหลายคนสามารถจัดสรรเงินและหาห้องเช่าราคาถูกเดือนละ 1,000 – 1,500 บาทอยู่ได้ แน่นอนว่า เงินจำนวนเดียวกันนี้ไม่มีทางหาค่าเช่าในกรุงโตเกียวที่ทุกตารางนิ้วถูกพัฒนาจนไม่เหลือพื้นที่รกร้างว่างเปล่า แม้แต่ห้องแบ่งเช่าในอาคารเก่าก็หาได้ยากและราคาเกินกว่า คนทำงานชั่วคราวจะจ่ายไหว

ตอนผมทำวิจัยเรื่องคนไร้บ้านเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว ในปี 2546 กรุงโตเกียวมีคนไร้บ้านอยู่ 6,361 คน[1] ต่อประชากร 12 ล้านคนเศษ ส่วนในกรุงเทพฯ ช่วงไล่เลี่ยกับที่ผมทำวิจัยเรื่องคนไร้บ้าน ในกรุงเทพมหานครมีคนไร้บ้านราวหนึ่งพันคน หรือข้อมูลจากการนับในปี 2558 มีคนไร้บ้าน 1,307 คน[2] ต่อจำนวนประชากรกรุงเทพมหานคร (ที่เป็นทางการ) 9 ล้านคน จะเห็นว่า สัดส่วนคนไร้บ้านต่อจำนวนประชากรในกรุงเทพฯ (0.014 %)  ต่ำกว่าสัดส่วนจำนวนคนไร้บ้านต่อประชากรโตเกียว (0.053 %) เสียอีก

นั่นก็เพราะว่าในกรุงเทพฯ ยังมีที่อยู่อาศัยชุมชนแออัดและห้องเช่าราคาถูกรองรับคนมีรายได้น้อย แต่ก็ต้องยอมรับด้วยว่า สภาพของที่อยู่อาศัยเหล่านี้ก็ย่อมด้อยคุณภาพตามราคา

จำนวนที่อยู่อาศัยราคาถูกที่ลดลง จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้จำนวนคนไร้บ้านเพิ่มมากขึ้นในเมืองใหญ่ของประเทศที่พัฒนาแล้ว (ควบคู่กับปัจจัยเรื่องการเปลี่ยนโครงสร้างการจ้างงานทำให้งานที่มั่นคงน้อยลง และการตัดงบประมาณด้านสวัสดิการสังคม)

ประเด็นสืบเนื่องที่น่าสนใจอย่างมากก็คือ ปัจจุบันจำนวนคนไร้บ้านในที่สาธารณะในกรุงโตเกียวลดน้อยลงมาก คือมีราว 770 คน เท่านั้น[3] ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะนโยบายช่วยเหลือคนไร้บ้านในกรุงโตเกียวได้ผล แต่ปัจจัยที่สำคัญมากกว่า ก็คือ จำนวน “ผู้ลี้ภัยในอินเทอร์เน็ตคาเฟ่” (internet café refugees) เพิ่มจำนวนมากขึ้น นับแต่ที่เริ่มก่อตัวขึ้นในปี 2550 ปัจจุบันคาดการณ์ว่า มีคนที่ทำงานรายได้ไม่ประจำ อาศัยนอนที่อินเทอร์เน็ตค่าเฟ่ซึ่งพัฒนากั้นห้องให้นอนพักได้ 24 ชั่วโมงอยู่ราว 4,000 คน ในโตเกียว[4]

อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ดังกล่าว จึงทำหน้าที่เสมือนเป็นตาข่ายรองรับคนที่มีรายได้น้อยในโตเกียวให้ไม่ต้องกลายเป็นคนไร้บ้านข้างถนน เช่นเดียวกับ ชุมชนแออัดในไทย

ดังนั้นแทนที่จะมองว่าชุมชนแออัด เป็นพื้นที่อันน่ารังเกียจของเมือง ควรมองเสียใหม่ว่า หากไม่มีชุมชนแออัด คนมีรายได้น้อยต้องกลายเป็นคนไร้บ้านข้างถนน ชีวิตเมืองจะยิ่งไม่น่าดูชมกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้

คำถามต่อไปก็คือและผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัดทำหน้าที่อะไรต่อเมือง

ผมขอตอบคำถามนี้ โดยยกคำกล่าวของ พี่ทวีศักดิ์ แสงอาทิตย์ ผู้นำชุมชนคลองไผ่สิงโต ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และเคยเป็นเป้าหมายของการถูกไล่รื้อเมื่อปี 2534 ในคราวที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมธนาคารโลก ด้วยข้อรังเกียจว่า ชุมชนแออัดทำให้เสียทัศนียภาพของศูนย์ประชุมแห่งชาติที่จะต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง พี่ทวีศักดิ์ ให้สัมภาษณ์นิตยสารสารคดี ด้วยคำที่คมคายว่า “เมืองจะเจริญไม่ได้ ถ้าปราศจากคนจน”

เพราะแรงงานของคนจนเมืองมีส่วนในการขับเคลื่อนวงจรชีวิตเมือง ผมจึงเรียกบทบาทหน้าที่ของคนจนเมืองว่า คนแบกเมือง เพราะคนจนเมืองทำงานหนัก สร้างประโยชน์ต่อเมือง แต่คนเมืองทั่วไปยังตระหนักถึงคุณค่าของพวกเขาไม่มากพอ

ผมขออนุญาตยกตัวอย่างกลุ่มอาชีพของคนจนเมืองที่มีส่วนในการขับเคลื่อนและหล่อเลี้ยงเมือง สักสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือ อาชีพในภาคบริการ ที่เห็นได้ชัดก็คือ แม่บ้านและพนักงานทำความสะอาด อาจารย์ อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เคยกล่าวไว้อย่างเห็นภาพว่า หากพนักงานแม่บ้าน คนทำความสะอาด พร้อมใจกันหยุดงานทุกคน หรือ เราไล่พวกเขาออกไปนอกเมืองทุกคน เชื่อได้ว่า เมืองจะโกลาหล “ส้วมแตก”  เพราะเราจะขาดคนทำความสะอาด ซึ่งเป็นงานที่ชนชั้นกลาง พนักงานออฟฟิศ ไม่มีใครอยากทำ

กลุ่มอาชีพต่อมาที่มีความสำคัญมากคือ อาชีพค้าขายอาหารราคาถูกให้กับคนเมือง ไม่ใช่คนเมืองทุกคนที่มีรายได้มากพอที่จะกินอาหารตามศูนย์อาหารได้ทุกมื้อ ไม่เพียงแต่คนทำงานในภาคที่เป็นทางการ พนักงานเงินเดือนก็ยังมาหาทานอาหารจากรถเข็น แผงค้าขายตามตรอกซอกซอย

ช่วงสองปีที่ผ่านมาผมลงพื้นที่ชุมชนริมทางรถไฟหลายแห่ง ที่ชุมชนบุญร่มไทร ตั้งอยู่ท้ายซอยเพชรบุรี 5 ซึ่งเป็นซอยที่มีอะพาร์ตเมนต์ทั้งเก่าและใหม่หลายหลัง ผู้คนพักอาศัยหนาแน่น สิ่งที่ควบคู่กันก็คือ มีรถเข็นขายอาหารในซอยมากมาย รถเข็นจำนวนมาก ก็มาจากชาวชุมชนบุญร่มไทรที่เข็นออกมาขายอาหารราคาถูกให้กับคนในซอย

มากกว่านั้น เมื่อผมได้สัมผัสใกล้ชิด ผมเห็นชัดมากขึ้นว่า พี่ ๆ ป้า ๆ ที่ขายอาหารรถเข็นเหล่านี้ ไม่ได้คิดว่า กำลังขายของเพื่อหารายได้เท่านั้น แต่มีความผูกพันว่าตัวเองกำลังทำอาหารให้คนบ้านเดียวกันกิน ให้มีรายได้น้อยได้กินอาหารอิ่ม มีแรงทำงาน

ช่วงระหว่างเก็บข้อมูลทำวิจัย ผมและทีมนักศึกษาผู้ช่วยวิจัย เคยไปชุมชนตั้งแต่ตีสามตีสี่เพื่อบันทึกภาพและวีดีโอ ของชีวิตคนในชุมชนที่ลุกมาเตรียมของขายกลางดึก ภาพที่ผมเห็นก็คือ ป้าเพลินและสามี สองผัวเมียขายกับข้าวอาหารอีสาน สาละวนกับการทำกับข้าวหลายอย่างบนเตาถ่านหลายเตาพร้อม ๆ กัน ทั้งต้มหน่อไม้ ย่างปลาดุก ตำน้ำพริก และก็นึ่งข้าวเหนียว ซึ่งต้องใช้เวลานาน ฯลฯ เพื่อให้ทันออกไปขายตอนหกโมงเช้า

ระหว่างทำกับข้าว ป้าเพลินพูดกับผมว่า “คนอีสานบ้านเราก็ต้องกินอาหารอีสานถึงจะถูกปาก คนเขาไปทำงาน บางทีที่ทำงานเขาหาอาหารอีสานกินยาก เราขายอาหารแบบนี้ก็เหมือนทำให้คนบ้านเรากิน และเขาต้องออกไปทำงานแต่เช้า ถ้าเราออกสาย เขาก็ไม่มีกับข้าวไปกิน”

เมื่อป้าเพลินทำกับข้าวออกไปขาย ผมจึงเห็นว่า ลูกค้าของป้า มีทั้งแม่บ้าน รปภ. ตลอดจนพนักงานเงินเดือนที่รายได้ไม่สูงซึ่งเช่าห้องพักอยู่ตามห้องแถวที่กั้นห้องแบ่งให้เช่าและไม่สามารถทำกับข้าวกินเองได้ ก็อาศัยซื้อกับข้าวอีสานกินทั้งมื้อเช้าก่อนเข้างาน และห่อไปกินมื้อกลางวันอีกด้วย

ทำนองเดียวกันป้าอ้อ ซึ่งขายอาหารตามสั่งอยู่ท้ายซอยเพชรบุรี 5 เวลาผมพานักศึกษาไปลงพื้นที่ ผมจะแนะนำให้นักศึกษามากินข้าวที่ร้านป้าอ้อเสมอ พร้อมบอกว่า ราคาถูกกว่าและได้ปริมาณมากกว่าร้านอาหารแถวมหาวิทยาลัยเสียอีก ยกตัวอย่างอาหารตามสั่งผัดกะเพราหมูกรอบ ไข่ดาว จานละ 45 บาท แต่ได้ปริมาณและคุณภาพล้นจาน

ป้าอ้อ บอกผมขณะผัดกับข้าวว่า “อาจารย์ เราเคยจนมาก่อน เรารู้ว่าหิวมันเป็นยังไง คนที่เขามากินกับเราเนี่ย เค้ากินข้าวเราได้จานเดียวเท่านั้นแหละ ไม่สั่งจานที่สองหรอก เงินเขามีเท่านั้น ต้องเอาไว้ใช้อย่างอื่น เราก็ต้องให้เค้ากินจานเดียวให้อิ่ม เราต้องให้เขาเยอะไปเลยเค้าถึงจะอิ่ม”

จึงไม่น่าแปลกใจที่ร้านค้าท้ายซอยของป้าอ้อ มีออเดอร์ยาวทั้งคนเช่าห้องบนตึก ทั้งไรเดอร์ที่นอกจากจะมารับอาหารไปส่งแล้ว ก็แวะสั่งอาหารกินเองที่ร้านป้าอ้อด้วย นี่คือตัวอย่างที่ชัดเจนว่า อาชีพการงานของคนจนมีส่วนหล่อเลี้ยงคนเมืองให้อยู่รอดได้ คนในชุมชนไม่ใช่คนที่ไม่ได้ประกอบสัมมาอาชีพอย่างที่มีอคติกัน

อย่างไรก็ดี ทฤษฎีรุ่นคลาสสิกอย่างทฤษฎีโครงสร้างการหน้าที่ ก็ถูกวิจารณ์ในประเด็นสำคัญว่า มองเฉพาะหน้าที่ของวัฒนธรรมหรือสรรพสิ่งที่ดำรงอยู่ จนมองข้ามว่า ที่ดำรงอยู่นั้นอาจเพราะถูกแช่แข็งให้จำต้องอยู่ในโครงสร้างที่มีการเอารัดเอาเปรียบก็เป็นได้ จึงไม่ควรยกย่องเชิดชูการหน้าที่นั้นมากเกินไป

หากนำข้อวิจารณ์นี้มา วิเคราะห์การดำรงอยู่ของสลัมหรือชุมชนแออัด เราก็จะมีมุมมองเพิ่มขึ้นว่า เราไม่ควรพอใจแค่ว่า ชุมชนแออัดมีหน้าที่เป็นแหล่งรองรับผู้มีรายได้น้อยให้มีที่อยู่ หากแต่ต้องวิพากษ์ต่อไปว่า ที่หน้าที่นี้ยังมีก็เพราะส่วนอื่นไม่ทำหน้าที่ดังที่ควรจะทำ หากรัฐมีนโยบายจัดหาที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพและราคาถูกให้ผู้มีรายได้น้อย ชุมชนแออัดก็ไม่จำเป็นต้องมีอยู่

ดังนั้น เราจำเป็นต้องชี้ว่า รัฐต้องจัดหาที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงได้จริง ไม่ใช่แบบต้องดาวน์ต้องผ่อนส่งระยะยาว เพราะการงานของคนจนมีความไม่แน่นอนสูง จะต้องสะดุดขาดส่งก่อนจะผ่อนชำระหมด

การให้คนจนได้เช่าที่อยู่ที่มีคุณภาพเหมาะสมในราคาถูกมาก ๆ จึงเป็นคำตอบที่ตรงประเด็นมากกว่า ในแง่ของการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อย ไม่ใช่แค่คิดรื้อล้างชุมชนแออัดเพียงด้านเดียว


[1] Boonlert Visetpricha. 2012. “The Insecure Lives of Japanese Homeless in the Age of Globalization1.” In MainStreaming Human Security: Asian Perspective, Chantana Banpasirichote, Philippe Doneys, Mike Hayes, and Chandan Sengupta (eds.) pp.121-135.

[2] สำรวจคนไร้บ้านกว่า 1,300 คนกระจายทั่วกรุงเทพฯ พบเมาสุรา-สุขภาพจิตสูงสุด

[3] Government Survey Shows Number of Homeless People in Japan at New Record Low

[4] When your home is a Japanese internet cafe, but the coronavirus pandemic forces you out