ทำไมคนไทยส่วนหนึ่งถึงเห็นใจนายทุน เจ้าสัว เมื่อเกิดการเรียกร้องสิทธิแรงงาน - Decode
Reading Time: < 1 minute

ประกายไฟลามทุ่ง

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

คำถามสำคัญว่าด้วยความขัดแย้งทางสังคมที่อาจเป็นปริศนามานาน ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมหาศาลอย่างประเทศไทย ประเทศที่คนส่วนมากไม่สามารถเข้าถึงการจ้างที่เป็นธรรมและเพียงพอ หากผมเปรียบเทียบแล้ว หากเราแบ่งคนในประเทศไทยออกเป็นสามกลุ่มง่าย ๆ ตามลักษณะของรายได้ กลุ่มแรกคือคนที่มีรายได้ประมาณ 13,000 บาท ต่อเดือน ซึ่งนับเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศ คนอีกกลุ่มซึ่งมีจำนวนน้อยกว่า เราอาจเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มที่มีฐานะดีกว่ากลุ่มแรกแต่ก็ยังนับว่าก้ำกึ่งเกือบจน แต่ก็พอมีรายได้ที่สูงกว่าคนส่วนใหญ่คือกลุ่มที่มีรายได้ 30,000 บาทต่อเดือน ส่วนกลุ่มหนึ่งที่เรียกได้ว่าเป็นกลุ่มคนส่วนเล็กในสังคม หรือผมอาจเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มคนที่มีรายได้ 300,000 บาทต่อเดือน นับเป็นคนส่วนน้อยในสังคม

แน่นอนที่สุดว่าอำนาจและอิทธิพลของแต่ละกลุ่มมีไม่เท่ากัน แต่คำถามสำคัญคือเหตุใดเมื่อกลุ่มคนที่มีปริมาณเยอะที่สุดคือกลุ่มคนที่มีรายได้ 13,000 เริ่มมีปัญหากับคนที่มีรายได้ 300,000 กลุ่มคนที่มีรายได้ 30,000 ซึ่งนับว่าเป็นกลุ่มที่มีรายได้ใกล้เคียงกับคนที่มีรายได้ 13,000 เหตุใดจึงมีแนวโน้มที่จะเห็นใจคนที่มีรายได้ 300,000 มากกว่าการรวมตัวกันกับกลุ่มที่มีรายได้ 13,000 เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม ผมขอสรุปเหตุปัจจัยสำคัญที่สามารถรวบรวมได้ดังนี้

1.เพราะคนรายได้ 300,000 เป็นภาพแทนชีวิตที่คนเงินเดือน 30,000 อยากมี

หากเปรียบเทียบแล้ว คนที่มีเงินเดือนสามหมื่นบาทคือคนที่ไม่อาจกล่าวได้ว่ามีชีวิตที่ปลอดภัย พวกเขาเพิ่งก้าวพ้นจากความลำบากและไม่แน่นอนเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไม่น่าแปลกใจนักว่าทำไมพวกเขาถึงรู้สึกอยากปกป้องคนที่มีรายได้ 300,000 บาท เพราะมันคือภาพแทนที่ของกลุ่มคนที่พวกเขาอยากที่จะมีชีวิตแบบนี้ อยากมีชีวิตที่ไม่ต้องกังวลกับเรื่องเงิน อยากมีชีวิตที่มีอำนาจในการบังคับบัญชาเหนือชีวิตผู้อื่น หรือเรื่องที่ง่ายที่สุดการมีชีวิตที่แม้ทำอะไรไม่สมเหตุสมผล ทำอะไรที่ไร้ปัญญา ไม่มีประสิทธิภาพ สิ้นเปลือง ล้มเหลว หรือ ฟุ่มเฟือย แล้วยังมีคนที่คอยแก้ต่างให้ก็ล้วนเป็นสิ่งที่ ผู้คนเงินเดือน 30,000 บาทต่อเดือนปรารถนา ให้ตัวเองสามารถไปอยู่จุดนั้น

2.เพราะการเอาตัวเองไปผูกติดกับกับคนอยู่ข้างบนและยังมีคนข้างล่างทำให้เรารู้สึกปลอดภัยจากความกลัว

หากวิเคราะห์ตามลักษณะโครงสร้างทางชนชั้นและการเลื่อนลำดับชั้นทางสังคมไทย ทุกอย่างมันเป็นไปได้ยาก และข้อเท็จจริงคือ การที่คนเงินเดือน 30,000 บาทจะสามารถมีรายได้ 300,000 บาทต่อเดือนในอนาคตมันไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับคนส่วนใหญ่แต่อย่างใด และเชื่อว่าจริง ๆ แล้วพวกเขาก็ต่างทราบว่าพวกเขาจะไปไม่ถึง ณ จุดนั้น แต่การได้นำตัวเองไปผูกติดกับผู้คนที่อยู่ข้างบนโดยสมมติว่าตนมีความใกล้ชิดนั้น ก็เป็นการยืนยันว่ายังมีคนอยู่ข้างล่างของพวกเขา มันไม่ได้ทำให้พวกเขาปลอดภัยมากขึ้นแต่อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้พวกเขาพ้นจากความกลัวได้อย่างน้อยก็จากความเข้าใจของพวกเขาเอง

3.เพราะการตั้งคำถามของกลุ่ม 13,000 อาจท้าทายสิ่งที่พวกเขาเชื่อทั้งชีวิต

เมื่อคนเงินเดือน 13,000 เผชิญความขัดแย้งกับคนที่มีรายได้ 300,000 ไม่ว่าจะเป็นชั่วโมงการทำงานที่สูง ค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม วันหยุดที่ไม่เพียงพอ การเลื่อนขั้นที่ไม่เป็นธรรม หรือการปฏิเสธกฎหมายต่าง ๆ ที่ทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นเงินบำนาญ เรียนฟรี หรือการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ หรือการเรียกร้องในสิ่งที่คนเงินเดือน 30,000 เชื่อว่าพวกเขาเคยผ่านเรื่องนี้ได้ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการคุกเข่าค้อมหัว ยอมต่อผู้มีอำนาจ บริหารจัดการเงินอย่างเข้มงวด หรือการโบยตีตัวเองให้ทำงานหนัก พักผ่อนน้อยลง เพื่อที่จะมีชีวิตรอด ข้อเรียกร้องที่ตั้งคำถามเชิงโครงสร้างย่อมส่งผลต่อความรู้สึกของพวกเขาที่เริ่มจะหัวพ้นน้ำขึ้นมาจากการพยายามที่ยากลำบาก

ข้อสรุปทั้งสามข้อนี้เป็นเพียงข้อสังเกตเบื้องต้น แน่นอนว่าไม่ใช่กลุ่มคนรายได้ปานกลางทั้งหมดที่มีการตัดสินใจที่เห็นใจนายทุนมากกว่าชนชั้นล่าง ผู้เขียนใช้การสังเกตจากปรากฏการณ์ร่วมสมัย เพื่อพยายามหาเหตุผลสำคัญว่า เหตุใดผู้ที่ยังมีชีวิตที่ยังไม่ปลอดภัยในระบบทุนนิยมถึงยังสามารถมีความเห็นในทางแก้ต่างให้แก่เหล่าชนชั้นนำในสังคม เพราะหากเราสามารถถอดประเด็นนี้ได้ จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการล้างมายาคติว่าด้วยความเหลื่อมล้ำและการสร้างรัฐสวัสดิการต่อไปในอนาคต