ห้องเช่าราคาแพงและการจองจำอิสรภาพ - Decode
Reading Time: 2 minutes

ใครจะรู้ว่า ห้องเช่าที่อับชื้น แออัด คับแคบ ไร้ความสะดวกสบาย ไร้อิสรภาพ จะเป็นห้องเช่าราคาแพงที่สุดเข้าแล้วออกยากที่สุด มีเงินมากก็ไม่ได้แปลว่าจะสามารถโล๊ะสัญญาเช่า เพื่อปลดล็อกกลอนประตูออกมาได้ 

สัปดาห์นี้ PlayREAD ชวนเปิดประตูห้องเช่าที่น่าเศร้าที่สุดแห่งยุคสมัยกับ 24 เรื่องสั้น บอกเล่าถึงช่วงเวลาอันยาวนานของผู้สูญเสียอิสรภาพในห้องเช่าหมายเลข 112 ย้ำเตือนว่า เราต่างอยู่ในยุคสมัยแห่งความเงียบ ผ่านมาแล้วเกือบสิบปีความเงียบยังคงปกคลุม ความกลัวยังคงสอดแทรกอยู่หลังประตูบ้าน ภายใต้ความคลุมเครือของการบังคับใช้กฏหมาย แม้จะมีแรงกระเพื่อมเพื่อสลายความเงียบอยู่เป็นระยะ ๆ แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ห้องเช่าหมายเลข 112 ยังคงถูกใช้เป็นพื้นที่จำกัดเสรีภาพของผู้คน วันแล้ววันเล่า 

ในโลกความจริงห้องแห่งของความลับ มีแค่ในศาลทหารเท่านั้น เพราะอย่างที่เรารู้ ๆ กันว่า ช่วงที่ คสช. ยึดอำนาจ บ่อยครั้งที่การพิจารณาคดีในศาลทหารมักมีคำว่า พิจารณาคดีในทางลับ นั่นอาจเป็นเพียงห้องเดียวที่ความลับไม่รั่วไหลสู่พลเรือนภายนอก และอาจไม่แน่ว่าอาจเป็นห้องเดียวในราชอาณาจักรไทยที่ความลับเป็นความลับ เพราะขนาดในห้องนั่งเล่นของบ้าน หรือในห้องโดยสารบนรถแท็กซี่ ก็อาจไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยสำหรับการพูดคุย

ยุทธศักดิ์ คนขับรถแท็กซี่ที่ไม่เคยไปร่วมขบวนชุมนุมกับคนเสื้อสี ด้วยความจำเป็นที่ต้องง่วนกับการทำมาหากินทุกเช้าค่ำ ชายผู้ป่วยเป็นเบาหวานถึงขั้นต้องฉีดอินซูลิน ถูกบันทึกเสียงสนทนาโดยผู้โดยสาร ขณะมีการถกเถียงถึงเรื่องราวทางการเมืองบนรถแท็กซี่ที่เขาเป็นคนขับ เสียงจากห้องโดยสารอันมิดชิดถูกใช้เป็นหลักฐาน แจ้งความจับยุทธศักดิ์ในข้อหา 112 บทสนทนาราคาแพงของคนขับแท็กซี่ ซึ่งไม่ได้รับสิทธิ์ในการยื่นขอประกันตัว ทำให้เขาถูกจำคุกเป็นเวลา 1 ปี 11 เดือน 17 วัน

จากห้องโดยสารแคบ ๆ บนท้องถนน บรรยากาศความกลัวที่ถูกสร้างขึ้นปกคลุมไปเคาะที่หน้าประตูบ้านยุทธภูมิหนึ่งในผู้ต้องหาคดี 112 ถูกจับกุม เหตุจากพี่ชายนำบทสนทนาขณะดูทีวีในบ้านระหว่างตัวเขาและน้องชาย รวมถึงข้อความบนแผ่นซีดีที่ถูกเขียนและวางไว้เฉย ๆ ในบ้าน ใช้เป็นหลักฐานกล่าวหาน้องชายว่าหมิ่นพระมหากษัตริย์ เขาไม่ได้รับโอกาสที่พึงได้รับ เขาไม่ได้รับอนุญาติให้ประกันตัวออกมาสู้คดีทำให้เกือบ 1 ปี ของยุทธภูมิคือการถูกจองจำ 359 วันคือราคาที่ยุทธภูมิและครอบครัวต้องจ่ายกับข้อหาที่ไม่อาจพิสูจน์ได้

ความผิด ม.112 เป็นความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา บัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี “

นอกจากจุดอ่อนไหวที่ใครก็ฟ้องได้ คำว่า “ดูหมิ่น” ที่ยังถกเถียงเรื่องการตีความ หลายครั้งหลายคดีถูกอ้างว่า กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ทั้งหมดเป็นประเด็นที่ยังต้องการการถกเถียงของสังคมไทย แต่ที่ชัดเจนคือวันนี้ภายในห้องเช่า 112 เต็มไปด้วยน้ำตา อัครเดช หนุ่มมหาวิทยาลัย มาดกวน วัย 24 ปี ต้องเสียน้ำตาลูกผู้ชาย หลังได้รับหมายจับแจ้งข้อหา 112  และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และไม่ได้รับอนุญาติให้ประกันตัว กรณีโพสต์ข้อความความยาวไม่ถึงหนึ่งบรรทัด ไม่มีคำหยาบคาย ไม่ใช่เรื่องความขัดแย้งทางการเมือง โพสต์เจ้าปัญหามีคนกดไลก์นิดหน่อยบวกกับอีกไม่กี่คอมเมนต์ แต่มันเกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร บรรยายกาศจึงบีบคั้นให้ตำรวจเร่งทำคดีอย่างหนัก 

ผู้ต้องหายอมรับว่าเป็นเจ้าของอีเมลและเฟซบุ๊กจริง แต่ปฏิเสธว่าข้อความที่โพสต์ไม่เป็นความผิด

พ่อของชายหนุ่มควานหาเงินมาได้ 150,000 บาท เพื่อประกันตัวแต่ไม่สำเร็จ หลังการพิจารณาคดีอัครเดชถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์พาขึ้นรถไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ลูกผู้ชายในวัยที่ชีวิตกำลังจะได้ออกไปโลดแล่นยืนเกาะลูกกรงเหล็กใบหน้าเปลี่ยนเป็นสีแดงก่ำ เขาหลั่งน้ำตาออกมา จากนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิศวะ เปลี่ยนสถานะเป็นผู้ต้องขัง 2 ปี 3 วัน ที่ชีวิตของอัครเดชวนเวียนภายในห้องเช่าหมายเลข 112 

ในห้องเช่าราคาแพง ที่ความหวังและความฝันของมนุษย์ธรรมดา ๆ ถูกปิดตายด้วยข้อหา ความคิดถึงถูกบอกเล่าได้เพียง 15 บรรทัดตามระเบียบของเรือนจำ

“เป็นยังไงบ้าง 2 สาว ตอนนี้กำลังทำอะไรอยู่น้า คิดถึงจังเลยอยากเห็นหน้าลูกสาวของแม่จัง ดื้อกันบ้างหรือปล่าวโดยเฉพาะน้องไอติมต้องดื้อแน่ ๆ เลยใช่ไหมลูก คิดถึงแม่กันบ้างไหม ช่วงนี้ฝนตก อากาศก็เย็น ดูแลตัวเองด้วย อย่าแอบไปเล่นน้ำฝนกันล่ะ เดี๋ยวไม่สบาย …”

ข้อความจากศศิพิมล หรือ โอ๋ ในฐานะแม่วัย 29 ปี เธอถูกจับช่วงปลายเดือนกันยายน 2557 หลังการรัฐประหาร โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กภายใต้ชื่อ รุ่งนภา คำพิชัย ซึ่งไม่ใช่ชื่อของเธอ

โอ๋ยืนยันกับตำรวจว่าเธอไม่ใช่คนโพสต์ แต่เธอเล่าว่าตำรวจกล่อมให้รับสารภาพโดยยืนยัน ไม่ใช่เรื่องร้ายแรง และยื่นข้อเสนอว่าเดี๋ยวจะปล่อยตัวไป ในวันที่ถูกจับเธอหอบลูกคนเล็กที่อยู่ในอาการไม่สบายมาด้วย เธอจึงรีบรับสารภาพโดยไม่มีทนายความ

โอ๋ถูกควบคุมตัวแบบไม่ทันตั้งรับในวันที่ตำรวจนัดหมายมาพบ นอกกรงขังเด็กสองคนต้องอยู่ภายใต้การดูแลของคุณยายที่จำเป็นต้องออกไปทำงาน เด็กสองคนไม่รู้ว่าแม่ของเธอถูกจับเพราะอะไร นับจากนั้นโอกาสเดียวที่เด็ก ๆ จะได้พบกับแม่โอ๋ คือวันที่แม่ถูกพาตัวมาขึ้นศาล 

7 สิงหาคม 2558 ก่อนวันแม่ในปีนั้น เด็ก ๆ ซุกพวงมาลัยไว้ในกระเป๋าเพื่อไหว้แม่

ฉากนี้สะเทือนใจผู้อ่านอยู่ไม่น้อย อาจไม่ต้องเดาว่าหลังจากแม่โอ๋ได้เห็น น้ำตาไหลอาบแก้ม เด็ก ๆ ผลัดกันกอดแม่ไม่ยอมห่างระหว่างรอการพิจารณาคดี คดีของโอ๋ถูกพิจารณาที่ศาลทหาร โอ๋ถูกพิพากษาความผิด 7 กรรม ลงโทษจำคุกกรรมละ 8 ปี รวมจำคุก 56 ปี แต่ให้การรับสารภาพจึงลดโทษเหลือ 28 ปี ยายเล่าว่าหลานคนโตพอเข้าใจ รู้ว่าต้องห่างแม่สักพักใหญ่ แต่น้องคนเล็กวิ่งไปชี้ปฏิทินวันที่ 28 สิงหาคม 2558 โดยนึกว่าแม่จะกลับมาในวันนั้น

กฏหมายที่แสดงเจตจำนงเห็นความสำคัญของอิสรภาพ จากระบบการลงโทษความผิดให้จำคุกที่นับละเอียดเป็นวัน เพราะแต่ละเดือนมีจำนวนวันไม่เท่ากัน น่าสนใจที่วันนี้มันกลับถูกใช้โซ่ตรวนตรึงอิสรภาพของผู้คนจำนวนไม่น้อย ซึ่งบางส่วนยังไม่ถูกตัดสินความผิดด้วยซ้ำ

บนประเทศที่อัดแน่นด้วยความเหลื่อมล้ำทุกหย่อมหญ้า แต่การแจ้งข้อหาตามความผิดมาตรา 112 ไม่เลือกชนชั้น ไม่เลือกเพศ ไม่เลือกวัย รวมทั้งไม่จำกัดสิทธิผู้สูงอายุและคนพิการ คดีอากง SMS ยังคงคอยสอนเราเสมอ ย้ำเตือนว่าความบิดเบี้ยวของกระบวนการยุติกรรมเกิดขึ้นจริง วันสุดท้ายของอากงในห้องเช่า ห่างไกลจากอิสรภาพ ห่างไกลจากอ้อมกอดของภรรยาผู้เป็นที่รัก

ไม่ต่างกับ ประจักษ์ชัย ผู้ป่วยโรคตับและมีอาการหลงผิด ซึ่งทางการแพทย์นับเป็นผู้ป่วยทางจิต เขาเช่าห้องหมายเลข 112 อยู่ 8 เดือน ก่อนใช้หลักทรัพย์ 100,000 บาท ประกันตัวออกมาสู้คดี กว่า 4 ปี ประจักษ์ชัยวนเวียนขึ้นศาล เดินทางไกลจากศรีสะเกษเข้าเมืองเทพสร้าง แต่สุดท้าย 4 ปีมันนานเกินไป อาการป่วยโรคตับของเขารอไม่ไหว เขาจากไปก่อนได้ฟังคำพิพากษา วันคืนในห้องเช่ากัดกินชีวิตของผู้คน แม้ในวันสุดท้ายสู้จนตายแต่ก็ยังไม่ได้อิสรภาพคืนมา

บอกแล้วว่า ห้องเช่าหมายเลข 112 มีต้นทุนราคาแพงที่หลายชีวิตต้องจ่าย ใครกันที่เป็นเจ้าของห้องเช่าห้องนี้ ใครกันที่เป็นผู้กักขังอิสรภาพ ใครกัน?

หนังสือ: ห้องเช่าหมายเลข 112
ผู้เขียน : iLaw
สำนักพิมพ์: เป็นไท พับลิชชิ่ง

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี