ขยายประเด็น
นวลน้อย ธรรมเสถียร
เพื่อนนักข่าวจากสำนักสื่อรายหนึ่งโทรศัพท์มาเพื่อคุยเรื่องแถลงการณ์ฉบับหนึ่งของบีอาร์เอ็นซึ่งในชั้นต้นมีสื่อเห็นเพียงไม่กี่คน จนกระทั่งในสองวันหลังจึงได้ออกสู่สายตาสาธารณะในวงกว้างมากขึ้น มันเป็นการสื่อสารที่มีอาการคล้ายกับว่าแม้แต่บีอาร์เอ็นเองก็ยังไม่แน่ใจว่าควรจะพูดเรื่องนี้อย่างไรและแค่ไหน
เนื้อหาของแถลงการณ์บีอาร์เอ็นที่ว่านี้กล่าวถึงเหตุการณ์อุ้มฆ่าที่เกิดขึ้น ณ ชายแดนไทย-มาเลเซียกับชายวัย 42 ยะห์รี ดือเลาะหรือซาฮารี บิน อับดุลลา ซึ่งบีอาร์เอ็นระบุว่าเป็นสมาชิกของกลุ่มที่ถูกอุ้มจากมาเลเซียและลงเอยเป็นศพลอยในแม่น้ำโกลกสามวันให้หลัง ก่อนหน้าที่บีอาร์เอ็นจะออกแถลงการณ์ สื่อในพื้นที่รายงานสดจากพิธีงานศพที่เราจะเห็นผู้คนจำนวนมากไปร่วมงาน อาการเช่นนี้บ่งบอกให้เห็นถึงความสำคัญของสถานะผู้ตาย รวมไปถึงความรู้สึกของคนที่ไปร่วมงาน ก่อนที่จะมีการออกแถลงการณ์บอกเล่าอย่างเป็นทางการจากกลุ่มบีอาร์เอ็นเสียอีก
แถลงการณ์ของบีอาร์เอ็นระบุว่ายะห์รีถูก “อุ้ม” จากรันเตาปันยัง พื้นที่ในมาเลเซียที่อยู่ไม่ไกลจากชายแดนไทย-มาเลเซียเมื่อ 27 ก.ย. ต่อมามีผู้พบศพของเขาที่แม่น้ำสุไหงโกลกในพื้นที่นราธิวาสเมื่อ 29 กันยายนสภาพศพมีบาดแผลที่คอและตามลำตัว แถลงการณ์ยังบอกว่ามีความพยายามจะกลบเกลื่อนอัตลักษณ์ของยะห์รีเพื่อไม่ให้คนจำได้
รายละเอียดเรื่องของยะห์รีในแถลงการณ์มีเพียงเท่านี้ แต่สำนักข่าวเบนาร์นิวส์ (Benar News) รายงานอ้างบีอาร์เอ็นและอานัส อับดุลเราะมาน หัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพของบีอาร์เอ็นที่ระบุว่ายะห์รีถูกอุ้มโดยบุคคลที่เดินทางด้วยรถสามคัน ศพของเขาทิ้งร่องรอยการถูกไฟฟ้าช็อกและถูกรัดคอ คิ้วหายไปเช่นเดียวกับหูข้างหนึ่ง ศพของยะห์รีอยู่ในชุดเสื้อผ้าที่ไม่ใช่ของเขาเช่นเดียวกันกับนาฬิกาบนข้อมือที่ก็ไม่ใช่ของเขาเช่นเดียวกัน อานัสระบุว่ามีการพบบัตรประจำตัวที่ไม่ใช่ของเขาด้วย รายงานของเบนาร์นิวส์ ระบุด้วยว่า ยะห์รีนั้นเคยถูกเจ้าหน้าที่ไทยคุมตัวสอบปากคำเมื่อแปดปีที่แล้วและเขาเป็นผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนพัวพันการก่อเหตุสามเหตุการณ์ แต่เบนาร์นิวส์อ้างแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ทหารของไทยยืนยันว่าไทยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารหนนี้ แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ไทยคนหนึ่งถึงกับตั้งข้อสังเกตว่า ยะห์รีอาจถูกฆ่าโดยฝีมือของผู้ที่ไม่ต้องการให้กระบวนการสันติภาพเดินหน้าก็ได้
ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องนี้ยังมาจากอัสมาดี บือเฮง แห่งกลุ่มเดอะปาตานีที่เขียนไว้ในบทความของเขา One middleman enough in conflict ตีพิมพ์ในบางกอกโพสต์เมื่อ 24 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่น่าสนใจคือข้อเขียนนี้ระบุว่าภรรยาของยะห์รีได้ร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งที่สุไหงโกลกและในฝั่งมาเลเซียให้สอบสวนเรื่องความตายของยะห์รี เธอได้รับผลการชันสูตรศพของ รพ.สุไหงโกลกลงวันที่ 10 ตุลาคมบอกว่าเขาเสียชีวิตเพราะจมน้ำ โดยที่ผลการชันสูตรของ โรงพยาบาลไม่พูดถึงบาดแผลที่คอหรือบนตัวแต่อย่างใด ภรรยาของยะห์รีแสดงความคาดหวังว่า ในเมื่อเรื่องเกิดในมาเลเซีย น่าจะมีกลไกระหว่างประเทศที่จะตรวจสอบในเรื่องนี้ให้กับครอบครัวได้
บทความของอัสมาดียังอ้างนักวิเคราะห์การเมืองในพื้นที่บอกว่า การลักพาตัวแบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แนวร่วมหรือสมาชิกขบวนการเอกราชปาตานีที่ไปอาศัยอยู่ในมาเลเซียเคยเจอมาก่อนแล้วห้าคน สองคนหลบหนีไปได้ อีกสองคนอยู่ในเรือนจำ และหนึ่งในนั้นยังได้รับการปล่อยตัวหลังติดคุกแล้วระยะหนึ่ง บทความอ้างความเห็นของอัรฟาน วัฒนา นักกิจกรรมในพื้นที่ที่มองไปที่มาเลเซียโดยเขาบอกว่าเรื่องนี้มาเลเซียมีชื่อเสียงของตัวเองเป็นเดิมพันในฐานะที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยสันติภาพ ยิ่งกว่านั้นเขาเห็นว่าไทยเองก็มีโอกาสเสียชื่อด้วยเช่นกันเพราะอาจจะมีผู้เข้าใจว่า เรื่องนี้เป็นการร่วมมือกันของเจ้าหน้าที่สองประเทศ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนอ้างแหล่งข่าวในส่วนของตำรวจมาเลเซียเปิดเผยว่า มีโอกาสที่เรื่องนี้จะเป็นฝีมือของ “เจ้าหน้าที่ความมั่นคง” ของสองฝ่ายคือไทยและมาเลเซียที่อยู่ในพื้นที่แถบชายแดนที่เป็นพวกที่ “ซื้อได้” ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงก็ต้องนับว่าผู้คนแถบชายแดนไม่ได้เป็น “มิตร” กับคนจากฝั่งไทยเสมอไปดังเช่นที่เคยเข้าใจกันมา
ศพของยะห์รีนั้น รายงานข่าวระบุว่าถูกกระทำอย่างยับเยินจนจำแทบไม่ได้ สิ่งที่ทำให้ครอบครัวรู้ว่านี่คือยะห์รีคือแผลเป็นที่ต้นขาซึ่งเป็นเครื่องยืนยันสำหรับภรรยาของเขา แต่มีความพยายามโต้แย้งกับครอบครัวในเรื่องนี้จนกระทั่งเกิดกระแสข่าวว่า มีการผลักดันให้มีการตรวจพิสูจน์เพิ่มเติม
โดยทั่วไปแล้วเราแทบจะไม่ได้ยินกรณีการอุ้มหายและอุ้มฆ่าคนจากฝั่งไทยที่เกิดในมาเลเซีย ข้อมูลที่ว่าเคยมีการอุ้มหรือลักพาตัวผู้ที่ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับบีอาร์เอ็นมาแล้วก่อนหน้านี้ ก็เป็นเพียงข้อมูลที่รับรู้กันในหมู่ผู้ที่ติดตามเรื่องราวอย่างใกล้ชิดจำนวนหนึ่งเท่านั้น ในแง่หนึ่ง ศักยภาพการควบคุมและเกาะกุมสถานการณ์ในพื้นที่ของตำรวจมาเลเซียนั้นเป็นที่รู้กันดี ผู้เขียนเองก็มีแนวโน้มจะเชื่อในเรื่องนี้เช่นกันจากการที่เคยเข้าไปทำข่าวในกลันตันและพบว่าตำรวจสันติบาลมาเลเซียล่วงรู้ความเคลื่อนไหวทุกฝีก้าวก็ว่าได้ แม้แต่การไปสัมภาษณ์ชาวบ้านที่มัสยิด ก็มีเพื่อนนักข่าวชาวมาเลเซียโทรมาซักถามถี่ยิบเพราะตำรวจสันติบาลมาเลเซียไปตรวจสอบหาข้อมูลกับพวกเขา การเกิดเหตุการณ์อุ้มฆ่าคนในฝั่งมาเลเซียจึงเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจหากมาเลเซียจะไม่มีข้อมูลหรือไม่ระแคะระคาย
สำหรับประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้โดยเฉพาะมุสลิมมาเลย์ มาเลเซียเป็นดินแดนที่พวกเขาจะหลบหนีไปพักพิงได้หากมีภัย หลายครั้งชาวบ้านที่ถูกมองว่าต่อต้านรัฐต้องอพยพไปมาเลเซีย เราจะพบว่าหลังเหตุการณ์ปราบปรามครั้งสำคัญ ๆ จะมีกระแสการหลั่งไหลไปมาเลเซียเกิดขึ้นเนือง ๆ เช่นการหลบหนีไปมาเลเซียของประชาชนจำนวน 130 คนหลังจากที่เกิดความตึงเครียดเพราะกรณีสังหารสองนาวิกโยธินที่ตันหยงลิมอเมื่อปี 2548
กล่าวสำหรับบีอาร์เอ็น ที่ผ่านมาเราแทบไม่เคยเห็นกลุ่มออกแถลงการณ์เรื่องการเสียชีวิตของสมาชิก มีผู้คนจำนวนมากเคยตั้งข้อสังเกตเรื่องขบวนการเอกราชสามจังหวัดภาคใต้กับพฤติกรรมพวกเขาที่ไม่สนใจกับกระบวนการยุติธรรมของไทยจนแทบจะเรียกได้ว่าพวกเขาหันหลังให้กับกระบวนการนี้มาตลอด กระทั่งมีความเชื่อกันในหมู่นักสังเกตการณ์ว่า “แนวร่วม” น้อยรายนักที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพราะพวกเขาไม่เชื่อมั่นว่าจะได้รับสิ่งนี้จากระบบ ในการปะทะปิดล้อมหลายครั้งที่แม้เจ้าหน้าที่จะพยายามเกลี้ยกล่อมเพียงใดก็มักจะหาคนที่จะยอมมอบตัวได้ไม่มาก การออกแถลงการณ์เรื่องสมาชิกขบวนการถูกอุ้มฆ่าจึงเป็นเรื่องที่เราไม่ได้เห็นบ่อยนักในกลุ่มบีอาร์เอ็น ยิ่งกว่านั้นอานัส อับดุลเราะมาน หัวหน้าคณะพูดคุยของบีอาร์เอ็นยังให้สัมภาษณ์ในเรื่องนี้ด้วย ในขณะที่ในช่วงการพูดคุยก่อนหน้านี้ซึ่งยังมีเหตุการณ์ที่ทำให้บีอาร์เอ็นสูญเสียหลายครั้งทั้งจากมีการปิดล้อมปะทะและการวิสามัญฆาตกรรมหลายหน แต่มีแหล่งข่าวยืนยันชัดเจนว่า ไม่ปรากฎว่าคณะพูดคุยของบีอาร์เอ็นหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นพูดแต่อย่างใดในการพบปะกับฝ่ายไทย หากมองในแง่นี้จะเข้าใจได้ว่ากรณียะห์รีเป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัสไม่น้อยหรือไม่ก็เป็นกรณีที่พิเศษสำหรับกลุ่มบีอาร์เอ็น
ถ้าย้อนกลับไปดูแถลงการณ์ของบีอาร์เอ็น กลุ่มออกแถลงการณ์เรื่องนี้ลงวันที่ 18 ต.ค. พูดง่าย ๆ ว่ากว่าสองสัปดาห์หลังจากที่พบศพยะห์รี เนื้อหาสำคัญที่แถลงการณ์ระบุอันสืบเนื่องจากเรื่องการอุ้มฆ่าหนนี้ บีอาร์เอ็นประณามการลักพาตัว สังหาร จับกุมและควบคุมตัวที่ละเมิดกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนรวมไปถึงการบังคับจัดเก็บดีเอ็นเอเยาวชนและเด็กในพื้นที่ และว่าการปราบปรามสมาชิกขบวนการด้วยวิธีการโหดร้ายอย่างที่สุดใด ๆ ทั้งกับคนที่อยู่ในมาเลเซีย ไทย ปาตานี ถือว่าเป็นการจงใจกระตุ้นให้เกิดการต่อต้านกระบวนการสันติภาพ และว่าเหตุการณ์เช่นนี้มีผลลดทอนความไว้วางใจและความเชื่อมั่นต่อกระบวนการพูดคุยอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อฝ่ายรัฐบาลยังไม่จัดการเรื่องของการให้ความคุ้มครองสมาชิกบีอาร์เอ็นขณะที่ขั้นตอนของพวกเขาคือกำลังจะเข้าสู่กระบวนการ “หารือสาธารณะ”
ข้อเขียนของอัสมาดีเองก็ชี้ว่ากรณียะห์รีอาจจะส่งผลทำให้ความร่วมมือระหว่างไทยและมาเลเซียมีอาการซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิมจากที่ผ่านมาที่มีปัญหาอยู่แล้วเพราะความไม่พอใจของฝ่ายมาเลเซียที่มีกับการเปิดช่องทางการติดต่อกันขึ้นมาระหว่างบีอาร์เอ็นและไทยโดยความช่วยเหลือประสานงานของกลุ่มเอชดี หรือ Center for Humanitarian Dialogue อันเป็นเอ็นจีโอของสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าทำให้มาเลเซียไม่พอใจอย่างหนักเนื่องจากเป็นการดำเนินการที่ไม่มีการบอกเล่ากับมาเลเซีย ในขณะที่มาเลเซียรั้งหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุย
มาเลเซียนั้นมีสถานะที่น่าอิหลักอิเหลื่อในความสัมพันธ์อันนี้ มาเลเซียเป็นที่พักพิงและหลบภัยให้กับแกนนำบีอาร์เอ็นรวมทั้งผู้คนที่อาจไม่ใช่สมาชิกขบวนการใด ๆ แต่ว่ามีสถานะเป็นผู้ต้องสงสัยแบบไม่รู้จบของเจ้าหน้าที่ความมั่นคงไทยชนิดอยู่บ้านไม่ได้ ในฐานะที่เป็นประเทศมุสลิมและโดยเฉพาะกับการที่ประชากรสองฝากชายแดนเป็นญาติพี่น้องกัน มาเลเซียมีพันธะในอันที่จะต้องช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรม ในขณะที่ในแง่ของความเป็นประเทศ มาเลเซียก็มีผลประโยชน์ของชาติที่จะต้องดูแลทั้งในเรื่องความมั่นคงและในอันที่จะต้องมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้านคือไทย ซึ่งที่ผ่านมามาเลเซียก็ช่วยเหลือไทยมาตลอดในเรื่องปัญหาสามจังหวัดภาคใต้ แม้ว่าเจ้าหน้าที่ไทยหลายรายจะยังยึดติดทัศนะโบราณที่สงสัยร่ำไปว่ามาเลเซียสนับสนุนการต่อต้านรัฐบาลไทยเพราะยังคิดจะฮุบดินแดนนี้เป็นของตนเอง การสร้างสันติภาพในสามจังหวัดภาคใต้จึงเป็นผลประโยชน์สำหรับมาเลเซียไม่น้อยไปกว่าฝ่ายใดในความขัดแย้งนี้เพราะสถานการณ์ที่นิ่งและสงบย่อมเอื้อต่อการพัฒนาและยังเป็นรากฐานความสัมพันธ์ที่ดีของเพื่อนบ้าน ด้วยเหตุทั้งหมดนี้ทำให้เห็นกันว่ามาเลเซียเหมาะที่จะทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยและฝ่ายขบวนการเอกราช แต่ก็ด้วยเหตุทั้งหมดนี้เช่นกันที่ทำให้มาเลเซียมีจุดอ่อนในการทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวก ดังนั้นไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น มาเลเซียล้วนอยู่ในสถานะที่อ่อนไหวอย่างยิ่ง
จนถึงบัดนี้เหตุการณ์นี้ผ่านไปร่วมเดือนแต่ก็ไม่ปรากฎว่าจะมีแถลงใด ๆ จากมาเลเซีย ในภาวะปกติ หากมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น เราน่าจะได้เห็นประเทศไทยและมาเลเซียให้คำมั่นกับสาธารณะแล้วว่าจะสืบสวนสอบสวนกรณีนี้ การนิ่งเฉยเช่นนี้กลับเป็นอาการคล้ายกับจะส่งสัญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง และจะไม่น่าแปลกใจถ้าจะถูกตีความว่า เป็นเรื่องที่สมประโยชน์กันระหว่างทั้งสองประเทศ
บีอาร์เอ็นเอง นอกเหนือไปจากบริบทในเรื่องของการพูดคุยสันติภาพ แถลงการณ์ของกลุ่มยังกล่าวถึงสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
“บีอาร์เอ็นประฌามอย่างรุนแรงกับการวิสามัญฆาตกรรมบุคคลที่ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวพันกับบีอาร์เอ็น การกระทำเช่นนี้ถือว่าเป็นการละเมิดอนุสัญญาเจนีวาโดยตรง”
นี่เป็นทิศทางการขับเคลื่อนทางการเมืองของบีอาร์เอ็นในช่วงหลังที่อ้างประเด็นเรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชนและหลักกฎหมายสากลมาเป็นเพดานของปฏิบัติการ ในที่สุดแล้วหากบีอาร์เอ็นหรือนักเคลื่อนไหวในพื้นที่ไม่อาจผลักดันให้เกิดความกระจ่างในกรณีของยะห์รีได้ อย่างน้อยการออกแถลงการณ์ของบีอาร์เอ็นจะกลายเป็นข้อมูลอ้างอิงปัญหาการละเมิดสิทธิในอนาคตได้ทันที และความคลุมเครือของสถานที่เกิดเหตุจะทำให้เรื่องนี้เป็นบททดสอบสำหรับรัฐบาลไทยที่เพิ่งจะประกาศใช้กฎหมายป้องกันการอุ้มหายและซ้อมทรมานแบบสด ๆ ร้อน ๆ
อีกด้านหนึ่ง ระยะเวลาที่ห่างในการออกแถลงการณ์ก็มีเค้าลางว่านี่เป็นสิ่งที่บีอาร์เอ็นใช้เวลาไตร่ตรองค่อนข้างมากก่อนที่จะออกมาพูด เรื่องนี้จึงเผยให้สาธารณะได้เห็นถึงสถานะของบีอาร์เอ็นและความสุ่มเสี่ยงของกระบวนการพูดคุย ซึ่งเป็นเหตุผลที่มากพอที่จะทำให้พวกเขาต้องออกมาแสดงท่าทีกับความตายของยะห์รี ดือเลาะนั่นเอง