มีลูกในประเทศที่แม่ 'ลาคลอด' ไม่ใช่เรื่องชิลล์ ๆ - Decode
Reading Time: 3 minutes

คำเตือน: เนื้อหานี้ปรากฎความคิดที่เกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย

“ศัตรูที่แท้จริงของเรา คือ ระบบที่มีอำนาจ รัฐที่เฮงซวย นายจ้างที่เอาเปรียบเรา หรือค่านิยมแบบปิตาธิปไตยที่สร้างบทบาทให้คนแต่ละเพศ ไม่ใช่คนลาคลอด”

นี่คือสิ่งที่ หมอดาว (นามสมมติ) หมออายุรกรรมทั่วไปในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ผู้มีอีกหนึ่งบทบาทคือ แม่ ของลูกชายวัยอนุบาล บอกกับ De/code หลังเกิดการฟาดฟันกันในโลกออนไลน์ในประเด็นสิทธิลาคลอด 180 วัน ที่เป็นการย้ำเตือนว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ทำอาชีพใด ก็ไม่ได้ทำให้การ ‘เลี้ยงเด็ก’ เป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นเลย

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า สิทธิลาคลอดในปัจจุบันเป็นแบบ 90(+8) แต่ความเป็นจริงกลับไม่ใช่ 90 วัน อย่างที่อ้าง เพราะ 45 วันแรก จะเป็นการจ่ายเต็มจำนวนโดยนายจ้าง และ 45 วันหลัง แม่สามารถขอเงินจากประกันสังคม ซึ่ง 45 วันนี้ ไม่เพียงพอกับการดูแลเด็กเล็กโดยสิ้นเชิง ทั้งยังเป็นการผลักภาระ และยึดโยงหน้าที่ในการเลี้ยงลูกให้บุคคลที่มีสถานะเป็น ‘แม่’ แม้การเลี้ยงบุตรควรจะเป็นหน้าที่ของ ‘ผู้ปกครอง’ ก็ตาม

ทั้งนี้ “สิทธิลาคลอด 180 วัน พ่อแม่แบ่งกันได้” ในการประกาศชุดนโยบายการเมืองไทยก้าวหน้า ของพรรคก้าวไกลที่ทำให้เกิดข้อถกเถียงในสังคมนั้น มีความเชื่อมโยงกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ (breastfeeding) โดยตรง ซึ่งระบุว่า ทารกควรกินนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน โดยถือเป็นแผนที่ปฏิบัติกันทั่วโลก

นอกจากนี้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ยังถูกกล่าวถึงในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หมวดอนามัยและการเจริญพันธุ์ โดยมีแผนปฏิบัติการภายใต้นโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 โดยมีเป้าหมายที่ทารกทุกคนหลังคลอดจะต้องได้กินนมแม่อย่างเดียวถึง 6 เดือน 50% ภายในปี 2568 อีกด้วย

นี่จึงเป็นเหตุผลที่เรายกโทรศัพท์กดหาหมอดาว หลังมีคำถามผุดขึ้นมากมายว่า เราจะนำพาชาติไปข้างหน้าตามแบบที่วางไว้ได้อย่างไร หากความเข้าใจในสังคมยังไม่ตรงกันทุกครั้งที่หยิบยกเรื่องนี้มาพูดถึง ในขณะที่ภาครัฐเองก็ไม่แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการผลักดันให้แผนปฏิบัตินี้เกิดขึ้นจริงในเร็ววัน?

ลาของเราไม่เท่ากัน

“หมอไม่มีสหภาพแรงงาน ไม่ได้อยู่ในประกันสังคม เพราะฉะนั้นตอนคลอด เราลาแบบไม่รับเงินเดือน แล้วก็ลาได้แค่เดือนเดียว เพราะเขาเก็บตำแหน่งให้เราแค่นี้ ปวดท้องคลอดอยู่ก็ต้องพิมพ์ไลน์หาหมอมาทำงานแทน”

หมอดาวเล่าให้เราฟัง ก่อนเสริมว่า เวลาหนึ่งเดือนนี้ถือเป็นเวลาที่น้อยมากในการเลี้ยงดูทารกให้ได้รับสิ่งที่ควรจะได้รับในช่วงเวลาที่สำคัญต่อการพัฒนาการทางสมองของเขามากที่สุด

การเลี้ยงเด็ก คือ การอุทิศตน ถ้าใครบอกว่าเป็นงานง่าย ๆ แสดงว่าคนนั้นไม่เคยสัมผัสการเลี้ยงเด็ก พอใช้คำว่า ลา มันฟังดูเหมือนชิลล์ ๆ แต่การลามันไม่ได้ลาไปนอนพักผ่อน ดูเน็ตฟลิกซ์ กินกาแฟ จิบไวน์ไง ลา ในที่นี้คือการทำงาน แต่เป็นงานที่ไม่ได้รับผลตอบแทนตามการผลิตซ้ำทางสังคม (Social Reproduction)

“เราเป็นแรงงานที่ต้องใช้แรงกายแรงใจ แต่ไม่ได้ผลตอบแทนเป็นเงินเดือน และไม่มีใครมองเห็นคุณค่ามัน เพราะคนมักมองว่า ‘คุณมีลูกเอง คุณก็ต้องเลี้ยงอยู่แล้วสิ’ แต่ความจริง คือ เด็กช่วง 3 เดือนแรก จะเป็นช่วงที่เปราะบางมาก เพราะเขายังพลิกตัวไม่ได้ จะต้องมีคนคอยจับตะแคง ถ้าหน้าคว่ำจมฟูก คือเสียชีวิตเลยนะ” หมอดาว ว่า

นอกจากนี้ ตามแนวคิดทฤษฎีบุคลิกภาพมากมาย ต่างก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ช่วง 1-3 ปี แรก เป็นช่วงเวลาที่ผู้เลี้ยงควรจะอยู่กับเด็กให้มากที่สุด เพราะการเอาใจใส่เหล่านี้ล้วนมีผลต่อพฤติกรรม และบุคลิกของคนในรูปแบบที่เฉพาะเจาะจงไม่ว่าจะในทางบวกหรือทางลบเมื่อเป็นผู้ใหญ่ได้

“ถ้าคุณไม่เลี้ยงลูก ลูกโตมาแบบทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ โอเค มันเรื่องของปัจเจกด้วย บางคนพ่อแม่ไม่ได้ตั้งใจเลี้ยงแต่โตมามีความรับผิดชอบก็มี แต่ยังไงเสีย ช่วง 1-3 ปีแรก พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงควรจะต้องอยู่กับเด็กให้มากที่สุด เพื่อให้เขามีความไว้เนื้อเชื่อใจต่อคนรอบตัว ต่อโลก และเติบโตเป็นคนหนักแน่นได้อย่างมั่นคง มีความนับถือตัวเอง

“ยกตัวอย่างง่าย ๆ ตอนเด็ก ๆ พ่อแม่ไม่ชม เด็กก็จะรู้สึกโหยหาหรือต้องการการยอมรับ มีกลุ่มเพื่อนอยากรู้อยากลองชวนเล่นยา พอเล่นยาแล้วเพื่อนชม เขาก็ไปหาตรงนั้น ในทางกลับกันถ้าเขาได้เติมเต็มสิ่งเหล่านี้ตั้งแต่วัยเด็ก และเด็กกลุ่มนี้โตขึ้นเรื่อย ๆ เป็นวัยรุ่น เป็นผู้ใหญ่ ปัญหาสังคมก็จะน้อยลง เพราะเขาได้รับการเลี้ยงดู ได้รับความรัก การดูแลเอาใจใส่ แม้จะมีบางคนที่รักแล้ว ดูแลแล้วไม่ดีก็มี แต่ถ้าเราดูแลเขาอย่างที่เขาจะได้รับ ผลลัพธ์แบบนั้นมันก็จะน้อยลงแน่นอน”

ยากเหนือจะพรรณนา

“ทำงานมันก็เหนื่อยนะคะ แต่เลี้ยงลูกเหนื่อยกว่าเยอะ เราเคยเครียด เครียดชนิดที่เคยคิดว่าเราต้องรีบตายก่อนที่ลูกจะจำหน้าเราได้ ลูกจะได้ไม่รู้สึกว่าเป็นปม”

หมอดาวบอก ก่อนอธิบายว่า แม้ว่าตนจะโชคดีที่มีพ่อแม่ และสามีช่วยสนับสนุน และแบ่งเบาหน้าที่การดูแลลูก แต่ก็ไม่วายพบกับภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด (Postpartum blue) ที่ถาโถมเข้ามา จนต้องเข้ารักษากับหมอจิตเวช ซึ่งเป็นผลมาจากวัฒนธรรม และค่านิยมฉบับครอบครัวเอเชีย ผสมผสานเข้ากับระบบทุนนิยมที่กอดกันกลมกับวิธีคิดแบบปิตาธิปไตย ทำให้คนเป็น ‘แม่’ ต้องแบกภาระหนักอึ้งในทุกด้าน จนบางครั้งก็ยากเกินกว่าจะรับไหว

“ไหน ๆ เธอก็อยู่บ้าน ลูกหลับก็หัดทำงานบ้านบ้าง อย่าขี้เกียจ’ การพักเอนหลังสองนาทีของเราคือขี้เกียจ ต้องกวาดบ้าน ถูบ้าน เช็ดโต๊ะ ล้างขวดนม มือว่างไม่ได้”

นอกจากนี้ แม้หมอดาวจะทำอาชีพหมอ แต่ในฐานะลูกของพ่อแม่เอเชียนที่มีอำนาจน้อยกว่าในครอบครัว ก็ไม่สามารถลบล้างความเชื่อที่ถูกส่งต่อมาหลายชั่วอายุคนได้จนเกิดเป็นความอึดอัดคับข้องใจสั่งสม ยกตัวอย่างเช่น การป้อนกล้วยบดเด็กแรกเกิด ที่มีงานวิจัยมากมายยืนยันแล้วว่าเสี่ยงเกิดปัญหาลำไส้ในทารก แต่มักถูกปัดตกเมื่อนำมาอธิบายในชีวิตจริง ด้วยประโยคที่ว่า ’ฉันเคยเลี้ยงมาแบบนี้ ลูกฉันก็ไม่เห็นเป็นอะไรเลย’

“เราพอมีฐานความรู้ว่าเด็กอ่อนต้องดูแลยังไง แต่พอเลี้ยงจริงมันก็เครียด เราโดนผู้ใหญ่พูดใส่ว่า ‘แค่นี้ไม่รู้เหรอ’ ซึ่งมันทำให้เรารู้สึกด้อยค่า รู้สึกโง่ เราอุ้มลูกแล้วลูกร้อง ซึ่งเด็กทารกก็ร้องอยู่แล้วเป็นธรรมดา แต่เราก็จะโดนว่าว่า ‘เป็นแม่ประสาอะไรอุ้มแล้วลูกไม่เงียบ’ มันสร้างความเครียด ความกดดัน และเราก็ทำอะไรไม่ได้เพราะเราไม่ได้ไปทำงาน มันไม่มีทางออก มันไม่มีอะไรเลย มันมืดไปหมด”

พอกลับไปประจำที่โรงพยาบาล หมอดาวก็ยังต้องปั๊มนมในห้องทำงานส่วนตัว โดยหมอดาวระบุว่า ไม่ใช่แม่ทุกคนจะโชคดีมีห้องส่วนตัวอย่างตน อย่างในกรณีเพื่อนของตนที่ปั๊มนมในที่ทำงานโดยใช้ผ้าคลุมไว้ ก็โดนเพื่อนร่วมงานติติงเรื่องเสียงรบกวนขณะปั๊มนมอยู่เสมอ 

“ขนาดไปที่ทำงานแล้วนะคะ ไม่ได้ลาไปเลี้ยงลูก ปั๊มนมไปด้วย ทำงานไปด้วย คนก็จะบอกว่ามีเสียงรบกวน ทำไมไม่ไปปั๊มดี ๆ ให้เต็มที่ไปเลย แต่มันไม่มีที่ให้ปั๊มไง หรือถ้ามีแล้วหายไปปั๊มก็จะโดนหาว่าไม่ทำงานอีก

“‘สมัยพี่ยังทำได้ทำไมน้องทำไม่ได้’ ทุกคนพร้อมจะสอนคนเป็นแม่ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม จะลางาน ไม่ลางาน จะอยู่บ้านเลี้ยงลูก หรือ work from home”

และด้วยปัญหามืดแปดด้านที่ไม่ว่าจะเลือกทางไหนก็จะไม่มีวันถูกใจคนรอบตัวนี้ หมอดาวก็ยังบอกอีกว่า มีแม่หลายคนจำต้องหยุดให้นม และหันไปซื้อนมผงที่มีราคาสูง ในขณะที่หลายคนก็เลือกที่จะลาออกไปเลี้ยงลูกแบบ full-time ซึ่งไม่ว่าใครจะเลือกเส้นทางไหนก็ไม่มีผิดหรือถูกทั้งนั้น เพราะแต่ละคนมีปัจจัยในการใช้ชีวิตที่ต่างกัน แต่สำหรับหมอตาวในสภาพเศรษฐกิจแบบนี้แล้วล่ะก็ การใช้ชีวิตแบบต้องหวังพึ่งเงินจากคนอื่นแบบเต็มตัวนั้นถือเป็นเรื่องที่ใหญ่

“คนอื่นอาจไม่เป็น แต่อย่างเราเคยทำงาน จากที่เคยซื้อกาแฟได้ด้วยตัวเอง กลายเป็นต้องไปขอเงิน ซึ่งเป็นเงินแค่ 40-50 บาท มันเป็นความรู้สึกที่บรรยายไม่ถูกเหมือนกันนะ” หมอดาว ว่า

ซึ่งในส่วนนี้สะท้อนให้เห็นว่า โทษทัณฑ์จากความเป็นแม่ (Motherhood Penalty) ที่มีสาเหตุจากบรรทัดฐานทางแบบชายเป็นใหญ่ ที่มองว่าแม่คือผู้รับผิดชอบหลักในการดูแลลูกนั้น เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ประเทศเสียทรัพยากรมนุษย์ไป แม้หน้าที่การเลี้ยงดูทารกไม่ใช่หน้าที่ผู้คลอด หรือใครคนใดคนหนึ่งเพียงอย่างเดียว เพราะการเป็นแม่ เป็นพ่อ หรือเป็นครอบครัวไม่ได้เกิดจากสัญชาตญาณ หากแต่เกิดจากการเรียนรู้ที่ขาดหายไปในสังคมปิตาธิปไตยต่างหาก

ตีแผ่ข้อถกเถียงร่วมสมัย

และแล้วก็มาสู่ช่วง ตอบคำถามจากทางบ้าน หรือแบ่งปันมุมมองในข้อถกเถียงที่มักถูกหยิบยกขึ้นมาในประเด็นสิทธิลาคลอดแบบกระชับ โดย De/code ได้เลือกมา 3 ข้อวิพากษ์ ให้หมอดาวได้ลองตอบดังนี้:

De/code: “การลาคลอดไม่เป็นธรรมต่อคนไม่ท้องนะ?”

หมอดาว: “ถ้าอย่างนั้นก็สูญพันธุ์ไปเถอะค่ะ ก็อยู่กันไปอย่างนี้ ไม่ต้องมีประชากรเกิดใหม่ ชาติไม่ต้องมีแรงงาน คนอายุเลยวัยสมควรเกษียณไป 10-20 ปี เรี่ยวแรงถดถอยก็ยังต้องมานั่งทำงาน หาเงินเลี้ยงชีพตนเอง เพราะไม่มีรายได้ ไม่มีใครมาจ่ายภาษี สร้าง GDP ให้ประเทศชาติ ก็ล่มสลายกันไปเลยค่ะ เอาเลยค่ะ”

“การที่บอกว่าฉันไม่ท้อง ทำไมฉันถึงต้องเสียสิทธิ์นี้ให้กับคนอื่น ต้องกลับมาทบทวนกันก่อนว่า นี่ไม่ใช่แค่เรื่องท้องไม่ท้องแต่เป็นเรื่องของสังคม คุณต้องมองภาพใหญ่ให้ออก คุณต้องมองให้เกินตัวเอง ไม่อย่างนั้นเราสังคมเราก็จะไปไม่ถึงไหน”

De/code: “การลาคลอดจะส่งผลเสียต่อบริษัท เขาจะอยู่กันยังไง?”

หมอดาว: “ถ้าอย่างนั้นก็ผิดที่องค์กรไม่บริหารจัดการหาคนมาแทน และก็เอาเปรียบคุณด้วย เราคงต้องรวมตัวกันด่าองค์กร ไม่ใช่ด่าคนลาคลอดแล้วนะเราว่า เราทุกคนเป็นแรงงานนะ ไม่ต้องเห็นใจผู้ประกอบการกันขนาดนั้นก็ได้ คิดถึงแรงงานด้วยกันเหมือนตัวเองบ้าง

“อย่าลืมว่าการท้องใช้เวลากว่า 40 สัปดาห์ ผู้ประกอบการไม่ได้รู้ว่าวันนี้ท้อง พรุ่งนี้คลอด เขามีเวลาเตรียมตัวมากมาย แต่ถ้าเขาไม่ทำมันก็ชัดแล้วว่าเขาเอาเปรียบ เพื่อให้คุณแบกงาน ไม่ต้องเสียค่าจ้างให้คนอื่นมาแทนตอนที่เพื่อนคุณลาคลอด เราต้องด่าให้ถูกคน”

De/code: ถ้าในอนาคตผู้ประกอบการไม่รับผู้หญิงเข้าทำงานเลยใครจะรับผิดชอบ?

หมอดาว: “แต่ผู้ชายก็ลาบวชได้นะคะ? ถ้าอย่างนั้นก็ต้องแก้กฏหมายให้ ลาคลอดได้ทั้งหญิงและชาย จะได้ไม่เกิดการเลือกปฏิบัติขึ้น พ่อก็เลี้ยงลูกได้ ลูกก็ทำกันสองคน พอถึงคราวลาคลอด ลาได้แต่ฝ่ายมีมดลูก”

ซึ่งในส่วนนี้หมอดาวอธิบายเพิ่มว่า เคยมีกรณีที่คนเป็นพ่อลาไปเลี้ยงลูกแต่กลับไม่รู้ว่าตนเองสามารถมีส่วนร่วมในการดูแลลูกอย่างไรได้บ้าง ในเมื่อเขาไม่มีนมให้ลูก โดยสิ่งนี้เป็นสิ่งที่สะท้อนอย่างเด่นชัดว่า สังคมปิตาธิปไตยไม่ได้เป็นเพียงกรอบที่ครอบคนมีมดลูกเท่านั้น หากแต่ครอบผู้ชายให้หลงเชื่อว่าตนจะสามารถทำสิ่งใดได้ หรือทำสิ่งใดไม่ได้นั้นขึ้นอยู่กับอวัยวะเพศของตน

“คนเป็นพ่อ คุณจะล้างขวดนม เปลี่ยนผ้าอ้อม ล้างจาน ซักผ้า ทำงานบ้านต่าง ๆ คุณทำได้เยอะมากนอกจากให้นม หรือตอนที่ภรรยาให้นมคุณช่วยบีบนวด เปิดเพลงให้ฟัง เท่านี้ก็ช่วยได้เยอะมากแล้ว”

เผชิญหน้าศัตรูที่แท้จริง

“รัฐพูดนักพูดหนาว่าอยากให้คนมีลูก แต่ไม่มีแรงจูงใจให้คนอยากมีลูกในประเทศนี้เลย” 

หมอดาวกล่าว ก่อนเสริมว่า ประเทศไทยทุกวันนี้ไม่ได้น่าอยู่อย่างที่รัฐบาลคิด ไม่ว่าจะมองในมุมเศรษฐกิจ สังคม หรือคุณภาพชีวิตที่ดี ยกตัวอย่างเช่น เงินอุดหนุนบุตร 600 บาท ที่จะจ่ายให้กับประชาชนทั่วไปที่ลูกอยู่ในครอบครัวรายได้น้อย ทว่าพอไปดูตามกรุ๊ปแม่ลูกอ่อนในเฟซบุ๊กบางคนยังบอกว่า ‘ลูกอยู่อนุบาล 3 ยังไม่เคยได้เลย’ เนื่องด้วยการเบิกจ่ายที่ช้า และเงื่อนไขมากมายหลายขั้นตอน จนท้ายที่สุดแล้วก็ต้องมีคนไทยหลายคนไม่สามารถเข้าถึงสิ่งที่รัฐจัดหามาให้ ที่แม้จะเพียงน้อยนิดและไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็กหนึ่งคนในชีวิตจริงก็ยังหล่นหายไป แล้วนับประสาอะไรกับสิ่งที่ใหญ่กว่านั้น

ดังนั้นสิ่งที่รัฐต้องทำให้เร็วที่สุด จึงเป็นการหันกลับมามองตัวเองว่าต้องการอะไร และจะใช้งบประมาณและอำนาจที่มีในมือในการสนับสนุนสิ่งเหล่านั้นให้เกิดขึ้นจริงอย่างเต็มความสามารถได้อย่างไร ด้านภาคประชาชน ก็จำต้องสร้างความเข้าใจร่วม และมองให้ไกลกว่าสิ่งที่อยู่ตรงหน้า เพราะประเทศไม่สามารถพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีกว่าได้หากมีการขัดขากันตลอดเวลา ในขณะที่รัฐและผู้มีอำนาจลอยตัวเหนือปัญหาที่ตนก่ออยู่ร่ำไป

“ทุกครั้งที่มีการเรียกร้องอะไรสักอย่างที่ใครหลายคนคิดว่าตนจะไม่ได้รับผลประโยชน์ ก็มักจะตามมาด้วยวลีที่ว่า ‘ฉันไม่ได้ เธอก็ต้องไม่ได้’ นั่นก็เป็นเพราะว่าเราต่างไม่คุ้นชินกับการมีอยู่ของรัฐสวัสดิการ ดังนั้นระหว่างการด่ากันเองกับการด่าผู้มีอำนาจ ด่ากันเองมันง่ายกว่าอยู่แล้ว” 

หมอดาวสรุปให้เราฟังและยืนยันว่า เมื่อใดก็ตามที่รัฐสวัสดิการมีอยู่จำกัด วัฒนธรรมการเหยียบหัวคนอื่นเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิขั้นพื้นฐานก็ย่อมเกิด ทว่าปัญหาเรื้อรังนี้สามารถแก้ได้ด้วยการเลิกทะเลาะกันเอง และมองให้เห็นศัตรูที่แท้จริง

“คุณต้องเห็นศัตรูที่แท้จริง เหมือนแคตนิสน่ะค่ะ ว่ามันคือระบบที่มีอำนาจ รัฐที่มันเฮงซวย นายจ้างที่เอาเปรียบเรา หรือค่านิยมแบบปิตาธิปไตยที่สร้างบทบาทให้คนแต่ละเพศ ไม่ใช่คนลาคลอด หรือคนที่ใช้สิทธิใด ๆ ของตนเองที่เขาควรจะได้รับ เมื่อคุณเห็นแล้วมันจะไม่มีหรอกความรู้สึกอิจฉาริษยา หรืออยากจะต่อต้าน เมื่อเราเข้าใจตรงกันได้ เราก็ร่วมมือกันสร้างอนาคตที่ดีกว่าเพื่อเราทุกคน และคนรุ่นต่อ ๆ ไปอีกมากมายได้เหมือนกัน”