ทางตันสันติภาพใต้ รอลม (การเมือง) เปลี่ยนทิศ - Decode
Reading Time: 2 minutes

ขยายประเด็น

นวลน้อย ธรรมเสถียร

มีปรากฏการณ์สองสามอย่างที่ทำให้มีผู้ตั้งคำถามว่า กระบวนการสันติภาพสามจังหวัดภาคใต้มาถึงทางตัน (อีก) แล้วหรือไม่

กระบวนการสันติภาพภาคใต้ระหว่างรัฐบาลและกลุ่มบีอาร์เอ็นนั้นขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการ “พูดคุย” คือ dialogue ยังไปไม่ถึงการ “เจรจา” หรือ negotiate และก็อยู่ในขั้นนี้มาหลายปีแล้วด้วยอาการขึ้น ๆ ลง ๆ

หลังจากที่การพบปะกันชะงักไปพักใหญ่เพราะการระบาดของโควิด ทั้งสองฝ่ายเพิ่งจะกลับมาพบปะกันอย่างจริงจังเมื่อไม่นานมานี้เองหลังจากที่โควิดเริ่มจางลง ในเชิงของกระบวนการ นักสังเกตการณ์ต่างยอมรับว่ามีความก้าวหน้าในมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจโดยเฉพาะการตกลงลดความรุนแรงในช่วงเดือนถือศีลอดที่ทางฝ่ายไทยเสนอเป็นเวลา 40 วันเพราะเห็นได้ว่าเหตุรุนแรงลดลงจริง แม้ว่าจะยังมีบ้างแต่เชื่อกันว่าส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งอันนี้ ในขณะเดียวกัน ทั้งสองฝ่ายคือรัฐบาลและกลุ่มบีอาร์เอ็นต่างร่วมกันกำหนดหัวข้อใหญ่ในการพูดคุยขั้นต่อไป ประเด็นหลักล่าสุดบนโต๊ะพูดคุยคือการวางมาตรการรองรับระยะที่ 2 ของการลดความรุนแรงต่อเนื่องจากรอมฎอนสันติ เรื่องใหญ่ถัดไปที่กำลังมีการเตรียมการกันอยู่คือการวางขั้นตอนของการที่ทั้งสองฝ่ายจะมี “การหารือสาธารณะ” หรือ public consultation อันเป็นสิ่งที่เชื่อกันว่าจะนำไปสู่การได้เนื้อหาเพื่อนำมาพูดคุยประกอบการหาทางออกทางการเมืองให้กับความขัดแย้งในเวลาต่อไป

การแถลงข่าวของฝ่ายรัฐบาลหลังการประชุมร่วมกันเต็มคณะเมื่อ 1-2 สิงหาคมทำให้เกิดความคาดหวังเป็นอย่างสูงเพราะได้ให้ภาพของการร่วมมือกันทำงานด้วยดี ทีมไทยระบุว่าทั้งสองฝ่ายต่างมีข้อเสนอของฝ่ายตนในเรื่องลดความรุนแรงและพบว่าเนื้อหาหลายอย่างคล้ายกัน ฝ่ายไทยถึงกับระบุว่าข้อเสนอบางประการของกลุ่มบีอาร์เอ็นไปไกลกว่าที่คาด เช่นในเรื่องระยะเวลาของการลดความรุนแรงระลอกใหม่ซึ่งบีอาร์เอ็นเสนอเป็น 4 เดือน ในเรื่องเดียวกันนี้กลุ่มคนพุทธในพื้นที่ได้เรียกร้องผ่านตัวแทนพูดคุยของรัฐบาลไปว่าขอให้สองฝ่ายดำเนินการเพิ่มเป็นเวลาสามเดือน นอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายยังตกลงร่วมกันในกระบวนการทำงานที่จะให้มีคณะทำงานร่วมเพื่อกำหนดรายละเอียด ขั้นตอน กระบวนการในการลดความรุนแรง รวมทั้งในเรื่องการหารือสาธารณะ การแถลงข่าวผลการพูดคุยนี้เพิ่มความคาดหวังให้กับผู้เฝ้าจับตากระบวนการสันติภาพ จะมีก็เพียงเรื่องประการหนึ่งที่ดูเหมือนจะสวนกระแสนี้ก็คือที่มีคำถามว่าจริงหรือไม่ที่ทีมพูดคุยของไทยไม่ลงนามในเอกสารสรุปข้อตกลงที่ได้จากการประชุม ซึ่งก็ได้รับคำตอบว่าทีมรัฐบาลว่าไม่มีแนวทางในอันที่จะลงนามใด ๆ เว้นแต่ว่าจะตกลงในภาพใหญ่กันได้ ประเด็นนี้ถูกมองข้ามไปในการสื่อสารภาพกว้างเพราะเข้าใจกันว่าเป็นแค่เพียงเรื่องเทคนิคที่จะก้าวข้ามกันได้ในเวลาต่อไป

ในเวลาต่อมามีข่าวว่า บรรยากาศของการพูดคุยสันติภาพชุดใหญ่ครั้งหลังสุดส่อเค้าผิดแผกไปจากเดิมเป็นอย่างมาก หลายเสียงที่เข้าถึงโต๊ะพูดคุยยืนยันว่า ผู้แทนกลุ่มบีอาร์เอ็นปรับพฤติการณ์ในระหว่างการพบปะอย่างชัดเจน แม้ว่าพวกเขายังคงร่วมประชุมด้วยดีและมีข้อเสนอที่มีเนื้อหา ยังคงแถลงข่าวด้วยสาระที่ไม่หนีไปจากของฝ่ายรัฐบาลมากนัก แต่ทว่าในระหว่างการประชุมหนนี้ซึ่งเป็นหนที่ 5 กลับมีรายงานว่า พวกเขาแยกตัวและสงวนท่าทีอย่างมากจนไม่เหลือความเป็นกันเองอีกต่อไป การเปลี่ยนแปลงหนนี้นับว่าสร้างความแปลกใจอย่างยิ่งให้กับฝ่ายไทย

อันที่จริงแล้วถ้าย้อนกลับไปดูกระบวนการพูดคุยเราก็จะได้เห็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งคือ การพูดคุยแม้จะดำเนินไปอย่างต่อเนื่องแต่ทว่าในด้านความคืบหน้าเชิงเนื้อหากลับแน่นิ่ง เห็นได้ชัดจากประเด็นเรื่องการลดความรุนแรงระยะที่ 2 ซึ่งอันที่จริงเข้าสู่การพิจารณาของคณะทำงานตั้งแต่ก่อนการพบปะกันของคณะผู้แทนชุดใหญ่ในต้นเดือนสิงหาคม ที่ประชุมคณะทำงานตกลงกันไม่ได้จึงโอนเรื่องนี้ เข้าสู่ที่ประชุมแบบเต็มคณะแทน เมื่อที่ประชุมเต็มคณะประชุมเสร็จ ฝ่ายทีมรัฐบาลออกมาแถลงผลว่าได้รับข้อเสนอจากสองฝ่ายแล้วและที่ประชุมมอบหมายให้คณะทำงานด้านเทคนิคกลับไปร่วมกันปรับเนื้อหาจากข้อเสนอสองฝ่ายให้เข้ากัน ซึ่งฟังดูเหมือนจะดีมีความคืบหน้าแต่แท้จริงแล้ววนเวียน ล่าสุดคณะทำงานด้านเทคนิคประชุมกันอีกเมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมาและปรากฎว่าก็ยังไม่สามารถตกลงอะไรกันได้อีก คาดว่าจะมีการนัดหมายประชุมใหม่ในเดือนตุลาคม ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้นถ้อยแถลงของฝ่ายไทยระบุว่าเนื้อหาของข้อเสนอของทั้งสองฝ่ายมีความคล้ายคลึงกันในหลายเรื่องซึ่งให้ภาพว่าน่าจะตกลงกันได้ไม่ยากจนถึงขั้นว่าภาคประชาสังคมบางฝ่ายเริ่มนับเวลาว่าจะมีมาตรการลดความรุนแรงทันช่วงท้ายของเทศกาลเข้าพรรษา

คำถามที่เหมือนจะเป็นเรื่องเล็กในตอนแรกจึงถูกนำกลับมาพิจารณากันในหมู่นักสังเกตการณ์ว่าเอาเข้าจริงน่าจะเป็นเรื่องใหญ่ คือเรื่องการที่คณะของไทยไม่ลงนามในเอกสารบันทึกถึงข้อตกลงใด ๆ อันที่จริงนี่เป็นเรื่องที่กลุ่มบีอาร์เอ็นเรียกร้องมานานแล้วร่วมกับข้อเรียกร้องที่ให้ไทยกำหนดให้กระบวนการสันติภาพเป็นวาระแห่งชาติโดยผ่านการรับรองของรัฐสภา บีอาร์เอ็นย้ำว่านี่เป็นเรื่องจำเป็นทั้งนี้เพื่อให้มีข้อผูกมัดกับผลของการพูดคุยแต่ละครั้งและเกิดความมั่นใจว่าไม่ว่าการเมืองไทยจะส่งใครมาเป็นรัฐบาลก็จะมีการสานต่อกระบวนการสันติภาพ การพูดคุยจะไม่ต้องกลับไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ทุกครั้งที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

อุสตาซนิคมะตุลเลาะ บิน เสรี  เลขาธิการคณะพูดคุยของบีอาร์เอ็นให้สัมภาษณ์ The Reporters และ Patani NOTES ย้ำถึงความสำคัญของเรื่องการลงนามโดยที่เขาเปรียบเปรยว่า “มันเหมือนการซื้อขายรถยนต์ ซื้อขายโดยไม่ลงชื่อกันย่อมทำไม่ได้ ในขณะที่สงครามเป็นเรื่องใหญ่กว่าการซื้อขาย การตกลงใด ๆ จึงต้องลงชื่อ” และอีกหนหนึ่งเขาเปรียบเทียบอีกว่าธนบัตรถ้าไม่มีลายเซ็นผู้ว่าการธนาคารชาติก็ย่อมใช้งานไม่ได้  หากมองจากอีกมุมหนึ่ง เราก็จะเห็นได้ว่าที่มาของข้อเรียกร้องนี้คือการต้องการกระบวนการที่สร้างความเชื่อมั่นซึ่งไม่แน่ว่าอาจจะสำคัญพอ ๆ กับการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจผ่านการพูดคุย

แต่จากการตรวจสอบกับแหล่งข่าวฝ่ายไทยที่ใกล้ชิดกับการพูดคุยได้รับคำยืนยันว่าโอกาสที่คณะผู้แทนไทยจะลงนามในเอกสารต่าง ๆ นั้นแทบจะไม่มี แม้ว่าจะไม่มีข้อห้ามอย่างชัดเจนแต่นี่ไม่ใช่แนวทางของรัฐบาล บรรดาหน่วยงานรัฐใด ๆ ล้วนไม่แนะนำให้คณะพูดคุยของรัฐบาลลงนาม สิ่งที่คณะของรัฐบาลทำได้อย่างมากที่สุด ก็คือการขอให้ผู้สังเกตการณ์ชาวต่างประเทศในที่ประชุมพูดคุยลงนามในเอกสาร พูดได้อีกอย่างว่าในเรื่องนี้ทีมไทยเดินมาจนสุดเส้นทางแล้ว

แต่กลุ่มบีอาร์เอ็นยังคงเดินหน้าในเนื้อหาการพูดคุยต่อไป ในการพบปะกันของคณะทำงานหนล่าสุด มีรายงานว่ากลุ่มบีอาร์เอ็นยื่นข้อเรียกร้องขอให้รัฐบาลออกมาตรการงดเอาผิดทางกฎหมายแก่ตัวแทนของบีอาร์เอ็นที่จะเข้าร่วมทำการหารือสาธารณะ รวมทั้งให้มีมาตรการให้หลักประกันแก่ผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นในเวทีเช่นนี้ด้วยการยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษ

แน่นอนว่าสำหรับประชาชนผู้เฝ้าดูกระบวนการสันติภาพ พวกเขาไม่อาจจะตัดความเป็นไปได้ที่ว่า การไม่ลงนามของทีมรัฐบาลที่แท้แล้วอาจจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเกมการต่อรองเพื่อแลกกับข้อเสนอที่เห็นว่า “คุ้มค่า” มากกว่าจากบีอาร์เอ็นก็เป็นไปได้ด้วย ทั้งนี้เพราะการชิงไหวชิงพริบไม่ใช่เรื่องในจินตนาการเท่านั้น ครั้งหนึ่งที่บีอาร์เอ็นเลือกที่จะประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียว เป็นการตอบสนองเสียงเรียกร้องของเลขาธิการสหประชาชาติที่ออกมาเรียกร้องให้บรรดาคู่ความขัดแย้งทั้งหลายทั่วโลกวางมือจากการใช้ความรุนแรงต่อกันอย่างน้อยในช่วงโควิดระบาดเพื่อเปิดโอกาสให้มีการรับมือโรคกันอย่างเต็มที่ ฝ่ายเจ้าหน้าที่ไทยหลายคนเห็นว่าการประกาศดังกล่าวของบีอาร์เอ็นเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อช่วงชิงพื้นที่และเครดิตในเวทีสากล ในอาการเดียวกัน การเสนอลดความรุนแรงช่วงรอมฎอนสันติของทีมรัฐบาลจึงถูกมองว่าเป็นการช่วงชิงเครดิตบ้าง เพียงแต่บีอาร์เอ็นตอบสนองทันท่วงทีว่าพร้อมจะดำเนินการด้วย แต่เนื่องจากข้อเสนอนี้มาในเวลาที่ค่อนข้างกระชั้นชิด ทั้งสองฝ่ายจึงไม่มีเวลามากพอที่จะวางมาตรการหรือกลไกกำกับร่วมกันทำให้มาตรการลดความรุนแรงในช่วงรอมฎอนสันติลงเอยด้วยการที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้เพียงว่าจะเป็นมาตรการที่ต่างฝ่ายต่างสมัครใจทำ ในระดับที่แต่ละฝ่ายจะทำได้โดยที่ไม่มีกลไกหรือกฎเกณฑ์กำกับ อันเป็นที่มาของคำว่า สมัครใจลดความรุนแรงหรือลดปฎิบัติการทางทหารในระดับที่เห็นว่าเหมาะสมกับตนเอง เรื่องนี้ผู้แทนบีอาร์เอ็นกล่าวในการให้สัมภาษณ์ว่ากลุ่มไม่เห็นด้วยกับการ “ลดความรุนแรง” อุสตาซนิคมะตุลเลาะชี้ว่าคำว่า “ลดความรุนแรง” หรือ “ลดปฏิบัติการทางทหาร” เป็นศัพท์ที่ยากยิ่งที่จะให้คำจำกัดความได้ตรงกัน “เมื่อวานตาย 20 วันนี้ตาย 18 อย่างนี้ถือว่าลดความรุนแรงไหม” เขาระบุว่าสิ่งที่บีอาร์เอ็นเสนอคือให้ทั้งสองฝ่ายหยุดยิงหรือ bilateral ceasefire แต่สำหรับขณะนี้ ดูเหมือนข้อเสนอนี้ยังไม่อยู่บนแผนที่การพูดคุย

ขณะที่ก็มีนักกิจกรรมเพื่อสังคมในพื้นที่ที่ติดตามมาตรการนี้ตั้งข้อสังเกตถึงปัญหาความคลุมเครือของมาตรการว่า มันทำให้มีคำถามหลายอย่าง เช่นมาตรการนี้รวมไปถึงการลาดตระเวนในสวนยาง การที่ทหารในชุดเครื่องแบบพร้อมอาวุธประจำกายไปเยี่ยมประชาชนที่บ้าน การนำตัวบุคคลไปสอบปากคำตามกฎหมายพิเศษ และจะรวมไปถึงการพยายามควบคุมการแสดงออกซึ่งความเห็นทางการเมืองของคนในพื้นที่หรือไม่ พวกเขาเห็นว่าการ “ลดความรุนแรง” หรือ “ลดปฏิบัติการทางทหาร” มีนัยแคบเกินไปและควรจะมีการทบทวน นี่เป็นหนึ่งในรายละเอียดที่หลายฝ่ายเฝ้ารอดูผลการหารือของโต๊ะพูดคุยว่าจะมีการพิจารณาเรื่องเหล่านี้ในระยะสองของมาตรการลดความรุนแรงอย่างไร แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่ปรากฎว่าทั้งสองฝ่ายตกลงเรื่องนี้ได้ ทั้ง ๆ ที่การลดความรุนแรงระยะแรกคือรอมฎอนสันติสุขนั้นผ่านมาแล้วร่วมสี่เดือน

 

แต่ยังมีปรากฎการณ์ที่สำคัญไม่แพ้กันที่กำลังเกิดควบคู่กันไปกับการพูดคุย ก็คือการที่สถานการณ์ในพื้นที่ที่ส่อเค้าระอุเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ กลุ่มด้วยใจ กลุ่มสิทธิมนุษยชนในพื้นที่รายงานว่า หลังช่วงรอมฎอนสันติสุข มีการก่อเหตุเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ที่ส่งผลให้มีการวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยเฉพาะเดือนกรกฎาคมเดือนเดียวถึง 7 ราย เดือนนั้นทั้งเดือนเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ หลายครั้งก่อนจะมีการพบปะกันของคณะพูดคุยสันติภาพชุดใหญ่ที่มาเลเซียเมื่อ 1-2 สิงหาคม ในเดือนสิงหาคมเองก็เกิดเหตุการณ์รุนแรงถี่ยิบ จากการรายงานของกลุ่มด้วยใจเองมีไม่ต่ำกว่า 20 เหตุการณ์ผสมผสานไปด้วยการวางระเบิด การกราดยิงรถไฟ การปิดล้อมปะทะและการควบคุมตัว เหตุการณ์ที่รุนแรงที่สุดคือการวางระเบิดเป้าหมายที่ส่วนใหญ่เป็นร้านสะดวกซื้อรวม 17 จุดทั่วสามจังหวัด ในเดือนถัดมาคือเดือนกันยายน แม้จำนวนเหตุการณ์จะลดลงบ้างแต่ยังคงมีจำนวนสูง การปิดล้อม การปะทะและมีวิสามัญฆาตกรรมหนึ่งรายในนราธิวาส มีการลอบวางระเบิดและยิงประชาชน ที่พบมากคือมีการใช้มาตรการการควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษรวมรวมแล้ว 12 คน

ที่สำคัญ ปลายเดือนกันยายนเกิดเหตุการณ์ที่สร้างความตื่นตัวไปทั่ว คือการอุ้มฆ่านายยะห์รี ดอเลาะ ประชาชนจากสุไหงปาดี นราธิวาสที่ไปทำงานที่กลันตัน มาเลเซีย โดยสำนักสื่อ Wartani รายงานว่า เขาถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 27 กันยายนขณะทำงานก่อสร้างในฝั่งมาเลเซีย ต่อมาในวันที่ 3 ตุลาคมก็พบเป็นศพลอยในแม่น้ำสุไหงโกลกในอำเภอสุไหงโกลก ข่าวอ้างข้อมูลจากญาติระบุว่าสภาพศพถูกทำร้ายจนจำแทบไม่ได้และอยู่ในเสื้อผ้าชุดใหม่และผมที่ถูกโกนออก รายงานอ้างแหล่งข่าวระบุว่าเหตุการณ์นี้เป็นฝีมือของ “การปฏิบัติการร่วมของบุคคลไม่ทราบฝ่ายสองประเทศ” ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ระบุว่านี่เป็นการจัดการกันเองภายในของบีอาร์เอ็น แต่จากการจัดงานศพที่มีผู้ไปร่วมงานจำนวนมากแล้วเห็นได้อย่างหนึ่งว่า คนในพื้นที่น่าจะไม่ได้คิดเช่นนั้น หากความตายของยะห์รีไม่ได้มาจากบีอาร์เอ็น เรื่องนี้จะเป็นสัญญาณที่น่าห่วงสำหรับผู้ที่จับตาบทบาทมาเลเซีย

เหตุการณ์รุนแรงที่มากขึ้นทำให้เกิดความวิตกกันทั่วไปในหมู่คนทำงานภาคประชาสังคม และอันที่จริงแล้วตั้งแต่ก่อนช่วงรอมฎอนสันติสุขก็มีการวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนกรกฎาคมรวมแล้วถึง 14 ราย เมื่อเทียบกับตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการปะทะกันทั้งปีของปี 2564 อยู่ที่ 22 คน สถานการณ์จริงในพื้นที่มีภาพที่สวนทางกับกระบวนการสันติภาพอย่างชัดเจน ทำให้หลายคนเริ่มมีคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับกระบวนการสันติภาพ

อันที่จริงแล้วทั้งบีอาร์เอ็นและคณะพูดคุยของไทยต่างก็มีอุปสรรคภายในที่จะต้องรับมือที่คล้ายกันทั้งคู่ นั่นคือการกล่อมให้ “สายเหยี่ยว” ในบ้านของตัวเองเห็นดีว่าการพูดคุยนี้เป็นผลดีต่อพวกเขา การให้สัมภาษณ์ของ พล.ท.ธิรา แดหวา แม่ทัพน้อยภาคที่ 4 ซึ่งก็อยู่ในคณะพูดคุยด้วยดูจะเป็นการยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า กำลังมีหนทางคู่ขนานเกิดขึ้นระหว่างการพูดคุยกับการใช้กำลัง พล.ท.ธิรากล่าวในการให้สัมถาษณ์ว่าทางฝ่ายบีอาร์เอ็นมีทั้งคนที่ต้องการคุยและคนที่ไม่ต้องการคุยและว่าทางการจะคุยกับคนที่ต้องการสันติภาพ ส่วนคนที่ต้องการใช้กำลัง “เพราะเป็นโจรโดยสันดาน” ก็ต้องพบกับมาตรการจาก จนท. การพูดเช่นนี้อีกนัยหนึ่งก็คือการยืนยันสิ่งที่หลายคนคิดอยู่ก็คือว่ามีกระบวนการสองอย่างกำลังเดินคู่ขนานกัน แม้ว่าคนทั่วไปอาจจะไม่แปลกใจนักเพราะหลายปีที่ผ่านมานี้บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างสันติภาพต่างย้ำว่า ในระหว่างการพูดคุย ความรุนแรงมักจะเพิ่มขึ้นเสมอ แต่กระนั้นด้วยสภาพพื้นฐานของกระบวนการสันติภาพภาคใต้ก็ทำให้มีความเสี่ยงว่า ปรากฏการณ์สองด้านดังกล่าวอาจจะนำไปสู่การที่กระบวนการพูดคุยถึงทางตันจริง ๆ

ข้อดีของการมีกระบวนการสันติภาพคือเป็นการเปิดทางเลือกใหม่ และเป็นทางเลือกที่ประชาชนทั่วไปสามารถมีส่วนร่วมได้ด้วยทำให้หนทางแก้ปัญหามีโอกาสที่จะตอบสนองความต้องการของคนส่วนใหญ่ทำให้สันติภาพที่ได้มามีโอกาสจะยั่งยืนมากกว่าการรบชนะกัน หนทางนี้ย่อมขึ้นอยู่กับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นคือระบบประชาธิปไตย แต่ในสถานการณ์ของสามจังหวัดภาคใต้ การแสดงความคิดเห็นที่แม้จะเกี่ยวข้องกับเรื่องการแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยตรงแต่หากไม่เข้ากับแนวทางของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงก็จะถูกมองว่าเป็นการกระทำที่ปลุกระดม เรื่องแปลกแต่จริงก็คือ คณะพูดคุยสันติภาพกำหนดว่าจะต้องมีกระบวนการหารือสาธารณะ ซึ่งโดยเนื้อหาก็คือการรับฟังความเห็นของประชาชน แต่ในเวลาเดียวกันกลับมีเพดานในการแสดงออกทางการเมืองของคนในพื้นที่ โดยเฉพาะกับคนกลุ่มที่จนท.มองว่าเป็นผู้เห็นต่างจากภาครัฐ จนท.ใช้คำว่าปลุกระดมขึ้นมาเป็นข้ออ้างในการกำราบไม่ให้มีการแสดงออกของคนบางกลุ่ม

ภายใต้คำว่าการปลุกระดมเราจะพบว่าประเด็นสำคัญที่แตะต้องยากก็คือปัญหาความไม่เป็นธรรมที่มีแก่นกลางอยู่ที่เรื่องของวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดในหมู่เจ้าหน้าที่บวกกับปัญหากระบวนการยุติธรรมที่ไม่ทำงานสำหรับมุสลิมที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคง ในขณะที่การแสดงออกทางอัตลักษณ์ถูกตีกรอบเอาไว้ให้ทำได้เฉพาะในเชิงสวยงาม การบอกเล่าประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในฉบับที่แตกต่างจากของรัฐก็ถือว่าเป็นเรื่องปลุกระดมด้วย ทั้งที่ในความเป็นจริงเรื่องราวพวกนี้ล้วนเป็นแก่นของปัญหาความขัดแย้งและหลายเรื่องก็ยังไม่ใช่เรื่องที่เจ้าหน้าที่จะตัดสินเองได้ การปิดปากนักกิจกรรมบางคนโดยอ้างว่าเป็นการปลุกปั่นหรือปลุกระดม ก็คือการใช้ทัศนะแบบฝ่ายความมั่นคงเข้าจัดการ ซึ่งสำหรับกระบวนการสันติภาพแล้วเรื่องนี้กลายเป็นข้อจำกัดสำคัญเพราะมันไม่ปลดปล่อยจินตนาการในการแก้ไขความขัดแย้ง โดยเฉพาะความขัดแย้งที่รัฐเป็นคู่ความขัดแย้ง การยึดมั่นในทัศนะเช่นนี้เป็นสิ่งที่อธิบายกับเราว่า การให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเกาะกุมแนวทางขับเคลื่อนสันติภาพก็อาจจะกลายเป็นการปิดโอกาสตัวเองไปโดยปริยาย

เพราะในการสร้างสันติภาพสังคมจะต้องคิดต่างและแสวงหาหนทางใหม่ในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนที่ต่างไปจากเดิม กระบวนการสันติภาพไม่ว่าที่ใดจึงล้วนต้องการพลังขับเคลื่อนจากผู้มีอำนาจทางการเมืองที่ได้ฉันทานุมัติจากประชาชน สันติภาพมินดาเนาในฟิลิปปินส์ได้ประธานาธิบดีดูเตร์เตที่ผลักดันกฎหมายพื้นฐานสำหรับจัดตั้งพื้นที่ปกครองตนเองจนผ่านสภาจนได้โดยอาศัยความกล้าได้กล้าเสีย การแหวกกฎเกณฑ์บางประการ ในกรณีสันติภาพไอร์แลนด์เหนือที่ทำข้อตกลงหยุดยิงกันได้ สิ่งสำคัญเพราะได้นายโทนี แบลร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษในเวลานั้นเป็นผู้ไกล่เกลี่ยหรือทำหน้าที่ mediator อย่างแข็งขันและด้วยความกล้าได้กล้าเสียทำงานล้ำหน้าข้าราชการประจำเช่นกัน นี่เป็นแค่สองตัวอย่างกับกรณีบทบาทผู้นำในการสร้างสันติภาพ

แต่เมื่อย้อนดูกระบวนการสันติภาพสามจังหวัดชายแดนใต้ เรากลับแทบจะไม่เห็นการออกมามี “แอ็กชัน” ของนายกรัฐมนตรีในเรื่องนี้เลย เราไม่เคยได้ยิน พล.อ.ประยุทธ์แสดงวิสัยทัศน์เรื่องการสร้างสันติภาพอย่างจริงจัง หลายคนอาจจะรู้สึกด้วยซ้ำไปว่าการสร้างสันติภาพในสามจังหวัดภาคใต้เป็นความพยายามของกลุ่มข้าราชการประจำล้วน ๆ โดยเฉพาะกลไกทางด้านความมั่นคงเช่นกองทัพภาคที่ 4 สภาความมั่นคงแห่งชาติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน และกระทรวงการต่างประเทศ แม้สังคมจะได้ยินจากผู้เกี่ยวข้องว่านายกรัฐมนตรีใส่ใจ แต่ทว่าสังคมกลับไม่เห็นการขับเคลื่อนอันนั้น

และกล่าวอีกด้านหนึ่ง ตัว พล.อ.ประยุทธ์เองก็มีพื้นฐานมาจากการเป็นข้าราชการประจำ ได้รับการหล่อหลอมมาทั้งชีวิตด้วยระบบและทัศนะที่อยู่ภายใต้กรอบของข้าราชการ ในขณะที่กระบวนการสันติภาพต้องการผู้นำที่ยึดมั่นผลักดันอย่างหนักในขณะที่ต้องเป็นคนที่คิดไกลมีจินตนาการ อีกด้าน การขึ้นสู่อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่ได้กระทำผ่านการลงสนามเลือกตั้ง จึงไม่ต้องพูดถึงความมั่นใจในเรื่องการเป็นตัวแทนประชาชนในอันที่จะดำเนินการในเรื่องอันใดที่ออกนอกกรอบ ยิ่งในเวลานี้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในภาวะที่สาธารณะชนมีคำถามถึงความชอบธรรม ในห้วงเวลาที่เหลือไม่มากแต่เต็มไปด้วยการช่วงชิงกันในกลุ่มคนใกล้ตัว ยิ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่า พล.อ.ประยุทธ์จะระมัดระวังและยากจะคิดทำอะไรออกนอกแบบแผน ซึ่งย่อมหมายความว่า สิ่งที่เราเห็นบนโต๊ะพูดคุยและในพื้นที่เวลานี้อาจหมายถึงเพดานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์อย่างแท้จริงก็ได้

ส่วนกลุ่มบีอาร์เอ็นเองยังคงแสดงตนว่ายืนหยัดกับเรื่องการพูดคุยสันติภาพ “เราจะพยายามกันต่อไป” เป็นคำตอบที่ได้จากกลุ่มบีอาร์เอ็นเมื่อถามถึงอุปสรรคในการพูดคุย ข่าวการอุ้มฆ่าเมื่อ 27 กันยายนทำให้ผู้คนเริ่มตื่นตัวถึงแรงกดดันต่อกลุ่มบีอาร์เอ็น และทำให่้เชื่อได้ว่าตราบใดก็ตามที่รัฐบาลไทยยังคงอยู่ที่โต๊ะพูดคุย ก็เชื่อได้ว่าการพบปะกันของสองฝ่ายจะยังดำเนินต่อไป เพียงแต่ว่าการพูดคุยจะเดินหน้าหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ความรู้สึกของหลายคนในภาคประชาสังคมเห็นว่า โอกาสจะเดินหน้ามีน้อยมากหากบางประเด็นไม่คืบหน้าเช่นเรื่องที่ฝ่ายรัฐบาลไม่ลงนามในสิ่งที่ตกลงกันได้ หรือว่าไม่มีการเปิดพื้นที่ให้กับการแสดงออกอย่างจริงจัง พูดง่าย ๆ ว่า สภาพแน่นิ่งนี้จะดำรงอยู่ต่อไปในลักษณะ “ไม่ตายแต่ก็เลี้ยงไม่โต”

หนทางเดียวที่เหลือสำหรับการเดินหน้าอย่างมีนัยของกระบวนการสันติภาพ อาจจะต้องฝากไว้กับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่มาถึงในปีหน้าพร้อมกับการเลือกตั้ง