การเมืองสมัยนิยมของคนหนุ่มสาวสมัยนี้ - Decode
Reading Time: 3 minutes

ในความเคลื่อนไหว

รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผมมีโอกาสได้อ่านงานวิจัยความยาวกว่า 600 หน้าชิ้นหนึ่ง อ่านจบแล้วรู้สึกทึ่งกับความอุตสาหะของทีมวิจัยในการค้นคว้าเก็บรวบรวมข้อมูล รวมทั้งรู้สึกถูกเปิดหูเปิดตาเป็นอย่างยิ่งกับบทวิเคราะห์และข้อสรุปของงาน จึงอยากจะนำมาเล่าสู่กันฟัง เพราะในทัศนะของผม งานชิ้นนี้คือการศึกษาการเคลื่อนไหวของเยาวชนไทยที่ลุ่มลึกรอบด้านที่สุด ณ ปัจจุบัน

งานวิจัยชิ้นนี้ตั้งชื่อว่า “การมีส่วนร่วมของพลเมืองในยุคดิจิทัล: การเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชนไทยใน พ.ศ. 2563” มีอาจารย์พรรณราย โอสถาภิรัตน์ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ร่วมด้วย งานวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนจาก แผนงาน คนไทย 4.0 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

คุณวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง ดร.ทิพย์นภา หวนสุริยา คุณสรัช สินธุประมา และคุณสุดคนึง บูรณรัชดา เป็นนักวิจัยหลัก งานวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนจาก แผนงาน คนไทย 4.0 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ใช้แนวคิดและกรอบการศึกษาทั้งในทางรัฐศาสตร์ จิตวิทยา มานุษยวิทยา และวารสารศาสตร์ ผสมผสานกัน และใช้วิธีวิจัยที่หลากหลาย คือ การทำแบบสำรวจเยาวชนทั่วประเทศและวิเคราะห์ในเชิงสถิติ ทำการสัมภาษณ์เชิงลึกและสนทนากลุ่มเยาวชนจำนวนมากในหลายจังหวัด อาทิ เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช ชลบุรี กรุงเทพฯ เพื่อทำความเข้าใจประสบการณ์ วิธีคิด และแรงกระตุ้นที่ทำให้พวกเขาเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองในรูปแบบต่าง ๆ นอกจากนั้นยังดึงข้อมูลขนาดใหญ่จากสื่อโซเชียลมีเดียอย่างทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กมาวิเคราะห์ ให้เราเห็นพฤติกรรมการใช้สื่อเหล่านี้ของคนหนุ่มสาวในการแสดงความคิดเห็นและขับเคลื่อนสังคม

งานชิ้นนี้ทำให้เราให้เห็นว่า “เยาวชนไทย” ไม่ได้มีลักษณะเป็นหนึ่งเดียว พวกเขามีเฉดความเชื่อทางการเมืองที่หลากหลาย แม้แต่ในกลุ่มคนที่ออกมาเคลื่อนไหวด้วยกัน มีเงื่อนไขของการเข้าร่วมการเคลื่อนไหวที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยภูมิหลังครอบครัว ประสบการณ์ในวัยเรียน วัฒนธรรมการเมืองในแต่ละท้องถิ่น การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารโดยเฉพาะสื่อดิจิทัล และสภาพแวดล้อมทางการเมืองระดับชาติ สำหรับผมคุณูปการที่สำคัญที่สุดของงานชิ้นนี้อยู่ที่การ “คืนความเป็นเยาวชนให้กับเยาวชน” คือ แทนที่จะเห็นเขาเป็น “ม็อบ” หรือปักป้ายให้พวกเขาเป็นขบวนการเคลื่อนไหวที่น่ากลัวหรือก้าวร้าวรุนแรง

งานชิ้นนี้ทำให้เราเห็นชีวิต ประสบการณ์แวดล้อมที่พวกเขาเติบโตมา ความใฝ่ฝัน ทักษะความเชี่ยวชาญ อารมณ์ความรู้สึก และจินตนาการที่พวกเขามีต่อสังคมของเขาเอง

ผมคงไม่เล่ารายละเอียดของงานว่ามีเนื้อหาและข้อสรุปอย่างไร เพราะอยากให้ทุกคนได้อ่านงานชิ้นนี้ (ซึ่งคงจะมีการเผยแพร่เร็ว ๆ นี้) ด้วยตนเอง สิ่งที่อยากทำในบทความนี้คือ การสนทนา ตั้งข้อสังเกต และขมวดประเด็นบางอย่างที่ผมได้คิดต่อจากงานชิ้นนี้ รวมแล้ว 10 ข้อด้วยกัน

1. การเคลื่อนไหวในยุคปัจจุบัน ไม่ใช่แค่การเมืองเชิงประท้วง (protest politics) แต่เป็นการเมืองวัฒนธรรม (cultural politics) ของการต่อสู้เพื่อปรับเปลี่ยนช่วงชิงความหมาย หากเรามองในภาพรวมทั้งหมดแล้ว การประท้วงบนท้องถนนเป็นแค่กิจกรรมหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทั้งหมดของการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนหนุ่มสาว พวกเขาเคลื่อนไหวด้วยรูปแบบที่ไม่เหมือนการเคลื่อนไหวครั้งก่อน ๆ ในประวัติศาสตร์ไทย ไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลาฯ 6 ตุลาฯ พฤษภาคม 35 หรือขบวนการเสื้อสี กิจกรรมต่าง ๆ ที่คนรุ่นหนุ่มสาวทำคือ การมุ่งเป้าไปที่การเปลี่ยนแปลงทางความคิดและทางวัฒนธรรม ทำให้คนในสังคมหันมาตั้งคำถามกับประเด็นที่ถูกละเลยมองไม่เห็นหรือไม่มีใครกล้าอภิปรายอย่างตรงไปตรงมา ทะลุทะลวงเพดานทางความคิดที่ปิดกั้นสังคมเอาไว้ ตั้งคำถามกับประวัติศาสตร์ของรัฐ ค่านิยมของชนชั้นนำ และประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ที่มองคนไม่เท่าเทียมกัน การจะประเมินว่าขบวนการคนหนุ่มสาวเคลื่อนไหวสำเร็จหรือล้มเหลว จึงไม่อาจประเมินได้จากการแพ้ชนะทางการเมืองแบบเดิม เช่น รัฐบาลยอมลาออก นายกฯ ยอมยุบสภา ฯลฯ แต่ต้องประเมินว่าพวกเขาทำให้การถกเถียงทางความคิดในสังคมขยับปรับเปลี่ยนไปมากน้อยเพียงใด ในมุมนี้ พวกเขาอาจจะไม่ได้พ่ายแพ้

2. การเมืองในชีวิตประจำวัน (everyday life politics) กับการเมืองเชิงสถาบัน (institutional politics) ไม่ได้แยกขาดจากกันในความคิดของเยาวชน พวกเขาไม่ได้ปฏิเสธการเข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมผ่านกระบวนการและสถาบันทางการเมืองที่เป็นทางการ พวกเขาไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งอย่างแข็งขัน พวกเขาติดตามการประชุมรัฐสภาอย่างตื่นตัวและคาดหวังให้นักการเมืองผลักดันประเด็นที่พวกเขาอยากเห็น จำนวนไม่น้อยเข้าไปมีส่วนร่วมกับกิจกรรมของพรรคการเมือง เพราะไม่ได้มองว่านักการเมืองและพรรคการเมืองเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ และการเมืองไม่ใช่เรื่องสกปรกแบบที่ผู้ใหญ่บอกพวกเขามา ตรงกันข้าม พวกเขามองว่าการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน และการเมืองอยู่ในชีวิตประจำวันรอบตัวเรา การใช้อำนาจของครูในโรงเรียน กฎระเบียบเรื่องทรงผม คุณภาพของระบบขนส่งมวลชน การศึกษาที่ขาดคุณภาพ การบูลลี่ในโรงเรียนและในโลกออนไลน์ ทัศนคติที่สะท้อนการเหยียดเพศในละครไทย ฯลฯ ประเด็นเหล่านี้ที่พวกเขาเผชิญในชีวิตประจำวันล้วนเป็นเรื่องการเมืองและได้รับผลกระทบจากการเมืองทั้งสิ้นในสายตาพวกเขา

พวกเขาจึงไม่ได้แยกการมีส่วนร่วมในโรงเรียน ในโลกออนไลน์ บนท้องถนน และในรัฐสภาออกจากกัน พื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่ที่พวกเขาได้เรียนรู้ ได้บ่มเพาะทักษะ และแสดงออกทางการเมือง ทุกพื้นที่เชื่อมต่อกันเป็นโรงเรียนบ่มเพาะประชาธิปไตยสำหรับคนรุ่นใหม่

 3. การเมืองเรื่องวัฒนธรรมสมัยนิยม (pop culture) งานชิ้นนี้ศึกษาบทบาทของวัฒนธรรมป๊อบทั้งหลาย ว่าสัมพันธ์กับการเมืองอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเกม เพลงและละครเกาหลี การ์ตูน ไพ่ทาโรต์ หนังฮอลลีวูด ฯลฯ ซึ่งเนื้อหาในส่วนนี้เป็นส่วนที่สนุกมาก อ่านแล้วมีความบันเทิงและได้ความรู้ใหม่ที่ผู้วิจัยพาเราไปในโลกของติ่งเกาหลี เกมเมอร์ คนทำคุกกี้ คนทำมีม และอีกหลากหลายกลุ่ม ทำให้เกิดความกระจ่างว่า คนหนุ่มสาวไม่ได้แค่ใช้วัฒนธรรมป๊อบเพื่อต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย แต่พวกเขาได้พาประชาธิปไตยไปสู่การเป็นวัฒนธรรม pop ทำให้คำว่าประชาธิปไตยและการเรียกร้องประชาธิปไตยเป็นเรื่องสนุก มีสีสัน ไม่น่ากลัว และมีความสร้างสรรค์ร่วมสมัย จนกลายเป็นกระแสที่ทุกคนติดตามและสนใจ (จนกระทั่งแบรนด์สินค้าต่าง ๆ หรือคนมีชื่อเสียงในสังคมก็ต้องพยายามมาเกาะกระแสเหล่านี้เมื่อเกิดแฮชแท็กทางการเมืองที่เยาวชนผลักดัน) ทำให้ประชาธิปไตยไปอยู่ในอาหารและขนม อยู่ในการ์ตูน อยู่ในเพลง การเต้น และการแต่งกาย

4. การเมืองเรื่องสิทธิมนุษยชนสำคัญมากในขบวนการเยาวชน พวกเขามองว่าหัวใจของการเมืองที่ดีหรือประชาธิปไตยที่พึงปรารถนา คือ ประชาธิปไตยที่ให้คุณค่ากับสิทธิมนุษยชน ด้วยภูมิหลังและการเปิดกว้างทางวัฒนธรรมความคิดที่พวกเขาโตมา พวกเขาได้ซึมซับเรื่องสิทธิเข้าไปในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในร่างกายและชีวิต ความหลากหลายทางเพศ สิทธิในการเข้าถึงสวัสดิการที่ดี สิทธิในการรวมกลุ่มและแสดงออก และสิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองจากรัฐอย่างเสมอภาค จึงไม่น่าแปลกใจว่าหนึ่งในประเด็นที่ส่งผลสะเทือนทางอารมณ์ต่อพวกเขาจนลุกขึ้นมาชุมนุมประท้วงในกลางปี 2563 คือ การหายตัวไปของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เยาวชนนักกิจกรรมที่ถูกอุ้มหายไปอย่างไร้ร่องรอยในกัมพูชา จนเกิดเป็นเทรนด์ในทวิตเตอร์ #saveวันเฉลิม ประเด็นการอุ้มหายไม่เคยเป็นประเด็นที่คนให้ความสนใจมาก่อน แต่สำหรับคนรุ่นใหม่การเมืองที่ไม่เคารพสิทธิมนุษยชนและรัฐที่ใช้ความรุนแรงกับประชาชนก็คือ การเมืองที่พวกเขาไม่อาจยอมรับได้ ดังที่เยาวชนคนหนึ่งเล่าว่าข่าวคราวเกี่ยวกับการหายตัวไปของวันเฉลิมคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอเริ่มแสดงออกทางการเมือง ทว่า “หลังจากที่ตัดสินใจออกไปติดป้ายรณรงค์ #saveวันเฉลิม ได้ไม่นาน ก็พบว่าป้ายเหล่านั้นถูกดึงออก พร้อมกับที่พนักงานรักษาความปลอดภัยของมหาวิทยาลัยพยายามวิ่งไล่ไม่ให้เธอติดป้ายดังกล่าวอีก หลังจากเหตุการณ์นี้เธอไม่ได้ออกไปร่วมกิจกรรมทางการเมืองอีก จนกระทั่งวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ซึ่งเป็นการไปร่วมชุมนุมทางการเมืองครั้งแรกของตนเอง จําได้ว่าวันนั้นดูไลฟ์ผ่านเพจในเฟซบุ๊กแล้วเห็นการฉีดนํ้าใส่ประชาชน

ตอนนั้นคุยกับเพื่อนอยู่ในดิสคอร์ด ก็เลยชวนกันว่าเขามีจัดม็อบในมอไปด้วยกันรึเปล่า เพื่อนบอกว่าแต่ฝนตกนะ เราก็บอกว่าไปสิ ไปด้วยกัน คือเรามองว่ายิ่งคนเยอะก็ยิ่งดีถ้าคนน้อยเราไม่รู้ว่าความปลอดภัยของเพื่อนร่วมม็อบจะเป็นยังไง เป็นอีกหนึ่งเสียงที่ช่วยกัน พอไปถึงคนเยอะมาก เยอะมากจริง ๆ

5. การเมืองแบบพ่อขุนอุปถัมภ์ (paternalistic politics) คือ รูปแบบการปกครองที่ก่อตัวขึ้นในสมัยรัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดร.ทักษ์ เฉลิมเตียรณ ผู้บัญญัติคำนี้ อธิบายว่ากรอบคิดของผู้นำทหารคือมองว่าประชาชนเป็นเด็กที่ขาดวินัย ขาดความรู้ และช่วยเหลือตนเองไม่ได้ จึงจำเป็นต้องถูกปกครองด้วยผู้นำที่เข้มแข็งเด็ดขาด ชาติเปรียบเสมือนครอบครัวขนาดใหญ่ที่ต้องมีผู้นำมาทำหน้าที่บทบาทพ่อปกครองลูก ๆ ประชาชนจึงมีหน้าที่รับคำสั่งและต้องเชื่อฟังรัฐและไม่มีสิทธิมาเรียกร้องหรือวิจารณ์รัฐแต่อย่างใด อ่านงานวิจัยชิ้นนี้จบแล้ว ประเด็นหนึ่งที่ชัดมากคือ คนรุ่นหนุ่มสาวไม่ได้ต่อสู้กับรัฐบาลหรือ พล.อ ประยุทธ์ แต่พวกเขาต่อสู้กับการเมืองแบบพ่อขุนอุปถัมภ์และวัฒนธรรมแบบอำนาจนิยมที่แทรกซึมอยู่ทุกอณูในสังคมไทย ตั้งแต่โรงเรียน มหาวิทยาลัย ที่ทำงาน ไปจนถึงสถาบันทางการเมืองระดับชาติที่ทรงอำนาจและศักดิ์สิทธิ์ ฉะนั้น ถ้าจะถามว่าอะไรคือเหตุปัจจัยทางสภาพแวดล้อมที่สำคัญที่สุดที่ปลุกให้เยาวชนตื่นตัวทางการเมือง ปัจจัยนั้นก็คือวัฒนธรรมแบบอำนาจนิยมที่ล้นเกินที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหารปี 2557 ของคสช. นั่นเอง

6. การเมืองเรื่องเพศสภาพ (gender politics) สำคัญมากสำหรับคนรุ่นใหม่ พวกเขาไม่ได้ต่อสู้เพียงเพื่อความเท่าเทียมทางการเมือง และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ แต่ให้ความสำคัญกับความเสมอภาคทางเพศ เคารพคนทุกกลุ่มอัตลักษณ์ทางเพศซึ่งเต็มไปด้วยความหลากหลาย ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงและกลุ่มหลากหลายทางเพศตื่นตัวและมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการต่อสู้ของเยาวชนทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ ทำให้เกิดความตระหนักว่าเป้าหมายปลายทางของสังคมประชาธิปไตยที่พวกเขาต้องการสร้างนั้นต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมของคนทุกกลุ่มเพศสภาวะด้วย

เยาวชนที่เคลื่อนไหวในประเด็นอํานาจนิยมและการคุกคามทางเพศในโรงเรียนคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ไว้ในงานวิจัยชิ้นนี้อย่างน่าสนใจว่า  

“เธอเชื่อว่าการโอบรับและเรียกร้องในประเด็นอันหลากหลายคือการต่อสู้ที่ให้ผลดีในระยะยาวมากกว่า สังคมไม่ควรทิ้งประเด็นใดไว้ข้างหลัง ประเด็นย่อย ๆ ที่ถูกขับเคลื่อนก็มีความสําคัญไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นประเด็นคนจนเมือง ทรัพยากรธรรมชาติหรือประเด็นทางเพศก็ตาม ไม่อย่างนั้นเราก็จะได้นักการเมืองที่อาจเหยียดเพศในอนาคต เราทุกคนล้วนทําหน้าที่ในการเคลื่อนไหวในประเด็นของตนเองได้ดีอยู่แล้ว และประเด็นเหล่านี้ควรขับเคลื่อนไปพร้อม ๆ กันโดยไม่ละทิ้งประเด็นใดประเด็นหนึ่ง เรามองว่าการเคลื่อนไหวที่โอบอุ้มความหลากหลายของประเด็น จะเข้มแข็งได้มากกว่าในระยะยาว”

 

แต่ก็ไม่ใช่เยาวชนทุกคนตระหนักถึงประเด็นนี้ เราจึงพบเห็นการถกเถียงและตักเตือนกันเองในหมู่เยาวชนในขบวนการประชาธิปไตย เมื่อมีคนแสดงทัศนคติที่เหยียดเพศหรือละเลยประเด็นด้านเพศสภาพ

7. การเมืองแบบประชาธิปไตยตัวแทนที่บกพร่อง: หากดูจากข้อเรียกร้องหลักของขบวนการและผลจากแบบสำรวจในงานวิจัยนี้ เห็นค่อนข้างชัดว่าเยาวชนไม่ได้ปฏิเสธหรือหันหลังให้กับประชาธิปไตยแบบตัวแทน ตรงกันข้าม พวกเขาทั้งฝากความหวังและเรียกร้องให้ระบบการเมืองทำงานตอบสนองประชาชนให้ดีกว่านี้ พวกเขาเชื่อว่า “ถ้าการเมืองดี” มันจะเอื้ออำนวยให้พวกเค้ามีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ พวกเขาไม่ได้เริ่มต้นจากความต้องการล้มล้างระบอบการปกครองหรือล้มล้างการเลือกตั้ง ตลกร้ายคือพวกเขาเป็นกลุ่มคนที่เชื่อมั่นในพลังของการเลือกตั้งมากกว่าคนกลุ่มใด ๆ ในสังคม ชนวนสำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่ออกมาประท้วงในช่วงต้นปี 2563 ซึ่งคือการถือกำเนิดของความเคลื่อนไหวก็คือการที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ซึ่งเป็นพรรคที่กลุ่มผู้เลือกตั้งครั้งแรกเทคะแนนเสียงให้อย่างถล่มทลาย เมื่อช่องทางในระบบถูกปิด ตัวแทนเสียงของพวกเขาถูกทำลาย ก็เป็นธรรมดาที่พวกเขาต้องออกมาส่งเสียงบนท้องถนน แต่รัฐกลับปราบปรามเยาวชนด้วยความรุนแรงทั้งด้วยกระบอง แก๊สน้ำตา กระสุนยาง และคุกตาราง รัฐต่างหากที่ผลักพวกเขาออกไปและทำลายความหวังของคนหนุ่มสาวในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น กระแส “ย้ายประเทศ” เป็นกระแสที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงกลางปี 2564 เมื่อการปราบปรามจากรัฐดำเนินไปอย่างรุนแรง

หากดูเปรียบเทียบในทางสากล ต้องถือว่า ขบวนการคนหนุ่มสาวของไทยมีลักษณะอุดมการณ์ที่ประนีประนอมสูง ไม่ใช่ขบวนการปฏิวัติพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ดูจากข้อเรียกร้อง 3 ข้อของพวกเขาก็จะเห็นชัดว่ายึดมั่นกับการเมืองเชิงสถาบันและการเมืองในระบบมากขนาดไหน – ให้นายกฯ ลาออก ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ –  ทั้งหมดนี้ ไม่มีข้อใดออกนอกกรอบรัฐธรรมนูญไทยเลยแม้แต่นิดเดียว ที่การเคลื่อนไหวของเยาวชนถูกมองว่าหัวรุนแรง สะท้อนภาพด้านกลับว่าการเมืองของไทยภายใต้การนำของรัฐบาลประยุทธ์นั้นล้าหลังตกขอบเพียงใด

8. การเมืองของผู้บริโภค (consumer politics) ในงานวิจัยชิ้นนี้ได้แตะประเด็นบางอย่างที่น่าสนใจคือ คนหนุ่มสาวใช้วัฒนธรรมและพลังของผู้บริโภคมาเป็นยุทธวิธีเคลื่อนไหวทางการเมือง เช่น การทำแคมเปญแบนสินค้า ดารา หรือคนมีชื่อเสียงในสังคมที่ไม่แสดงออกทางการเมือง หรือมีจุดยืนที่สนับสนุนระบอบเผด็จการ ในขณะเดียวกันก็มีการระดมเงินบริจาคให้กับกลุ่มองค์กรที่ร่วมต่อสู้เพื่อเป้าหมายเดียวกัน มีการชวนให้ไปซื้อสินค้าหรือไปอุดหนุนศิลปินที่สนับสนุนประชาธิปไตย วัฒนธรรมการ call out หรือการแบน (cancel cuture) ดังกล่าวถือว่าเป็นลักษณะที่โดดเด่นและน่าสนใจ แต่มันส่งผลกระทบมากน้อยเพียงใดยังเป็นคำถามที่อยู่นอกเหนือการศึกษาชิ้นนี้ รวมถึงประเด็นที่น่าสนใจคือ ความคิดของคนหนุ่มสาวต่อระบบเศรษฐกิจของไทยเป็นเช่นใด ยังเป็นคำถามที่ต้องศึกษาหาคำตอบกันต่อไป

9. การเมืองของกาลเวลา: คนรุ่นหนุ่มสาวเติบโตมาในยุคที่ความขัดแย้งทางการเมืองของผู้ใหญ่ ส่งผลกระทบต่อพวกเขาโดยตรง ความขัดแย้งลุกลามเข้าไปถึงในครอบครัว หลักสูตรการศึกษา การรัฐประหารถึง 2 ครั้งที่เกิดขึ้นในยุคสมัยของเขา และการครองอำนาจที่ยาวนานของรัฐบาลที่ควบคุมโดยกลุ่มคนที่ยึดอำนาจเข้ามาอย่างไม่ถูกต้อง 8 ปีของรัฐบาลประยุทธ์เท่ากับช่วงเวลาเกือบครึ่งหนึ่งของคนหนุ่มสาวรุ่นนี้ เขาจึงมีมิติเชิงเวลาไม่เหมือนผู้ใหญ่ พวกเขามองว่าหากไม่ลุกขึ้นมาทำอะไรในวันนี้ พวกเขาจะต้องอยู่กับการเมืองที่ไม่ตอบสนองพวกเขาไปอีกยาวนาน พวกเขามองไม่เห็นอนาคตที่สดใสรออยู่ข้างหน้า พวกเขาไม่ได้มองแบบผู้ใหญ่ว่าอีกไม่กี่ปีก็ย่อมจากโลกนี้ไป ยอมก้มหน้าทนไปจะดีกว่า การเคลื่อนไหวของพวกเขาในช่วงแรกจึงถูกขับดันด้วยมิติเวลาว่าต้อง “ให้มันจบที่รุ่นเรา” ต้องเปลี่ยนแปลงให้สำเร็จในเร็ววัน

แต่จากการสัมภาษณ์หลังจากสถานการณ์ที่รัฐปราบปรามเยาวชนด้วยความรุนแรง คนหนุ่มสาวหลายคนได้ทบทวนบทเรียน และคิดถึงการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว พวกเขาตระหนักแล้วว่าโครงสร้างและวัฒนธรรมการใช้อำนาจของรัฐที่พวกกำลังต่อกรอยู่ด้วยนั้นมีความแน่นหนาและฝังรากมายาวนาน เกินกว่าที่จะเปลี่ยนแปลงได้ชั่วข้ามคืน แต่ด้วยความเยาว์วัย พวกเขาจึงยังคงเชื่อว่า “เวลาอยู่ข้างเรา” 

10. การเมืองที่โอบรับเยาวชน: อ่านงานวิจัยชิ้นนี้จบ ทำให้ผมสรุปได้ว่าระบบการเมืองของไทยในปัจจุบันเป็นการเมืองที่ทั้งกีดกันและหวาดกลัวเยาวชน ทั้งที่ผู้ใหญ่เองเป็นคนพร่ำบ่นมาตลอดว่า เด็กไทยไม่สนใจการเมือง ไม่ติดตามข่าวสาร ใช้ชีวิตไม่มีสาระแก่นสาร และไม่ใส่ใจปัญหาสังคม แต่ในวันที่พวกเขาลุกขึ้นมาใส่ใจปัญหาสังคมและพากันลุกขึ้นมาลงมือเปลี่ยนแปลงสังคม รัฐและผู้ใหญ่ในสังคมกลับปิดกั้น กดปราบ และผลักพวกเขาออกไปจากระบบการเมือง ทั้งที่พวกเขาคือทรัพยากรอันทรงคุณค่าและเป็นพลังสำคัญในการสร้างสังคมไทย

ถึงวันหนึ่งยุคสมัยก็ต้องเปลี่ยนไป ทางออกของการเมืองไทย คือ การสร้างระบบการเมืองที่ฟังเสียงเยาวชน และผนวกพวกเขาเข้ามาให้เป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดทิศทางของประเทศในอนาคตที่เต็มไปด้วยปัญหาท้าทายใหม่ ๆ – ที่ซึ่งโลกใบเก่าที่คนรุ่นก่อนคุ้นเคยกำลังจางหายไป