เห็นต่างไม่แย่ แค่เราไม่เคย ‘ฟัง’ ทุกเสียง เริ่มบทสนทนากับ ‘คนแปลกหน้า’ ทะลุกราฟเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม - Decode
Reading Time: 3 minutes

เด็กพวกนี้ทำอะไรไม่คิด โตไปจะรู้ว่าคิดผิด ฉันเกิดมาก่อนเธอตั้งกี่ปี

ผู้ใหญ่สมัยนี้ไม่ยอมปล่อยวางสักที อาบน้ำร้อนมาก่อนแล้วยังไง ใช่ว่าจะรู้ไปซะทุกเรื่อง

คำพูดระหว่างคนสองรุ่น ความแตกต่างของสังคมและยุคสมัย เมื่อ ‘ความจริง’ ของแต่ละกลุ่มไม่เหมือนกัน ปลายทางของบทสนทนาจึงไม่ใช่การ ‘ถกถาม’ ยิ่งร้าวลึกมากขึ้นเมื่อไปแตะต้องความจริงที่แต่ละฝั่งยึดถือยึดมั่น จนกลายเป็นการ ‘ถกเถียง’

ท่ามกลางความหลากหลายของประเทศไทยในทุกมิติ โซเชียลมีเดียทำให้ความแตกต่างนี้ใกล้ตัวเราและเห็นชัดขึ้น ตั้งแต่เสื้อผ้า การศึกษา ไปจนถึงอุดมการณ์ของแต่ละคน

เพราะความขัดแย้งจากคนที่เห็นต่างอาจไม่ได้อยู่ไกลตัว หลายครั้งบทสนทนาที่เห็นต่างไม่กี่นาที สามารถทำลายความสัมพันธ์นับสิบปีได้

De/code ชวนถอดรหัสของ ‘ความเห็นต่าง’ ในแว่นขยายของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม กับ ผศ.ดร. ธานี ชัยวัฒน์ เพราะทุกความเห็นต่างมีที่มา รวมถึงการสื่อสารและอยู่ร่วมอย่างไรในสังคมที่หลากหลายแบบนี้ ในมุมมองของ อาจารย์ณัฐฬส วังวิญญู และ ดร.ชาญชัย ชัยสุโกศล 

ยิ่งเห็นต่าง ยิ่งต้องคุยกัน

ย้อน แย้ง แยบ ยล

ผศ.ดร. ธานี ชวนตั้งคำถามต่อคำสำคัญ ที่เราเห็นบ่อยและหลายครั้ง เราเลือกที่จะมองข้ามมันไปอย่างคำว่า “ความขัดแย้ง” มาแผ่กางว่าความขัดแย้งมันเริ่มจากที่ใดและใครมองมันอย่างไรบ้าง

“เราแบ่งกลุ่มใหญ่ ๆ ที่ชัดเจนว่า เป็นกลุ่มที่ดูจะขัดแย้งกันมากที่สุด ก็จะแบ่งได้เป็นกลุ่มคนที่อายุน้อยกว่า 25 ปี และกลุ่มคนที่อายุมากกว่า 55 ปี”

“พอเราพูดถึงช่องว่างระหว่างวัย มันไม่ได้มีแค่แนวคิดของระบบอาวุโสที่แพร่หลายและฝังลึกในประเทศไทย นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่ปัจจัยสำคัญคือสภาพสังคมที่คน 2 กลุ่มนี้เติบโตขึ้นมา มันไม่เหมือนกัน ทำให้แนวคิดที่พวกเขาจะมองแต่ละสิ่ง แต่ละอย่าง จึงแตกต่างกันออกไป”

จากผลสำรวจของอาจารย์ กลุ่มคนที่อายุน้อยกว่า 25 ปี มองความขัดแย้งมีความหมายว่า ความปกติ, ความเห็นต่างกัน, ความคิดสร้างสรรค์/ร่วมมือ และเสรีภาพ

ในขณะที่กลุ่มคนที่อายุมากกว่า 55 ปีมองความขัดแย้งเป็นเรื่องของปัญหา, ความวุ่นวาย, การทะเลาะเบาะแว้ง และการไม่รับฟังกัน

“เรายังไม่ต้องมองไปไกลเลย เอาเพียงแค่คำแรกของแต่ละกลุ่ม ก็แตกต่างกันสุดขั้ว ในขณะที่กลุ่มคนที่อายุน้อยกว่า 25 ปี มองความขัดแย้งเป็นเรื่อง ปกติ แต่กลุ่มคนที่อายุมากกว่า 55 ปี มองเรื่องนี้เป็นปัญหา”

ความสำคัญของการนิยามคำง่าย ๆ อย่าง “ความขัดแย้ง” อาจารย์ไม่ได้ยกเพื่อที่จะบอกว่า ฝ่ายใดคิดถูกหรือฝ่ายใดคิดผิด สิ่งที่อาจารย์ต้องการจะนำเสนอ คือชุดความคิดของแต่ละฝ่ายไม่เหมือนกัน บางครั้งอาจคลาดเคลื่อนกันเพียงเล็กน้อย แต่บางครั้งก็แตกต่างราวขาวกับดำ ซ้ายกับขวา

และนั่น คือจุดเริ่มต้นของ ความขัดแย้ง ซึ่งมีที่มาจากความคิดเห็นที่ต่างกัน

“ในขณะเดียวกัน ทุกคนคิดว่า สามัคคี แปลว่าอะไร?”

“หลายคนอาจบอกว่า สามัคคีคือพลัง เชื่อว่าในยุคหนึ่งหลาย ๆ คนอาจเคยได้ยินประโยคนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จากยุคของการสร้างชาติและประกอบด้วย Propaganda ของรัฐ หรืออย่างคำว่าสมานฉันท์ ซึ่งคำหลังนี้ เด็กรุ่นใหม่หลาย ๆ คนเขาไม่เคยได้ยินและใช้ศัพท์นี้กันแล้ว” 

“มิติของความเห็นต่าง เมื่อใช้หลักการของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม มันจึงบอกเราว่า ความเห็นต่างที่จะก่อให้เกิดเป็นความขัดแย้งในสังคม มันมีที่มา ทั้งมิติทางการเมือง มิติทางเศรษฐกิจ และมิติทางสังคม มิติเหล่านี้จะส่งผลให้คนแต่ละรุ่น เชื่อหรือยึดถือบางสิ่งบางอย่าง อาจจะเรียกได้ว่าเป็นอุดมการณ์หรือความจริง ไม่เหมือนกัน ความจริงที่ว่าอาจมีอยู่ในช่วงเวลาหนึ่งและหายไปในช่วงเวลาหนึ่งหรืออาจจะวนกลับมาในอีกช่วงเวลาหนึ่ง ก็เป็นได้”

“ปัญหามันอยู่ที่ว่า เมื่อความจริงของแต่ละคน ซึ่งบางคนยึดถือยึดมั่นมาก เมื่อปะทะกับความจริงของคนอีกกลุ่ม ซึ่งก็เป็นความจริงของเขาเหมือนกัน จากความเห็นต่างมันจึงไปสู่การทะเลาะเบาะแว้งและความขัดแย้ง”

เมื่อช่องโหว่ใหญ่อย่างช่องว่างระหว่างวัย ซึ่งประกอบไปด้วยมิติทางสังคมของแต่ละช่วงเวลา คืออุปสรรค ช่องโหว่ที่ว่ามีหน้าตาเป็นอย่างไรและทำอย่างไร เราถึงจะอุดรอยรั่วของช่วงอายุ เพื่อสร้างสังคมที่คนเห็นต่าง อยู่ร่วมกันได้

ทะลุกราฟเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

เมื่อมองในภาพกว้างมากกว่าการนิยามคำศัพท์ สิ่งที่อาจารย์พบ คือกลุ่มคนที่อายุน้อยกว่า 25 ปี มองหลาย ๆ เรื่องในชีวิตของพวกเขาคือเรื่องของระบบโครงสร้าง ตั้งแต่อากาศที่ใช้หายใจไปจนถึงรัฐสวัสดิการ ในขณะที่กลุ่มคนที่อายุมากกว่า 55 ปี มองปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ไขได้จากตัวเอง ต้องเริ่มที่ตัวเองก่อนจึงจะแก้ไขได้ทั้งหมด

ชุดแนวคิดเหล่านี้ เป็นเพียงอุปทานหมู่ของคนในสังคม ซึ่งมีผลจากโซเชียลมีเดียจริงหรือ? 

เพราะอะไรปัญหาของการเห็นต่าง จึงมักเริ่มจากคำพูดที่ว่า อย่าเห็นแก่ตัว หรือ แก้ไขที่ตัวเองให้ได้ก่อน อยู่เสมอ

ผศ.ดร.ธานี ยกองค์ประกอบของสมดุลในชีวิตมาพูดคุย ซึ่งประกอบไปด้วย มิติทางสังคม มิติทางเศรษฐกิจและมิติทางการเมือง ซึ่งความแตกต่างจากมิติเหล่านี้ เมื่อมองลึกลงไปในแว่นของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม จึงเกิดการเปรียบเทียบโดยอัตโนมัติระหว่างประสบการณ์ในอดีตและบริบทในปัจจุบัน

“หลายครั้ง คนเราจะเปรียบเทียบประสบการณ์ในอดีตหรือองค์ความรู้ ความเข้าใจ ให้เข้าบริบทในปัจจุบัน ซึ่งมันก็ถือว่าเป็นปกติ เมื่อการนำประสบการณ์มาปรับใช้ในปัจจุบันเพื่อที่จะสร้างอนาคตให้ดีขึ้น”

“กลับกัน ความเห็นต่างที่ว่าซึ่งเป็นปัญหาของช่องว่างระหว่างวัยของกลุ่มตัวอย่างที่ได้ยกมา เกิดการยึดประสบการณ์ในอดีตเป็นหลัก ไม่ใช่ว่ากลุ่มคนที่อายุมากกว่า 55 ปียึดถือเท่านั้น ซึ่งประสบการณ์ในอดีตมันคือ ความจริง ของคนแต่ละกลุ่ม จุดนี้แหละที่ทำให้ความเห็นต่างกลายเป็นความขัดแย้ง”

เมื่อประสบการณ์ในอดีตยึดโยงกับสมดุลในชีวิต ซึ่งประกอบด้วย มิติทางสังคม มิติทางการเมือง และมิติทางเศรษฐกิจ ผศ.ดร.ธานี ได้พาเราย้อนไปดูว่า เพราะอะไร คนแต่ละรุ่นถึงมีความคิดเห็นที่ต่างกันและสภาพสังคมแบบไหน ที่สร้างให้ชุดความคิดของพวกเขามีความจริงกันคนละแบบ

“ซึ่งมิติทั้ง 3 ที่ได้ยกมาประกอบมีความยึดโยงกันทั้งสิ้น หากเราอิงจากไทม์ไลน์นายกรัฐมนตรีของไทย เราจะเห็นได้ชัดยิ่งขึ้นว่า สังคม เศรษฐกิจ ซึ่งมีผลจากการเมือง มันส่งผลให้วิธีคิดของคนแตกต่างกันอย่างไร”

อาจารย์เริ่มฉายแผนภูมิลำดับนายกรัฐมนตรีไทย กลุ่มคนที่อายุน้อยกว่า 25 ปี เมื่อช่วงที่พวกเขามีอายุ 7 ขวบ ซึ่งนับว่าเป็นวัยเด็กที่สามารถรับรู้เหตุการณ์ทางสังคมได้เบื้องต้น สภาพสังคมของพวกเขาเริ่มต้นชัดเจนในยุคของนายกรัฐมนตรีที่ชื่อทักษิณ ชิณวัตร และในปัจจุบันพวกเขาก็ยังมีนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาอย่างน้อย 8 ปีแล้ว

ผศ.ดร.ธานี ให้ข้อสังเกตจุดหนึ่งที่ว่า คนรุ่นนี้ทำไมถึงยึดโยงกับม็อบ เพราะคนรุ่นนี้เขาเติบโตมากับการเรียกร้องผ่านม็อบเสมอ ไม่ว่าจะเป็นสีไหนหรือเรื่องอะไรก็ตาม โดยส่วนมากก็ประสบความสำเร็จหรือสามารถอยู่บนหน้าหนึ่งของข่าวและไทม์ไลน์การเมืองไทยได้

และเป็นอีกเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้คนรุ่นนี้เชื่อในเรื่องของโครงสร้าง คือปัญหาหลายอย่างต้องแก้ไขที่โครงสร้างเท่านั้น การแก้ไขที่ตัวบุคคลไม่อาจแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนได้

ยิ่งมาเชื่อมโยงกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ด้วยสถานการณ์โควิดหรือสภาพเศรษฐกิจโลก ที่ส่งผลให้ประชาชนในประเทศไทย หากินอย่างยากลำบากมากขึ้น มันทำให้พวกเขาเชื่อในเรื่องของการแก้ไขระบบ มากกว่าที่จะพึ่งพาให้ใครคนใดคนหนึ่ง หรือการบูชาตัวบุคคล 

ในขณะที่กลุ่มคนที่อายุมากกว่า 55 ปี มีนายกรัฐมนตรีในไทม์ไลน์นานที่สุดคือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ชุดความคิดหนึ่งที่ได้รับการยอมรับในคนรุ่นนี้ คือพวกเขามองหาความสงบ ซึ่งจะมาจากอำนาจอ่อนหรืออำนาจแข็งของทางรัฐก็ตาม ความสงบเรียบร้อย ไม่มีเหตุวุ่นวาย ทุกคนใช้ชีวิตของตัวเองและแก้ไขที่ตัวเอง เป็นทางเลือกที่คนรุ่นนี้ยอมรับ

ในช่วงที่กลุ่มอายุมากกว่า 55 ปียังหนุ่มสาว ในช่วงวัยทำงานของพวกเขา ประเทศไทยที่ได้ถูกขนานนามว่าเป็นเสือแห่งเอเชียตัวที่ 5 ตัวเลขของ GDP (Gross Domestic Product) หรือการนับรายได้ที่เกิดขึ้นในประเทศ มีอัตราเติบโตอยู่ที่ 7.1 % และเติบโตอย่างรวดเร็วขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา GDP ของประเทศไทยก็ลดลงเรื่อย ๆ 

ผศ.ดร.ธานี ยังฉายแผนภูมิของจำนวนประชากรของคนแต่ละเจเนอร์เรชั่น จากแนวโน้มของคนเจเนอร์เรชั่น X ที่มีเยอะที่สุดในช่วงปี 2000 กำลังจะลดลงไปเรื่อย ๆ และถูกแทนที่ด้วยคนเจเนอร์เรชั่น Y และ Z 

แผนภูมินี้ คือสิ่งที่ยืนยันว่า เมื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีจำนวนมากขึ้น ความจริงของสังคมจะถูกพลวัตตามไปด้วยเช่นกัน ความจริงที่ว่ามีตั้งแต่ชุดแนวคิด ไปจนถึงค่านิยมที่สังคมจะปฏิบัติตามกัน

เมื่อความหลากหลายของความจริงมีมากในสังคมไทย ข้อสรุปบนสังคมที่มีความแตกต่างเช่นนี้ ทางออกของประเทศไทยคืออะไร และเราจะสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนในสังคม เพื่อที่จะพาไปสู่สังคมที่มีวัฒนธรรมของการแลกเปลี่ยนได้จริงหรือไม่

วัฒนธรรมของการแลกเปลี่ยนและฟังกันมากขึ้นในสังคมไทย

เมื่อได้อ่านมาถึงตรงนี้ ปัญหาที่ดูจะชัดเจนที่สุดสำหรับคนไทย อาจเป็นเรื่องของ “การฟัง”

การฟังที่ว่าอาจไม่ใช่แค่บุคคลที่ 2 ฟังสิ่งที่บุคคลที่ 1 พูด ในขณะเดียวกันบุคคลที่ 1 จำเป็นที่จะต้องฟังความเห็นต่างจากคู่สนทนาที่ไม่ได้คิดเหมือนเราด้วย

อาจดูง่าย แต่สำหรับสังคมไทย การรับฟังความเห็นต่างเป็นไปได้จริงหรือ?

อาจารย์ณัฐฬส วังวิญญู กล่าวว่า ทุกอย่างในสังคมไทยนั้นมีความเป็น ส่วนหนึ่ง ทั้งสิ้น ส่วนหนึ่งที่ว่าคืออาจยึดโยงเข้าหากันได้ แต่อีกส่วนหนึ่งคือในเรื่อง ๆ นั้น มีความจริงหรือไม่จริง ของคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน

“คนเรามันมีพื้นที่ปลอดภัยในตัวอยู่แล้ว ซึ่งความจริงหรือความคิดเห็นของตนนั่นก็ถือเป็นพื้นที่ความปลอดภัยของพวกเขาเช่นกัน ทีนี้พอเรามาถามว่าทำไมคนเห็นต่างถึงคุยกันไม่ค่อยได้ ก็เพราะว่าพื้นที่ปลอดภัยของพวกเขามันถูกคุกคาม จากเรื่องที่ว่าสิ่งใดที่เป็นความจริง ความถูกต้องที่สุด”

“มันดูพูดง่ายนะ พอเราบอกว่าให้ฟังกัน แต่ปัญหามันคือเมื่อความจริงหรืออุดมการณ์ของแต่ละคนมันถูกแตะต้องเข้า มันกลายเป็นว่าปัญหามันเริ่มบานปลาย มันมีความรู้สึกของการถูกคุกคาม มากไปกว่านั้น มันกลายเป็นต่างคนต่างเทศนาอีกฝั่ง จากบทสนทนาที่ควรจะแลกเปลี่ยนกันได้ มันกลายเป็นอารมณ์ซะส่วนใหญ่”

ปัญหาที่ว่า อาจารย์ณัฐฬสเชื่ออย่างหนึ่งว่า มาจากการที่คนไทยเราไม่ยอมพูดให้อีกฝ่ายพูดให้จบ ในขณะเดียวกัน คนพูดก็ไม่ได้นึกถึงปลายทางของบทสนทนา

“แต่เราก็ต้องอย่าลืมความเป็นจริงที่ว่า ความเห็นต่างที่กำลังพูดถึงอยู่ บางทีมันอาจไม่ได้ไกลตัวเราเลย หลายครั้ง คนที่เห็นต่างด้วย และมีรูปแบบของการพูดคุยแบบในข้างต้น คือพ่อ แม่ ครอบครัว เจ้านาย หัวหน้า หรือกระทั่งเพื่อนฝูง”

“คำถามคือ เรายอมที่จะสูญเสียความสัมพันธ์เหล่านี้ เพราะกับการยืนยันอุดมการณ์ของเราเลยหรือ?”

ในขณะเดียวกัน ดร.ชาญชัย ชัยสุโกศล มองเห็นว่า สิ่งที่เรียกว่าความแตกต่างในประเทศไทย มันประกอบไปด้วยปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองที่จะกลายเป็นกำแพงระหว่างบทสนทนา ตั้งแต่ฐานะ หน้าตา อาชีพ ซึ่งมีผลต่อความคิดระหว่างสนทนาทั้งสิ้น

ชั้นสถานะเหล่านี้ มีผลที่จะทำให้บางคนรู้สึกตัวเองสูงกว่าคู่สนทนา กลับกัน การที่ตกอยู่ในสถานะที่ต่ำกว่า อาจไม่ได้ถึงการยอม แต่อาจหมายถึงการต่อต้านโดยนัยเสียด้วยซ้ำ

ผศ.ดร.ธานี มองว่าเมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเกิดการปะทะกันของความเชื่อหรือ Trust Crisis มันเกิดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน ทั้งในฐานะบทสนทนาและความสัมพันธ์ระหว่างกัน และทางออกของเรื่องนี้ก็ไม่ได้ไปไหนไกล และเราก็ต้องกลับมาที่การสร้างความไว้ใจซึ่งกันและกัน

การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจอาจไม่ได้เป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่ไปกว่า การเห็นอกเห็นใจ ความใจเขาใจเรา ซึ่งก็สามารถไปเชื่อมโยงกับคำพูดของอาจารย์ณัฐฬสได้ว่า สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ เรากล้าพอที่จะรับฟังกันและกัน

ถึงแม้อาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่อาจารย์ทั้ง 3 ท่านที่มาร่วมพูดคุยยังเชื่อในจุดเดียวกันที่ว่า สิ่งเหล่านี้ยังเป็นสิ่งที่ต้องประกอบสร้างในสังคมไทย และต้องใช้เวลาในการทำให้ความเห็นต่างเป็นเรื่องที่คุยกันได้ นั่นอาจจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะสร้างวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนให้กลายเป็นปกติในสังคมไทย

เพราะท้ายที่สุด การเห็นต่างไม่ใช่เรื่องแย่ แต่เป็นเรื่องดี ๆ ที่จะสามารถขับเคลื่อนสังคมให้เข้าสู่สังคมที่ดีขึ้น ผ่านการขบคิด การตั้งคำถาม และการรับฟังเสียงทุกเสียงอย่างแท้จริง

แล้วคุณล่ะ เคยอยากลองคุยกับ ‘คนแปลกหน้า’ ที่อาจจะ ‘เห็นต่าง’ จากคุณในบางประเด็นไหม?

ไม่ต้องเรื่องการเมืองอย่างเดียวก็ได้ จะการศึกษา สวัสดิการ อนาคตชาติ ความเป็นส่วนตัว ไปจนถึงสิทธิในการตาย

ถ้าคุณอยากคุยกับ ‘ใครคนนั้น’ ดู โอกาสมาถึงแล้ว เพราะในวันเสาร์ที่ 24 ก.ย.2565 จะมีการจัดงาน Thailand Talks 2022 ที่ชวนคนเห็นแตกต่างกัน มานั่งพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูล มุมมอง และความคิดเห็นต่อประเด็นต่าง ๆ

คุณอาจคุยแล้วเปลี่ยนความคิด ..หรือยิ่งคุยยิ่งเชื่อมั่นในจุดยืนของตัวเอง ก็เป็นไปได้ทั้งหมด

หากสนใจ อยากลองดู อยากรู้จะเป็นยังไง ลองตอบคำถามทั้ง 7 ข้อนี้ เพื่อลงทะเบียน (วันนี้ – 14 ก.ย.2565) แล้วลองมาเปลี่ยนแปลงสังคมผ่านการสร้างวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนเล็ก ๆ กับการคุยกับคนที่เห็นต่างกับตัวเอง ดูสักที

ขั้นตอนการสมัคร Thailand Talks แล้วมาคุยกับคนที่ตอบคำถามไม่เหมือนเรา

1. ตอบคำถาม จำนวน 7 ข้อ ได้ทาง www.thailandtalks.org/register 

2. ยืนยันการสมัคร ผ่านทางอีเมล

3. รอรับผลการจับคู่ ภายในวันที่ 16 กันยายน

4. ยืนยันการพบคู่ ภายในวันที่ 19 กันยายน

5. แล้วพบกันในงานอีเวนท์ Thailand Talks วัน เสาร์ ที่ 24 กันยายน 2022!