มังกร ‘สี’ พ่นไฟ ไม่ซ่อนเล็บ - Decode
Reading Time: 4 minutes

 

ใครก็ตามที่เล่นกับไฟ จะต้องถูกแผดเผา

วิวาทะร้อนแรงแห่งปีที่สี จิ้นผิงพูดคุยทางโทรศัพท์ครั้งที่ 5 นับตั้งแต่ไบเดนขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ จุดประกายไฟของความตึงเครียดไม่ถูกจำกัดไว้เพียงพรมแดนของเกาะไต้หวันแต่สั่นไหวทั้งโลก นับแต่การเดินทางเยือนไต้หวันของ แนนซี เพโลซี ประธานสภาสหรัฐ และมาร์ชา แบล็คเบิร์น สมาชิกวุฒิสภาของสหรัฐ จากพรรครีพับลิกัน นับเป็นครั้งที่ 4 แล้วในหนึ่งเดือนของการเดินทางเยือนไต้หวัน”

ยิ่งโหมกระพือประกายไฟในฤดูมรสุมเดือนสิงหาคมเรื่อยมาจนถึงเดือนนี้ นำมาซึ่งแรงกดดันจากการซ้อมรบทางทะเลและทางอากาศรอบเกาะไต้หวันอย่างต่อเนื่อง แม้ประโยคเดียวกันนี้ “ใครก็ตามที่เล่นกับไฟ จะต้องถูกแผดเผา” จะเป็นคำเตือนของกระทรวงการต่างประเทศจีนที่ใช้เมื่อปีที่แล้วที่กลุ่มสมาชิกรัฐสภาสหรัฐเยือนไต้หวัน แต่เวลานี้ออกมาจากปากผู้นำจีน ยิ่งมีความหมายต่อการ ‘ลงมือ’ และถ้าเป็นไปตามคาดที่ วอลล์สตรีทเจอร์นัล รายงานว่า สี จิ้นผิง จะเดินทางมาประเทศไทยเพื่อประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือเอเปค และคาดว่าจะมีการพบกันระหว่างสีและไบเดน เหมือนเล่นแร่แปรแรงกดดันมาที่ไทยในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ลงเลยทีเดียว

ในเมื่อพญาอินทรีกระพือปีก พญามังกรก็พ่นไฟ ไม่ซ่อนเล็บอีกต่อไป Play read สัปดาห์นี้ จึงหยิบหนังสือ Xi Jin-Ping เขียนโดย เปี่ยมศักดิ์ คุณากรประทีป โดดเด่นที่หยิบยกเอาวาทะกรรม คำประกาศ และสุนทรพจน์ ของสี พอเหมาะพอดีกับจังหวะเวลานี้ที่จะถอดรหัส 中国 (จงกั๋ว) ผ่านความคิด ความเชื่อ ความฝันของจีนในจีนและจีนแห่งศูนย์กลางโลกในมือสี จิ้นผิง ซึ่งผู้เขียนแบ่งออกเป็น 3 ภาคจบในเล่มเดียว ภาคหนึ่ง การเมืองในประเทศและต่างประเทศ ภาคสอง เศรษฐกิจและการลงทุน และภาคสาม การใช้เทคโนโลยีเพื่อสังคม

สิ่งหนึ่งที่สหรัฐอเมริกากับจีนมีเหมือนกันคือ “ความฝัน”

Xi-Man ราชาแห่งฝัน

เชื่อเถอะว่า ความหลงใหลใฝ่ฝันมันมีรสหวานและมีอิทธิพลต่อคนวัยกลางคนอย่างฉันที่โตมากับ American Dream โดยรู้ตัว มันคือความเชื่อที่ว่า การทำงานหนัก กล้าหาญ และมุ่งมั่นโดยไม่คำนึงถึงชนชั้นของสังคม ทุกคนสามารถบรรลุสู่ชีวิตที่ดีกว่าได้เสมอ ซึ่งแนวคิดนี้มาจากมหากาพย์แห่งอเมริกา (The Epic of America) งานเขียนของเจมส์ ทรัสโลว์ อดัมส์ นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันเมื่อปี ค.ศ.1931 ที่กล่าวไว้ว่า

อเมริกันดรีม คือความฝันถึงแผ่นดินที่ทุกคนจะมีชีวิตที่ดีขึ้น เติมเต็มยิ่งขึ้น และร่ำรวยยิ่งขึ้น โอกาสย่อมมาพร้อมกับความสามารถไม่ว่าผู้นั้นจะมีชาติกำเนิดเช่นไร”

ความฝันนี้มันเป็นความฝันของฉันเมื่อ 25 ปีที่แล้ว อเมริกาจึงเป็นหมุดหมายที่คนวัยฉันต้องไปให้ถึงอาจเพราะเป็นดินแดนแห่งความหวัง เสรีภาพ และการสร้างเนื้อสร้างตัว สร้างความสำเร็จให้กับชีวิตที่พอรับรู้ได้ในวัยนั้น

ฝันของจีน ต้องไปจีน – พาสปอร์ตและผู้ร่วมเดินทางคนสำคัญของฉันในครั้งนั้น มันไม่ง่ายเลยที่จะทำความเข้าใจความฝันของจีนและความฝันของสี จิ้นผิงได้จากข้อมูลมือสองหรือหนังสือเล่มใด เราเลือกที่จะออกเดินทางไปค้นหาความหมายที่อยู่เบื้องหลังของ “จงกั๋วเมิ่ง” บนเส้นทาง BRI คือหมุดหมายแรก

 

ต่างจากความฝันของจีน หรือ 中國夢 หรือ จงกั๋วเมิ่ง ซึ่งเป็นคำใหม่ในความคิดสังคมนิยมจีนและอธิบายชุดอุดมคติในจีนที่เกิดจากสี จิ้นผิง ผู้นำรุ่นที่ 5 ของสาธารณรัฐประชาชนจีน เขาได้พูดถึงแนวคิดนี้ในการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 18 ในเดือนพฤศจิกายน 2012 เนื้อหาส่วนใหญ่ของความฝันจีนคือ “การฟื้นฟูจีน” ให้กลับมายิ่งใหญ่เหมือนในอดีต

สี ได้กล่าวถึง การนำพาประเทศชาติจีนบรรลุถึงความฝันจีน เพื่อฟื้นฟูจีนให้กลับมายิ่งใหญ่ คือการบรรลุสังคมกินดีอยู่ดีรอบด้านดี ภายในปี 2020 และขยับเข้าสู่การเป็นประเทศสมัยใหม่ที่ก้าวนำในด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีในปี 2035 จากนั้นก็ก้าวสู่การเป็นประเทศสังคมนิยมที่ทันสมัย มีความมั่นคง มีอำนาจ มีความสุข และสวยงาม และจีนจะเป็น “ชาติที่แข็งแกร่งทรงอิทธิพลที่สุดของโลก”

ถ้าเปรียบเทียบสองความฝัน สองมหาอำนาจ เหมือนยืนอยู่คนละขั้วโดยสิ้นเชิง เพราะความฝันของอเมริกันคือความฝันแบบปัจเจกชนหรือความฝันเพื่อตนเอง ภายใต้ดินแดนแห่งความหวังและเสรีภาพ ใคร ๆ ก็สามารถทำฝันให้เป็นจริงได้ขึ้นอยู่กับความรู้ ความสามารถของคนนั้น

แต่ความฝันของจีน กลับไม่ใช่ความฝันเพื่อตนเองหรือใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นความฝันในการฟื้นฟูประเทศให้กลับมายิ่งใหญ่เหมือนในอดีตที่เป็นความฝันเพื่อชาติบ้านเมืองตามแนวคิดนักปราชญ์โบราณที่เคยกล่าวว่า “ไม่มีชาติก็ไม่มีบ้าน” ภายใต้ความฝันนี้ประเทศชาติเป็นสิ่งแรกที่สี จิ้นผิงใส่ความหมายของอดีต ให้ความสำคัญกับอนาคตอันใกล้ เพื่อเข้าใกล้สมการ จีน = ศูนย์กลางของโลก  

 

 

“ชาติที่ไม่มีความใฝ่ฝันเป็นชาติที่น่าเศร้า

ชาติที่มีความใฝ่ฝันแต่ปราศจากการแสวงหาไขว่คว้า

ที่แน่วแน่ก็เป็นชาติที่ไร้อนาคต”

วาทะสี จิ้นผิง

 

เพียงแต่สี ในวัย 69 ปี แม้จะกุมอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่ยังเผชิญกับมรสุมจากพิษเศรษฐกิจ การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหญ่ และการประท้วงต่อต้านในที่สาธารณะที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นไปจนถึงวิวาทะที่แข็งกร้าวและการเร้าความตึงเครียดในไต้หวันและภูมิภาค บรรดานักวิเคราะห์ก็ยังคงเชื่อว่า สีจะได้รับมอบอำนาจให้บริหารประเทศภายใต้วิสัยทัศน์ ‘การฟื้นฟูชาติจีน’ ต่อไปในการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 ท่ามกลางการเฝ้ามองจากทั่วโลกว่า สีจะได้รับฉันทามติจากที่ประชุมให้ดำรงตำแหน่งผู้นำเป็นสมัยที่ 3 ซึ่งจะเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ ตอกย้ำสถานะความเป็นผู้นำทรงอิทธิพลที่สุดของประเทศนับตั้งแต่เหมาเจ๋อตง

เด็ดปีกพญาอินทรี

แม้จะยิ่งใหญ่ในจีน สียังทรงอิทธิพลในเวทีโลกด้วยการเสนอตัวเป็นผู้นำระเบียบโลกใหม่ เด็ดปีกพญาอินทรีที่ดำรงบทบาทผู้นำระเบียบโลกมาตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  

 

นจีนจะไม่ยอมให้กองกำลังต่างชาติกลั่นแกล้ง หรือกดขี่พวกเรา ใครก็ตามที่หาญกล้าทำเช่นนั้น ศีรษะพวกเขาจะกระแทกโชกเลือดบนกำแพงเหล็ก อันยิ่งใหญ่ที่สร้างด้วยเลือดและเนื้อของชาวจีน 1,400 ล้านคน”

ถ้อยแถลงในย่อหน้าเดียว แต่เปิดเผยให้คนทั้งโลกได้เห็นคมเขี้ยวของพญามังกร ต่างจากท่าทีที่ผ่านมาของผู้นำจีนที่มักเล่นบทพญามังกรซ่อนเล็บ จนทำให้นักวิชาการตะวันตกพยายามตีความในถ้อยแถลงนี้ของ สีคือการส่งสัญญาณแรง และแข็งกร้าวที่จะไม่ยอมให้ใครมากดข่ม

ยิ่งถ้าเราได้ติดตามข่าวสารที่ทางการจีนพยายามแสดงอาวุธชนิดใหม่ที่ทันสมัย ซึ่งทางกองทัพระบุว่า ได้นำไปใช้งานแล้วทั้งหมด อย่างขีปนาวุธข้ามทวีป DF-41 รุ่นล่าสุด ซึ่งนักวิเคราะห์จีน ระบุว่า สามารถโจมตีเป้าหมายได้ทั่วโลก คาดว่า สามารถบรรทุกหัวรบขีปนาวุธกลับสู่ชั้นบรรยากาศแบบแยกเป้าโจมตีได้หลายหัวรบ โดย 1 หัวรบ สามารถส่งไปโจมตีเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงได้ 1 แห่ง แต่สามารถแยกโจมตีเป้าหมายได้ 10 จุดในบริเวณกว้าง ยังไม่นับรวมถึงเครื่องบินไร้คนขับ 2 แบบ คือ โดรนสอดแนมและโจมตีเป้าหมายความเร็วเหนือเสียงที่ชื่อว่า DR-8 และโดรนล่องหนปีกค้างคาวที่ถูกขนานนามว่า ชาร์ปซอร์ด (Sharp Sword) ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อให้ปล่อยจากเรือบรรทุกเครื่องบินได้ หรือแม้แต่เครื่องบินทิ้งระเบิดยุทธศาสตร์ H6-N รุ่นใหม่ ที่สามารถเติมเชื้อเพลิงกลางอากาศ และบรรทุกขีปนาวุธทิ้งตัวที่ยิงจากบนท้องฟ้าได้

จีนจึงเป็นชาติที่ลงทุนด้านกลาโหมมากที่สุดในเอเชีย โดยในปี 2018 ใช้เงิน 5.61 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท) ในการจัดซื้ออาวุธ วิจัยและพัฒนาด้านกลาโหม ซึ่งคิดเป็นกว่า 33% ของงบประมาณด้านกลาโหมทั้งหมดของจีน สมุดปกขาวกลาโหมล่าสุดระบุว่า เป็นค่าใช้จ่ายที่ “เหมาะสมและสมเหตุสมผล” การเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านกลาโหมของจีนดูจะอ่อนด้อยลง เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายด้านนี้ของสหรัฐแล้วสหรัฐยังคงเป็นชาติที่ใช้จ่ายด้านกลาโหมมากที่สุดในโลก ซึ่งอยู่ที่ 6.433 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 19.7 ล้านล้านบาท) ในปี 2018

จีนความเร็วสูง – เราออกเดินทางไปในขบวนรถไฟความเร็วสูงไหหนานของจีนที่สี จิ้นผิงวางไว้เป็นจุดยุทธศาสตร์ของเส้นทางสายไหมทางทะเลหรือ BRI ของจีน ในยุคที่ถูกเตรียมให้พร้อมด้วยเทคโนโลยีจากเหนือสุดของไหหนานสู่ระยะทาง 300 กว่ากิโลเมตรในเวลาเพียงชั่วโมงเศษ ล่าสุดจีนได้เปิดไหหนานอ้าแขนรับไทย ซึ่งไทยได้ลงนาม MOU ไทย-ไหหนาน ถือเป็น  FTA ฉบับย่อย และเป็นฉบับแรกที่ไทยทำกับระดับมณฑลของจีน ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าใน 3 สินค้าเป้าหมาย “เกษตร อาหาร อุตสาหกรรม ด้วยเป้าหมายทางการค้าเพิ่มเป็น 12,000 ล้านบาทภายใน 2 ปีนี้

ถอยจากงบกลาโหม ก่อนหน้านี้สีได้ให้คำมั่นสัญญาไว้กับองค์การอนามัยโลกว่า จีนจะจัดหาวัคซีนโควิด-19 จำนวนสองพันล้านโดสให้กับโลกตลอดปี 2021 และมอบเงิน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.3 พันล้านบาทให้แก่โครงการบริจาควัคซีน COVEX ในขณะที่สหรัฐยังขยับตัวต่อเรื่องนี้ช้ากว่าจีน แน่นอนว่าสิ่งที่จีนได้รับจากการเดินเกมการทูตครั้งนี้คือ ภาพลักษณ์ใหม่ที่ดูดีในฐานะอัศวินขี่ม้าขาว ทำให้นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่า จีนกำลังเล่นบท “วัคซีนทางการทูต” เพื่อสร้างซอฟต์พาวเวอร์ และช่วยให้จีนสามารถพัฒนาเส้นทาง BRI (Belt and Road Initiative) หรือประโยชน์ต่าง ๆ ที่จีนจะได้รับในระยะยาวไม่ว่าเป็นการเข้าไปลงทุน รวมถึงการได้สิทธิพิเศษในการทำธุรกิจภายในประเทศ สิ่งที่นักวิเคราะห์พูดจึงมีความเป็นไปได้ เพราะไม่มีของฟรีบนกระดานการเมืองระหว่างประเทศ

 

 

 

เทียบชั้น ‘เหมา เจ๋อตง’

 

บุรุษที่หนึ่ง ในนาม ‘เหมา เจ๋อตง’

บุรุษที่สองในรูปนามของคนที่เคยถูกเอารัดเอาเปรียบ โชว์เฟอร์ชาวจีนวัยกลางคนขับในความเร็ว 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมงและทุกครั้งที่มีลูกระนาด มือซ้ายจะเอื้อมไปจับสร้อยด้วยความเคารพต่อ ‘เหมา เจ๋อตง’ ชายในรูปผู้ยิ่งใหญ่ผู้นำรุ่นที่ 1 ที่นำพาพรรคคอมมิวนิสต์จีนยึดแผ่นดินมังกรขับไล่รัฐบาลก๊กมินตั๋ง ผู้โค่น “เจียงไคเช็ก” สถาปนา “สาธารณรัฐประชาชนจีน” และดำรงตำแหน่งประธานสาธารณรัฐ จนถึงปี พ.ศ. 2512 เขาขับไล่ต่างชาติที่เข้ามาเอาเปรียบคนจีนปลดแอกเขตเช่าต่าง ๆ ของต่างชาติ คืนศักดิ์ศรีกลับคืนคนจีน จนมีคนรุ่นหลังพูดว่าเหมา เจ๋อตงคือบุรุษที่กู้ศักดิ์ศรีความเป็นคนให้กับจีน คนจีนนับร้อยล้านคนยังคงนับถือ ศรัทธา ลุ่มหลงเหมาดุจเป็นเทพเจ้า เขาก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนเปลี่ยนแปลงจาก “ลัทธิมาร์กซ์” มาเป็น “ลัทธิเหมา” ให้ประชาชนชาวจีนเคารพตนเองและให้เกิดความภาคภูมิใจที่เกิดเป็นคนจีน

ยังจำได้แม่นเมื่อปลายปีที่แล้ว พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้อนุมัติ “มติครั้งประวัติศาสตร์” ยกสถานะของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ให้เทียบเท่ากับบุคคลสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนทั้งสองคือ ประธานเหมา เจ๋อตุง ผู้ก่อตั้งพรรค และเติ้ง เสี่ยวผิง ผู้ปฏิรูปจีนให้กลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกแน่นอนว่ามีทั้งคนเฮมีทั้งคนเบือนหน้าหนี บ้างก็ว่า ยังไม่ถึงขั้นนั้น เพราะทั้งสองคนคือผู้ยิ่งใหญ่ยากจะมีใครเทียบเท่า แต่ถึงตอนนี้ได้มีการบรรจุความคิดของสี เอาไว้ในรัฐธรรมนูญของพรรคในนามว่า “ความคิดสี จิ้นผิง สำหรับสังคมนิยมอันมีอัตลักษณ์แบบจีนสำหรับยุคใหม่” (Xi Jin-Ping Thought on Socialism with Chinese Characteristics for a New Era)

สี ได้เสนอฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจีนกับอเมริกาในก่อนหน้านี้ เน้นหนัก “ไม่ปะทะและไม่เป็นปฏิปักษ์”

“หากต้องการก้าวทันยุคสมัย ย่อมไม่สามารถก้าวเข้าสู่ ยุคศตวรรษที่ 21 แต่ความคิดยังคงหยุดอยู่ในยุคสมัยสงครามเย็นและทฤษฎีเกมการแข่งขันแบบสมัยเก่า”

วิวาทะสี จิ้นผิง

 

สีโนมิกซ์ตัดใจไม่ไหว ทิ้งจีนไม่ลง’

“เสี่ยวคังเซ่อฮุย” ในฝันของเติ้งและสี – เติ้ง เสี่ยวผิง สร้างสังคมที่จีนเรียก “เสี่ยวคังเซ่อฮุย” ที่จีนแปลเป็นเวอร์ชั่นอังกฤษคือ moderately well-off society เป็นหนึ่งในความฝันจีนที่จะเกิดขึ้นจริงของยุคของสี ด้วยการดันเกรทเตอร์เบย์ แอเรีย เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีและการเงินท้าชนกับซิลิคอน วัลเวย์ ในแคลิฟอร์เนียภายในปี 2035

ฉากหน้าของการโปรโมทเซินเจิ้น เมืองแห่ง “ความสุขและความฝัน”
เพียงแต่ความสุขและความฝันที่ว่าจะมีไว้สำหรับคนทุกคนไหมไม่แน่ใจนัก แต่มันเกิดขึ้นแล้วสำหรับใครหลายคนที่เข้ามาแสวงหาโอกาสแห่งความมั่งคั่ง สตาร์ทอัพจีน วัย 30 ปียืนยันกับฉันตอนไปทำข่าวนี้ที่จีนว่า เซินเจิ้นก็คือซิลิคอนวัลเลย์ของจีนดี ๆ นี่เองเพราะครึ่งหนึ่งของสิทธิบัตรถูกจดแจ้งที่เซินเจิ้น ไม่ใช่ปักกิ่ง เซี้ยงไฮ้ แต่อย่างใด

ความเคลื่อนไหวนี้ถูกตีความว่าเป็น “เป้าหมายลับ” ของจีนที่หวังเด็ดปีก “ซิลิคอนวัลเลย์” ของอเมริกา ที่ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมโลกด้านเทคโนโลยี แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า คณะกรรมการวิทยาศาสตร์แห่งชาติอเมริกาถึงกับออกรายงานระบุว่า จีนกำลังรุดหน้าอย่างรวดเร็วในด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี เห็นได้จากตัวชี้วัดสำคัญอย่างงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาที่ใกล้เคียงกับอเมริกาที่ใช้จ่าย 4.97 แสนล้านดอลลาร์ แต่เมื่อเทียบการเพิ่มขึ้นเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วจีนเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ระดับ 18% ต่อปี ส่วนอเมริกาเพิ่มขึ้นเพียงปีละ 4% เท่านั้น

ชั่วโมงนี้ จึงเป็นยุคที่สี่ของเมืองเซินเจิ้นที่จะก้าวสู่ Globalization Era เมืองแห่งศูนย์กลางด้านนวัตกรรมที่แข่งในตลาดโลกได้ ความสำเร็จของเมืองเซินเจิ้น จึงมาจากการพัฒนาคนที่มีคุณภาพในยุคของสี อย่างน้อย ๆ คือมีคนจบการศึกษาระดับปริญญาตรีมีมากถึง 37.1% สูงกว่าปักกิ่ง และเซี่ยงไฮ้ ทำให้สามารถสร้างงานวิจัยและพัฒนาได้จำนวนมาก โดยตั้งแต่ปี 2552 ถึงปี 2557 พบว่า 90% ของบริษัทในเมืองเซินเจิ้นลงทุนทางด้านการวิจัยและพัฒนาคิดเป็น 4.2% ของจีดีพี สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศจีนที่ 2% ที่เป็นค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศด้านนวัตกรรม

ฝันของหนุ่มสาวชาวจีนใจกลางซิลิคอนวัลเลย์ – ตึกสูงระฟ้าของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง หัวเหวย, China Vanke , เทนเซ็นต์, ผิงอัน อินชัวรันส์ และยักษ์ใหญ่รถยนต์พลังงานไฟฟ้า BYD  ศูนย์กลางไม่ใช่เรื่องของสิ่งปลูกสร้างแต่คือคนหนุ่มสาวชาวจีนที่ขับเคลื่อนเมืองนี้จนจีดีพีเซินเจิ้นแซงหน้าฮ่องกงและสิงคโปร์ไปเมื่อสองปีที่แล้ว

ไม่แปลกใจที่ เซินเจิ้น จะเป็นเมืองที่มีสิทธิบัตรสูงที่สุดในจีน และในอนาคตอันใกล้ เมืองเซินเจิ้นจะกลายเป็นซิลิคอนวัลเลย์ตัวจริง ภาพสะท้อนของ “โรงงานโลก” ที่คนไทยเองก็ขาด ‘จีน’ ไม่ได้ ทิ้ง ‘หยวน’ ไม่ลง ถ้าดูในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 14 (ปี 2021-2025) ของจีน แม้จะเป็นเรื่องภายในของจีนแต่คือมหาอำนาจที่มาแรง นโยบายและแผนการต่าง ๆ ย่อมส่งผลต่อหลายประเทศ ในยุคของสี ประเด็นที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษคือ แนวคิดยุทธศาสตร์วงจรคู่ (Dual Circulations) ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์อธิบายว่า ยุทธศาสตร์นี้อาศัยเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นแกนหลัก เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจภายนอกเป็นสองหมุนเวียนโดยอาศัยตลาดจีนเป็นแกนกลาง

“มหาสมุทรแปซิฟิกที่กว้างใหญ่มีพื้นที่เพียงพอที่จะรองรับ

ประเทศจีนและอเมริกาได้ทั้งสองประเทศ”

เพื่อเป็นการแสดงนโยบาย “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”

ชักนำผลประโยชน์ให้แก่ประเทศตามเส้นทาง

ยินดีให้แต่ละประเทศขึ้นโดยสาร “ขบวนแล่นตามลม” ของประเทศจีน

 

ที่ผ่านมาจีนเน้นการเติบโตด้วยการส่งออก (Export-oriented growth)จนเป็น “โรงงานโลก” ทำให้จีนมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงติดต่อกันมาหลายสิบปี ทั้งยังพัฒนาประเทศอย่างก้าวกระโดด และมีนโยบายกำจัดความยากจนของสี ทำให้คนจนขยับฐานะกลายเป็นชนชั้นกลางได้นับร้อยล้านคน ทำให้กำลังซื้อจากภายในประเทศเข้มแข็งมาก และโควิด-19 ก็เป็นตัวเร่งให้จีนต้องพึ่งพาตัวเองทำให้จีนเข้มแข็งจากภายใน ไม่เฉพาะแต่การส่งออกหรือนำเข้า แต่รวมไปถึงเรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยี

แม้จีนจะมีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งมาก กำลังซื้อภายในประเทศที่มหาศาล แต่ไม่ได้หมายความว่า จีนจะผงาดโดยปราศจากมิตรสหาย จีนยังคงผูกมิตรกับนานาประเทศ ผ่าน BRI ที่จีนเข้าไปช่วยเหลือและสนับสนุนในการสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานให้กับประเทศเหล่านั้น ทำให้สินค้าและแรงงานจีนทะลักเข้าสู่ประเทศต่าง ๆ หลายประเทศที่ไม่มีโรงงานจึงต้องพึ่งพาสินค้าจากจีน ยังไม่นับนักลงทุนชาวจีนที่เข้าไปทำธุรกิจร่วมกับผู้ประกอบการในประเทศเหล่านั้น เพื่อใช้ประเทศเหล่านั้นเป็นฐานการผลิตเนื่องจากแรงงานราคาต่ำและมีทรัพยากรมากมาย การขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนแบบนี้ทำให้หลายประเทศก็ “ขาดจีนไม่ได้”

แต่ก็ต้องยอมรับว่า หลาย ๆ ประเทศขาดดุลการค้ากับจีน บางประเทศก็มองว่าจีนเอาเปรียบ ทำให้มิตรภาพเต็มไปด้วยความคลางแคลงใจ

จีนเริ่มเปลี่ยน และรับบทใหม่จาก “ผู้ขาย” มาเป็น “ผู้ซื้อ” จนจีนกลายเป็นผู้ซื้อรายใหม่และใหญ่ที่สุดในโลก แน่นอนว่าอำนาจต่อรองของจีนก็ย่อมสูงตามไปด้วย และไม่แน่ว่ากติกาการค้าโลกในอนาคต จีนอาจเป็นผู้เขียนเล่น เล่นเองนักเลงพอ

มองไปข้างหน้า ฉันได้พูดคุยกับอาจารย์ Tang Lin นักวิชาการมหาวิทยาลัย Hainan Normal อาจารย์วิเคราะห์และมองไปในอนาคตว่า การแข่งขันของประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจนั้นคือ การแข่งขันที่กำลังทรัพย์ของชาติ “เทคโนโลยีและนวัตกรรมสำคัญที่สุด” เธอย้ำ

อย่างที่มีคนเคยบอกว่า ใครที่สามารถควบคุมเทคโนโลยีได้ เขาคนนั้นคือผู้นำโลก “พูดได้เลยว่าจีนสมัยใหม่มีความสามารถในการคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรม คนหนุ่มสาวของจีนในยุคสี จึงเป็นทั้งอนาคตของจีนและความฝันของจีนเช่นกัน ถึงแม้จีนในวันนี้สี กำลังเผชิญกับมรสุมหลายด้าน แต่อาจารย์ถัง ไม่อ้อมค้อมที่บอกฉันตรง ๆ ว่า จีนยุคนี้เป็นยุคที่ดีที่สุดแล้ว เพราะใครก็ตามที่ควบคุมเทคโนโลยีได้ เขาคือ ผู้นำโลก ขึ้นอยู่กับเราจะลง “ขบวนแล่นตามลม”ของจีน หรือทวนกระแสอันเชี่ยวกรากนี้

หนังสือ: Xi Jin-Ping มังกรเหนือมังกร
นักเขียน : เปี่ยมศักดิ์ คุณากรประทีป
สำนักพิมพ์: แสงดาว

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี