ในแดนวิปลาส - Decode
Reading Time: 2 minutes

ในแดนวิปลาส คือหนังสือที่กล่าวถึงบาดแผลอันร้าวลึกของคนธรรมสามัญ ในช่วงตลอดระยะเวลาหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 กล่าวอย่างไม่เหนียมอาย นี่คือบทอักษรซึ่งกล่าวถึงชีวิตของคนที่ได้รับความเจ็บปวดจากการรัฐประหาร และความพิกลพิการของสารบบในระบอบที่วิกลจริต

ในแดนวิปลาสที่กล่าวโดยอ้อมเพื่อหมายถึงรัฐที่วิปริต ไม่ใช่รัฐที่ควรจะอยู่หรือเป็นอย่างรัฐปกติแบบใครเขา นี่คือรัฐที่บ้าบอถึงขั้นว่าไม่รู้ไม่ชี้ และไม่เห็นชีวิตใครหลายคนต้องหายไปอย่างไร้ร่องรอย ไม่แยแสกับศพที่ถูกผ่าท้องยัดใส้ปูนแล้วปล่อยให้ลอยมาตามแม่น้ำจนอืดพอง หากไม่เรียกรัฐแบบนี้ว่ารัฐวิปริต เราก็คงวิปริตไม่ต่างกัน

ความเจ็บปวดของคนธรรมดาที่สามัญที่รัช(นามปากกา) บอกว่าอย่างกับเราอยู่ในโลกคู่ขนาน ด้านหนึ่งสว่างไสวด้านหนึ่งมืดมิด โหดเหี้ยมและน้อยคนที่จะแยแส คู่ขนานอย่างไร หลายคนคงตั้งคำถามซึ่งผมต้องขอเกริ่นเพิ่มด้วยว่า หากใครที่กำลังหยิบจับหนังสือเล่มนี้และอยู่ห่างออกไปจากปริมณฑลของการรับรู้เรื่องราวของการลี้ภัย ซ้อมทรมาน และอุ้มหายในสังคมไทย

ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีอยู่ตลอดและเกิดขึ้นถี่ ครั้งหลังจากรัฐประหารเมื่อปี 58 (รัช) บอกว่าเรื่องราวที่จับมาหยิบเขียน คือคลังข้อมูลจากประสบการณ์ตอนเป็นนักข่าว ซึ่งไม่รู้ว่าจะต่อยอดมันอย่างไร แต่การเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาวในปี 2563 ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป ไม่มีวันเหมือนเดิม “เพดานที่ว่าสูงแล้วของสิบปีก่อนก็เห็นได้ชัดว่าต่ำเตี้ยเสียจนคนอาจหาว่าโม้” ผมว่าเพดานอาจพังไปแล้วก็ได้ ที่เหลืออยู่อาจเป็นแค่เพียงฐานค้ำยันที่คงรอวันที่แทบไม่ต่างจากเพดาน

ไม่มีแม้ชื่อหรือสกุล ที่(รัช) เขียนถึงคนที่ถูกอุ้มหายจนกลายเป็นศพ  หรือบ้างต้องโดนสั่งจำคุกจากความผิดอาญามาตรา 112 เป็นมาตราที่กระอักกระอ่วน จะต้องพูดคราใด ก็พูดไม่ได้เต็มปากเต็มคำ เว้นแต่จะพูดเพื่อสรรเสริญหรือปกป้องให้มาตรานี้ดำรงอยู่ รัชยังพูดถึงคนที่ต้องตะลอนลี้ภัยจนคาดเดาได้ว่าคงไม่มีวันได้กลับบ้าน แต่ด้วยภาษาที่แยบยล

หากตั้งใจฟังอย่างใจจดใจ่อ เรากลับรู้และนึกได้ว่า(รัช) กำลังเขียนถึงใคร แม้เราไม่อยากรู้เลยว่านามปากกา(รัช) จะเป็นใครก็ตามแต่ หนึ่งในนั้นแค่สลักนามว่าหนุ่มยิ้มหวานที่ตัดสินใจยอมรับสารภาพจะด้วยสาเหตุใดก็แล้วแต่ ทำให้เรานึกถึงไผ่ ดาวดินในทันใด ไผ่ถูกฟ้องข้อหา 112 จากการแชร์พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ของสำนักข่าว BBC  และถูกจองจำถึง 2 ปี 6 เดือน “ผมรับสารภาพทั้งน้ำตา ผมไม่ได้พูดว่ารับสารภาพเลย เพราะมันพูดไม่ได้ น้ำตามันไหลสะอึกจุกที่อก ผมได้แต่พยักหน้า”

หนึ่งในคนที่รัชเขียนถึง คืออาจารย์สุรชัย แซ่ด่าน แน่ ๆ ที่ภายหลังคนสนิทสองคนถูกพบเป็นศพจนสภาพภายนอกนั้นยากจะคาดเดาว่าเป็นใครหากไม่พึ่งการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ ทำให้เราฉุกคิดถึงความโหดเหี้ยมและบ้าคลั่งของคนที่อยู่เบื้องหน้าอาจารย์สุรชัย ก่อนที่อาจารย์สุรชัยจะสิ้นลม หลังจากศพถูกพบที่ริมโขงเมื่อธันวาคมปี 2561 ซึ่งจำได้ว่าผมกำลังเป็นนักศึกษาปี 2 พวกเราในบรรดาวงพูดคุยพูดเป็นเสียงเดียวกัน

“นี่มันบ้าอะไรกันว่ะ”

ด้วยความไร้เดียงสาและไร้ความลุ่มลึก เพียงแต่รับรู้ว่าผู้เสียชีวิตต้องระเหิดระแหงเพราะการเมืองที่บิดเบี้ยว ย้อนกลับไปนึกถึงอีกครั้งก็เพียงพอแล้วที่รับรู้ว่าบ้านนี้เมืองนี้มันไม่ยุติธรรมพอ

อีกกลุ่มคนที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้ ผมเดาว่า(รัช) ก็คิดแบบนี้ คือวงไฟเย็น ซึ่งเปี่ยมไปด้วยคนที่รักศิลปะ กวี และดนตรี และที่สำคัญคือรักเสรีภาพและความเท่าเทียม แต่ก็ด้วยความวิปริตวิปลาสอีกนั่นแหละ ที่ทำให้พวกเขาต้องเดินทาง ซึ่งไม่รู้อีกเช่นกันว่าบ้านเมืองนี้จะเป็นปกติพอไหมให้พวกเขาได้กลับบ้าน

ชายหนุ่มขี้อายแสนสุภาพได้กลายสภาพเป็นภัยความมั่นคงแห่งชาติ นึกถึงใครไม่ได้นอกจากจะกล่าวถึง สยาม ธีรวุฒิ สยามไม่ใช่บุคคลสาธารณะ ไม่เป็นที่รู้จัก ต้องลี้ภัยตอนอายุ 29 ปี เพราะมีการรื้อฟื้นคดี 112 หลังจากการรัฐประหารในปี 2557

เหตุแห่งคดีคือ ละครเวทีเจ้าสาวหมาป่า ละครย้อนยุคออกแนวตลกโปกฮาซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนบางกลุ่มและพวกเขาได้ทำการแจ้งความดำเนินคดีตามมาตรา 112 ไว้ในปี 2556 ท้ายที่สุดผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำละครอย่างภรณ์ทิพย์ มั่นคง และปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ถูกจับกุมตัวและต้องติดคุกอยู่ 2 ปีเต็ม

หนึ่งในคนที่เคยร่วมงานกิจกรรมกับสยาม อย่างเก่งกิจ กิติเรียงลาบ เคยให้สัมภาษณ์ผ่านประชาไทไว้ว่า “รู้สึกเศร้าในหลายเรื่อง ไม่ใช่สยามคนเดียว คนที่เรารู้จักหลายคนที่ต้องหลบหนี ติดคุก คนหลากหลายรุ่นที่เผชิญชะตากรรมไม่ต่างกัน ถ้ามองจากเคสของสยาม เขาไม่ได้เป็นคนที่มีความคิดรุนแรงตอนที่เราเจอเขา เขาเป็นเพียงคนที่มีความสนใจในประเด็นทางสังคม ต้องการหาความรู้ ต้องการถกเถียง อยากให้สังคมดีขึ้น

แต่สถานการณ์ของเผด็จการได้เบียดขับคนจำนวนมากให้ต้องออกไป เขาไม่ได้เกิดมาเป็นภัยกับสังคม แต่บรรยากาศทำให้เขาเป็นภัย เขาไม่ได้อยากออกนอกประเทศ แต่เขาอยู่ไม่ได้เพราะต้องเผชิญกับกฎหมายที่อยุติธรรม ความเจ็บปวด ความยากลำบากที่เขาเจอทำให้เขาวิจารณ์ระบบมากขึ้น อย่างน้อยก็มากกว่าพวกเรา” เรารู้แค่ว่าสยามได้ออกเดินทางหนีห่างจากความวิปริตของรัฐนี้ แต่วันนี้เราไม่รู้ว่าสยามเดินทางถึงที่ใด ยังเดินทางอยู่ หยุดพัก หรือเสร็จสิ้นกับการเดินไปแล้ว เราไม่รู้เลยจริง ๆ ว่าสยามจะเป็นอย่างไร

แน่นอนว่าคอลัมน์นี้เกี่ยวกับการรีวิวหนังสือในดวงใจประจำเดือน และผมคิดว่าเท่าที่กล่าวมาผมเสียมารยาทและทำในสิ่งที่นักรีวิวส่วนใหญ่ไม่ทำ คือการสปอยล์เนื้อหาส่วนสำคัญของหนังสือเล่มนี้ไปแล้ว

แต่อย่างที่กล่าวไปในเบื้องต้น หากผู้ที่กำลังหยิบจับ “ในแดนวิปลาส” และไม่ได้คุ้นชินหรือรับรู้เรื่องของคนที่ต้องติดคุกเพราะแค่แชร์โพสต์ของ BBC คนที่ไม่ทราบชะตากรรม แค่พบศพของคนสนิทริมโขง หรือเรื่องราวของกลุ่มคนที่มีคุณูปการต่อการยกเพดาน ทำงานทางความคิด และพูดเรื่องเสรีภาพ ในวันที่ประเทศนี้ไม่มีมาตรฐานในสารบบของความยุติธรรม ในยุคทมิฬมารที่ครองบ้านเมืองด้วยกลิ่นปืน กระสุน และรถถัง เพียงพอแล้วที่รัชสรุปเป็นชื่อหนังสืออย่างเรียบง่าย “ในแดนวิปลาส”

หนังสือ: ในแดนวิปลาส:บันทึกบาดแผลสามัญชนบนโลกคู่ขนาน
นักเขียน : รัช
สำนักพิมพ์: พารากราฟ

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี

Thailand Talks พื้นที่พูดคุยสำหรับคนแปลกหน้าที่มีความเห็นแตกต่างกัน

เปิดลงทะเบียนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม – 14 กันยายน 2565