ความฝัน ความสุข ความจริง มองผ่านมุม 'คนทำงาน' - Decode
Reading Time: 5 minutes

คนทำงาน

ฉัตรชัย พุ่มพวง

เมื่อเกือบ 30 ปีก่อน เด็กน้อยคนนึงบังเอิญเกิดมา ณ สถานที่ที่ชื่อว่า “ประเทศไทย” เป็นที่ที่บอกเล่ากันว่ามีกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ ประชาชนทุกคนมีความสุข อยู่ดีกินดีภายใต้ร่มพระโพธิสมภาร ในน้ำมีปลาในนามีข้าว  ครอบครัวของเธอค่อนข้างธรรมดามีพ่อแม่เป็นข้าราชการ จะเรียกว่าธรรมดาก็อาจจะไม่ถูกซะทีเดียว เพราะในประเทศนี้ มีข้าราชการประมาณ 1 ล้านกว่าคน จากประชากรทั้งหมด 66 ล้านคน คิดเป็น 1.5% แสดงว่าทุก 100 คน จะมี 1 คนที่เป็นข้าราชการ ทุก 200 คน จะมีแค่ 3 คนที่เป็นข้าราชการ

แปลว่า ครอบครัวของเด็กน้อย ก็ไม่ได้ธรรมดาขนาดนั้น ออกจะพิเศษเลยแหละ เพราะตั้งแต่เด็กน้อยจำความได้ เธอก็ได้ไปเรียนโรงเรียนในตัวเมืองของจังหวัด และคำพูดที่เธอได้ยินบ่อย ๆ คือ “เบิกได้” ซึ่งในประเทศไทย อาชีพที่อาจจะเติบโตช้า แต่มีความมั่นคงมาก คือข้าราชการ เพราะสวัสดิการที่เรียกได้ว่าครอบคลุมความจำเป็นพื้นฐานของมนุษย์คนนึงและครอบครัว คือการเบิกค่ารักษาพยาบาลของพ่อแม่ตนเองได้ (ในที่นี้คือ ปู่ย่าตายายของเด็กน้อย) ไม่ต้องกังวลเรื่องถ้าพ่อแม่เจ็บป่วยก็จะมีปัญญาดูแลรักษา รวมถึงตัวเองและลูกด้วย มากไปกว่าเรื่องสุขภาพของครอบครัว คือสวัสดิการด้านการศึกษา เพราะค่าเล่าเรียนลูกก็เบิกได้

และที่สำคัญที่สุดคือเมื่อพ่อแม่ของเธอเกษียณก็จะมีบำนาญกินไปจนตาย ปี 2564 งบประมาณบำนาญข้าราชการ 870,000 คนอยู่ที่ 300,000 ล้านบาท ในขณะที่เบี้ยคนชรา 9 ล้านคน อยู่ที่ 60,000 กว่าล้านบาท

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 พ่อแม่ของเด็กน้อยก็ยังคงยืนหยัดอยู่ได้ แม้ว่าจะเจ๊งจากการลงทุนในธุรกิจรับเหมา ที่ทำเพิ่มเติม เพราะเงินเดือนข้าราชการตอนนั้นอาจจะยังไม่มากพอ เด็กน้อยเติบโตมาอย่างดีในโรงเรียนใจกลางจังหวัด และมีพรสวรรค์เรื่องศิลปะ ไปประกวดวาดรูปอยู่ตลอด ถึงแม้เด็กน้อยจะไม่ได้มีดิจิไวซ์, เกมบอย หรือเกมเพลย์สเตชัน อย่างเพื่อน ๆ คนอื่น แต่พ่อแม่ก็ยังสามารถซื้อหาคอมพิวเตอร์ราคาหลักหมื่นต้น ๆ ให้ได้เล่นเกม ทำรายงานส่งครูอาจารย์ และรู้จักกับสิ่งที่กำลังจะมาเป็นปัจจัยสำคัญในความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอย่างเท่าทวีคูณในสังคมปัจจุบัน นั่นคือ “อินเทอร์เน็ต”

นอกจากวิกฤตเศรษฐกิจแล้ว พร้อม ๆ กันกับที่เด็กน้อยเริ่มจำความได้แจ่มชัด พูดจาพอรู้เรื่อง เพราะอยู่ระหว่างรอยต่อของการศึกษาระดับประถมและมัธยม ก็คือจุดเริ่มต้นของวิกฤตการเมือง (รอบแรกในชีวิตของเด็กน้อย) หลังปี 2540 เกิดพรรคไทยรักไทย คนชื่อ ทักษิณ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาลมีคำว่า “30 บาทรักษาทุกโรค” เข้ามาในความทรงจำ

พ่อของเด็กน้อยเคยเล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนชาวบ้านตาสีตาสาส่วนใหญ่เวลาป่วยจะไม่ยอมไปหาหมอ เพราะว่าถ้าไปหาแล้วก็ไม่รู้จะมีเงินจ่ายค่ารักษามั้ย เลยอยู่บ้านรักษาเอง หรือถ้าไป ก็เหมือนแทบจะกราบกรานเพื่อขอรับการรักษา เช่นเดียวกันกับการไปรับบริการจากรัฐ เพราะข้าราชการส่วนใหญ่คิดว่าตัวเองเป็นเจ้านายประชาชน จนกระทั่งรัฐบาลทักษิณเข้ามา

พ่อของเด็กน้อยเล่าอีกว่า เพิ่งเข้าใจคำว่า “ประชาธิปไตยกินได้” ก็ตอนช่วงนี้ ตลอดชีวิตที่ผ่านมาไม่เคยเข้าใจ แม้ตัวเองจะเป็นข้าราชการแต่ก็เป็นลูกหลานชาวนาชาวไร่จึงทำให้เมื่อเกิดความขัดแย้งทางการเมือง พ่อจึงเลือกอยู่ฝั่งคนรากหญ้าอย่าง “คนเสื้อแดง”

แต่ก่อนจะไปถึงยุคคนเสื้อแดง เด็กน้อยจำได้ว่ามี “เสื้อเหลือง” เกิดขึ้นก่อน ตอนนั้นนำโดยแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยออกมาชูป้าย get out ขับไล่ทักษิณ ชินวัตร ตอนนั้นแม้เด็กน้อยจะเริ่มรู้ความ แต่ก็ยังไม่เข้าใจอะไรนัก รู้ตัวอีกทีก็เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ปฏิวัติ” (ซึ่งจริง ๆ ควรเรียกว่า รัฐประหาร มากกว่า) ในวันที่ 19 กันยายน 2549 เวลา 3 ทุ่มกว่า แล้วอีกวันก็ได้หยุดเรียนแบบงง ๆ เด็กน้อยไม่ได้คิดอะไร ออกจะดีใจด้วยซ้ำ เพราะได้วันหยุดมา 1 วัน และพวกเสื้อเหลืองก็หยุดชุมนุมไป

หลังจากขึ้นมัธยมต้น ก็เป็นธรรมดาที่ต้องคิดถึงอนาคตว่าอยากเรียนหรืออยากทำอาชีพอะไร เป็นคำถามทั่วไปอยู่แล้วที่เด็กทุกคนต้องเจอ “โตขึ้นอยากเป็นอะไรลูก?” เด็กน้อยอยากเป็นผู้พิพากษา เพราะได้ยินมาว่าเงินเดือนเป็นแสนเลย ถึงตอนนั้นจะไม่รู้ว่าเงินแสนมันมากขนาดไหน แต่ก็รู้อยู่ในความรู้สึกว่า “อาชีพนี้รวย”

ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่ต่อเนื่องมา หลังรัฐประหารผ่านไปหลายเดือน ก็เกิดการรวมตัวต่อต้านรัฐประหาร และรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 เกิดเป็นกลุ่ม นปก. หรือภายหลังที่เราคุ้นหูกันในชื่อ นปช. ตอนแรก ๆ ก็ใส่เสื้อเหลืองเหมือนกัน แต่ตอนหลังมีแคมเปญแดงทั้งแผ่นดิน ให้ทุกคนใส่เสื้อแดง นับแต่นั้นจึงเกิดเป็น “คนเสื้อแดง”

หลังจากนั้นก็มีการเลือกตั้ง ผลคือพรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้ง สมัคร สุนทรเวช ได้เป็นนายกรัฐมนตรี และตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก ม็อบเสื้อเหลืองก็ออกมาเคลื่อนไหวขับไล่อีก มีการติดรูปในหลวงไว้บนโล่ เริ่มมีข้อกล่าวหา “ล้มเจ้า” หนาแน่นมากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นข้อกล่าวหาแบบอารมณ์ท่าไม้ตาย ถ้าภาษาวัยรุ่นหน่อยก็คือ “เปิดอัลติ”

เด็กน้อยจำได้ว่าแม้แต่ในห้องเรียนก็มีการถกเถียงกันกับเพื่อน ๆ เรื่องทักษิณโกง ไม่จงรักภักดี ซื้อเสียง คนรากหญ้าโง่ ก็แล้วแต่ว่าพ่อแม่ใครเป็นเสื้อเหลือง หรือเสื้อแดง พอดีว่าพ่อเด็กน้อยเชียร์เสื้อแดง ก็เลยได้เถียงกับเพื่อนอยู่บ้าง ประมาณว่า “ยึดอำนาจมันผิด เค้าชนะการเลือกตั้งมา แล้วตั้งคนที่เป็นศัตรูมาตัดสินคดี มันไม่แฟร์” ตอนนั้นเพื่อนอายุเท่า ๆ กันไม่มีใครเข้าใจ ก็ทักษิณมันโกง (แต่รัฐประหารไม่โกงนะจ๊ะ ฮา)

เด็กน้อยเริ่มเป็นวัยรุ่น มีฟงมีแฟนไปตามภาษา เล่นกีฬาบ้าง อ่านการ์ตูนบ้าง ตอนนั้นรู้จักคำว่า “งูเห่า” เป็นครั้งแรก เกิดการเปลี่ยนขั้ว ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร ประเทศไทยได้นายกคนใหม่ชื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลังเหตุการณ์ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคพลังประชาชน ซึ่งทับซ้อนกับช่วงที่พันธมิตรยึด 2 สนามบิน แล้วถ้าจำไม่ผิด การยึดทำเนียบเป็นเวลาหลายเดือนก็เกิดขึ้นช่วงนี้

ระหว่างนั้นวัยรุ่นก็ไปรู้จักธุรกิจเครือข่าย อัพไลน์ ดาวไลน์ ขายตรง ก็ไปอิน ทำอยู่ช่วงหนึ่ง ถูกทำให้คิดว่าเราจะรวยแบบมหาเศรษฐีได้ สุดท้ายก็โดนไปหลายพันบาทเหมือนกัน เพ้อได้อยู่สักพักก็ไปไม่รอด ตอนนั้นก็เริ่มค้นหาตัวเองจริงจังขึ้นเรื่อย ๆ อยากประสบความสำเร็จ อยากทำอะไรสักอย่างได้ดี แล้วก็จะได้รวย ๆ มีเงินมาดูแลครอบครัว อยากทำบ้านใหม่ให้พวกเขา

หลังจากเปลี่ยนรัฐบาล ก็เกิดการประท้วงใหญ่ของคนเสื้อแดง ที่ตั้งคำถามเรื่องความ 2 มาตรฐานของศาลของรัฐไทย เรียกร้องให้เกิดการยุบสภา เลือกตั้งใหม่ วาทกรรม คนเสื้อแดงโง่โดนจ้างมาชุมนุม พรรคทักษิณซื้อเสียง เผด็จการรัฐสภา ดังก้องไปทั่วสังคม รวมถึงข้อกล่าวที่ทรงพลังมาก ๆ คือ “ล้มเจ้า”

การชุมนุมตึงเครียดขึ้นเรื่อย ๆ มีการแถลงการณ์จากรัฐและกองทัพถึง “แผนผังล้มเจ้า” ออกทีวี เพื่อเปิดทางสู่ “ใบอนุญาตฆ่า”

จุดเริ่มต้นของการล้อมสังหารคนเสื้อแดง คือการสังหารเสธ.แดงกลางวงนักข่าวอย่างอุกอาจโหดเหี้ยม สถานการณ์เริ่มโกลาหล ชุลมุน มีคนเสื้อแดง ประชาชน รวมถึงอาสาพยาบาล ถูกฆ่าด้วยอาวุธประจำกายทหารมากขึ้นเรื่อย ๆ มีหน่วยทหารขึ้นไปตั้งป้อมบนรางรถไฟฟ้า BTS ยิงเข้าไปที่วัดปทุมฯ

ตอนนั้นวัยรุ่นก็ช็อกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าทำไมการชุมนุมของคนเสื้อแดงถึงถูกปราบปรามอย่างรุนแรง จนเรียกได้ว่าเป็นการล้อมฆ่าใจกลางเมืองหลวง

ด้วยความคับแค้นใจเธอจึงได้ไปโพสต์ในเว็บบอร์ด Dek D หลายโพสต์ ภาพคนเสื้อแดงที่โดนฆ่า เลือด และอาวุธสงครามของทหาร พร้อมข้อความ “ทหารฆ่าประชาชน”

เหตุการณ์ครั้งนั้นจบลงด้วยภาพควันที่พวยพุ่งทั่วเมืองหลวง ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ไฟไหม้ พร้อม ๆ วาทกรรมใหม่ “เผาบ้านเผาเมือง” “ก่อการร้าย” และ “ชายชุดดำ”

จากนั้นต่อด้วยกิจกรรมของผู้ว่าฯ กทม. ในสมัยนั้น ที่ชวนดาราและประชาชนทั่วไปออกมาล้างเลือด เศษชิ้นเนื้อ มันสมองของคนเสื้อแดงและประชาชนที่ตายกลางถนนของเมืองหลวงแห่งนี้ หลักฐานทั้งหมดถูกล้างออกไปด้วยเวลาอันรวดเร็ว แล้วหลังจากนั้นเมืองหลวงก็กลับมาปกติ ทุกคนสามารถไปทำงานและช็อปปิงกันได้อีกครั้งอย่างหน้าตาเฉย…

เรียกได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่อำมหิตที่สุดในชีวิตของวัยรุ่นแล้ว หลังจากนั้นคำถามก็พรั่งพรูเข้ามามากมาย มีการตั้งคำถามถึงสถาบันฯ ถึงกองทัพ ถึงรัฐบาลอภิสิทธิ์ ณ ขณะนั้น

เวลาผ่านไปวัยรุ่นได้รู้จักกับหนังสือ “ความมืดกลางแสงแดด” ของ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ โดยบังเอิญ ซึ่งในตอนแรกคิดว่าเป็นนิยายอะไรสักอย่าง แต่อ่านไปเรื่อย ๆ มันเป็นเรื่องราวของคนที่โดนคดี 112 เด็กน้อยร้องไห้โฮออกมาหลายต่อหลายครั้งระหว่างอ่านหนังสือเล่มนี้ ที่อบอวลไปด้วยคำถามว่า “ทำไม” “ทำไม” “ทำไม” “ทำไมแค่ตั้งคำถาม จึงต้องโดนกระทำอย่างทุกข์ทรมานถึงขนาดนี้?”

เสรีภาพไม่มีอยู่จริงในประเทศนี้ มีเพียงมาตรา 112 ที่เป็นจริง

“เธอตาสว่างทางการเมือง”

วัยรุ่นเติบโตมากับรายการต่าง ๆ ของ Voice TV ที่พาไปรู้จักประวัติศาสตร์ ไปรู้จักสากลโลก นอกจากนั้นก็เริ่มติดตามอ่านสเตตัสของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ในเฟซบุ๊กจริงจังมากขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มรู้จักหนังสือจากสำนักพิมพ์อ่าน และฟ้าเดียวกัน รวมถึงรายการบนอินเทอร์เน็ตอย่าง “เจาะข่าวตื้น”

และทีวีสาธารณะอย่าง Thai PBS ก็เป็นอีกหนึ่งสื่อที่สร้างประวัติศาสตร์ผ่านการดีเบตออกรายการ “ตอบโจทย์” ที่มีการถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นสถาบันฯ และมาตรา 112 โดยเฉพาะตอนที่สมศักดิ์ โต้เถียงกันกับ ส. ศิวรักษ์ ทุกวันนี้รายการดังกล่าวยังคงตราตรึงอยู่ในใจของเธอ

เมื่อเราอ่านมาถึงตรงนี้ เราน่าจะพอเข้าใจได้ว่าเธอคนนี้อยู่ฝ่ายประชาธิปไตย ฝ่ายคนส่วนใหญ่มาตลอดตั้งแต่เริ่มรู้ความ แต่ระหว่างเหตุการณ์ทั้งหมดนั้น เธอก็ยังคงต้องเรียน ม.ปลาย แต่เหมือนว่าจะเจอแล้ว ว่าอยากเรียนต่อมหา’ลัยด้านใดดี

“ศิลปะ” คือสิ่งที่เธอสนใจ และมีพรสวรรค์มาตลอดตั้งแต่เด็ก แต่ถ้าอยากจะเข้ามหา’ลัยศิลปะอย่าง “ศิลปากร” ก็ไม่ต่างจากเด็กคนอื่น ๆ ที่อยากจะเรียนในสายต่าง ๆ นั่นคือ “ต้องกวดวิชา”

ซึ่งในกรณีนี้คือ “วิชาศิลปะ” ต้องฝึกวาดรูปจริงจังขึ้น เพื่อที่จะสอบตรงให้ติด กิจวัตรประจำทุกสัปดาห์ก็คือการตื่นเช้าตี 5 เพื่อนั่งรถตู้จากต่างจังหวัด ไป กทม. เพื่อติววาดรูปและนั่งรถตู้กลับมาเคารพธงชาติเช้าวันจันทร์ ทำแบบนี้อยู่ตลอด 2-3 ปี ปิดเทอมก็ไปเช่าหออยู่กิน เรียนวาดรูปที่ กทม. ตลอด จนสุดท้ายเธอก็ทำสำเร็จ สอบติดคณะมัณฑนศิลป์ มหา’ลัยศิลปากร…

แต่มันก็มีคำถามในใจเธอมาตั้งแต่เด็ก ๆ ว่าทำไมมีที่เดียวในประเทศนี้ที่ดูเจริญที่สุด มีทุกสิ่งทุกอย่าง มีโรงเรียนดี ๆ มีโรงพยาบาลดี ๆ มีมหา’ลัยดี ๆ กระจุกตัวอยู่แค่ที่นี่ ตั้งแต่เด็กจนโต ทุกครั้งที่มีคนใกล้ตัว หรือคนในครอบครัวเจ็บป่วย ถ้าอยากเพิ่มโอกาสในการรักษาหาย ก็ต้องเข้าไปที่ กทม. ตอนนี้เธอเองก็เช่นกัน ต้องเข้าไปที่ กทม. เพื่อตามความฝัน…

หลังการล้อมฆ่าเสื้อแดง รัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ พรรคเพื่อไทยมาแทนที่พรรคพลังประชาชนที่ถูกยุบไป และ “ชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง” ถ้าตามทฤษฎีของฝั่งเสื้อเหลืองก็คือ คนส่วนใหญ่โง่ โดนซื้อเสียง ใช้นโยบายประชานิยม รับใช้ระบอบทักษิณ…

แต่ถ้าเราเชื่อว่าคนเท่ากัน เราจะเคารพการตัดสินใจในการใช้สิทธิของทุกคน ไม่ว่าพวกเขาเหล่านั้นจะมีเหตุผลอย่างไรก็ตาม แต่ก็นั่นแหละ พวกเสื้อเหลืองไม่ได้เชื่อว่าคนเท่ากันอยู่แล้ว และถ้าจะโทษเราต้องโทษนักการเมืองที่เป็นคนเริ่มซื้อสิทธิของประชาชนรึเปล่า?

ตัดภาพไปที่การเริ่มต้นชีวิตในมหา’ลัย ไม่มีใครบอกวัยรุ่นมาก่อนว่าต้องมาเจอกับการรับน้อง การซ่อม และระบบโซตัสในมหา’ลัย มีตั้งแต่การตะคอก บังคับโกนผม การให้อดน้ำ การเหยียดหยาม บูลลี่รูปลักษณ์ เหยียดเพศ ทำให้อับอาย มีการคุกคามทางเพศ มีการเรียกไปซ่อมแยก ไปว้ากที่ตึกศิลป์ 3 กลางดึก

สั่งให้วิ่ง ลุกนั่ง มีการไปค้างมหา’ลัย 3 วัน โดยที่ไม่ยอมให้นักศึกษาหญิง อาบน้ำเกิน 3 ขัน หลายคนเป็นประจำเดือน แต่ไม่สามารถเปลี่ยนผ้าอนามัยได้ แถมโดนรุมด่าว่าเป็นกะหรี่อีก ตอนออกจากห้องน้ำนักศึกษาชายโดน รุ่นพี่กะเทยแทะโลม แต๊ะอั๋ง และยืนตั้งแถวล้อมหลังจากออกจากห้องน้ำ

ตลอด 1-2 เดือน เจอรุ่นพี่ที่ไหนต้องก้มหน้า มีคนเกือบเกิดอุบัติเหตุเพราะเรื่องโง่ ๆ แบบนี้ มีคนต้องเข้าโรงพยาบาล มีคนต้องลาออกจากคณะไป…

มีเหตุการณ์ระหว่าง 3 วันนครปฐม เพื่อนคนนึงของเธอถูกรุ่นพี่กะเทยเข้าไปล่วงละเมิดทางเพศ แต๊ะอั๋งกลางดึก เธอกับเพื่อนต้องลุกไปเรียกคนข้างนอกมาช่วย…

สิ่งที่น่าเศร้าคือพอขึ้นปี 2 เพื่อนคนนั้นก็ไปเป็นพี่ว้าก…

ท่ามกลางเหตุการณ์ระยำ ๆ ในมหา’ลัยศิลปะอันดับต้น ๆ ของประเทศ บนท้องถนนในกรุงเทพฯ ก็กำลังเกิดม็อบคัดค้าน พ.ร.บ. นิรโทษกรรมเหมาเข่ง ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ดันเข้าสภา เป็นจุดระเบิดของม็อบนกหวีด ที่นำโดยสุเทพ เทือกสุบรรณ ตอนนั้นแม้แต่เสื้อแดงหลายคนก็รับไม่ได้ แล้วออกมาต่อต้าน พ.ร.บ. ฉบับนี้ด้วยเหตุผลว่า “รัฐบาลเพื่อไทย จะทรยศพี่น้องคนเสื้อแดง 90 กว่าศพที่โดนล้อมฆ่าเมื่อปี 2553 โดยการนิรโทษกรรมทหาร นายทหาร รัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีตอนนั้นที่มีส่วนรับผิดชอบต่อการสังหารหมู่ครั้งนั้นหรือ?” แม้แต่เธอที่เติบโตมากับพรรคไทยรักไทย, พลังประชาชน จนมาถึงเพื่อไทย ก็ไม่สามารถรับเรื่องนี้ได้

สุดท้ายการชุมนุมก็ไปถึงจุดสูงสุดนั่นคือ นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ต้องยอมถอย และประกาศยุบสภาในที่สุด แต่ม็อบนกหวีดไม่หยุดการชุมนุมและเรียกร้อง “การปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” เรียกร้องให้ยิ่งลักษณ์ลาออกจากรักษาการนายกรัฐมนตรี และบุกขัดขวางการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 หลายจุดทั้งใน กทม. และในบางจังหวัดในภาคใต้ ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญรับลูกออกมาตัดสินให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ สร้างเงื่อนไขนำไปสู่การรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

แม้ตอนแรกเธออาจจะอินไปกับการรับน้อง ไปกับการรวมรุ่น และกดดันให้เพื่อนทุกคนทำตามที่รุ่นพี่สั่งอย่างเชื่อง ๆ แต่สุดท้ายคำถามในใจทำให้สามารถเชื่อมโยงระหว่างภาพใหญ่ กับภาพในมหา’ลัยได้ ว่ามันเป็นเรื่องของ “อำนาจนิยม” เป็นเรื่องของ “การทำให้คนเชื่อง และสยบยอมต่ออำนาจ”

เธอเริ่มตั้งถามในวงสนทนากับเพื่อน เรื่อง การรับน้องและระบบโซตัส จนนำไปสู่การผิดใจกันกับทุกคน จนต้องถอยห่างจากกันไป ทั้ง ๆ ที่เป็นเพื่อนที่ร่วมติวศิลปะกันมาตลอด 2-3 ปี ตอน ม.ปลาย สุดท้ายเธอก็ตัดสินใจซิ่วไปคณะจิตรกรรม

แต่ข่าวลือที่ว่า รับน้องของจิตรกรรมไม่เบาเลย ก็ได้ประจักษ์แก่นักศึกษาซิ่วคนนี้ ต้องใช้คำว่า “เลวระยำ” และ “อุบาทว์” กับกิจกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้น ไล่ไปตั้งแต่การบังคับตัดผมสั้นเกรียน ไปถึงการว้าก การบังคับแก้ผ้าแล้วเดินต่อแถวขึ้นตึก การตะโกนพร้อมกันว่า “ผมเป็นของเล่นของรุ่นพี่ครับ” การให้เอากางเกงในไปขยำรวมกัน แล้วว้าก ๆ ให้ใส่ให้เร็วที่สุดโดยไม่ต้องสนใจว่ากางเกงในที่หยิบได้เป็นของใคร บังคับให้ชักว่าวให้เพื่อน เตะขา กระชากเสื้อจนกระดุมหลุดหมด…

 เข้าแถว เตะ ว้าก ทำวนไปแบบนี้เป็นเดือน ๆ พีคที่สุดคืออาจารย์คนนึงที่อยู่ภาพพิมพ์ ก็เอากับเค้าด้วย มาเล่นละครกับพี่ว้าก ขู่ตัดรุ่น เพราะอาจารย์เองก็จบจากที่นี่เช่นกัน และนี่น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่อาจารย์ทั้งคณะนิ่งดูดาย หรือหลายคนก็เอนเอียงไปทางสนับสนุนด้วยซ้ำเพราะตนเองก็น่าจะเจอระบบนี้มาไม่มากก็น้อยเหมือนกัน

ถ้าว่ากันตามกฎหมายมันผิดหลายคดีมาก ทั้งบังคับขืนใจ กระทำอนาจาร กักขังหน่วงเหนี่ยว ทำร้ายร่างกาย ฯลฯ

ทุกอย่างทรมาน เหนื่อย และไร้สาระสุด ๆ อย่างเดียวที่เกิดขึ้นจากการกระทำทั้งหมดนี้คือ “ความเชื่อง” ของนักศึกษาใหม่

เธอต้องฝืนทน และแอบคุยเพื่อเปลี่ยนใจเพื่อนอยู่ตลอด จนจบกิจกรรมมีการเฉลย ว่าทั้งหมดเป็นละคร แต่เราก็ขัดแย้งอยู่ในใจว่าต่อให้พูดแบบนั้น ตอนโดนเตะก็โดนเตะจริง โดนกระชากกระตุกก็หลุดจริง และจิตใจก็หดหู่เสียใจจริง ๆ

พวกพี่ว้ากมันบอกว่า “ที่ทำไปเพราะอยากให้เรารักกัน”

แต่เปล่าเลย ทุกอย่างเหมือนเดิมแม้ว่าจะผ่านเรื่องนี้มาด้วยกัน เมื่อเธอตั้งคำถามต่อระบบนี้ เธอก็โดนเพื่อนเกลียดอยู่ดี… และเพื่อน ๆ ทุกคนก็เชื่องกับรุ่นพี่ อาจารย์ ไปจนถึงอธิการบดี และระบบมหา’ลัยทั้งหมด

สรุปแล้วระบบโซตัสคือรากฐานของสังคมนี้ ที่ปลูกฝังให้ยอมจำนนและไม่ตั้งคำถามต่ออำนาจและความอยุติธรรม สิ่งนี้มีแทบทุกมหา’ลัยในประเทศ และมีมานานหลายสิบปี

“เพราะว่าขนาดรุ่นพี่มันให้ทำอะไรทุเรศ ๆ ระยำ ๆ ขนาดนี้ เรายังยอมทนได้ ไม่มีอะไรอีกแล้วในประเทศนี้ที่เรายอมทนไม่ได้ รัฐเผด็จการก็ยอมทนได้ บริษัทกดค่าแรง ให้ทำงานเกินเวลาก็ยอมทนได้ เจ้าสัวนายทุน คน 1% เอาทุกสิ่งทุกอย่างจากคน 99% ไป ก็ยอมทนได้”

เมื่อสบโอกาส เธอได้มีส่วนร่วมในการทำลายล้างโซตัสในคณะมัณฑศิลป์ และโค่นล้มโซตัสในคณะจิตรกรรมได้สำเร็จ โดยการไปออกทีวีช่อง 3 เป็นเพื่อนนักศึกษาใหม่ เพื่อยืนยันว่าเรื่องเลวระยำพวกนี้เกิดขึ้นจริง และเกิดขึ้นมานานแล้ว

จนโดนขับไล่ออกจากคณะ โดนรุมบูลลี่ต่าง ๆ นานา โดนหาว่า “เผาบ้าน”

จริง ๆ เธอไม่ใช่คนเผาบ้าน แต่เป็นคนออกไปตะโกนบอกทุกคนว่าบ้านหลังนี้กำลังไฟไหม้ต่างหาก…

สิ่งที่พีคที่สุดในชีวิตมหา’ลัยของเธอ คือการโดนศิลปินแห่งชาติอย่าง เฉลิมชัย ขู่ซ่อม ขู่กระทืบ บังเอิญแกมาให้โอวาทปีนั้นพอดี แล้วก็พูดว่า “กูก็เจอแบบมึง แต่ที่กูไม่ทำแบบพวกมึง เพราะกูมีจิตสำนึกไง” และบอกว่า “ทำไมไม่คุยกันข้างในก่อน” และอีกหลายคำพูด แต่ไม่มีคำพูดไหน ต่อว่ารุ่นพี่ที่เป็นคนทำร้ายคนอื่น หรือด่าทอ ระบบโซตัสระยำ ๆ ที่ทำร้ายนักศึกษาใหม่เลย…

เพจ Anti Sotus ก็นำคำพูดของเฉลิมชัยไปเผยแพร่ โชคดีที่ตอนนั้นสังคมส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งต่อระบบที่รุนแรงและกิจกรรมอนาจารเหล่านี้ มีคนรุมด่าศิลปินแห่งชาติ เป็นดราม่าใหญ่โต จนสุดท้ายแกต้องเขียนจดหมาย 9 แผ่น ขอโทษ และชื่นชมความกล้าหาญของ 4 นักศึกษาที่ไปออกรายการกับคุณไก่ช่อง 3

เธออโหสิกรรมให้ศิลปินแห่งชาติ

หลังจากเหตุการณ์ที่ถูกหลาย ๆ คนรุมประณาม เธออดทนเรียนจนจบ โซตัสในทั้งสองคณะดังกล่าวก็เบาบางลงมากพร้อม ๆ กับประชาธิปไตยในสังคมที่เบ่งบานขึ้นเรื่อย ๆ มีการเลือกตั้งในปี 62 เกิดพรรคการเมืองรุ่นใหม่อย่างพรรค “อนาคตใหม่”

เธอโตเป็นผู้ใหญ่วัยทำงานแล้ว และได้ไปโลดแล่นเป็นพนักงานออฟฟิศ ตัดต่อวิดีโอ ทำหลายสิ่งหลายอย่าง เปลี่ยนงาน 2-3 ครั้ง และเธอก็อยากเป็นเจ้าของกิจการ เจ้าของบริษัท เพราะเธออยากรวย แม้ว่าเธอจะเป็นฝ่ายประชาธิปไตยมาตลอด แต่เธอไม่เคยคิดถึงประชาธิปไตยที่นอกเหนือการเมืองเลย

จนกระทั่งเพื่อนคนนึงมาแนะนำให้รู้จักกับคำว่า

 “ประชาธิปไตยในที่ทำงาน”

คำนี้เปลี่ยนชีวิตและทัศนคติทางการเมืองเศรษฐกิจของเธอไปตลอดกาล

เธอเชื่อมโยงการเมืองภาพใหญ่ ความเหลื่อมล้ำ ความเผด็จการ และการผูกขาดอำนาจ เข้ามาเปรียบเทียบกับเรื่องที่เกิดขึ้นในที่ทำงาน

หลายครั้งเธอรู้ว่าต้องทำงานอย่างไร แต่เธอไม่มีอำนาจตัดสินใจ เพราะอำนาจอยู่ที่หัวหน้าหรือเจ้าของบริษัท แต่หลายครั้งคนที่มีอำนาจก็ไม่ได้มีความรู้แต่คิดว่าตนเองรู้ แล้วก็สั่งให้ทำไปแบบผิด ๆ เธอก็คิดในใจว่าแบบนี้เผด็จการรึเปล่า?

หลายครั้งเธอรู้ว่าผลงานที่เธอผลิตออกมานั้นชิ้นละเป็น 100,000  และเดือนนึงเธอผลิตได้ตั้ง 2-3 ชิ้น แต่เธอกลับได้เงินเดือนแค่ 20,000 บาท เธอก็คิดในใจว่าทำไมเธอไม่มีสิทธิร่วมกำหนดเงินเดือน? แบบนี้เผด็จการรึเปล่า?

และตอนโควิดเริ่มต้นระบาด เธอโดนเลิกจ้าง โดยที่สงสัยว่าใครเป็นคนตัดสินใจเรื่องนี้ ทำไมเธอจึงไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจนี้เลย ทั้ง ๆ ที่มันกระทบชีวิตของเธอเต็ม ๆ แบบนี้เผด็จการรึเปล่า?

เธอตาสว่างทางเศรษฐกิจ

และเมื่อโอกาสมาถึงเธอจึงร่วมเปิดกิจการในรูปแบบที่มีประชาธิปไตยในที่ทำงานแบบ 100% กับเพื่อน ๆ ผลิตสื่อที่ทำให้การเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ เป็นเรื่องสนุกและเข้าใจง่าย (ในบทความต่อ ๆ ไปจะมาเล่าเรื่อง ประชาธิปไตยในที่ทำงานแบบเต็ม ๆ และประสบการณ์การทำธุรกิจในรูปแบบ Workers Co-operative ว่ามันแก้ปัญหาต่าง ๆ เพิ่มประชาธิปไตย ความเท่าเทียม และรายได้ที่เป็นธรรม ให้กับคนทำงานได้ยังไงบ้าง?)

“ถ้าประชาธิปไตยมันดี ทำไมเราไม่นำมาใช้ในที่ทำงานด้วยล่ะ?”

เมื่อเธอได้ลิ้มรสประชาธิปไตยในที่ทำงาน เรียนรู้เรื่องราวการต่อสู้ได้มาซึ่ง สิทธิ สวัสดิการ และค่าแรงที่เป็นธรรมของขบวนการแรงงานในหลายประเทศ และระหว่างนั้นขบวนการประชาธิปไตยช่วงปี 2563 ก็เบ่งบาน เกิดกระแสการต่อสู้อย่างล้นหลามทะลุเพดาน อย่างที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดเรียกร้องอย่าง “การปฏิรูปสถาบันฯ”

เธอตัดสินใจออกไปปราศรัยขายไอเดียเรื่องขบวนการแรงงาน สหภาพแรงงาน และประชาธิปไตยในที่ทำงาน

จนในที่สุดเธอก็ได้เข้าไปเป็นส่วนนึงของขบวนการแรงงานฝ่ายประชาธิปไตย เข้าร่วมการต่อสู้กับขบวนการประชาธิปไตย

และร่วมกับทุกคนผลักดันเรื่องการสร้างองค์กรการต่อสู้ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม จนเกิดเป็น “สหภาพคนทำงาน”

และเสนออาวุธพิฆาตเผด็จการอย่าง “General Strike” หรือการประท้วงหยุดงานทั้งเมือง หรือทั้งประเทศ

หลังจากร่วมกันกับเพื่อนสมาชิกสหภาพคนทำงานต่อสู้มาตลอดเกือบ 2 ปี ปัจจุบันสหภาพคนทำงานมีสมาชิกถึง 2,300 คนและกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อเดินทางสู่การโค่นเผด็จการ หยุดวงจรอุบาทว์ของการรัฐประหาร ร่วมสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม เพื่อชีวิตที่ดีกว่าของคน 99%

เธอพยายามสร้างสมดุลระหว่างงานหาเลี้ยงชีพ งานการเมืองและความสัมพันธ์ในครอบครัว

ต้องขอบคุณประชาธิปไตยในที่ทำงานที่ทำให้เธอต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยได้ดีขึ้น

ต้องขอบคุณประชาธิปไตยในที่ทำงานที่ทำให้เธอมีกำลังซื้อบ้านเป็นของตัวเองได้เร็วขึ้น

ต้องขอบคุณประชาธิปไตยในที่ทำงานที่ทำให้เธอเข้าใจว่าคนเราต้องเท่ากันมากยิ่งขึ้นในทางเศรษฐกิจด้วย ทุกคนจึงจะมีความสุขได้

โดยรวมเธอมีความสุขกับชีวิต เพราะปัจจัยพื้นฐานสำคัญ 2 อย่างคือ

1. รัฐสวัสดิการแค่สำหรับข้าราชการ (ที่พ่อแม่เธอได้รับ) ที่ทำให้เธอไม่ต้องห่วงเรื่องค่ากินค่าอยู่ของพ่อกับแม่ เพราะทั้ง 2 คนจะมีบำนาญกินไปจนตาย และเธอต่อสู้เพราะฝันว่าจะเปลี่ยนรัฐสวัสดิการแค่สำหรับข้าราชการเป็นรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับประชาชนทุกคน

2.ประชาธิปไตยในที่ทำงาน ทำให้เธอมีเงินเดือนมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำประมาณ 4-5 เท่า ทำงาน 3-4 วันต่ออาทิตย์ มีวันลาพักร้อน 20-30 วันต่อปี และเธอต่อสู้เพราะฝันว่าจะขยายการสร้างประชาธิปไตยในที่ทำงาน เพื่อชีวิตที่ดีกว่าของเพื่อนคนทำงานทุกคน

แต่โดยรวมแล้ว เธอก็ยังเป็นทุกข์เพราะความจริง ประเทศนี้ยังเป็นรัฐเผด็จการ เป็นหนึ่งในประเทศที่เหลื่อมล้ำที่สุดในโลก เป็นประเทศที่ค่าแรงขั้นต่ำ ไม่ขึ้นมาเกือบ 10 ปี แต่ค่าครองชีพแพงขึ้นเรื่อย ๆ เป็นประเทศที่มีคนอีกเกือบครึ่งประเทศที่เงินเดือนไม่ถึงหมื่น เป็นประเทศที่การศึกษาที่ดีและมีคุณภาพไม่ใช่สิทธิของทุกคน นักเรียนต้องเป็นหนี้หากต้องการเข้าถึงการศึกษา เป็นประเทศที่ขังคนเพราะตั้งคำถาม อุ้มฆ่าคนเพราะความคิด เป็นประเทศที่คนไม่กี่คนถือครองที่ดินเป็นล้านไร่ ในขณะที่คนส่วนใหญ่ไม่มีที่ดิน และไม่มีบ้าน เป็นประเทศที่คน 1% ถือครองทรัพย์สิน 66% คนส่วนใหญ่ คน 66 ล้านกว่าคนไม่สามารถมีความสุขได้เต็มที่ถ้ายังไม่มีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า และประชาธิปไตยในที่ทำงาน

เรื่องราวประสบการณ์ทั้งหมดนี้ทำให้เธอเรียนรู้และยืนยันได้ว่า ความเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่าเกิดขึ้นได้ด้วยการต่อสู้ และเธออยากจะชวนคนอ่านทุกคนมาช่วยกันต่อสู้เพื่อ ความฝัน ความสุข และความจริงที่ดีกว่าของสังคมเรา

Thailand Talks พื้นที่พูดคุยสำหรับคนแปลกหน้าที่มีความเห็นแตกต่างกัน

เปิดลงทะเบียนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม – 14 กันยายน 2565