'จาก 220 จะต้องเสีย 537 บาท' ลูกไก่ในกำมือทุนผูกขาดคลื่นความถี่? - Decode
Reading Time: 3 minutes

การลดลงของผู้เล่นในตลาดโทรคมนาคมซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่และควรมีผู้ประกอบการแข่งขันกันอย่างเสรีและเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นดีล TRUE-DTAC และ ดีล AIS-3BB ย่อมส่งผลต่อภาพรวมของอุตสาหกรรม และส่งผลโดยตรงถึงผู้บริโภคที่สภาองค์กรของผู้บริโภค ประมาณการณ์ว่าผู้บริโภคจะต้องจ่ายค่าบริการแพงขึ้นถึง 120%

De/code ถอดรหัสดีลควบรวมตั้งต้นจากงานเสวนาวิชาการ “ชะตากรรมผู้บริโภค กับยุคผูกขาดคลื่นความถี่” เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ที่ผ่านมา หลังการประกาศรวมกิจการในลักษณะบริษัทร่วมลงทุน ระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ‘ทรู’ กับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ‘ดีแทค’ 

เรายกหูพูดคุยกับ สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่ออธิบายชัด ๆ ถึงผลกระทบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของผู้บริโภค หากเกิดการควบรวมกิจการในธุรกิจโทรคมนาคม ซึ่งถือเป็นวาระระดับชาติที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวมในยุคดิจิทัลของประเทศไทย

ประวัติศาตร์กำลังซ้ำ ประวัติศาสตร์กลับไม่เปลี่ยน?

“หาก 220 บาท คือค่าเฉลี่ยของค่าโทรศัพท์ที่คนไทยต้องจ่าย ค่าโทรศัพท์ของคุณจะเพิ่มขึ้นหลังมีการควบรวมประมาณ 5 % กลายเป็น 231 บาท อย่างไรก็ตาม ถ้า 2 เจ้าที่เหลือฮั้วกัน แบ่งพื้นที่ให้บริการ และไม่แข่งขันกันเลย ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคจะกระโดดไปอยู่ที่ประมาณ 244.5% ฉะนั้นจาก 220 คุณจะต้องเสียค่าโทรศัพท์กว่า 537 บาท และถ้ารวม 80 ล้านเลขหมายใน 1 ปี ความเสียหายที่เลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดขึ้นต่อผู้บริโภคจะอยู่ที่ 305,000 ล้านบาท เลยทีเดียว”

สารี อ๋องสมหวัง สรุปผลกระทบ คำนวณเป็นตัวเลขให้เราฟังนอกรอบ

หากย้อนดูรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในมาตรา 40 ได้บัญญัติให้ ‘คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และวิทยุโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติ’ โดยรัฐมีหน้าที่ต้องจัดสรรทรัพยากรดังกล่าวเพื่อประโยชน์สาธารณะ เพื่อให้เป็นประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติและระดับท้องถิ่น รวมไปถึงต้องมีองค์กรอิสระของรัฐมาทำหน้าที่กำกับดูแล และส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม

ผู้มีหน้าที่ดังกล่าวได้เข้ามามีบทบาทในยุคเปลี่ยนผ่านระบบโทรคมนาคม จากระบบสัมปทาน สู่ระบบใบอนุญาตในกิจการโทรคมนาคมที่ให้อิสระในการทำธุรกิจของภาคเอกชนมากขึ้น ก็คือ กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.

อย่างไรก็ตาม สุภิญญา กลางณรงค์ อนุกรรมการด้านการสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค กลับมองว่า ในวันนี้คนไทยทั้งประเทศได้กลับมารวมตัวกันอีกครั้ง เพราะปัญหาคาราคาซังเดิม ที่นอกจากจะไม่มีคู่แข่งรายใหม่ ในธุรกิจโทรคมนาคมไทยแล้ว ส่อแววว่า ธุรกิจนี้อาจมีคู่แข่งน้อยลงไปอีกในอนาคตอันใกล้

“มันจะกลายสภาพจากการผูกขาดน้อยราย สู่การผูกขาดสองราย แล้วจะทำให้ผู้บริโภคถูกมัดมือชกเป็นลูกไก่ในกำมือ แล้วก็ไม่สามารถที่จะมีอำนาจต่อรองได้”

สุภิญญา กล่าวถึงความกังวล กรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคม ทั้งที่เป็นข่าวล่าสุดอย่างกรณีระหว่างทรู และดีแทค และที่เป็นข่าวมาก่อนหน้านี้อย่างกรณีระหว่าง AIS และ 3BB ที่หากประกอบรวมกันสำเร็จ ก็จะเป็น ฝันร้ายของเหล่าผู้บริโภค อย่างชัดเจน ซึ่งเวทีเสวนาวิชาการกึ่งแถลงข่าวในครั้งนี้ ก็ถือเป็นการแสดงจุดยืนร่วมครั้งยิ่งใหญ่ เพื่อเรียกร้องให้ กสทช. รัฐบาล และสังคมไทยจับตาดูเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

“เรื่องนี้ไม่ใช่จะผลักภาระให้แต่ กสทช. แต่ว่ารัฐบาลเองจะต้องมีท่าที มีจุดยืนในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นภาคนิติบัญญัติก็ดี ฝ่ายบริหารก็ดี และพรรคการเมืองอื่นก็ดี ก็ควรจะช่วยกันแสดงจุดยืนในการที่จะยับยั้งปัญหา ไม่ให้ผู้บริโภคต้องมีชะตากรรมที่เป็นลูกไก่ในกำมือ แล้วระบบเศรษฐกิจดิจิทัลที่เราวาดหวังในยุค 5G หรือ metaverse มันอาจไม่เป็นอย่างที่ฝัน เพราะว่ามันตกอยู่ในสภาวะของการผูกขาดแบบสมบูรณ์ก็ได้”

เมื่อดีลควบรวมกลายเป็นของหวาน

ทุนใหญ่ต้องการควบรวมเสมอ อาจเป็นข้อสรุปที่ไม่เกินจริงนัก โดยเฉพาะอย่างในช่วงเวลาที่สถานการณ์เศรษฐกิจโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 PUB จึงได้ออกมาไล่เรียงลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในเวทีนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมในสังคมด้วยเช่นกัน

หลายคนอาจเข้าใจว่า การควบรวมนี้เป็นการควบรวมจาก 3 ค่ายยักษ์ใหญ่ ให้เหลือเพียง 2 ทว่าในความเป็นจริง สิ่งที่เกิดขึ้นคือการควบรวมจาก 4 ราย เหลือ 3 ราย โดยรายที่ 4 คือ NT ที่มีส่วนแบ่งตลาดเพียง 2.8 % เท่านั้น ซึ่งแปลว่าเมื่อควบรวมกันแล้วนั้น จะมีรายใหญ่ที่แข่งขันกันจริง ๆ เพียงแค่ 2 ราย นั่นก็คือ AIS เจ้าตลาดเดิม และทรูดีแทคที่รวมกัน

ฉัตร ยังอธิบายต่อไปว่า เดิมทีตลาดมือถือเป็นตลาดที่ ‘ผูกขาดโดยธรรมชาติ’ เพราะต้องการการลงทุนสูง และหากมีการควบรวมเกิดขึ้น ก็จะยิ่งทำให้การกระจุกตัวสูงยิ่งขึ้นไปอีก โดยตลอดเวลาที่ผ่านมา ค่าโทรศัพท์มือถือในประเทศไทยนั้นลดต่ำลงเรื่อยมา ซึ่งคงยกความดีความชอบให้กับใครไม่ได้เลยนอกจาก ‘การแข่งขันในตลาด’ โดย ฉัตรย้ำว่า ราคาย่อมลดลงเร็วกว่าต้นทุนเสมอ

“เมื่อประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ก็จะสามารถให้บริการด้วยต้นทุนที่ต่ำลง และนำไปสู่ค่าบริการที่ถูกลง แต่ว่าด้วยการแข่งขันที่มันหายไป ต้นทุนเขาอาจจะต่ำลงจริง แต่ว่าไม่ได้แปลว่า เขาจะต้องให้ราคาพวกเราต่ำลงก็ได้”

นอกจากนี้คุณฉัตรยังอธิบายต่ออีกว่า หาก กสทช.สั่งห้ามการถือครองกิจการครั้งนี้ ก็ถือเป็น ยาแรง อย่างหนึ่งเพราะขัดกับสิทธิเสรีภาพในการดำเนินธุรกิจเต็ม ๆ อย่างไรก็ตาม หน้าที่ของ กสทช.ก็ยังครอบคลุมไปถึงการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและสวัสดิภาพของผู้บริโภคด้วย ซึ่งการตัดสินใจในครั้งนี้ ก็เป็นสิ่งที่ กสทช.ต้องชั่งน้ำหนักอย่างถี่ถ้วน 

“สิ่งที่ดีที่สุดที่ กสทช.ควรทำ ก็คือการไม่อนุญาตให้เกิดการควบรวมนะครับ แต่ถ้าเกิดจำเป็น ถ้าเกิดบอกว่ายังไงก็ต้องปล่อยให้ควบรวม แล้วต้องกำหนดมาตรการเฉพาะเนี่ย ผมคิดว่าจำเป็นต้องใช้มาตรการเชิงโครงสร้างเข้ามาช่วย”

มาตรการเชิงโครงสร้าง ในที่นี้ หมายถึง การสั่งขายกิจการ ซึ่งคำว่าในกรณีนี้คือการ ขายคลื่นบางส่วน หรือเสาสัญญาณที่มีอยู่เกินให้กับรายใหม่ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดมีผู้เเข่งขันที่สามารถมาสร้างแรงกดดันทางการแข่งขัน และสามารถทำให้ผู้บริโภคไม่เสียประโยชน์ได้

ฉัตรทิ้งท้ายว่า ภารกิจที่ กสทช.ทำได้และควรทำมานาน คือ การทวงคืนคลื่นสัญญาณ หากในตอนแรก กสทช.ได้ถูกสร้างขึ้นมา เพื่อจัดระเบียบช่วงเปลี่ยนผ่านเป็นระบบใบอนุญาตใบเดียว ทว่าในตอนนี้ยังคงมีคลื่นอยู่ที่ทหารจำนวนมาก ทั้งใช้ประโยชน์บ้าง และไม่ใช้ประโยชน์บ้าง นอกจากนี้คงเป็นการดีหาก กสทช.จะสามารถเปิดเผยรายงานต่าง ๆ ให้สาธารณชนช่วยตรวจสอบได้อีกด้วย

ทรานฟอร์ม ไม่จำเป็นต้อง ‘ควบรวม’

ผศ.ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะอนุกรรมการที่กสทช.แต่งตั้งเพื่อดูแลเรื่องการควบรวมดีลทรูและดีแทคในครั้งนี้ กล่าวว่า หากพิจารณาจากแบบจำลองดุลยภาพทั่วไป เพื่อหาว่าการเปลี่ยนแปลงของราคากิจการโทรคมนาคมซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยการผลิตของกิจการในประเทศไทยส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมอย่างไรบ้าง จะพบว่า ทุก ๆ  10 % ของราคากิจการโทรคมนาคมที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ GDP ลดลง ประมาณ 16,000 ล้านบาท เลยทีเดียว

ผศ.ดร.พรเทพ ยังได้พูดถึงข้อถกเถียงอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น เรื่อง ราคาแพ็คเกจ ที่ไม่ได้ถ่วงน้ำหนักจำนวนคนใช้ การจำกัดทางเลือกของผู้บริโภค หรือ ประเด็นการ ครอบคลุมการให้บริการ ที่หากการแข่งขันน้อยลงแล้ว อาจทำให้การขยายโครงข่ายไม่สามารถครอบคลุมไปถึงพื้นที่ห่างไกลได้ ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง

นอกจากนี้ประเด็นเรื่อง การควบรวมเพื่อให้เกิดนวัตกรรม ที่มักถูกกล่าวอ้างขึ้นมาก็ได้ถูกพูดถึงเช่นกัน โดย ผศ.ดร.พรเทพ กล่าวว่า สิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องควบรวมก็สามารถทำได้เลย

“เขาจะต้องทรานส์ฟอร์มตัวเองเป็นเทคคอมพานี สิ่งเหล่านี้เขาสามารถทำได้เลย โดยที่ไม่จำเป็นต้องมารวมโครงสร้างพื้นฐานกัน”

จ่ายแพง = ต้นทุนทางเศรษฐกิจพุ่ง ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจเป็นคำตอบ

วรภพ วิริยะโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อจากพรรคก้าวไกล ก็ได้เสริมในประเด็นนี้เพิ่มเติมว่า ค่าโทรศัพท์มือถือหรืออินเทอร์เน็ตที่แพงขึ้น ล้วนเป็นต้นทุนที่สูงขึ้นในระบบเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ยังเป็นการฉุดรั้งการพัฒนาศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในการแข่งขันกับเศรษฐกิจโลกอีกด้วย

“ดังนั้นข้ออ้างที่เขาบอกว่าการทำให้มีผู้บริการรายใหญ่แล้วจะทำให้เราแข่งขันในโลก 4.0 ได้มากขึ้น เพราะเป็นบริษัทเทคมากขึ้น อันนี้เป็นเหตุผลที่ไม่จริงนะครับ ธุรกิจเฟซบุ๊กก็ไม่ได้หมายความว่าเขาต้องมีเสามือถือ ธุรกิจกูเกิลก็ไม่ได้หมายความว่าเขาต้องมาเป็นผู้ประกอบการมือถือ ตอนนั้นเนี่ยมันคนละธุรกิจกันแล้ว”

โดยเหตุผลที่ว่าทำไมเราควรคัดค้านการอนุญาตให้มีการควบรวมครั้งนี้ในมุมมองของคุณวรภพนั้น ก็เพื่อทำให้มั่นใจว่า จะยังมีการแข่งขันอยู่ในภาคธุรกิจ และผู้บริโภคได้ประโยชน์สูงสุด อย่างที่ควรจะเป็นต่อไป หากอดีตได้สอนเราไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า ยิ่งการแข่งขันของภาคธุรกิจมากขึ้นเท่าไหร่ ผู้บริโภคก็ยิ่งได้ประโยชน์มากขึ้นเท่านั้น  ไม่ว่าจะเป็นโปรลับ โปรย้ายค่ายในธุรกิจโทรคมนาคม หรือแม้กระทั่งอินเทอร์เน็ต ที่ยิ่งมีผู้บริการรายใหม่เกิดขึ้น การแข่งขันมากขึ้น คุณภาพการบริการก็จะดีขึ้น ในขณะที่ค่าบริการลดลง

“นี่เป็นหลักการทั่วไปอยู่แล้วว่า การแข่งขันมาพร้อมกับประโยชน์ของผู้บริโภคนะครับ ซึ่งก็เลยเป็นหลักการที่ว่า ยังไม่มีประเทศไหนในโลกที่อนุญาติให้มีการควบรวมกิจการของผู้เล่นโทรคมนาคมจากสามรายเหลือสองราย โดยเฉพาะการที่ทำให้ผู้เล่นเหลือเพียงแค่รายใหญ่สองรายที่มีส่วนแบ่งตลาดห้าสิบเปอร์เซ็นต์ทั้งคู่”

นอกจากนี้วรภพยังกล่าวอีกว่า หากรัฐให้ไฟเขียวให้มีการควบรวมในลักษณะนี้ ก็จะเป็นการเปิดทางให้กับธุรกิจอื่น ๆ ในอนาคตต่อไป แม้หน้าที่ดูเหมือนจะหลงลืมไปหลายรอบของรัฐ คือ การปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภคก็ตามที

ด้าน เมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย ระบุอย่างชัดเจนว่า ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจเป็นคำตอบที่สำคัญที่จะสร้างประชาธิปไตยทางการเมืองได้ ซึ่งหากพิจารณาจากประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัยที่ผ่านมาจะพบว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยปล่อยให้ทุนผูกขาดทำธุรกิจการเมืองกับฝ่ายการเมืองมาอย่างยาวนาน ทำให้มีการผูกขาดคลื่นความถี่มามากกว่ายี่สิบปีแล้ว

“จริง ๆ แล้วมันอาจจะเลวร้ายมากกว่าที่เราคิดเมื่อเราถูกกลุ่มทุนผูกขาดคลื่นความถี่นะครับ มันกำหนดอนาคตเงินในกระเป๋าเราทุกเดือน แล้วอนาคตก็จะกำหนดวิถีชีวิตจากการครอบงำข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ผ่านคอนเทนต์อีกมากมาย”

โดยเมธามองว่า ปัญหานี้เป็นปัญหาทางโครงสร้างทางกฎหมายของประเทศไทย และของรัฐบาลไทยที่เอื้ออำนวยให้เกิดระบบเศรษฐกิจผูกขาดขึ้นมา จนประเทศไทยวิ่งขึ้นอันดับหนึ่งด้านความเหลื่อมล้ำของโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

“การปล่อยให้ทุนธุรกิจโทรคมนาคมผูกขาดบริการ และผูกขาดโครงสร้างพื้นฐาน เท่ากับการผูกขาดทรัพยากรในประเทศนี้” เมธา ว่า

ก่อนเสริมว่า ไม่ควรมีการปล่อยให้ทุนได้มีอำนาจเหนือตลาดเกิน 25% ด้วยซ้ำไป พร้อมยกตัวอย่างกรณีค้าปลีกในประเทศเยอรมนี ที่มีธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่คือ รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 24.9 % และขอควบรวมกับไคเซอร์ที่มีส่วนแบ่งตลาดเพียง 1.1% รวมเป็น 26% ก็ยังไม่สามารถทำได้ เพราะรัฐบาลกลัวว่าจะกระทบกับผู้บริโภค ทว่าเมื่อหันกลับมามองรัฐบาลไทย กลับพบว่า ก่อนหน้านี้ได้มีกรณีที่ซีพีควบรวมกับเทสโก้โลตัส ที่เดิมก็มีส่วนแบ่งการตลาดมากอยู่แล้ว ก็ได้มีส่วนแบ่งใหม่อยู่ที่ 80% เลยทีเดียว 

“ผมหวังว่า กสทช.จะต้องมีอำนาจเต็มเปี่ยม และเข้ามาดูแลเรื่องนี้ อย่าปล่อยให้มีการควบรวมหรือว่าผูกขาดอีก”

และประเด็นสุดท้ายที่สำคัญไม่แพ้กัน นั่นก็คือ การเติบโตของยุคดิจิตอลที่เข้ามามีบทบาทในประเทศไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งในส่วนนี้ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า มองว่า เราทุกคนต่างไม่สามารถหลีกหนีการเข้ามาของดิจิทัลอีโคโนมี หรือเศรษฐกิจดิจิตอลได้ ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม 

ธนาธร ระบุหากมองย้อนกลับไปเมื่อสามถึงสี่ปีก่อน จะพบว่า มีการทยอยปิดธนาคารลงเรื่อยมาเพราไม่มีใครทำธุรกรรมทางการเงินที่ธนาคารอีกต่อไป ภาคอุตสาหกรรมก็ได้มีการใช้หุ่นยนต์คุยกับเครื่องจักรมาบริหารจัดการความเรียบร้อยในองค์กรมากขึ้น ในด้านการแพทย์ก็มีการพูดถึงเทคโนโลยีเทเลเมดิซีน หรือ แพทย์ทางไกล เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ในด้านของการเกษตร ก็มีการพูดถึง การเกษตรแม่นยำสูง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการเกษตรสูงที่สุด ซึ่งสิ่งต่าง ๆ อนาคตต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ใช้เดต้าทั้งนั้น

“เยาวชนของพวกเรากำลังเติบโตมาด้วยวิธีการเข้าถึงการศึกษาที่ดีที่สุดเหล่านี้ คุณไม่ได้สอนเขาแต่บอกวิธีให้เข้าไปกระตุ้นเรียนรู้ด้วยตัวเอง และช่องทางการเรียนรู้ที่ดีที่สุดก็อยู่บน ‘อินเทอร์เน็ต’ นี่คือช่องทางการเข้าถึงความรู้ของคนรุ่นใหม่ ดังนั้นดิจิทัลอีโคโนมีในอนาคตมันตั้งอยู่บนพื้นฐานที่สำคัญมากก็คือ ความเร็ว ราคา และเสถียรภาพของโทรคมนาคม นี่คือหัวใจของเศรษฐกิจแห่งอนาคต”

และปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยตอนนี้คือ ประเทศไทยจะสามารถรักษาความเร็วราคาแล้วก็เสถียรภาพได้อย่างไรหากไม่มีการแข่งขัน 

ดังนั้นวิธีที่จะเสี่ยงน้อยที่สุดสำหรับผู้บริโภคในมุมมองของคุณธนาธรก็เหมือนกันกับคนอื่น ๆ กล่าวคือ การไม่ให้ควบรวมตั้งแต่แรก พร้อมทิ้งหนึ่งโจทย์ไว้ว่า ประเทศไทยแบบไหนกันที่เราอยากเห็น 

เราอยากเห็นทุนนิยมที่คนที่ร่ำรวยในประเทศนี้ร่ำรวยได้เพราะการผูกขาด และการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ ด้วยการเอารัดเอาเปรียบคนจน

หรืออยากเห็นประเทศไทยที่ระบบเศรษฐกิจมีการแข่งขัน มีการเจริญเติบโต มีนวัตกรรม ที่ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศถูกกระจายอย่างเท่าเทียม และเป็นธรรม 

และการตัดสินใจของ กสทช.ที่เป็นเหมือนตัวแทนของผู้บริโภคในครั้งนี้ก็เป็นตัวกำหนดอนาคตที่สำคัญ เพราะนั่นคือคำตอบว่า เราได้เลือกประเทศไทยแบบไหนกันแน่