สันติภาพไม่ได้อยู่แค่บนโต๊ะเจรจา - Decode
Reading Time: < 1 minute

ขยายประเด็น

นวลน้อย ธรรมเสถียร

ในหมู่คนทำงานในภาคประชาสังคมชายแดนใต้ เริ่มมีผู้ตั้งคำถามมากขึ้นและอย่างจริงจังว่ากระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่นั้นมีพื้นที่ให้กับประเด็นของภาคประชาชนมากน้อยเพียงใด

กระบวนการสันติภาพของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ระหว่างรัฐบาลและกลุ่มบีอาร์เอ็นที่อยู่ในขั้นของการพูดคุยสันติภาพหรือ peace dialogue นั้นทำท่าเหมือนกับว่ากำลังจะย่างเข้าสู่วาระของการหารือในสาระสำคัญกันได้ เชื่อกันว่าการสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันหรือ confident building นั้นไปได้สวย โดยเฉพาะช่วงเดือนถือศีลอดที่ผ่านมาที่ต่างฝ่ายต่างลดความรุนแรงโดยสมัครใจ หลังสุดสองฝ่ายกำหนดหัวข้อใหญ่เอาไว้เรียบร้อยว่านอกจากเรื่องลดความรุนแรงแล้ว จะขยับไปคุยเรื่องการหารือสาธารณะเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และจะกำหนดกลไกในเรื่องใหญ่อีกเรื่องคือการแสวงหาทางออกทางการเมือง แม้ว่ากระบวนการจะขับเคลื่อนอย่างช้า ๆ แต่สิ่งนี้ก็ทำให้ดูว่ามีความหวังอยู่บ้างว่ากระบวนการยังอยู่ประกอบกับการที่ทั้งสองฝ่ายต่างมีลีลาในการทำงานการเมืองมากขึ้นทำให้เห็นว่ากระบวนการพูดคุยก็จุดความริเริ่มด้านอื่นได้ เช่น การที่ต่างฝ่ายต่างยืนยันเสมอมาว่าจะยึดเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง กลุ่มบีอาร์เอ็นพูดก่อนหน้านี้ว่า พวกเขามองว่ากลุ่มคนพุทธในพื้นที่ก็เป็นประชาชนที่พวกเขาจะต้องดูแลเช่นกัน การแสดงความเห็นเช่นนี้เปิดพื้นที่ความสัมพันธ์ใหม่และอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราได้เห็นกลุ่มคนพุทธยื่นข้อเสนอให้ต่อยอดการลดความรุนแรงด้วยการขยายผลรอมฎอนสันติเป็นเข้าพรรษาสันติ

ในส่วนของมลายูมุสลิม ก็มีกลุ่มคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ที่พยายามจัดเวทีเสวนาเพื่อติดตามกระบวนการสันติภาพมาตั้งแต่ก่อนช่วงโควิดระบาด เนื่องจากเป็นที่รู้กันว่าเพดานในการแสดงออกทางการเมืองในบางระดับนั้นค่อนข้างต่ำ สิ่งที่พวกเขาทำจึงกลายเป็นความพยายามยกระดับเพดานนี้ให้สูงขึ้นโดยอัตโนมัติ จะเรียกว่าเสรีภาพในการแสดงออกอันนี้เกิดขึ้นได้โดยอาศัยร่มเงาของคำว่ากระบวนการสันติภาพก็อาจจะไม่ผิดนัก

แต่การแสดงออกเหล่านี้ ถึงที่สุดแล้วก็ยังเป็นเพียงของคนบางกลุ่มเท่านั้น กล่าวได้ว่าคนจำนวนมากยังไม่มีโอกาสได้แสดงออก แม้ว่าในส่วนของเจ้าหน้าที่จะมีกลไกที่พยายามรวบรวมความคิดเห็นของภาคประชาชน แต่อาจจะพูดได้ว่ากลไกของพวกเขายังไม่ได้รับการยอมรับอย่างเต็มที่จากทุกฝ่าย อย่างน้อยที่สุดคนทำงานด้านสิทธิหลายคนในภาคประชาสังคมสามจังหวัดภาคใต้ก็ท้วงติงหลายครั้งว่าพวกเขาไม่มีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญในกลไกดังกล่าว จึงเข้าใจได้ว่า สิ่งที่ผู้คนคาดหวังว่าพวกเขาจะได้มีส่วนร่วมก็คือในขั้นตอนที่เรียกกันว่าการหารือสาธารณะหรือ public consultation ซึ่งเป็นขั้นตอนถัดไปในกระบวนการที่ทั้งสองฝ่ายจะดำเนินการ แต่ปรากฏการณ์ทั้งจากโต๊ะพูดคุยและจากนอกเวทีในเวลานี้ส่งสัญญาณที่กระทบต่อความคาดหวังอันนี้

อย่างแรกคืออาการส่อเค้าว่าการพูดคุยสันติภาพไม่ค่อยมีความคืบหน้า

คณะพูดคุยสองฝ่ายนั้นพบปะกันแบบเต็มคณะหนหลังสุดเมื่อ 1-2 สิงหาคมที่ผ่านมา ถ้าจะอ่านสถานการณ์โดยดูจากเนื้อหาของการแถลงข่าวเพียงอย่างเดียวโดยที่ไม่อิงข้อมูลวงในใด ๆ เราก็จะพบว่า ในการแถลงข่าวของฝ่ายไทย คณะพูดคุยฝ่ายไทยสรุปว่าเรื่องหลักที่คุยกันคือเรื่องการลดความรุนแรง และแม้ว่าจะใช้ถ้อยคำที่ฟังดูดีเพียงใดก็ตามเราก็จะเห็นได้ว่ายังไม่มีอะไรที่จับต้องได้นอกจากว่าทั้งสองฝ่ายต่างมีข้อเสนอเรื่องมาตรการที่จะทำร่วมกันเพื่อลดความรุนแรง มีหลายเรื่องที่ทั้งคู่เห็นตรงกันแต่ก็มีที่เห็นไม่ตรงกันด้วย เมื่อถามรายละเอียดก็ได้รับการขยายความว่า เรื่องที่เห็นตรงกันเป็นเรื่องเทคนิคเสียเป็นส่วนใหญ่ จากถ้อยแถลงของทีมคุยฝ่ายรัฐบาลทั้งคู่จะใช้เวลาสองเดือนเพื่อปรับข้อเสนอให้สอดคล้องกันและจัดวางกลไกร่วม เวลาสองเดือนนี้ก็จะกินช่วงเวลาของเดือนเข้าพรรษาอันเป็นช่วงเวลาที่กลุ่มคนพุทธในพื้นที่เสนอไปว่าขอให้เป็นเวลาของเข้าพรรษาสันตินั่นเอง

ในขณะที่ฝ่ายไทยนำเสนอเช่นนี้ ในการแถลงข่าวของกลุ่มบีอาร์เอ็น พวกเขากลับให้ความสำคัญกับเรื่องให้การคุ้มครองสมาชิกกลุ่มในช่วงของการลงพื้นที่เพื่อหารือสาธารณะหรือรับฟังความคิดเห็นของประชาชน กับอีกประเด็นหนึ่งเป็นเรื่องที่บีอาร์เอ็นพูดมานานแล้ว นั่นก็คือต้องการให้มีการลงนามในเอกสารสำหรับสิ่งที่ตกลงกันได้ในแต่ละครั้ง ซึ่งเรื่องนี้ พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายไทยยืนยันกับสื่อมวลชนก่อนหน้านี้แล้วว่า ไทยจะไม่ลงนามใด ๆ จนกว่าจะทำความตกลงกันได้อย่างรอบด้านเสียก่อน 

นักข่าวอาวุโสที่ติดตามการพูดคุยมานานอย่าง อัศโตรา ชาบัต ชี้ว่าเรื่องการไม่ลงนามของฝ่ายไทยเป็นเรื่องที่เกิดต่อเนื่องมาตั้งแต่ในการพูดคุยก่อนหน้ายุค คสช.และเป็นประเด็นเรื่อยมา อาการเช่นนี้อธิบายความคับข้องใจของคนในฝ่ายขบวนการที่มีกับโต๊ะพูดคุย เนื่องจากสิ่งที่ตกลงกันได้กลายเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ อัศโตราให้ความเห็นว่า ถึงที่สุดแล้ว เชื่อว่าทั้งสองฝ่ายยังจะต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยในการสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน “พวกเขายังไม่พร้อม” เขาว่า ในขณะที่อีกด้านก็มีรายงานว่า สถานการณ์ความรุนแรง เหตุปะทะปิดล้อมที่ผ่านมาก็ทำให้วงในของบีอาร์เอ็นมีคำถามกันเองอย่างมาก จะด้วยปัญหาภายในนี้หรือไม่ที่ทำให้ในการประชุมร่วมหนล่าสุด มีรายงานว่าบรรยากาศต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง คณะผู้แทนกลุ่มบีอาร์เอ็นดูจะมีความเครียดอย่างชัดเจน

หันกลับไปมองในพื้นที่ การสมัครใจการลดปฏิบัติการทางทหารในช่วงเดือนรอมฎอนแม้ไม่อาจระงับความรุนแรงได้อย่างเบ็ดเสร็จ แต่ก็ทำให้ช่วงเดือนถือศีลอดค่อนข้างสงบเมื่อเทียบกับปีอื่น ๆ ทว่าพอคล้อยหลังช่วงเวลาที่ตกลงกันเท่านั้น มาตรการต่าง ๆ ก็กลับคืนสู่สภาพเดิมทันที บรรดาป้ายไวนิลติดภาพบุคคลและหมายจับกลับคืนสู่ด่านต่าง ๆ เช่นเดียวกับปฎิบัติการปิดล้อม ปะทะ และการวิสามัญฆาตกรรม มันเพิ่มตัวเลขของคนที่ถูกวิสามัญฆาตกรรมในช่วงสามปีให้สูงถึง 65 ราย หลายรายเกิดขึ้นในห้วงเวลาที่ภาคใต้ก็เดือดร้อนจากสถานการณ์การระบาดของโควิดหนักไม่แพ้ที่อื่น ภาพเช่นนี้อย่างน้อยมันบอกเราถึงการทำงานที่แยกส่วนกันชัดเจนระหว่างฝ่ายคุมกำลังและฝ่ายที่ทำงานเพื่อสันติภาพ

การวิสามัญฆาตกรรมเป็นสิ่งที่หลายคนเชื่อว่าไม่ได้มีผลบวกต่อการคลี่คลายความขัดแย้ง มีข้อสงสัยกันเรื่อยมาว่าในการวิสามัญฯ นั้นเจ้าหน้าที่พบกับสถานการณ์สุดวิสัยจริงหรือไม่เพียงใด ในขณะที่หลายคนอาจจะเชื่อมั่นว่านี่คือความยุติธรรมแบบติดจรวด แต่ความยุติธรรมนอกระบบเช่นนี้เองที่กัดกร่อนความเชื่อมั่นต่อความยุติธรรมในระบบให้หมดลงไปเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเมื่อผลการไต่สวนการตายของกรณีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายใต้การควบคุมหรือการทำงานของเจ้าหน้าที่ออกมาโดยไม่ให้ความกระจ่างใด ๆ เพิ่มเติมและน้อยครั้งอย่างยิ่งที่เจ้าหน้าที่จะต้องรับผิดชอบ  จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะได้เห็นภาพผู้คนจำนวนมากที่เข้าร่วมพิธีแห่ศพที่จัดกันอย่างเปิดเผย เป็นภาพที่ปรากฏมากขึ้นเรื่อย ๆ และในสายตาของหลายคนที่อยู่ในพื้นที่มันคือปรากฏการณ์ที่จะสานต่อความรุนแรงอย่างแน่นอน นอกจากนั้นในการปะทะ ปิดล้อมและวิสามัญฯ ในแต่ละครั้งมักลงเอยด้วยภาพชาวบ้านทุ่มเถียงเจ้าหน้าที่ ในขณะที่อีกด้านก็มีรายงานว่ามีการควบคุมตัวผู้คนเพิ่มเติมเพื่อเอาไปสอบปากคำตามกฎหมายพิเศษ การสอบปากคำเช่นนี้ก็เป็นอีกหนึ่งในขั้นตอนที่สร้างข้อกังขาเรื่อยมาและทำให้ต้องมีการติดตามจับตากันอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุที่หาสาเหตุไม่ได้ สิ่งเหล่านี้มาพร้อมกับคำว่าการบังคับใช้กฎหมายที่ยังผลให้เกิดความตึงเครียดในพื้นที่ นับว่าค่อนข้างจะสวนทางกับความรับรู้ที่ว่าเรากำลังมีกระบวนการสันติภาพกันอยู่

สิ่งที่ทำให้หลายคนกังวลก็เพราะเห็นได้ว่า กระบวนการสันติภาพนี้ยังคงอยู่ในวงจำกัดและมีนัยอย่างแคบ ในขณะที่เราเรียนรู้กันว่าสันติภาพที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีปรับสิ่งแวดล้อมให้เอื้ออำนวย เพราะความขัดแย้งเป็นผลพวงจากสิ่งแวดล้อมที่ดำรงอยู่ ดังนั้นจะสร้างสันติภาพก็ต้องสร้างเงื่อนไขสิ่งแวดล้อมใหม่ แม้การเจรจาต่อรองของคู่ความขัดแย้งอาจจะส่งผลยุติความรุนแรงได้ แต่หากไม่ปรับเงื่อนไขความขัดแย้งปล่อยให้ยังดำรงอยู่ต่อไป การยุติความรุนแรงนั้นก็คงเป็นเพียงเรื่องชั่วคราวและระหว่างกลุ่มพวกเขาเท่านั้น ยังไม่ต้องพูดถึงว่าความน่าเชื่อถือของกระบวนการสันติภาพในสายตาของประชาชนกลับจะยิ่งลดลง

ปรากฏการณ์อีกประการหนึ่งที่ส่งผลลบต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการสันติภาพ ก็คือเรื่องของการปิดพื้นที่ในการแสดงออก ทั้งนี้จากกรณีที่มูฮำหมัดอาลาดี เด็งนิ ประธานสมัชชาภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพหรือ CAP กับนายฮาซัน ยามาดีบุ เลขาธิการกลุ่ม ถูกคำสั่งที่มองไม่เห็นทำให้ไม่สามารถไปร่วมแสดงความคิดเห็นในเวทีเสวนาต่าง ๆ ได้ พวกเขาค้นพบปรากฏการณ์นี้หลังจากที่มีกลุ่มเยาวชนพยายามจัดงานและเชิญคนทั้งสองเข้าร่วม ผู้จัดงานสามถึงสี่รายที่เตรียมงานต่างกรรมต่างวาระและในพื้นที่ที่แตกต่างกันออกไปพบว่า มีเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ไปแจ้งให้ยกเลิกการจัดงาน หรือไม่ก็ให้เปลี่ยนตัวผู้ที่จะเชิญไปร่วมวงเสวนา บางแห่งได้รับแจ้งว่าหากยังจะจัดต่อไปโดยไม่เปลี่ยนแปลงอาจถูกดำเนินคดี มูฮำหมัดอาลาดีและฮาซันได้ส่งจดหมายร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติหรือ กสม. ในระหว่างนี้พวกเขาได้แต่คุยกับเจ้าหน้าที่หลายคนรวมไปถึงเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูง มูฮำหมัดอาลาดีระบุว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอ้างกับเขาว่า ฝ่ายปกครองไม่มีปัญหาอะไรกับคนทั้งสอง แต่คำสั่งห้ามนั้น “มาจากฝ่ายความมั่นคง” ในขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารในระดับสูงก็ย้ำกับเขาตลอดมาว่าเข้าใจและไม่มีปัญหากับการแสดงออก มีข้อแม้เพียงเรื่องให้ขออนุญาตเท่านั้น รวมความแล้วพวกเขาทั้งสองถูกปิดปากไปโดยไม่รู้ว่าใครออกคำสั่งอย่างไรกันแน่ ด้านนักกฎหมายได้แต่คาดเดาว่าเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษเพราะไม่เช่นนั้นก็ไม่มีกฎหมายอื่นที่ให้อำนาจทำได้

อนึ่ง การอ้างคำสั่งจากฝ่ายความมั่นคงห้ามคนทั้งสองร่วมวงเสวนาเพราะเกรงว่าจะไป “ปลุกระดมใส่ร้ายรัฐบาล” น่าจะเป็นอาการที่เกิดขึ้นหลังจากกรณีที่มีการรวมตัวของเยาวชนกลุ่มใหญ่ในชุดมลายูในช่วงรายอ การรวมตัวของคนรุ่นใหม่ที่เต็มไปด้วยผู้ชาย มีการตะเบ๊ะ มีการปรากฏตัวของธงบีอาร์เอ็นและมีการร่วมกล่าวสัตยาบันว่าจะทำงานเพื่อพื้นที่ ทั้งหมดนี้ทำให้ฝ่ายความมั่นคงต้องตรวจสอบกันจ้าละหวั่นและแน่นอนว่าคนที่ทำงานกับเยาวชนอย่างมูฮำหมัดอาลาดีกับฮาซันเจอผลกระทบเต็มที่

ไม่ว่าคนทั้งสองอาจจะมีความคิดทางการเมืองที่รัฐไม่ชอบใจอย่างไรก็ตาม แต่หากพิจารณากันภายใต้กรอบของกระบวนการสันติภาพ นี่เป็นอีกก้าวหนึ่งของการเปิดใจรับฟังความเห็นต่างเพื่อจะนำไปสู่การหาทางออกทางการเมือง อันเป็นย่างก้าวถัดไปที่คณะพูดคุยทั้งสองฝ่ายต่างวางแผนไว้ว่าจะไปให้ถึงภายในเวลาอันไม่นานนี้ ในพื้นที่นี้ประชาชนมีความเห็นที่หลากหลายต่ออนาคตทางการเมืองของพื้นที่ตนเอง เป็นที่รู้กันว่าคนส่วนหนึ่งสนับสนุนการแยกตัวและต้องการเอกราช อีกส่วนยังต้องการดำรงสถานะปัจจุบันต่อไป แต่ก็มีผู้ที่อยู่ในพื้นที่ตรงกลางมีความเห็นต่างเฉดสีกันไป ไม่ว่าจะมีใครคิดอย่างไรมากน้อยแค่ไหน สิ่งสำคัญอยู่ที่ต้องฟังทุกฝ่ายและไม่กดทับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หากการหาทางออกทางการเมืองให้กับความขัดแย้งนี้ยึดโยงกับฐานของการแสดงออกเฉพาะบางส่วน

กระบวนการสันติภาพจะยั่งยืนหรือไม่ก็คงจะพอมองกันออกได้

ขณะที่ประเด็นร้อนของเวทีสาธารณะในพื้นที่สามจังหวัดใต้ในวันนี้คือเรื่องปัญหาการจัดการทรัพยากรที่ปะทุขึ้นมาหลายเวทีผ่านการดำเนินโครงการต่าง ๆ ในพื้นที่ งานเสวนาที่คนทั้งสองไม่สามารถไปร่วมก็กลายเป็นเวทีที่กล่าวถึงประเด็นเหล่านี้  การปิดปากคนสองคนจึงไม่ได้เป็นเรื่องที่ขีดวงจำกัดไม่ให้มีการแสดงออกเฉพาะประเด็นทางการเมืองเท่านั้น แต่ทว่ามีผลกระทบไปถึงประเด็นอื่น ๆ และที่มีผู้คนอีกเป็นจำนวนมากสนใจ และมันทำให้พวกเขารู้สึกได้ถึงเพดานในการแสดงออกที่ต่ำลงและขยายวง และนั่นยังมาพร้อมกับความไม่เข้าใจว่า สาเหตุของเรื่องนี้เป็นความหวาดวิตกกับการแสดงออกที่แตกต่าง หรือว่าเป็นความหวาดวิตกกับการแสดงออกที่ไม่เป็นคุณกับการผลักดันโครงการกันแน่ ที่สำคัญมันกลายเป็นตัวอย่างที่แสดงชัดเจนว่า การสร้างสันติภาพนั้นจำกัดที่จำกัดวงและประเด็น ในระหว่างนี้ปรากฏการณ์ความรุนแรงก็หวนกลับมาอย่างต่อเนื่อง คล้อยหลังการพูดคุยของบีอาร์เอ็นกับรัฐบาลได้วันเดียว ชาวบ้านโดนสังหารไปอีกสองคน และต่อมาก็มีผู้ไปกราดยิงรถไฟขบวนกรุงเทพฯ-สุไหงโกลก วันที่ 7 สิงหาคม เกิดเหตุจักรยานยนต์บอมที่ตากใบทำให้มีคนตายอีกหนึ่งและเจ็บสอง เป็นต้น

ในขณะที่ความริเริ่มที่จะกำจัดเงื่อนไขที่จะลดความรุนแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการสร้างความเป็นธรรมก็ไม่คืบหน้าและขาดการมองภาพรวม ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้คือเรื่องของการออกกฎหมาย พ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหายและซ้อมทรมานที่ส่อเค้าว่าอาจจะร่วงหรือไม่ก็หมดสภาพจากร่างเดิมที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรไป ร่างกฎหมายนี้วุฒิสมาชิกได้นำไปพิจารณาและมีเค้าว่าจะถูกแก้ไขอย่างหนักไม่ต่ำกว่า 19 มาตราจากทั้งหมดที่มีราวสี่สิบกว่ามาตรา ทั้งยังไม่ชัดว่าจะมีเวลาได้พิจารณาทันหรือไม่ แต่แม้จะทันและผ่านออกมาได้ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าจะถูกเปลี่ยนโฉมไปอย่างมากจนอาจจะไม่มีเขี้ยวเล็บอันใดเหลือ ทั้งหมดนี้เท่ากับส่งสัญญาณว่าการจัดการเพื่อจะลดเงื่อนไขที่สร้างความไม่เป็นธรรมยังคงยืนอยู่ที่เดิม ในขณะที่การจัดตั้งกลไกของรัฐสภาเพื่อจะติดตามกระบวนการสันติภาพตามที่กลุ่มส.ส.ภาคใต้ร่วมกันผลักดันก็ไม่เกิดแม้ว่าภาคประชาสังคมจะทวงถามหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งมันทำให้นักการเมืองที่เป็นตัวแทนประชาชนไม่ได้มีบทบาทในกระบวนการสันติภาพอย่างที่ควรจะเป็น จึงไม่แปลกที่เราเริ่มได้ยินเสียงบ่นว่า เอาเข้าจริงการมีตัวแทนในรัฐสภาก็ทำอะไรไม่ค่อยได้ภายใต้ระบบแบบปัจจุบัน

นั่นหมายความว่า เงื่อนไขสร้างสันติภาพข้างนอกโต๊ะพูดคุยไม่ขยับ ไม่ว่าเรื่องการลดเงื่อนไขที่จะขยายความรุนแรง หรือสร้างเงื่อนไขเพื่อธำรงความเป็นธรรม ดูเหมือนว่ากระบวนการสันติภาพภาคใต้ไม่ใช่แค่คืบหน้าอย่างช้า ๆ แต่ยังอยู่ในบริบทที่จำกัดวงชนิดที่คนทำงานภาคประชาสังคมหลายคนตั้งคำถามในวันนี้ว่า

ประชาชนอยู่ตรงไหนในกระบวนการสันติภาพนี้

Thailand Talks พื้นที่พูดคุยสำหรับคนแปลกหน้าที่มีความเห็นแตกต่างกัน

เปิดลงทะเบียนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม – 14 กันยายน 2565