เพลงรัตติกาลในอินเดีย เสียงเรียกระหว่างการเดินทาง คือ อินเดียที่สุดแล้ว - Decode
Reading Time: 2 minutes

จุมพิตยามค่ำคืนของอินเดีย ที่ทำเอาคนอ่านตาค้างขออ่านให้จบ เพราะการเดินทางตามหาเพื่อนชาวโปรตุเกสที่ชื่อ ซาเวียร์ ต้องใช้ความคิดไขปริศนาระหว่างทางในทุกหน้า เป็นการตามหาเพื่อนที่ซับซ้อนเต็มไปด้วยข้อมูล และด้วยความเป็นวรรณกรรมแปลที่ซ้อนทับอยู่กับสถานที่ที่มีอยู่จริงในอินเดีย ยิ่งท้าทายต่อมความอยากรู้เข้าไปกันใหญ่ บางช่วงอ่านไปก็สับสนว่า นี่เป็นความฝัน ความจริง หรือ เรื่องแต่งกันแน่ 

ระหว่างทางสำคัญกว่าปลายทาง คงไม่ใช่เรื่องเกินจริงสำหรับหนังสือเล่มนี้ จุดเริ่มต้นการเดินทางของตัวละครเอก เปิดฉากด้านสถานการณ์บนรถแท็กซี่  มีชายชาวซิกซ์คุมพวงมาลัย โฉบเฉี่ยว รวดเร็ว รถติด และแตรต้องดัง ระหว่างทางทั้งคู่คุยกันแบบเสียมิได้ ฝ่ายคนขับจัดเต็มด้วยคำโฆษณา ส่วนนักเดินทางของเรานั่งฟังและตอบรับเป็นบางช่วง ไม่รู้ว่าจริง ๆ คนอินเดียชอบคุยกับคนแปลกหน้าทุกคนหรือเปล่า แต่ที่รู้คือคนขับแท็กซี่คนนั้นขายของเก่ง จากโรงแรมที่ปักหมุดเป็นเป้าหมายถูกเชียร์ให้ไปโรงแรมอื่น เชียร์ขายมากไปจนสุดท้ายนักเดินทางของเราต้องเอาตัวรอดด้วยการกระโดดลงจากรถแบบกะทันหัน

ก่อนถูกติติงว่า โรงแรมที่เขาจะไปอยู่ในย่านเสื่อมโทรม มีสินค้าด้อยคุณภาพ และนักท่องเที่ยวที่มาบอมเบย์ครั้งแรกมักหลงทางไปที่นั่น  คนไม่เคยไปอินเดียอย่างเราแทบจินตนาการไม่ออก แต่คังคุไบใน Netflix พออำนวยให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น ถึงจะเสื่อมโทรมก็ต้องไปให้ได้ เพราะชายนักเดินทางไปที่นั่นเพื่อตามหาเบาะแส เขาตามหา วิมาลา สาร์  กับเบาะแสแรก จดหมายที่เธอส่งไปถึงเขา

“พอเขารู้ว่าดิฉันเขียนจดหมายถึงคุณ เขาโกรธมาก”

“แล้วทำไมคุณเขียนจดหมายหาผม”

คำตอบคือ เพราะเธอไปเจอที่อยู่ของเขาในสมุดบันทึกของซาเวียร์ จึงเข้าใจว่าทั้งสองเป็นเพื่อนสนิทกัน นั่นคือจุดเริ่มต้นของการเดินทาง เพื่อล่วงรู้ความเป็นไปในยามรัตติกาลที่อินเดีย อย่างน้อยจากตรงนี้เขาก็ได้รู้ว่าซาเวียร์กำลังป่วย  

อินเดียก็เป็นอย่างนี้

อินเดียมีไว้ให้คนหลงทาง คีย์เวิร์ดที่ถูกพูดถึงในหนังสือเล่มนี้ การตามหาเบาะแสจากห้องสีเขียวอ่อน ติดภาพพิมพ์คล้ายเล่าเรื่องกามสูตรว่ายากแล้ว เบาะแสที่ต้องไปตามต่อที่โรงพยาบาลในบอมเบย์ไม่ได้ยากน้อยกว่า ไม่ชัดเจนว่าโรงพยาบาลบรีช แคนดี้ บนถนนภูลาไบเดไซ ในบอมเบย์ วันนี้เป็นอย่างไร ? แต่ที่แน่ ๆ การไปเยือนของชายนักเดินทางพบว่า หมอน้อยคนไข้เยอะ หมอเฉพาะทางด้านโรคหัวใจที่ร่ำเรียนมาจากยุโรปไม่มีความหมาย เพราะโรคยอดฮิตที่พรากชีวิตคนอินเดียคือ โรคสารพัดที่ไม่เกี่ยวกับหัวใจ ทั้ง ซิฟิลิส วัณโรค เรื้อน ไข้รากสากใหญ่ ติดเชื้อในกระแสเลือด ไข้กาฬหลังแอ่น โรคขาดสารอาหาร และที่ลืมไม่ได้ อหิวาตกโรค อย่าเพิ่งตื่นเต้นไปกับโรคภัยของชาวอินเดียนะคะ เพราะการตามหาซาเวียร์ยังต้องการเบาะแสจากหมอ ว่ากันว่า หมอคนนี้ความจำดีที่สุดในโรงพยาบาล ตรงนี้แหละทำให้นักเดินทางของเราต้องรอนานครึ่งวันเพื่อจะได้พบคุณหมอคนนี้ ท่ามกลางผู้ป่วยล้นเตียง อย่าคาดหวังแฟ้มประวัติคนไข้ที่ค้นหาข้อมูลเพียงปลายนิ้ว วิธีการเดียวของที่นั่นคือ พึ่งความจำของหมอและกระดาษกองโตที่แค่เห็นก็ถอดใจ

ระหว่างเดินลัดเลาะเตียงตามหาเพื่อนรัก หนูกับความร้อนของพัดลมที่ตั้งไว้แบบไร้ไฟฟ้า ดูจะเป็นของที่อยู่คู่กับโรงพยาบาล ในบอมเบย์แรงดันไฟฟ้าตอนกลางคืนต่ำมาก แม้จะมีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่โตรเบย์ ซึ่งอยู่ในระยะที่คนในบอมเบย์มองเห็นปล่องควัน แต่ถึงอย่างนั้นไฟฟ้าที่บอมเบย์ก็ยังไม่เสถียร หนึ่งกะของหมอ ข้ามคืนของชายนักเดินทาง “ไม่มีซาเวียร์ที่นั่น”  

เบาะแสแรกแฝงอยู่ที่นี่ “เมือง” ใน “เมืองอินเดีย”

การตามหาซาเวียร์ ยากพอ ๆ กับงมเข็มในมหาสมุทร นึกภาพประชากรชาวอินเดียที่มีไม่น้อยเหมือนมหาสมุทรอันกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา เชื่อไหม! น้อง ๆ ประชากรอินเดีย คือ ประชากรนกกาที่มักบินมาเป็นคลื่นทะเลสีดำ เชื่อเถอะเพราะขนาดในโรงแรมหรูอย่างทัชมาฮาลยังต้านคลื่นลูกนี้ไม่ไหว มันมักบินมาโฉบน้ำใสสะอาดในสระ ซึ่งเปิดไว้รองรับนักท่องเที่ยว ภาพที่นักเดินทางเล่าไว้ คือ เหมือนเกมส์ไล่กาที่ซ้อนอยู่ระหว่างการค้นหาคำใบ้ของซาเวียร์ ไม่ว่าจะเช้าหรือค่ำ พนักงานในทัชมาฮาลต้องใช้ไม้คริกเกตไล่กา ไม่ให้ปากที่เคยเป็นธุระจัดการซากศพกลับสู่วงจรชีวิตแตะต้องน้ำสะอาด นี่ไม่ใช่แค่ปัญหาของทัชมาฮาลเท่านั้น แต่เป็นปัญหาระดับเทศบาลบอมเบย์ ในบอมเบย์หน่วยงานรัฐต้องจัดหาฝามาครอบอ่างเก็บน้ำประปาขนาดใหญ่ มันป้องกันกาได้ แต่ยังไง ๆ ก็ไม่พ้นหนู และแมลงอื่น ๆ  

ตัดกลับมาที่โรงแรมทัชมาฮาลที่นั่นมีระบบบำบัดน้ำเสียเป็นของตัวเอง  คืนนี้ชายนักเดินทางคงไม่กระหาย การนอนพักที่นั่นจะมีทั้งน้ำสะอาดดื่ม กิน อาบ และมีห้องจำนวนมากที่จัดเตรียมไว้อย่างดี ต้องการสไตล์ไหนเพียงแต่จ่ายเงิน ทุกอย่างจะถูกจัดเตรียมไว้เรียบร้อย กระเป๋าใบเดียวของนักเดินทางก็เช่นกัน ถูกวางไว้ในห้องพักตั้งแต่ตัวเขายังเดินไปไม่ถึง รัตติกาลในทัชมาฮาลหรูหราราวกับทายาทของราชา มื้อค่ำจะเลือกกินเวลาไหนก็ได้เพราะที่นั่นมีร้านอาหารพรั่งพร้อมถึง 4 ร้าน สมกับเป็นที่ที่นักท่องเที่ยวต้องไปเยือน

ในคืนนี้จินโทนิคทำให้นักเดินทางของเราหลุดลอยจากโลกความจริง เดินทางสู่โลกความฝัน เป็นความฝันที่มีความทรงจำถึงวันที่ซาเวียร์ยังอยู่ สำหรับในหมู่เพื่อนสนิท ชายนักเดินทางของเราถูกเรียกว่า โรกซ์ ชื่อนี้มาจากพยางค์แรกของคำว่า Rouxinol เป็นภาษาโปรตุเกส  มีความหมายว่า นกไนติงเกล ยังมีฝันให้ได้ใคร่ครวญอีกยาวสำหรับเรื่องราวของนักเดินทาง แต่สำหรับเราในฐานะผู้อ่าน ขอฝันสั้น ๆ ให้ทัชมาฮาล เท่ากับ อินเดีย

อย่ากลัว หรือสงสัย

จิตวิญญาของอินเดียมีอยู่ในหลายความเชื่อ หลายรูปแบบ หลายแขนง แต่เพราะจากประวัติของซาเวียร์ ที่พัวพันกับชาวกัว ในรัฐกัว ก่อนล้มป่วย ปลายทางของนักเดินทางจึงพุ่งเป้าไปที่นั่น เขาเดินทางไปที่สมาคมเทวญาณวิทยา ตามข้อสงสัยของ วิมาลา สาร์ ซึ่งเธอยืนยันว่าช่วงท้ายก่อนซาเวียร์จะหายไป เธอเห็นจดหมายที่ซาเวียร์ติดต่อกับสมาคมนี้

สำหรับผู้ที่สงสัย เทวญาณมีจุดมุ่งหมายสืบหาต้นกำเนิดของพระเป็นเจ้าและมนุษยชาติ วันสิ้นโลก และชีวิต ด้วยการศึกษาประเด็นเหล่านี้ นักเทวญาณจึงเชื่อว่าจะสามารถอธิบายจุดมุ่งหมายและการกำเนิดของเอกภพได้ เฉพาะคำว่า  เทวญาณ หมายถึง ความรู้เกี่ยวกับพระเป็นเจ้า กลุ่มความเชื่อนี้จึงมุ่งเข้าถึงพระเป็นเจ้าโดยตรง โดยไม่ผ่านการอาศัยคัมภีร์หรือผู้รู้อื่น ๆ เทวญาณเป็นส่วนหนึ่งของลัทธิ ซึ่งให้ความสำคัญกับความรู้หรือปัญญาที่นำไปสู่การหลุดพ้นเฉพาะบุคคล

“ร่างกายมนุษย์เป็นเพียงรูปลักษณ์ภายนอกที่บดบังสภาพแท้จริงของเรา หนาทึบอยู่บนแสงและเงาของเรา”

นั่นเป็นประโยคบอกเล่าของเจ้าถิ่นชาวเทวญาณที่พูดอย่างลอย ๆ เมื่อนักเดินทางไปถึงสมาคมฯ มื้อค่ำเริ่มต้นเพื่อทำให้บทสนทนาไม่เร่งรีบจนเกินไปตามแบบฉบับของวัฒนธรรมอินเดีย

“คุณอ่านหนังสืออะไรก่อนมาอินเดีย” เป็นอีกคำถามที่ชวนสะดุด แต่นั่นอาจกำลังแปลความได้ว่า คุณรู้จักอินเดียแค่ไหน ? ทั้งคู่ใช้เวลาถกเรื่องอินเดียในสายตาคนต่างชาติอยู่นาน เห็นชัดว่ามีหลายอย่างที่มีแต่คนอินเดียเท่านั้นจะเข้าใจ ซึ่งนั่นไม่ได้แปลว่าคนอินเดียสนใจเฉพาะเรื่องอินเดียเท่านั้น ชัดเจนจากชื่อคนดัง ชื่อหนังสือที่กล่าวถึงในบทนี้ อินเดียกำลังสนใจโลกข้างนอกอย่างเงียบ ๆ ตรงข้ามกับโลกข้างนอกที่ยังมีความเข้าใจวัฒนธรรมของชาวภารตะไม่มากพอ

ความใจเย็นและใคร่รู้ของนักเดินทางเป็นผล บทสนทนาเพื่อถกเถียงจบลงตรงที่เขาได้มีโอกาสอ่านจดหมายฉบับสุดท้ายของซาเวียร์ (ซึ่งส่งให้เจ้าถิ่นเป็นการส่วนตัว)

ถึงครูและมิตร สภาพการณ์ในชีวิตของผมไม่เอื้ออำนวยให้ผมได้กลับไปเดินเลียบลำน้ำอัธยาร์อีก ผมกลายเป็นวิหกราตรี ผมขอคิดว่าเป็นความต้องการของโชคชะตา โปรดจดจำผมในแบบที่คุณเคยรู้จัก ลงชื่อ ซ.

จากตรงนี้ยังเป็นแค่เรื่องราวกลางเล่มเท่านั้น การเดินทางของชายที่ต้องการเจอหน้าเพื่อนรักอีกครั้งยังผ่านอีกหลายที่ และ พบผู้คนอีกมาก หักมุมไปมาชวนให้สงสัยว่า ซาเวียร์ มีตัวตนอยู่จริง ๆ หรือไม่

แต่เพราะรักในผู้อ่าน Decode ที่ไล่สายตาติดตามการรีวิวหนังสือมาถึงตรงนี้ เราจะบอกชิ้นส่วนสำคัญในแผนที่ของนักเดินทาง นี่จะเป็นตะเกียงส่องนำสำหรับการอ่านครั้งแรก เมื่อพบ SOUL หรือ จิตวิญญาณ คุณจะพบสิ่งที่ตามหา “ร่างกายของคนเรา ก็เหมือนกระเป๋าเดินทาง ที่หิ้วจิตวิญญาณไปมา” ประโยคระหว่างการเดินทางที่บอกถึงความเชื่อส่วนหนึ่ง ซึ่งเข้าใจว่าเป็นส่วนใหญ่ในอินเดีย เป็นประโยคที่ทำให้การสนทนาเริ่มต้นระหว่างชายแปลกหน้า และถ้าอ่านจนจบอาจพบว่า นี่คือแก่นของเรื่อง แท้จริงนักเดินทางตามหาใครกัน เมื่อวิหกราตรีที่ซาเวียร์ระบุในจดหมาย ทิ้งเบาะแสให้สื่อความไปถึง นกไนติงเกล

ค่ำคืนสั้นลงทันทีเมื่อได้หยิบหนังสือเล่มนี้จากชั้นวาง เราหยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่านด้วยเพราะเป็นคนชอบอ่านวรรณกรรมเป็นทุน และสนใจอยากไปเยือนอินเดียสักครั้ง ประกอบกับ DECODE เพิ่งจะเปิดตัวคอลัมน์ใหม่กับคนหน้าเดิม คอลัมน์ : คนอินเดียก็มีหัวใจ โดย คุณณฐาภพ สังเกตุ จากนี้พวกเราคงได้เดินทางไปเยือนอินเดียของจริง โดยที่ไม่ต้องเสียค่าตั๋วหลักหมื่น นั่นแหละของดีในยุคที่ทุนไม่เคยปรานีเรา

หนังสือ: เพลงรัตติกาลในอินเดีย
นักเขียน : อันตอนีโอ ตาบุคคี แปลโดย นันธวรรณ์  ชาญประเสริฐ 
สำนักพิมพ์: อ่านอิตาลี

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี