[00.00 น.] ในนามของการรอ - Decode
Reading Time: 3 minutes

ยังเหลือเวลาอีกสองนาทีก่อนถึง 00.00 น. เรากำลังรออะไรอยู่

ในพ.ศ.นั้น รงค์ วงษ์สวรรค์ รอให้ถึงวันส่งต้นฉบับ

ในพ.ศ.นี้ ไรเดอร์หนุ่มขี่มอเตอร์ไซค์จากปั๊มเหลืองไปปั๊มน้ำเงิน ดูสิว่าแก๊สโซฮอลล์ 95 จะต่างกันสักกี่มากน้อยภาวนาขอให้ทรง ๆ ทรุด ๆ ดีกว่า “ขึ้น” แต่ถ้าเป็นไปได้ก็จะ รอจนกว่าราคาน้ำมันจะ “ลด”

ไฟแดงกระพริบเตือนเป็นครั้งที่สองเหนือหน้าปัด สิ้นสุดการรอคอย สำหรับวันนี้ 44.55 บาทต่อลิตร

ลานหนังกลางแปลง ผู้ชมไม่ได้รอให้ฝนหยุดตกแต่รอผู้ร้ายตายตอนจบ

บนถนนข้าวสาร นักธุรกิจ รอเปิดถนนข้าวสารสู่ฮับกัญชา “ใครนึกถึงกัญชาให้มาที่ถนนข้าวสารประเทศไทย” สง่า เรืองวัฒนกุล​ นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร​เสนอจัดห้องสูบเสร็จสรรพ

ชั่วข้ามคืน กทม. ออกมาเบรกทันควัน แต่ควันมือสอง ลอยลิ่วไปไกลในช่วงสุญญากาศของกฎหมายกัญชา ประชาชนก็ได้แต่ตั้งตารอว่าเมื่อไรรัฐจะออกมาตรการมารองรับโดยไม่ผลักภาระไปที่ผู้บริโภค เพราะแม้แต่คนวงในต่างก็วิจารณ์ขรม “เอาเข้าจริง ๆ นี่ไม่ใช่เสรีที่เราอยากเห็น เราอยากเห็นกัญชาเสรี คือคนใช้ก็สามารถใช้ได้ ผู้ป่วยเข้าถึงตัวยาง่ายขึ้น แต่ถ้าเสรีกัญชาและสังคมจะแย่ลง เราว่า มันไม่คุ้ม” เธอ/เขา/เรายังรอต่อไปว่า รัฐจะช่วยให้ทุกคนรู้สึกปลอดภัยกับมัน เพื่อบรรลุแก่การบริหารความเชื่อมั่น ‘กัญ’

 

ถ้าว่าไปตามเวลา รงค์ วงษ์สวรรค์ บรรจงความคิดในความหมายของการรอของคน-สาว-สิ่งของ  

“ถังขยะรอเวลาให้คนของเทศบาลมาเก็บทิ้งไป

สาวอายุสิบห้ารอคนรักอายุสี่สิบมาครวญกีตาร์ให้หล่อนฟัง

แม่บ้านรอว่า สัปดาห์หน้าบริษัทขายผงซักฟอกจะมีของแถมใหม่อะไรอีก

ชายโสดรอว่า เมื่อไรโรงงานผลิตอาหารกระป๋องจะมีเมียกระป๋องขาย “มันสะดวกในการกิน” เขาบอกตัวเอง จึงไม่ต้องสืบเลยว่า ฉันได้ภาษา อารมณ์ขัน โผงผาง ไม่เม้มความคิดมาจากใคร แต่ความทะลึ่งไม่ได้ครึ่งของ รงค์ วงษ์สวรรค์ (คนที่หยุดตัวเองไว้ที่ยี่สิบแปด) แน่นอน ยิ่งอ่านเล่มนี้อีกรอบยิ่งสนิทชิดใกล้ จนได้ข้อสรุปประมาณหนึ่งว่า เขาเป็นนักเขียนที่ไม่สับสนไม่สงวนทีท่าทั้งยังไร้กรอบไม่ต้องหล่อแต่คมคายและล่อนจ้อนจนสิ้นความสงสัย คนใกล้ตัวอย่าง นพพร บุณยฤทธิ์ ยังเคยสงสัยเหมือนกันว่า รงค์ วงษ์สวรรค์ เขาเขียนหนังสือเวลาไหน เขาตอบ “เวลาเมาน่ะซี” เขียนอย่างน้อยก็วันละชิ้น จนสิ้นสงสัยแล้วว่า หน่วยวัดเชิงปริมาณก็เรื่องหนึ่ง มากกว่านั้นคือการยืนหยัดอยู่ข้างผู้เสียเปรียบในสังคมนั้นทรงอิทธิพลต่อความคิดของคนหนุ่มสาวในศตวรรษที่ 21 ไม่มากก็น้อยผ่านความเรียงในรูปนามของบทความปกิณกะ 33 ชิ้น จากนิตยสารฟ้าเมืองไทย ในช่วงปลายสิงหาคม 2512 ถึงต้นมีนาคม 2514 ในห้วงยามแห่งความคับข้องต่อการทรยศหักหลัง และความเอารัดเอาเปรียบของผู้คนในสังคม เขาเกลียดนักอุดมคติจอมปลอมผู้แอบอ้างว่าทำงานรับใช้ประชาชน แต่นั่งอยู่หลังแก้วเหล้าราคาแพงและพยายามยัดเยียดความคิดอันอลหม่านให้ประชาชน

 

00.00 น. เดินทางข้ามเวลามา พ.ศ.นี้ ยังพาเศรษฐศาสตร์ของความหิวติดตามมาด้วย

ใครก็ไม่รู้มานั่งบ่นถึงความหิวกันอยู่ข้าง ๆ ให้ได้ยิน “ถ้ามีเงินสักห้าบาทคุณจะกินอะไรวะ?”

ตอบ “ข้าวแกงขี้เหล็กสักจาน คุณไม่ได้กลิ่นมันหรือ มันหอมขึ้นมาทำลายหัวใจของผมยับเยิน”

ถาม “ถ้ามียี่สิบบาทล่ะ”

ตอบ “ก็เห็นจะไม่แคล้วปลาดุกผัดเผ็ดคลุกกับข้าวร้อน ๆ เพิ่งระอุ มีไข่ฟูแนมมาสักใบสองใบก็เข้าที เอ้อ เหล้าสองแก้ว”

ถาม “เอาล่ะทีนี้ ถ้าคุณมีถึง 50 บาท”

ตอบ “ลิ้นของผมมันบอกได้ทันทีว่ามันต้องการสัมผัสต้มยำพุงปลาช่อน หรือไม่ก็แกงหมูตะพาบน้ำสักหม้อให้มีรสเปรี้ยวนำไว้แต่อย่าลืมใส่ลูกมะอึก”

ถาม “แล้วถ้าดันทะลึ่งมีเงินสักร้อย”

ตอบ “ไอ้บ้า! เอาที่ไหนมาพูด เดือนนี้ทั้งเดือนผมยังไม่เคยหยิบใบละร้อยเลย”

 

ใบละร้อยในพ.ศ.นี้คงเทียบได้กับใบละพันตามอัตราเร่งของเงินเฟ้อที่แรงไม่หยุด ถ้าเติมเลขศูนย์เข้าไปในทุกคำถาม คำตอบที่ได้เมื่อ 53 ปีที่แล้วก็อาจจะคล้าย ๆ กัน เพราะถ้าว่ากันตามจริงแบงก์พันใบเดียว ‘อยู่ได้ไม่เกินอาทิตย์’ มิตรสหายท่านหนึ่งบอกกับฉันตรง ๆ ไม่มีเม้ม เราก็คงเป็นคนส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบทั้งเร็วและแรงสุดจากภาวะเงินเฟ้อติดลมบน ราคาอาหาร น้ำมัน ค่าไฟ สบู่ยาสีฟัน หรือแม้กระทั่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ไม่ขึ้นราคามานานแล้วยังส่อเค้าจะตรึงราคาต่อไปไม่ไหวเพราะวัตถุดิบหลักอย่างข้าวสาลีปรับตัวสูงขึ้น ยิ่งถ้าคุณเป็นคนที่ยากจนอยู่แล้วข้าวของแพงขึ้นไม่กี่สตางค์ก็ยิ่งอยู่ยาก เผลอ ๆ จะอยู่ทนและอยู่นานในกทม.ไม่ได้อีกแล้ว ปัญหาหนึ่งสมรสกับปัญหาที่สี่-ห้า -หก ล้วนยุ่งเหยิงไม่ต่างจากลิงแก้แห เอาแค่เรื่อง ‘ของแพงค่าแรงถูก’ โจทย์เก่าที่แก้ไม่ได้เหมือนเดิม เพิ่มเติมคือความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยยังน่าเป็นห่วง พ่วงมากับระดับหนี้ครัวเรือนที่ตอนนี้เกือบจะทะลุ 100 เปอร์เซ็นต์ของ GDP กลายเป็นระเบิดเวลาลูกใหม่และใหญ่กว่าเดิมเกินกว่าจะรอให้ฝีแตก! ก็คงวินาศสันตะโร

เพราะไม่ว่าข้าวของแพง หรือเงินเฟ้อจะเริ่มต้นด้วยด้านอุปสงค์หรืออุปทานก็แล้วแต่ในทางเศรษฐศาสตร์ ถึงที่สุดแล้ว ทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน demand pull and cost push จะผสมโรงกันเพิ่มความรุนแรงของเงินเฟ้อหรือของแพงไม่หยุด ในสายตาของมนุษย์ออฟฟิศเงินเดือนก็เหมือนเงินทอนดี ๆ นี่เอง ‘ใบร้อยรึ’ ไม่มีความหมายหรือยิ่งกว่าไม่เคยมีซะอีก

ชาบู บุฟเฟ่ต์ หัวปลาหม้อไฟ ใด ๆ ล้วนหนึ่งครั้งในเดือนเดียว ถ้ามากกว่านั้นเราอาจตกเป็นทาสของความหิวไปอีกครึ่งเดือน ไม่ว่าคุณจะหิวหรือของแพง มันเป็นเรื่องเดียวกันและมันก็เป็นศัตรูที่ร้ายกาจพอกัน มันน่ากลัวยิ่งกว่าอำนาจใดในชีวิตของคนเรา มันเป็นผู้สร้างและผู้ทำลายอย่างโหดเหี้ยม ในการทำงานของรงค์ วงษ์สวรรค์ที่เดินสวนทางกับผู้คนมากมายและความพยายามจะเข้าถึงความรู้สึกของเขา ความหิวเป็นความประทับใจอันแสนเศร้าเป็นความบันดาลใจรุนแรงจนเขาสามารถเขียนไว้หลายร้อยหน้าโดยไม่รู้จุดจบสิ้น

แต่เราในยามนี้ยังเหลือเวลาอีกสองนาทีก่อนถึง 00.00 น.

แท็กซี่ยัง “ว่าง” รอผู้โดยสารรอบดึกจนถึงฟ้าสาง ตีสามห้าสิบ

ชายวัยกลางคนรอรถเที่ยวสุดท้าย กลับบ้านเกิดไปตั้งหลักในสภาพที่อิดโรย

ส่วนฉันรู้ว่ากำลังรออะไรอยู่อย่างบรรลัย ในเงาของม่านโปร่ง 145 X 250 ซม.

ซองบะหมี่ เป็นหลักฐานยืนยันว่า ยังเหลืออีก 10 วันก่อนจะสิ้นเดือน

 

 

 

 

 

 

หนังสือ: 00.00 น.’ รงค์ วงษ์สวรรค์
นักเขียน : รงค์ วงษ์สวรรค์
สำนักพิมพ์: สมมติ

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี