ว่าด้วยนายพลกับทางลงจากอำนาจในประวัติศาสตร์การเมืองไทย - Decode
Reading Time: 2 minutes

ในความเคลื่อนไหว

รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ

นักคิดทางการเมืองได้กล่าวไว้เนิ่นนานแล้วว่า อำนาจเป็นสิ่งเสพติดที่มีฤทธิ์รุนแรงที่สุด เมื่อใครได้เสพเข้าไปแล้วยากที่จะถอนตัวได้ และโศกนาฏกรรมอย่างหนึ่งของผู้มีอำนาจจำนวนมากทั่วโลกคือ ไม่รู้จังหวะเวลาว่า ตนเองควรจะก้าวลงจากอำนาจเมื่อใด

การเมืองไทยเดินทางมาถึงช่วงครึ่งหลังของปี 2565 อย่างรวดเร็ว ปฏิทินทางการเมืองที่น่าสนใจในห้วงยามหลังจากนี้นับว่ามีความน่าสนใจ เพราะเกี่ยวโยงกับการอยู่และการไปของรัฐบาลชุดปัจจุบันและเครือข่ายอำนาจของกลุ่ม “3 ป.” ที่ขึ้นมาสู่อำนาจตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 2557 นับเป็นคณะรัฐประหารที่สืบทอดอำนาจได้ยาวนานที่สุดในการเมืองไทยนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของนักศึกษาประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

ทุกจังหวะของการเมืองไทยหลังจากนั้นล้วนน่าจับตา เริ่มจากวันที่ 19-22 กรกฎาคมที่จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลโดยพรรคการเมืองฝ่ายค้าน การตรวจสอบซักฟอกฝ่ายบริหารในคราวนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย เพราะสภาชุดปัจจุบันจะหมดสมัยประชุมในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ฉะนั้นเนื้อหาการอภิปรายคงดุเดือดไม่น้อยเพราะเดิมพันของทั้งสองฝ่ายคือ คะแนนนิยมในศึกการเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึง ฝ่ายค้านคงรู้ดีกว่าด้วยจำนวน ส.ส.ในมือและอิทธิพลของธนกิจการเมืองในสภาที่เชี่ยวกราก คงไม่สามารถคาดหวังการเปลี่ยนแปลงของอำนาจได้ แต่คงหวังว่าข้อมูลและเนื้อหาการอภิปรายจะช่วยบั่นทอนความชอบธรรมและความนิยมของรัฐบาลในสายตาประชาชน

หลังจากนั้นในวันที่ 24 สิงหาคม จะเป็นวันที่นายกฯ คนปัจจุบัน ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องลุ้นระทึกกับอนาคตทางการเมืองของตนเอง เพราะจะเป็นวันที่อยู่ในตำแหน่งนายกฯ มาครบ 8 ปี (หากนับตั้งแต่การเป็นนายกฯ ในยุครัฐบาล คสช. หลังรัฐประหาร) ซึ่งทำให้เกิดข้อถกเถียงว่าต้องพ้นจากตำแหน่งหรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดข้อห้ามไม่ให้บุคคลใดดำรงตำแหน่งนายกฯ เกินกว่า 8 ปี แน่นอนว่าฝ่ายที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ โต้แย้งว่าการนับวาระการเป็นนายกฯ ของประยุทธ์ควรเริ่มนับหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ในปี 2560 ไม่ควรนับย้อนหลังไปถึงปี 2557 กระทั่งบางคนเสนอว่าต้องนับหลังการเลือกตั้งปี 2562 แล้วเท่านั้น ประเด็นนี้คงไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ และจะเป็นอีกครั้งหนึ่งที่อำนาจตุลาการจะเข้ามากำหนดดุลอำนาจและทิศทางทางการเมืองของไทย

หากนายกฯ ประยุทธ์สามารถรอดพ้นการอภิปรายและการตีความของศาลรัฐธรรมนูญไปได้ เขาจะมีโอกาสได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเขตเศรษฐกิจเอเปคระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน ต้อนรับผู้นำจากนานาประเทศซึ่งคงเป็นวาระที่นายกฯ วาดหวังรอคอยเพื่อเสริมสร้างเกียรติยศและภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำของตนเอง ก่อนที่รัฐบาลที่นำโดยพรรคพลังประชารัฐจะหมดวาระการทำงานในเดือนมีนาคมปีหน้า

8 ปีถือว่าเป็นเวลาที่ยาวนานสำหรับผู้นำคนหนึ่งที่จะอยู่ในอำนาจ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยมีผู้นำที่สามารถครองอำนาจยาวนานกว่าประยุทธ์เพียงแค่ 3 คนเท่านั้นคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม จอมพลถนอม กิตติขจร และพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ โดยอดีตผู้นำคณะราษฎรและเจ้าของคำขวัญ “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” จอมพล ป. นั้นเป็นนายก ฯ ใน 2 ยุครวมกันถึง 15 ปี ซึ่งยากที่จะมีใครมาโค่นแชมป์ลงได้ ในขณะที่จอมพลถนอมอยู่ในอำนาจต่อเนื่องยาวนาน 10 ปี ส่วนพล.อ.เปรมนั้นเป็นนายกฯ ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบอยู่ 8 ปี 5 เดือน

น่าสังเกตว่าผู้นำทั้ง 3 คนที่ครองอำนาจได้ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ล้วนเป็นนายทหาร สะท้อนความพิกลพิการและความอ่อนแอของระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทยได้อย่างชัดเจน

ในวาระที่นักสังเกตการณ์หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าอนาคตทางการเมืองของอดีตนายพล คสช.อย่างประยุทธ์กำลังอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะหลุดออกจากอำนาจ น่าสนใจที่จะย้อนกลับไปดูบทเรียนในอดีตว่าผู้นำที่ครองอำนาจยาวนานกว่าเขาทั้ง 3 คนจบบทบาทชีวิตทางการเมืองของตนเองลงอย่างไร

เริ่มจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นสู่อำนาจเป็นนายกฯ ช่วงแรกระหว่างปี 2481-2487 และช่วงที่สอง 2491-2500 ในช่วงแรกนั้นจอมพล ป. สิ้นสุดอำนาจลงไปเพราะภาวะสงครามและเกมการเมืองในสภา ที่ฝ่ายตนเองแพ้การโหวตในสภาในร่างกฎหมายสำคัญที่ตนผลักดัน หลังจากนั้นมีช่วงที่ดูเหมือนจะตกต่ำและหลุดจากเวทีอำนาจไป เพราะตกเป็นผู้ต้องหาในฐานะอาชญากรสงคราม แต่ก็สามารถพลิกชะตากลับมาสู่อำนาจได้ด้วยการจับมือกับฝ่ายอนุรักษนิยม/รอยัลลิสต์ทำรัฐประหารในปี 2490 โค่นล้มรัฐบาลของกลุ่มปรีดีและยึดอำนาจกลับคืนมา แต่พอมาเป็นหัวหน้ารัฐบาลในช่วงที่สองนี้นับว่าไม่ง่าย เพราะต้องบริหารอำนาจระหว่างกลุ่มการเมืองสองกลุ่มที่ต่างฝ่ายต้องการขึ้นมายึดกุมอำนาจเป็นใหญ่ นั่นก็คือ กลุ่มราชครูนำโดยพล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ กับกลุ่มสี่เสาเทเวศร์ ของพล.อ. สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพล ป. รู้ดีว่าเมื่อครองอำนาจยาวนานย่อมทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่นายทหารรุ่นหลังที่ทะเยอทะยานและอยากขึ้นมาสู่อำนาจ ถึงวันหนึ่งก็อาจจะโดนโค่นอำนาจลงได้ จึงตัดสินใจที่จะสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเองผ่านการจัดการเลือกตั้ง บีบให้ทุกฝ่ายต้องมาแข่งกันในเกมการหาเสียง แต่ปัญหาคือ นายทหารอย่างจอมพล ป. ก็ไม่สันทัดในการทำพรรคการเมืองและชนะใจประชาชนในคูหาเลือกตั้ง สุดท้ายการจัดการเลือกตั้งก็เต็มไปด้วยการโกงและความไม่โปร่งใส กลับทำลายความชอบธรรมของจอมพล ป. เสียเอง และกลายเป็นข้ออ้างให้ลูกน้องที่ทะเยอทะยานอย่างสฤษดิ์ทำรัฐประหารโค่นล้มจอมพล ป. ได้สำเร็จ ด้วยความสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา (ที่เริ่มไม่ไว้วางใจแนวทางนโยบายต่างประเทศของจอมพล ป.) และฝ่ายรอยัลลิสต์ (ที่ไม่เคยไว้ใจจอมพล ป. เลยในฐานะผู้นำการปฏิวัติ 2475)

ฉากจบสุดท้ายของจอมพล ป. ถูกบันทึกไว้อย่างมีสีสันว่าเขาต้องขับรถด้วยตนเองพร้อมผู้ติดตาม 3-4 คนเลียบถนนสุขุมวิทเพื่อมุ่งหน้าไปยังชายแดนเขมรหนีออกนอกประเทศ ในวันที่ 16 กันยายน 2500 นายพลที่ครองอำนาจยาวนานที่สุดผู้นี้จำต้องลี้ภัยจากบ้านเกิดเมืองนอน และไปจบชีวิตที่ประเทศญี่ปุ่นโดยไม่ได้มีโอกาสกลับบ้านเกิดอีกเลย

ส่วนจอมพลถนอมนั้นมีชีวิตที่มีสีสันน้อยกว่ามาก เขาขึ้นสู่อำนาจโดยสืบทอดตำแหน่งมาจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในปี 2506 เมื่อสฤษดิ์ตายก่อนวัยอันควร ในยุคที่ทหารครองเมือง ตำแหน่งนายกฯ เป็นสินทรัพย์ที่นายพลคนหนึ่งส่งมอบให้นายพลอีกคนโดยประชาชนและกระบวนการประชาธิปไตยไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้อง ถนอมเป็นนายกฯ อยู่ได้ประมาณ 6 ปี ก็จัดการเลือกตั้งเพื่อผ่อนคลายแรงกดดันจากภายนอกและภายใน โดยตั้งพรรคทหารที่ชื่อว่าสหประชาไท แน่นอนว่าพรรคที่ทหารตั้งนี้ชนะเลือกตั้งมาได้เพราะถนอมคุมกลไกรัฐทั้งหมด แต่บริหารประเทศได้ 2 ปี ก็รู้สึกอึดอัดกับสภาพที่มีรัฐสภาจากการเลือกตั้งและพรรคฝ่ายค้านในสภาคอยอภิปรายตรวจสอบ กระทั่ง ส.ส.อิสระก็ยังต่อรองตำแหน่งและผลประโยชน์ จึงตัดสินใจทำรัฐประหารตัวเองในปี 2514 และจุดนั้นเองที่กลายเป็นชนวนของความไม่พอใจของเยาวชนคนหนุ่มสาวและประชาชน เมื่อประกอบกับภาวะเศรษฐกิจและกระแสสำนึกในสิทธิเสรีภาพที่ขยายตัวในวงกว้าง ถนอมก็จำต้องลงจากอำนาจไปด้วยกระแสการประท้วงของประชาชนใ นเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ซึ่งปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งนอกจากพลังประชาชนแล้ว ก็คือ ชนชั้นนำ ในกองทัพบางกลุ่มและเครือข่ายราชสำนักไม่พอใจถนอมอยู่แต่เดิมที่พยายามรวบอำนาจไว้ในกลุ่มพวกตนเองและพยายามสืบทอดอำนาจไปยังลูกหลาน (กลุ่ม “ถนอม-ประภาส-ณรงค์”) ในสถานการณ์วิกฤตการประท้วง ชนชั้นนำกลุ่มนี้จึงได้โอกาสอันดีที่จะ “สละทิ้ง” ถนอมซึ่งถูกประชาชนต่อต้านอย่างหนักจนเห็นชัดแล้วว่า ไม่สามารถปกครองประเทศต่อไปได้ และหันมาเข้าข้างนักศึกษาเพื่อรักษาอำนาจของเครือข่ายชนชั้นนำไว้ในกระแสการเปลี่ยนผ่าน

คนสุดท้ายคือ พล.อ.เปรม ที่ขึ้นสู่อำนาจในปี 2523 โดยรับไม้ต่อมาจากนายกฯ ทหารคนก่อนคือ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ อยู่ในอำนาจมาได้ถึง 8 ปีกว่าท่ามกลางมรสุมมากมายทั้งความพยายามรัฐประหารซ้อน การลอบสังหาร และการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา โดยปัจจัยสำคัญในการอยู่รอดนั้นมาจากการได้รับการสนับสนุนค้ำจุนจาก 3 สถาบันหลักของการเมืองไทย ณ ขณะนั้นคือ สถาบันกษัตริย์ กองทัพ และพรรคการเมือง โดยเปรมเล่นบทบาทในฐานะ “คนกลาง” ที่ลอยตัวอยู่เหนือการเมือง และพยายามประคอง ประสาน และรักษาดุลทางอำนาจระหว่างสถาบันทางการเมืองหลัก ๆ ให้มีส่วนแบ่งทางอำนาจที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ ซึ่งงานของอาสา คำภา (2564) สรุปว่าการครองอำนาจยาวนานของนายกฯ เปรมนั้นเป็นผลจาก “ฉันทามติชนชั้นนำไทยและเงื่อนไขราชสำนักเป็นสำคัญ” ฉันทามตินี้มาถึงจุดสิ้นสุดในปี 2531 เมื่อเกิดกระแสความเบื่อหน่ายและความไม่พอใจต่อการบริหารงานของเปรม รวมถึงการที่เปรมดึงทหารเข้ามาแทรกแซงการทำงานของรัฐสภาเพื่อปกป้องอำนาจของตนเองจากการตรวจสอบ (เช่น การใช้นายพลที่เป็นลูกน้องไปกดดันนักการเมืองจนนำไปสู่การล้มญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจเปรม) พล.อ.เปรมตัดสินใจยุบสภาในปี 2531 แต่กระแสคัดค้านเปรมกลับยิ่งขยายตัวสู่หลายภาคส่วนในสังคมในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง สุดท้าย เกิดการเคลื่อนไหวสำคัญในหมู่นักวิชาการ คือ การยื่นฎีกาของ 99 นักวิชาการต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้เปรมยุติบทบาททางการเมือง โดยคนที่ลงชื่อส่วนหนึ่งก็คือนักวิชาการในเครือข่ายชนชั้นนำที่เคยสนับสนุนหรือทำงานร่วมกับเปรมมาก่อน เช่น ชัยอนันต์ สมุทวณิช, ประเวศ วะสี, สุขุมพันธ์ บริพัตร, บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, ธงทอง จันทรางศุ ฯลฯ ซึ่งถือว่าเป็นการเมืองวัฒนธรรมที่แหลมคมในการอาศัยแหล่งความชอบธรรมของ พล.อ.เปรมมาสั่นคลอนอำนาจของ พล.อ.เปรมเสียเอง

หลังเลือกตั้ง 4 พรรคร่วมรัฐบาลเดิมยังคงไปทาบทาม พล.อ.เปรม มากุมบังเหียนรัฐนาวาอีกสมัย แต่ถูกปฏิเสธจากเจ้าตัว พร้อมกับประโยคอมตะว่า “ผมพอแล้ว”  (ดูบทความของธนาพล 2561)

หากเราดูจุดสิ้นสุดของอำนาจของอดีตนายก ฯ ทหารทั้ง 3 ราย จะพบว่ามี 3 รูปแบบหลักคือ หนึ่งต้องลงจากอำนาจไปเพราะถูกนายทหารด้วยกันรัฐประหารแย่งชิงอำนาจ สอง ถูกประชาชนเดินขบวนขับไล่ และสาม ถูกกระแสสังคมกดดันจนไม่สามารถกลับมารับตำแหน่งต่อได้ (แม้ว่ารัฐธรรมนูญยังเปิดช่องให้ก็ตาม) แต่หากมองลึกลงไป ไม่ว่าจะเป็นทางลงจากอำนาจในรูปแบบใด ล้วนมีเงาของชนชั้นนำประเพณีเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดอยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น

ในวันที่อนาคตของนายพลจากกลุ่มบูรพาพยัคฆ์กำลังเดินมาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ คงเป็นจังหวะอันดีที่จะหันกลับไปศึกษาบทเรียนจากอดีต เพราะการอยู่ในอำนาจยาวนานเกิน 8 ปีมิใช่เรื่องง่ายในการเมืองไทย การช่วงชิงอำนาจในกองทัพ การเคลื่อนไหวของประชาชน กระแสสังคม และการส่งสัญญาณจากชนชั้นนำเก่า ล้วนเป็นปัจจัยที่ยากแก่การควบคุมทั้งสิ้น

คงได้แต่รอดูว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย… ไม่ว่าจะเป็นรอยใดรอยหนึ่งหรือไม่ ในเร็ววันนี้

อ้างอิง

ธนาพล อิ๋วสกุล, “30 ปี การสิ้นสุดของระบอบเปรมาธิปไตย (2) : 8 ปี 5 เดือน ของนายกฯ เปรม ภายใต้ การเมืองสามเสา,” the101.world, 5 ก.ย. 2561

นริศ จรัสจรรยาวงศ์, 2475 ราษฎรพลิกแผ่นดิน (กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรม, 2564).

อาสา คำภา, กว่าจะครองอำนาจนำ: การคลี่คลายขยายตัวของเครือข่ายในหลวงภายใต้ปฏิสัมพันธ์ชนชั้นนำไทย ทศวรรษ 2490-2530 (กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, 2564).