ประเทศเต็มไปด้วยคำตอบอันปราศจากคำถาม
วีรพร นิติประภา
ประเด็นที่อยากจะชวนคิดกันสักเล็กน้อยในเดือนไพรด์ หรือเดือนแห่งความภาคภูมิของชาว LGBT ไม่ว่าคุณจะเป็นคนไม่ LGBT หรือที่เรียกกันว่า Straight หรือเป็น LGBT เองก็ตาม
เรื่อง การแต่งงานและพรบ.คู่ชีวิต นั่นแหละ
เคยได้ยินคนหลายคนพูดว่า คน LGBT รักกันชอบกันก็อยู่กันไป ‘เฉย ๆ ’ ก็ได้นี่นา ทำไมถึงจะต้องแต่งงานกันให้เอิกเกริก และทำไมถึงแค่จัดงานแต่งงานกันเฉย ๆ ไม่ได้จะต้องมาเรียกร้องจดทะเบียน มีกฎหมายรับรองกัน มิหนำซ้ำรัฐบาลได้ผ่านร่างพรบ.คู่ชีวิตให้แล้วก็ยังไม่พอใจกัน จะต้องเรียกร้องเอาทุกอย่างให้เหมือนกฎหมายสมรสคู่ชายหญิง
ทำไมคนเป็น LGBT ถึงจะต้องแต่งงาน และทำไมแต่งงานแล้วถึงต้องจดทะเบียนกัน
…คำตอบก็คือ LGBT+ ก็เป็นคนเหมือนกัน เหมือนกับคนอื่น ๆ ที่เป็น Straight นั่นแหละ คำตอบมันสามัญจนไม่รู้จะสามัญอย่างไร สามัญจนอดประหลาดใจไม่ได้ที่เรายังต้องมาพูดถึงเรื่องนี้กันอยู่อีกในศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด
ยิ่งกว่านั้นทั้งคำถามและคำตอบก็ยังเป็นเรื่องพื้น ๆ ดาด ๆ ที่ถามตอบกันเสร็จมาเป็นศตวรรษแล้ว จากการร่างกฎหมายเกี่ยวข้องกับการสมรสอื่น ๆ
เราทุกคนก็แค่มองเห็นความรักเป็นความงามของชีวิต ปรารถนาที่จะได้อยู่ด้วยกันและปรารถนาที่จะทำให้การอยู่ด้วยกันของตนและคู่ได้รับการยอมรับ ถึงขนาดเรียกการแต่งงานและจดทะเบียนว่าเป็นการจัดการความสัมพันธ์ให้เป็นสิ่งถูกต้อง จะเห็นได้ว่าการแต่งงานนอกเหนือจากการแต่งงานและจดทะเบียนจะแสดงถึงความจริงใจ มันยังเป็นการแสดงความจริงจัง เป็นคำมั่นสัญญาที่เป็นรูปธรรมว่าจะดูแลซึ่งกันและกันไปจนแก่เฒ่า รวมถึงมีกฎหมายเพื่อช่วยกำกับรายละเอียดการดูแลกันและกันนั้น ๆ รวมถึงจัดระเบียบทางทรัพย์สินต่าง ๆ ให้เป็นไปอย่างหนักแน่นและยุติธรรม
แล้วทำไมเราถึงต้องมากระอักกระอ่วนพิพักพิพ่วนกับการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน ไม่ยินดีที่เห็นพวกเขาร่วมชีวิตกัน ถึงขั้นไม่ยอมให้พวกเขาใช้กฎหมายสมรสเดียวกับเรา…พวกเขาไม่ใช่คนเหมือนเราและเท่าเทียมกับเราหรืออย่างไร
เหตุใดคนที่รักใครสักคนที่เผอิญเป็นเพศเดียวกันกับเขา จึงจะกลายเป็นคนที่มีความเป็นคนด้อยกว่าคนอื่นไปได้ ความรักอันเป็นสิ่งสูงส่งของการเป็นมนุษย์ลดทอนความเป็นคนของบางคนลงไปได้อย่างไร ที่น่างุนงงก็คือ ถ้าคนที่เป็นชายรักชายแต่งงานกับคนที่เป็นหญิงรักหญิง กฎหมายก็ยังจะให้การรับรอง ความซับซ้อนแบบนี้มากกว่าคนที่แต่งงานกับคนเพศเดียวกันอยู่ดี
ช่างเป็นกฎหมายที่ทื่อเหมือนสาก และแบนราบ และไม่เห็นค่อยจะมีเหตุผลอะไรเท่าไหร่
ตรงนี้แหละที่เราต้องมาคุยกัน ยังไม่ถึงกับต้องวิเคราะห์เปรียบเทียบกันไปไกลถึงว่ากฎหมายสมรสชายหญิงมีอะไร และพรบ.คู่ชีวิตมีอะไร แตกต่างกันอะไรบ้าง เหนือกว่าด้อยกว่าตรงไหน ถามตอบกันถกกันแค่ว่าทำไมก่อน ทำไมเราถึงไม่ยอมให้คน LGBT+ แต่งงานโดยใช้กฎหมายฉบับเดียวกันกับมนุษย์มนา Straight
…เอาแค่ทำไมต้องมี ‘กฎหมายเฉพาะ’ แค่นี้ก่อน
กฎหมายไม่เพียงแต่เป็นกฎเกณฑ์กำกับจัดระเบียบการอยู่ร่วมกันทางสังคมเท่านั้น มันยังเป็นลายลักษณ์อักษรที่รับรองว่าประชากรกลุ่มต่าง ๆ ให้มีตัวตน กฎหมายเฉพาะคือกฎหมายเพื่อรับรองและส่งเสริมคุณภาพชีวิตประชากรที่แตกต่าง มีความพิเศษ และเปราะบางจากประชากรทั่วไป เช่น คนพิการ คนชรา ผู้หญิงในช่วงเวลาเปราะบางอย่างตั้งครรภ์ คลอดและต้องดูแลลูกแรกเกิด ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นทัดเทียมประชากรที่เหลือ
แต่คน LGBT+ ไม่ได้แตกต่างจากคนอื่นตรงไหนเลย นอกจากรักคนเพศเดียวกัน ทำไมถึงจะต้องมีกฎหมายเฉพาะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นกฎหมายเฉพาะที่ไม่ได้ส่งเสริมคุณภาพชีวิต…หากยังลดทอนสิทธิ์ให้น้อยลงกว่าคู่ชายหญิงทั่วไปอีก
กฎหมายที่กำกับว่าคนที่รักคนเพศเดียวกันมีสิทธิ์และความเป็นมนุษย์น้อยกว่าคนรักเพศตรงกันข้าม
มิหนำซ้ำยังย้ำว่าคน LGBT+ ผิดปกติหรือผิดธรรมชาติซึ่งเป็นแนวคิดล้านปีมาก แทนที่กฎหมายจะทำให้ผู้คนเท่าเทียมกันได้เท่าที่จะเป็นไปได้ รายละเอียดพรบ.คู่ชีวิต (เซิร์ชดูในอินเทอร์เน็ต) ยังอุกอาจถึงระดับลดทอนความเป็นคนลง อาจร้ายกาจถึงขั้นสร้างชนชั้นใหม่…ชนชั้น Straight และชนชั้น LGBT+ โดยมีอำนาจแห่งรัฐประทับรับรองไม่เท่าเทียมและไม่เสมอภาคนั้นให้ถูกต้องดีงามด้วย
เรียกว่าเหยียดกันเป็นตัวบทกฎหมาย ระบุความผิดธรรมชาติเป็นลายลักษณ์อักษร กดทับศักดิ์ศรีของมนุษย์อย่างเป็นรูปธรรม ลิดรอนความเป็นคนลงโดยรัฐ
…รัฐไม่มีสิทธิ์ทำเช่นนี้
หากรัฐไม่ออกมารับรองความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมเลยยังดีเสียกว่าลิดรอน และหากรัฐเป็นผู้ลิดรอนความเป็นมนุษย์ของประชากรบางกลุ่มลงเสียเอง สังคมที่เหลือก็จะลิดรอนตาม ถ้าพ.ร.บ.คู่ชีวิตผ่าน ความเดียดฉันท์ การเดียดฉันท์ คุกคาม ทำร้ายร่างกายและจิตใจ รวมถึงอาชญากรรมถึงขั้นฆาตกรรมที่ครอบครัวและสังคมจะกระทำต่อคน LGBT จะเพิ่มสูงขึ้นทันที เพียงเพราะมีกฎหมายกำกับว่าเขามีความเป็นคนน้อยกว่าคนอื่น
เมื่อปีสองปีที่แล้ว ในสมัยคุณทรัมป์เป็นประธานาธิบดี นโยบายและท่าทีเหยียดสีผิวของเขาได้ทำให้อาชญากรรมต่อคนดำและคนเอเชียรวมทั้งเชื้อชาติอื่น ๆ เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จนถึงขั้นเกิดจลาจลไล่ลามทั้งประเทศมาแล้ว นี่ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องที่รัฐจำเป็นต้องแสดงทีท่าที่ถูกต้อง ระมัดระวังไม่เป็นตัวหลักในสร้างความไม่เท่าเทียมขึ้นในสังคมเสียเอง
และเรื่องนี้ก็ไม่ได้สำคัญว่าคนส่วนใหญ่หรือส่วนน้อยของประเทศจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับพ.ร.บ.คู่ชีวิต หากเป็น ‘หน้าที่’ ของรัฐที่ต้องสร้างความเท่าเทียมเสมอภาคให้เกิดขึ้นกับคนทุกกลุ่มในสังคมให้ได้ต่างหาก