จินตนาการสังคมใหม่ใน 'ปาตานี' - Decode
Reading Time: 2 minutes

ขยายประเด็น

นวลน้อย ธรรมเสถียร

ผู้เขียนเคยอ่านงานเขียนชิ้นหนึ่งที่กล่าวถึงความเชื่อมั่นในการใช้ความรุนแรง โดยมีการยกตัวอย่างกลุ่มไออาร์เอหรือกองทัพสาธารณรัฐไอร์แลนด์ กลุ่มที่ต่อสู้เพื่อแยกไอร์แลนด์เหนือจากอังกฤษ เขาระบุว่า แม้ในเวลาที่เข้าร่วมกระบวนการสันติภาพ แกนนำไออาร์เอก็ยังเชื่อมั่นว่าความรุนแรงคือสิ่งที่ทำให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ อย่างหนึ่งคือมันส่งผลให้สถานะของพวกเขาเข้มแข็งขึ้น ชุมชนของพวกเขาได้รับความสนใจมากขึ้น ความคิดทำนองเดียวกันนี้ก็มีปรากฎในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ และหากจะพูดกันอย่างไม่อ้อมค้อมและไม่ปฏิเสธความจริง ก็ต้องยอมรับว่า เมื่อมีความรุนแรงเกิดขึ้นในสามจังหวัดใต้ รัฐได้ทุ่มเททรัพยากรมากกว่าปกติเพื่อไปปรับปรุงความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่นี้

แต่การดำเนินงานของรัฐไม่ใช่เพื่อตบรางวัลผู้ใช้ความรุนแรงอย่างที่หลายคนโดยเฉพาะคนพุทธในพื้นที่มอง มันเป็นมาตรการซื้อใจเพื่อจะได้ winning hearts and minds มากกว่าอย่างอื่น  มันเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อแย่งชิงมวลชน แต่สิ่งที่กล่าวมานี้เพื่อจะแสดงว่า การจะแยกวิธีคิดไม่สนับสนุนความรุนแรงไม่ใช่เรื่องง่ายโดยเฉพาะกับบางสถานการณ์ที่สิ่งแวดล้อมกำหนดกรอบวิธีคิดให้ไว้

ช่วงนี้กระบวนการสันติภาพในสามจังหวัดภาคใต้กำลังเข้าสู่จังหวะก้าวที่น่าสนใจ แม้ว่าหากมองอย่างผิวเผินดูเหมือนจะไม่ค่อยมีความเคลื่อนไหวที่มีนัยสำคัญมากนัก แต่ลึกลงไปแล้ว สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นถือเป็นความท้าทายอย่างสำคัญต่อวิธีคิดที่ดำเนินต่อเนื่องมานาน

ถ้ามองว่ากระบวนการสันติภาพคือการเข้าสู่วิธีคิดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายโดยอาศัยการต่อรอง  นั่นหมายถึงว่า การเข้าร่วมไม่ว่าจะของรัฐบาลหรือขบวนการเอกราช ต่างต้องปรับวิธีคิดให้เข้าสู่โหมดของการหาทางประสานประโยชน์ร่วมกัน  พวกเขาต้องเห็นว่าหนทางที่จะเดินต่อไปนั้น ไม่มีฝ่ายใดที่จะต้องได้ทุกเรื่อง และไม่มีฝ่ายใดที่จะต้องเสียทั้งยวง การจะทำเช่นนี้ได้ว่ากันว่าต้องติดอาวุธใหม่ให้กับตัวเองด้วยวิธีคิดที่ประนีประนอมพร้อม ๆ กันไป แต่เพราะการต่อรองเรื่องสันติภาพไม่ได้มีเพียงฝ่ายเดียว ดังนั้นผู้ร่วมในการต่อรองจึงต้องมีท่วงทำนองที่เปิดกว้างให้ทุกฝ่ายได้แสดงออก ขณะที่ต้องรับฟังซึ่งกันและกัน รวมทั้งต้องพร้อมเปิดความคิดตัวเองเพื่อให้นำไปสู่การถกเถียงอย่างเปิดเผย ซึ่งนี่อาจจะเป็นความท้าทายใหญ่สำหรับคนในพื้นที่ที่คุ้นชินกับการอยู่ภายใต้วิธีคิดของทหารและนักรบรวมทั้งการใช้กำลังไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมมาเนิ่นนาน สิ่งที่น่าเชื่อว่าจะเป็นตัวนำทำให้ผู้คนต้องแหวกความเคยชินอันนี้ก็คือความต้องการสันติภาพ แต่จะไปได้ไกลแค่ไหนยังเป็นคำถาม

เมื่อไม่นานมานี้มีนักกิจกรรมภาคประชาสังคมสองคนบอกกับเราว่า ความต้องการสันติภาพของคนพุทธในพื้นที่มีลักษณะของพวกเขา สมใจ ชูชาติ ผู้ใหญ่บ้านของหมู่ 3 ตำบลบ้านนอก อ.ปะนาเระ กับรักชาติ สุวรรณ์ อดีตประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ที่มาจากเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพแลกเปลี่ยนทัศนะเอาไว้ในรายการสนทนาสดของเพจ The Pen เรื่องการมีส่วนร่วมของคนพุทธในพื้นที่ต่อการพูดคุยสันติสุข/สันติภาพระหว่าง BRN-RTG เมื่อ 27 เมษายนที่ผ่านมา ทั้งคู่เป็นคนที่ทำงานต่อเนื่องยาวนานในพื้นที่ และอาจจะถือได้ว่าเป็นสองคนที่อยู่ในกลุ่มคนพุทธจำนวนไม่มากที่มีทัศนคติค่อนข้างเปิดกว้าง  พวกเขาต่างยืนยันว่า คนพุทธก็ต้องการสันติภาพ แต่สมใจเตือนว่า ไม่ใช่ว่าทุกคนจะ “เอาด้วย” กับกระบวนการสันติภาพ กลุ่มที่ไม่ต้องการกระบวนการสันติภาพเลยก็มี  ซึ่งถือได้ว่าเป็นความท้าทายสำหรับคนสร้างสันติภาพว่าจะทำอย่างไรที่จะเปลี่ยนความคิดคนกลุ่มนี้ได้ แต่อีกด้านก็แน่นอนว่า มีคนที่สนใจกระบวนการสันติภาพเช่นกัน

ส่วนผู้ที่สนใจและสนับสนุนกระบวนการสันติภาพ ความสนใจของพวกเขาคนพุทธออกมาในรูปไหน สมใจกับชูชาติให้ภาพเอาไว้คร่าว ๆ แต่น่าสนใจว่า หลายคนมีความรู้ไม่มาก และความสนใจของคนจำนวนมากยังอยู่กับเรื่องปัญหาความปลอดภัย รักชาติชี้ว่า คนพุทธจำนวนมากพึ่งพารัฐ เมื่อมองเรื่องสันติภาพ สิ่งที่พวกเขาอยากเห็นเป็นหลักก็คือความสงบ และวิธีการที่พวกเขาเห็นด้วยก็คือการปราบ พวกเขาสนับสนุน “การบังคับใช้กฎหมาย”

จึงไม่น่าแปลกใจที่ประเด็นสำคัญที่คณะพูดคุยฝ่ายไทยผลักดันหลักคือเรื่องการลดความรุนแรง  และยิ่งไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ชื่อของคณะพูดคุยสันติภาพของไทย คือ คณะพูดคุยสันติสุข

นี่เป็นท่าทีที่คนสร้างสันติภาพระยะยาวจะลำบากใจ การปราบคือการใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา ความรุนแรงบ่มเพาะความรุนแรง ต่อให้ปราบหมดแต่ความขัดแย้งไม่หมดและจะรอวันปะทุขึ้นมาใหม่  ดังนั้นสิ่งที่คนพุทธจำนวนหนึ่งในพื้นที่ต้องการจึงยังไปไม่ถึงการเป็นแรงสนับสนุนการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน

แต่รักชาติบอกชัดเจนว่า การเปลี่ยนแปลงในพื้นที่เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าคนพุทธจะคิดอย่างไรก็ตาม  โครงสร้างความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างคนในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้กับรัฐมาถึงจุดที่จะต้องได้รับการปรับเปลี่ยน เขาชี้ว่า คนรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นมาในพื้นที่ในยุคเกือบยี่สิบปีให้หลังนึกภาพไม่ออกแล้วว่า การดำรงอยู่ของสายสัมพันธ์ของคนในสังคมแบบเดิม ๆ เป็นอย่างไร เพราะพวกเขาเติบโตมากับความรุนแรง  ดังนั้นสิ่งที่คนพุทธหลายคนพูดเสมอมาว่าเป็นความฝันของพวกเขาในพื้นที่ที่อยากเห็นพุทธและมุสลิม “กลับไปเหมือนเดิม” นั้นจึงเป็นแต่เพียงความฝันของคนรุ่นเขาเท่านั้น  นี่เป็นเสียงสะท้อนที่บอกเราว่า คนพุทธเองยอมรับมากขึ้นทุกขณะว่า ถึงอย่างไรการเปลี่ยนแปลงก็มาเคาะที่ประตูบ้านแล้วและไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อย่างแน่นอน ปัญหาคือพวกเขาจะทำอย่างไรกับมัน

กับกลุ่มผู้คนที่สนับสนุนสันติภาพและอยากผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง  พวกเขาจึงต้องก้าวเข้ามาทำงานความคิดกับคนที่เหลือค่อนข้างมาก  ผู้คนไม่น้อยต้องการการเปลี่ยนแปลงและมองเห็นว่าจังหวะก้าวนี้พวกเขาไม่ควรพลาดโอกาสมีส่วนร่วม  ในขณะที่โต๊ะเจรจาเปิดทางให้มีกระบวนการ “ปรึกษาหารือ” ระหว่างสองฝ่ายบนโต๊ะกับประชาชน ผู้คนหลายกลุ่มอยากนำเสนอความคิดต่าง ๆ แต่ทว่ากับประเด็นสำคัญที่มองจากมุมมองของคนพุทธ ดูเหมือนว่าจะเกิดอาการแบบที่เรียกว่า เกาไม่ถูกที่คัน

อาการเช่นนี้ปรากฎชัดเมื่อมีคำถามว่า ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ คนพุทธจะยอมรับได้แค่ไหน  สมใจชี้ว่าคนพุทธจะยอมรับได้หรือไม่ยังไม่รู้ แต่ที่แน่ ๆ พวกเขายังไม่เข้าใจเรื่องความเปลี่ยนแปลงที่จะมีมา เช่นเรื่องของเขตปกครองตนเอง หรือแม้กระทั่งเรื่องของกฎหมายชารีอะห์ที่อาจจะมีการนำมาใช้ สิ่งเหล่านี้หมายความถึงอะไรและจะมีผลถึงวิถีชีวิตของคนพุทธในพื้นที่อย่างไรล้วนไม่ชัดเจนเพราะพวกเขาไม่มีความรู้จริงจัง

“มันต้องสร้างความเข้าใจก่อน คนพุทธอาจเปลี่ยนได้ถ้าให้เขาได้รับรู้รับทราบข้อเท็จจริง แต่คนพุทธยังรู้บางเรื่องไม่ชัดเจน เขาจึงตั้งคำถาม ชารีอะห์จะมีผลอะไรไหม บางทีเป็นเรื่องเล็ก ๆ วิถีชีวิตของพุทธจะยังอยู่ไหม คนพุทธไม่ต้องรู้ทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มีสิ่งที่สมควรรู้  คนพุทธ คนศาสนิกอื่นก็ต้องรู้”

อันที่จริงแล้วคำถามนี้ควรจะต้องเริ่มต้นที่ว่า การเปลี่ยนแปลงที่จะมีมาจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร ก่อนจะมีการนำไปถกกัน เช่นเรื่อง “การปกครองตนเอง” ที่ควรจะเป็น ที่ผ่านมาเราล้วนได้เห็นแต่ข้อเสนอของภาคประชาสังคมและนักวิชาการ แม้แต่เรื่องของการใช้กฎหมายชารีอะห์ก็อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นการโยนหินถามทางจากผู้คนรอบข้างเช่นเดียวกัน การถกกันเรื่องความเปลี่ยนแปลงข้างหน้าจึงมีฐานของการถกเถียงที่ค่อนข้างลอย เมื่อบวกกับความไม่เข้าใจจึงยิ่งทำให้เกิดความสับสน สิ่งที่นำมาถกกันดูจะมาจากการคาดการณ์กันทั้งสิ้นว่านี่คือสิ่งที่บีอาร์เอ็นอาจจะผลักเข้าสู่โต๊ะพูดคุย  ถึงที่สุดแล้วทุกอย่างยังคงจับต้องไม่ได้ จะพูดอีกแบบหนึ่งก็คือ คนในพื้นที่ยังไม่เห็นอย่างชัดเจนว่า บีอาร์เอ็นต้องการสร้าง “สังคมใหม่” อย่างไร เพื่อจะแก้ปัญหาให้กับมลายูมุสลิมในพื้นที่ พวกเขามีความใฝ่ฝันอยากเห็นสังคมเป็นแบบใด

อันที่จริงแล้ว หากว่าบีอาร์เอ็นจะนำจินตนาการของตนเองออกมาแบ่งปันกับชุมชนทั้งหลายก็น่าจะช่วยให้การปรึกษาหารือกันของคนในสังคมเป็นไปอย่างได้มรรคผลมากขึ้น การประกาศเจตนารมณ์หรือแนวทางทางการเมืองของกลุ่มขบวนการที่ต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นเรื่องปกติ  ยกตัวอย่างเช่นในอดีต พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยหรือพคท.ก็เคยประกาศชัดเจนว่าพรรคต้องการสร้างสังคมใหม่อย่างไรโดยกระทำผ่านนโยบาย 10 ข้อที่ได้รับการปรับปรุงในช่วงเวลาที่ควร  นโยบายของพรรคทำให้เป็นที่ชัดเจนมากว่าพรรคมองสังคมใหม่ในอนาคตที่ตัวเองต้องการสร้างเช่นไร  

ยกตัวอย่างนโยบายของพรรคที่กำหนดแนวคิดเช่น ข้อแรกของนโยบายระบุว่า จะผนึกกำลังผู้ร่วมต่อสู้ทุกฝ่ายโค่น “รัฐบาลขายชาติปฏิกิริยาฟาสซิสต์” จัดตั้งรัฐบาลประชาชนที่ประกอบด้วยผู้แทนของกองกำลังปฎิวัติต่าง ๆ ขจัดอิทธิพล “จักรพรรดินิยมอเมริกา”  หรือข้อ 2 จะยกเลิกกฎหมาย คำสั่ง ต่าง ๆ ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาชน ปล่อยผู้รักชาติรักประชาธิปไตยที่ถูกจับกุมคุมขัง ให้ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงออก การนับถือศาสนา การสมาคม การตั้งพรรคการเมือง มีสิทธิเลือกตั้ง และอื่น ๆ  ข้อ 5 กำหนดว่า ชนชาติต่าง ๆ ในประเทศต้องมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน เคารพซึ่งกันและกัน สนับสนุนช่วยเหลือกัน มีสิทธิในการใช้ภาษา รักษาประเพณีของตน คัดค้านการกดขี่เหยียดหยามระหว่างชนชาติ ในเขตที่ดินรวมของชนชาติให้ปกครองตนเองได้ โดยให้อยู่ภายใต้ครอบครัวใหญ่ประเทศไทย  ข้อ 6 จะ “ปฏิวัติที่ดิน” อย่างมีการจำแนกและมีจังหวะก้าวตามสภาพของแต่ละท้องที่ ให้ชาวนาชาวไร่มีที่ดินทำกินของตนเองอย่างทั่วถึง ยกเลิกหนี้สินและสัญญาผูกมัดที่ไม่เป็นธรรม” ฯลฯ นี่เป็นตัวอย่างส่วนหนึ่ง สำหรับสาธารณะทั่วไป

พวกเขาจะมองเห็น “ความฝัน” ของพคท.ได้ชัดเจนมากขึ้นไม่ใช่เพียงคำว่าต้องการสร้างสังคมใหม่ที่เป็นธรรมเท่านั้น

หากรอมฎอนสันติสุขผ่านไปด้วยดีไม่มีเหตุร้ายรุนแรงเพิ่มอีกมากมาย ก็เชื่อกันว่าจะมีแรงขับเคลื่อนเรื่องสันติภาพที่เข้มแข็งขึ้น ทำให้การพูดคุยเตรียมการขยับระดับขึ้นได้ในที่สุด หลายฝ่ายในภาคประชาสังคมแสดงเจตนาจะช่วยขับเคลื่อนให้คนในพื้นที่ได้ถกเถียงหาทางออกร่วมกัน แต่สำหรับคนพุทธแล้ว ความท้าทายคือจะเตรียมความคิดของพวกเขาอย่างไรเพื่อให้มองข้ามไปสู่ภาพใหญ่กว่าการสร้างสันติสุข  จะผลักดันอย่างไรให้มีการมองไปที่โครงสร้างความสัมพันธ์ใหม่เพื่อจะแก้ปัญหารากเหง้าความเดือดร้อนที่เป็นต้นตอของคนอีกกลุ่มที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกัน เพื่อจะนำสันติภาพมาสู่พื้นที่ได้จริงจังและสันติสุขก็จะตามมา

การมีส่วนร่วมของคนพุทธในพื้นที่มีส่วนสำคัญเพราะว่าพวกเขาคือสะพานเชื่อมไปสู่ความรู้สึกของคนพุทธอีกเป็นจำนวนมากในสังคมไทยที่จะเป็น Back up ที่มองไม่เห็นให้กับกระบวนการสันติภาพ  จนถึงปัจจุบันเรายังไม่ค่อยเห็นการสื่อสารของรัฐบาลในเรื่องนี้  กระบวนการสันติภาพที่อื่นที่ประสบความสำเร็จมาหลายที่ล้วนแต่ต้องอาศัยผู้นำการเมืองระดับสูงสุดไปช่วยผลักดัน ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการสันติภาพระหว่างรัฐบาลอังกฤษกับไออาร์เอ หรือกระบวนการสันติภาพมินดาเนา แต่สำหรับของไทยเรานั้น สังคมแทบจะไม่เคยได้ยินพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีพูดเรื่องนี้เลย แม้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงานจะพากันยืนยันว่า กระบวนการสันติภาพได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากนายกรัฐมนตรีก็ตาม ผู้เขียนเชื่อว่า ขณะนี้บรรดาผู้เกี่ยวข้องได้แต่คาดหวังว่า การตั้งกรรมาธิการติดตามเรื่องกระบวนการสันติภาพในสภาผู้แทนราษฎรน่าจะช่วยยกระดับความรับรู้ในหมู่ประชาชนขึ้นมาก เพราะกระบวนการสันติภาพใด ๆ ก็ต้องการการสนับสนุนจากคนจำนวนมากในสังคม ไม่เช่นนั้นก็อาจล่มได้ กลุ่มเอ็มไอแอลเอฟหรือแนวร่วมอิสลามโมโรในมินดาเนาได้เรียนรู้เรื่องนี้มาแล้วอย่างเจ็บปวด  เพราะร่างกฎหมายพื้นฐานในการจัดตั้งเขตปกครองตนเองที่พวกเขาต่อรองกับรัฐบาลอย่างเคร่งเครียดหลายปี กลับถูกสมาชิกสภาคองเกรสล่มในนาทีสุดท้าย มันทำให้ต้องกลับไปทำงานต่อกันอีกยาวนาน บทเรียนจากมินดาเนาบอกเราว่า  การผลักดันกระบวนการสันติภาพนั้นไม่อาจละทิ้งเสียงส่วนใหญ่ในสังคมได้ ต่อให้รัฐบาลกับขบวนการตกลงอะไรกันได้ก็ตาม ไม่ว่าประเทศจะมีระบบประชาธิปไตยที่อ่อนแอแค่ไหน รัฐสภาคือจุดสุดท้ายที่จะต้องให้ความเห็นชอบกับข้อตกลงต่าง ๆ

ในเวลานี้การจะผลักความสนใจของคนพุทธให้ไปไกลกว่าเรื่องสันติสุขนั้นต้องมีการทำงานอย่างหนัก สมใจฝากบอกบีอาร์เอ็นว่า คนทำงานต้องร่วมมือกันหลายฝ่าย และขอให้บีอาร์เอ็นสนับสนุนเพื่อจะได้ทำงานได้อย่างปลอดภัย เธอเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายคือรัฐบาลและกลุ่มบีอาร์เอ็นสนับสนุนและเปิดทางให้ภาคประชาสังคมเข้าทำงานในพื้นที่ต่าง ๆ ได้ รวมทั้งชี้ว่าจะต้องมีการทำงานข้ามกลุ่มและทำงานด้วยกัน ไม่ใช่ให้ใครคนใดทำฝ่ายเดียว

“รัฐกับบีอาร์เอ็นต้องจริงใจ เมื่อพูดว่าทำเพื่อประชาชน ทั้งสองฝ่ายพูดถึงพี่น้องประชาชน คนที่มองพวกคุณอยู่คือพี่น้องประชาชน คุณอยากวาดอนาคต ปากกับใจต้องให้ตรงกัน”

การเปิดโอกาสให้คนในภาคประชาสังคมทำงานในเรื่องนี้ในแง่หนึ่งก็เป็นความท้าทายสำหรับทั้งส่วนของรัฐและขบวนการเอกราช  หากคนในภาคประชาสังคมไม่ได้ผลักดันภาพฝันของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทั้งสองฝ่ายจะยอมรับได้หรือไม่ สมใจบอกว่าในเวลานี้ฝ่ายทหารไฟเขียวให้แล้วด้วยออกหนังสือให้ แต่บีอาร์เอ็นนั้นเธอยังรอดูอยู่

แต่กล่าวสำหรับบีอาร์เอ็น ยังมีข้อน่าสังเกตในเรื่องของการสื่อสารภายในตามมาอีกนอกเหนือไปจากเรื่องการยอมรับการแสดงออกที่แตกต่างว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ ประเด็นนี้ปรากฎให้เห็นผ่านการพยายามมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพของคนในภาคประชาสังคมมลายูมุสลิม อาเต็ฟ โซ๊ะโกแห่งกลุ่มเดอะปาตานี หรือ The Patani เล่าถึงบรรยากาศของการทำงานในช่วงนี้ของกลุ่มของเขาว่า ยากที่จะบอกได้ว่าควรจะทำงานสนับสนุนอย่างไรเพราะเขาและเพื่อน ๆ พบว่า ความเข้าใจในเรื่องเป้าหมายของการเข้าร่วมโต๊ะพูดคุยที่ได้ยินจากตัวแทนบีอาร์เอ็น กับความเข้าใจของผู้สนับสนุนกลุ่มในพื้นที่เป็นคนละเรื่องกัน

เป้าหมายของขบวนการนั้นแน่นอนว่าเป็นเรื่องของการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่ง “เอกราช” อาเต็ฟตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อมีการเปิดตัวเข้าร่วมกับกระบวนการพูดคุย เป้าหมายนี้ก็ไม่ได้รับการพูดถึงอีก ถามว่าเดอะปาตานีได้ข้อมูลตรงและชัดเจนหรือไม่ว่าเป้าหมายในการเข้าร่วมการพูดคุยสันติภาพนั้นคืออะไร และบีอาร์เอ็นต้องการแค่ไหน อาเต็ฟระบุว่า จากการได้พบและคุยกับตัวแทนบนโต๊ะพูดคุยของบีอาร์เอ็น พวกเขาได้รับการบอกเล่าอย่างตรงไปตรงมาชนิดทำให้ไม่มีข้อสงสัยอีก

“เราได้รับเกียรติมากจากบีอาร์เอ็น เราเป็นองค์กรแรก ๆ ที่ได้พบกับตัวแทนคณะพูดคุยของเขา  และเราอาจจะเป็นไม่กี่องค์กรที่มีโอกาสคุยตรง”  ในการพบปะกัน ตัวแทนกลุ่มเดอะปาตานีได้รับการบอกเล่าเรื่องของเป้าหมายของการร่วมกระบวนการสันติภาพว่านั่นก็คือ autonomy หรือการปกครองตนเอง  “แต่เรารู้สึกว่า สิ่งที่ได้จากการคุยกับตัวแทนบีอาร์เอ็น กับความรับรู้ของมวลชนของบีอาร์เอ็นในพื้นที่มันมีช่องว่าง มีความห่างไกลกันมาก  สิ่งที่เราได้มาจากบีอาร์เอ็น เมื่อเราไปพูดกับสาธารณะ เราถูกโต้กลับมาจนเราตกใจ บางครั้งเหมือนเราเป็นศัตรูด้วยซ้ำ”

อาเต็ฟเห็นว่าเรื่องเช่นนี้ควรจะชัดเจนและตรงไปตรงมาได้ เขายกตัวอย่างกลุ่มเอ็มไอแอลเอฟ หรือกลุ่มแนวร่วมกู้ชาติอิสลามโมโรของมินดาเนาที่เข้าสู่กระบวนการสันติภาพกับรัฐบาลฟิลิปปินส์และต่อรองยาวนานจนได้พื้นที่และอำนาจปกครองตนเอง เอ็มไอแอลเอฟประกาศชัดว่านั่นคือสิ่งที่เป็นเป้าหมายของกลุ่ม ส่วนเรื่องของเอกราชนั้นเอ็มไอแอลเอฟถือว่าเป็นสิทธิของผู้ถูกยึดครอง หากต้องการเอกราชให้เป็นเรื่องของคนรุ่นต่อไป เขาเห็นว่าการทำให้ชัดเจนเช่นนี้เปิดหนทางทำให้กลุ่มต่าง ๆ มีส่วนร่วมได้ง่ายขึ้น

อาเต็ฟบอกว่าในวันนี้เดอะปาตานีเผชิญกระแสต้านอย่างมากเพราะความเข้าใจของผู้สนับสนุนบีอาร์เอ็นหลายคนที่มองว่ากลุ่มกำลังพยายามลดทอนขบวนการนี้ด้วยการกล่าวหาว่าพวกเขาละทิ้งเป้าหมายในเรื่องของเอกราช  ขณะนี้เขาพบว่าตัวเองถูกติดป้ายต่าง ๆ นานา ดังนั้นไม่แปลกที่อาเต็ฟจะรู้สึกว่า ปัญหาใหญ่ในเวลานี้คือการสื่อสารภายในของบีอาร์เอ็นเองเพื่อสร้างความชัดเจนและเป็นเอกภาพในองค์กร  กล่าวสำหรับกลุ่มเดอะปาตานี พวกเขายังมองไม่เห็นว่าจะเดินหน้าอย่างไรต่อมากไปกว่าเรื่องเฉพาะหน้า 

“คนอยากมีส่วนร่วมแต่ไม่รู้จะทำยังไง คนมองไม่เห็นวิธีของเขา เราเป็นคนในพื้นที่ ยังเดาทางยาก ไม่รู้จะสนับสนุน ให้คำแนะนำอะไรต่าง ๆ ยังไง”

เสียงสะท้อนเรื่องนี้ยืนยันปัญหาเรื่องการสื่อสารของบีอาร์เอ็น ทั้งยังมีผลชวนให้น่าคิดว่า เรื่องที่รอกันอยู่คือเรื่องที่ว่าบีอาร์เอ็นจะประกาศ political program หรือแนวทางการเมืองที่ชัดเจนในอันที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ก็น่าจะยังไม่เกิดในเร็ววัน  ยิ่งกว่านั้นก็คือท่วงทำนองของการทำงานเพื่อสันติภาพ คือ “การเปิดพื้นที่” ที่ไม่ควรจะจำกัดอยู่แต่เพียงการให้หลักประกันความปลอดภัยกับคนในภาคประชาสังคม แต่น่าจะหมายถึงการไม่กดทับและเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายแสดงออกได้อย่างตรงไปตรงมา นี่น่าจะเป็นเครื่องรับประกันคุณภาพของการมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพได้มากกว่า และถึงที่สุดแล้ว นี่เป็นความท้าทายอย่างยิ่งของพื้นที่ที่คุ้นชินกับการที่ผู้คนต้องเงียบเสียงมานาน