7 เดือนผ่านไป...ประตูยุติธรรมของ 'มานะ หงษ์ทอง' ยังปิดตาย - Decode
Reading Time: 3 minutes

16 สิงหาคม 2564 นายเอกรินทร์  หงษ์ทอง อายุ 43 ปี มาสน.แจ้งว่า เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2564 เวลาประมาณ 20.00 น. ลุงของผู้แจ้ง ชื่อมานะ หงษ์ทอง อายุ 64 ปี ได้เดินทางกลับบ้านของตน ขณะนั้นลุงของผู้แจ้งได้เดินอยู่บริเวณหน้าธนาคารออมสิน สาขามิตรไมตรี ปรากฏว่า ได้ถูกกระสุนยางจากเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน เนื่องมาจากสถานการณ์ชุมนุมมีฝ่ายผู้ชุมนุมและฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ลุงของผู้แจ้งถูกลูกหลงจากเหตุการณ์ดังกล่าว บริเวณศีรษะและล้มนอนบนพื้นมากกว่า 1 ชั่วโมง หลังจากนั้นได้มีทางกู้ภัยพบ จึงนำส่งโรงพยาบาลราชวิถี ในวันที่ 16/8/2564 เวลา 01.12 น. เนื่องจากมีบาดแผลศีรษะและมีเลือดออกเยื่อหุ้มสมอง อาการหนักใส่ท่อช่วยหายใจ ผู้แจ้งจึงเดินทางมาพบพนักงานสอบสวนเพื่อแจ้งเป็นหลักฐาน

ผู้แจ้งได้ให้การว่า มีสื่อได้พบเห็นลุงของผู้แจ้งบาดเจ็บล้มนอนจึงได้แจ้งกู้ภัย และเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนให้ช่วยเหลือ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนกลับเดินผ่านไม่สนใจ และเจ้าหน้าที่กู้ภัยไม่สามารถเข้าช่วยได้ในขณะนั้น เนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนกันไว้ ไม่ให้เข้าพื้นที่ดังกล่าว ต้องรอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนผ่านไปก่อนกู้ภัยถึงจะเข้าไปได้ ผู้แจ้งจึงเดินทางมาพบพนักงานสอบสวนเพื่อแจ้งเป็นหลักฐานดำเนินการต่อไป

ร.ต.ท. จักรพันธุ์  ชูชานันท์ รอง สว. (สอบสวน) สน.ดินแดง ได้รับแจ้งไว้เป็นหลักฐานดำเนินการต่อไป

ลงชื่อ เอกรินทร์  หงษ์ทอง  ผู้แจ้ง

เอกสารจาก “รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี สน.ดินแดง”

ความชุลมุนในคืน 15 สิงหา นำมาสู่ความเลือนราง สิ่งที่เกิดขึ้นกับ ‘มานะ’

หากย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในวันที่ 15 สิงหาคม 2564 เราจะพบกับข้อมูล ข่าวสาร รูปภาพ วิดีโอ จำนวนมหาศาลที่ปรากฏ ในวันดังกล่าวแฮชแท็ก #ม็อบ15สิงหา ถูกพูดถึง 2.7 ล้านครั้งในทวิตเตอร์ เยอะจนทำให้เหตุการณ์ของมานะ หงษ์ทอง กลายเป็นเพียงเศษเสี้ยวของเหตุการณ์ทั้งหมด

การชุมนุมเริ่มต้นขึ้นในเวลา 15.00 น. กลุ่มทะลุฟ้าจัดกิจกรรมคาร์ม็อบ เคลื่อนพลไปตามสถานที่ต่าง ๆ ก่อนจะกลับมารวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวจัดคู่ขนานกันไปกับกลุ่มของนายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. รวมทั้งกลุ่มอื่น ๆ จำนวนทั้งหมด 6 กลุ่ม ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

ต่อมาเวลา 18.05 น. กลุ่มมวลชนอิสระได้เคลื่อนตัวมายังแยกดินแดง เริ่มเกิดการปะทะกันอย่างดุเดือดระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ คฝ. นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ พยายามปราศรัยขอให้กลุ่มมวลชนอิสระ ยุติการปะทะกับเจ้าหน้าที่ คฝ. แต่ไม่เป็นผล

เหตุการณ์ทวีความรุนแรงและบานปลายเมื่อฟ้ามืด มีการเผาป้อมตำรวจจากฝั่งผู้ชุมนุม มีคลิปวิดีโอเจ้าหน้าที่ คฝ. พยายามปิดล้อมคอนโดมิเนียมในบริเวณดังกล่าว ก่อนยิงกระสุนยางเข้าไป ทั้งยังมีคลิปปรากฏคำพูดของ เจ้าหน้าที่ คฝ. ที่กล่าวว่า 

“ยิงเบิกทางเลยนะ ไม่ต้องถามละนะใครมา ยิงได้เลย”

กระทั่งเวลา 21.55 น. มีการรายงานว่าพบชายวัยสูงอายุ นอนหมดสติจมกองเลือดอยู่ริมถนน บริเวณหน้าซอยมิตรไมตรี มีสำนักข่าวเพียงไม่กี่แห่งที่อยู่ตรงจุดเกิดเหตุ และได้รายงานสิ่งที่เกิดขึ้น หนึ่งในนั้นคือสำนักข่าว The Reporter และมีภาพวิดีโอจากทีมแพทย์สนามอีก 1-2 ชิ้น ที่ปรากฏออกมาบนโลกออนไลน์ แต่อย่างที่กล่าวไปตอนต้นว่าในวันดังกล่าว มีเหตุการณ์มากมายเหลือเกินที่เกิดขึ้น เพียงชั่วข้ามคืน สังคมก็หลงลืมสิ่งที่เกิดขึ้นกับมานะ เมื่อมีเหตุการณ์ความรุนแรงอื่นๆ เกิดขึ้นรายวัน 

จากวันนั้นจนถึงวันนี้เป็นเวลา 7 เดือน สิ่งที่เกิดขึ้นกับมานะ หงษ์ทอง ถูกแช่แข็งไปกับกาลเวลา ไม่มีการติดตาม สืบสวนสอบสวนเหตุการณ์ดังกล่าวเพิ่มเติมหลังจากวันนั้น 

De/code จึงเริ่มติดตามเรื่องราวดังกล่าว ว่าแท้จริงแล้ววันนั้นเกิดอะไรขึ้น และในวันนี้กระบวนการยุติธรรมของมานะ คืบหน้าไปถึงไหนแล้ว

กระสุนปริศนา? สื่อคือพยานของความจริง

“ผมเห็นเขาล้มฟุบอยู่ตรงข้ามแฟลตดินแดง ข้างธนาคารออมสิน เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการเข้ามาดูจุดเกิดเหตุที่ลุงล้มอยู่ ก่อนที่จะมีการถอยออกไป จากนั้นจึงมีการเปิดทางให้มีรถกู้ภัยเข้ามา”

เอิ๊ก กิตติธัช วิทยาเดชขจร  อายุ 21 ปี อดีตนักศึกษาฝึกงาน ตำแหน่งผู้สื่อข่าวภาคสนามของ สำนักข่าว The Reporter เขาเป็นนักข่าวเพียงไม่กี่คนที่ได้บันทึกภาพวิดีโอ ในตอนที่มานะนอนจมกองเลือดอยู่กับพื้น แต่น่าเสียดายที่ไม่มีใครสามารถบันทึกภาพ ตอนจังหวะที่มานะล้มลงได้เนื่องจาก…

“ในตอนนั้นสื่อมวลชน ไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่แยกดินแดงได้ เพราะเจ้าหน้าที่เข้าปิดล้อมพื้นที่ทั้งหมด ช่วงเวลาที่สื่อเข้าไปในเหตุการณ์ได้ คือตอนที่ลุงมานะล้มฟุบอยู่กับพื้นแล้ว”

โดยเมื่อถึงจุดเกิดเหตุ กิตติธัชได้มีการถามเจ้าหน้าที่ คฝ. และทีมแพทย์ที่เข้ามาก่อนหน้าเขาว่า

“เราถามเขาไปว่า ‘ลุงเขาเป็นอะไร โดนอะไรมารึเปล่า’ ไม่มีใครให้คำตอบเราได้ จนกระทั่งมีเสียงตอบมาไม่แน่ชัดว่าจาก คฝ. หรือทีมแพทย์สนาม พูดในทำนองว่า ‘เขาล้มลงไปตอนที่เกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุม ล้มลงไปแล้วหัวแตก’  ซึ่งเราไม่สามารถหาหลักฐานใด ๆ มายืนยันได้เลย”

แม้จะไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์มายืนยัน ว่ามานะถูกกระสุนยางยิงเข้าที่ใบหน้าจริงหรือไม่ แต่ในสายตาของคนที่อยู่ในเหตุการณ์อย่างกิตติธัช ได้บอกเราว่า

“ผมมองว่าอาวุธที่ลุงมานะโดน น่าจะเป็นจากทาง คฝ. มากกว่า ถามว่าโอกาสที่จะโดนอาวุธของกลุ่มผู้ชุมนุมเองมีไหมมันก็มีโอกาส แต่การที่จะโดนอาวุธจากกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าที่ใบหน้าและล้มลงร่วงลงไปเลย โอกาสที่จะเกิดขึ้นผมคิดว่ามันน้อยมาก”

กิตติธัชอธิบายต่อจากประสบการณ์การทำงานในพื้นที่ดินแดง อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นการชุมนุม อาวุธที่ทางผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ใช้จะเป็นพลุ ประทัด และหากดูจากบาดแผลที่มานะได้รับ ที่เป็นรอยยุบบริเวณใบหน้า จึงไม่สอดคล้องกับอาวุธที่ทางกลุ่มผู้ชุมนุมใช้ 

“ช่วงเวลาตอนนั้นในบริเวณที่เกิดเหตุเหลือแต่ คฝ.ในพื้นที่  เพราะกลุ่มผู้ชุมนุมถูกผลักดัน จนแตกกระจายออกไปหมด โดยส่วนใหญ่หนีไปตามทางหลังแฟลตดินแดง เป็นเรื่องค่อนข้างยากที่จะมีกลุ่มผู้ชุมนุมหลงเหลืออยู่ในบริเวณที่มานะล้มลง”

กิตติธัชเองรู้สึกเสียดายที่ตนไม่สามารถบันทึกภาพเหตุการณ์ตอนที่มานะล้มลงได้ และหากเป็นไปตามสิ่งที่เขาบอกเล่า เมื่อในพื้นที่เหลือแต่เจ้าหน้าที่ คฝ. ประกอบกับคลิปหลักฐานที่ทางเจ้าหน้าที่กล่าวว่า “ยิงเบิกทางเลยนะ ไม่ต้องถามละนะใครมา ยิงได้เลย” ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่มานะล้มลง สาเหตุความเป็นไปได้ที่มานะจะถูกลูกหลงจนล้มลง ก็ดูจะชัดเจนมากขึ้นกว่าเดิม

“ผมคิดว่า คฝ. เองในช่วงเวลานั้น ใช้อารมณ์ไม่ต่างอะไรจากกลุ่มผู้ชุมนุม ต้องทำงานถึงดึกดื่นติดต่อกัน มันอาจจะไปกระตุ้นอารมณ์เขาให้รู้สึกว่ามันไม่จบสักที หลายครั้งเราได้ยินการโต้ตอบกันระหว่างฝั่งผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ มีการตะโกนท้าทายกันไปกันมา มันเลยทำให้เราเข้าใจ มันไม่ใช่การเผชิญหน้ากันระหว่าง เจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชน แต่มันจะเป็นเหมือนการเผชิญหน้ากันของคู่อริมากกว่า”

กิตติธัชทิ้งท้ายกับเราว่า ในช่วงเวลาที่มีการชุมนุมที่ดินแดง การถูกลูกหลงจากอาวุธของเจ้าหน้าที่ คฝ. ไม่มีแค่กรณีของมานะ คนเดียว มีการถูกลูกหลงจากกระสุนยางอยู่เรื่อย ๆ เพียงแค่ในเคสอื่นมันไม่ได้เป็นข่าว หรือบาดเจ็บรุนแรง เรื่องจึงถูกปล่อยเลยตามเลย เพราะขนาดมานะถึงแก่ความตาย สังคมยังไม่เคยได้เห็นแถลงการณ์หรือความรับผิดชอบใด ๆ ที่ทางตำรวจ ออกมาชี้แจง

อุปสรรคของเวลาที่ผ่านไป คือพยานหลักฐานค่อย ๆ เลือนราง

“ตอนนี้คดียังอยู่ในขั้นลงบันทึกประจำวัน เราได้ให้ทางหลานของลุงไปแจ้งความเพื่อร้องทุกข์ขอดำเนินคดี ต่อไปจึงเป็นขั้นตอนของการเก็บรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อที่จะทำการฟ้องร้องต่อไป ซึ่งตอนนี้ต้องยอมรับว่ามันยังไม่มีหลักฐานที่ชี้ชัดระบุถึงผู้กระทำความผิด แต่ว่ามีผู้เสียหายได้เกิดขึ้นจนสูญเสียชีวิต เราจึงต้องเรียกร้องให้เกิดการสืบสวนเพื่อหาผู้กระทำความผิด และต้องชี้ชัดให้ได้ว่าเกิดจากอะไร”

ณัฐภัทร ไกลถิ่น เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ในตอนนี้ มอส. ถือเป็นหน่วยงานหลัก ที่รับเรื่องช่วยดูแลเคสของมานะ โดยจากความตั้งใจแรกเพียงอยากเข้าไปช่วยเรื่องการเยียวยา แต่เมื่อปรากฏว่าเคสนี้ ไม่มีหน่วยงานใดยื่นมือเข้ามาดูแลเรื่องกระบวนการยุติธรรม ทาง มอส. จึงร่วมมือกับทางภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

“แต่เดิมที่เราทราบคือมีลักษณะคล้าย ๆ กับอุบัติเหตุหรือลูกหลงจากวัตถุปริศนาที่ตอนนี้ก็ยังไม่แน่ชัดด้วยซ้ำว่ามันคืออะไรและหลังจากที่ลุงมานะประสบอุบัติเหตุ มันไม่มีใครเข้าไปดำเนินคดี สืบสวนสอบสวนต่อในทันที แต่โดยในรายงานสรุปบาดแผลมันก็มีรายงานที่สรุปชี้ชัดระดับหนึ่ง ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำไว้ให้ แต่มันจำเป็นต้องใช้พยานหลักฐานเพิ่มเติม จึงจะสามารถชี้ชัดได้ว่าผู้กระทำความผิดคือใคร เกิดจากสาเหตุอะไร”

ณัฐภัทรแสดงความเป็นกังวล เนื่องจาก มอส. ไม่ใช่หน่วยงานที่เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย ประกอบกับตัวของมานะ ไม่มีลูกเมียครอบครัวโดยตรง จึงไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรม ที่จะไปยื่นขอความเป็นธรรม ดังนั้นจึงเกิดความยุ่งยากในการเดินเรื่องเอกสาร

“สิ่งที่เราขาดอยู่ตอนนี้และต้องการความช่วยเหลือ คือเรื่องของการสื่อสารติดตามความคืบหน้าของคดี เขาไม่ได้รับความเป็นธรรมและเรื่องทุกอย่างหายไปตามกาลเวลา หายไปจาก Time line ของ Facebook และ Twitter ถ้ามีสิ่งใดที่สังคมจะช่วยเหลือเคสนี้ได้ คือการทำให้มันกลายเป็นกระแสอีกครั้ง เพื่อให้หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ต้องรับผิดชอบ ได้ take action ในเรื่องนี้”

เป็นเรื่องน่าสลดใจของสังคมไทยทุกวันนี้ ต้องยอมรับกับค่านิยมการเรียกร้องความยุติธรรมจะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ก็ต่อเมื่อเป็นกระแสสังคมเท่านั้น ทำให้อดนึกถึงคดีการตายของดาราสาว แตงโมนิดา เมื่อเปรียบเทียบกับการตายของผู้เสียชีวิตที่เป็นคนธรรมดาทั่วไป  โดยเฉพาะในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง ยกตัวอย่างเช่นกรณีของ วาฤทธิ์ สมน้อย และมานะ  หงษ์ทอง ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุมปี 2564  ทั้งกระบวนการยุติธรรมจากภาครัฐ การนำเสนอข่าวสารจากสื่อมวลชนกระแสหลัก แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

“การปล่อยให้เวลาผ่านไปมีผลเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ผู้เสียหายเสียชีวิตลงแล้ว และด้วยพยานหลักฐานที่มันไม่แน่ใจว่าสามารถหาวัตถุพยานหรือว่าพยานแวดล้อม ได้มากน้อยแค่ไหน”

ณัฐภัทรกล่าวพร้อมความหวังอันริบหรี่ ทุกเวลาที่ล่วงเลยผ่านไป ประตูแห่งการทวงคืนความยุติธรรมให้มานะ ก็ค่อย ๆ ปิดตาย “คดีความนี้มันไม่เป็นธรรมจริง ๆ เพราะลุงเขาแค่เดินทางผ่านจะกลับบ้าน…”

อ่านบทความตอนที่1: อย่าลืมเขา “มานะ หงษ์ทอง” เหยื่อกระสุนยาง

อ้างอิงข้อมูลจาก:
สรุปม็อบ 15 สิงหา 
คลิปเสียงเจ้าหน้าที่ “ยิงเปิดทางเลยนะ ไม่ต้องถามแล้วนะใครมายิงได้เลย”
คฝ. ยิงกระสุนยางเข้าพื้นที่ส่วนบุคคล ที่แฟลตแถวดินแดง