ฟาร์มหมูล่มสลาย "อีกห้าปียังไม่ฟื้น" เซาะใต้ภูเขาน้ำเเข็ง ทลายวงจรกินรวบ - Decode
Reading Time: 3 minutes

“คนไทยจะกินหมูแพงไปอีกแค่ 6 เดือน”

“เกษตรกรเลี้ยงหมูที่ขาดทุนจากโรค ASF จะกลับเข้าระบบได้ในไม่ช้า”

“ราคาหมูค่อย ๆ ถูกลงแล้ว เพราะทลายการกักตุนเนื้อหมูสำเร็จ”

คือส่วนหนึ่งจากข้อยืนยันที่รัฐพยายามป้องปากสร้างความเชื่อมั่นให้กับการจัดการวิกฤติหมู ซึ่งกรมปศุสัตว์เรียกว่า “แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์” ทว่าเมื่อ De/code ลงพื้นที่ไปยังฟาร์มหมู ต.ดอนทราย อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี กลับพบความจริงอีกแบบ เป็นความจริงที่ไร้แม้แต่แสงรำไร

วิเชียร เจษฎากานต์ เจ้าของฟาร์มซึ่งสูญเสียหมูไปกว่า 10,000 ตัว มูลค่ารวมกว่า 50 ล้านบาท ยืนยันว่า “หมูจะแพงไปอีกอย่างน้อย 5 ปี” และ “เกษตรกรเลี้ยงหมูรายกลางและรายย่อยจำนวนมากจะยังไม่สามารถกลับเข้าสู่ระบบได้ เว้นแต่จะมีความมั่นใจเรื่องการจัดการโรค เงินทุนสนับสนุนและวัคซีนป้องกันโรค ASF” พร้อมชี้ว่า “ถ้ารัฐปล่อยให้ทุนใหญ่เพิ่มจำนวนหมูไม่จำกัด ต่อไปฟาร์มหมูรายใหญ่จะผูกขาดตลาดและกินรวบมากขึ้น”

ASF คร่าชีวิตหมู รัฐเฉยเมยขึ้นเขียงคนเลี้ยง

“หมูของผมเริ่มล้มหายตายจากเหมือนใบไม้ร่วงเมื่อกลางปีที่แล้ว รวม ๆ แล้วตายยกฟาร์มที่หมื่นตัว ส่วนฟาร์มในเครือญาติเท่าที่รู้ตายไปประมาณสามแสนเกือบสี่แสนตัว ถ้าคูณต้นทุนที่ตัวละแปดพัน รวมมูลค่าก็หลายพันล้านนะครับ จริงอยู่ว่าความเสียหายนี้มากับโรค ASF แต่มาตรการของภาครัฐที่ไม่ชัดเจน ขาดความเข้มงวด ขาดการเตรียมพร้อมทำให้ความเสียหายขยายวงกว้างและจัดการยากมากขึ้น”

วิเชียรตั้งต้นบทสนทนาด้วยความสูญเสียที่อัดอั้นอยู่ในใจ เขายืนยันเสียงแข็งว่าภาครัฐไร้ประสิทธิภาพในการตั้งรับกับโรค ASF หรือโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู ที่รู้อยู่แล้วว่ากำลังระบาด เป็นการบริหารจัดการที่เฉื่อยช้า เฉยเมย และขาดความเข้าใจต่อสถานการณ์

“ตั้งแต่ปี 2560 ผมเคยเข้าร่วมประชุมที่อำเภอปากท่อว่าด้วยการเตรียมรับมือโรค ASF ที่จะระบาดมาจากจีน แต่ก็ไม่เห็นมาตรการอะไร เช่นมาตราการการชดเชยสำหรับฟาร์มที่ต้องทำลาย ภาครัฐอ้างว่าไม่มีงบประมาณ พอปัญหาลุกลามบานปลายเราจึงมีจุดอ่อน คือเกษตรกรไม่กล้ามาแจ้งว่าหมูตัวเองติดโรค เพราะถ้าแจ้งทางปศุสัตว์ก็จะเข้าปิดฟาร์ม ห้ามการเคลื่อนย้ายหมูซึ่งทำให้ไม่สามารถนำหมูที่ยังไม่ป่วยออกมาขายได้ หมูที่เหลือต้องตายอยู่ในฟาร์ม แบบนั้นเกษตรกรรับไม่ได้ มันเหมือนขึ้นเขียงประหารชีวิตคนทำฟาร์มหมู ฟาร์มไหนเกิดการติดเชื้อจึงดิ้นรนหันไปใช้วิธีเทขาย ทำให้มีบางช่วงราคาตกต่ำมากถึงระดับ 30 บาทต่อกิโลกรัม”

“ยกตัวอย่างง่าย ๆ เลยอย่างฟาร์มผมนี่ก็มีตำรวจมาเฝ้ามาดูนะเพื่อป้องกันไม่ให้เราขาย ท้ายที่สุดทางออกที่เขาหยิบยื่นให้เกษตรกรแบบเรา ๆ คือให้เผาหมูติดโรคทิ้ง ผมและเพื่อนเกษตรกรหลายคนก็พยายามเผานะ แต่การเผาหมูหนึ่งตัวนี้ก็ยากและใช้ทรัพยากรมาก ทั้งยังมีปัญหากับ อบต. เพราะเขาจะมาบอกว่าทำให้เกิดมลพิษ เลยต้องนำไปฝังแทน แต่การฝังก็มีปัญหาอีกว่าไม่สามารถทำให้ควบคุมโรคได้ทั้งหมด เพราะถ้าฝังไม่ดีมันปูดขึ้นมาก็เสี่ยงให้เกิดการขุดคุ้ย โดยเฉพาะนกนี้เป็นตัวแปรที่สำคัญที่ทำให้การควบคุมโรคไม่เป็นผล มันพาเชื้อจากฟาร์มหนึ่งไปยังอีกหลายฟาร์มได้ง่ายมาก”

“จริง ๆ ถ้ารัฐดำเนินการจัดการตั้งแต่แรก งบประมาณที่ใช้จะต่ำมากเมื่อเทียบกับความสูญเสียตอนนี้ แค่เพียงประกาศว่าจะชดเชยให้ฟาร์มที่แจ้งแล้วทำลาย แค่ 50% ฟาร์มก็จะรีบมาแจ้งอย่างแน่นอน

“ผมที่เลี้ยงหมูมาตั้งแต่ ป.4 ไม่เคยเจอแรงกระแทกหนักขนาดนี้ และคงไม่ได้กลับเข้าสู่ระบบเลี้ยงหมูอีกแล้ว จะมองหาหนทางทำอย่างอื่น ตอนนี้กำลังคิดว่าจะหันมาทำเกษตรผสมผสานหรือไม่ก็เลี้ยงแพะแทน แต่คงไม่ได้เลี้ยงหมูอีก เพราะเราทั้งเจ็บหนัก และยังไม่มีอะไรมาประกันให้เรามั่นใจว่าจะไม่เจ็บซ้ำอีก”

ความในใจของวิเชียรที่เก็บกักและปล่อยทะลักออกมาเผยให้เห็นตอใต้น้ำว่าโรค ASF เป็นโรคที่ไม่ใช่จะเพิ่งมาระบาดในปีสองปี เกษตรกรเลี้ยงหมูและภาครัฐต่างทราบสถานการณ์เรื่องนี้ดี แต่ท่าทีของกรมปศุสัตว์กลับพยายามเก็บเงียบคล้ายว่าน้ำท่วมปาก และมาตรการแก้ปัญหาก็เน้นให้ตัวเองเป็น “คนตัดสิน” สร้างระบบแพ้ควบคุมและคัดออก ไม่เยียวยา ไม่ช่วยเหลือ เกษตรกรจึงไม่กล้าเอะเสียง ต้องวิ่งหนีเอาตัวรอดไม่ต่างจากผู้เล่นเกม A E I O U ในซีรีส์ Squid Game

ถึงกาลล่มสลายของระบบเลี้ยงหมู

อย่างไรก็ดีแม้ ASF จะเป็นเหมือนสึนามิลูกใหญ่ที่ซัดใส่เกษตรกรเลี้ยงหมูกันถ้วนทั่ว แต่ว่ากันตามตรงก่อนหน้านี้เกษตรกรเลี้ยงหมูก็เหมือนต้องลอยคอดิ้นรนเอาตัวรอดจากระบบที่พยายามฉุดดึงพวกเขาให้จมจ่อมลงไป

วิเชียรเผยว่า “ก่อนหน้า ผมก็แบกรับภาระไว้กับตัวไม่น้อย ตลาดของการเลี้ยงหมูมันเปลี่ยนไป ราคาหมูไม่ได้ขึ้นลงตามกลไกที่แท้จริง เพราะมีกลุ่มบริษัทที่เลี้ยงจำนวนมากมีอำนาจเหนือตลาด อันดับแรกเลยพวกเขาเป็นคนประกาศราคาได้ แล้วราคาที่พวกเขาประกาศก็เป็นราคากลางที่ทุกคนต้องยึดถือ”

“อีกเรื่องการปล่อยให้มีการเลี้ยงแบบไม่มีการควบคุมจำนวนที่แน่ชัดทำให้การขึ้นลงของราคาหมูเอาแน่เอานอนไม่ได้ เหตุคือที่ผ่านมาฟาร์มขนาดใหญ่เพิ่มจำนวนเลี้ยงโดยเฉพาะเพื่อขายให้จีนและเวียดนาม แต่เมื่อมีการปิดด่าน ทำให้เนื้อหมูในไทยล้นตลาด ราคาขายก็จะตกทันที ผลคือฟาร์มขนาดเล็กเดือดร้อน ขาดทุนทั้งต้นทุนและกำไร แต่ฟาร์มขนาดใหญ่แม้จะขาดทุนด้วยแต่เขาก็ยังอยู่ได้ สุดท้ายเขาจะฟื้นขึ้นมาเดินหน้ากินเรียบต่อ”

นอกจากนี้วิเชียรยังระบุถึงการเปลี่ยนแปลงการเก็บภาษีเหมาจ่ายของเกษตรกรรายเล็ก ๆ ที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นรูปบริษัท จากเดิมรายได้จะหักต้นทุนได้ 80% โดยถือว่ามีกำไร 20% แต่เมื่อหลายปีที่แล้วเปลี่ยนมาเป็นรายได้หักต้นทุน 60% นั่นหมายความว่ารัฐกำหนดให้เกษตรรายเล็กต้องมีกำไร 40% ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าจะขาดทุนหรือกำไรนี่คือกลไกรัฐที่ออกมาทำลายเกษตรรายเล็กที่ไม่มีอำนาจการต่อรอง

กล่าวได้ว่าอำนาจเหนือตลาดผ่านกลไก Pig Board ซึ่งผู้เลี้ยงรายใหญ่และรายกลางนั่งเป็นกรรมการทำให้สามารถผูกขาดและกำกับทิศทางของนโยบายเรื่องของเนื้อหมูได้ ทั้งกลุ่มนี้ยังสามารถเลี้ยงแบบไม่จำกัดจำนวน เมื่อมารวมตัวกับเรื่องการปรับเปลี่ยนภาษีและคลื่นโรค ASF จึงมีผลที่แรงจนทำให้เป็นระบบเลี้ยงหมูรายเล็กเเละรายกลางล่มสลายกันถ้วนหน้า เช่นที่วิเชียรระบุว่า “ไม่ว่าจะฟาร์มเล็กหรือใหญ่ ฟาร์มที่มีมาตราการเข็มงวดหรือฟาร์มปิด ฟาร์มที่มีมาตรฐานใด ๆ ที่กรมปศุสัตว์รับรอง ได้รับผลกระทบกันหมด รายเล็กจบก่อน รายกลางตามมา รายใหญ่ก็เสียหายหนัก แต่รายใหญ่เขามีอำนาจในการต่อรองกับธนาคาร สุดท้ายก็มีแต่รายเล็ก รายย่อย รายกลาง และรายใหญ่บางรายที่ต้องเลิกเลี้ยง ส่วนใหญ่เลิกเลี้ยงถาวร”

ความน่าสนใจที่ชวนให้อดคิดต่อไม่ได้คือทำไมรายเล็กและรายกลางจึงเจ็บหนักกว่ารายใหญ่ ถ้าทวนถามกลับว่าเป็นเพราะรายใหญ่มีอำนาจเหนือตลาดและได้รับการช่วยเหลือเอื้อประโยชน์จากภาครัฐมากกว่าใช่หรือไม่ เช่นนั้นเรื่องสำคัญที่สุดและดูจะเป็นปัญหาเรื้อรังมากกว่าปัจจัยอื่นใดจึงเป็นเรื่องการผูกขาดและมีอำนาจเหนือตลาดอย่างปฏิเสธไม่ได้ ทว่าสองเรื่องนี้ถมทับเป็นปัญหาใต้ภูเขาน้ำแข็งได้อย่างไร และจะเซาะทลายด้วยวิธีไหนได้บ้าง นี่เป็นคำถามใหญ่ที่สำคัญ

ชำแหละปัญหาใต้ยอดภูเขาน้ำแข็ง

ต่อคำถามดังกล่าว De/code ต่อสายโทรศัพท์พูดคุยกับวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี(ไบโอไทย) ซึ่งได้ช่วยขยายภาพปัญหาใต้ยอดภูเขาน้ำแข็งของวิกฤติหมูไปในทิศทางที่สอดคล้องกับที่วิเชียรอธิบายว่า “ตอนนี้เกษตรกรเลี้ยงหมูหายไปจากระบบเยอะมาก ถ้าดูข้อมูลผู้เลี้ยงหมู ปี 2562 จากกรมปศุสัตว์ จะพบว่ามีอยู่ราว ๆ 180,000 ราย แต่รายงานของกรมปศุสัตว์ล่าสุดพบว่าจำนวนผู้เลี้ยงหมูนี้ลดลงประมาณ 80,000 กว่าราย โดยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยและรายเล็ก เช่นที่ผมทำวิเคราะห์เอาไว้คือผู้เลี้ยงหมูประมาณ 105,963 ราย นี้ เลี้ยงหมูมีสัดส่วนเพียง 4.52 % ผู้เลี้ยงรายย่อยที่เลี้ยงสิบตัวแต่ไม่ถึงร้อยตัวนี่มีประมาณ 70,000 กว่าราย งั้นตัวเลขที่หายไปแน่ ๆ มาจากกลุ่มพวกนี้”

“ประเด็นนี่น่าสนใจคือทำไมผู้ประกอบการรายใหญ่ถึงอยู่รอด เหตุผลแรกคือเขาสามารถลงทุนใน Bio Security ได้มากกว่า เหตุผลต่อมาคือเขาได้ประโยชน์จากการลดลงของหมูในตลาด คำถามคือเขาได้ประโยชน์อย่างไร ตอนไหนบ้าง ตอบตามตรงคือเขากินรวบได้ทุกช่วง เริ่มจากช่วงแรกก่อนการระบาด ตอนที่ไทยยังไม่ประกาศว่า เป็นโรคระบาด แต่ประเทศข้างเคียงเป็นโรคมาสองปีนั่นหมายความว่าการส่งออกหมูและผลิตภัณฑ์ไปยังประเทศเพื่อนบ้านก็จะเป็นผลประโยชน์ของบริษัทขนาดใหญ่ ต่อมาในช่วงของการระบาด อันนี้ผมอ้างประสบการณ์ที่เกิดขึ้นที่เวียดนาม แต่บริษัทที่พูดถึงในเวียดนามนั้นก็เป็นบริษัทของไทยนี่แหละด้วย เขาได้กำไรเพิ่มขึ้น 31% นั่นหมายความว่าเขาได้ประโยชน์ หลังการระบาด เมื่อพวกรายย่อยหายไปจากตลาด ก็จะเป็นโอกาสของฟาร์มขนาดใหญ่หรือขนาดกลางที่จะขยายการผลิตของตัวเองเพื่อให้รองรับกับความต้องการของตลาด เพราะฉะนั้นรายใหญ่เหล่านี้ก็จะได้ประโยชน์”

“พูดให้ถึงที่สุด การที่รายใหญ่อยู่รอดเพราะเขามีอิทธิพลเหนือตลาด ปัญหาหมูเองก็มีความคล้ายกับปัญหาไข่ ผมคิดว่าก็มี Pig Board ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากรัฐบาลและตัวแทนผู้ประกอบการ ซึ่งถ้าพิจารณาจาก Board ของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ที่ผ่านมาก็เป็นคนจากฟาร์มรายใหญ่หรือไม่ก็รายกลางนั่งเป็นประธาน ซึ่งเขามีสิทธิ์มีเสียงของตนเองอย่างเต็มที่”

สอดคล้องกับความเห็นของวิเชียรที่ว่าภาครัฐเอื้อประโยชน์ให้ทุนใหญ่ด้วยการโยนภาระให้เกษตรเลี้ยงหมูรายย่อยและรายกลางแบกรับ “สิ่งที่ปศุสัตว์ตอบสนองต่อการระบาดคือการออกมาอ้างว่าหมูที่เสียชีวิตเป็นโรคเพิร์สทั้งที่คนเลี้ยงทุกคนรู้ว่าไม่ใช่ แต่ทำไมกรมปศุสัตว์ไม่ออกมาประกาศ สิ่งที่จะช่วยให้ปัญหาถูกแก้คือความจริง การไม่ยอมรับว่ามีการระบาดเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2562 กระทั่งวันที่ 11 มกราคม 2565 ถึงจะยอมรับว่าตรวจพบเพียงตัวเดียว ในมุมผมเข้าใจว่าถ้าประกาศการระบาดจะส่งผลต่อธุรกิจอาหารของทุนใหญ่ที่ส่งออก แต่นั่นเป็นผลประโยชน์ของคนไม่กี่คน เมื่อเทียบกับการล่มสลายของผู้เลี้ยงหมูทั้งประเทศ และห่วงโซ่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เช่น ชาวนา ชาวไร่ข้าวโพด ชาวไร่มันสำปะหลังที่ผลิตอาหารให้กับระบบเลี้ยงหมู”

ขายผ้าเอาหน้ารอด แก้ปัญหาเรื่องไม่หมูแบบไทย ๆ

เสียงสะท้อนของวิเชียรและวิฑูรย์ชวนให้ผุดคำถามต่อเนื่องว่าแล้วมาตรการของรัฐที่มีทั้งระยะเร่งด่วน ระยะสั้น ระยะยาว ไม่เพียงพอสำหรับเป็นหลักประกันเรียกความมั่นใจและคลี่คลายความเดือดร้อนแก่เกษตรกรเลี้ยงหมูรายกลางและรายย่อยใช่หรือไม่

วิเชียรพยักหน้าและขยายความว่า “มาตรการภาครัฐไม่มีอะไรที่ช่วยได้เพราะยังไม่มีมาตรการอะไรที่เป็นรูปธรรม เมื่อเกิดการระบาดแล้วไม่มีการช่วยเหลือจากภาครัฐ ที่สำคัญ ณ เวลานี้ การแสดงท่าทีในการแก้ปัญหามันผิดเรื่องผิดราว มันแก้ไม่ถูกวิธี เพราะจริง ๆ ที่ราคาหมูแพงขึ้นนี้มาจากการที่หมูไหลหายจากระบบตลาด แม่หมู หมูขุน ตาย การไล่จับห้องเย็นที่ตุนเนื้อหมู ดูผิวเผินเหมือนจะช่วยคลี่คลายปัญหา แต่เอาเข้าจริงไม่มีประโยชน์สักเท่าไร เพราะจำนวนเนื้อหมูที่จับได้และอายัตไว้ ซึ่งภาครัฐอ้างว่ามีทั้งหมด 15 ล้านกิโลกรัม นั้นไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้หมูราคาแพง”

“ตอนนี้เขาก็พยายามออกข่าวว่าหมูราคาลงแล้ว เพราะเนื้อหมูที่อายัตถูกเอามาบังคับขายในราคาที่ราชการควบคุม แต่เมื่อหมูในห้องเย็นนี้หมด ราคาก็จะกลับมาแพงเหมือนเดิม จำนวนเนื้อสุกร 15 ล้านกิโลกรัม ถ้าคนแค่เพียง 40 ล้านคนบริโภคคนละ 2 ขีดต่อวัน ก็จะกินได้ 1.8 วัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่น้อยมากในการตุนและแทบไม่มีผลต่อราคาเลย”

การแก้ปัญหาแบบขายผ้าเอาหน้ารอด ด้วยการเน้นไปที่ทลายการกักตุนหมูแต่ไม่ได้จัดการควบคุมโรคให้อยู่หมัดและเร่งสร้างระบบการเลี้ยงหมูขึ้นมาใหม่ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นแบบฉาบฉวยที่ไม่เพียงแต่จะแทบไร้ประโยชน์กับเกษตรผู้เลี้ยงหมู แต่ยังเป็นการฟักราคาหมูให้แพงต่อเนื่องไปอีกระยะ ซึ่งกระทบกับผู้บริโภคหมูด้วย

วิเชียรอธิบายสมมติฐานข้างต้นว่า “คำพูดของเจ้าหน้าที่รัฐที่บอกให้ทนกินหมูแพงอีกหกเดือน ผมว่าคนพูดคงไม่มีความเข้าใจเรื่องระบบการเลี้ยง หกเดือนคือจำนวนเวลาในการเลี้ยงหมูขุนตั้งแต่เล็กจนถึงขายได้ แต่ระบบมันไม่ได้อยู่แค่นั้น ต้องนับรวมถอยหลังไป ตั้งแต่ระดับปู่ย่าหรือ GPS และระดับ พ่อแม่หรือระดับ PS ซึ่งล้มตายไปจากด้วย สองระดับนี้ใช้เวลาเต็มที่ระดับละสิบเดือน รวมทั้งสิ้นทั้งสามระดับคือ ระดับปู่ย่า ระดับพ่อแม่ หมูขุน จะใช้เวลาประมาณ 30 เดือน โดยต้องไม่มีอุปสรรคอันใดมาขัดขวางคือต้องมีเงินพร้อม ต้องมีสายพันธุ์พร้อม ต้องมีวัคซีนพร้อม”

“ผมมองสถานการณ์แล้วในอีกห้าปีนี้ก็ยังไม่ฟื้น ยังไม่อาจกลับมาสู่การเลี้ยงในระบบได้ สังคมไทยอาจยังมีหมูกิน แต่เป็นหมูที่มาจากบริษัทใหญ่ ราคาก็จะยังคงแพง อันนี้จะทำให้เกิดระบบผูกขาด ถ้ายังนำหมูเข้ามาโดยไม่จำกัดจำนวน ก่อให้เกิดหมูหน้าฟาร์มต่ำกว่าราคาต้นทุน ก็จะกลายเป็นการทำลายฟาร์มที่เหลือที่รอดพ้นจากโรค ด้วยระบบการนำเข้า เพราะฉะนั้นทำอย่างไรให้ราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มไม่ต่ำกว่าต้นทุน”

คุมโรค ชดเชยคนเลี้ยง ทลายการผูกขาด

ทางออกที่ควรถูกนำมาแก้วิกฤติหมูจะมีอะไรได้บ้าง วิเคราะห์ผ่านสายตาของคนเลี้ยงหมูมาไม่ต่ำกว่าสามสิบปี ทั้งยังเข้าใจสถานการณ์หมูขณะนี้เป็นอย่างดี วิเชียรเสนอว่า “ระยะเร่งด่วนที่ต้องทำตอนนี้คือสำรวจและกำจัดหมูที่มีเชื้อ นี่เป็นทางเดียวที่จะทำให้เกษตรกรที่เหลืออยู่รอดได้ ซึ่งเป็นวิธีการที่ทางยุโรปใช้ได้ผลทั้งที่ไม่มีวัคซีน เพราะถ้าปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติมันจะระบาดจนทั่วและหมดประเทศ ถึงแม้ฟาร์มจะมีระบบป้องกันอย่างไรก็ไม่รอด ขณะเดียวกันก็ควรมีมาตรการจ่ายค่าชดเชยให้กับเจ้าของฟาร์มหมูนั้นด้วย จ่ายให้ 50% ของมูลค่าความเสียหาย ก็เพียงพอแล้วที่จะช่วยแบ่งเบาภาระ สำคัญที่สุดคือคนเลี้ยงหมูจะให้ความร่วมมือในการมาแจ้งแน่นอน”

ในระยะสั้น “ควรออกแบบระบบการวางแผนในการช่วยฟื้นฟูที่ดีและเป็นระบบ โดยสร้างระบบให้เกษตรกรเข้ามาอยู่ในระบบสหกรณ์ แทนที่จะปล่อยให้ฟาร์มสุกรต้องเข้าไปสู่ระบบฟาร์มพันธะสัญญารวมถึงให้เลี้ยงแบบปลอดยาปฏิชีวนะ โดยเฉพาะรายเล็กที่มีหมูขุนไม่เกิน 100 ตัว และแม่พันธุ์ไม่เกิน 50 ตัวต้องได้รับการช่วยเหลือก่อน โดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์เพราะทุกคนคงตั้งหลักทรัพย์ไว้ที่ธนาคาร แต่ควรให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมมาค้ำประกันสินเชื่อนี้ ส่วนรายกลางและรายใหญ่ ก็ควรมีนโยบายให้ธนาคารสนับสนุนเงินดอกเบี้ยต่ำเป็นระยะเวลา 5 ปี”

“ส่วนเรื่องการนำเข้าเนื้อสุกรขณะนี้เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว แต่ต้องไม่นำเข้ามากอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้ราคาในประเทศตกต่ำ มิฉะนั้นก็จะซ้ำเติมการทำลายเกษตรกรรายเล็ก ๆ รายย่อย และรายใหญ่บางราย ที่เหลือรอดจาก ASF ให้หมดไป โดยกำหนดจากราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มต้องสูงกว่าต้นทุนอย่างน้อย 5 บาท เพื่อเป็นเงินกำไรในการผลฟื้นตัว  ส่วนกำไรจากการนำเข้าต้องเอาเข้ากองทุนเพื่อสนับสนุนแผนการฟื้นฟู จะเท่าไรก็ควรตกลงกันเองของผู้นำเข้าและสมาคมผู้เลี้ยงหมู”

“ท้ายสุดเรื่องการจัดการดอกเบี้ย ผมเสนอว่าควรการจัดการแขวนดอกเบี้ยเพราะสำคัญที่จะทำให้คนเหล่านั้นยังมีเวลาหายใจเพื่อที่จะกลับมาเมื่อมีความพร้อม อันนี้เป็นวิธีที่ดี และอยากให้ใช้ในระยะเวลาอันสั้นนี้ ไม่งั้นเกษตรกรเลี้ยงหมูก็จะถูกฟ้องร้องล้มละลายอีกเยอะ ซึ่งเมื่อถูกฟ้องร้องแล้ว การกลับมาไม่มีแน่นอน”

ด้านวิฑูรย์มองในมุมระยะยาวและยั่งยืน โดยเสนอว่า “รัฐบาลควรพุ่งเป้าช่วยกลุ่มที่เลี้ยงสิบตัวไม่เกินร้อยตัว โดยต้องปรับระบบการเลี้ยงหมูเสียใหม่ คือการเลี้ยงหมูปัจจุบันที่เราเห็นอยู่เป็นการเลี้ยงสายพันธุ์เพื่อการค้า และใช้อาหารสัตว์สำเร็จรูป ผู้เลี้ยงหมูกลุ่มนี้ถ้าจะขยายปริมาณการเลี้ยงหมูเพิ่มขึ้นก็ควรจะทำสองแบบ แบบที่หนึ่งเป็นการเลี้ยงแบบดั้งเดิม คือเลี้ยงหมูพื้นบ้าน หมูดำ หมูหลุม อันนี้ก็ส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับเรื่องการจัดการอาหารสัตว์ในพื้นที่อยู่แล้ว ทำให้เขาผลิตอาหารสัตว์ได้เอง”

ส่วนการแก้ปัญหาใต้ภูเขาน้ำแข็ง วิฑูรย์เสนอว่า “การผูกขาด การมีอิทธิพลเหนือตลาดของบริษัทใหญ่ รัฐต้องจัดการทั้งการผลิตและการตลาด ต้องมีมาตรการอย่าให้มีการควบรวมกิจการเพิ่มการผูกขาดการกระจายอาหาร อันนี้เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ”

ถึงตรงนี้ เสียงของเกษตรกรเลี้ยงผู้หมูมาค่อนชีวิตอย่างวิเชียรและเสียงของนักวิชาการผู้ศึกษาเกี่ยวกับการจัดการวิกฤติหมูอย่างลงลึกอย่างวิฑูรย์ ต่างสะท้อนความจริงไปในทิศทางเดียวกันว่าแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เช่นที่กรมปศุสัตว์กล่าวอ้างนั้นยังไม่ปรากฏให้เห็น หากจะจุดแสงแห่งความหวังให้พอก้าวพ้นวิกฤติหมูครั้งนี้ไปบ้าง การเดินตามทางออกของทั้งสองคนซึ่งมีจุดร่วมที่สำคัญคือจัดการปัญหาทั้งบนยอดและใต้ภูเขาน้ำแข็งให้ได้ คือภาครัฐต้องทั้งควบคุมโรค ASF ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยการจัดการทำลายหมูในฟาร์มที่ติดเชื้อ ASF ให้หมดอย่างเร่งด่วน พร้อมป้องกันไม่ให้เกิดเชื้อซ้ำ ทั้งยังต้องทลายการผูกขาดและการมีอำนาจเหนือตลาด เปิดทางให้การค้าหมูเป็นไปตามกลไกตลาด เช่นนั้นก็น่าจะช่วยเหลือเกษตรเลี้ยงหมูรายเล็กและรายกลางได้กลับเข้าสู่ในระบบเลี้ยงหมูอีกครั้งอย่างมีความหวังและความเชื่อมั่น