อาชีพนักสื่อสารดาราศาสตร์ นักต่อสู้กับความไม่รู้ พูดคุยกับ "ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ " - Decode
Reading Time: < 1 minute

Space for Thai

นิศาชล คำลือ

เรามักจะได้ยินและได้เห็นคำว่านักบินอวกาศ นักดาราศาสตร์ และนักวิจัยผ่านหูผ่านตากันอยู่บ่อยครั้ง แต่ไม่บ่อยนักที่เราจะได้เห็นหรือได้ยินคำว่า “นักสื่อสารดาราศาสตร์”

แม้การสื่อสารจะดูเป็นเรื่องเล็กน้อยที่เราทำกันเป็นปกติอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน แต่การสื่อสารนั้นเปราะบางมาก ผู้รับสารสามารถรับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องได้จากความผิดพลาดในการสื่อสารเพียงเล็กน้อย แต่หากเรารู้จักใช้การสื่อสารอย่างถูกวิธี ไม่จำเป็นเลยที่จะต้องมีมีดหรือปืน เราก็สามารถเปลี่ยนความคิดของคนได้ในชั่วพริบตา ฉะนั้นการสื่อสารจึงทั้งเปราะบางและทรงพลังมากในเวลาเดียวกัน มันสร้างคนได้ และมันทำลายคนได้

ผู้เขียนมีโอกาสรู้จักกับหนึ่งในนักสื่อสารดาราศาสตร์ที่เก่งมาก ๆ คนหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว และในวันนี้ผู้เขียนก็อยากจะให้ผู้อ่านทุกท่านได้รู้จักกับอาชีพนักสื่อสารดาราศาสตร์มากกว่าที่เคยรู้จักผ่านเรื่องเล่าของ พี่แจ็ค – ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ 

พี่แจ็คเรียนจบมัธยมศึกษาจากโรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคารจังหวัดน่าน ก่อนที่จะศึกษาต่อสาขาฟิสิกส์ในระดับปริญญาตรี และเทคโนโลยีการสื่อสารในระดับปริญญาโท จนในที่สุดก็เข้าทำงานกับสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติในปี พ.ศ. 2549 มาจนถึงปัจจุบัน

ด้วยความที่เป็นคนมีบุคลิกห้าว ๆ สบาย ๆ ทำให้พี่แจ็คเป็นคนคุยด้วยง่าย จึงกลายเป็นที่ชื่นชอบและที่จดจำของหลาย ๆ คนที่มีโอกาสได้เดินทางไปฟังบรรยายหรือร่วมกิจกรรมที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ นอกจากนี้พี่แจ็คยังเป็นนักดาราศาสตร์สายถ่ายภาพที่เก่งมาก ๆ คนหนึ่ง ทำให้พี่แจ็คเป็นที่รู้จักในแวดวงของนักดาราศาสตร์สมัครเล่นอย่างแพร่หลาย และแน่นอนว่าเป็นผู้ใหญ่ที่ผู้เขียนให้ความเคารพมาจนถึงปัจจุบัน

ก่อนจะไปพูดถึงหน้าที่ของนักสื่อสารดาราศาสตร์อย่างพี่แจ็ค เราต้องท้าวความไปถึงพันธกิจของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติที่มีด้วยกันทั้งหมด 4 ข้อ เพื่อให้เห็นภาพรวมของการทำงานในสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ซึ่งได้แก่ 

  1. การวิจัยด้านดาราศาสตร์และอวกาศ วิทยาศาสตร์บรรยากาศ และสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง
  2. การพัฒนาเทคโนโลยี เทคนิควิศวกรรม เพื่อสร้างนวัตกรรมดาราศาสตร์ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
  3. การให้บริการวิชาการ สื่อสารดาราศาสตร์สู่สังคมไทย และสนับสนุนภาคการศึกษาทุกระดับ 
  4. การสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ

จากพันธกิจทั้ง 4 ข้อ จะเห็นได้ว่าฝ่ายงานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ที่นักสื่อสารดาราศาสตร์ทำงานอยู่นั้น ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทำตามพันธกิจในข้อที่ 3 โดยแบ่งกลุ่มเป้าหมายออกเป็น 4 กลุ่ม คือ

  1. นักเรียน นักศึกษา และเยาวชน 
  2. ครู 
  3. ประชาชน 
  4. นักดาราศาสตร์สมัครเล่น 

ฉะนั้น งานของนักสื่อสารดาราศาสตร์อย่างพี่แจ็คก็คือการมอบความรู้ความเข้าใจด้านดาราศาสตร์ให้กับผู้คน ผ่านวิธีการและกิจกรรมที่แตกต่างกันออกไปตามกลุ่มเป้าหมาย มันไม่ใช่งานที่ง่าย และเป็นงานที่ต้องใช้เวลา กว่าที่จะบ่มเพาะให้คนในสังคมมีความรู้ความเข้าใจในดาราศาสตร์และอวกาศ และมีกระบวนการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล “ส่วนที่ยากที่สุดในการทำงานคือการต้องต่อสู้กับความไม่รู้และความเชื่อที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์”

“ในอนาคตคนไทยจะได้เห็นอะไรจากนักสื่อสารดาราศาสตร์อย่างพี่บ้าง”

“ต้องการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับทุกกลุ่มเป้าหมายว่าเรียนดาราศาสตร์เรียนไปทำไม และงานดาราศาสตร์ให้อะไรกับสังคม เอาดาราศาสตร์เข้าสู่กลุ่มผู้พิการ ดาราศาสตร์สำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกาย Darksky Campange เอาดาราศาสตร์เข้าไปสู่กลุ่มผู้ประกอบการ เอาดาราศาสตร์ลงไปสู่ชุมชน จะทำให้ชุมชนมีรายได้ได้อย่างไร รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยี” พี่แจ็คกล่าว

เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่เหมาะแก่การสังเกตการณ์ทางท้องฟ้าเป็นอย่างมาก นั่นคือเหตุผลที่กล้องโทรทรรศน์แห่งชาติตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่เมื่อหลายปีที่ผ่านมานี้ นักดาราศาสตร์ต้องเผชิญกับ Light Polution หรือมลภาวะทางแสง ที่รบกวนการสังเกตการณ์ทางท้องฟ้ายามค่ำคืน แม้จะยังไม่มีการเปิดตัวอย่างแน่ชัดว่า Darksky Campange คืออะไร แต่ฟังจากที่พี่แจ็คเล่าแล้วน่าจะเป็นการนำความรู้ความเข้าใจลงไปสู่ชุมชน ส่งเสริมให้ชุมชนรักษาท้องฟ้ามืดยามค่ำคืนเพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติในตอนกลางคืน ไม่ว่า Darksky Campange นี้จะออกมาในรูปแบบไหน แต่มันจะทำให้ชุมชนได้ผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจแน่นอน และเป็นการแก้ปัญหา Light Polution ที่นักดาราศาสตร์ต้องเผชิญ เรียกได้ว่ามีแต่ได้กับได้ทั้งคู่ นอกจากนี้การสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนว่าเรียนดาราศาสตร์เรียนไปทำไม และงานดาราศาสตร์ให้อะไรกับสังคม ยังจะเป็นการลดช่องว่างของคนไทยกับอวกาศอีกด้วย เนื่องจากปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนไทยในปัจจุบันยังห่างไกลอวกาศ เป็นเพราะประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจว่ามันสามารถนำไปต่อยอดเลี้ยงชีพได้อย่างไร 

ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ได้มีเพียงสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติเท่านั้นที่สังเกตเห็น แต่เท่าที่ผู้เขียนทำงานและได้รู้จักคนในแวดวงนี้มา มีเพียงสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติเท่านั้นที่มีแนวทางการแก้ปัญหาที่ตรงจุด เรียบง่าย ไม่สิ้นเปลืองเกินเหตุ และได้ผล 

“เราจะไม่ปฏิเสธการร้องขอ” พี่แจ็คเล่าว่านี่เป็นคติในการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกคนในสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ด้วยคตินี้ทำให้งานสื่อสารทางด้านดาราศาสตร์ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติเป็นที่ยอมรับของนานาชาติได้สำเร็จในที่สุด

ที่นี่เป็นสถานที่บ่มเพาะผู้คนให้มีความรู้และกระบวนการคิดบนหลักการทางวิทยาศาสตร์ และที่สำคัญมันเป็นสถานที่บ่มเพาะแรงบันดาลใจ ไม่ว่าคุณจะตามหาความรู้หรือแรงบันดาลใจ ที่นี่เป็นหนึ่งในสถานที่ที่ผู้เขียนแนะนำให้คุณไปสักครั้ง ไปเจอผู้คนที่พร้อมจะส่งต่อสิ่งเหล่านั้นให้กับคุณ และหากคุณเป็นผู้นำหรือผู้บริหารหน้าใหม่ ผู้เขียนแนะนำให้คุณซึมซับการวางโครงสร้างการทำงานและแนวคิดการทำงานจากที่นี่เช่นกัน เพราะที่นี่มีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์เป็นอย่างมาก และวิสัยทัศน์ที่ชาญฉลาดคือสิ่งที่จะทำให้องค์กรขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้

จากที่ผู้เขียนกล่าวมาทั้งหมด ต้องออกตัวก่อนว่าผู้เขียนไม่มีส่วนได้ส่วนเสียอะไรกับที่นี่แม้แต่น้อย เพียงแต่ที่นี่เคยให้ความรู้ ประสบการณ์ แรงบันดาลใจ และวิสัยทัศน์แก่ผู้เขียน มันจึงเป็นเหตุผลที่ผู้เขียนแนะนำให้คุณลองไปสัมผัส

หากใครที่อ่านมาถึงตรงนี้และมีความหลงใหลอยากจะทำงานด้านอวกาศ ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเรื่องเล่าของพี่แจ็คจะทำให้คุณได้เห็นมิติของงานด้านนี้มากขึ้นว่ามันมีอะไรมากกว่าการนั่งเฝ้ามองท้องฟ้า และมีอีกหลากหลายอาชีพที่มากกว่านักบินอวกาศ นอกจากนี้คุณยังสามารถเป็นนักดาราศาสตร์ นักวิจัย นักสื่อสารดาราศาสตร์ หรืออะไรก็ตามที่คุณอยากจะเป็นในคน ๆ เดียวกัน เหมือนที่พี่แจ็คเป็นนักดาราศาสตร์สายถ่ายภาพที่ยอดเยี่ยม และเป็นนักสื่อสารดาราศาสตร์ที่เก่งมากในคน ๆ เดียวกัน

“ดาราศาสตร์เป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ ๆ ตัวเรา งานดาราศาสตร์จึงไม่ได้มีแค่เฝ้ามองท้องฟ้าเท่านั้น” – ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ กล่าว