หนุ่มสาวพลัดถิ่น(ชายแดนใต้) ภูเขาน้ำแข็งแห่งดินแดนชายขอบ - Decode
Reading Time: 3 minutes

“เพื่อน ๆ ละแวกบ้านที่โตมาด้วยกัน ตอนนี้กลับไปที่บ้านหาไม่เจอแล้วน่ะ ต้องมาหากันที่กรุงเทพฯ”

คำบอกเล่าของ ยามารุดดิน ทรงศิริ วัย 25 ปี ซึ่งจากยะลา บ้านเกิด มาตั้งแต่เริ่มเข้าเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย ก่อนจะหวนกลับมาทำงานและศึกษาต่อปริญญาโทที่กรุงเทพฯ อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เขาและเพื่อนของเขาอีกไม่น้อยเดินทางกลับไม่ถึงบ้าน แม้ว่าใจจะอยากกลับก็ตาม เพราะสถานการณ์ความรุนเเรง?  การพัฒนาที่ถดถอย? หรือเรื่องเศรษฐกิจปากท้องเหมือนกับที่คนพื้นที่อื่น ๆ อ้างถึงเมื่อต้องทิ้งบ้านเกิดมา

De/code ชวนหาคำตอบของคำถามดังกล่าวพร้อมกับมองความเป็นไปของภาวะสมองและแรงงานไหลออกจากพื้นที่ชายแดนใต้ กับยามารุดดิน และ ผศ.ดร. แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

ไม่ใช่ที่ ๆ ดีที่สุด แค่เลือกเมืองที่ดีกว่า

เมื่อเรียนจบปริญญาตรี ยามารุดดิน สมัครเข้าทำงานที่ศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการ ก่อนจะตัดสินใจลาออกมาศึกษาปริญญาโทที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระหว่างนี้ก็กำลังหางานเสริมที่จะไปกันได้กับสิ่งที่ตนเรียน การอยู่กรุงเทพฯ จึงไม่ใช่แค่เหตุผลเรื่องคุณภาพชีวิต หากแต่มหานครแห่งนี้ให้ที่ทางกับความฝันของเขาได้ขยับเข้าใกล้ความจริงมากกว่าที่ยะลา เช่นที่เขาเผยว่า

“ไม่ใช่เราเลือกที่จะไม่ทำงานในพื้นที่ แต่ในพื้นที่ไม่มีอะไรให้เราทำ จริงอยู่ว่าอาจจะมีงานบ้าง แต่ก็ไม่ได้ตอบโจทย์ชีวิตของเรา และต้องยอมรับว่าตัวเลือกมันน้อยกว่าในเมือง ถึงแม้ว่าเราจะหางานที่จะตอบโจทย์ในเมืองไม่ได้ แต่มันเป็นโอกาสที่เราจะได้ชีวิตที่ใกล้กับความฝันมากกว่า พื้นที่เมืองมันตอบโจทย์กว่า คุณอยู่ที่นี่คุณยังสามารถฝันได้ เปลี่ยนฝันได้ ยืดหยุ่นในการเลือก เช่น อยากเป็นพนักงานร้านกาแฟ อยากเป็นกระเป๋ารถเมล์ เป็นอะไรก็ตามไม่ว่าจะยิ่งใหญ่หรือเล็กน้อย กรุงเทพฯ มันให้คุณได้มากกว่า”

“ความฝันของผมหลัก ๆ คืออยากทำงานด้านวิชาการ แต่ในระยะสั้นตอนนี้ก็อยากเป็น content creator อยากทำอะไรที่เป็นเชิงประเด็น แต่การอยู่กับสำนักข่าวต่าง ๆ ก็รวมศูนย์อยู่ที่กรุงเทพฯ”

อย่างไรก็ดีน้ำเสียงหนักแน่นที่เน้นย้ำว่าทุกสิ่งอย่างรวมศูนย์อยู่ที่กรุงเทพฯ ก็ไม่ได้ยืนยันว่ากรุงเทพฯ จะเป็นเมืองที่ดี สำหรับยามารุดดินแล้ว เขามองว่า “จริง ๆ แล้วกรุงเทพฯ ก็เป็นเมืองที่แย่ แต่ที่อื่นมันแย่กว่ากรุงเทพฯ เป็นหลายสิบเท่า บางคนอาจตั้งคำถามว่าจริงเหรอ คือผมอยากบอกว่าเวลาที่เราพูดว่าแย่นี้ เราอย่ามองชุมชนคนเมืองของที่นั่นอย่างเดียว เช่น เชียงใหม่มันน่าอยู่ อากาศดี หรือยะลาผังเมืองมันสวย ถ้ามองแบบนั้นมันก็จะเห็นแต่ภาพที่สวย ๆ แต่คือพูดถึงต่างจังหวัดอยากให้มองไปที่ชุมชนชนบทจริง ๆ ปัญหามากมายอยู่ตรงนั้น”

โอกาส” ที่เจ็บปวด

การได้โบยบินออกมาจากสามจังหวัดชายแดนใต้แม้จะเป็นโอกาสที่จะได้มีงานทำ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นโอกาสที่ต้องแลกด้วยหลายสิ่งอย่าง ตั้งแต่ต้องห่างไกลจากพ่อแม่หรือญาติมิตรที่รัก  หรือแม้แต่อาหารการกิน การอยู่ตัวคนเดียวในเมืองที่เต็มไปด้วยคนแปลกหน้าก็ไม่ใช่ความสุนกเสมอไป

“ผมมองว่ามันก็เป็นโอกาสของคนที่เขาได้หลุดออกมาจากพื้นที่ตรงนั้น ทว่าก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าต้องเผชิญกับความลำบาก แต่การอยู่บ้านลำบากกว่าอยู่แล้ว เพราะไม่งั้นเขาไม่ขึ้นมาแน่ ๆ ตรงนี้เลยเป็นความโชคดีของเขาที่ได้เป็นคนส่วนหนึ่งซึ่งหลุดมาได้ แต่มันก็มีความเจ็บปวดอยู่ คำถามคือทำไมคนเหล่านี้เขาไม่อยู่บ้าน ไม่อยู่กับพ่อกับแม่ คือเราจะเห็นภาพคนสูงอายุกับเด็กในพื้นที่ แต่คนวัย 20 – 40 ออกไปเรียนหนังสือ ไปหางานทำที่อื่น นอกจากความเจ็บปวดของคนแล้ว ผมเลยมองว่ามันคือความเจ็บปวดของพื้นที่ด้วย”

“ตอนนี้สังคมสามจังหวัดฯ มันไม่ใช่ aging society แล้วน่ะ แต่เป็น aged ไปแล้ว

คนวัยกลางคนไม่อยู่ในพื้นที่  ช่องกลางตรงนี้จึงเป็นช่องว่าง พื้นที่เหลือแต่คนแก่กับเด็ก ศักยภาพในการพัฒนาก็จะมีน้อยลง แล้วมันก็จะถอยลงเรื่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่ตรงกลางมันสำคัญ ดังนั้นต้องรีบดึงสมองที่ไหลออกจากพื้นที่ให้กลับมาได้

น้ำเสียงที่เต็มไปด้วยความผิดหวังและปวดร้าวของยามารุดดินฉายภาพวงจรการย้ายถิ่นฐานของคนหนุ่มสาวในสามจังหวัดชายแดนใต้ได้ชัดเจน การย้ายออกจากพื้นที่ที่เริ่มต้นจากการถูกบีบเพราะทางเลือกน้อย ก่อนจะค่อย ๆ กลายเป็นความเจ็บปวดที่ต้องแบกรับ และสุดท้ายก่อผลกระทบต่อโครงสร้างประชากรในพื้นที่ จึงน่ากังวลว่าห้วงขณะปัจจุบันที่คนหนุ่มสาวเดินทางออกจากดินแดนชายขอบแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง จะหลงเหลือกำลังคิดและกำลังกายพัฒนาพื้นที่ไว้สักเท่าไหร่ หรือถึงที่สุดแล้วการพัฒนาต้องชะงักงันและถอยหลังไปเรื่อย ๆ เช่นที่ยามารุดดินกังวลจริง ๆ

แรงบีบคั้นที่มากกว่าความไม่สงบ

หากผุดคำถามขึ้นว่าปัจจัยใดกันที่ทำให้ที่นั่นมีทางเลือกของชีวิตน้อย หลายคนคงพุ่งเป้าคำตอบไปที่สถานการณ์ความรุนแรงที่ดำเนินต่อเนื่องมาอย่างน้อย 17 ปี ซึ่งก็จริงอยู่ที่เรื่องนี้จะเป็นหนึ่งในต้นเหตุ เช่นที่อาจารย์แพรระบุว่า

“ถ้าคิดจากฐานของความไม่สงบในช่วงเวลาสิบเจ็ดปีมานี้ เราอาจคิดว่ามีแต่คนมลายูมุสลิมเท่านั้นที่ย้ายออก แต่จริง ๆ แล้วมีคนไทยพุทธ คนจีนด้วยที่เคลื่อนย้าย แน่นอนว่าสาเหตุหนึ่งเป็นเรื่องของความไม่สงบ โดยเฉพาะประชากรไทยพุทธ ไทยจีน ก็จะขยับจากกัมปง (ชนบท) ไปอยู่ในเมือง ดังนั้นโครงสร้างประชากรเปลี่ยน อย่างตลาดปาลัด ปานาเระนี้ไม่เหลือคนจีนแล้ว”

ขณะที่ยามารุดดินให้ความเห็นต่อประเด็นเดียวกันว่า “ส่วนตัวผมก็ยอมรับนะว่าเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ส่งผลให้คนออกมาจากพื้นที่ แต่ผมว่ามันไม่ใช่เหตุผลหลักสำหรับการอพยพของคนจำนวนมาก คือก็ยอมรับนะครับว่ามีคนเสียชีวิตจากเหตุกรณ์แต่ผมรู้สึกว่าชีวิตมันยังอยู่ได้  มันไม่เป็นแบบซีเรีย จริง ๆ ผมมองว่าต้นสายปลายเหตุคือเรื่องเศรษฐกิจมากกว่าที่ผลักคนให้ออกมา แต่ถ้าจะอธิบายเรื่องความรุนเเรงในพื้นที่ผมคงไม่อธิบายว่าเพราะมีการยิงกันคนเลยพากันย้ายออก

เเต่ผมคงต้องอธิบายว่าเพราะการยิงกันมันส่งผลต่อเศรษฐกิจในพื้นที่ แล้วปัญหาเศรษฐกิจในพื้นที่จะบีบให้คนอพยพกันออกมาจากพื้นที่

“ซึ่งก็เกี่ยวโยงกับปัญหาการรวมศูนย์อำนาจ คือที่อื่นก็มีอำนาจที่ซ้อนทับอย่างเช่น อบจ. อบต. กับผู้ว่าราชการฯ แต่ที่สามจังหวัดอำนาจจัดการซ้อนกันอย่างยุ่งเหยิงมากกว่านั้น เพราะนอกจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ และผู้ว่าราชการจังหวัดฯ แล้ว ที่นี่ยังมี กอ.รมน. มี ศอ.บต. เข้ามามีอำนาจในการจัดการ ซึ่งผู้มีอำนาจในการตัดสินของสององค์กรหลังนี้ก็มาจากส่วนกลาง ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มาจากประชาชนและยึดโยงใกล้ชิดกับพื้นที่จริง ๆ  กลับทำอะไรได้ไม่มากนัก การแก้ปัญหาเศรษฐกิจเเละปัญหาอื่น ๆ จึงไม่ได้แก้ด้วยมุมมองและความต้องการของคนในพื้นที่จริง ๆ”

อีกเรื่องที่ยามารุดดินระบุว่าเป็นปัจจัยผลักคนออกคือความไม่เป็นรัฐสวัสดิการของไทย

“เรื่องที่ผมไม่อยากให้ตกสังเกตคือเราอยู่ในรัฐทุนนิยม รัฐที่ไม่ดูแลประชาชนเท่าที่ควร ทำให้คนต้องดิ้นรนทิ้งบ้าน ทิ้งครอบครัวออกมาทำงานที่อื่น เพื่อจะเอาเงินส่งกลับไปที่บ้าน ตรงนี้ก็เป็นปัญหาด้วยอย่างหนึ่ง ผมว่าถ้ารัฐเข้ามาดูแลคนในพื้นที่ ให้มีสวัสดิการดีขึ้น ทำให้คนชรา เด็ก มีสวัสดิการที่ดี คนทำงานก็จะได้ไม่ต้องดิ้นรนมากขนาดนั้น เพราะมีรัฐคอยดูแลและสนับสนุนแล้วในระดับหนึ่ง การออกจากพื้นที่ของคนก็จะน้อยลง เพราะภาระมันลดลง

ผมว่าแนวทางหนึ่งในการแก้คืออาจต้องทำให้สวัสดิการของคนในพื้นที่ดีขึ้น”

ทั้งนี้สวัสดิการดังกล่าวอาจต้องรวมเรื่องการศึกษาไว้ด้วย เนื่องจากเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยที่ไล่ต้อนคนในพื้นที่ให้จนมุม เพราะขาดความรู้เเละทักษะที่จำเป็น จึงเหลือทางเลือกไม่มากในการทำงาน ซึ่งน่าสนใจว่านอกจากการยกระดับคุณภาพการศึกษาเเล้ว รัฐอาจต้องมีสวัสดิการที่เข้าไปโอบอุ้มให้เด็ก ๆ ที่นั่นยังคงอยู่ในระบบศึกษาที่มากกว่าเเค่เรียนฟรี เเต่ควรไปไกลถึงการลดค่าใช้จ่ายเเอบเเฝงต่าง ๆ  เช่นทีอาจารย์เเพรเผยถึงปัญหานี้ว่า

“คือก็ต้องยอมรับความจริงว่าคุณภาพการศึกษาที่นั่นค่อนข้างต่ำซึ่งสัมพันธ์กับความเหลื่อมล้ำ คนยากจนไม่สามารถส่งเสียลูกเรียนได้ เเละปัญหาก็มีเรื่องขาดแคลนครู ภาษาแม่ที่แตกต่างกับหลักสูตร การมีโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาจำนวนมากแต่ขาดการควบคุมคุณภาพ รวมถึงเรื่องคอร์รัปชันทางการศึกษาที่ไม่ถูกพูดถึง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยให้การศึกษาของคนที่นั่นไม่ดี พอไม่ดีมันก็ส่งผลต่อโอกาสในการทำงาน ซึ่งสุดท้ายมันก็มีทางเลือกในการทำงานที่น้อย มันเป็นความไม่พร้อมของคนที่นั่นเองด้วย”

สอดคล้องกับประสบการณ์ของยามารุดดินที่เล่าถึงเพื่อนบ้านของเขาว่า

“ผมรู้จักกับครอบครัวนึง เขามีลูก 4 คน คนแรกเเละคนที่สองเป็นรุ่นพี่ผม คนที่สามรุ่นเดียวกับผม ส่วนอีกคนเป็นรุ่นน้องผมอีกปี ทั้งหมดไม่ได้เรียนหนังสือต่อ เขาต้องเสียโอกาส เพราะมีภาระผูกพันหลายอย่าง ทุกอย่างบีบพวกเขาให้เลือกเเค่กรีดยาง หรือก่อสร้าง ทั้งที่เขาต้องการตัวเลือกที่มากกว่านั้น”

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัญหาการเข้าไม่ถึงการศึกษายึดโยงอยู่กับปัญหาปากท้อง ซึ่งอาจารย์เเพรขยายความต่อด้วยการขยับปัจจัยต่อเนื่องมาที่เรื่องเศรษฐกิจว่า

“รัฐก็พยายามไปยกระดับคุณภาพชีวิต ไปสร้างอาชีพ ทำอิฐบล็อก เลี้ยงแพะ เลี้ยงแกะ คำถามคือในเมื่อมีโครงการแบบนี้ แล้วทำไมเศรษฐกิจไม่ดี ทำไมคนยังไปทำงานนอกพื้นที่ ช่วงสามสีปีที่ผ่านมาตอนลงพื้นที่ ก็ถามเขาว่ากังวลเรื่องอะไร เขาก็บอกไม่กังวลเรื่องความรุนแรง แต่สิ่งที่กังวลจริง ๆ คือเรื่องปากท้อง เพราะคนที่นั่นอยู่บนพื้นฐานของการประมง ก็ได้รับผลกระทบจากการที่ทรัพยากรหดหาย ปัญหาระหว่างประมงพื้นบ้านกับประมงพาณิชย์ ฝั่งคนทำเกษตรก็จะมีปัญหาเรื่องราคายางตกต่ำ น้ำแล้ง ซึ่งก่อนหน้าไม่เคยมีปัญหานี้  กรีดยางได้เงินครึ่งนึงจากเดิม หรือกล้วยหินที่เป็นโรคเหี่ยวเครือมาตลอด แต่ประเด็นเหล่านี้ไม่ค่อยถูกพูดถึงมากนักทั้งในแง่สื่อ แง่วิจัย หรือนโยบายต่าง ๆ ที่ลงไป คนส่วนใหญ่มักพุ่งเป้าไปที่สถานการณ์ความไม่สงบ ก็ชวนให้เกิดคำถามหลาย ๆ อย่างว่าหน่วยงานที่ลงไปส่งเสริมเรื่องต่าง ๆ นั้นตรงตามความต้องการจริง ๆ หรือมั้ย ตอบโจทย์เขาจริง ๆ มั้ย หรือมันเป็นแค่นโยบาย Top Down ลงมา”

ความเห็นของทั้งสองคนเผยให้เราเห็นแผลของปัญหาการย้ายถิ่นฐานที่ลึกลงไปถึงเนื้อในมากขึ้น กล่าวโดยสรุปคือต้นเหตุที่ทำให้พื้นที่ชายแดนใต้ทางเลือกในการดำรงชีวิตมีน้อยจนต้องออกมาไม่ได้ยึดโยงอยู่แต่กับสถานการณ์ความรุนแรงเท่านั้น หากแต่เรื่องเศรษฐกิจและคุณภาพการศึกษาซึ่งไม่เอื้อต่อการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีคุณภาพ รวมทั้งแรงบีบคั้นจากการไร้สวัสดิการที่ดีก็ล้วนเป็นต้นเหตุที่อาจต้องทำเข้าใจมากขึ้น  เพราะอย่างน้อยที่สุดจะทำให้การแก้ปัญหาตรงจุด ไม่เสียงบประมาณและเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์

เตรียมพร้อมโอบรับคนกลับบ้าน

จะเห็นว่าปัญหาที่กล่าวมายึดโยงกับการบริหารจัดการของภาครัฐอย่างไม่อาจแยกออกจากกันได้ การจะพาคนกลับบ้านเช่นที่ยามารุดดินหวังให้เกิดขึ้น จึงอาจต้องอาศัยนโยบายจากภาครัฐที่ตรงจุดจริง ๆ

ต่อประเด็นทางออกนี้เอง อาจารย์แพรเสนอว่า “ในบรรดาชายแดนของไทย ชายแดนที่ติดกับมาเลเซียมีมูลค่ารวมทางเศรษฐกิจเยอะที่สุด คือถ้าทำระบบโลจิสติกส์ให้ดี เปิดโอกาสให้คนในพื้นที่ได้เข้าสู่คาบสมุทรมลายู แต่ที่ผ่านมารัฐกลับกังวลเรื่องความมั่นคงจนทำให้การค้าไปสู่คาบสมุทรมลายูค่อนข้างยาก มาถึงวันนี้ 17 ปี คุณควรก้าวข้ามการย่ำอยู่กับเรื่องความรุนแรงในพื้นที่ เพราะตอนนี้ด้วยสถานการณ์ที่กระทบต่อประชาชนลดน้อยลง และการต่อสู้ก็เปลี่ยนไป การระเบิดลดน้อยลงแล้ว”

“เรื่องของการศึกษาก็ควรออกแบบใหม่ ควรเน้นสร้างทรัพยากรมนุษย์ให้เหมาะกับการพัฒนาและวัฒนธรรมของพื้นที่ อาจต้องถามความต้องการของคนในพื้นที่ว่าในอนาคตเขาต้องการให้อะไรเกิดขึ้น ไม่ผิดถ้าเขาจะเป็นระเบียงของเมกกะห์ ซึ่งเขาก็ต้องยืนยันว่ามิติหนึ่งเขาต้องการทางศาสนา เชื่อมต่อกับโลกอาหรับ รัฐก็ไม่ควรไปกังวลว่าจะกระทบต่อความมั่นคง แต่รัฐควรคิดว่านี่คือโอกาสทางเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับอาหรับ”

“ส่วนเรื่องโควิด คิดว่าควรปรับวิกฤติให้เป็นโอกาส คือตอนนี้แรงงานกลับมาบ้าน แรงงานจากมาเลเซีย จากซาอุดีอาระเบีย ซึ่งต่างมีทักษะเฉพาะด้าน หากมีนโยบายพัฒนาทักษะที่จำเป็นให้คนในพื้นที่ ๆ ได้มีทางเลือกอื่น ๆ ที่ไปกันได้กับเทรนด์โลก เช่นคนซ่อมรถยนต์ต้องสามารถซ่อมรถไฟฟ้าได้ การเป็น smart farmer  ส่งเสริมเทคโนโลยีแปรรูปต่าง ๆ รวมถึงส่งเสริมการค้าชายแดน ก็จะเป็นประโยชน์ต่อคนในพื้นที่มาก ๆ”

ด้านยามารุดดินเสนอว่า “ผมเชื่อว่าสามจังหวัดมีศักยภาพมากในการจะทำอะไรได้หลากหลาย ในเชิงพื้นที่ก็มีทรัพยากรเยอะ มีอะไรหลาย ๆ อย่าง ตั้งแต่ภูเขา ป่า น้ำ ทะเล แต่นอกจากเรื่องพวกนี้แล้วผมมองว่าอีกสองสิ่งที่ต้องมีคืออำนาจในการจัดการกับทรัพยากรบุคคลที่ดี ถ้าไม่มีอำนาจในการจัดการ ให้ส่วนกลางยึดไปทำหมด สุดท้ายคนในพื้นที่ก็จัดการอะไรไม่ได้ หรือว่าเรามีอำนาจทางการเมืองแต่บุคลากรของเราไม่ได้มีคุณภาพ การพัฒนาก็จะช้า ผมว่าถ้ามีครบมันก็ไปไกลได้มากกว่าที่เป็น”

“แต่ถามว่าการพัฒนาทรัพยากรบุคคลมันติดอะไร คำตอบคือคนไม่มีการศึกษา ก็ถามต่อไปว่าทำไมละ ก็คนจนไม่มีเงินเรียน แล้วทำไมคนจน ก็เพราะเศรษฐกิจไม่ดี แล้วทำไมเศรษฐกิจไม่ดี ก็เพราะเรื่องของอำนาจทางการเมืองที่รวมศูนย์ สุดท้ายก็วนสู่ลูปเดิม ผมจึงคิดว่าคงพูดไม่ได้ว่าจะแก้เรื่องอะไรเฉพาะ ถ้าอยากให้พื้นที่มันเอื้อต่อการโอบอุ้มคนไว้จริง ๆ คงต้องแก้กันทั้งระบบ นโยบายสำคัญในความคิดของผมคือทำยังไงก็ได้ให้คนรุ่นใหม่ ให้คนวัยทำงานกลับมาอยู่บ้าน มันต้องมีนโยบายต่าง ๆ ที่จะจูงใจให้คนเหล่านี้กลับบ้าน เราลองคิดดูว่าคนอายุ 20-40 ปี กลับบ้าน เขามีความรู้ มีความสามารถ กลับมาพัฒนาบ้านของเขา”

แม้สามจังหวัดชายแดนใต้จะดูเป็นดินแดนที่มีสารพันปัญหาและการเปลี่ยนแปลงจะต้องแก้ปัญหาทั้งระบบเช่นที่ยามารุดดินระบุ ซึ่งแน่นอนว่าต้องใช้เวลาไม่น้อยและใช้ความร่วมมือจากหลายภาคส่วน แต่เขาก็ไม่เคยทิ้งความตั้งใจที่จะได้กลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิด

“จริง ๆ ผมไม่อยากอยู่กรุงเทพฯ นะ

ตอนนี้ผมมีครอบครัวแล้ว อยากกลับไปสร้างครอบครัวที่นั้น และกลับไปพัฒนาบ้านเกิด ไปมีส่วนร่วมออกเเบบนโยบายสาธารณะที่พอทำมันสำเร็จและก่อผลกระทบเชิงบวกต่อชาวบ้าน หรือทำงานวิจัยที่เอาผลของมันไปพัฒนาพื้นที่ได้จริง ๆ ผมรู้สึกว่าแบบนั้นมันมีความสุข แต่ก็ไม่รู้ว่าที่บ้านมีช่องให้ผมไปนั่งหรือเปล่า

แต่ยังไงผมก็จะกลับไป