เงินหมื่นห้าของเด็กจบใหม่รุ่นโควิด - Decode
Reading Time: 3 minutes

Gen เป็นอีกส่วนหนึ่งที่บ่งบอกถึงเป้าหมายในชีวิตของคนส่วนใหญ่ใน Gen นั้น ๆ

Gen Y

ความลำบากระหว่าง Gen Y กับ Gen Z คืออะไร?

“คนที่จบมาในปีก่อน ๆ อาจว่างงาน เนื่องจากบริษัทส่วนใหญ่อาจเลือกเด็กที่จบใกล้เคียงกับปีปัจจุบัน ทำให้ไม่ใช่แค่เพียงเด็ก Gen Y ที่ต้องแย่งงานกับ Gen Z แต่ Gen Z ในแต่ละปีก็ยังต้องแย่งงานกันเองอีก”

เสียงตอบของ โจ้ เจ้าของเพจ บันทึกของโจ้ อายุ 25 ปี หนึ่งในคน Gen Y และชีวิตการทำงานที่อยู่ในช่องคาบเกี่ยวทั้งก่อนเกิดโควิดและหลังเกิดโควิด นอกจากนี้โจ้ยังทำงานทั้งรับเขียนโปรแกรม ทำกราฟิก เขียนเว็บไซต์ Content Creator ทั้งเพจของตัวเองและของคนอื่น

Gen Z

“ความมั่นคงทางการเงิน เมื่อเราได้มาแล้ว เราคงได้ทำความฝันอื่น ๆ ต่อไป”

ความฝันสูงสุดของ ซิน อายุ 22 ปี เจ้าของ studygram @xiin.daily และในอีกบทบาทเธอก็ยังทำงานด้าน Tech อีกด้วย

ลำบากกว่ายุคไหน ๆ 

“จบใหม่ในช่วงยุคเรามันเป็นก่อนที่โควิดจะมา มันก็ยังพอที่จะหางานได้อยู่ ธุรกิจมันก็ยังเปิดอยู่ แต่ว่าในยุคนี้ พวกบริษัทต่าง ๆ หรือพวกร้านค้าได้รับผลกระทบ ทำให้รับเด็กได้น้อยลง มันเกิดการแย่งงานกัน น้อง ๆ ปีที่แล้วกับจบปีนี้เขาก็ต้องแย่งงานกัน บริษัทอาจจะเลือกน้องที่จบปีนี้ เพราะหลักสูตรอาจจะทันสมัยกว่า แล้วสำหรับน้องที่จบปีที่แล้ว 63 เขาก็กลายเป็นว่างงาน เหมือนเดิมทบไปอีก แต่ก็ไม่ใช่เด็ก 64 จะหางานได้ทุกคน” โจ้กล่าว

ต่อมาซินได้แบ่งสิ่งที่สูญเสียไปกับการเป็นเด็กจบใหม่ในยุคโควิดเป็น 2 ด้านดังนี้

ด้านการเรียนหรือการหางาน เธอได้ยกตัวอย่าง การเลื่อนสอบ JLPT ทำให้เพื่อนของเธอไม่สามารถสอบได้ อีกทั้งในเรื่องการหางานด้วยความที่เธอจบในสายที่ค่อนข้างมีความต้องการมาก ทำให้อาจไม่กระทบเธอมากในเรื่องการหางาน แต่เธอเล่าถึงเพื่อนของเธอที่จบวิศวกรรมในสายงานที่ไม่ใช่วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ บางคนก็หางานไม่ได้ หรือต้องยอมรับเงินเดือนที่น้อยลงกว่าปกติ นอกจากนี้บางคนอาจต้องย้ายสายงานไปอีกด้วย 

ด้านสังคม เธอเล่าย้อนไปตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยว่า “การไปหาเพื่อน การไปหาคนที่มีแวดล้อมเดียวกัน มันก็เป็นองค์ประกอบสำคัญ ซึ่งหลายคนขาดโอกาสตรงนี้ แต่ส่วนตัวโชคดีโควิดมาตอนปี 3 ปี 4 พอดี แต่กับรุ่นน้องที่เข้าเรียนปี 1 เปิดมาก็เรียนออนไลน์ไม่ได้เจอเพื่อน น่าจะเสียโอกาสตรงนี้”

หมื่นห้าไม่พอยาไส้

จากต้นโพสต์ของเพจ บันทึกของโจ้ ด้วยเรื่องที่ว่า เงินเดือนหมื่นห้าไม่พอสำหรับเด็กจบใหม่ ในนั้นมีหลากหลายประเด็น เราเลยให้โจ้ได้เล่าถึงเรื่องในโพสต์เหล่านั้นให้ฟัง

โจ้เล่าว่า “เราจะบอกเลยว่าทำไมมันไม่พอ เพราะเด็กจบใหม่มันมีภาระเยอะ ถ้าเราดูโดยรวมมีเด็กจบใหม่ที่ทางบ้านพอซัปพอร์ตได้ เท่าที่เราศึกษามามีเพียงแค่ 5-10% ที่ไม่มีงานทำก็อยู่ได้ แต่ความเป็นจริงเด็กจบใหม่ส่วนมากฐานะค่อนข้างยากจน มีหนึ่งค่าเดินทาง สองค่าอาหาร สามค่าที่พัก สี่อาจจะเป็นภาระหนี้จากการกู้กยศ. (ตัวเราก็ด้วย) แล้วก็ค่าจิปาถะ”

เราจะยกตัวอย่าง เช่น รถไฟฟ้าในไต้หวันราคาอยู่ที่ 20-65 บาท โดยค่าแรงขั้นต่ำของไต้หวันจะอยู่ที่ประมาณ 1,200 บาทต่อวัน โดยค่ารถไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 2%-5% ของรายได้ต่อวัน แต่ในประเทศไทยค่ารถไฟฟ้าจะอยู่ที่ 16-59 บาท ซึ่งค่าแรงขั้นต่ำของไทยอยู่ที่ 331 บาท ค่ารถไฟฟ้าต่อรายได้รายวันจะอยู่ที่ 5%-18% มันเลยทำให้เกิดคำถามว่า ทำไมไต้หวันที่มีค่าครองชีพที่ไม่ได้ต่างมากนักกับไทย แต่ทำไมรายได้ของเราถึงไม่ใกล้เคียงกับเขาเลย หนำซ้ำค่าครองชีพบางอย่างอาจจะแพงมากกว่าด้วยซ้ำ แล้วเราจะทำอย่างไรให้เงินเดือนของเด็กจบใหม่พอดีกับค่าครองชีพในปัจจุบัน เด็กจบใหม่อาจต้องมีทักษะเพิ่มเติมหรือเปล่า?

“ต่อให้ทำอะไรเพิ่มขึ้นก็ไม่เชิงว่าจะได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นซะทีเดียว ขึ้นอยู่กับตัวบริษัทเองเขาให้ค่ากับสิ่งนั้นมากแค่ไหนด้วย ในมุมมองของผม ตำแหน่งนี้สามารถทำรายได้ให้กับบริษัทได้ขนาดไหน ถ้าในมุมมองของเด็กจบใหม่อาจต้องคิดว่า ตัวเองทำรายได้ หรือเป็นประโยชน์ต่อบริษัทด้านไหนบ้าง สามารถช่วยบริษัทได้แค่ไหน” โจ้ กล่าว

พื้นที่ของการทำงาน(ที่กระจุกตัว)

ทำงานอยู่จังหวัดอะไร ?

โจ้: เชียงราย

งานในกรุงเทพฯ หาง่ายกว่าต่างจังหวัดหรือเปล่า ?

โจ้: “ใช่…เพราะงานที่กรุงเทพฯ แน่นอนว่ามันเป็นการรวมหลาย ๆ บริษัท รวมกระจุกอยู่ในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัดก็ไม่มีงานที่รายได้พอจะจุนเจือครอบครัว แล้วมันเกิดขึ้นกับเพื่อนของผม รายได้จากการทำงาน ก็มีแค่เงินเดือน 8,000 – 9,000 บาทเท่านั้น เพราะว่าความเจริญมันมาไม่ถึงต่างจังหวัด เป็นปัญหาหลักจนกว่าจะมีรัฐบาลเข้ามาช่วยให้ความเจริญกระจายสู่ต่างจังหวัด ทำให้เด็กจบใหม่จะได้ไม่ได้ต้องไปกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ ได้ทำงานใกล้บ้านอาจจะมีรายได้ไม่เท่ากรุงเทพฯ ก็จริง แต่อย่างน้อยสามารถลืมตาอ้าปากได้ มีเงินเก็บมากพอ ผมว่าอันนี้ก็เป็นคำตอบสิ่งที่ทุกคนอยากได้ แล้วก็อยากจะมี”

แก้ปัญหาอย่างไรดี ?

โจ้: “อาจจะมองได้สองส่วน คือรัฐบาลจะช่วยให้บริษัทไปกระจายตัวตามต่างจังหวัด แต่หากไม่ทำเราก็ใช้เทคโนโลยีเข้ามา เช่น metaverse หรือ zoom สมมติตัวเราอยู่ที่เชียงราย แล้วไปสมัครงานที่กรุงเทพฯ แต่เราไม่อยากอยู่กรุงเทพฯ งั้นเรา Work from home อันนี้เป็นการใช้เทคโนโลยีมาแก้ไขปัญหา ถ้าไม่อยากกระจุกตัวอยู่กรุงเทพฯ และถ้ารัฐบาลไม่ช่วยเรื่องการกระจายความเจริญไปสู่ต่างจังหวัด”

ความมั่นคงสำคัญยังไงกับเด็กจบใหม่

ซิน: “มันสำคัญ…อาจจะสำคัญกว่ารุ่นก่อน ๆ ด้วยซ้ำ เพราะสมัยนี้ หลาย ๆ อาชีพมันค่อนข้างไม่ชัดเจนแบบเมื่อก่อน ในตอนนี้มีอาชีพใหม่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ทำให้รู้สึกว่าโลกที่มันเปลี่ยนไปขนาดนี้ อย่างน้อยเราก็ต้องมีความมั่นคงในชีวิต มีรากฐานไปทำอะไรอย่างอื่นไม่ว่าจะเพื่อคนอื่น เพื่อครอบครัว คนใกล้ชิด”

เมื่อเราถามถึงความเห็นของซินแล้ว เราเลยลองถามคำถามกับโจ้ว่า ความสำคัญของความมั่นคงทำให้หลายคนต้องทิ้งความฝันมาเลือกความมั่นคงหรือเปล่า?

“สมมติเราต้องเลือกระหว่างสิ่งที่ตลาดต้องการหรือสิ่งที่ตัวเองชอบ ถ้าผมตอบก็ต้องตอบโจทย์ตัวเองว่า ตอนนี้ตัวเราอยากได้อะไร ถ้าตอนนี้ตัวเราชอบและเป็นที่ต้องการของตลาดพอดีก็อาจโชคดี สามารถทำสิ่งที่ตัวเองชอบ และได้เงินเดือนด้วย แต่ถ้าโชคร้ายเรียนสิ่งที่เราชอบแต่มันไม่ตรงกับที่ตลาดต้องการ”

โดยโจ้ได้พูดถึงแล้วแนวทางในการเลือกระหว่างสองสิ่งนี้ว่า

“อาจจะต้องพอใจสิ่งที่พอทำได้ แล้วสิ่งเหล่านั้นสร้างรายได้ให้เรา แล้วเราก็ใช้เวลาว่างของเรา ไปกับสิ่งที่เราชอบแทน อย่างเราก็ไม่ได้ชอบเขียนโปรแกรมอะไรแบบจริงจังมาก แต่เราทำได้และทำได้ดี สามารถสร้างรายได้หลักให้เรา เราชอบการวาดรูป แต่การวาดรูปของเรา มันไม่สามารถสร้างรายได้ที่จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมด เราเลยรับเขียนโปรแกรมที่สร้างรายได้ครอบคลุม แล้วเราค่อยไปหาเวลาว่างจากการทำงานหรือช่วงเวลาเสาร์อาทิตย์ มาวาดรูปแบบนี้แทน”

คีย์เวิร์ดของการใช้ชีวิตของเด็กยุคนี้

ซิน: “Burn out วัน ๆ ต้องจ้องแต่จอคอมพิวเตอร์ แล้วด้วยความคิดที่เรารู้สึกมนุษย์ไม่ได้ถูกออกแบบให้มานั่งหน้าคอมพิวเตอร์นาน ๆ คนเดียว โดยไม่ได้ออกไปไหนเลย แล้วยิ่งมันเป็นช่วงโควิด เรื่องการสอบมันเลื่อนออกไป แล้วแทนที่ในช่วงระหว่างการจบใหม่กับการทำงานไม่กี่เดือนที่มันควรได้ออกไปพักออกไปเที่ยว ซึ่งพอโควิดมาเราไม่สามารถออกไปรีแลกซ์ เพื่อเป็นการรีเซตตัวเองเพื่อจะเข้าสู่อีกช่วงวัยของชีวิตได้เลย

อยากย้ายประเทศ เพื่อนรอบตัวรวมถึงตัวเราด้วย แทบทุกคนวางแผนจะไปทำงาน ไม่ก็ไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ เพราะรู้สึกว่าโควิดรอบนี้มันทำให้ความล้มเหลวของภาครัฐหลายอย่างเห็นชัด ทำให้ตอนนี้รู้สึกว่าประเทศไทยมันไม่สามารถให้ภาพอนาคตกับเด็กจบใหม่”

โจ้: “ความรวดเร็ว เด็กจบใหม่เขาไม่ต้องการประสบความสำเร็จอายุ 40-50 แล้ว ถ้าอยากจะประสบความสำเร็จอายุ 40 กว่ามันค่อนข้างช้าแล้วคนรุ่นก่อนจะมองว่า เด็กรุ่นใหม่ใจร้อนไปหรือเปล่า?”

“อาจจะใช่ แต่ไม่เชิงคำว่าใจร้อนซะทีเดียว การที่เด็กจบใหม่อยากได้ความรวดเร็ว ไม่ว่าจะหน้าที่การงาน เรื่องการใช้ชีวิตประสบความสำเร็จ ผมมองว่าเขามองเห็นโอกาสมากกว่า เช่น การเล่นเกม NFT คนสมัยก่อนอาจมองว่า การเล่นเกมคือการเสียเวลา แต่ตอนนี้มันมีการเล่นเกมแบบ NFT อยู่ เล่นเกมแล้วได้เงินมันเห็นผลตอบแทน”

โจ้ได้ทิ้งท้ายเกี่ยวกับการแก้ปัญหาเงินหมื่นห้าของเด็กจบใหม่ว่า

“ขอเล่าเกี่ยวกับ ม.แม่ฟ้าหลวง โดยการแก้ปัญหาของแม่ฟ้าหลวง ตั้งแต่ช่วงปี 2 มหา’ลัย จะทำ MOU กับบริษัท จะมีบริษัทเข้ามาทำกิจกรรมกับเด็กปี 2 มีการอบรมสัมมนา การทำงานเป็นกลุ่ม การทำงานในบริษัทเป็นยังไง  ปี 3 ก็เริ่มแยกย้ายไปบริษัทต่าง ๆ ไปเรียนรู้งาน ทำให้ชินกับการฝึกงาน ปี 4 ก็ฝึกงานจริงเลย ลงไปฝึกงานกับที่บริษัท และเมื่อมันมีการปรับตัวมาตั้งแต่ปี 2 ปี 3 ทำให้ปี 4 ไม่ต้องรู้สึกตื่นตัว อันนี้เป็นการแก้ปัญหาให้เด็กจบใหม่

“ตอบโจทย์กับบริษัท แล้วไม่ใช่เงินเดือนเริ่มต้นหมื่นห้า อย่างที่ผมไปอ่านมาที่เขาให้แค่หมื่นห้า เพราะเขาไม่ไว้ใจหรือบางทีต้องสอนเด็กฝึกงาน อันนี้เป็นคำตอบของเขาทำไมต้องให้แค่หมื่นห้า การที่บริษัทไปร่วมมือกับมหา’ลัยต่าง ๆ แล้วไปเทรนเด็กตั้งแต่ปี 2 สิ่งนี้จะช่วยให้ตอบโจทย์บริษัทโดยไม่ต้องไปปรับตัวอะไรเลย และคิดว่าเงินเดือนน่าจะเพิ่มขึ้นจากหมื่นห้า”