ค่าจ้างเท่าเทียมไม่เคยมากเกินไป - Decode
Reading Time: < 1 minute

ประกายไฟลามทุ่ง

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ถ้าคนได้รับค่าจ้างและสวัสดิการที่ดีเท่าๆ กัน ชีวิตจะขาดแรงจูงใจในการสร้างสรรค์จริงหรือ ?

ในช่วงที่ผ่านมามีข้อเสนอต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการจัดการปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยหนึ่งในข้อเสนอนั้นคือข้อเสนอว่าด้วยการจัดสรรผลกำไรที่เกิดขึ้นในภาคส่วนธุรกิจ ให้กระจายสู่สังคมหรือองค์กรคนทำงานอย่างเท่าเทียมกันเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ ข้อเสนอนี้ไม่ใช่ข้อเสนอใหม่เป็นข้อเสนอที่มีมามากกว่า 200 ปีที่แล้วด้วยซ้ำ ในไทยก็คุ้นเคยกับระบบการจัดการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขเฉลี่ยรายได้ผ่านระบบสหกรณ์ที่มีอยู่ในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน สำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้างแต่ก็ไม่ได้เป็นระบบที่ใหม่หรือแปลกแยก

อย่างไรก็ตามภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ที่ได้ลดคุณค่าของการออกสู้ร่วมกัน และแปรสภาพให้ทุกคนคิดทุกอย่างผ่านมุมมองแบบปัจเจกชน ข้อเสนอนี้จึงดูเหมือนแล้วจะกลายเป็นข้อเสนอที่ห่างไกลต่อความเข้าใจต่อไปงานไทยในปัจจุบันอย่างมาก ราวกับว่าทุนนิยมเสรีนิยมใหม่เป็นสัจนิรันดร์อันไม่สามารถตั้งคำถามหรือแก้ไขได้ ในบทความนี้จึงจะชวนตั้งคำถามในประเด็นพื้นฐานว่าถ้าคนได้รับค่าจ้างและสวัสดิการที่ดีเท่า ๆ กันชีวิตจะขาดแรงจูงใจในการสร้างสรรค์จริงหรือ? จะเกิดอะไรขึ้นหากมนุษย์ได้รับค่าจ้างและสวัสดิการที่ดีเท่า ๆ กัน คนจะเอาเวลาไปทำอะไร มีสิ่งใดที่คอยพวกเราอยู่ ? 

ค่าจ้างที่แตกต่างกันทำให้ชีวิตมีแรงจูงใจ

เรามักคุ้นชินว่าแม้กระทั่งในองค์กรหนึ่งผู้บริหารพนักงานหน้าใหม่ ผู้จัดการ คนทำความสะอาด ก็ไม่สมควรที่จะได้รับค่าจ้างเท่ากัน ไม่ว่าด้วยเกณฑ์วัดอะไร เช่น คุณวุฒิการศึกษา ความสามารถ หรือเป็นคนที่ทำงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างมูลค่าโดยตรง พูดแบบให้เห็นชัดเจนในบริษัทที่ทำการผลิตยานักวิทยาศาสตร์ที่ผลิตยาก็ควรจะได้รับค่าจ้าง มากกว่าแม่บ้านที่ทำความสะอาดในบริษัทนั้น แต่เมื่ออธิบายแบบนี้ไปก็เกิดความย้อนแย้งขึ้นมาเพราะบางลักษณะงานพนักงานที่ตัดเย็บเสื้อผ้าก็ได้รับค่าจ้างเพียงแค่ค่าจ้างขั้นต่ำขณะเดียวกัน CEO หรือเจ้าของซึ่งอาจไม่ได้ทำงานที่หนักมากมายเหมือนกับพนักงานตัดเย็บเสื้อผ้า ก็อาจได้รับค่าจ้างที่สูงกว่าเป็นร้อยหรือเป็นพันเท่า แม้ว่าจะไม่ได้เป็นผู้ที่สร้างสินค้าหรือมูลค่าให้แก่องค์กรโดยตรง คนกลุ่มนี้ก็อาจจะอ้างว่าตัวเองแบบรับความเสี่ยงมากกว่าผู้ใช้แรงงานนั่นคือเป็นผู้ที่กู้เงินมาลงทุน เป็นคนจ่ายค่าจ้าง เป็นเจ้าของสถานที่ รับผิดชอบชีวิตการทำงานของทุกคน ดังนั้นแม้จะไม่มีเหงื่อสักหยดจากการทำงานของเหล่า CEO แต่พวกเขาเสี่ยงมากกว่าก็ควรได้รับค่าจ้างที่มากกว่า

ปัญหาของคำอธิบายข้างต้นก็ตามมาอีกว่า เสี่ยงแบบใดจึงจะถือว่าเป็นความเสี่ยงที่มากกว่า นักลงทุนก็อาจจะมีความเสี่ยงจากเงินที่เขาลงทุนไป แต่ส่วนผู้ใช้แรงงานตั้งแต่ซ้อนมอเตอร์ไซค์ นั่งรถสองแถวเปลี่ยนยูนิฟอร์มจนกระทั่งสอดมือเข้าไปในเครื่องจักร ตั้งแต่เช้าจนกระทั่งเย็น ตั้งแต่การอดข้าวเพื่อทำโอที  ก็ถือเป็นความเสี่ยงเช่นเดียวกัน เพียงแต่อาจเป็นความเสี่ยงคนละแบบกับ CEO แต่จะกล่าวว่าพวกเขาเสี่ยงน้อยกว่าหรือว่าไม่เสี่ยงเลยก็คงไม่ใช่

ข้อถกเถียงเรื่องคุณค่าแบบนี้มีมาตั้งแต่เมื่อ 200 ปีก่อนเมื่อ Karl Marx ตั้งข้อสังเกตว่ามันมีสิ่งที่เรียกว่ามูลค่าใช้สอยของแต่ละคน มูลค่าใช้สอยนี้ยากที่จะบอกว่าสิ่งใดมีมากกว่าอีกสิ่งหนึ่ง เช่นน้ำมีมูลค่าใช้สอยมหาศาลเพราะเราไม่ได้กินเราก็ตาย จดหมายฉบับหนึ่งที่เราได้รับอาจไม่มีค่าสำหรับคนอื่นเลย แต่มีคุณค่าสำหรับเราเพียงแค่คนเดียว ของขวัญชิ้นแรกที่เราได้จากคนรักที่เสียชีวิตไปแล้วก็อาจจะสำคัญกับเรามากแต่สำหรับคนอื่นก็อาจจะไม่ได้มีคุณค่าอะไรเลย

นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักอย่าง David Ricardo มองว่าเรื่องนี้ซับซ้อนเกินไปให้พิจารณามูลค่าของทุกอย่างเป็นมูลค่าแลกเปลี่ยนแทน มูลค่าใช้สอย สิ่งใดไม่ว่าจะมีคุณค่ากับใครมากหรือว่าน้อยหากมีคนต้องการมากราคาก็ย่อมสูงขึ้น หากมันมีปริมาณมากเกินไปเกินแก่ความต้องการราคาก็จะตกลง ให้ใช้เกณฑ์นี้อย่างเดียว ซึ่งคงดีกว่ามูลค่าใช้สอยที่มีความซับซ้อนแตกต่างกันแต่ละคน

ซึ่ง Marx ได้ตั้งข้อสังเกตว่า นี่คือจุดเริ่มต้นของการแบ่งแยกมนุษย์ออกจากงานที่พวกเขาทำ คุณค่าของงานถูกวัดด้วยเงินและมูลค่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาโดยตามธรรมชาติ แต่เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดขึ้นโดยคนมีอำนาจ สุดท้ายสิ่งที่ปรากฏชัด คือจะมีคนกลุ่มนึงพี่อาจไม่ได้ทำงานหนักและจริง ๆ ก็ไม่ได้แบกรับความเสี่ยงเพียงแต่ว่าระบบได้ให้อำนาจแก่พวกเขาในการนิยาม ว่าพวกเขาเป็นกลุ่มคนที่สร้างมูลค่ามากกว่าคนกลุ่มอื่น ๆ และก็สมควรที่จะได้รับส่วนแบ่งมากกว่า โดยเรามองข้ามหลักการพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนล้วนเป็นผู้สร้างสังคมนี้สินค้านี้ในส่วนที่แตกต่างกันไปไม่สามารถแยกขาดออกจากกันได้ 

เป็นไปไม่ได้ที่คนจะได้ค่าจ้างเท่า ๆ กันเมื่อมีความรับผิดชอบต่างกัน

ดังนั้นวิธีการที่ฟังดูเหมือนว่าง่ายที่สุดคือการกลับมามองว่าใครเป็นเจ้าของสังคมนี้ ใครคือผู้สร้างสรรค์สินค้าต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะในระดับบ้าน ครอบครัว องค์กรบริษัท หรือว่าประเทศ โดยสรุปแล้วจะพบว่าทุกคนก็ล้วนมาข้องเกี่ยวสัมพันธ์โดยยากที่จะบอกว่าใครคือคนที่สำคัญมากกว่ากัน  เช่นนั้นการพยายามสร้างรายได้พื้นฐานให้แก่ทุกคนที่เท่าเทียมจึงไม่ได้เป็นเรื่องที่ขัดต่อธรรมชาติของความสัมพันธ์แต่อย่างใด  แน่นอนที่สุดมันอาจจะขัดกับความสัมพันธ์พื้นฐานในระบบทุนนิยมไปบ้าง แต่ว่าไม่ใช่สิ่งที่ฝืนต่อธรรมชาติของความเป็นมนุษย์อย่างแน่นอน การจินตนาการถึงระบบค่าจ้างที่มีความเท่าเทียมกันไม่เหลื่อมล้ำกัน ตั้งแต่ผู้ปฏิบัติงานในส่วนเล็กที่สุดถึงผู้บริหารจึงมีความเป็นไปได้ในแง่ความสัมพันธ์ของมนุษย์ รวมถึงความจำเป็นพื้นฐาน

ทุกคนก็ผ่านการมีชีวิตที่ความฝันถูกขโมยไปโดยระบบทุนนิยมที่ไม่ต่างกัน การออกแบบให้เกิดการ กระจายทรัพยากรในระดับองค์กรจึงไม่ได้เป็นเรื่องที่ห่างไกลหรือเป็นไปไม่ได้แต่อย่างใด

ไม่เคยมีที่ไหนทำกัน ?

สำหรับสังคมไทยสิ่งเหล่านี้อาจฟังดูเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้หรือฝืนธรรมชาติอย่างที่สุด ลองพิจารณาในภาพที่ใหญ่กว่าจะพบว่าก็ไม่ได้เป็นทุกประเทศที่มีลักษณะความเหลื่อมล้ำทางรายได้ภายในองค์กรแบบไทย

จากสถิติชี้ให้เห็นว่าองค์กรที่มีสหภาพแรงงานเข้มแข็งเมื่อมีขบวนการการต่อสู้ที่เชื่อมโยงกับพรรคการเมืองแนวสังคมนิยมประชาธิปไตยก็จะสามารถรักษาความเท่าเทียมของรายได้ในองค์กร ได้ดีมากกว่าประเทศที่สหภาพแรงงานไม่เข้มแข็งหรือไม่มีพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยในสภา ดังตัวอย่างประเทศเดนมาร์กรายได้ของ CEO สูงกว่ารายได้ขั้นต่ำ ประมาณ 20 ถึง 30 เท่า

ขณะที่สหรัฐอเมริกามีรายได้แตกต่างกันประมาณ 350 เท่า CEO ในสหรัฐอเมริกาทำงาน 1 วันเท่ากับลูกจ้างทำงานทั้งปี นอกจากนี้ในระดับองค์กรก็มีหลายองค์กรที่ได้นำระบบการเฉลี่ยความมั่งคั่งแบบสหกรณ์มาใช้ที่รายได้ของผู้บริหารสูงสุดกับรายได้ของพนักงานระดับเริ่มต้นแตกต่างกันเพียง 3-5 เท่าเท่านั้น กรณีนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งบริษัทขนาดเล็กที่มีพนักงาน 8-9 คนจนกระทั่งถึงองค์กรใหญ่ที่มีพนักงานระดับ 1,000-2,000 คน ก็ไม่ได้มีข้อห้ามที่ไม่สามารถสร้างความเท่าเทียมกันด้านการกระจายรายได้แต่อย่างใด

มนุษย์มีแรงจูงใจมากกว่า แค่เรื่องค่าจ้าง

หลายคนอาจตั้งคำถามว่าเช่นนั้นชีวิตจะมีความหมายอะไร  ถ้าเกิดว่าเริ่มทำงานแล้วได้รับค่าจ้างเท่ากับผู้บริหารที่ทำงานมาแล้ว 10 ปีมันจะมีแรงจูงใจอะไรในการที่จะทำงาน ถ้าแบบนี้บริษัทก็คงไม่ได้กำไรและทุกคนก็คงกลายเป็นคนขี้เกียจไม่เกิดสิ่งที่สร้างสรรค์ใหม่ขึ้นมา คำกล่าวนี้เป็นจริงมากน้อยแค่ไหน ครั้งหนึ่งผมและเพื่อน ๆ เคยนำเสนอกฎหมายเพื่อให้มีการปรับพนักงานรายวันให้เป็นรายเดือน ซึ่งแน่นอนเหล่าผู้ประกอบการได้ส่งเสียงคัดค้านเป็นยกใหญ่ บอกว่าทำอะไรให้คิดถึงผู้ประกอบการบ้างเพราะถ้าคนกลายเป็นพนักงานรายเดือนหมดเขาก็จะไม่สามารถปรับเปลี่ยนคนที่ไม่มีความจำเป็นออกไปได้ ไม่นับรวมต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้นเข้ามาอีก

แต่ก็มีมิตรสหายของผมท่านหนึ่งตั้งคำถามออกไปว่า พวกคุณลองมาเป็นพนักงานรายวัน ที่กินค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท บุคคลจะยังสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ไหม แน่นอนที่สุดเหล่าผู้ประกอบการไม่สามารถอยู่ในสภาพชีวิตแบบนั้นได้ ผู้ใช้แรงงานก็เช่นกัน มันจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเกิดว่าผู้ใช้แรงงาน เจ้าของบริษัท ได้รับส่วนแบ่งจากการทำงานอย่างเป็นธรรม

ผมก็เปรียบเทียบว่าเมื่อครั้งทำงานอยู่ที่ประเทศฟินแลนด์ค่าจ้างขั้นต่ำ 100,000 บาทต่อเดือน ร้านอาหารเอเชียขนาดใหญ่ในเมืองจ้างพนักงานอยู่ 5-6 คน อาหารเซตหนึ่งราคาประมาณ 300 กว่าบาทเมื่อเทียบแล้วก็เหมือนร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยซึ่งก็จ้างพนักงาน 5-6 คนเหมือนกัน ค่าเช่าที่ ค่าวัตถุดิบ คำนวณดูก็ใกล้เคียงกัน เผลอ ๆ ที่ไทยคงถูกกว่าเยอะและที่ไทยก็คงขายดีกว่าเยอะ เพราะว่ามีวัฒนธรรมการทานข้าวนอกบ้านมากกว่าที่ฟินแลนด์แน่นอน แต่แรงงานฟินแลนด์ได้รับค่าจ้างมากกว่าไทย 5-6 เท่าจึงเป็นเรื่องน่าคิด ว่าส่วนแบ่งที่ลูกจ้างไทยได้รับจึงนับว่าน้อยนิดมากเมื่อเทียบกับกำไรและผลผลิตที่เขาสร้างให้แก่สถานประกอบการ

นอกจากนี้สิ่งที่ผมยังสังเกตเห็นแม้จะเป็นร้านอาหารโรงแรม 5 ดาวในเมืองของฟินแลนด์ ในช่วงเที่ยงสิ่งที่เราจะเห็นก็คือคนงานก่อสร้าง ผู้สูงอายุที่เกษียณ คนที่มาเจรจาธุรกิจ หรือแม้กระทั่งเด็ก ๆ นักศึกษาก็สามารถมาใช้บริการในร้านอาหารระดับเดียวกันได้กล่าวคือพวกเขาได้รับค่าจ้าง ที่สูงมากพอที่จะได้ใช้มาตรฐานชีวิตที่ดีตามแบบเดียวกันการบริโภคมิได้เป็นการแบ่งชนชั้น แบบเดียวกันกับสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูงแบบประเทศไทย

ดังนั้นถ้าการได้เงินเยอะที่สุดในองค์กรหรือในสายงาน ไม่ใช่เป้าหมายของการทำงาน แล้วอะไรล่ะที่พึงเป็นเป้าหมายสำหรับการทำงาน คำอธิบายที่น่าจะง่ายที่สุดก็คือการทำงานที่ตัวเองชอบ หรือหากเลือกไม่ได้ต้องทำงานที่ตัวเองไม่ชอบ ก็ได้รับค่าจ้างเพียงพอที่หลังเลิกงานได้ไปพักผ่อน ฟังเพลง ดูหนัง อยู่กับคนที่เรารัก ได้ออกกำลังกาย ได้ทำในสิ่งที่มีความหมายกับตัวเอง ชีวิตยังมีอะไรให้ทำมากไปกว่าการต่อสู้เพื่อเลื่อนลำดับชั้นในองค์กร และความเสมอภาคไม่เคยมากเกินไปสำหรับมนุษยชาติ