ค้อนเคียวรุ่นสู่รุ่น ปีศาจคอมมิวนิสต์ยังไม่หายไปไหน - Decode
Reading Time: 4 minutes

“ปีศาจตนหนึ่ง ปีศาจแห่งลัทธิคอมมิวนิสต์กำลังวนเวียนอยู่ในยุโรป อิทธิพลทั้งปวงของยุโรปเก่าทั้งสันตะปาปาและพระเจ้าซาร์ทั้งเมตเตร์นิชและกีโซต์ ทั้งชาวพรรคหัวรุนแรงของฝรั่งเศสและสายลับตำรวจของเยอรมัน ได้รวมกันเข้าเป็นพันธมิตรอันศักดิ์สิทธิ์เพื่อกำจัดปีศาจตนนี้”[1]

แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ (The Communist Manifesto), 1848
โดย คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) และฟรีดริช เองเกิลส์ (Friedrich Engels)

ขึ้นชื่อว่า “คอมมิวนิสต์” คงไม่พ้นจากการถูกมองว่าเป็น “ปีศาจ” เสมอมา โดยเฉพาะในสายตาของชนชั้นนำและนายทุน เมื่อมองมาในบริบทสังคมแบบไทย ๆ ที่รัฐอนุญาตให้ยึดอุดมการณ์ทางการเมืองได้แค่ “แบบเดียว” ก็เห็นจะเป็นเช่นนั้น ซึ่งในอดีตยุคสงครามเย็น คอมมิวนิสต์ก็ได้กลายเป็นสิ่งที่น่าหวาดกลัวตามโฆษณาชวนเชื่อของรัฐไทย ทำให้รัฐไทยต้องทุ่มสรรพกำลังที่มีอยู่ทั้งบู๊และบุ๋นในการกดปราบพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ไม่ว่าจะใช้กำลังทหารเข้าห้ำหั่นหรือแย่งชิงมวลชนผ่านโครงการต่าง ๆ 

แน่นอนว่าท้ายที่สุดแล้ว พคท. เป็นฝ่ายปราชัย และผลจากการที่รัฐไทยได้รับชัยชนะ ทำให้เรื่องราวของ พคท. ไม่ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ฉบับทางการ หากมีก็คงไม่พ้นการถูกตีตราว่า เป็นปีศาจร้ายที่คิดทำลายแผ่นดินไทย! ด้วยเหตุนี้เอง ใครที่สมาทานแนวคิดคอมมิวนิสต์อยู่ก็จะดูเป็นพวกแปลกแยกไปจากคนในสังคมไป แต่กระนั้น ก็ยังมีคนที่เชื่อว่าสามารถนำแนวคิดคอมมิวนิสต์หรือแนวคิดสังคมนิยม มาปรับใช้กับโลกประชาธิปไตยในปัจจุบันได้ 

De/code ร่วมพูดคุยกับคน 2 รุ่น ที่จะมาให้คำตอบ คนแรก ประยงค์ มูลสาร หรือลุงยงค์ อดีต ส.ส. ยโสธร พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย และอดีต “สหายยศ” ทหารกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) ฐานที่มั่นภูพาน ส่วนคนที่สอง จักรพล ผลละออ นักกิจกรรมกลุ่มสหายสังคมนิยม (Group of Comrades) ผู้เคยมีผลงานบทความแปลเกี่ยวกับแนวคิดคอมมิวนิสต์/มาร์กซิสต์มาแล้วมากมายในเว็บไซต์ประชาไท บล็อกกาซีน และเว็บไซต์คณะก้าวหน้า (Progressive Movement)

จากเมืองสู่ป่า เส้นทางการต่อสู้ของอดีตสหาย

ก่อนเข้าป่า ลุงยงค์คือชาวนาจน ๆ ในจังหวัดยโสธร ที่พ่อแม่ได้ส่งไปร่ำเรียนเพื่อให้มีความรู้ประดับตัว ลุงยงค์เล่าให้ฟังว่า การตื่นตัวทางการเมืองในแนวทางสังคมนิยมเกิดขึ้นจากประสบการณ์ชีวิตของตนเอง ไม่ได้ตื่นตัวจากการอ่านหนังสือ มีคนปลุกระดมหรือมาให้แนวคิด หนึ่งในประสบการณ์ที่ว่าคือการเห็นอันตรายของเผด็จการต่อบ้านเมือง นั่นคือสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร ในปี 2508 ซึ่งเป็นปีที่ลุงยงค์จะต้องสอบเอาใบประกาศนียบัตร ป.7 แต่ได้เกิดการยุบโรงเรียนบาลีมัธยมทั่วประเทศ ด้วยสาเหตุว่า ก่อนหน้านั้นในปี 2505 มีการกล่าวหาผู้สถาปนาโรงเรียนบาลีมัธยมคือ หลวงพ่อพระพิมลธรรม (สมเด็จพระพุฒาจารย์ [อาจ อาสโภ]) เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ว่าฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ ทำให้ท่านถูกจำคุกอยู่ 5 ปี (2505-2509) ก่อนยกฟ้องในเวลาต่อมา

“…ในยุคนั้นจับเยอะนะ นักการเมืองฝ่ายก้าวหน้าหลายคน ไม่ว่าจะเป็นนายไขแสง สุกใส นายจิตร ภูมิศักดิ์ นายทองใบ ทองเปาด์ นายรวม วงษ์พันธ์ ครูครอง จันดาวงศ์ ดุเดือดครับในยุคนั้น สรุปคือ ผมก็รู้แล้วว่า เผด็จการเป็นอันตรายต่อบ้านเมือง จำกัดสิทธิเสรีภาพ กล่าวหามั่ว เหวี่ยงแหจับไปเลย…”

จังหวะชีวิตสำคัญของลุงยงค์คือช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เป็นต้นมา ในขณะนั้นลุงยงค์เรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ก็ได้ไปเข้าร่วมขบวนเคลื่อนไหวเพื่อสังคมประชาธิปไตยและไปสู่ขบวนเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ในฐานะ “หางขบวน” พอเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ไปแล้ว ลุงยงค์ก็ได้ไปทำงานหนังสือพิมพ์ที่สำนักพิมพ์ประชาธิปไตยแถวเพชรบุรีตัดใหม่ จากนั้นในปี 2517 กลุ่มนักการเมืองหัวก้าวหน้าก็ตั้ง “พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย” ขึ้นมา ลุงยงค์จึงไปสมัครเป็น ส.ส. ของพรรคนี้ ปรากฏว่าชนะการเลือกตั้งที่บ้านเกิดยโสธร

ช่วงต้นปี 2519 สถานการณ์เริ่มมีความไม่ปลอดภัยต่อพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย เพราะบริบทประเทศเพื่อนบ้านเมื่อปี 2518 ฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้รับชัยชนะทั้งในเวียดนาม ลาว กัมพูชา ผู้มีอำนาจในไทยก็หวั่นไหวกลัวไทยจะกลายเป็นคอมมิวนิสต์ตามทฤษฎีโดมิโน่ จึงมีการปราบผู้นำนักศึกษาและชาวนาจำนวนมาก ในช่วงนั้นมีคนมากระซิบบอกนายไขแสง สุกใส รองหัวหน้าพรรค ว่าอยู่ในเมืองต่อไม่ปลอดภัย นายไขแสงจึงชวนสมาชิกพรรคบางคนเข้าป่า ลุงยงค์เองก็ได้เข้าป่าในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ปี 2519 ไปอยู่ที่ดงผาลาด จังหวัดสกลนคร หลังจากนั้นเพียงแค่ 20 วันเท่านั้น ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน เลขาธิการพรรคที่ยังอยู่ในเมืองก็ถูกยิงเสียชีวิต นี่เองคือจุดเริ่มต้นประสบการณ์เข้าร่วมขบวนการปฏิวัติของอดีต ส.ส. หัวก้าวหน้าที่ในขณะนั้นอายุ 29 ปี

“…ผมเข้าไปในฐานะแนวร่วม ส.ส. พรรคสังคมนิยมฯ บอกได้เลยตอนนั้นยังไม่มีใครมาจัดตั้ง ยังไม่ได้เรียนรู้กับคำว่าคอมมิวนิสต์…”

แม้คนทั่วไปเข้าใจและหวาดกลัว “คอมมิวนิสต์” กับ “สังคมนิยม” เหมือนกัน แต่สำหรับลุงยงค์นั้นมองว่า แนวคิดสังคมนิยมอย่างพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ไม่ได้มีเป้าหมายถึงขนาดที่จะเป็นคอมมิวนิสต์ แต่มุ่งเน้นไปที่การสร้างรัฐสวัสดิการ ไม่ได้ต้องการจะโค่นล้มทุนนิยม ศักดินานิยม ขุนนาง หรือจักรพรรดินิยม พรรคนี้ต่อสู้ทางรัฐสภา มีนโยบายเช่นว่าต้องเข้าไปควบคุมกิจการใหญ่ ๆ เพื่อไม่ให้นายทุนเอาเปรียบ

ในระหว่างที่ลุงยงค์เข้าป่าไปได้ไม่นาน ในเมืองก็เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ขึ้น ลุงยงค์พูดถึงเหตุการณ์นี้ว่า “บ้าคลั่งที่สุด” การฆ่าคนกลางสนามหลวงกระทำไปภายใต้บรรยากาศปลุกปั่นให้เกิดความหวาดกลัวต่อภัยคอมมิวนิสต์

“…กระบวนการที่ฝ่ายขวาจัดในเมืองไทยทำในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ หรือเหตุการณ์อื่น ๆ นี่คือความขลาดเขลาและโง่ที่สุด เป็นการฆ่าตัวตาย เปิดเผยธาตุแท้ของตัวเองว่าไม่ใช่เทวดา แต่เป็นกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มหนึ่ง ซึ่งเมื่อคุณทำลายประชาชนพลเมืองของคุณ ทำให้เด็กทุกวันนี้เห็นธาตุแท้หมด เลยหมดยุคที่กลัวกันแล้ว…”

พคท. ทปท. ป่าแตก

โครงสร้างของขบวนการปฏิวัติมี พคท. ทำหน้าที่เป็นกองบัญชาการ ส่วน ทปท. ทำหน้าที่เป็นกองทัพหรือกองกำลังปฏิวัติ ทางด้านลุงยงค์หรือ “สหายยศ” ทหาร ทปท. ในตอนนั้น ได้รับมอบหมายจากระดับผู้นำพรรคให้ไปทำงานมวลชนทั้งบุกเบิกและขยายเขตงานทางจังหวัดยโสธร พร้อมกับทำงานแนวร่วมติดต่อผู้รักชาติรักประชาธิปไตยในเมือง

“…งานของผมเป็นงานบุกเบิกในเขตเขา เป็นเขตที่ไม่มีการสู้รบ ไม่มีการแทรกซึม เป็นเขตแนวหลังข้าศึกหรือเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่อยู่รอบภูพาน… ทุกคนทำงานตามหน้าที่ที่พรรคได้มอบหมาย ตั้งเป็นหน่วยต่าง ๆ ส่วนเรื่องอาหารการกิน ก็หากินตามสภาพ ข้าวก็ซื้อจากชาวบ้านในที่ราบ แม้เจ้าหน้าที่จะปิดล้อมก็ปิดได้ไม่หมด ชาวบ้านที่เป็นมวลชนของเราก็มีวิธีที่จะเอาข้าวมาให้เราได้ บางครั้งมันปิดล้อมหนักก็เอาไม่ได้ อดอยากเหมือนกัน ก็เอาข้าวสารมาต้มกิน กินเผือกกินมันก็มี บางทีก็ล่าสัตว์ป่าเพื่อเอาตัวรอด…”

เรื่องราวชีวิตในป่าของลุงยงค์มีมากมายเกินกว่าจะพรรณนาให้หมดในที่นี้ได้ แต่มีเรื่องสำคัญที่จะต้องเล่าเอาไว้คือ เหตุการณ์ “ป่าแตก” หรือการล่มสลายของ พคท. ในช่วงปี 2525 ว่าเหตุใดขบวนการปฏิวัติที่มีกองกำลังทั่วประเทศมากมายหลายแสนคนนั้นถึงพ่ายแพ้ต่อรัฐไทย

ลุงยงค์ สรุปสาเหตุการล่มสลายของ พคท. ว่ามีอยู่หลัก ๆ 3 ข้อ

หนึ่ง กำเนิดพรรคคอมมิวนิสต์ในไทยมีลักษณะนำเข้าผู้นำ เมื่อมองย้อนไปในปี 2473 พรรคคอมมิวนิสต์สยามได้ถูกจัดตั้งขึ้นโดยลุงโฮ (โฮจิมินห์) สมาชิกยุคนี้ยังไม่ค่อยมีคนไทย มีแต่คนจีน คนเวียดนาม พอเปลี่ยนมาเป็น พคท. ในปี 2485 คนไทยในระดับผู้นำก็ยังถือว่าน้อย ซึ่งเชื่อมโยงกับข้อ

สอง คนไทยที่มาเป็นระดับผู้นำยังไม่มีบารมีพอ

สาม การกำหนดแนวทางชนบทล้อมเมืองแบบจีนที่ตั้งฐานบนภูเขาอาจไม่สอดคล้องกับไทย

จุดอ่อนต่าง ๆ เหล่านี้ยังไม่รวมถึงความขัดแย้งภายในพรรค และการปล่อยโอกาสที่ควรจะได้รับชัยชนะผ่านไป อย่างน้อยก็ในช่วงปี 2516-2518 ที่สถานการณ์ในสงครามเวียดนามกำลังฮวดเข้ามาทุกที ลุงยงค์ได้แต่สงสัยว่า พคท. มองไม่เห็นเหรอว่า ในช่วงนั้น สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นท่อน้ำเลี้ยงสำคัญที่สนับสนุนรัฐไทยปราบปรามคอมมิวนิสต์นั้น กำลังจะพ่ายแพ้ต่อพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม

“…ปัญหาที่พ่ายแพ้ เพราะผ่านการต่อสู้ที่ยาวนาน ผ่านเหตุการณ์ที่ควรจะชนะ… เรียกได้ว่า นาทีทองผ่านไปครั้งแล้วครั้งเล่า…”

หลังจาก “ป่าแตก” แนวคิดคอมมิวนิสต์ในไทยแทบจะค่อย ๆ เลือนหายไป ไม่เป็นกระแสเท่าที่ช่วง พคท. ยังอยู่ แต่กระนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีใครสนใจแนวคิดนี้แล้ว ซึ่งจักรพลคือหนึ่งในนั้น

จากมหา’ลัยสู่ถนนทางการเมืองสายคอมมิวนิสต์

จักรพลเกิดจากครอบครัวชนชั้นกลางระดับล่าง เติบโตมากับแบบเรียนและองค์ความรู้ยุคสงครามเย็นที่สร้างภาพว่าคอมมิวนิสต์เป็นศัตรูกับประชาธิปไตย กว่าที่จะได้เริ่มมาสนใจแนวคิดคอมมิวนิสต์ ก็เมื่อได้เข้าศึกษาที่ ม.บูรพา จนกระทั่งได้เข้าร่วมกลุ่มสหายสังคมนิยม ซึ่งเป็นกลุ่มกิจกรรมที่ประกาศตัวเองชัดเจนว่ายึดแนวทางแบบลัทธิมาร์กซ์

นอกจากศึกษางานทฤษฎีแล้ว ประสบการณ์จากการออกค่ายทำให้จักรพลเห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่สูงมาก จักรพลตั้งข้อสงสัยว่า ในโลกทุนนิยมที่พร่ำบอกกันว่ามีแต่ความอุดมสมบูรณ์มากนั้น ทำไมยังมีคนที่เป็น homeless อยู่ข้างทางทั้ง ๆ ที่มีบ้านร้อย ๆ หลังถูกปล่อยทิ้งร้างไว้เพราะว่าขายไม่ออก ทำไมมีคนที่อดอยากไม่มีอาหารกิน ทำไมมีคนที่ตกงาน ทำไมมีคนยากจนอยู่ ซึ่งจะตอบคำถามเหล่านี้ได้จะต้องใช้ลัทธิมาร์กซ์เป็นเครื่องมือ

“มาร์กซิสต์/คอมมิวนิสต์ไม่ได้ตอบคำถามเราตรง ๆ ว่าทำอย่างไรถึงจะออกจากปัญหาเหล่านี้ได้ บอกแค่เป้าใหญ่ว่าคุณต้องล้มระบบทุนนิยมเพื่อเปลี่ยนเป็นคอมมิวนิสต์ แต่ว่าระหว่างทาง สมมติมี 10 ขั้น ลัทธิมาร์กซ์บอกแค่ว่า คุณต้องไปข้อ 10 แต่จาก 1-10 ไม่ได้มีพิมพ์เขียวให้ ดังนั้น มันจึงเชิญชวนและท้าทายให้เราพยายามค้นหาคำตอบไปร่วมกัน”

สำหรับจักรพลแล้ว คอมมิวนิสต์เป็นร่มที่ค่อนข้างกว้าง ก่อนหน้านั้นมีแนวคิดที่เรียกว่า สังคมนิยม (Socialism) ซึ่งยืนบนฐานความคิดว่า ทรัพยากรต่าง ๆ หรือการกำหนดนโยบายสำคัญ ๆ ของสังคม รวมถึงนโยบายการจัดการด้านเศรษฐกิจ ควรจะกระจายให้แก่ทุกคนมีสิทธิ์มีเสียงเท่ากันทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง พอมาถึงในยุคคาร์ล มาร์กซ์ และฟรีดริช เองเกลส์ ก็ได้มีการพัฒนาแนวคิดนี้ขึ้น ที่รู้จักกันในชื่อว่า ลัทธิมาร์กซ์ (Marxism) โดยได้สถาปนาชุดวิเคราะห์สังคมขึ้นมาชุดหนึ่งเรียกว่า สังคมนิยมที่เป็นวิทยาศาสตร์ (Scientific socialism) ที่ไม่เพ้อฝันหรือหลุดลอยจากความเป็นจริงแบบยุคก่อน และแนวคิดนี้ก็ได้รับการพัฒนาต่อยอดมาเรื่อย ๆ ในเวลาต่อมา

แล้วเป้าหมายของคอมมิวนิสต์คืออะไร ?

จักรพลเล่าว่า สังคมที่คอมมิวนิสต์ใฝ่ฝันถึงนั้น คือสังคมที่มนุษย์เท่าเทียมกันโดยพื้นฐานทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งในปัจจุบันเราอยู่ภายใต้ระบบทุนนิยมที่มีคติว่า การแข่งขันในระบบตลาดคือธรรมชาติของมนุษย์ จึงพยายามจะให้มนุษย์แข่งขันกัน โดยชี้วัดความสำเร็จและคุณค่าจากเงินทอง สถานะ และตำแหน่งแห่งที่ของสังคม ขณะที่คอมมิวนิสต์ปฏิเสธเรื่องพวกนี้ทั้งสิ้น

แม้ในทางการเมือง ลัทธิทุนนิยมจะผูกตัวเองเข้ากับระบอบประชาธิปไตย ในแง่ที่ให้สิทธิทางการเมืองเท่ากัน 1 เสียงทุกคน แต่ในทางเศรษฐกิจกลับไม่มีความเท่าเทียมกัน เพราะทุนนิยมเชื่อว่ามนุษย์มีศักยภาพที่ไม่เท่ากัน ดังนั้น ควรจะต้องมีลำดับชั้น มีรูปแบบการแบ่งงานกันทำ และมีลำดับชั้นของการปกครองลงมา ซึ่งตรงกันข้ามกับแนวคิดคอมมิวนิสต์

“…แต่เวลาเราพูดแบบนี้ก็มักจะถูกโจมตีว่า ไอ้คำว่าเท่าเทียมกันเนี่ย มันแปลว่าทุกคนต้องแต่งตัวเหมือนกันใช่ไหม ต้องได้ทรัพยากรเท่ากันใช่ไหม ทั้งที่จริง ๆ ไม่ได้หมายความแบบนั้น แต่คือความเท่าเทียมกันในฐานะที่คุณเป็นมนุษย์เท่ากัน หัวใจสำคัญของแนวคิดคอมมิวนิสต์คือ การปลดปล่อยมนุษย์ออกจากสังคมชนชั้น ที่มีผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครอง แล้วก็มีผู้กดขี่กับผู้ถูกกดขี่ ไปสู่สภาวะที่มนุษย์ปกครองสังคมร่วมกันจริง ๆ มันจะไม่ใช่สังคมที่มีคนส่วนน้อยมากำหนดความเป็นไปของคนจำนวนมากในสังคมได้”

อุดมคติเพ้อฝัน-เผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ ตอบคนที่ไม่เข้าใจอย่างไร

ข้อวิจารณ์สำคัญที่คอมมิวนิสต์มักพบเจอคือ เพ้อฝัน อยู่ในโลกอุดมคติ ไม่มีทางเป็นจริง จักรพลกล่าวว่าที่เป็นเช่นนี้ เพราะพื้นฐานทางความเชื่อในปรัชญาเรื่อง “สภาวะธรรมชาติของมนุษย์” แตกต่างจากแนวคิดแบบทุนนิยม เล่าโดยสรุปก็คือ ทุนนิยมมองว่าโดยธรรมชาติแล้วมนุษย์ชอบการแข่งขัน ชอบการเอาชนะกันอยู่ตลอดเวลา มนุษย์จึงเห็นแก่ตัวและคิดถึงแต่ประโยชน์ของตัวเองเพื่อเอาตัวรอด

จักรพลได้แย้งมุมมองข้างต้น โดยย้อนกลับไปมองในประวัติศาสตร์ว่า ถ้ามนุษย์เห็นแก่ตัวโดยธรรมชาติ เราจะเจอปัญหาในการอธิบายวิวัฒนาการมนุษย์ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งการที่มนุษย์รอดมาได้นั้น เพราะว่า สมองและการรวมกลุ่มกัน

“…นั่นแปลว่า ในสภาวะธรรมชาติที่สุดก่อนที่มนุษย์จะรู้จักกับทุนนิยม มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่โดยการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ถ้ามนุษย์เห็นแก่ตัวโดยสันดานตั้งแต่บรรพบุรุษเป็นต้นมา สปีชีส์คุณมันล่มสลายไปแล้ว…”

อีกข้อวิจารณ์คือ ถ้าเข้าสู่สังคมคอมมิวนิสต์แล้วคนจะขี้เกียจ เพราะไม่มีการแข่งขัน นวัตกรรมใหม่ ๆ คงไม่เกิดขึ้นได้เหมือนในสังคมทุนนิยม?

จักรพลตอบข้อวิจารณ์ข้างต้นด้วยการชวนย้อนกลับไปมองในประวัติศาสตร์อีกว่า นวัตกรรมทั้งหลายที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน คนคิดก็คือชนชั้นนำที่นั่งกินนอนกินทั้งนั้น

“…คนพวกนี้ไม่ได้ทำงานนะ มันมีนายทาสที่คอยหาอาหารมาเลี้ยงชีวิต คำถามคือคนพวกนี้หยุดทำอะไรบางอย่างหรือเปล่า มันไม่ได้หยุดทำอะไร หมายความว่าต่อให้คุณเข้าสู่ระบบสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ คุณมีทรัพยากรที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ไม่ได้แปลว่าคุณจะหยุดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ…”

ทีนี้ การทำงานในระบบทุนนิยมกับคอมมิวนิสต์ก็มีความแตกต่างกัน งานในระบบทุนนิยมคือ คนไปขายกำลังแรงงานในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แล้วได้ค่าตอบแทนกลับมา แยกขาดชีวิตส่วนตัวกับชีวิตการทำงาน วัดคุณค่าการทำงานจากผลกำไร แต่งานในระบบคอมมิวนิสต์ จะนำการสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ การทำงาน การใช้ความคิดทุกอย่างมารวมอยู่ในชีวิตประจำวัน

“…งานในระบบคอมมิวนิสต์คือการใช้ชีวิต แค่ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมคอมมิวนิสต์ นั่นคือการทำงานของโลกคอมมิวนิสต์แล้ว เพราะคอมมิวนิสต์มีสมมติฐานว่า เมื่อมนุษย์มีกินมีใช้ ไม่ได้แปลว่ามนุษย์จะหยุดทำงาน… เพราะฉะนั้น ใครบอกว่าถ้าเขาสู่สังคมคอมมิวนิสต์แล้วคนจะขี้เกียจ ผมก็จะบอกว่ามันไม่จริง ใครจะไปนั่งกินนอนกินได้ มนุษย์ต้องออกไปทำอะไรสักอย่าง…”

ส่วนข้อวิจารณ์ที่ว่า คอมมิวนิสต์ = เผด็จการ / คอมมิวนิสต์ ≠ ประชาธิปไตย ซึ่งมาจากภาพจำที่มักเห็นประเทศที่อ้างว่ายึดแนวทางคอมมิวนิสต์แล้วปกครองด้วยระบอบเผด็จการพรรคเดียว ไม่ว่าจะเป็นรัสเซียภายใต้วลาดีมีร์ ปูติน, จีนภายใต้สี จิ้นผิง หรือเกาหลีเหนือภายใต้คิม จอง-อึน อันเป็นภาพจำที่ตรงข้ามกับประเทศประชาธิปไตยที่มีหลายพรรคให้ประชาชนมีสิทธิ์เลือกได้

ข้อวิจารณ์ดังกล่าว ส่วนหนึ่งมาจากความเข้าใจต่อศัพท์ที่ว่า “เผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ” (Dictatorship of the proletariat) ในงานเขียนของมาร์กซ์ เมื่อบางคนเห็นคำว่า Dictator ก็อาจแปลความหมายว่าเท่ากับ “เผด็จการ” จักรพลชี้ให้เห็นบริบททางภาษาในยุคของมาร์กซ์ว่า ที่จริงแล้ว Dictator ไม่ได้เป็นคำในแง่ลบ ถ้าจะกล่าวถึง “เผด็จการ” ก็มักจะใช้คำว่า Tyrant (ทรราช) หรือ Aristocracy (อภิชนาธิปไตย)

ถ้าดูบริบททางการเมืองในยุคนั้น หลายประเทศยังปกครองโดยมีกษัตริย์อยู่ ไม่มีโมเดลแบบเผด็จการจากประชาชนขึ้นไป คำว่า Dictatorship of the proletariat แบบที่มาร์กซ์ใช้ จึงไม่ได้หมายความว่า พอปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพสำเร็จจะต้องสร้างคนแบบอดอล์ฟ ฮิตเลอร์, โจเซฟ สตาลิน, หรือเหมา เจ๋อตงขึ้นมาอย่างที่ผู้คนรับรู้กันในปัจจุบัน  แต่ใช้ในความหมายที่ว่า  ชนชั้นกรรมาชีพที่เป็น “คนส่วนใหญ่” ในสังคมได้ขึ้นมาปกครองหลังการปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพสำเร็จแล้ว

สาเหตุที่มาร์กซ์เลือกใช้คำว่า Dictatorship of the proletariat เพราะในยุคนั้น หลายประเทศยังไม่ให้สิทธิทางการเมืองอย่างเท่าเทียม การเมืองจึงเป็นเรื่องของคนส่วนน้อย คือ ขุนนาง นายทุน และชนชั้นกระฎุมพี ดังนั้น คำดังกล่าวจึงมีนัยของการมอบอำนาจการปกครองให้แก่คนส่วนใหญ่อย่างชนชั้นกรรมาชีพ มากกว่าที่จะเป็นการมอบอำนาจปกครองให้แก่คนส่วนน้อยอย่างเผด็จการในปัจจุบัน

“…คติของ Dictatorship of the proletariat คือประชาธิปไตยนี่แหละ แต่มาร์กซ์ขยายขอบเขตออกไป… การใช้เสียงข้างมาก การถามความเห็นของคน การขอมติของสังคมจะต้องไม่จำกัดเฉพาะเรื่องการเมือง มาร์กซ์เสนอว่า ในเรื่องการบริหารเศรษฐกิจ การลงทุน การบริหารจัดการทรัพยากรทั้งหลาย ต้องถามความเห็นของคนทั้งสังคมร่วมกัน”

จากป่าสู่เมือง ความหวังต่อคอมมิวนิสต์/สังคมนิยมในไทย

“…แต่ก่อนชนชั้นกลางพูดถึงคอมมิวนิสต์นี้อุดหูเลย ไม่ต้องพูดถึงชนชั้นปกครองเขาปกปิดอยู่แล้ว…”

ลุงยงค์เกริ่นในช่วงทิ้งท้าย พร้อมกับมีความหวังว่า คนรุ่นใหม่ที่มีแนวโน้มหันมาสนใจประวัติศาสตร์มากขึ้น จะสามารถเข้าถึงและเสาะแสวงหาข้อมูลด้วยตนเองได้ และจะต้องศึกษาการต่อสู้ที่ผ่านมาว่า ข้อด้อย-ข้อดีเป็นอย่างไร ทำไมถึงชนะ ทำไมถึงเพลี่ยงพล้ำ อย่าด่วนสรุปความ และต้องฟังความเห็นของอีกฝ่ายด้วย 

ส่วนแนวคิดสังคมนิยม ลุงยงค์ยืนยันว่ามีความสำคัญ

“…ถ้ามีคนบอกว่าแนวคิดสังคมนิยมล้าหลัง ก็ต้องถามว่าแนวคิดเผด็จการที่ทำอยู่นี้ถูกต้องไหม ถ้าคิดว่าดีแล้วช่วยกันสนับสนุนให้ประยุทธ์อยู่ต่อไปอีก ถ้าไม่ถูกก็ต้องแสวงหาทางออก คุณจะเอาสังคมนิยมแบบไหน จีน เวียดนาม หรือสแกนดิเนเวีย รัฐสวัสดิการคุณเอาไหมล่ะ ผมว่าเด็กรุ่นใหม่รู้แล้วว่าจะต้องทำอะไร…”

ส่วนจักรพลยังคงมีความหวังว่า คนจะเข้าถึงแนวคิดคอมมิวนิสต์ได้มากขึ้น แม้จะดูเป็นเรื่องของปัญญาชน จนมีมีมล้อเลียนว่า กลุ่มเป้าหมายของคอมมิวนิสต์คือชนชั้นแรงงาน แต่คนที่เข้าถึงจริง ๆ คือปัญญาชนและชนชั้นกลาง แต่สิ่งที่ต้องไม่ลืมคือ งานชิ้นสำคัญของมาร์กซ์ “แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์” ตั้งใจเขียนขึ้นมาเพื่อให้ชนชั้นแรงงาน-คนยากคนจนได้อ่าน

“…เนื้อหา (ในแถลงการณ์ฯ-ผู้เขียน) พูดถึงชีวิตของชนชั้นแรงงาน ชนชั้นกรรมาชีพ ความไม่เป็นธรรมของสังคม ชีวิตของคนที่ถูกกดขี่ แล้วก็มอบแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ให้ว่า เราสามารถมีชีวิตที่ดีขึ้นกว่านี้ได้ โลกดีกว่านี้ได้ถ้าเราลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงโลก…”

การที่จะให้คนเข้าถึงแนวคิดคอมมิวนิสต์ได้มากขึ้น ไม่ใช่การตั้งโจทย์ว่า จะทำยังไงให้คนจำนวนมากหันมาอ่านงานของมาร์กซ์ หรือจะเขียนสรุปงานของมาร์กซ์อย่างไรให้คนอ่านแล้วเข้าใจ แต่โจทย์ง่ายกว่านั้นคือ เราจะลงไปคุยกับแรงงานอย่างไรให้เขาปะติดปะต่อได้ว่า ทุนนิยมมีส่วนทำให้ชีวิตประจำวันต้องประสบกับความยากลำบาก เราต้องช่วยชี้ทางให้เขาต่อว่า สิ่งที่เขาเจอมันทำงานและกดขี่อย่างไร

“…ไม่ได้แปลว่า เราไม่ต้องแตะงานทฤษฎีเลย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า คุณต้องไปอ่านงานทฤษฎีก่อนคุณถึงจะเป็นมาร์กซิสต์/คอมมิวนิสต์ได้ หลาย ๆ ครั้งไม่จำเป็น”

บทสนทนาจบลง แต่การทำงานทางความคิดยังคงไปต่อ เผื่อหวังว่าสักวันหนึ่งสังคมไทยเปิดกว้างทางความคิดมากขึ้น(?) แล้วคำว่า “คอมมิวนิสต์” หรือ “สังคมนิยม” คงจะพูดถึงกันได้เป็นปกติ (ไม่แสลงหูใครบางคน) เหมือนคำว่า “เสรีนิยม” “อนุรักษนิยม” หรือคำทางอุดมการณ์การเมืองอื่น ๆ และเรื่องราวของ พคท.-ทปท. จะถูกนับเป็นหนึ่งในสมการทางการเมืองที่สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์มากขึ้น อย่างน้อยให้มีปริมาณพอ ๆ กับเรื่องราวของวีรบุรุษสัก 1 หรือ 2 3 4… คน ก็ยังดี

[1] แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์