Women in Space ประวัติศาสตร์ความขมขื่นของการเป็นผู้หญิงในวงการวิทยาศาสตร์ - Decode
Reading Time: < 1 minute

Space for Thai

นิศาชล คำลือ

ในโลกที่ไม่สมมาตรนี้ คุณคิดว่านักรณรงค์ต้องเรียกร้องความเท่าเทียมในเรื่องต่าง ๆ ที่มันควรจะเท่าเทียมตั้งแต่แรกอยู่แล้วไปจนถึงเมื่อไหร่ 

ในช่วงปีที่ผ่านมานี้เทรนด์ Women in Space ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายทั่วโลก แม้กระทั่งอีเวนต์ระดับโลกที่พึ่งผ่านพ้นไปไม่นานอย่าง  World Space Week 2021 ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีโดย UN ก็ยังมาในตีม  Women in Space ไม่มีใครรู้ที่มาอย่างแน่ชัดว่าเทรนด์นี้เริ่มต้นขึ้นได้อย่างไร (อันที่จริงผู้เขียนคิดว่าน่าจะเป็นกระแสที่เกิดจากการเปิดตัวของโครงการ Artemis ที่มีเป้าหมายจะส่งผู้หญิงคนแรกขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์) 

และแน่นอนในฐานะผู้หญิงคนหนึ่งที่มีบทบาทในด้านงานอวกาศและวิทยาศาสตร์ ผู้เขียนเองก็ถูกถามจากสื่อหลาย ๆ สำนักเช่นกันว่ารู้สึกอย่างไรกับเทรนด์ Women in Space แต่คำถามที่ผู้เขียนสนใจเป็นพิเศษก็คือ ทำไมต้อง Women in Space 

เรามานั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลากันเสียหน่อยดีกว่า ในอดีต สังคมโลกของเราแบ่งเพศออกเป็น 2 เพศเท่านั้น คือเพศชาย และเพศหญิง (แม้ว่ากลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศจะมีมาแต่โบราณกาลแล้วก็ตาม) โดยในโลกที่แบ่งขาวและดำออกจากกันอย่างชัดเจนนี้ เพศหญิงมักถูกมองว่าเป็นเพศที่อ่อนแอ โง่เขลา เป็นเพียงเครื่องมือสืบพันธุ์ที่มีขาเดินได้เท่านั้น พวกเธอไม่จำเป็นต้องหัดอ่านหนังสือหรือร่ำเรียนหาวิชาความรู้ แนวคิดนี้กินเวลาอยู่หลายศตวรรษ พอเวลาผ่านไปจนผู้หญิงเริ่มถูกเปิดโอกาสให้เข้ารับการศึกษาบ้าง พวกเธอก็ยังถูกครหาว่าไม่อาจเก่งหรือฉลาดได้เทียบเท่ากับเพศชาย ทำให้โลกของเราในตอนนั้นมีจำนวนนักวิทยาศาสตร์หญิงที่น้อยมาก ๆ เมื่อเทียบกับจำนวนนักวิทยาศาสตร์ชาย เป็นเรื่องยากที่พวกเธอจะได้รับหน้าที่ในการทำงานใหม่ ๆ ที่ท้าทายความสามารถ

ในปีค.ศ. 1962 ช่วงเวลาที่สงครามเย็นระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตกำลังร้อนระอุ ภายหลังจากที่สหภาพโซเวียตประสบความสำเร็จในการส่งยูริ กาการิน เดินทางไปอวกาศและกลับมาอย่างปลอดภัยเป็นครั้งแรก ความตึงเครียดจึงตกมาอยู่กับฝั่งสหรัฐฯ ที่ในตอนนั้นความเจริญของเทคโนโลยีอวกาศยังไม่เทียบเท่ากับโซเวียต จนกระทั่งในที่สุดประธานาธิบดีจอร์น เอฟ เคเนดี ก็ได้ตัดสินใจประกาศต่อหน้าฝูงชนว่าสหรัฐฯ จะนำมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์ให้ได้ก่อนปีค.ศ. 1970 และในเวลาเดียวกันนั้น โครงการอพอลโลอันเลื่องชื่อก็ได้เริ่มต้นขึ้น

นับตั้งแต่อพอลโล 11 ที่สร้างประวัติศาสตร์โดยการส่งมนุษย์คนแรกไปเหยียบดวงจันทร์ได้สำเร็จจนถึงปัจจุบัน รวมแล้วมีมนุษย์ทั้งสิ้นเพียง 12 คนเท่านั้นที่เคยได้ไปเหยียบดวงจันทร์ และทั้ง 12 คน ล้วนเป็นเพศชายผิวขาวชาวอเมริกัน สถิตินี้กำลังบอกอะไรกับเรา? 

ดร. เชียง-เชิง วู The First Lady of Physics เคยกล่าวไว้ว่า “เป็นเรื่องน่าละอายที่มีผู้หญิงในวงการวิทยาศาสตร์เพียงไม่กี่คน มีความเข้าใจผิด ๆ ในอเมริกาว่านักวิทยาศาสตร์หญิงล้วนโง่เขลา นี่เป็นความผิดของพวกผู้ชาย”

คำกล่าวนี้อาจจะไม่ถูกต้อง 100% นักในโลกปัจจุบัน ที่แม้กระทั่งผู้ชายบางคนก็ยังสนับสนุนความเท่าเทียมของเพศหญิงและเคารพในความสามารถของพวกเธอ แต่ก็ใช่ว่าแนวคิดที่ว่าเพศหญิงนั้นโง่เขลากว่าเพศชายได้หายสาปสูญไปแล้ว

ในปีค.ศ. 2019 มีผลสำรวจผู้ปกครองในสหรัฐฯ ที่มีลูกสาวเผยออกมาว่า กว่า 4 ใน 10 คนของผู้ปกครอง มีความเชื่อว่าลูกสาวของพวกเขาจะไม่สามารถประสบความสำเร็จในสายอาชีพที่เกี่ยวกับวิชาการได้ เนื่องจากพวกเธอขาดสติปัญญาที่เพียงพอ นอกจากนี้ยังมีผลสำรวจออกมาอีกว่า เด็กผู้หญิงอายุตั้งแต่ 5 ขวบเป็นต้นไป จะเริ่มสูญเสียความมั่นใจในสติปัญญาและความสามารถของตนเอง และเริ่มเชื่อว่าเธอไม่สามารถเก่งได้เท่ากับเด็กผู้ชาย

แนวคิดนี้ไม่เพียงส่งผลให้เด็กผู้หญิงคิดว่าตนเป็นเพศที่อ่อนแอไร้ความสามารถเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อเด็กผู้ชายด้วยเช่นกัน 

“เป็นลูกผู้ชาย ห้ามร้องไห้”

“เป็นผู้ชายทำไมชอบสีชมพู..”

ในบางครั้ง เด็กผู้ชายเองก็อยากจะร้องไห้บ้างเมื่อรู้สึกเจ็บปวด บางครั้งก็อยากจะชอบสีสันสดใสบ้างที่ไม่ใช่ขาวกับดำ แต่พวกเขากลับต้องแสร้งทำเป็นเข้มแข็งอยู่ตลอดเวลา เพราะเพศสภาพไม่อนุญาตให้เขาทำตัวอ่อนแอ ทำให้เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ พวกเขาไม่เข้าใจความรู้สึกของตนเองและผู้อื่น ไม่สามารถแสดงความรู้สึกออกมาในทางที่ถูกได้ ในบางรายอาจมีการแสดงออกเป็นความก้าวร้าวรุนแรงแทน ที่เป็นแบบนี้เพราะในความเป็นจริงแล้ว ธรรมชาติได้สร้างกลไกให้มนุษย์ร้องไห้เมื่อเจ็บปวดเพื่อความอยู่รอดไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม เมื่อกลไกตรงนี้ถูกปิดกั้นตั้งแต่ยังเล็ก มนุษย์จะขาดความเข้าใจในความรู้สึกของตนเองและผู้อื่น และนำไปสู่การแสดงออกทางความรู้สึกที่ผิดได้

ในขณะเดียวกัน เมื่อเด็กผู้หญิงต้องเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่บอกว่าเธอทำแบบนั้นไม่ได้หรอก เพราะนั่นไม่ใช่งานสำหรับผู้หญิง เธอแต่งตัวแบบนั้นไม่ได้หรอก เพราะนั่นไม่ใช่เสื้อผ้าสำหรับผู้หญิง การกระทำและคำพูดเหล่านี้จะสอนให้พวกเธอแบ่งแยกสิ่งที่ตนเองทำได้และสิ่งที่ตนเองทำไม่ได้ออกจากกันอย่างชัดเจน โดยมีหลักเกณฑ์แบ่งแยกเป็นเพศสภาพ คุณผู้อ่านพอจะนึกภาพออกใช่ไหมว่าเรื่องน่าเศร้าแบบไหนจะตามมาเมื่อคนเราจำกัดขีดความสามารถของตนเองอย่างชัดเจนไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ  ผู้เขียนเชื่อเหลือเกินจากประสบการณ์ว่าแนวคิดนี้ได้พรากอัจฉริยภาพชายและหญิงในด้านต่าง ๆ ไปจากโลกนี้จำนวนไม่น้อยเลย 

สุดท้ายแล้ว Women in Space ก็คือการสื่อสารออกไปว่าเราไม่ลืมผู้หญิงทุก ๆ คนที่มีบทบาทในด้านอวกาศ แม้จะมีชื่อของพวกเธอบางคนเท่านั้นที่ได้รับการจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ เราไม่ลืมว่าพวกเธอต้องเผชิญกับคำครหามากแค่ไหนเพียงเพื่อให้ตนเองได้วิ่งตามความฝัน เรายกย่องในสิ่งที่พวกเธอทำ และขอบคุณมาก ๆ ที่ทำให้ในปัจจุบัน ความเท่าเทียมทางเพศถูกตระหนักถึงอย่างแพร่หลายไม่ว่าจะเป็นเพศไหนก็ตาม