โลกคู่ขนานต้านทานการขูดรีดเสรี ในขบวนการแรงงานแพลตฟอร์ม - Decode
Reading Time: 2 minutes

เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร

ก้อนอิฐในมือสามัญชน

กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ดีของสังคมมนุษย์ ที่ควรมองย้อนกลับมาสำรวจสิ่งที่เกิดขึ้น อย่างน้อยในหนึ่งรอบวงโคจรที่โลกได้เดินทางรอบดวงอาทิตย์ (หรือโดยประมาณ ​เพราะหนึ่งรอบเท่ากับ 365 กับอีก ¼ วัน) เพื่อประเมินการเปลี่ยนแปลงและสรุปบทเรียน ก่อนที่โลกจะวนกลับไปโคจรรอบดวงอาทิตย์ในรอบใหม่ เพื่อไม่ให้เราย่ำอยู่กับปัญหาเดิม

ในวงรอบที่ผ่านมา ถ้าหากจักรวาลนี้จะมีบทเรียนที่เป็นสากลสักหนึ่งชุดให้กับมนุษย์แล้วละก็ คงจะเป็นเรื่องที่ว่า “การเปลี่ยนแปลงคือธรรมชาติของสรรพสิ่ง” ดังนั้น ความไม่แน่นอนอาจเป็นความแน่นอนเดียวที่เราเชื่อมั่นได้

ท่ามกลางสถานการณ์ของความไม่แน่นอนกว่าสามปีของการระบาดของไวรัสโคโรน่า (และยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง ในสเกลของโลก จนตัวอักษรกรีกที่นำมาใช้เรียกสายพันธุ์ต่าง ๆ แทบจะไม่พอใช้) เป็นช่วงเวลาของความไม่แน่นอนที่ช่วงชีวิตของคน ๆ นึงจะสามารถประสบได้ อาจจะเทียบได้กับภาวะสงครามที่ไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด

แต่สามปีของการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นสามปีที่เราได้เห็นความเชื่อมโยงและความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจโลกอย่างที่ไม่คิดว่าจะได้เห็น ทั่วโลก ห่วงโซ่อุปทานของกระบวนการผลิตและกระจายสินค้าต้องหยุดชะงักและขาดตอน ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนสินค้าและภาวะเงินเฟ้อรุนแรงทั่วโลก

สิ่งที่พิลึกก็คือ ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตทางเศรษฐกิจอย่างถึงขีดสุดเช่นนี้ ธุรกิจแพลตฟอร์มกลับผงาดขึ้นและส่งผลให้มหาเศรษฐกิจเจ้าของแพลตฟอร์มหลายคนกลับรวยขึ้นหลายเท่าตัว (ในที่นี้ ผมหมายแพลตฟอร์มทุกประเภท รวมทั้งเฟซบุ๊ค+อินสตาแกรม กูเกิล, แอมะซอน) ทั้งที่คนเกือบทั้งโลกกลับจนลงหรือต้องประสบความยากลำบากในการดำเนินชีวิต

โลกใบเก่า vs ทุนนิยมใหม่ ที่สภาวะยกเว้นปลดปล่อยการขูดรีดให้เสรี

เราจะทำความเข้าใจกับความลักลั่นระหว่างการเติบโตของแพลตฟอร์มที่เปิดประตูวิเศษให้นายทุนกลุ่มใหม่ได้สะสมความมั่งคั่งอย่างไม่มีที่สิ้นสุด กับสภาพการทำงานของคนงานแพลตฟอร์มจำนวนมาก ที่เสมือนถูกจับใส่ไทม์แมชชีนให้กลับไปมีสภาพการทำงานของโรงงานนรกของศตวรรษที่ 18 ได้อย่างไร?

ความลักลั่นนี้คือรอยแตกของยุคสมัย มันคือจุดที่อดีตและปัจจุบันไม่สามารถมาบรรจบกันได้ เพราะความล้าสมัยของกลไกเชิงสถาบันเศรษฐกิจที่ถูกใช้มานับศตวรรษ ที่ไม่สามารถตามทันการปฏิวัติทางเศรษฐกิจของนายทุนที่ผลักดันพัฒนาเทคโนโลยีในการจัดการการผลิตรอบใหม่ ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างทุน-แรงงานที่เอียงกระเท่เร่อยู่แล้วต้องกลับหัวกลับหาง แรงงานกลายเป็นทาสของเครื่องจักร ส่วนทุนกลับกลายเป็นนายของมนุษย์

สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ การต่อสู้และต่อต้านของแรงงานทาสกลุ่มใหม่ทั่วโลก

สถิติจากดัชนีลีดส์ ซี่งเป็นสถิติการประท้วงของแรงงานแพลตฟอร์ม (Leeds Index of Platform Labour Protest)  ทั่วโลกที่พัฒนาขึ้นโดย business school แห่งมหาวิทยาลัยลีดส์ ในประเทศอังกฤษ แสดงให้เห็นว่าในตั้งแต่ต้นปี 2017 จนถึงเดือนเมษายนปี 2020 มีการชุมนุมประท้วงของคนงานแพลตฟอร์มทั่วโลกถึง 525 ครั้ง โดยมากกว่า 60% ของการประท้วงทั้งหมด เป็นเรื่องของค่าแรงหรือค่าตอบแทนในการทำงาน รองลงมาคือ เรื่องสถานะของการทำงาน (22%) และสภาพการทำงาน (20%)

ดัชนีลีดส์เองมีข้อจำกัดหลายประการเช่น ข้อมูลส่วนใหญ่ได้มาจากการประท้วงในประเทศยุโรปตะวันตก และขาดข้อมูลการประท้วงของคนงานจากประเทศที่ไม่ได้รายงานเป็นภาษาอังกฤษ เช่น การประท้วงของคนงานส่งอาหารในจีน ซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ จึงเป็นสถิติที่เบี่ยงเบนไปในการอธิบายภาคเศรษฐกิจแพลตฟอร์มด้านโลจิสติกส์และการประท้วงของคนงานแพลตฟอร์มในประเทศโลกเหนือ (the Global North) เป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ดัชนีลีดส์แสดงให้เห็นแนวโน้มที่เด่นชัดอันหนึ่งจากทั่วโลก โดยเฉพาะจากกลุ่มประเทศที่มีการเติบโตของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มมาก่อนและพัฒนาการของแพลตฟอร์มแรงงานมีความสุกงอมมากกว่าประเทศไทย การได้เข้าใจแนวโน้มของโลกเช่นนี้ จะช่วยให้เราได้มองเห็นเค้าลางของสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในเศรษฐกิจแพลตฟอร์มของไทย เหมือนว่าเราได้มีโอกาสมองเข้าไปในลูกแก้วของแม่หมอ

แนวโน้มที่ว่าก็คือ นอกจากการรวมตัวจัดตั้งของคนงานแพลตฟอร์มทั่วโลกจะกลายเป็นเรื่องปกติแล้ว การประท้วงต่อต้านมีแต่จะเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้น  ที่สำคัญ รูปแบบของแอ็คชั่นในเชิงกลุ่ม (collective action) ที่มีรูปแบบไม่เป็นทางการ จะกลายเป็นรูปแบบการรวมตัวจัดตั้งกระแสหลักในอนาคต

กลยุทธ์ต่อต้าน กฎหมายและความเข้มแข็งของสหภาพแรงงาน

รายงานสรุปของสถาบันสหภาพแรงงานยุโรป (European Trade Union Institute: ETUI) ฉบับที่ 2 ของปี 2020 วิเคราะห์ยุทธศาสตร์ของกลุ่มคนงานแพลตฟอร์มจากฐานข้อมูลของดัชนีลีดส์ในระหว่างปี 2015-2019 ว่าสามารถแบ่งเป็น 2 แนวทางหลักคือ แนวทางของกลุ่มคนงานแพลตฟอร์มแบบที่ใช้ตรรกะของอิทธิพล (logics of influence) และแบบที่เน้นตรรกะเรื่องสมาชิกภาพ (logics of membership)

ทั้งนี้ ตรรกะของอิทธิพล หมายถึง แนวทางของการใช้กฎหมายเพื่อท้าทายแพลตฟอร์มในประเด็นการนิยามสถานะแรงงานผิดประเภท (misclassification) แนวทางนี้มักเป็นที่นิยมของสหภาพแรงงานที่เป็นทางการ (official unions) ที่เข้าไปสนับสนุนการรวมกลุ่มของคนงานแพลตฟอร์ม โดยหลักการ สหภาพเหล่านี้สามารถยกระดับอำนาจต่อรองของตนเองผ่านอิทธิพลที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองหรือผู้กำหนดนโยบาย

กลยุทธ์นี้มักจะเหมาะสมกับประเทศที่สหภาพแรงงานมีความเข้มแข็ง และกฎหมายแรงงานได้รับการบังคับอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหมายความว่าชัยชนะในการต่อสู้เรื่องสถานะของคนงานแพลตฟอร์มจะนำไปสู่การได้มาซึ่งการคุ้มครองคนงานในเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ วันลาหยุด รวมทั้งการคุ้มครองทางสังคมอื่น ๆ ตามมาด้วย

ถึงแม้กลยุทธ์แรกนี้จะเหมาะสมกับบริบทของสหภาพแรงงานที่เป็นทางการ แต่ในความเป็นจริง ก็พบว่ามีกรณียกเว้นเช่น สหภาพ IG Metall สหภาพที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเยอรมนีกลับใช้กลยุทธ์แบบสหภาพที่ไม่เป็นทางการ กล่าวคือ สนับสนุนคนงานแพลตฟอร์มโดยจัดทำข้อมูลออนไลน์ให้เพื่อใช้ในนการประเมินความเป็นธรรมในมิติต่าง ๆ ของแพลตฟอร์มผ่านกรอบที่เรียกว่า Fairwork

ส่วนตรรกะของสมาชิกภาพ หมายถึงการใช้สไตรค์หรือนัดหยุดงานเป็นกลยุทธ์หลักเพื่อเรียกร้องให้แพลตฟอร์มจัดการปัญหาในเรื่องค่าแรงและปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงถือเป็นการต่อรองกันเองระหว่างฝ่ายคนงานและบริษัทแพลตฟอร์ม ในทำนองตรงกันข้ามกับตรรกะของอิทธิพล การจัดตั้งของคนงานแพลตฟอร์มที่ใช้แนวทางนี้มักจะได้รับการสนับสนุนจากสหภาพแรงงานที่ไม่เป็นทางการ หรือสหภาพฯ​ที่กฎหมายอาจไม่ได้รับรอง คล้ายคลีงกับในบริบทของบ้านเรา

เป้าหมายหลักของกลยุทธ์แบบหลังนี้คือ ระดมกำลังจากผู้สนับสนุนในสังคม โดยเฉพาะผู้บริโภคและแนวร่วมของแรงงาน ผ่านการใช้สื่อมวลชนและการสื่อสารสาธารณะ “รูปแบบใหม่” อย่างโซเชียลมีเดีย กลยุทธ์นี้ มักได้รับความนิยมจากกลุ่มคนงานที่มีรูปแบบการจัดตั้งจากล่างขึ้นบน (bottom-up) หรือการจัดตั้งด้วยตนเอง (self-organization) โดยไม่ได้มีสหภาพแรงงานใหญ่เป็นกลไก หรือในบางครั้ง ก็อาจเรียกรูปแบบของสหภาพแบบนี้ว่าเป็นสหภาพแรงงานแบบรากหญ้า (grassroots unions) ก็ได้

รูปแบบการจัดตั้งแบบนี้สอดคล้องกับที่เราได้เห็นในบ้านเรา ซึ่งในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา กลุ่มของไรเดอร์ส่งอาหารได้เป็นแนวหน้าในการขับเคลื่อน อย่างที่เราได้รับทราบข่าวของการประท้วง ที่มีสหภาพไรเดอร์ (Freedom Rider Union) เป็นแกนในการประสานงาน นอกจากการประท้วงโดยปิดแอ็ปหรือการรวมตัวเพื่อแสดงข้อความเปิดโปงปัญหาของแพลตฟอร์มและชวนเชิญสาธารณะให้เข้าร่วม อันที่จริง ยังมีแอ็คชั่นในเชิงกลุ่ม (collective action) ของคนงานแพลตฟอร์มอีกจำนวนมากที่ไม่ได้ถูกรายงาน ไม่ถูกมองเห็นและเกิดขึ้นในระดับชีวิตประจำวัน เพราะการรวมตัวของกลุ่มคนงานยังมีรูปแบบการจัดตั้งที่ไม่เป็นทางการ

การรวมตัวจัดตั้งแนวระนาบหรือดาวกระจาย เป็นเครื่องมือหรือเป้าหมาย?

ในปัจจุบัน มีความพยายามที่จะศึกษารวบรวมแท็คติกในการต่อต้านของคนงานแพลตฟอร์มจากนักจัยทั่วโลก ในที่นี้ ผมใช้คำว่าคนงานแพลตฟอร์มในความหมายกว้าง ซึ่งหมายรวมทั้งคนงานกิ๊กที่เชื่อมต่อกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจผ่านระบบแพลตฟอร์ม (platform-based gig workers) และคนงานแพลตฟอร์มพวกฟรีแลนซ์อย่างผู้ผลิตเนื้อหา (content creators) ที่เชื่อมต่อกับเศรษฐกิจดิจิทัลผ่านระบบอินเตอร์เน็ต

แท็คติกของการต่อต้านที่พบนั้น ได้แก่ การช่วยเหลือระหว่างคนงานกับคนงาน (mutual aid) เช่นในกรณีของเพจหรือกลุ่มออนไลน์ของไรเดอร์สังกัดต่างๆ และการเชื่อมโยงคนงานกับสาธารณะผ่านการรณรงค์สาธารณะ นอกจากนี้ คนงานเองมีแท็คติคการเคลื่อนไหวที่สร้างสรรค์ เช่น ใช้ประโยชน์จากอัลกอริทึมของแพลตฟอร์มเอง (ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Algoactivism มาจาก algo(-rithm)+activism)  เช่นตัวอย่างของคนงานส่งอาหารผ่านแพลตฟอร์มดอร์แดช (DoorDash) ในสหรัฐ ที่เคยทำแคมเปญ #DeclineNow เพื่อเรียกร้องให้คนรับส่งอาหารช่วยกันปฏิเสธคำสั่งอาหาร เพราะอัลกอริทึมของแพลตฟอร์มดอร์แดชนั้นถูกออกแบบให้จ่ายอัตราค่าตอบแทนที่สูงขึ้นให้คนส่งอาหารรายต่อไปหากมีการปฏิเสธคำสั่งซื้อจากลูกค้า

บทความ A Labor Movement for the Platform Economy ของ Harvard Business School ในเดือนกันยายนของปีนี้ ได้ตั้งข้อสังเกตอย่างน่าสนใจเกี่ยวกับกลยุทธ์และแท็คติกต่างๆ ภายใต้การรวมตัวจัดตั้งแบบดาวกระจาย (decentralized collective action) นั้น มักมุ่งเน้นยุทธศาสตร์การเพิ่มเสียง (Voice strategy) หรือเพิ่มอำนาจต่อรองของกลุ่มคนงาน แต่ยุทธศาสตร์ของเสียงนี้มีข้อจำกัดสูงมาก และนำไปสู่ผลลัพธ์เฉพาะหน้าหรือในระยะสั้นเท่านั้น

ผู้เขียนบทความดังกล่าวทั้งสามคน ได้เสนอต่อไปอีกว่ายุทธศาสตร์ที่ดีกว่าอาจจะเป็นยุทธศาสตร์ของการออก (Exit strategy) ไปจากระบบนิเวศเก่า เพราะคนงานอาจไม่มีเวลามากพอที่จะสร้างเครื่องมือใหม่เพื่อเสริมอำนาจของตนเอง เมื่อแพลตฟอร์มสามารถดิสรัปการจัดตั้งได้เสมอ ที่สำคัญ ประสิทธิภาพของแท็คติกต่าง ๆ ภายใต้ยุทธศาสตร์ของเสียงนั้นถูกจำกัดให้ทำได้ภายในขอบเขตของระบบนิเวศแพลตฟอร์มเอง

ทั้งนี้เราอาจเพิ่มเติมข้อเสนอของกลุ่มบทความดังกล่าวว่าในระยะสั้น ยุทธศาสตร์ของการออก หมายถึงการสร้างขบวนการของคนงานแพลตฟอร์ม โดยใช้กลยุทธ์การรวมตัวจัดตั้งแบบแนวระนาบเป็นเครื่องมือในการสร้างแพลตฟอร์มที่เป็นมิตรต่อคนงาน โดยมีเป้าหมายในระยะกลางเพื่อดิสรัประบบนิเวศที่มีอยู่ เพื่อให้ในที่สุดหรือในระยะยาวแล้ว ขบวนการของคนงานสามารถเดินออกไปสู่เศรษฐกิจแพลตฟอร์มที่คนงานเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง

ขบวนการแรงงานแพลตฟอร์มที่เข้มแข็งย่อมสามารถทำให้บริษัทแพลตฟอร์มเข้าใจว่าตนเองไม่ได้เป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะเช่นเดียวกับดวงอาทิตย์ที่โลกและดาวเคราะห์ทั้งหมดจะต้องวงจรรอบ

คนงานแพลตฟอร์มที่ไม่มีสายป่านยาวย่อมไม่สามารถต้านทานการขูดรีดเสรีได้โดยลำพัง การรวมกลุ่มให้เข้มแข็งเป็นขบวนการย่อมเป็นวิถีของการเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับตัวเอง แต่อย่างที่บทความข้างต้นได้เสนอ ความสำคัญของงานจัดตั้งน่าจะอยู่ที่การสร้างขบวนการของคนงานแพลตฟอร์มให้เข้มแข็งและดิสรัปเศรษฐกิจแพลตฟอร์มที่ขูดรีดภายในเวลาที่ไม่ยาวนานเกินไปนัก และที่สำคัญ การรวมตัวจัดตั้งไม่ได้เป็นจุดจบในตัวของมันเอง มันเป็นเครื่องมือหรือยานพาหนะที่ช่วยพาเราไปสู่อนาคตที่ดีกว่า นั่นคือ การสร้างระบบนิเวศธุรกิจใหม่ที่คนงานมีอำนาจอย่างแท้จริง