สังหารจอมทัพอัศวิน - Haruki Murakami - Decode
Reading Time: 2 minutes

Killing Commendatore หรือชื่อหนังสือภาษาไทยว่า สังหารจอมทัพอัศวิน นวนิยายของ Haruki Murakami คือเรื่องราวของ วาตารุ  จิตรกรวาดภาพพอร์ตเทรต อายุ 36 ปี

จุดเริ่มต้นของเรื่องราวเกิดขึ้นที่เมืองโตเกียวเมื่อภรรยาของวาตารุ ขอหย่ากับเขาก่อนถึงวันครบรอบการแต่งงานปีที่หกโดยไม่มีเหตุผล เธอเพียงแค่ต้องการหย่า

“การรักษาหัวใจเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและยากลำบาก แต่การทำลายหัวใจกลับง่ายเหมือนปอกกล้วย”

วาตารุจึงออกเดินทางร่อนเร่ไปทั่วญี่ปุ่น โดยรถมือสองเก่าๆ ของเขา ผ่านเรื่องราวแปลกประหลาด ในแบบฉบับของมูราคามิ การเดินทางสิ้นสุดลงเมื่อรถยนต์ของเขา ถึงกาลอวสานกลางทาง

โดยในระหว่างที่วาตารุกำลังหมดหนทางในชีวิตนั้น เขาก็ได้รับการช่วยเหลือจาก มาซาฮิโกะ อามาดะ เพื่อนสมัยเรียนมหาวิทยาลัยของเขา  มาซาฮิโกะ เสนอให้เขาไปอยู่บ้านพ่อของเขา โทโมฮิโกะ อามาดะ จิตรกรใหญ่ ที่ตอนนี้ป่วยเป็นอัลไซเมอร์พักฟื้นอยู่ที่สถานบำบัดคนชรา จิตรกรผู้มีความลับซ่อนอยู่ในความทรงจำ อยู่ที่กรุงเวียนนา สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อเขาเข้าไปมีส่วนพัวพันกับขบวนการนักศึกษาใต้ดิน ที่พยายามต่อต้านพวกนาซี เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้  โทโมฮิโกะ ตัดสินใจวาดภาพ สังหารจอมทัพอัศวิน ขึ้นมาแทนความทรงจำที่เขาไม่อาจพูดออกมาได้

เรื่องราวหลังจากวาตารุ มาอาศัยอยู่ที่บ้านของ โทโมฮิโกะ ดูเหมือนจะดำเนินไปอย่างเนิบช้า คงเหมือนกับตัวละครที่ค่อยๆ ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ ในบ้านบนภูเขาที่ห่างไกลจากผู้คน แต่แล้วตัวละครสำคัญของเรื่องก็ปรากฏ

“นั่นเพราะคุณอายุยังน้อย เมื่อไหร่ที่คุณอายุเท่าผม คุณจะเข้าใจความรู้สึกนี้ ว่าความจริงสามารถทำให้คนเราโดดเดี่ยวได้สาหัสเพียงใด” – เม็นชิกิ

เม็นชิกิคือตัวละครสำคัญที่โผล่เข้ามา ทำให้เรื่องราวเริ่มตื่นเต้นขึ้น เขาเป็นชายโสดวัย 50 ที่ดูเหมือนจะเพียบพร้อมทั้งฐานะ รูปร่างหน้าตา แต่ตัวละครทุกคนที่อยู่ภายในเรื่องนี้ ไม่มีสักคนที่จะหลุดรอด ความเว้าแหว่งไม่สมบูรณ์ไปได้ ‘เราต่างเป็นมนุษย์เว้าแหว่งอาศัยอยู่ในโลกบูดเบี้ยว’ ไม่มีใครเป็นข้อยกเว้น

เม็กชิกิ เข้ามาเพื่อขอให้วาตารุวาดภาพพอร์ตเทรตให้ แต่เขาก็มีจุดประสงค์แอบแฝงนอกเหนือจากเรื่องนี้ และก็เป็นเขาที่เป็นคนปลุก ทำให้วาตารุได้พบกับจอมทัพอัศวิน พร้อมๆ กันนั้นวาตารุก็ได้รู้จักกับเด็กหญิงวัย 15 ปี ที่คาดว่าน่าจะเป็นลูกของเม็กชิกิ เธอชื่อว่ามาริเอะ

ดูเหมือนตัวละครเด็กหญิงในช่วงวัยนี้ จะเป็นสิ่งที่ขาดไปไม่ได้เลยสำหรับนวนิยายของ มูราคามิ ทั้งในเรื่อง บันทึกนกไขลาน เริงระบำแดนสนธยา แดนฝันปลายขอบฟ้า ทุกๆ เรื่องของมูราคามิ มักนำตัวละครเด็กหญิง เข้ามาเป็นตัวละครสำคัญของเรื่อง และมักเป็นตัวละครที่เป็นส่วนสำคัญในการไขปริศนา เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเรื่อง ทำไมต้องเป็นเด็กหญิง?

“ขีดจำกัดที่ว่านั้นหมิ่นเหม่มาก การมองให้ขาดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย”

นอกจากเด็กผู้หญิง อีกสิ่งที่มักจะแวะเวียนมาในนิยายของมูราคามิ คือบ่อลึกมืดมิดไร้แสงสว่าง ภายใต้ความมืดมิด ที่เป็นประตูไปสู่อีกสิ่ง วาตารุและเม็กชิกิ ขุดพบอะไรบางอย่างคล้ายบ่อ อยู่ที่สวนหลังบ้าน การพบเจอที่มาพร้อมกับการปลดปล่อยจอมทัพอัศวิน อุปลักษณ์เลื่อนลอย มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่อาศัยภาพวาดของโทโมฮิโกะ แทนมโนภาพของตัวเอง 

“เราเชื่อมโยงกันด้วยบางอย่างเสมือนเส้นเลือด ท่อดังกล่าวมองไม่เห็นด้วยตา แต่เต้นตุบ ๆ ตามจังหวะชีพจร ส่งผ่านบางสิ่งคล้ายเลือดอุ่นให้แก่จิตวิญญาณกันและกัน”

ผมพยายามหาคำตอบว่าทำไมถึงชอบอ่านงานเขียนของมูราคามิ มันเป็นความเชื่อมโยงที่มักเกี่ยวข้องกับตัวละครที่แทนตัวเองว่าผม (วาตารุ) ตัวละครเอกในงานของมูราคามิส่วนใหญ่ จะแทนตัวด้วยการเป็นตัวละครชีวิตพัง ๆ แต่ก็ไม่ถึงกับยากจนแร้นแค้น โดดเดี่ยวแต่ก็ไม่ถึงกับเดียวดาย โชคร้ายแต่ก็ไม่ถึงกับไร้ความสุข ความครึ่ง ๆ กลาง ๆ เว้าแหว่งในบางส่วน คงเป็นส่วนผสมให้รู้สึกเชื่อมโยงเรื่องราวเหล่านั้น หรืออย่างน้อยๆ ตัวละครก็มักจะแสดงให้เห็นเสมอว่า ชีวิตที่อยู่คนเดียว มันก็เป็นชีวิตที่ไม่เลว

งานของมูราคามิ ส่วนใหญ่แล้วล้วนเป็นงานที่แสดงถึงความเป็นปัจเจกชน ผ่านเรื่องราวส่วนตัวของตัวละคร แต่มูราคามิก็มักสอดแทรกเหตุการณ์สำคัญๆ ที่เกิดขึ้นในโลก โดยเฉพาะเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มักจะโผล่เข้ามาในนิยายของเขา  ตัวมูราคามิเองเกิด (ปี1949) ในช่วงเบบี้บูมหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ยุคที่คนหนุ่มสาวต่อต้านสงคราม

นอกจากนี้เขายังเคยออกมาให้สัมภาษณ์กับหนังสือไมนิจิ ถึงเหตุผลที่จำเป็นต้องพูดถึงเรื่องประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะในเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ประเทศญี่ปุ่นของเขานั้น เคยรุกรานประเทศอย่างจีนหรือเกาหลี

“เราต้องต่อสู้กับการแก้ไขประวัติศาสตร์ นักเขียนนวนิยายถูกจำกัดให้ทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่สิ่งที่เราพอจะทำได้คือต่อสู้กับความพยายามเช่นนั้นโดยใช้การเล่าเรื่อง” มุราคามิกล่าว

ในสังหารจอมทัพอัศวิน มูราคามิหยิบเหตุการณ์ ช่วงที่นาซีกำลังยึดครองประเทศออสเตรีย เข้ามาใส่ไว้ในความทรงจำของตัวละครจิตรกรใหญ่โทโมฮิโกะ ในวันที่เขาไปศึกษาต่อทางด้านศิลปะที่เมืองเวียนนา ที่คุกรุ่นไปด้วยกลิ่นอายของศิลปะ ดนตรี  ทุกอย่างสิ้นสลายลงหมดสิ้นเมื่อการมาถึงของสงครามโลกครั้งที่ 2

นอกจากนี้ มูราคามิยังนำเหตุการณ์ความโหดเหี้ยมของการที่ญี่ปุ่นบุกนานกิงผ่านตัวละครน้องชายของโทโมฮิโกะ เพื่อแสดงว่าสงครามนั้นโหดร้ายต่อคนหนึ่งคนอย่างไร  น้องชายของโทโมฮิโกะไม่ใช่คนที่ถูกกระทำ แต่เขาคือผู้กระทำการตัดคอเชลยศึกโดยการถูกบังคับ หลังจากสงครามสิ้นสุด เขาตัดสินใจฆ่าตัวตาย เพราะไม่สามารถลืมบาดแผลความโหดร้ายที่เขาทำดังกล่าวได้

“ผู้บังคับบัญชายื่นดาบสั่งให้อาบั่นคอเชลย อาเงื้อดาบฟันด้วยมือสั่นเทา ไม่มีทางบั่นคอคนให้ขาดทันที นอกจากจะไม่สำเร็จในดาบเดียว รอบตัวยังเต็มไปด้วยเลือด ไหนจะเชลยที่ดิ้นทุรนทุรายด้วยความเจ็บปวด”

ฉากดังกล่าวอยู่ในตอนที่มาซาฮิโกะ อามาดะ เพื่อนสมัยเรียนมหาวิทยาลัยของวาตารุ นัดเจอเขาเพื่อพูดคุยกันถึงเรื่องราวต่างๆ ที่ค้างอยู่ในใจของวาตารุ  รวมถึงเรื่องราวที่ว่าทำไมภรรยาถึงตัดสินใจหย่ากับเขา แต่ความชัดเจนบางครั้งก็ไม่เคยมีอยู่จริง บางเรื่องที่ดูเหมือนใหญ่โตกับไม่มีอะไรตามมา แต่บางสิ่งที่เป็นเรื่องเล็กน้อย กับเกิดผลใหญ่โตอย่างคาดไม่ถึง

“มนุษย์แหงนมองดวงจันทร์ทุกค่ำคืน แต่กลับไม่รู้อะไรเกี่ยวกับดวงจันทร์เลยสักอย่าง”

อาจจะเพราะความไม่รู้ ว่าเรื่องราวหน้าต่อไปของหนังสือสังหารจอมทัพอัศวิน จะออกมาในทิศทางไหน เป็นสิ่งให้เราคอยลุ้นและอ่านมันจนจบ มันเริ่มต้นเรื่องด้วยเรื่องราวพิศวง ก่อนจะเป็นเรื่องราวรอยต่อชีวิตของชายวัยกลางคนผู้หย่าร้างกับภรรยา ที่ไปเผชิญกับชีวิตในชนบท และพบเจอกับเรื่องลึกลับเหนือจริง และความลึกลับนั้นก็ดูเหมือนจะยิ่งหลุดออกไปสู่โลกอีกใบในตอนท้าย ก่อนที่ทุกอย่างจะคลี่คลาย และจบแบบ Happy Ending…จะเรียกแบบนั้นในงานของมูราคามิได้ไหม คงต้องชวนให้ลองได้ไปอ่านกัน

ถือเป็นอีกเล่มที่ยังคงกลิ่นอายเอกลักษณ์ของมูราคามิ ในแบบฉบับของโลกคู่ขนาน โลกที่มีแต่เขาคนเดียวเท่านั้นที่สร้างมันขึ้นมา