จุดติดกระเเสนิยมเลือดใหม่ชายแดนใต้ อุดมการณ์ VS บารมี เมื่อจุดตัดของเกมอยู่ที่ปมปัญหาปากท้อง-สิทธิที่ควรได้เหมือนคนลุ่มน้ำเจ้าพระยา - Decode
Reading Time: 3 minutes

สามจังหวัดชายเเดนภาคใต้ซึ่งหมายรวมถึงปัตตานี นราธิวาส ยะลา เเละสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา คือ จะนะ เทพา นาทวี เเละสะบ้าย้อย ดินเเดนชายขอบที่ปัญหามากมายซ้อนทับกันอยู่อย่างยุ่งเหยิง  ตั้งเเต่สถานการณ์ความไม่สงบที่ยืดเยื้อยาวนานมา 17 ปี เรื่องเศรษฐกิจปากท้องเเละการศึกษา

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัญหาเหล่านี้ยึดโยงอย่างมิอาจเเยกจากกันกับการเมือง เเละน่าสนใจว่าการเมืองเชิงพื้นที่ภายใต้วัฒนธรรมนิยมตัวบุคคลที่ฝังรากมายาวนานจนหนุนให้นักการเมืองผู้มากบารมีก้าวสู่ตำเเหน่งผู้เเทน ราษฎร คือวิถีทางเเห่งการเลือกที่เป็นประโยชน์หรือเป็นกับดักที่เหนี่ยวรัดคนสามจังหวัดฯ อยู่กับปัญหาเดิม ๆ มากกว่ากัน เเละ ส.ส. ที่ผ่านมาได้เล่นบทบาทผู้เเทนของคนในพื้นที่จริง ๆ หรือยึดติดกับบทผู้เเทนเเจกของเพื่อสมสร้างบารมีตัวเองให้เพิ่มพูนเท่านั้น

“เมื่อก่อน ส.ส. พอเลือกตั้งเสร็จก็หายหน้าไปอยู่กรุงเทพฯ นาน ๆ ไม่ค่อยมีใครจะกลับมาอยู่กับพื้นที่จริง ๆ”

“คนในพื้นที่ยังไม่เข้าใจหน้าที่บทบาทของ ส.ส. การเลือกจึงมองเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่ชัดเจนอย่างเรื่องถนน ไฟฟ้า ว่าใครเขามาช่วย ซึ่งเอาเข้าจริง เรื่องเหล่านั้นไม่ใช่หน้าที่ของ ส.ส. เป็นของท้องถิ่น แต่พอภาพลักษณ์เป็นแบบนั้น คนจึงคิดว่า ส.ส. เดินแจกของน้ำท่วมก็ทำหน้าที่ได้ดีเเล้ว”

เป็นความเห็นของมูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ บรรณาธิการ The Motive (สื่อข่าวออนไลน์ในสามจังหวัดฯ) ซึ่ง De/code ชวนมาพูดคุย พร้อมกับอาจารย์เอกรินทร์ ต่วนศิริ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ถึงภูมิทัศน์และทิศทางการเมืองชายแดนใต้ผ่านการถอดบทเรียนจากการเลือกตั้งครั้งก่อนและมองถึงความเป็นไปได้ของการเลือกตั้งครั้งหน้า


เรื่องที่น่าจับตามองซึ่งทั้งสองสะท้อนตรงกันนั่นคือการปะทะกันระหว่างกระเเสนิยมนักการเมืองรุ่นใหม่ที่มีอุดมการณ์กับวัฒนธรรมนิยมนักการเมืองหน้าเก่าผู้มากบารมี ซึ่งหากฝ่ายเเรกชนะก็จะเปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองในชายเเดนใต้ไปจากที่เคยเป็น


มองทิศทางของการเลือกตั้งครั้งใหม่

“กระแสนิยมพรรคการเมืองในพื้นที่ตอนนี้แบ่งเป็นสองปีก คือปีกประชาธิปไตยที่ยึดโยงอยู่กับเรื่องของคุณค่า อุดมการณ์ คนในพื้นที่สนใจอะไรแบบนี้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่คิดถึงเรื่องนโยบายมากขึ้น นั่นหมายถึงก็ข้องเกี่ยวกับพรรคการเมืองฝั่งประชาธิปไตยหรือฝั่งเผด็จการ ขณะที่อีกปีกเป็นความนิยมผู้มีบารมีในพื้นที่ อย่างนราธิวาสก็มี ส.ส. บางคนที่มีความใกล้ชิดกับรัฐบาลและมีการใช้โครงการของรัฐบาลเพื่อสนับสนุนการช่วงชิงมวลชน ผลคือเขาก็ได้รับความนิยมนะ แต่เป็นความนิยมบุคคลไม่ใช่นิยมพรรค

ความสนุกของการเลือกตั้งครั้งหน้าจึงคิดว่าน่าจะมีการแข่งขันกันมากขึ้น ระหว่างแคนดิเดตที่มีศักยภาพหรือหน้าใหม่กับผู้มีบารมีในพื้นที่”

“อธิบายให้ชัดคือสองปีกนี้เป็นสองปีกที่กำลังบดขยี้ หรือเป็นวิวาทะทางความคิดว่าเราจะเลือกพรรคการเมืองหรือปัจเจก อย่าง คุณอันวา สาและ ส.ส. ปัตตานี เขต 1 คิดว่าตนจะสังกัดพรรคไหนก็ได้ เพราะเขาก็มองว่าสามารถยืนอยู่ได้ด้วยพลังของตัวเขาเอง การออกจากพรรคประชาธิปัตย์จึงไม่เป็นอุปสรรคใด ๆ”

“และในความคิดของผมนะครับ ถึงอย่างไรพรรคก็ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงความนิยมทางการเมือง เพราะที่นี่คนยึดกับตัวบุคคลมาก จะมีผลก็แต่กับคนรุ่นใหม่ แต่คนรุ่นใหม่ก็ไม่เพียงพอที่จะรวมคะแนนโหวตให้ชนะการเลือกตั้ง ถ้าเราคิดว่าครั้งหน้าเปลี่ยนบัตรเลือกตั้งเป็นสองใบ ให้เลือกพรรคกับเลือกคน ก็น่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงว่าคนจะกาพรรคกับกาคนโดยไม่เกี่ยวกัน คือพรรคใดมีอุดมการณ์ชัดเขาอาจเลือกพรรคนั้น ส่วนการเลือกคนก็อาจเป็นคนของอีกพรรค คืออาจยังเป็นคนที่มีบารมีเช่นเดิม”

ความเห็นของอาจารย์เอกรินทร์ต่อกระแสการเมืองในสามจังหวัดฯ ที่สืบเนื่องมาในปัจจุบัน ด้านมูฮาหมัดอัณวัรเผยอีกแง่มุมที่น่าสนใจว่า “ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าถ้าคนในพื้นที่ยังไม่เข้าใจหน้าที่และบทบาทของ ส.ส. เขาก็ยังเลือกด้วยการมองเพียงว่าใครที่ช่วยเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่เห็นชัด ๆ อย่างเรื่องถนน ไฟฟ้า ซึ่งเอาเข้าจริง อะไรพวกนั้นไม่ใช่หน้าที่ของ ส.ส. เป็นหน้าที่หลักขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่สามปีที่ผ่านมาเราเห็นการขยับของบาง ส.ส. ที่พยายามเล่นบทบาทที่ควรเล่นของตัวเองในสภาให้เห็น คือเมื่อมีการอภิปรายในสภา เขาทำการบ้านไปล่วงหน้า มีสถิติ มีสไลด์ขึ้นมา ไม่ใช่การอภิปรายปากเปล่า สะท้อนถึงความน่าเชื่อถือมากขึ้น ถ้ากระแสการเมืองจะเปลี่ยนบ้างก็คิดว่าขึ้นอยู่กับความเข้าใจของคนในพื้นที่ต่อบทบาทของ ส.ส. มากขึ้น”

“และไม่ปฏิเสธนะว่าเงินยังมีอิทธิพล แต่ก็ต้องยอมรับว่าคนในพื้นที่โดยเฉพาะ new voter เขามีวิจารณญาณ คือถึงจะรับเงิน เขาก็รู้ว่าใครที่ควรกาให้เข้าไปนั่งในสภา ปัจจัยตัดสินใจหนึ่งคือใครที่จะอยู่กับคนในพื้นที่จริง ๆ มากกว่า เพราะ ส.ส. วันนี้ไม่ได้อยู่กรุงเทพฯ นาน ๆ เหมือนแต่ก่อนที่หลังเลือกตั้งเสร็จไม่เห็นพวก ส.ส. เลย แต่วันนี้วัดกันว่าใครประชุมเสร็จกลับมาอยู่กับพื้นที่จริง ๆ บ้าง”


สู่ความเคลื่อนไหวเดินเกมชิงตัวแทน

คำอธิบายของอาจารย์เอกรินทร์ที่ว่าเลือกตั้งครั้งหน้าจะมีการแข่งขันมากขึ้นระหว่างเคนดิเดตที่มีศักยภาพหรือหน้าใหม่กับผู้มีบารมีในพื้นที่นั้นดูจะค่อย ๆ ชัดเจนขึ้น เมื่อความเคลื่อนไหวของพรรคต่าง ๆ ในห้วงสองเดือนให้หลังมานี้ แสดงนัยยะถึงการเดินเกมที่จะนำไปสู่การแข่งขันในแบบที่ว่าแล้วชัด ๆ อย่างน้อยสามพรรค คือ ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ และไทยสร้างไทย

สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ ได้จัดโครงการจุรินทร์ออนทัวร์ ให้หัวหน้าพรรคคือจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ เดินทางลงพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ยะลา ปัตตานี และสงขลา ความน่าสนใจของโครงการดังกล่าวอยู่ที่แคมเปญ “เลือดใหม่ไหลเข้า เลือดเก่าไหลกลับ” ซึ่งได้เปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. นราธิวาส 3 คน คือนายเมธี อรุณ นักร้องนำวงลาบานูน เป็นตัวแทนของเลือดใหม่ และนายกูอาเซ็ม กูจินามิง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กับนายเจะอามิง โตะตาหยง อดีตผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรครวมพลังประชาชาติไทยที่กลับเข้าพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้ง เป็นตัวแทนของเลือดเก่า สะท้อนถึงการเดินเกมช่วงชิงผู้มีชื่อเสียงและมีทุนทางการเมืองเข้าสังกัดพรรคตน


ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ ก็ไม่นิ่งเฉย โดยเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้ลงพื้นที่จังหวัดนราธิวาส เพื่อเปิดสาขาพรรคพลังประชารัฐ สาขาภาคใต้ แม้จะยังไม่มีการเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร แต่การเปิดสาขาดังกล่าวก็เป็นนัยยะสะท้อนถึงความพร้อมที่จะอ้าแขนรับผู้สมัครในพื้นที่เข้าสู่พรรคตน

ด้านไทยสร้างไทย พรรคน้องใหม่ภายใต้การนำของสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หันไปเน้นการสร้างเครือข่ายกับคนรุ่นใหม่ ซึ่งกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมาได้มีการจัดประชุมกับกลุ่ม The Patani และ Patani Baru ซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยไทยรักไทยพยายามแสดงให้เห็นว่าเป็นพรรคที่มีนโยบายที่เปิดกว้างทั้งเรื่องวัย และความต่างทางวัฒนธรรม พร้อมกันนั้นก็ชูเรื่องการส่งเสริมประชาธิปไตยและปลดปล่อยคนในพื้นที่จากการถูกกดทับด้วยระบบอำนาจและรัฐราชการ

จึงน่าสนใจว่าเลือกตั้งครั้งที่จะถึง อุดมการณ์หรือบารมีจะช่วยกวาดคะแนนเสียงได้มากกว่ากัน


เเลเลือกตั้ง 62 หมุดหมายของกระแสคนรุ่นใหม่

จากความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองในปัจจุบัน มูฮาหมัดอัณวัร ชวนย้อนทวนถึงการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ซึ่งมีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจในเชิงพื้นที่สะท้อนเเละเกี่ยวโยงอย่างมิอาจเเยกขาดจากภูมิทัศน์การเมืองชายเเดนใต้ขณะนี้

“ช่วงเลือกตั้งครั้งนั้นผมทำ Projek Sama Sama เพื่อสังเกตการณ์การเลือกตั้งว่าพรรคการเมืองต่าง ๆ มีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่อย่างไรบ้าง และพบว่ากระแสของคนรุ่นใหม่และการเกิด new voter เป็นตัวแปรที่ส่งผลต่อทิศทางการหาเสียงในตอนนั้น พรรคอนาคตใหม่ซึ่งค่อนข้างเป็นที่นิยมของคนรุ่นใหม่ก็มาช่วงชิงมวลชนไปได้ในระดับหนึ่ง กระแสแบบนี้ไม่เคยเกิด ทำให้พรรคใหญ่ ๆ ถอดบทเรียนและปรับตัวขยับระยะเข้าใกล้คนรุ่นใหม่มากขึ้น”

“ขณะเดียวกันกระแสเหนื่อยหน่ายพรรคที่ยึดโยงกับ กปปส. ก็ปรากฏให้เห็น อย่างพรรคประชาธิปัตย์ได้ที่นั่งมาเพียง 2 ที่นั่ง จาก 13 เขตเลือกตั้ง  ซึ่งผมมองว่าความล้มเหลวดังกล่าวไม่ได้มาจากผลกระทบของตัวบุคคลในพื้นที่ แต่มาจากผลกระทบของการเมืองส่วนกลางมากกว่า เพราะภาพลักษณ์ของประชาธิปัตย์หลังรัฐประหารปี 2557 คือพรรคที่ไปร่วมชุมนุมกับ กปปส. ถึงแม้คนในพื้นที่จะไม่ได้รู้สึกร่วมกับการเมืองส่วนกลางมากนัก แต่ด้วยเหตุที่ผู้นำซึ่งมาจากการรัฐประหารภายหลังการชุมนุมของ กปปส. ทำให้พวกเขาอดอยากมากขึ้นจึงก่อผลให้คนรู้สึกเจ็บใจผูกกับประชาธิปัตย์ ซึ่ง

การเสียที่นั่งมากมายขนาดนี้ จริง ๆ แล้วคือความผิดปกติของพรรคประชาธิปัตย์ที่เคยยึดครองพื้นที่มาตลอด”


“ในแง่ของตัวแสดง ก็มีคนรุ่นใหม่ที่อายุเลยยี่สิบห้าปีมานิดหน่อยลงสนามการเมืองมากขึ้น อาจไม่ได้หวังว่าจะชนะเลือกตั้ง แต่หวังเป็นส่วนหนึ่งในการรวบรวมคะแนนเพื่อให้ได้ที่นั่งในปาตี้ลิสต์ ซึ่งส่วนใหญ่จะสังกัดพรรคเล็ก ๆ ส่วนพรรคใหญ่ ๆ คนหน้าใหม่น้อยมาก ถึงจะเปลี่ยนคน แต่ก็เป็นหน้าเดิมของนักการเมืองท้องถิ่นที่เปลี่ยนมาเล่นการเมืองระดับชาติ อย่างพรรคพลังประชารัฐก็คัดสรรคนที่มีฐานเสียงอยู่แล้ว”

“อีกกระแสที่ตอบโจทย์ คือกระแส Parti Kita (พรรคของเรา) ที่คนในพื้นที่รู้สึกว่าพรรคการเมืองอย่างพรรคประชาชาติเป็นพรรคของคนในพื้นที่จริง ๆ เพราะทั้งตัวหัวหน้าพรรคไปจนถึงผู้สมัครในเขตต่าง ๆ ล้วนเป็นคนในพื้นที่และมีสัญลักษณ์ของความเป็นมลายูท้องถิ่นมาก ทำให้รู้สึกถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนมากกว่าพรรคอื่น ๆ ซึ่งตรงนี้เห็นผลสำเร็จได้จากการได้ที่นั่ง ส.ส. ของประชาชาติไปถึง 7 ที่นั่ง”

ดังกล่าวสอดคล้องกับทัศนะของอาจารย์เอกรินทร์ที่ว่า “การชูเรื่องมลายูนิยมและความเป็นพื้นที่ ผมว่าขายได้นะสำหรับคนที่มีแนวความคิดเป็น Melayu Nationalism โดยไม่แบ่งรุ่นน่ะ เพราะกลุ่มนี้มีทั้งคนรุ่นใหม่และรุ่นก่อน จะเห็นได้ว่าสิบเอ็ดที่นั่งที่ชนะเลือกตั้งปี 62 ก็เป็นมลายูมุสลิมในพื้นที่ ดังนั้นเรื่องนี้ยังไงก็ยังมีคนซื้ออยู่”

เช่นเดียวกันอาจารย์เอกรินทร์กล่าวถึงกระแสคนรุ่นใหม่ว่า “เนื่องจากไม่มีการเลือกตั้งมาตั้งแต่ปี 2557 พอมาครั้งนั้นก็ทำให้ new voter กลายเป็นหนึ่งสมการในพื้นที่ อย่างไรก็ดีไม่ได้มีพลังพอที่จะทลายวัฒนธรรมทางการเมืองที่นี่ได้เสียทีเดียว คือในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าผู้สมัครในพื้นที่ไม่ได้ยึดโยงกับพรรคมากนัก นั่นเพราะวัฒนธรรมทางการเมืองของคนที่นี่เน้นเลือกคนมากกว่าเลือกพรรคหรือนโยบาย ตัวบุคคลจึงยังสำคัญ

กล่าวให้ชัดผมคิดว่าการเลือกตั้งปี 2562 เป็นระยะเปลี่ยนผ่านของความคิดทางการเมืองของผู้คนที่นี่ คือสะท้อนถึงการปะทะกันระหว่างวัฒนธรรมเดิมกับคุณค่าที่ขยับไปใน Gen ใหม่”


ความท้าทายของความก้าวหน้า

นอกจากปรากฏการณ์ข้างต้นแล้วมูฮาหมัดอัณวัร ยังเผยว่ามีข้อท้าทายที่พรรคการเมืองไม่ควรละเลยคือเรื่องการนำเสนอนโยบายที่ขัดกับความคิดความเชื่อทางศาสนาของคนในพื้นที่ เพราะการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมามีสองเรื่องหลัก ๆ ที่กลายมาเป็นประเด็นและถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองคือเรื่องความหลากหลายทางเพศของพรรคอนาคตใหม่ และเรื่องกัญชาเสรีของพรรคภูมิใจไทย

“การชูเรื่องกระแสเสรีนิยมโดยรวมไม่ได้ถูกต้านมากนัก แต่เมื่อพรรคอนาคตใหม่มาหยิบชูเรื่องความหลากหลายทางเพศอย่างชัดเจนก็สร้างความกังวลให้กับคนในพื้นที่ แกนหลักของพรรคในพื้นที่ก็พยายามประสานกับพรรคที่ส่วนกลางว่าให้พยายามหลีกเลี่ยงประเด็นดังกล่าวในสามจังหวัดฯ มีเรื่องอื่นที่สำคัญกว่าสำหรับคนในพื้นที่ เช่น ปากท้อง การศึกษา หรือความมั่นคง ที่ควรจะพูดถึง และก็ต้องยอมรับด้วยว่าประเด็นนั้นเกี่ยวพันอยู่กับความเชื่อ ความศรัทธาของคนในพื้นที่ ตอนนั้นจำได้ว่ามีการพูดถึงกันวงกว้างทั้งในสภากาแฟ ในโซเชียลมีเดียก็มีการแชร์ข้อความในทำนองว่าเลือกพรรคนี้แล้วจะทำให้ LGBTQI+ ในพื้นที่เพิ่มขึ้น จะไปต้านกับหลักความเชื่อ โดยสรุปคือมีผลทางการเมืองไม่น้อย”

“ส่วนนโยบายกัญชาเสรีของภูมิใจไทย ก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการหาเสียงเลือกตั้ง มีพรรคอื่นที่ลุกขึ้นมาโจมตีว่าถ้าเลือกพรรคนี้แล้วคนสามจังหวัดจะยิ้มกันไม่มีใครสนใจใคร เพราะกัญชาเสรี คนจะติดสารเสพติดมากขึ้น”


ขณะที่อาจารย์เอกรินทร์ เผยในอีกมุมว่า “การชูเรื่อง LGBTQI+ เป็นเรื่องของนโยบายทางสังคม การไม่เห็นด้วยมันเป็นเรื่องปกติของผู้คนที่เผชิญกับความหลากหลาย เพียงแต่ประเด็นแบบนี้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของพรรคอื่นได้ เป็นการสู้รบทางการเมือง ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ค่อนข้างเปิดรับไปแล้ว เพียงแต่เราจะจัดที่ทางให้กับเรื่องแบบนี้ยังไง ถึงที่สุดก็คิดว่าเป็นเรื่องทางสังคมที่มันถกเถียงกันได้”

ถึงตรงนี้อาจปักหมุดสรุปได้ก่อนว่าบทสะท้อนการเลือกตั้งปี 2562 ต่อพื้นที่ชายแดนใต้ มีอยู่ 4 เรื่องหลัก ๆ คือ การปะทะกันระหว่างความนิยมพรรคที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยกับวัฒนธรรมการเลือกตัวบุคคล ความเหนื่อยหน่ายพรรคที่ผูกโยงกับรัฐบาลทหาร ความขายได้ของมลายูนิยม และข้อท้าทายเรื่องนโยบายที่ขัดกับความคิดความเชื่อ ซึ่งทั้งสี่เรื่องนี้จะยังคงเป็นผลสืบเนื่องต่อวิธีคิดของคนในพื้นที่ต่อมาในปัจจุบัน


เลือกความสงบจบที่ใคร

อย่างไรก็ตามนอกจากโจทย์จากบทสะท้อนทั้งสี่เรื่องเเล้ว การเข้าใจบริบทและความต้องการของคนในพื้นที่จริง ๆ ก็เป็นสิ่งที่พรรคการเมืองไม่ควรเละเลย และเพื่อให้ได้คำตอบว่าจริง ๆ แล้วคนในพื้นที่ต้องการ ส.ส. และนโยบายแบบไหน Decode จึงขอให้มูฮาหมัดอัณวัรสมมติตัวเองเป็นผู้สมัครเลือกตั้ง แล้วโยนคำถามให้ว่าหากได้เป็น ส.ส. เขาจะเป็น ส.ส. แบบไหน จะเสนอนโยบายอะไร

คำตอบของเขาคือ “ถ้าดูโมเดล ส.ส. ในพื้นที่ ก็เห็นยาก อาจจะเป็นคุณวันมูหะมัดนอร์ มะทา คุณเด่น โต๊ะมีนา แต่เอาเข้าจริงสำหรับผมยังไม่เจอใครเป็นไอดอลทางการเมือง ถ้าถามตัวเอง ผมว่าผมอยากเป็น ส.ส. ที่ไม่ได้ช่วยเฉพาะในเขตของตัวเอง ผมไม่ต้องการไปอยู่ในสภาเพื่อคุยปัญหาในเขตของตัวเองได้เท่านั้น แต่ควรคุยได้ทั้งสามจังหวัดฯ และประเด็นไหนที่เกี่ยวโยงกับภาคอื่น ๆ ถ้าเป็นประเด็นเดียวกันก็ควรพูดแทนคนทั้งประเทศได้ อยากเป็น ส.ส. ที่ไม่เอาหัวคะแนนมาเป็นผู้ช่วย แล้วให้ผู้ช่วยมีหน้าที่แค่ขับรถ แต่อยากได้ผู้ช่วยที่มีความชำนาญด้านต่าง ๆ จริง ๆ อีกอย่างคืออยากเป็น ส.ส. ที่เข้าใจระบบขั้นตอนรัฐสภาแบบไทย การนำเสนอข้อมูล การอภิปรายต่าง ๆ ในเรื่องที่มีประโยชน์ต่อคนในพื้นที่”

“ส่วนว่าอยากชูนโยบายอะไร ถ้าให้เลือกจากที่เรื้อรังจริง ๆ คงเป็นการผลักดันแก้ไขอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีอำนาจมากขึ้นกว่าเดิม ทุก ๆ อย่างที่ท้องถิ่นสามารถจัดการเอง กฎหมายต้องออกมาเอื้อให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการตัดสินใจไม่ใช่รอนโยบายจากส่วนกลางเท่านั้น คนในพื้นที่ต้องสามารถบริหารจัดการได้อย่างเต็มที่ และคิดว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ความต้องการของแค่พื้นที่นี้เท่านั้น แต่อีสาน เหนือ ภูมิภาคอื่น ๆ ก็คงต้องการเหมือนกัน”


เมื่อพูดถึงปัญหาในพื้นที่ชายแดนแห่งนี้คงละเลยที่จะพูดถึงอีกปัญหาเรื้อรังอย่างสถานการณ์ความไม่สงบไปเสียไม่ได้ ซึ่งน่าสนใจว่าการเมืองแบบไหนหรือรัฐบาลแบบไหนกันที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้บ้าง

สำหรับมูฮาหมัดอัณวัรยืนยันเสียงแข็งว่า “สิบเจ็ดปีแห่งความไม่สงบ เราได้ชิมคณะบริหารประเทศมาหลายรูปแบบ ที่ทั้งมาจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย การยึดอำนาจสองครั้ง การแก้ปัญหาในพื้นที่ก็ยังเป็นแบบเดิม มีนวัตกรรมใหม่เพียงแค่โต๊ะพูดคุย เปลี่ยนจากทหารประจำ เป็นทหารพราน เป็นกองอาสารักษาดินแดน สุดท้ายแล้วการแก้ปัญหาก็ยังใช้อาวุธ ถึงแม้ทหารจะทำงานพัฒนาไปด้วย แต่เอาเข้าจริงมันไม่ใช่หน้าที่ของทหาร เลยคิดว่าไม่ว่ายุคไหน จะเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ ครึ่งใบ หรือเผด็จการ สุดท้ายแล้วที่นี่ก็ยังถูกบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ก็ยังคงเป็นอำนาจของคนที่ติดอาวุธอยู่ ปัญหาเรื่องปากท้องยังอยู่ นั้นเพราะในรัฐสภาไม่ได้พูดคุยถึงต้นตอของความไม่สงบ ไม่ได้คุยถึงกระบวนการสันติภาพจริง ๆ จัง ๆ เรื่องเหล่านี้ยังเป็นเรื่องสงวนในการพูดในรัฐสภา หลังเลือกตั้ง 62 มีการยกเพดานให้เราพูดได้แค่เรื่องนำคนผิดมารับโทษ เรื่องเยียวยาเท่านั้นเอง”

“เรื่องความสงบถ้าตรงจุดสำหรับประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ ผมคิดว่าคือเรื่องปากท้อง การทำมาหากิน การศึกษา สิทธิที่เขาควรได้รับเสมอเหมือนกับคนที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาได้รับ ไม่ใช่ว่าชายแดนแล้วก็บริหารแบบชายแดนแค่เป็นเกราะไม่ให้มาเลเซียเข้ามา”

“ส่วนงบประมาณความมั่นคงก็มีส่วน เพราะเมื่องบประมาณเยอะแล้วเอื้อให้ทหารทำหน้าที่เกือบทุกเรื่องในพื้นที่เรื่องเกษตร ทหารก็มาแจกแพะ แจกไก่ เปิดตลาดนัดทหารก็มี ตาดีกาโรงเรียนสอนศาสนาก็มาเกี่ยวข้อง กลายเป็นว่าเกือบทุกระบบ เรื่องพัฒนา เรื่องการศึกษา เรื่องความมั่นคง ทรัพยากร กลายเป็นเรื่องของทหาร ซึ่งจริง ๆ ไม่ควรเป็นแบบนั้น ทหารควรได้เวลากลับไปเข้ากรม เข้ากองของตัวเอง และให้บทบาทและหน้าที่นี้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดีกว่า”

สอดคล้องกับความเห็นของอาจารย์เอกรินทร์ที่ระบุว่า “สำหรับผม ถ้าประเทศยังปกครองด้วยทหารไม่มีทางที่สันติภาพจะมี จะทำแบบไหนก็ไม่มีทางออก มันต้องเป็นรัฐบาลพลเรือนเท่านั้น เพราะทหารเป็นขั้วตรงกันข้ามในความคิดของผู้ติดอาวุธ มันเสียเปล่าที่จะมาพูดว่าการเลือกตั้งจะทำให้เกิดสันติภาพ รัฐบาลประยุทธ์โดยเนื้อแท้ทำให้ทหารมีอำนาจ ส่วนระบบราชการก็ห่างเหินจากประชาชน การเปิดให้ต่างประเทศมาร่วมก็ยาก”

ทั้งหมดนี้คือบทสะท้อนภูมิทัศน์การเมืองในระยะเปลี่ยนผ่านของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งนับเอาการเลือกตั้งปี 2562 เป็นหมุดหมายสำคัญที่กระแสนิยมประชาธิปไตยและพรรคการเมืองใหม่ก่อตัวขึ้นมาปะทะกับวัฒนธรรมนิยมตัวบุคคลที่ฝังรากมาเป็นเวลานาน และสำหรับการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่จะถึง คิดว่าโจทย์สำคัญของพรรคการเมืองคือจะเลือกวางไพ่เป็นตัวแทนหน้าใหม่ที่มีภาพลักษณ์ของความเป็นคนรุ่นใหม่หรือนักการเมืองหน้าเดิมที่มากบารมี ขณะที่โจทย์ของคนสามจังหวัดฯ คือจะเลือกตัวแทนแบบไหน ปัญหาเรื้อรังตั้งแต่การไม่กระจายอำนาจ เศรษฐกิจ และความไม่สงบจึงจะได้รับการแก้ไขให้หายขาดได้สักที