เคาะประตูความกลัว Introduction 112 - Decode
Reading Time: 3 minutes

“บ้านแม่ไม่มีอะไรจะเสียแล้ว เรามีความต้องการอย่างเดียวคือเอาเพนกวินออกมา”

แม่สุ สุรีรัตน์ ชิวารักษ์

ค่ำหนึ่งในช่วงปลายหน้าฝน เรานัดพบแม่สุ ในร้านกาแฟธรรมดา ๆ ท่ามกลางความจอแจของคนที่เดินซื้อของ เดินเข้าร้านอาหาร บ้างมาเดี่ยว มาคู่ และมาเป็นครอบครัว ต่างคนต่างใช้ชีวิตฉลองวันศุกร์หลังทำงานหนักมาทั้งสุดสัปดาห์ แต่สำหรับแม่สุ ไม่มีวันไหนที่ได้หยุดพัก อาจมีบางวันที่ไปสะสางธุระส่วนตัว แต่เกือบ 3 เดือนมานี้ ชีวิตของแม่สุ คือ บ้าน ศาลและเรือนจำ

ไม่เท่ากับที่ได้อ่านผ่านตัวอักษร ไม่เท่ากับที่ได้ฟังเสียงผ่านทีวี เพราะครั้งนี้เรากำลังสบตาผู้หญิงที่ได้ชื่อว่า ราษมัม  สามชั่วโมงกว่าระหว่างบทสนทนาถึงชายผู้ถูกจองจำ ไร้เสรีภาพ เพราะข้อหามาตรา 112 แม่สุเล่าว่าชีวิตภายใต้ 112 มันพรากครอบครัวไปจากแม่ พรากงานที่กำลังอยู่ในขาขึ้น

พูดไม่ออก

เพราะความกล้าที่อยู่ท่ามกลางความกลัว แม่สุเคยถูกเพื่อนบ้านในกรุ๊ปไลน์เขียนถึง อาจเป็นได้ทั้งตั้งใจหรือไม่ แต่สุดท้ายก็มีบางคนเขียนปรามว่าไม่ให้คุยเรื่องแบบนี้ในกรุ๊ปหมู่บ้าน ไม่เว้นแม้แต่การทำบุญใส่ซองงานศพเพื่อน ก็มีเพื่อนบางคนไม่สะดวกใจให้แม่ร่วมทำบุญด้วย ใกล้ไปกว่านั้นครอบครัว ทั้งลุง ป้า น้า อา ก็ออกปากปรามว่าอย่าไปแตะเลยเรื่องสถาบันnฯ ถึงขนาดว่าตอนเพนกวินถูกจับก็ยังกล้า ๆ กลัว ๆ ที่จะส่งเงินหลักพันมาช่วยดูแลหลานในเรือนจำ เพราะกังวลว่าจะถูกอ้างถึงว่าเป็นท่อน้ำเลี้ยง  

จนสุดท้ายแม่เขียนไปในไลน์ครอบครัวเลย โอเค ครอบครัวเรานามสกุลใหญ่หรอ ไฮโซมากนะ หลานเป็นอย่างนี้ทั้งคน กลัวอะไรหนักหนา เราก็บอกงั้นไม่ต้องยุ่งก็ได้ คนอื่นเขายังมาช่วยยืนหยุดขังได้ แต่ครอบครัวที่เหลือพยายามบอกว่า ก็ฉันบอกแล้วไงว่าอย่าแตะอันนี้ สำหรับแม่นะ แล้วไง ? ก็เพราะคุณเป็นอย่างวันนั้นไง เด็กมันถึงต้องมาทำวันนี้  คือก็ไม่ได้ว่านะแต่รู้สึกว่าแม่ตัดดีกว่า  แม่บอกไปเลยว่าไม่ต้องบอกใครนะว่า เป็นลุง ป้า น้า อา ของเพนกวิน ให้เลิกเลยเรา ครอบครัวเราโอเคที่จะอยู่กันแค่ 4 คน”  

ถึงวันนี้ไม่มีชีวิตธรรมดา ที่ควรจะมีสำหรับคนทั้งครอบครัว เพียงเพราะการตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยเท่านั้นหรือ เท่านั้นจริง ๆ หรือที่เป็นเหตุให้ต้องจองจำชายที่ชื่อ เพนกวิน  นาทีนี้ผู้หญิงที่ชื่อสุรีรัตน์ กำลังสู้อย่างหนักเพียงหวังให้ลูกได้ออกมาใช้ชีวิตบนเสรีภาพ  ได้กอดลูก ให้ลูกได้กินข้าวตรงเวลา ได้มีรอยยิ้ม ได้อ่านหนังสือที่ชอบ ได้ทำอะไรต่อมิอะไรอันเป็นการใช้ชิวิตแบบพื้นฐานภายใต้สังคมที่ดีกว่าวันนี้  ในนาทีที่เรากำลังนั่งเคร่งเครียดตรากตรำทำงาน นั่งหัวเราะกับเรื่องขบขัน นั่งกินข้าวเมื่อท้องร้อง ครอบครัวของเพนกวินกำลังเทหมดหน้าตัก แม่บอกว่าวันนี้ครอบครัวแม่สุไม่ได้สู้มากกว่าใคร และทั้งหมดที่เป็นวันนี้แม่เลือกแล้ว แม่ไม่เคยโทษเพนกวิน เพราะแม่เป็นคนเลือกเองที่จะออกจากงานมาสู่เคียงข้างลูก พ่อกวินก็เช่นกัน

“พ่อกวินบอกว่าถ้าวันนี้เราไม่ออกมาช่วยลูก เราเองจะเป็นคนที่เสียใจ  ดังนั้นแม่เลือกว่า แม่จะสู้ น้องกวินบอกวันนี้เราไม่มีอะไรจะเสีย เราเลือกพี่ ครอบครัวเราสูญเสียไหม เราเทหน้าตักหมด เราไม่ได้บอกว่าเราสู้มากกว่าคนอื่นนะ แต่เราทั้งครอบครัวสู้หมด ทั้งต่อหน้าและลับหลัง หมายถึงต่อหน้าคนอื่น มีม็อบ มีนักข่าวเราสู้ยังไง ลับหลังลูกเราอยู่ยังไงที่ไม่มีแสง แม่กวินก็สู้อย่างนั้น “

รอยต่อเสรีภาพ

“ตั้งแต่ปลายปี 2563 เราเห็นแล้วว่า 112 กลับมา และคาดการณ์ว่าปีนี้ 2564 หนักแน่ ๆ และเราเห็นว่าด้านหนึ่งคนออกมาพูดเรื่อง 112 เยอะ เยอะมากแบบก้าวกระโดดจากปีที่แล้วสู่ปีนี้  ดังนั้นเราก็เลยรู้สึกว่าการพูดเรื่องยกเลิก 112 ข้างหน้ามันต้องการข้อมูล ความรู้และประสบการณ์ นั่นแหละที่มาของหนังสือเล่มนี้ Introduction 112

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ iLaw

ความผิดฐานหมื่นประมาทพระมหากษัตริย์ ฯ มีมาตั้งแต่สมัยแต่ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ จากที่ปรากฏใน กฎหมายตราสามดวง ช่วงรัชกาลที่ 1  มีบทลงโทษรุนแรง เช่น ผิดมาตรา 7 มีโทษกำหนดไว้ 8 สถาน ให้ฟันคอริบเรือน ตัดปากตัดหูตัดมือตัดตีน ฯ  มาเปลี่ยนชัดอีกทีช่วงรัชกาลที่ 4 กลายเป็น พระราชกำหนดลักษณะหมิ่นประมาทด้วยการพูดฤาเขียนถ้อยคำเท็จ ร.ศ.118  เปลี่ยนบทลงโทษ 8 สถาน ให้เป็นจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกินกว่า 1,500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ต่อมาปรับเป็น ร.ศ.127     

ที่ก้าวหน้าที่สุดเท่าที่เคยมี คือ ช่วงปี 2478 หลังอภิวัฒน์สยาม 2475 เปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่ระบบประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน รัฐสภาได้แก้ไขกฎหมายอาญา ร.ศ.127 อย่างน้อย 2 มาตรา โดยมีรายละเอียดบางส่วนที่เขียนไว้ว่า ถ้าการพูด เขียน หรือแสดงออกอื่นใด เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต หรือเป็นการติชมตามปกติวิสัย ในการกระทำของรัฐบาลหรือราชการแผ่นดิน การกระทำนั้นไม่ผิด

จุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งในช่วง 9 ปี หลังรัฐประหาร โดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ  เพราะ ปี 2499 รัฐสภาแก้บทบัญญัติเกี่ยวกับความผิดต่อพระมหากษัตริย์ คลอดมาตรา 112

มาตรา 112 “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัติรย์ พระราชินี รัชทายาท หรือ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ”

และปรับแก้เพื่อเพิ่มโทษอีกครั้งหลังเหตุการณ์ยึดอำนาจโดยทหาร ในวันที่ 21 ตุลาคม 2519 หรือ 15 วันหลังเหตุการณ์สังหารหมู่ ประชาชน 6 ตุลา 2519  ได้มีการเพิ่มโทษจาก 7 ปี เป็น ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี  และบังคับใช้มาถึงปัจจุบัน

“มีจำนวนมากไม่ได้ประกันหลังโดนคดี 112 หรือได้ประกันตัวแต่ก็มีเงื่อนไขว่าห้ามพูดห้ามทำเหมือนเดิม นั่นมันเป็นเงื่อนไขที่ตัดสินแล้วว่าสิ่งที่คุณพูดหรือทำเป็นความผิด”

“มันเป็น SLAPP ชัดเจนนะแต่สิ่งที่ดีกว่ายุคก่อน ๆ คือ หลักการที่ว่าให้ปล่อยตัวโดยไม่ต้องประกันตัวมันถูกเอามาใช้กับคดี 112 บ้าง ในยุคแบบ 2553, 2554  ว่าหลักทรัพย์หลายแสนหลายล้านก็ไม่ใช้ประกันตัว หลักการแบบนี้เป็นการใช้กฎหมายที่ไม่ให้ตึงเครียดเกินไป เป็นเรื่องที่เห็นด้วย แต่อีกด้านก็มีคนอีกจำนวนมากก็ไม่ได้ประกัน หรือได้ประกันตัวโดยมีเงื่อนไข”

เป๋า ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ iLaw

ภายใต้ 112 ที่การตีความกว้างขวาง ไม่อาจเอาบรรทัดฐานการตัดสินคดีก่อนเก่ามาใช้เปรียบเทียบ พี่เป๋า บอกว่ามันกำลังสร้างความหวาดกลัวไปทั่ว ไม่ใช่เฉพาะคนที่ออกมาพูดเรื่องการเมือง มันส่งผลให้เราถกเถียงเรื่องการเมืองบางเรื่องไม่ได้ตามปกติ แต่ไม่ใช่เฉพาะคนที่พูดเรื่องการเมืองในที่สาธารณะ  คุณเคยนั่งคุยกับพ่อแม่ญาติพี่น้องในบ้าน แล้วถูกตัดบทสนทนาด้วยคำว่า พอ ๆ เหากินหัว พอ ๆ อย่าไปพูดถึงเลย แล้วความเงียบก็ปรากฏ นั่นอาจเพราะเราไม่รู้ว่าพูดอะไรได้ พูดอะไรไม่ได้ ดังนั้นจึงมีข่าวซุบซิบข่าวลือ ผิด ๆ ถูก ๆ ก็ว่ากันไป เพราะมันไม่สามารถแก้อะไรเคลียร์ ๆ ได้ อย่างน้อยถ้ามีความชัดเจนว่าอะไรทำได้ทำไม่ได้ ทุกคนอาจจะกล้าพูดมากขึ้นภายใต้เส้น แต่พอไม่มีความชัดเจนแน่นอนก็ต้องกดเส้นให้มันต่ำ ต่ำลงกว่าความเป็นจริงเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง

อาหารของความกลัว คือความคลุมเครือ เพราะนั่นทำให้ความกลัวปกคลุมกว้างขวางและหนาแน่นมากขึ้น จนปกปิดพื้นที่ถกเถียงตั้งคำถามท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ดูเหมือนยิ่งมีพื้นที่ถกเถียงตั้งคำถามน้อยมากเท่าไร เราก็เหมือนเดินถอยหลังย้อนอดีตมากขึ้นเท่านั้น

สำหรับคนทั่วไป การได้เริ่มต้นทำความเข้าใจถึงมาตรา 112 อาจต้องผ่านหนังสือ หรือ ข่าว แต่สำหรับแม่สุ – สุรีรัตน์ ชิวารักษ์ แม่บอกว่าก่อนหน้านี้มาตรา 112 เป็นเรื่องไกลตัว  รู้ตัวอีกที ตัวเลขสามตัวง่าย ๆ นี้ก็สร้างความเจ็บปวดให้ผู้หญิงคนหนึ่ง ในฐานะของแม่ของชายที่โดนคดี 112 มากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย

“ก็แค่แม่” คำที่แม่สุ มักพูดให้เราฟังบ่อย ๆ ระหว่างช่องไฟการสนทนา  บางวันคำนี้ก็ปรากฎอยู่บนเสื้อที่เธอใส่ มันช่างบาดลึกและทรงพลัง

มันต้องแหกปากถึงจะได้  เมืองไทยเป็นทุกที่เลยเท่าที่สัมผัส สิ่งนี้เป็นสิ่งที่แม่ได้เรียนรู้จากกวินด้วย มันทำให้เรากล้าขึ้นจากเดิมแม่เหมือนคนส่วนใหญ่ที่ไม่อยากอะไร แต่พอสัมผัสกับกวินแม่ก็ค่อย ๆ เปลี่ยน การสู้ของแม่หมายถึง อะไรที่มันไม่สมเหตุสมผล เราก็ต้องสู้”

แม่สุ สุรีรัตน์ ชิวารักษ์ 

เด็กไทยต้องกล้าแสดงออก

เด็กไทยทำไมไม่ค่อยตั้งคำถามเลย

เด็กไทยในห้องเรียนไม่ค่อยกล้ายกมือถาม

อยากให้เด็กไทย รักการอ่าน  

คุ้นไหม ? กับความหวังดีและความคาดหวังเหล่านี้ แท้จริงนั่นคือ…

ความต้องการจริง/ความต้องการเทียม  

กวินอ่านเยอะมาก ๆ ถ้าน้องกินหนังสือเป็นอาหารแม่ว่าจะอ้วนกว่านี้อีก เรื่องคิดกวินก็คิดเรื่องการพัฒนาประเทศตลอดนะ เขาก็แสดงความคิดเห็น บนพื้นฐานความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นตลอด บางทีแม่ก็คิดนะ แม่เลี้ยงลูกมาถูกไหม แต่แม่ก็เลี้ยงตามนโยบายรัฐนะ ก็รัฐบอกให้เด็กอ่านหนังสือเยอะ ๆ ให้เด็กรู้จักคิด ช่วยพัฒนาประเทศชาติ กวินก็เป็นได้หมด ตอนนี้แม่เลยคิดว่า ผิดที่นโยบายหรือผิดที่แม่ เพราะเราเลี้ยงตามนโยบายคุณไง

สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน บ่งบอกถึงความขี้ขลาด ความโง่เขลา เด็กสู้ด้วยความคิด คุณไม่ออกมาสู้แสดงว่าคุณกลัว ถือว่าผู้ใหญ่รังแกเด็กแล้วนี่ถือว่าเป็นการมีวุฒิภาวะของผู้ใหญ่หรอ ถ้าคุณแฟร์จริง ๆ อย่าลืมว่าโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว ปล่อยให้เด็กคิดและได้พูดสิ แต่ถ้ามันผิดคุณก็ออกมาแย้งสิ บอกมาว่าความจริงมันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ก็จบ แต่ถ้าคุณเงียบหมายถึงอะไร แล้วยังใช้กฎหมายมาโจมตีมาทำร้ายเด็ก #ก็แค่แม่

ก๊อก ๆ จับลูกบิดให้แน่น

นี่เป็นจังหวะก้าวของสังคมไทยที่สำคัญ จะยกเลิก ม.112  แก้ไข หรือคงไว้ไปในทิศทางใด สิ่งที่จะทำให้เราหาประตูทางออกจากความกลัวเจอ คือการเปิดพื้นที่ให้เรื่องนี้สามารถพูดคุยกันได้ เป็นการพูดคุยเพื่อความปราถนาดีที่จะคงความสง่างามของสถาบันพระมหากษัติย์ไว้ ภายใต้เพดานเสรีภาพของประชาชนที่ไม่กดต่ำ และเพื่อให้ทุกคนมีข้อมูลทางกฎหมาย หนังสือ Introduction 112 ซึ่งทีมงาน iLaw ย่อยข้อมูลฉบับที่จำเป็นต่อการทำความเข้าใจเรื่องนี้ ผ่านประสบการณ์ทำงานกว่า 10  ปี คงจะเป็นตัวช่วยที่เพียงพอต่อการถกเถียงและการทำความเข้าใจต่อเรื่องนี้ทั้งปัจจุบันและในอนาคต

สำหรับเราเล่มนี้คือการเปิดกลอนที่อยู่ล่างสุด พื้นฐานที่สุดของประตูแห่ความกลัว 

เอาจริงหลังนั่งอ่าน Introduction 112 จนจบ เรานั่งนึกย้อนอยู่สักพักว่า…มันนานเท่าไรแล้วที่เราอยู่ในความงง ! สงสัย ? ข้องใจ ? ใช่เปล่าวะ ? ได้ไหมอะ ? ความคลุมเครือที่ว่ากลายมือมืดค่อยปลุกปั้นความกลัว แล้วจากนั้นความกลัวมันก็ค่อย ๆ แทรกซึมเข้ามาในจิตใต้สำนึกของเราเมื่อไรกัน ?  ภายใต้ตัวเลขเรียงเพียง 3 ตัว 112 กำลังทำให้ในหัวของเราปั่นปวนขนาดนี้ได้เมื่อไร ?

นี่จะเป็นรีวิวหนังสือที่เต็มไปด้วยคำถาม ซึ่งยังไร้คำตอบ มันก็เหมือนสถานการณ์สังคมไทยในตอนนี้ สังคมที่เราไม่สามารถยิ้มกว้างอย่างที่ควรจะเป็น เพราะอดคิดถึงพวกเขาไม่ได้ คุกมีไว้กักขังเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างนั้นหรือ ?  

หนังสือ:  Introduction 112
ทีมผู้เขียน:  ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ / ณัชปกร นามเมือง / อาททน์ ชวาลาวัณย์ / บัณยนุช มัทธุจักร / กฤตยา กิจกาญจน์ / ชนากานต์ เหล่าสารคาม
บรรณาธิการ: ธีรภัทร์ เจนใจ
จัดทำโดย:  iLaw โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อสังคม

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ขึ้นไว้บนเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี