ความสัมพันธ์ที่สมบูรณ์แบบ ในรัฐที่ไม่สมบูรณ์แบบ - Decode
Reading Time: 3 minutes

“เมื่อไรจะมีผัวล่ะ”

“ทำงานหนักแบบนี้ระวังขึ้นคานนะ”

“อายุก็มากแล้วยังไม่แต่งงานอีก แม่อยากอุ้มหลานแล้ว”

หลายคนได้ยินคำพูดเหล่านี้มาทั้งชีวิต หลายคนต้องแบกรับความคาดหวังตั้งแต่ยังไม่เกิด

แนวคิดที่กล่าวโทษว่าการอยู่เป็นโสดนั้นด้อยกว่าการมีคู่ ถูกสืบทอดต่อกันมาจนหลอมรวมเข้ากับวัฒนธรรมไทย กลายเป็นประโยคยอดฮิตบนโต๊ะอาหารในวันรวมญาติ หรือเป็นประโยคถามไถ่สารทุกข์สุกดิบในงานเลี้ยงรุ่น คำพูดที่ดูแสนจะธรรมดาเหล่านี้ถูกแฝงไว้ในสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคำถาม สำนวน สุภาษิต หรือการวิจารณ์วิถีชีวิตในการครองตนเป็นโสด แต่นั่นเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็ง ที่สื่อออกมาในรูปแบบของบรรทัดฐาน และความคาดหวังภายในสังคมไทย ที่ยังคงสืบมาจนถึงปัจจุบัน

“เราอยากให้ทุกคนรู้ว่าสังคมการเมืองมันเชื่อมโยงกันทั้งหมด ทุกแนวคิดไม่ได้ตั้งอยู่โดด ๆ เรื่องแต่งงานมีครอบครัวมันไม่ใช่เรื่องของปัจเจกที่อยากจะมีลูกเท่านั้น มันไม่ใช่แค่ค่านิยมของคนเฒ่าคนแก่ แต่เป็นการผสานกันทั้งเรื่อง ทุนนิยม ความไม่พร้อมของรัฐ และการใช้ชีวิตในระบอบที่ความเท่าเทียมทางเพศ ยังไม่เกิดขึ้นกับทุกคนอย่างปิตาธิปไตย”

De/code ชวน ดาราณี ทองศิริ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Feminista มาร่วมกันมองภาพสังคมและการเป็นอยู่ ที่สะท้อนคุณภาพชีวิตของคนไทย ในวันที่การคาดหวังในการสร้างครอบครัว เหมือนเป็นสูตรสำเร็จของการมีชีวิตที่สมบูรณ์

บรรทัดฐานความสัมพันธ์ที่สมบูรณ์แบบ

ดาราณีวิเคราะห์ให้เราฟังว่า เมื่อสังคมไม่รู้ตัวว่าสิ่งเหล่านี้ คือการสร้างความกดดันรูปแบบหนึ่ง มันจึงทำให้ผู้ฟังที่ต้องได้ยินคำพูดเหล่านั้นซ้ำ ๆ หรือต้องอยู่ในสภาพแวดล้อม ที่เต็มไปด้วยคนที่มีคู่หรือแต่งงานแล้ว เกิดความรู้สึกได้สองอย่างคือ

หนึ่ง ความรู้สึกที่คิดว่าตัวเองผิดปรกติ บกพร่อง เพราะไม่เป็นแบบคนอื่นเขา ก่อเกิดเป็นคำว่าไม่มีเขาเอา หรือเราดีไม่พอ สิ่งเหล่านี้มันทำให้เขาสูญเสียความมั่นใจและความเชื่อมั่นในตนเอง สอง เป็นไปได้สูงมากว่าถ้าความกดดันถูกทับถม การตั้งคำถามที่ไม่มีวันหยุดเหล่านั้นยังคงดำเนินต่อไป สุดท้ายแล้วมันจะทำให้เกิดการตัดสินใจที่จะเลือกคู่ครองโดยไม่ได้เต็มใจ แต่เป็นการเลือกที่จะทำลงไปเพียงเพราะว่ามันเป็นความคาดหวังจากครอบครัวและสังคม

หรืออาจกล่าวแบบสรุปได้ว่าการบังคับหรือกดดันให้บุคคลเข้าไปอยู่ในความสัมพันธ์เป็นการให้คุณค่ากับสถานะทางสังคมเหนือตัวตนที่แท้จริง ทั้ง ๆ ที่การแต่งงานไม่ได้เป็นเครื่องวัดคุณค่าของบุคคลใดเลยก็ตาม

ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ใช่ทุกความสัมพันธ์จะเป็นไปอย่างราบรื่น เมื่อชีวิตคู่มีปัญหาแล้วเราต้องการจะยุติมัน กลับมีบรรทัดฐานทางสังคมเกี่ยวกับการหย่าร้างเข้ามารอ ก่อให้เกิดคำถามที่ว่า ต้องมีอีกกี่คนที่ต้องทนอยู่ในความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ เพราะไม่อยากเผชิญหน้ากับความกดดันเหล่านั้นต่อ

คำถาม: “แล้วทำไมบรรทัดฐานเหล่านั้นยังคงอยู่”

คำตอบ: “เพราะคำว่า ‘แต่งงาน’ ในภาษาไทยควบคู่มากับคำว่ามีลูก”

เมื่อการมีลูกคือการสืบทอดวงศ์ตระกูล

สังคมแบบปิตาธิปไตยหล่อหลอมว่ามนุษย์ต้องสืบพันธุ์ เพื่อคงไว้แก่เผ่าพันธุ์มนุษย์ก็ว่าดี เพื่อแรงงานก็ว่าดี ดังนั้นมันจึงทำให้คนที่เลือกจะไม่สืบพันธุ์ถูกมองว่าเป็นคนที่ไม่ปรกติ ซึ่งตรงกับบรรทัดฐานการสืบพันธุ์ใน Sexual Hierarchy (อ้างอิงจาก: Rubin, Gayles S. 1993. Thinking Sex: Notes for a Radical Theory of the Politics of Sexuality.)

ชั้นต่อไปเราจะต้องมาดูว่ามนุษย์ผู้ชาย จะถูกกล่าวโทษเรื่องการเป็นโสดเพราะอะไรบ้าง ถ้าเขาแสดงออกถึงความเป็นชายสูงและเป็นชายรักต่างเพศ เขาอาจจะไม่ถูกตั้งคำถามเท่าไรเพราะสังคมปิตาธิปไตยอนุญาตให้เขาครองตัวเป็นโสดได้ตราบเท่าที่เขาต้องการ หรือแม้กระทั่งการอยู่คนเดียว แต่มีผู้หญิงรอบตัวและไม่ผูกมัดอย่างที่รู้จักกันว่าเพลย์บอย สังคมก็อนุญาตเช่นกัน

“เราจะเห็นว่าไม่ใช่แค่ในเรื่องคู่นอนอย่างเดียว ถ้ายกตัวอย่างผู้หญิงและผู้ชายสองคนที่ตั้งใจทำงานหนัก แต่กลับเป็นผู้หญิงที่มักถูกตั้งคำถามว่าทำไมไม่มีคู่ ไม่ว่าผู้หญิงคนนั้นจะทำงานเก่งแค่ไหน แต่พอไม่มีแฟน ไม่มีลูก กลายเป็นว่าความสามารถเหล่านั้นถูกปัดลงไปหมด”

ดาราณีกล่าว ก่อนจะอธิบายต่อว่าสังคมแบบชายเป็นใหญ่ ไม่ได้กดทับเพียงแค่เพศชายหรือหญิงแต่ยังรวมไปถึงกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศด้วย

“จากประสบการณ์ตรงที่เจอ พอเป็นเคสผู้หญิงกับผู้หญิงที่มีเพื่อนรอบตัวเป็น Heterosexual แต่งงาน มีลูก ที่ไม่ได้มีความเข้าใจจะถูกถามตลอดว่า เมื่อไรมึงจะเทิร์นกลับมา (สู่วิถีชอบเพศตรงข้ามอย่างคนปรกติ) ซึ่งมันไม่ใช่การกล่าวโทษการเป็นโสดอย่างเดียว แต่เป็นการย้ำว่าสังคมยังคงไม่ได้มองว่า คู่รักเพศเดียวกันเป็นสิ่งที่ยอมรับได้เหมือนคู่รักต่างเพศอยู่”

ซึ่ง LGBTQ+ แต่ละคนล้วนมีประสบการณ์ที่แตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่างเช่น ชาว Asexual ที่ไม่มีแรงดึงดูดทางเพศ หรือชาว Aromantic ที่ไม่มีความรู้สึกรักใคร่บุคคลใดเป็นพิเศษ ก็มักโดนสังคมตั้งคำถามว่า “ทำไมถึงไม่มีความสัมพันธ์เชิงชู้สาว มีลูกมีเต้า อย่างคนปรกติเสียที” ทั้งที่ความจริงแล้วตัวตนของพวกเขา ไม่ใช่สิ่งผิดแปลกแต่อย่างใด แต่คำตอบที่ถูกต้องเพียงหนึ่งเดียวในบรรทัดฐานที่สังคมตั้งไว้ต่างหากที่กำลังผลักให้ความหลากหลายเหล่านี้กลายเป็นสิ่งที่ผิดไปโดยปริยาย

เมื่อการมีลูกคือการผลิตแรงงาน

“หลายคนคิดว่าเรากำลังแก่ตัวลงทุกวัน ฉะนั้นมีลูกดีกว่าเดี๋ยวจะโตไม่ทันใช้ ซึ่งพอพูดตรง ๆ แล้วมันก็ประหลาด”

ดาราณีชวนย้อนกลับไปมองแนวคิดของ การผลิตเด็ก ขึ้นมาก่อนระบบทุนนิยม หรือก่อนระบบแรงงานในยุคอุตสาหกรรมปัจจุบัน เราจะพบว่าในยุคสังคมเกษตรกรรมสมัยก่อน การมีลูกก็คือการผลิตแรงงานขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นแรงงานในบ้าน หรือการทำไร่ทำนา ซึ่งหากถามต่อไปว่าตอนนี้เรามีความก้าวหน้ามากกว่าตอนนั้นแค่ไหน ทั้งในด้านแนวคิดและเทคโนโลยี ระยะเวลามันผ่านมานานแล้วเพียงใด จึงเกิดเป็นคำถามน่าสนใจอีกหนึ่งอย่างคือ การมีลูกคือการสร้างขึ้นมนุษย์ขึ้นมาเพื่อใช้งาน ยังเป็นคำตอบที่ถูกต้องในสังคมปัจจุบันอยู่หรือเปล่า

“มนุษย์คนหนึ่งมีชีวิตจิตใจเป็นของตัวเอง แล้วการที่เราไปสร้างเขามาด้วยความคาดหวังที่จะมาใช้งาน ดูแลตัวเอง ดูแลคนในบ้าน สืบทอดสกุล หรือสืบทอดกิจการของเรา เรากำลังหลงลืมไปหรือเปล่าว่า เขาไม่ใช่สัตว์เลี้ยงที่เราจะเอามาใช้งานอะไรก็ได้ตามที่เราวางแผนไว้ เราอาจจะลืมว่ามนุษย์เติบโตขึ้นมามีเจตจำนงของตัวเอง แต่พอเขาไม่สามารถทำสิ่งที่คุณคาดหวังไว้ได้ มันเลยกลายเป็นคำว่า อกตัญญู

และหากพูดถึงสังคมทุนนิยมในปัจจุบัน การผลิตเด็กกลายเป็นเรื่องจำเป็น ไม่ใช่เพราะว่าทุนนิยมให้คุณค่ากับการสร้างชีวิตหรือครอบครัว แต่เป็นผลผลิตที่ว่า แรงงานในอนาคตจะสร้างขึ้นมาได้ต่างหาก ดังนั้นการไม่มีลูกหรือการปฏิเสธที่จะผลิตแรงงานสู่ตลาด จึงไม่เอื้อให้ระบบทุนนิยมเติบโตได้อย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งเป็นสิ่งที่คน 1% ไม่ต้องการให้เกิด

เมื่อการมีลูกคือผลผลิตจากสวัสดิการที่ไม่เพียงพอ

“คนมีอายุเขารู้อยู่แก่ใจว่า ถ้าแก่ไปมันไม่มีอะไรมารองรับ สุดท้ายค่านิยมเรื่องความกตัญญู ที่ถูกปลูกฝังกันมามันจึงผูกให้ลูกหลาน ต้องกลับมาดูแลพ่อแม่และครอบครัวยามแก่เฒ่า ทีนี้เมื่อลูกเราไม่ยอมมีลูก เขาจึงเกิดความเป็นห่วงว่าแล้วใครจะดูแลลูกของเขา ดังนั้นมันเลยกลายเป็นสูตรสำเร็จว่า ถ้าอย่างนั้นลูกเลยต้องมีหลานไง”

ในปี 2564 ประเทศไทยได้เข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์” (Aged Society) และมีแนวโน้มจะก้าวเข้าสู่ “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” (Super-aged Society) ในปี 2574 แน่นอนว่าประเทศไทยเองก็มีสวัสดิการผู้สูงอายุที่จะมารองรับสภาวะนี้ แต่นั่นเพียงพอหรือไม่ในวันที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว เมื่อเบี้ยผู้สูงอายุ ถูกกำหนดไว้ว่า หากคุณอายุ 60 – 69 ปี คุณจะได้เดือนละ 600 บาท เมื่ออายุ 70 – 79 ปี คุณจะได้เดือนละ 700 บาท เมื่ออายุ 80 – 89 ปี คุณจะได้เดือนละ 800 บาท และเมื่ออายุ 90 ปีขึ้นไป คุณจะได้เดือนละ 1,000 บาท

ในวันที่อัตราคนยากจนยังคงเพิ่มขึ้นทุกวัน แต่เงินที่ได้กลับไม่สอดคล้องต่อค่าครองชีพ ในการใช้ชีวิตแต่ละเดือน และยังไม่รวมไปถึงการเข้าถึงเทคโนโลยีในคนวัยนี้อีกด้วย

หลายคนกล่าวว่า เขามีให้แค่นี้ก็ดีแค่ไหน จะให้รัฐมาอุ้มชูทั้งชีวิตเลยหรือยังไง (หรือบางครั้งก็ไปถึงขั้นถ้าจะเรียกร้องขนาดนี้ก็ไม่ต้องมีลูกกันแล้วล่ะ แบบติดตลกแต่ปนไปด้วยความขมขื่น) สภาวะจำยอมที่ถูกส่งต่อมาหลายต่อหลายรุ่น ทำให้การพูดถึงรัฐสวัสดิการเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ทั้งที่ในความเป็นจริง ไม่ควรมีใครต้องมาร้องขอในสิ่งที่เราทุกคนพึงจะได้เพราะมันคือหน้าที่ของรัฐที่จะต้องจัดหาให้ประชาชนมาตั้งแต่แรก

“สุดท้ายแล้วแนวคิดต่าง ๆ ที่มีมาอย่างยาวนาน มันไม่ใช่เพียงแค่วิธีคิดที่หล่อหลอมมาว่าใครต้องทำตัวอย่างไรเท่านั้น แต่มันคือความกลัวที่เกี่ยวข้องกับความไม่มั่นคงในช่วงบั้นปลายชีวิต” ดาราณีกล่าวเสริมในประเด็นดังกล่าว

คนเป็นพ่อเป็นแม่ย่อมมีความกังวลว่า สุดท้ายลูกจะสามารถเลี้ยงดูตัวเขาเองในยามแก่ได้หรือไม่ การมีลูกกลายเป็นหลักประกัน เมื่อเราไม่มีสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุที่พร้อมไปโดยปริยาย ด้วยข้อจำกัดเหล่านี้ ทำให้ใครหลายคนต้องพยายามทำตามมาตรฐานที่สังคมวางไว้ แม้ใจจริงไม่ได้ต้องการจะแต่งงานหรือมีบุตรก็ตามแต่เพื่อเป็นการเติมเต็ม ความมั่นคงให้กับชีวิตที่รัฐไม่สามารถจัดหามาได้นั่นเอง

“เพราะฉะนั้นแม้เราจะถูกปลูกฝังว่าผู้หญิงทุกคนเป็นเพศแม่ ผู้หญิงต้องมีลูกเพื่อสืบสกุล แต่ถ้าเราอยู่ในรัฐที่มีสวัสดิการผู้สูงอายุเพียงพอที่จะอยู่คนเดียวได้ โดยไม่ต้องหวังพึ่งใคร ระบอบชายเป็นใหญ่ก็จะทำงานต่อไปไม่ได้เช่นกัน”

รัฐไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ แต่ต้องดีกว่าเดิม

“ทุกคนควรจะมีชีวิตในแบบของตัวเองได้ โดยที่ไม่ต้องคอยพึ่งพาใคร ถ้ารัฐมีสวัสดิการที่ดีให้กับเรา เราจะไม่จำเป็นต้องหวังพึ่งพาลูกหลาน ถึงเวลาเขาจะมาเยี่ยมหรือมาหาเอง เราไม่ต้องเอาความคาดหวัง และชีวิตของเราไปฝากไว้กับเขา ซึ่งพอลูกหลานทำไม่ได้ มันก็กลายเป็นความผิดของลูกหลานอีก ที่บกพร่องในหน้าที่ ทั้ง ๆ ที่มันไม่ใช่หน้าที่ของพวกเขาตั้งแต่แรก” ดาราณีกล่าวสรุป

และแม้ว่าค่านิยมการมีคู่ในปัจจุบัน จะไม่ได้ถูกให้คุณค่าเหนือสิ่งอื่นมากเท่าแต่ก่อน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ากรอบเหล่านี้หายไปอย่างสิ้นเชิง หลายคนยังคงต้องเผชิญกับสถานการณ์อึดอัดใจ และพร้อมถูกตีตราตลอดเวลา ดังนั้นการตระหนักเรื่องทางเลือกของการมีคู่หรือไม่มีคู่ ต้องการที่จะมีลูกหรือไม่มี ในแง่หนึ่งจึงเป็นการทำให้คนที่พอใจในการไม่มีคู่หรือลูกได้มีชีวิตอย่างอิสระ โดนไม่ต้องถูกกดดันจากคนรอบตัว ไม่ว่าเขาจะเป็นเพศอะไรก็ตาม และเป็นการสร้างสังคมที่ไม่บีบบังคับให้คนเข้าไปสู่วงจรความสัมพันธ์ ที่ตนไม่ต้องการเพียงเพราะเสียงกดดันของผู้อื่น

ในอีกแง่หนึ่งจึงเป็นการรื้อรากบรรทัดฐานของสังคมขึ้นมา เพื่อให้เราพบว่าการมีครอบครัว ไม่ได้การันตีว่าจะมีความมั่นคงในชีวิตตามมาอย่างที่ใครว่าไว้ หรือการฝากชีวิตไว้ที่ใครคือสิ่งที่ใช่และควรจะเป็น เพราะแท้จริงแล้วความไม่พร้อมของรัฐสวัสดิการ คือต้นตอของปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข และเป็นการขีดเส้นใต้ย้ำเตือนว่า สวัสดิการที่เพียบพร้อม ไม่ได้เป็นเพียงแค่ฝันกลางวัน แต่สามารถทำให้เป็นจริงได้ ด้วยความต้องการผลักดัน และพัฒนาประสิทธิภาพมันอย่างแท้จริง

แล้วสักวันภาระหนักอึ้งที่คนรุ่นหลังต้องแบกไว้ ในวันที่สังคมผู้สูงอายุของไทยมีแต่จะเติบโตขึ้นทุกวัน จะเริ่มหดหายไป แล้วสักวันบรรทัดฐานและค่านิยมใต้สังคมปิตาธิปไตย ที่เคยเป็นกรอบชี้ถูกผิดเหล่านี้ จะแปรเปลี่ยนเป็นการยอมรับทุกทางเลือกที่คนตัดสินใจ เมื่อเราปลดแอกความคาดหวัง และความเป็นห่วงเหล่านั้นเป็นคำว่า ทำไมต้องให้ใครมาดูแล ในเมื่อรัฐสามารถดูแลเราได้พร้อมหมดแล้ว