เก็งข้อสอบก้าวไกลในศึกอภิปรายรัฐล้มเหลว“ประชาชนล้มตาย” - Decode
Reading Time: 3 minutes

ท่ามกลางกระแสของความปั่นป่วนทั้งในและนอกสภา ด้วยจังหวะชีวิตของประเทศที่เหมือนคนกำลังใส่เครื่องช่วยหายใจนี้ ช่วงสุดท้ายของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงน่าจับตามองเป็นพิเศษ

วันแรกของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ (31 ส.ค. 64) De/code จับเข่าคุยกับชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล เพื่อบอกเล่าเรื่องราวผ่านมุมมองของนักการเมืองรุ่นใหม่ที่กำลังปะทะกับรากปัญหาของสังคมแบบเก่า

ล้มเหลวผิดพลาดร้ายแรง ปัญหาที่ใหญ่กว่าตัว “พลเอกประยุทธ์

ไม่มีอะไรซับซ้อน มันเพียงแค่เราเห็นอะไรในกลไกต่าง ๆ อย่างกรรมาธิการ รัฐสภา เอกสารงบประมาณที่เราอ่าน และเราคิดว่ามันสำคัญ เกี่ยวข้องกับคนนอกสภา เราก็เอามาเล่า เราไม่ได้อยากให้เรื่องพวกนี้เป็นการคุยกันในหมู่กรรมาธิการไม่กี่คน ต่อรองอะไรกันเสร็จก็เงียบ ๆ กันไป

เราอยู่ในบริบทยุคที่ข้อมูลข่าวสาร ส่งตรงได้ถึงประชาชนโดยตรง มันอยู่ที่เจตจำนง มันอยู่ที่ความต้องการที่จะสื่อสารกับประชาชน อยากจะเล่าไหม เห็นอะไรในสภา ไม่มีอะไรซับซ้อนกว่านั้น เรื่องเทคนิควิธีการมันเปลี่ยนแปลงกันได้ ทุกพรรคทำได้หมด…อยู่ที่เจตนามากกว่า

เรื่องอภิปรายไม่ไว้วางใจ เราพยายามทำงานอย่างเต็มที่ที่สุด ให้ดีที่สุดเพื่อไม่ให้ประชาชนตำหนิ หรือผิดหวัง อยากให้ติดตามไปพร้อม ๆ กัน แต่แน่นอนคราวนี้คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเด็นใหญ่คือความล้มเหลว ความผิดพลาดร้ายแรงในการแก้ไขปัญหาโควิดของรัฐบาล ที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เราจะชี้ให้เห็นว่าความล้มเหลวแบบนี้ไม่ใช่แค่ผู้นำไม่มีวิสัยทัศน์ หรือประมาทเลินเล่อ แต่มันมีความจงใจที่จะใช้อำนาจหน้าที่ของตัวเอง เพื่อเอื้อผลประโยชน์บางอย่าง และผิดพลาดจนนำมาสู่สถานการณ์ที่ประชาชนล้มตาย และความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่าที่ควรจะเป็น

เราพยายามจะสื่อสารกับประชาชนให้เห็นถึงปัญหาในเชิงโครงสร้างที่ใหญ่กว่าตัวพลเอกประยุทธ์ ปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงโควิดมันเป็นเพียงแค่ปรากฏการณ์ เป็นอาการเจ็บป่วยของสังคมที่มันสะท้อนให้เห็นเหมือนฝีแตก แต่ปัญหาจริง ๆ มันใหญ่กว่าตัวพลเอกประยุทธ์มาก

“ให้มันจบที่ก้าวไกล” สายล่อฟ้าถูกยื่นยุบพรรค (อีกครั้ง)

พรรคก้าวไกลเพิ่งจะผ่านพ้นช่วงพิจารณางบประมาณและการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 2 โดยมีสนามการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้ายของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชารออยู่ สิ่งที่สังคมให้ความสนใจ มีประเด็นบางอย่างอาศัยจังหวะแทรกตัวเข้ามาคั่นกลางระหว่างการพิจารณางบประมาณได้อย่างโจ๋งครึ่ม นั่นคือการยื่นยุบพรรคก้าวไกล (อีกครั้ง) โดยเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ

พรรคก้าวไกลถูกกล่าวหาว่า การอภิปรายในงบประมาณส่วนราชการในพระองค์ เป็นการกระทำที่อาจเป็นปฏิปักษ์กับระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยอ้างอิงถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ในส่วนของพรรคเองได้พิจารณาแล้วว่าไม่มีความกังวลอะไร เพราะเหตุที่นำไปกล่าวอ้างเป็นการทำหน้าที่ตามปรกติในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ เราใช้มาตรฐานเดียวกันหมดในการอภิปรายตรวจสอบหน่วยงานของรัฐทุกหน่วย

ผมคิดว่า สังคมไทยมาถึงจุดนี้แล้ว คงไม่สามารถที่จะยอมรับได้ในการใช้อำนาจยุบพรรคการเมืองที่เป็นฝั่งฝ่ายตรงข้ามกับผู้มีอำนาจอีกต่อไป ให้มันจบที่ก้าวไกล ไม่มีสิบไกล สิบเอ็ดไกลอีกแล้ว การยุบพรรคการเมืองโดยไม่สมเหตุสมผลไม่ควรมีเกิดขึ้นอีกแล้ว อย่าทำให้มันเป็นเรื่องปรกติ

ขอยืนยันว่า เราทำงานตรวจสอบด้วยมาตรฐานเดียวกันกับการใช้งบประมาณก้อนอื่น ๆ แต่สังคมไทยอาจยังไม่คุ้นชินกับบริบทนี้ เราได้ชี้ให้เห็นด้วยว่าเรื่องนี้มันมีปัญหา เพราะกฎหมายที่ออกมาในยุคคสช.นั้นนำไปสู่การตั้งส่วนราชการในพระองค์ที่นำมาสู่บรรยากาศอิหลักอิเหลื่อ

เมื่อคสช.ร่างกฎหมายมาแบบนี้มันจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องถูกตรวจสอบ ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม เพราะหน่วยงานนี้คือหน่วยงานรัฐที่ของบประมาณจากสภา ต้องถูกตรวจสอบอยู่แล้วอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้นการที่ “เรืองไกร” ไปยื่นฟ้องพรรคก้าวไกลว่ามีการกระทำอาจเป็นปฏิปักษ์กับระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงเป็นเรื่องในทางกลับกันเลย พรรคก้าวไกลพยายามจะชี้ว่าการออกกฎหมายแบบนี้ต่างหาก ที่อาจจะไปทำลายหลักการสำคัญของระบอบการปกครอง เราพยายามจะชี้ให้เห็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง นี่ต่างหากคือประเด็นปัญหาที่สังคมจะต้องทำความเข้าใจจริง ๆ

กู้ศรัทธาพรรคการเมือง ไม่เอาอีกแล้ว “รัฐประหาร”

เราพยายามสื่อสารกับสังคมด้วย ไม่ใช่ทำอะไรในสภาแล้วประชาชนไม่รับรู้ ไม่ว่าจะเป็นงบในส่วนราชการไหนก็ตาม เราต้องบอกตรง ๆ ว่า เมื่อเราเข้าทำงานในสภาเราได้เห็นความผิดปรกติ ความน่าสงสัยหลายอย่าง หลาย ๆ กรรมาธิการกลายเป็นเวทีในการต่อรองผลประโยชน์ของกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งเราไม่อยากจะเห็นสภาเป็นแบบนั้น บางทีเราแยกไม่ออกว่าคนนี้มาจากพรรคไหนฝ่ายไหนกันแน่ มันขึ้นอยู่กับว่าตกลงกันลงตัวรึเปล่า ซึ่งไม่ใช่การเจรจาบนฐานของผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่

อย่าลืมว่าเวลาเราต่อสู้ว่าจะต้องสร้างประชาธิปไตยกลับมา ไม่เอาอีกแล้วการรัฐประหาร ไม่ควรจะยอมรับอำนาจเหนือพลเรือน ส่วนสำคัญอันหนึ่งที่จะทำให้บรรลุได้ คือต้องทำให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นที่ยอมรับศรัทธาของประชาชนและข้าราชการให้ได้ด้วย

ถ้าตราบใดเรายังไม่สามารถสร้างให้พรรคการเมือง สภา เป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ได้ว่าเป็นปากเสียงให้พวกเขาจริง ๆ วนเวียนการรัฐประหาร การใช้อำนาจพิเศษ มันก็เกิดขึ้นได้อีก

ไม่ใช่เพียงเพราะประชาชนบางกลุ่มมีความคิดแบบอนุรักษ์นิยม ชอบทหาร ไม่ใช่แค่นั้น เชื่ออย่างยิ่งว่าแม้แต่ประชาชนบางส่วนที่เคยเชียร์รัฐประหาร เขาไม่ได้ชอบ ไม่ได้อยากเห็นนายพลมาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่เขาไม่ศรัทธาในระบบพรรคการเมือง เราต้องแก้ตรงนี้ด้วย

มือที่มองเห็นผ่านกลไก “คณะกรรมาธิการ”

ความจริงเป็นเครื่องมือที่มีบทบาทและมีความสำคัญมาโดยตลอด เราใช้กลไกนี้ในการรับเรื่องและแก้ปัญหาประชาชนอย่างเต็มที่ มันมีคนจำนวนมากที่เพิ่งจะรู้จักจริง ๆ เราพยายามใช้กลไกนี้เชื่อมต่อกับสังคมเต็มที่เท่าที่เราจะทำได้ เช่นเรื่องของที่ดินซึ่งเป็นปัญหาและส่งผลกระทบออกไปในวงกว้าง ก้าวไกลก็ใช้กลไกของกรรมาธิการที่ดินเข้าไปตรวจสอบ

ซึ่งในหลาย ๆ ครั้ง เป็นการกระตุ้นให้หน่วยงานราชการเข้าไปตรวจสอบต่อ หรือปัญหาของผู้ใช้แรงงานที่ไม่เคยได้รับการใช้กลไกของสภามาเชื่อมโยงในการแก้ปัญหาอย่างเต็มที่ หากไปดูบันทึกกรรมาธิการก่อนหน้านี้ เราจะเห็นว่าเวลาส่วนใหญ่ของกรรมาธิการแรงงานหมดไปกับการประชุม การดูงาน เมื่อพรรคก้าวไกลเอาส.ส. ที่เคยอยู่ในสหภาพแรงงานไปนั่งเป็นประธานกรรมาธิการ ซึ่งเขาเข้าใจจริง ๆ ว่าปัญหาของแรงงานคืออะไร ควรจัดการอย่างไร

เมื่อเครื่องมืออยู่ในมือของคนที่เข้าใจหัวใจของปัญหามากขึ้น เราพบว่ามันเป็นประโยชน์มาก ๆ

อีกกรรมาธิการหนึ่งที่มีประโยชน์มาก ก่อนหน้านี้สมัยพรรคอนาคตใหม่ มีกรรมาธิการกฎหมายและสิทธิมนุษยชนที่ อ.ปิยบุตร แสงกนกกุลเป็นประธาน ซึ่งพรรคเราใช้เป็นเครื่องมือในการติดตาม ตรวจสอบกฎหมายในประเด็นความไม่เป็นธรรม การละเมิดสิทธิจำนวนมากในสังคมได้อย่างดี เมื่อเปลี่ยนตัวประธานกรรมาธิการไป บทบาทของกรรมาธิการนี้ก็เปลี่ยนไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ

นอกจากนี้ ยังมีกรรมาธิการหนึ่งที่น่าสนใจ คือ กรรมาธิการการมีส่วนร่วมทางการเมือง เราพยายามจะเปิดพื้นที่ของประชาชนในกลุ่มต่าง ๆ ให้กว้างขวางมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เมื่อมีความรุนแรงในการสลายการชุมนุมเกิดขึ้น กรรมาธิการชุดนี้ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นปัญหาที่สังคมให้ความสำคัญ การควบคุมมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ และเราไม่อยากจะเห็นความเสียหายไม่ว่าจากฝั่งไหนมีมากไปกว่านี้

ชนะในสนามเลือกตั้ง แต่แพ้ในสนามความคิด ก็แพ้อยู่ดี

ปีที่ผ่านมาเราพยายามฟื้นพรรคการเมืองของเราขึ้นมาใหม่ตั้งแต่ข้างล่างถึงข้างบน สังคมเองก็ยากลำบากมากขึ้นเรื่อย ๆ เราพยายามทำงานกันอย่างเต็มที่ และพิสูจน์ตัวเองว่าเรายังทำงานได้อยู่ ยังเป็นความหวังได้อยู่ เป็นปีที่พยายามทำงานเพื่อตอบโจทย์นี่ แต่ยังไม่ดีพอตามที่เราอยากจะให้เป็น ยังต้องทำงานหนักอีกมาก

คนอาจติดภาพว่าพรรคก้าวไกลเป็นพรรคของคนรุ่นใหม่ แต่เราต้องการเป็นพรรคการเมืองหลัก เราพยายามที่จะเป็นพรรคการเมืองที่สื่อสารกับคนได้ทุกรุ่น เป็นตัวแทนได้ทุกกลุ่ม

หลาย ๆ เรื่อง ทั้งการบริหารพรรค การทำงานการเมืองอย่างสร้างสรรค์ ทำให้คนทั่วไปเข้ามามีส่วนร่วม เรายังห่างไกลจากความสมบูรณ์ ซึ่งต้องการการร่วมมือร่วมใจจากประชาชนอีกมาก เราต้องสะสมบทเรียน ต้องทดลอง สรุปบทเรียน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ การทำงานการเมืองแบบใหม่ฟังดูเหมือนง่าย แต่อะไรล่ะที่เป็นรูปธรรม เราต้องหาความสัมพันธ์แบบใหม่ที่ตอบโจทย์ของประชาชนขึ้นมาให้ได้ ไม่มีอะไรสำเร็จรูป ต้องเรียนรู้และหาคำตอบร่วมกันไปกับสังคม 

สังคมไม่ได้หยุดนิ่ง พรรคการเมืองก็เหมือนกัน

การเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ไม่ใช่เรื่องที่จะเปลี่ยนแปลงชั่วข้ามคืนได้ อันนี้ทุกคนเข้าใจ เพียงแต่ว่าเราจะมองเห็นความเป็นไปได้ของความเปลี่ยนแปลงแบบไหน อันนี้สำคัญ เราต้องเข้าใจแนวโน้มของสังคมว่ากำลังเดินไปทิศทางไหน มองเห็นใจกลางปัญหาของสังคมให้ได้ 

“ขณะอีกด้านหนึ่งคุณต้องเห็นความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนแปลง ถ้าคุณมองหามันไม่เจอ มองไม่เห็นคุณก็หมดหวัง คุณก็จะคิดอยู่ภายใต้กรอบเดิม ๆ และอยู่กับความเป็นไปไม่ได้เหล่านั้น และคิดว่ายังไม่ถึงเวลาเสมอ เราพยายามมองเห็น มองหาความเป็นไปได้เหล่านี้ นี่คือสปิริตของอนาคตใหม่จนถึงก้าวไกล”

เราพยายามลงมือทำมันอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งต้องใช้เวลาหลายคนมองว่ารีบร้อน คิดถึงเป้าหมายเฉพาะหน้าก่อนไหม แน่นอนว่าเราไม่ได้มุทะลุเอาหัวชนกำแพงทุกเรื่อง เรามีเป้าหมายชัดเจนว่าทำไมถึงเลือกประเด็นนี้ในช่วงสถานการณ์นี้ ทุกพรรคการเมืองเป็นหมด เราเพียงเห็นความเป็นไปได้ เราจึงเลือกลงมือทำอะไรบางอย่างนอกกรอบความคิด ความเชื่อ และการยอมจำนนในแบบเดิม ๆ

เราให้ความสำคัญกับระบบรัฐสภา ไม่อย่างนั้นคงไม่ตั้งพรรคการเมือง พื้นที่ตรงนี้มีความสำคัญมากกับประชาชน เราอยากจะทำให้สะท้อนเสียงและรับผิดชอบต่อประชาชนส่วนใหญ่มากที่สุด แต่ในขณะเดียวกัน เราจะคิดแต่เรื่องจำนวนเก้าอี้ไม่ได้ จริงอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงต้องมีพื้นที่มากขึ้นเรื่อย ๆ แต่คิดเพียงเรื่องนี้ไม่ได้คงจะต้องทำงานทางความคิดกับสังคมข้างนอกไปพร้อม ๆ กันด้วย

ในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา เราเห็นได้ชัดว่าต่อให้คุณมีกี่เสียงก็แล้วแต่ คุณอาจชนะสนามการเมืองแบบเลือกตั้ง แต่ถ้าคุณพ่ายแพ้ในสนามความคิดของคนส่วนใหญ่ คุณก็ถูกจำกัดตีกรอบ วนกลับมาแพ้อยู่ดี การรัฐประหารยึดอำนาจ การใช้อำนาจพิเศษแทรกแซงอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง มันเป็นไปได้ มันเกิดขึ้นเพราะเราไม่เคยชนะสนามความคิดนอกสนามรัฐสภา