สบตากับอำนาจ เสียงเตือนครั้งสุดท้ายของนางฟ้า(มนุษย์)ชุดขาว - Decode
Reading Time: 3 minutes

“นางฟ้าชุดขาว ฟังดูเผิน ๆ เหมือนจะดี แต่ว่าความจริงคำนี้มันกดขี่พยาบาลอย่างมาก มันลดความเป็นมนุษย์ ให้เหลือเพียงแค่เป็นนางฟ้าเพ้อฝัน” อ้อม พยาบาลวิชาชีพ และแอดมินเพจ Nurses Connect

“มันละเหี่ยใจ ตื่นเช้ามาด้วยความรู้สึกไม่อยากไปทำงาน ถ้ามีหนทางอื่น อยากหนีไป ไม่อยากอยู่ในระบบแบบนี้อีกแล้ว” ที พยาบาลด่านหน้า ในพื้นที่ชายแดน

“มันเหนื่อย รู้สึกหมดพลัง ผู้ใหญ่ที่อยู่ข้างบนไม่เคยสนับสนุน ไม่เคยปกป้องพวกเรา” แพร พยาบาลที่ดูแลหอผู้ป่วยโควิดในเขต กทม.

“ถ้าคุณยังไม่เห็นใจพวกเรา อีกไม่นานหรอกค่ะ พยาบาลเขาจะลาออกกันหมด” กิ่งพยาบาลหอผู้ป่วยใน รพ.รัฐชื่อดัง ในเขต กทม.

เสียงเฮือกสุดท้ายของพวกเขาทั้ง 4 คน ในวันและเวลาที่แบกรับความเหนื่อยล้ากันมาไม่ต่ำกว่า 3 เดือน ตั้งแต่การระบาดของโควิดในช่วงเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา

เสียงที่ไม่เคยดังไปถึงผู้มีอำนาจ สภาการพยาบาลหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ปล่อยให้พวกเขาทำงานโดยไม่เหลียวแล หรือได้รับสวัสดิการ คุณภาพชีวิตที่สอดคล้องกับภาระหน้าที่

เสียงที่กำลังบอกว่า วันนี้โครงสร้างในวิชาชีพนี้กำลังมีปัญหาจากระบบอำนาจนิยมที่กดทับพยาบาลมายาวนาน และในวันนี้เสียงเหล่านี้ จะไม่ทนอีกต่อไป หากปัญหาที่เกิดขึ้นยังไม่ได้รับการแก้ไข วันสุดท้ายของการเป็นพยาบาลวิชาชีพของพวกเขา อาจจะมาถึงในไม่ช้า…

หยุดตีตราด้วยคำว่า ‘คนดี / ทำบุญ / อดทน’

“มันละเหี่ยใจ ตื่นเช้ามาด้วยความรู้สึกไม่อยากไปทำงาน มันไม่หลงเหลือความรู้สึกนั้น และถ้ามีหนทางอื่น อยากหนีไปจากตรงนี้ ไม่อยากอยู่ในระบบแบบนี้อีกต่อไปแล้ว”

ความรู้สึกของ ที พยาบาลด่านหน้าในโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง พื้นที่ติดชายแดนประเทศเมียนมาร์  ทีต้องรับผิดชอบดูแลเคสผู้ป่วยโควิดที่มีเข้ามาในทุกวัน ทั้งยังไม่เคยได้รับอุปกรณ์ป้องกันอย่างเพียงพอจากภาครัฐ

“ส่วนใหญ่อุปกรณ์ป้องกันตอนนี้ที่ได้รับ มาจากการบริจาค ปกติเราทำงานอยู่ห้องผ่าตัด เขาก็ย้ายงานบางส่วนของเราให้ไปดูแลคนไข้โควิดด้วย มันนำมาซึ่งความกดดัน เพราะหน้างานมันคนละแบบกัน”

โดยในส่วนของการฉีดวัคซีนนั้น ทีฉีดวัคซีนยี่ห้อซิโนแวคไป 2 เข็ม แนวโน้มการได้ฉีดบูสเตอร์เข็ม 3 นั้น ทีกล่าวว่า

“ทำใจเผื่อไว้แล้วว่าอาจไม่ได้ เพราะมีข้อกังขาเต็มไปหมด ก่อนหน้านี้เราก็โดนบังคับให้ฉีดวัคซีนที่เลือกไม่ได้”

โดยการบังคับที่ทีกล่าวถึงนั้น เขาได้อธิบายเพิ่มเติมว่าเป็นการบังคับทางอ้อมจากผู้บังคับบัญชา เช่น เอาเรื่องการฉีดวัคซีนไปเกี่ยวข้องกับเรื่องการประเมินผลงานประจำปี มันจึงทำให้เขาผิดหวังกับโครงสร้างวิชาชีพที่มีลักษณะอำนาจนิยม คนทำงานด่านหน้าไม่สามารถหันหลังกลับไปพึ่งพิงใครได้เลย แม้แต่สภาวิชาชีพของตนเอง

“ผมผิดหวังกับท่าทีของสภาการพยาบาล  ตอนที่คนในวิชาชีพเสียชีวิต ทำได้แค่ประกาศแสดงความเสียใจ ทั้งที่หน้าที่ของคณะกรรมการวิชาชีพถูกระบุไว้ว่าคุณจะต้องพิทักษ์ดูแลคนของคุณ เขาไม่ได้เห็นความสำคัญของคนหน้างานจริง ๆ

“เขามักบอกให้เราอดทน และใช้คำว่าทำบุญเปลืองมาก จนทุกครั้งที่ได้ยินคำนี้รู้สึกว่า ‘เห้ย! การทำบุญมันต้องมาจากความเต็มใจ ไม่ใช่ใช้เพื่อต่อรอง เวลาถามถึงค่าตอบแทน ที่ออกไม่ตรงเวลา” 

นอกจากคำว่า อดทน, ทำบุญ แล้ว อีกคำที่ทีพบบ่อยคือคำว่า คนดี ทีอยากให้เลิกใช้ค่านิยมเหมารวมคนดีเข้ากับขอบเขตของงาน เขากล่าวว่ามันไม่สมควรรวมเป็นก้อนเดียวกัน  เพราะทุกอาชีพต้องใช้เงินดำเนินชีวิต ไม่สามารถกัดก้อนเกลือกินไปกับความดีได้

เราเชื่อว่าทีเอง คงมีความอึดอัดใจกับสิ่งที่พบเจอในวิชาชีพตนเองหลายอย่าง แต่ที่ผ่านมาดังที่เขากล่าว โครงสร้างอำนาจของวิชาชีพ ไม่เปิดโอกาสให้คนตัวเล็กตัวน้อย มีโอกาสได้พูด ทีจึงใช้พื้นที่นี้ในการเปล่งเสียงออกมา

“ตอนนี้พวกเราทำงานหนักมาก…หนักจนไม่เคยได้กลับบ้าน บางคนมีลูกไม่เคยได้เจอหน้าลูก ผู้ที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญกับเรื่องวัคซีนของคนด่านหน้ามากกว่านี้ เพราะไม่อย่างนั้น ต่อให้สร้างโรงพยาบาลสนามอีกกี่แห่ง แต่เราสร้างบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มในคืนเดียวไม่ได้”

เมื่อเปลี่ยนอะไรไม่ได้ สิ่งที่ทำได้คือเปลี่ยนตัวเอง ‘ลาออก’

“ถ้าคุณไม่เห็นใจพวกเรา อีกไม่นานหรอกค่ะ พวกเราจะลาออกกันหมด”

คือเสียงของกิ่งพยาบาลวิชาชีพในโรงพยาบาลรัฐชื่อดังแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ กิ่งประจำอยู่ในแผนกผู้ป่วยใน เธอกล่าวกับเราในวันที่เธอคิดตัดสินใจจะลาออกจากการเป็นพยาบาล ด้วยเหตุผลที่ว่า

“อยากไปต่างประเทศ ผิดหวังกับระบบพยาบาล และเหตุการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้น เราไม่เคยได้รับขวัญกำลังใจ หรือการดูแลจากผู้บริหาร เราไปอยู่ที่อื่นดีกว่า ถ้าที่ตรงนี้มันไม่ใช่ที่ของเรา”

กิ่งมองว่า เมื่อลองนำค่าตอบแทนมาเทียบกับภาระการทำงาน เธอคิดว่ามันสวนทางกัน พวกเธอทำงานด้วยความเหน็ดเหนื่อย แต่ผลตอบแทนที่ได้รับกลับไม่เป็นธรรม

“เราต้องกิน มีภาระครอบครัวเหมือนคนทั่วไป พวกเราไม่ได้กินทิพย์หรือสังเคราะห์แสง เราอยู่ได้ด้วยเงิน”

โดยสถานะของพยาบาลหลายคนตอนนี้ กิ่งบอกว่า มีเพื่อนร่วมรุ่นที่เรียนจบด้วยกันลาออกมากขึ้นเรื่อย ๆ สาเหตุเพราะรายได้และสวัสดิการสวนทางกับปริมาณงาน 

เธอมองว่าในอนาคต ปัญหาเรื่องการขาดแคลนพยาบาลที่แต่เดิมมีอยู่แล้ว จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นไปอีก หากผู้มีอำนาจยังไม่ลงมา เข้าใจปัญหาของคนหน้างาน ดังที่กิ่งกล่าว

“คนที่อยู่ข้างบน พวกท่านไม่เคยลงมาดูหน้างาน แต่พวกท่านมีสิทธิ์ที่จะพูด จะสั่งอะไรพวกเราก็ได้ อยากให้คุณเข้าใจคนหน้างานบ้าง เขาเหนื่อย เขาท้อ เขาต้องเจอกับอะไรบ้าง เห็นอกเห็นใจกันหน่อย ในฐานะที่ครั้งหนึ่งคุณก็เคยเป็นพยาบาลทำงานกับผู้ป่วย แม้วันนี้คุณจะทำหน้าที่บริหาร แต่คุณต้องเข้าใจสิว่า พยาบาล บุคลากรทุกคนเขามีหัวใจ เขามีความรู้สึก”

ยังคงศรัทธา เพียงแต่วันนี้ต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง

“มันเต็มไปด้วยความตึงเครียด สะสมจนเข้าสู่เดือนที่ 4 แล้ว ยังไม่มีใครมารับประกันให้ได้เลยว่า เมื่อใดเหตุการณ์จะจบลง”

เสียงของแพร พยาบาลวิชาชีพในหอผู้ป่วยแยกโรค สังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพฯ วันนี้ เข้าสู่เดือนที่ 4 แล้ว ที่เธอทำงานอยู่กับผู้ป่วยโควิด โดยยังไม่ได้รับวัคซีน เธอบอกกับเราว่าตอนนั้น (เม.ย 64) เธอเชื่อมั่นในการป้องกันตัวเอง มากกว่าเชื่อมั่นในวัคซีนที่รัฐบาลจัดหามาให้

นอกจากเรื่องวัคซีนที่ตอนนี้เธอมีเครื่องหมายคำถามถึงรัฐบาลว่าเมื่อไหร่วัคซีนไฟเซอร์จะไปถึงคนทำงานด่านหน้าเช่นเธอ ยังมีอีกหนึ่งคำถามที่เธอรอคำตอบอยู่

“ในการปฏิบัติงานดูแลเคสโควิด เขาแจ้งว่าจะมีค่าความเสี่ยงภัยให้ เราทำงานเข้าสู่เดือนที่ 4 แล้ว ยังไม่ได้รับเงินเลย คำถามคือมันไปผิดพลาดที่ขั้นตอนไหน เพราะไม่ใช่แค่เรา คนที่เคยปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยโควิดตั้งแต่ช่วงสิ้นปี 63 บางส่วนก็ยังไม่ได้รับเงิน”

ชีวิตการเป็นพยาบาลสำหรับแพรตอนนี้ เหมือนมรสุมที่โหมกระหน่ำเข้ามาพร้อม ๆ กัน ทั้งแรงกดดัน ความเหนื่อย ความปลอดภัย ความเครียดที่เพิ่มมากขึ้น ในทิศทางเดียวกับจำนวนคนไข้ที่เธอต้องดูแล โดยมีบางวันที่เธอต้องเลือกแม้ไม่อยากเลือก

“จำนวนคนไข้เยอะขึ้น นั่นแปลว่าอุปกรณ์การรักษา เตียง สถานที่ ถูกจำกัดให้เหลือน้อยลง เราเคยเจอกรณีในตึกเราเหลือ 2 เตียง แต่ผู้ป่วยอาการหนักรอแอดมิต 5 ราย เรามีความจำเป็นต้องเลือกแค่ 2 ราย มันไม่ควรที่จะต้องมาถูกเลือก ให้ใครอยู่ใครตายแบบนี้”

แพรเองไม่ต่างจากกิ่งและที ที่มีความคิดอยากจะลาออก แต่เธอให้เหตุผลว่า เธอเลือกเรียนพยาบาล เพราะความศรัทธาในวิชาชีพนี้ และวันนี้ก็ยังศรัทธาอยู่ นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เธอเชื่อว่า วันข้างหน้าวิชาชีพของเธอจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น 

“ความคิดที่บอกว่าจะลาออก แวบมาในหัวบ่อยมาก แต่ถ้าเสียงที่กลุ่มเราออกเรียกร้องกันในวันนี้ มันส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลง เราก็จะยังอยู่ต่อ”

โดยกลุ่มที่แพรกล่าวถึงนั้นมีชื่อว่า Nurses Connect กลุ่มที่เกิดจากการรวมตัวกันของพยาบาลที่ต้องการสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้าง ลบค่านิยมเก่า ๆ และเป็นกระบอกเสียงให้กับพยาบาล ที่เคยเป็นเพียงเสียงเล็ก ๆ ไม่มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็น ได้มีที่ยืนอยู่ในสังคม

ลบมายาคติ ‘นางฟ้าชุดขาว’ ไม่ควรมีใครต้องเสียสละไปมากกว่านี้

แรงต้าน การกดทับของอำนาจนิยม เป็นสิ่งที่ค่อนข้างเข้มข้นในวงการพยาบาล แม้วันนี้เราไม่ออกมาต้านเรื่องนี้ เราก็เจอเรื่องอื่น ๆ ในที่ทำงาน การออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มเราถูกเพ่งเล็งมากขึ้น แต่เรายอมแลกเพื่อสิ่งที่ดีกว่า ตอนนี้มันมีคนป่วยจริง ตายจริง มันเทียบไม่ได้เลยกับสิ่งที่เราต้องเจอ”

Nurses Connect คือการรวมกลุ่มของพยาบาลวิชาชีพที่ออกมาเรียกร้องอยู่ 2 ประเด็นหลักตอนนี้ คือ 1. การนำเข้าวัคซีน mRNA และ 2.เรียกร้องให้สภาการพยาบาลออกมาทำหน้าที่ปกป้อง พิทักษ์สิทธิของคนในวิชาชีพ

“สำหรับเราการตั้งกลุ่ม Nurses Connect  มันคือการสบตากับอำนาจตรง ๆ และสะท้อนให้ทุกคนเห็นว่าในวิชาชีพพยาบาล เราถูกกดทับเชิงโครงสร้าง ไม่ให้แสดงออกทางความคิด โครงสร้างออกแบบมาให้พยาบาลทำหน้าที่เหมือนเครื่องถ่ายเอกสาร เขาบอกมาแบบไหน เรามีหน้าที่แค่ทำตามคำสั่ง ระบบนี้ไม่เคยเปิดโอกาสให้เราได้ตั้งคำถามแม้แต่น้อย”

อ้อม แอดมินเพจ Nurses Connect คือคนที่ออกมาเปิดเผยข้อมูลกับเรา ถึงปัญหาที่พยาบาลวิชาชีพถูกกดทับมานาน  จุดเริ่มต้นของโครงสร้างเช่นนี้ อ้อมเล่าว่ามันเกิดขึ้นตั้งแต่ตอนเรียนพยาบาล ที่ต้องอาศัยความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นที่เข้มข้น จนเกิดระบบชนชั้นขึ้นมา หากใครตั้งคำถาม จะถูกการเพ่งเล็ง มองว่าเป็นคนไม่เข้าพวก

“ในอนาคต เราอยากเห็นพยาบาลมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเชิงนโยบายมากกว่านี้ จึงต้องไปเริ่มตั้งแต่การที่พยาบาลต้องฝึกคิดเชิงวิพากษ์กล้าที่จะวิจารณ์  เราพยายามทำงานเชิงความคิด ให้พยาบาลคนอื่นเห็นว่า ‘เห้ย มันคิดอย่างนี้ได้ มันมองในมุมนี้ได้’ ให้เขารู้ว่า เขาถูกกดทับอยู่ด้วยมายาคติคำว่านางฟ้าชุดขาว”

คำว่า ‘นางฟ้าชุดขาว’ สำหรับอ้อม คือคำที่กดขี่พยาบาลอย่างมาก เพราะมันลดบทบาทความเป็นมนุษย์ และเพิ่มภาพลักษณ์ของคำว่า ‘เสียสละ’

“พยาบาลก็มนุษย์คนหนึ่ง ที่ต้องมีความรับผิดชอบในสิ่งที่ตนเองทำ ความรับผิดชอบควรเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าความเสียสละ หมายความว่าพยาบาลคนหนึ่งควรรู้ว่าตนเองทำอะไร และทุกการพยาบาลที่ให้คนไข้ไปควรมีความหมาย และตอบให้ได้ว่าทำไปเพื่ออะไร ถ้าทุกคนมีความรับผิดชอบ เราไม่จำเป็นต้องเรียกร้องหาความเสียสละจากใคร” 

เพราะเมื่อนิยามของวิชาชีพพยาบาลคือ การดูแลช่วยเหลือผู้ป่วย อ้อมกล่าวว่า พยาบาลจึงควรมีความเป็นมนุษย์อย่างถึงที่สุด (ไม่ใช่นางฟ้า)  และเหตุการณ์โควิดครั้งนี้ มันก็ผลักดันให้พยาบาลต้องออกมาเรียกร้อง เพื่อวิชาชีพตนเองและเพื่อผู้อื่น

“การเป็นบุคลากรทางการแพทย์มันมีพริวิลเลจ ที่คุณถืออยู่เหนือคนอื่นทั่วไป ถ้าคุณไม่ใช้อภิสิทธิ์ตรงนี้ เพื่อคนอื่นเลยแม้แต่น้อย ไม่เป็นปากเป็นเสียง อย่างเช่นการเรียกร้องเพื่อสุขภาพของประชาชน มันย่อมส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนและส่งผลต่อตัวเองในท้ายที่สุด”

ในขณะเดียวกันคนที่ทำงานระดับบริหาร ก็มีอภิสิทธิ์บางอย่าง ที่สามารถใช้ในการผลักดัน เปลี่ยนแปลง ช่วยเหลือ คนที่อยู่ข้างล่างได้ หากเขาทำหน้าที่นั้นอย่างถึงที่สุด มิใช่การเรียกร้องหาแต่ความเสียสละจากผู้อื่น ดั่งที่อ้อมกล่าวไว้ในตอนท้ายว่า

“คนที่มักจะร้องหาความเสียสละจากคนอื่น มักเป็นคนที่ไม่ได้ต้องมาเสียสละ เขามาเรียกร้องขอความเสียสละ เอาจากคนที่ไม่มีอะไรจะให้เสียแล้ว เราเหลือเสียสุดท้ายคือเสียชีวิต เขาควรจะต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี ก่อนที่จะมาขอให้คนอื่นเสียสละ 

“กี่ครั้งแล้วที่คำว่าเสียสละ ถูกนำมาใช้เพื่อเอาเปรียบ หากใครสักคนรับผิดชอบหน้าที่ของตนเองจนถึงที่สุดแล้ว เขาไม่ควรจะต้องมาถูกกดดัน ให้ต้องยอมรับสภาพการเสียสละนี้ เขาทำหน้าที่ของเขาเต็มที่แล้ว มันควรที่จะต้องถามกลับไปว่าคุณล่ะ ทำหน้าที่ของคุณได้ดีรึยัง เขาถูกขอให้เสียสละ เพราะมีคนไม่ทำหน้าที่ของตัวเองอยู่หรือเปล่า?”