ต้นทุนชีวิต Work from Home ทั้ง “อวด” ของ และ“โอดครวญ” - Decode
Reading Time: 3 minutes

“ปกติที่ออฟฟิศจะมีชั้นวางขนม ของกินเล่นให้หยิบได้ นางก็ไม่ละเลยตรงนี้ จะแพ็คของมาให้สักสองอาทิตย์ครั้ง พวกขนมที่เก็บได้นาน ๆ ของใช้ นางส่งที่ดริปกาแฟมาให้ด้วยนะ แต่ฉันไม่กินกาแฟ”

ประโยคเมาท์มอยพร้อมเสียงหัวเราะของอัด (นามสมมุติ) พนักงานในบริษัทโซเชียลมิเดียยอดนิยมจากแดนมังกร ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของคนทั่วโลกในเวลานี้ เขายึดครองพื้นที่ในกลุ่มสนทนาออนไลน์ของกลุ่มเพื่อนสนิทยามเย็นวันนั้น กลุ่มสนทนาเช่นนี้ถูกใช้เป็นพื้นที่ให้คนหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อย พักผ่อนหย่อนใจจากความเหนื่อยล้าที่ต้อง Work From Home ตลอดทั้งวัน โดยไม่อาจสังสรรค์หลังเลิกงานได้อย่างปกติ ด้วยสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19

สิ่งที่ต่างออกไปในเย็นวันนี้ ดูเหมือนว่าเรื่องธรรมดา ๆ ของอัด จะสร้างความอิจฉาให้บรรดาเพื่อนฝูงตาลุกไม่น้อย เพราะความใส่ใจเล็ก ๆ ของบริษัทที่เขาทำงาน สามารถสร้างกำลังใจเหมือนเป็นน้ำหวานหล่อเลี้ยงผึ้งงาน ที่กำลังต่อสู้อย่างหนักกับการปรับตัวต่อสภาพการทำงานรูปแบบใหม่

“คาดหวังนะ ว่าเข้าไปทำงานบริษัทแล้วจะได้ไปเอาท์ติ้ง”

เสียงบ่นแว่ว ๆ ของหนึ่งในสมาชิกห้องสนทนาแห่งนี้ ฟังแล้วอาจคล้ายกับคนทำงานที่อยากหาช่วงอู้ในสายตาใครหลายคน แต่แท้จริงนี่สะท้อนปัญหาใต้พรมในระยะยาว ของการต้องตกอยู่ในสถานการณ์ทำงานจากบ้านระลอก 3 ไปจนถึง 4 ตามแนวโน้มโรคระบาด

นั่นคือการขาดช่วงของ “โอกาสการพัฒนาตนเอง” ซึ่งหลายแห่งปรับตัวช้าเร็วต่างกันไป ด้วยสิ่งที่เรียกว่าเอาท์ติ้งนั้น นอกเหนือจากการเปิดโอกาสให้พบปะสังสรรค์ ก็เป็นประสบการณ์ที่ทำให้เห็นภาพรวมของธุรกิจ ไปจนถึงเส้นทางในอนาคตของแต่ละบุคคล ผ่านกิจกรรมเทรนนิ่ง  

โดยเป็นภาระสำคัญขององค์กรที่ต้องจัดสรรให้พนักงาน ทั้งเพื่อประโยชน์ของคนทำงาน รวมถึงบริษัทเอง ซึ่ง “การทำงานที่บ้าน” หรือ Work from Home ถือเป็นเครื่องมือชิ้นแรก ๆ ที่ทั้งรัฐบาลและองค์กรเอกชนเลือกใช้ ด้วยการสร้างเครื่องมือหรือกลไกต่าง ๆ ให้พนักงานสามารถแบ่งปันข้อมูลและเดินหน้าการทำงานได้คล้ายปกติ อาจจะยังมีจุดอ่อนในประเด็นนี้

เมื่อกล่าวว่า “คล้าย” นั่นก็หมายถึงยังคงมีข้อแตกต่างที่ไม่อาจทดแทนได้ หนึ่งในนั้น คือ “ต้นทุนชีวิต” ที่เพิ่มขึ้นของลูกจ้างในหลายมิติ หากเป็นเพียงเรื่องชั่วคราวอาจพอมองข้ามไปได้ แต่หากกำลังถูกเปลี่ยนแปลงให้เป็นสิ่งถาวรละ

De/code จึงอยากพาทุกคนไปแอบส่องบทสนทนาของบรรดาหนุ่มสาวชาวออฟฟิศ ที่ต่างต้องเปลี่ยนห้องนอนเป็นห้องทำงาน ว่าพวกเขาจะ “อวด” ของอะไร และ “โอดครวญ” แค่ไหนกับสถานการณ์เช่นนี้

อัด : ฉันซื้อมาแล้วเก้าอี้ทำงาน

เชื่อว่าพนักงานออฟฟิศหลายคน พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า สิ่งที่ต้องการที่สุดของการทำงานที่บ้านคือเก้าอี้และโต๊ะดี ๆ สักตัว เพราะไม่เช่นนั้นปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นตามมา อาจจะมีราคาสูงยิ่งกว่าราคาเก้าอี้ตัวเดียว

นี่จึงเป็นมาตรการแรก ๆ ที่หลายบริษัทปรับตัวจากบทเรียน การทำงานจากบ้านในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งที่ทำงานของอัดก็เช่นเดียวกัน บริษัทเปิดให้สามารถซื้อโต๊ะและเก้าอี้ได้ในวงเงิน 9,000 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่ใช้ในสำนักงานอื่น ๆ ก็แทบไม่ต้องกังวล เมื่อมีการจัดระบบให้สามารถเบิกใช้ได้ไม่ต่างกับการไปที่ทำงาน

สิ่งที่อัดดูจะประทับใจเป็นที่สุด นอกเหนือจากที่จะได้รับของขวัญเล็ก ๆ ตลอดการทำงานจากบ้าน ไม่ว่าจะเป็นอั่งเปาในช่วงเทศกาลตรุษจีน หรือชุดเล่นน้ำในเทศกาลสงกรานต์ ก็ดูจะเป็นบรรดาบัตรกำนัลรับประทานอาหารของบรรดาร้านดัง ๆ จนต่อมาก็มีการปรับเปลี่ยน เป็นการแจกโค้ดลดราคาสำหรับการสั่งอาหารออนไลน์

“ให้ของเล่นของใช้เฉย ๆ นะ แต่เวลาที่ให้ของกิน บัตรทานอาหาร รู้สึกดีมาก งง ทำไม สั่งครบ 100 บาท ได้ลด 500 บาท เหมือนเขาพยายามจะเอนเตอร์เทนการทำงานที่บ้านของเรา เราจะได้ไม่เซ็งมาก” อัดเล่าพร้อมกลั้วหัวเราะอย่างผู้ชนะ

สติ๊กเกอร์รูปมองบนจากเพื่อน ๆ ถือเป็นเสียงตอบรับที่ดีที่สุดของสิ่งนี้แล้ว

ความเป็นส่วนหนึ่งที่ขาดหายไป

ขึ้นชื่อว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม โดยเฉพาะอัดที่ชื่นชอบการพบปะคนใหม่ ๆ อยู่เสมอ การทำงานที่บ้านจึงไม่ต่างกับยาพิษที่มาในรูปแบบของยานอนหลับ “ทำงานที่บ้านนานๆ ฉันซึมไปเรื่อย ๆ เลย”

คงต้องย้อนกลับไปก่อนว่า อัดย้ายมาทำงานยังบริษัทแห่งนี้ได้ 7 เดือนแล้ว ด้วยความคาดหวังที่จะพบเจอกับบรรยากาศการทำงานใหม่ ๆ แต่กลับกลายเป็นว่า เสียงและรูปภาพจากบัญชีโซเชียลมิเดีย เป็นเพียงสองสิ่งที่ช่วยให้เขาสามารถทำความรู้จักเพื่อนร่วมงาน

ด้วยนโยบายดั้งเดิมของบริษัทที่ต้องการปรับปรุงพื้นที่การทำงาน ประกอบกับสถานการณ์โรคระบาด ทำให้กว่าสิบชีวิตในส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับอัด ทุกคนทำงานจากบ้านทั้งหมด

“สื่อสารผ่านออนไลน์มันต้องการเวลานิดนึง บางคนแอบหลับอยู่ กว่าจะตอบก็ไม่รู้เมื่อไหร่ ถ้าอยู่ออฟฟิศงานจะไปเร็วกว่านี้”

“การที่เราได้ไปที่ทำงานมันทำให้เรารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรมาก แต่การที่เราทำงานที่บ้าน เหมือนทำงานแค่รอค่าแรงตอบแทน ฉันรู้สึกไม่สวยอะ ไม่ได้เป็นคนขับเคลื่อนบริษัท เหมือนทำงานที่เขายื่นให้ไปวัน ๆ”

นี่เป็นสิ่งที่น่าแปลกใจ ที่เพื่อนฝูงในกลุ่มสนทนายามเย็นสัมผัสได้ ด้วยคนทำงานที่เคยเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังอย่างอัด เหตุใดถึงแสดงความเบื่อหน่ายออกมา

อัด : ตอนอยู่ที่เก่าไม่มีหรอก…
ไทม์: เสียใจด้วยจ๊ะเธอ ตอนนี้เขา…

เสียงกรีดร้องของอัด สร้างเสียงหัวเราะให้บรรดาเพื่อน ๆ โดยเฉพาะไทม์ (นามสมมุติ) พนักงานบริษัทด้านการท่องเที่ยวเจ้าใหญ่ ที่หากพูดชื่อร้อยทั้งร้อยต้องเคยได้ยิน หรือใช้บริการมาบ้าง  

คงต้องเกริ่นนำก่อนว่า บริษัทที่ไทม์ทำงานอยู่ขณะนี้ เป็นที่ทำงานเดิมของอัดมาก่อน และไม่ใช่เป็นเพียงประสบการณ์การทำงานจากบ้านครั้งแรกของอัดเท่านั้น แม้แต่บริษัทเองก็ต้องรับมือกับเหตุการณ์เช่นนี้เป็นครั้งแรกเช่นกัน ด้วยการทำงานที่โดยปกติต้องมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าตลอดเวลา ระบบและเครื่องมือทำงานจึงค่อนข้างซับซ้อนและยุ่งยากพอสมควร

“สมัยก่อนก็เบิกค่าเน็ตได้ แต่เหมือนเขาพูดเบา ๆ ไม่ตะโกนออกมา”

อัดเล่าว่า เขายังจำภาพที่ต้องมุดลงไปถอดปลั๊กใต้โต๊ะ เพื่อยกคอมพิวเตอร์คู่ใจกลับบ้านเมื่อปีกลายได้ ด้วยขณะนั้นบริษัทยังไม่มีระบบหรือแม้แต่โน้ตบุ๊กสำหรับการทำงานจากบ้าน

แต่บรรยากาศเช่นนี้ไม่เกิดขึ้นกับไทม์อีกแล้ว ด้วยเสียงยืนยันที่ทำให้อัดต้องกรีดร้องซ้ำสองว่า

“บริษัทฉันพร้อมมาก”

ไทม์ เล่าบรรยากาศการทำงานจากบ้านนับตั้งแต่การระบาดระลอก เม.ย.ว่า เปรียบเทียบกับการรับมือครั้งก่อน ๆ แล้ว ตอนนี้ระบบการทำงานถือว่าพัฒนาขึ้นรวดเร็วมาก โดยเฉพาะการติดตามปัญหาการใช้งานของอุปกรณ์ ที่พร้อมจะให้ทำงานจากบ้านได้ภายในข้ามคืน

นอกจากนี้การสนับสนุนอุปกรณ์ทำงานก็เป็นไปอย่างเต็มที่ “เธอไปยกมาเลยเก้าอี้จากออฟฟิศ เขาให้ไปยืมมาใช้ได้”

อีกเรื่องหนึ่งที่ไทม์ตั้งใจเล่าเป็นพิเศษ คือการที่เขาสามารถเบิกเงินค่าอินเทอร์เน็ตได้ จากปีที่แล้วเขาเบิกได้ในวงเงินที่บริษัทกำหนด แต่ในปีนี้กลายเป็นการเบิกส่วนต่างจากโปรโมชันอินเทอร์เน็ตที่ใช้งานเดิม

“สิ่งที่ไม่ชอบที่สุดเลย คือทำงานที่บ้านแล้วค่าไฟมันเพิ่ม เดือนนึงเพิ่มมา 400-500 บาท แต่บริษัทไม่ได้พูดถึงส่วนนี้เลย มองในมุมชีวิตประจำวันค่าเดินทางก็เอามาทดแทนได้บ้าง แต่ร้อนขนาดนี้นั่งทำงานบางวันพัดลมมันเอาไม่อยู่”

อย่างไรก็ตามผลการศึกษาหนึ่ง ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ซึ่งเก็บข้อมูลจากพนักงานในองค์กร ทั้งสิ้น 97 คน คิดเป็นร้อยละ 71 ของจำนวนพนักงานทั้งหมด ในระหว่างการระบาดช่วงต้นปี 2563 เป็นช่วงเวลาประมาณ 1 เดือนที่มีนโยบายทำงานจากบ้าน ซึ่งนี่อาจไม่ใช่ภาพสะท้อนในทุกองค์กร พบว่า

ประโยชน์ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดตกอยู่กับพนักงาน ในรูปของเวลาในการเดินทางที่ประหยัดได้ ซึ่งทำให้พนักงานมีเวลาในการทำกิจกรรมตามที่ต้องการเพิ่มขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

ด้านค่าใช้จ่ายก็ประหยัดได้เฉลี่ยประมาณคนละ 3,324 บาทต่อเดือน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการลดค่าเดินทาง ค่าเช่าที่พักเฉลี่ย 410 บาทต่อเดือน กรณีเช่าที่พักใกล้สำนักงาน และอื่น ๆ แต่มีค่าใช้จ่ายบางรายการเพิ่มขึ้น เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปาและอื่นๆ 1,441 บาทต่อเดือน และค่าอินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 39 บาทต่อเดือน

ซึ่งก็สอดคล้องกับไทม์ที่มีความกังวลกับค่าไฟฟ้าอยู่ไม่น้อย นอกจากนั้นปัญหา “ต้นทุนสุขภาพ” กลายเป็นประเด็นสำคัญที่เขายังคิดไม่ตก

“ความอ่อนล้า ความเหนื่อย ความเครียดเพิ่มขึ้น อยู่คอนโดคนเดียว แล้วงานต้องรองรับอารมณ์ลูกค้ามันยิ่งสร้างความเครียด มันไม่ได้ระบาย อย่างอยู่ออฟฟิศมีเพื่อนข้าง ๆ โดนด่าเหมือนกัน หันไปเม้าท์มอยสองสามคำ ก็สบายใจขึ้นแล้ว”

มิ้ว : …
ไทม์ : ทำไมมึงไม่พูดไรเลย

นั่นสิคำถามของไทม์ หลังไม่ได้ยินสัญญาณจากมิ้ว (นามสมมุติ) เสมือนว่าเพื่อนคนนี้ไม่ได้อยู่ในวงสนทนามาตลอด อดทำให้มิ้วฉุกคิดไม่ได้ว่า “ฉันไม่มีอะไรให้อวดเลย”

มิ้วกับการเป็นน้องใหม่ในบริษัทเครื่องดื่มที่อยู่คู่คนไทยมายาวนาน เป็นอีกคนหนึ่งที่จะสะท้อนภาพการทำงานจากบ้านได้ดีว่า ทำให้ “ตารางชีวิต” ยุ่งเหยิงไม่มีชิ้นดี

เริ่มต้นตั้งแต่การที่เธอสมัครเข้าทำงานบริษัทแห่งนี้ ได้พบปะกับบรรดาเพื่อน ๆ พี่ ๆ และเรียนรู้การทำงานในบริษัทได้เพียง 2 สัปดาห์ ก็ต้องเจอกับการระบาดระลอกสาม ทำให้บริษัทมีนโยบายทำงานจากบ้านทันที

“ตาลอยเลยตอนนั้น ยังทำไรไม่เป็น แค่เรียกพี่คะเบา ๆ ยังเกรงใจอยู่เลย”

มิ้ว เล่าถึงความลำบากที่เธอต้องเรียนรู้งานทั้งหมด ผ่านตัวอักษรทั้งจากอีเมล ไลน์ หรือการพูดคุยผ่านสัญญาณโทรศัพท์ แทนที่จะได้พบเจอเพื่อนร่วมงานต่อหน้า แม้อุปกรณ์ทุกอย่างบริษัทจะมีสนับสนุน แต่ไม่ได้ช่วยลดความกังวลของเธอเลย

ปัญหาต่อมาจากการทำงานที่บ้าน คือมิ้วมีหลานที่อยู่ในวัยกำลังซน จึงไม่สามารถปรับเปลี่ยนส่วนอื่นของบ้านเพื่อใช้เป็นมุมทำงานได้ เธอต้องเลี่ยงมาใช้พื้นที่ห้องนอนชั้นบนทำงาน สิ่งที่ตามมาคือการที่ต้องเปิดเครื่องปรับอากาศอยู่ตลอด บวกกับการใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งวัน ทำให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้

“พยายามจัดระเบียบตัวเอง พอเลิกงานต้องเก็บของให้กลับเป็นสภาพห้องนอนเหมือนเดิม ค่าไฟน่าจะเพิ่มมาสัก 20% ได้มั้ง เพราะจะมีช่วงที่ทำงานดึก”

Work From Home ถาวร

ดูเหมือนว่าการทำงานจากบ้านจะไม่ใช่เรื่องชั่วคราวของมิ้วอีกแล้ว เพราะขณะนี้บริษัทมีนโยบายที่จะให้บางแผนกทำงานจากบ้าน เพื่อจัดพื้นที่บริษัทบางส่วน แบ่งเป็นพื้นที่ให้เช่าอีกไม่นานนี้

“น่าจะตุลานี้ ทั้งแผนกที่กูอยู่จะทำงานจากบ้านไปตลอด แล้วชั้นที่เคยอยู่กันจะปล่อยเช่า”

นั่นเท่ากับว่ามิ้วยังคงต้องต่อสู้กับต้นทุนค่าใช้จ่ายไปอีกยาวนาน หากบริษัทยังไม่มีการสนับสนุน หรือมีมาตรการเยียวยาที่ดีขึ้น

แม้แต่การสนับสนุนเงินในการซื้อเก้าอี้ทำงาน ซึ่งพนักงานปฏิเสธในช่วงการระบาดระลอกแรก ๆ ด้วยมองว่าคงเป็นเพียงการทำงานจากบ้านสั้น ๆ แต่เมื่อมาถึงปัจจุบัน แผนดังกล่าวยังไม่ถูกปัดฝุ่นกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง

“ตอนแรกว่าจะรอเผื่อนโยบายเปลี่ยน แต่ตอนนี้คิดว่าไม่รอแล้วดีกว่า เริ่มตึง ๆ แล้วจากที่นั่งทำงาน ยอมจ่ายค่าเก้าอี้ตัวนึง 2,000 3,000 ดีกว่าจ่ายค่าหมอ”

นอกจากนั้นการทำงานจากบ้านยังนำมาซึ่งปัญหาใหญ่สำคัญ ที่ยังไม่ถูกพูดถึง คือการทำงานนอกเวลาโดยไม่ถูกนับเป็นค่าทำงานล่วงเวลา

“ปกติมีโอทีนะ แต่พอทำงานจากบ้านแล้วไม่มี เขาพูดกันว่าเป็นมาตรการ flexible working hours เลยไม่มี แต่กูเริ่มต้นทำงานเวลาปกติ แล้วเลิกงานดึก ยังงงอยู่เลยว่าคืออะไร” มิ้วเล่าไปงงไป ว่าเธอหรือบริษัทที่เข้าใจผิดกันแน่

“เห้ย ได้ไง” เสียงตะโกนของอัดและไทม์เกิดขึ้นพร้อมกันเมื่อมิ้วเล่ามาถึงจุดนี้

นับว่าเป็นเครื่องยืนยันให้มิ้วตระหนักซ้ำว่า “ชีวิตกูแย่จริง ๆ ใช่ไหมมึง”

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ใช่เพียงคนทำงานเท่านั้นที่ต้องลงทุนมากขึ้น แม้แต่บริษัทเอง ก็ต้องใส่ความพยายามไม่ต่างกัน เพราะสิ่งที่ต้องเผชิญอาจไม่ได้มีเพียงต้นทุนที่จับต้องได้อย่างเดียว

แต่การทำงานที่บ้านนั้น ทำให้คนเราต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการสื่อสาร ซึ่งล้วนส่งผลต่อการสร้างความสัมพันธ์ไม่ว่าจะต่อองค์กร หรือต่อเพื่อนร่วมงานด้วยกัน ซึ่งล้วนนำมาซึ่งความสุข ความทุกข์ และประสิทธิภาพในการทำงาน

หากทุกฝ่ายยังไม่ตระหนักและร่วมมือกันเยียวยาความเปราะบางนี้ เราอาจไม่สามารถรักษาต้นทุนดั้งเดิมที่ติดตัวมา นั่นคือ “แรงจูงใจ” ซึ่งมีส่วนสำคัญให้มนุษย์ยังคงเดินหน้าทำงานต่อไป

แต่คงไม่มีสิ่งใดจะมาทดแทนการโบกมือลา ยิ้มหวาน ๆ เสียงตะโกนส่งท้าย โดยมีเพียงอากาศเป็นสื่อกลางอย่างเช่นช่วงเวลาปกติที่เคยเกิดขึ้นอย่างแน่นอน