ช่วยนายกฯ ทิ้งไพ่สามใบสุดท้ายสู้โควิด - Decode
Reading Time: 2 minutes

“ทางออกที่ว่าเปลี่ยนตัวผู้นำแล้วจะแก้ปัญหาแบบจบสวัสดี อาจไม่เป็นเช่นนั้น เพราะตอนนี้โครงสร้างรัฐพังครืนทั้งระบบ ถ้าจะแก้คงต้องรื้อโครงสร้างรัฐด้วย”

ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยสาเหตุไทยอ่วมหนักจากพิษโควิด เพราะรัฐบาลด้อยประสิทธิภาพ พบปัญหาทั้งระบอบไม่ใช่แค่ตัว “นายกรัฐมนตรี” โดยเฉพาะการพลิกลิ้นกลับคำไปมาจนประชาชนหมดความไว้เนื้อเชื่อใจ ขณะที่บุคลิกภาพของนายกฯ เองก็ขาดพร่องความเป็นผู้นำ มีชีวทัศน์และโลกทัศน์ที่ไม่อาจสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนได้ ไม่สามารถแม้แต่จะแสดงความเข้าอกเข้าใจปัญหาและความเดือดร้อนของประชาชนอย่างแท้จริง ทั้งยังกันการมีส่วนร่วมของประชาชนและคนที่รู้จริงออกไป


ดังกล่าวส่งผลให้การจัดการโควิด-19 ผิดทิศผิดทาง กระทบเป็นโดมิโนต่อทุกกระเบียดนิ้วของสังคม สาธารณสุขพัง เศรษฐกิจล้มเหลว ทางออกที่ว่าเปลี่ยนตัวผู้นำแล้วจะแก้ปัญหาแบบจบสวัสดี อาจจะไม่เป็นเช่นนั้น เพราะโครงสร้างรัฐพังครืนทั้งระบบ ถ้าจะแก้คงต้องรื้อโครงสร้างรัฐด้วย

ขณะที่ตอนนี้การระบาดระลอกสี่มาถึงแล้ว ซึ่งมีความท้าทายมากกว่าเดิมเพราะระลอกนี้มีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์อินเดียและแอฟริกาใต้ ที่วัคซีนยี่ห้อซึ่งรัฐจัดหามาฉีดให้ไม่สามารถต้านทานได้ หากยังอยู่กับโครงสร้างแบบเดิม แก้ปัญหาแบบเดิมก็อาจพบกับทางตัน

เพราะถ้าดูในช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา จะเห็นว่าการวางไพ่แบบเดิม ๆ เพื่อเดินเกมแก้วิกฤติของนายกฯ มีความเหวี่ยงไปเหวี่ยงมา ก่อนหน้าวางไพ่เศรษฐกิจ คลายล็อกดาวน์กิจการต่าง ๆ และจะเปิดประเทศอ้าแขนรับนักท่องเที่ยว แต่ให้หลังแค่สัปดาห์เดียวกลับลำมาทิ้งไพ่สาธารณสุข กระชับการควบคุมโรค และหวนมาล็อกดาวน์หลายกิจกรรม เป็นการวางไพ่ที่มั่วเหมือนคนเดินเกมไม่เป็น ไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาที่สมดุล

อย่างไรก็ดี แม้เหมือนจะจนตรอกเต็มทีแต่สังคมไทยยังพอมีทางหวังอยู่บ้าง เพราะเมื่อปัญหาชะงักที่การบริหาร ในมุมมองของนักรัฐศาสตร์อย่าง ผศ.ดร.พิชญ์ จึงเสนอว่าไพ่ที่จะพาไทยชนะในวิกฤตินี้มีอยู่ 3 ใบ


ไพ่ใบที่หนึ่ง ยุติบทบาทการบริหารของนายกฯ และคืนอำนาจจัดการให้คนรู้จริงทำ

สิ่งสำคัญของการบริหารคือความโปร่งใส ในการตัดสินใจว่าต้องทำหรือไม่ทำอะไร ถ้าทึกทักเอาแบบนั่งเทียนเขียน ไม่มีความรู้ ไม่มีความสามารถแต่อยากกระโดดมาบริหาร อยากจัดการปัญหา ทั้งที่เห็นอยู่ว่าตัวเองทำไม่ได้ ก็ควรวางมือ ถ้าอยากนั่งหัวโต๊ะก็นั่งไป แต่ต้องฟังคนที่ดึงมาร่วมโต๊ะด้วย

ไพ่ใบที่สอง ดึงคนจากฝั่งสาธารณสุขเเละเศรษฐกิจมาร่วมเเก้

ฝั่งแรกคือสาธารณสุข ต้องให้ที่ทางกับสามส่วนได้ล้อมวงกันคิดช่วยกันทำ สามส่วนที่ว่า คือ “สถาบันการศึกษาด้านแพทย์-โรงพยาบาลรัฐ-โรงพยาบาลเอกชน” เพราะแต่ละส่วนมีทรัพยากรที่จะเอื้อกันและกัน อย่างสถาบันการศึกษาด้านแพทย์ก็จะช่วยในเรื่องการวิจัย ค้นคว้าหาทางออก ขณะที่โรงพยาบาลรัฐและเอกชนเป็นด่านหน้าเรื่องการรักษา รู้ว่าขาดเหลืออะไร ถ้ามีอำนาจก็จะตัดสินใจวางแผนได้ทันต่อสถานการณ์จริง ๆ เฉพาะโรงพยาบาลเอกชนตอนนี้นับว่าสำคัญไม่แพ้กัน ถือว่าเป็นแขนขาให้กับรัฐได้ เพราะในสภาวะวิกฤติเชื่อว่าเขาก็ไม่ได้มุ่งหากำไรอย่างเดียวแล้วแต่อยากมีส่วนช่วยแก้ไปด้วย ถ้ากันเขาออกไปจากวงหาทางออกก็เท่ากับตัดกำลังที่จะมาผ่อนหนักเป็นเบา  ฝั่งที่สองคือเศรษฐกิจ โดยดึงคนจากหลากหลายอาชีพที่เป็นตัวแทนประชาชนจริง ๆ เข้ามา เพราะพวกเขาเผชิญปัญหาโดยตรงเขาก็จะรู้ว่าควรแก้ที่ตรงไหนจึงจะเจ็บน้อยสุด จากนั้นให้คนทั้งสองฝั่งร่วมกันคิด ร่วมกันวางแผน จะพบกันครึ่งทางหรือจะให้น้ำหนักไปที่ฝั่งใดก่อนตามแต่สถานการณ์ก็ให้เป็นอำนาจตัดสินใจร่วมกัน ส่วนนายกฯ มีหน้าที่ฟังและอย่าสั่งตามอำเภอใจ

ไพ่ใบที่สาม ฟังประชาชนให้มากขึ้น

การสื่อสารต้องเปิดเวทีให้คนถามได้มากที่สุดที่ผ่านมาค่อนข้างปิดกั้นไม่ให้คนถาม หรือต้องรอให้ถามก่อนจึงจะไปหาคำตอบ ทั้งที่ควรเตรียมคำตอบมาแล้วแต่ต้น ขณะเดียวกันเวลาออกมาพูดก็ต้องพูดแต่สิ่งที่คนจำเป็นต้องฟัง อย่าเล่นลิ้นเบี่ยงประเด็นจนพลาดสาระสำคัญ เพราะตอนนี้ทุกคนตั้งตารอว่าประเทศจะเดินหน้ายังไงต่อ ชีวิตและปากท้องของพวกเขาจะอยู่รอดอย่างไร สำคัญที่สุดคืออย่ามองว่าคนที่ถามนั้นจ้องจะทำลายรัฐบาล แต่ควรยินดีเสียมากกว่าเพราะคำถามของเขาจะช่วยให้คิดไปถึงทางออกได้ อย่างกรณีประกาศล็อกดาวน์กลางดึกของวันเสาร์ที่ผ่านมา สิ่งที่แย่ที่สุดไม่ใช่การลักหลับ แต่คือการที่ไม่ออกมาแถลงการณ์อะไรให้ประชาชนรู้เลยในวันอาทิตย์ เหมือนทิ้งระเบิดลงตูม แล้วให้ประชาชนอกสั่นขวัญหาย ไม่รู้ว่าต้องยังไงต่อ


เมื่อถามต่อว่าแล้วเทคโนแครตในรัฐบาลนี้ไม่มีน้ำยาช่วยคิดทางออกให้กับนายกฯ บ้างหรือ ผศ.ดร.พิชญ์ ให้คำตอบว่า วันนี้เทคโนแครตรายรอบพลเอกประยุทธ์ ไม่เห็นแล้ว ไม่มีนักวิชาการ หรือผู้เชี่ยวชาญ มีแต่คนจากกองทัพและทุนใหญ่ โควิดระลอกต่าง ๆ เห็นนโยบายอะไรจากหน่วยงานอย่างสภาพัฒน์ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอบ้างไหม ไม่เห็นเลย ซึ่งความจริงการมีเทคโนแครตช่วยคิด ช่วยแก้ เป็นเรื่องที่ดีนะ เพราะเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มีคลังข้อมูลของทางออกมากมาย อย่างไรก็ดีต้องเข้าใจด้วยว่าที่ไม่มีเทคโนแครตรายรอบรัฐบาลนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่มีคนอยากทำงานกับเขาน่ะ แต่เป็นเขาเองที่ไม่ต้องการจะมี

สุดท้ายถ้าพลเอกประยุทธ์เห็นว่าประเทศและประชาชนสำคัญ ก็คงต้องหยุดดื้อดันที่จะรวมอำนาจไว้ที่ตัวเอง เพราะถ้าไม่อย่างนั้นแล้วทุกอย่างอาจเดินไปสู่ทางตันอย่างยากจะกู่ให้กลับได้