เมื่อโลกซึมเศร้า เราต้องหยุดลงโทษตัวเองได้แล้ว - Decode
Reading Time: 2 minutes

ดีใจที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้  

สนุกและคิดว่ามันได้ทำงานกับข้างใน 

ระหว่างอ่าน พลันก็เกิดภาวะของการตรวจสอบและสำรวจลึกลงไปว่า ตลอดช่วงชีวิตของเรานั้น  โครงสร้างสังคม – ชนชั้น- ทุน ได้เข้าไปกัดกินด้านในจิตใจเราแค่ไหน 

ยิ่งถ้า ครอบครัวหรือเครือญาติไม่ได้เป็นผู้มีอันจะกินในประเทศนี้ เราต่างก็เปราะบางและหมิ่นเหม่ การตัดสินใจเรื่องใดใดในชีวิต ล้วนมีส่วนมาจากด้านในที่ถูกทุนเกาะกินไป ใช่หรือไม่  

หนังสือ “เมื่อโลกซึมเศร้า: Mark Fisher โลกสัจนิยมแบบทุน และลัดดาแลนด์” ของอ.สรวิศ ชัยนาม ทำให้เห็นภาพชัดขึ้น 

มีอะไรมากกว่าสารเคมีในสมองที่ทำให้สุขภาพจิตซึมเศร้า และมีอะไรมากกว่าระบบทุนนิยมที่จะดีกว่าสำหรับสังคม ที่ไม่ทำให้โลกทั้งใบของพวกเราเป็นโลกซึมเศร้า

ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เราเป็นโรคซึมเศร้ากันมากขึ้น 

รายงานของ WHO ฉบับปี 2009 ระบุว่าความเจ็บป่วยทางจิตเกิดขึ้นจากสาเหตุทางสังคม 

“ความเหลื่อมล้ำฆ่าคนตายได้ คนที่อาศัยในย่านคนจน ชนชั้นแรงงานจะมีอายุสั้นกว่า มีอัตราการใช้สารเสพติด เป็นโรคอ้วน และมีความเจ็บป่วยทางจิต”  

นี่เป็นงานศึกษาของ Richard Wilkinson และ Kate Pickett ชื่อ Spirit Level  

ในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงจะมีอัตราความเจ็บปวดทางจิตสูงกว่าในสังคมที่มีความเท่าเทียมกัน 2-3 เท่า เช่นสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรมีผู้ป่วยทางจิตมากกว่าญี่ปุ่นหรือเยอรมนี 

Richard Wilkinson และ Kate Pickett ตั้งข้อสังเกต แม้ว่าระดับเคมีบางตัวจะเปลี่ยนแปลงไปแต่ก็ไม่มีใครพิสูจน์ได้ว่านี่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าและก็ไม่สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมความเจ็บป่วยถึงได้พุ่งสูงขึ้นเป็นอย่างมากในแค่ไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา 

เช่นเดียวกับที่ Johann Hari ที่ตั้งคำถามว่า “มันเป็นไปได้จริง ๆ หรือที่ว่าอยู่ ๆ สารเคมีในสมองของพวกเราแต่ละคนก็เกิดทำงานไม่ปกติพร้อม ๆ กันขึ้นมาอย่างนั้น” 

Richard Wilkinson และ Kate Pickett บอกว่าสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำจะเผชิญกับความเครียดที่สูงกว่า จากความรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่า ตัวเองคุมอะไรไม่ได้เลย มีการแยกตัวจากสังคมที่สูงกว่า เนื่องจากสังคมสร้างความเครียดและบีบให้ต้องแข่งขันกันมากเกินไป นำไปสู่การสะสมความรู้สึกไม่พึงพอใจ วิตกกังวล และสิ้นหวังมากขึ้นเรื่อย ๆ  

ปัญหาสุขภาพจิตเกี่ยวข้องกับหน้าที่การงาน เราเกลียดวันจันทร์ เพราะงานที่เราทำมันห่วยแตก ทำให้เราหมดแรง เครียด ได้ค่าตอบแทนไม่เพียงพอ กัดกร่อนจิตวิญญาณ  

ในระบบทุนนิยม การไม่มีงานทำอาจทำให้คนถึงตายได้ เราไม่มีสิทธิที่จะไม่ทำงาน 

กฎธรรมชาติของทุนนิยมคือ ถ้าเราไม่แปลงเวลาว่างที่เรามีให้เป็นเงิน เราจะอดตาย แต่ทางเลือกระหว่างตกงานกับมีงานทำ มันก็แย่ทั้งคู่ 

และการเป็นคนจน แปลว่า ต้องทำมาหากินโดยไม่มีวันหยุด! 
อย่างนี้แล้ว เบื้องหลังของสุขภาพจิตจึงมีชนชั้นและโครงสร้างทางสังคมทาบทับอยู่ 

Mark Fisher นักทฤษฎีวัฒนธรรมบอกว่า โรคซึมเศร้าซับซ้อนกว่าเป็นเรื่องสารเคมีในสมอง มันไม่ได้เกิดขึ้นมาเองแต่เกิดมาจากการกระทำหรือการละเว้นของผู้มีอำนาจที่ตัดสินใจ ผลิตซ้ำโครงสร้างระบบที่มีอยู่ ซึ่งสร้างความเหลื่อมล้ำ ความเปราะบางและความสิ้นหวังที่เพิ่มมากขึ้น 

โลกสัจนิยมแบบทุน – การผลิตแบบฟอร์ดและหลังฟอร์ด 

หนังสือเล่มนี้ แสดงให้เห็นว่าทุนนิยมยุคปลายกำลังทำลายสุขภาพจิตของเราอย่างรุนแรง

โลกปัจจุบันถูก “หลอน” ด้วย “อนาคตที่สูญหาย” 

การเปลี่ยนผ่านจากระบบการผลิตแบบฟอร์ด (Fordism) มาเป็นการผลิตแบบหลังฟอร์ด (post – Fordism) คือการเปลี่ยนจากทุนนิยมในแบบที่ไม่ได้สร้างความทุกข์ทรมานทางจิตใจเท่าไหร่มาเป็นแบบที่สร้างความทุกข์ทรมานสาหัสกว่า 

ระบบการผลิตแบบฟอร์ด คือช่วงเวลาที่เศรษฐกิจยังอยู่ในระดับชาติ ยังยอมให้มีรัฐสวัสดิการเพื่อชนชั้นแรงงาน เก็บภาษีหนักจากคนรวย แต่เมื่อสิ้นสุดในทศวรรษที่ 1970 กำไรเริ่มต่ำลง นายทุนจึงไม่ยอมอ่อนข้อให้แรงงาน 

การผลิตแบบหลังฟอร์ด หมายถึงเศรษฐกิจแบบทุนนิยมข้ามชาติเป็นเสรีนิยมใหม่และผูกขาด 

งานเป็นสิ่งที่มีลักษณะไม่ประจำและค่าแรงต่ำ บัตรเครดิตได้เข้ามาทำหน้าที่แทนรัฐสวัสดิการที่หมดบทบาทลงและการลดภาษีให้กลุ่มคนรวยกลายเป็นเรื่องปกติ  

Fisher ชี้ให้เห็นว่าคนงานในยุคหลังฟอร์ดประสบกับสภาวะ “ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าระยะยาว” ทุกคนต้องยืดหยุ่นและต้อง “คอยเพิ่มทักษะใหม่ (re-skill)” เป็นพัก ๆ ทุกคนต้องคอยปรับตัวให้อยู่ในสภาวะที่ไม่มั่นคงสุด ๆ ให้ได้ 

ก่อนหน้านี้ ในศตวรรษที่ 20 เราหวังจะลดวันทำงานเพื่อปลดปล่อยมนุษย์ให้เป็นอิสระ มีการพูดถึงการทำงานสัปดาห์ละ 15 ชั่วโมง หรือ 3 วัน   

แต่วันนี้กลับตาลปัตร เราอยากทำงานหนักกว่าเดิม ประเทศไทยดีใจที่มีการขยายอายุเกษียณ 

งานและชีวิตกลายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกจากกัน 
ยิ่งงานแบบใหม่ เราต้องไล่ตามจังหวะการเคลื่อนไหวของทุนนิยมที่ต่อเนื่องและไม่มีวันหยุดให้ทัน 

ก่อนหน้านี้ เรามักได้ยินว่าควรนอนวันละ 8 ชั่วโมง พักหลัง ๆ จะเป็นลักษณะที่ว่านอนวันละ 3-4 ชั่วโมงก็พอขอให้หลับลึก  

ทุนไม่อยากให้เรานอนหรอกเพราะตอนนอน เราจะไม่บริโภค ไม่ได้ทำงานหรือสร้างหนี้ 
ทุนเอาเปรียบเราทั้งในที่ทำงานและนอกเวลาทำงานมากขึ้น 

อำนาจของทุนไร้ขีดจำกัด ดังเช่นอำนาจของอินเทอร์เน็ตและไซเบอร์สเปซที่ไม่เคยหยุด ทำให้ร่างกายและจิตใจของเราล้วนถูกกระตุ้น 

Franco Beradi อธิบายได้น่าสนใจว่า สมองและระบบประสาทของเราเป็นอวัยวะที่มีเลือดเนื้อและบอบบาง ไม่ได้ถูกพัฒนาด้วยมาตรฐานเดียวกันกับระบบดิจิทัล ไม่ได้ถูกสร้างมารองรับกิจกรรมที่ไม่รู้จักหยุด โครงสร้างพื้นฐานทางจิตใจจึงไม่อาจรับข้อมูลที่ท่วมท้น  

Beradi ตั้งข้อสังเกตได้น่าสนใจว่า ทั้งไซเบอร์สเปซและ Prozac ยาต้านเศร้า ต่างกำเนิดขึ้นพร้อม ๆ กัน ในช่วงทศวรรษที่ 1990 

โลกสัจนิยมแบบทุน (Capitalist Realism) เป็นทั้งความเชื่อและทัศนคติที่ช่วยเปิดทางให้ตลาดขยายตัวอย่างตะกละตะกลามเข้าไปทุกอาณาบริเวณของชีวิต  

Francis Fukuyama บอกว่าประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมและทุนนิยมเป็นการพัฒนาด้านการเมืองและเศรษฐกิจขั้นสูงสุดของมนุษย์  

สัจนิยมแบบทุนโยนความคิดเรื่องขั้นสูงสุดของประวัติศาสตร์มนุษย์ทิ้งไป เน้นไปที่ความคิดว่าไม่มีอะไรอยู่พ้นไปจากทุนนิยมอีก 

ในฐานะความเชื่อ โลกสัจนิยมแบบทุนยืนกรานว่าทุนนิยมนั้นเป็นทางเลือกเดียวที่มี  

“มันไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว” ดังวลีของ Margaret Thatcher   

โลกสัจนิยมแบบทุนไม่หวังให้เราเชื่อว่าทุนนิยมเป็นระบบที่ดีที่สุด มันยอมรับอย่างหน้าชื่นตาบานด้วยซ้ำว่า ทุนนิยมนั้นเอาเปรียบ ไร้ศีลธรรม โลภ ไม่เท่าเทียม รุนแรง  มหาเศรษฐีก็ยังวิจารณ์ทุนนิยม ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งแปลกและย้อนแย้งของทุนนิยม 

ในเชิงความคิดและการกระทำมันมีช่องว่าง 

สำหรับความคิดเรารู้ตื้นลึกหนาบางของทุนนิยม เรารู้ว่าทุนนิยมยุคปลายมีอะไรหลายอย่างที่ไม่ชอบมาพากลและเรารู้ว่าเราจำเป็นต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงแต่ว่าเรายังคงบริโภคสินค้า สะสมทุน ไล่ตามผลประโยชน์ส่วนตัวในฐานะปัจเจก เราผูกกับทุนนิยมในแง่การกระทำแต่ความรู้สึกนึกคิดกลับไม่ใช่ 

ข้ามเส้นขอบฟ้า – มันไม่ใช่เรื่องปัจเจก 

Fisher บอกว่าโลกสัจนิยมแบบทุนทำให้ทุนนิยมกลายเป็นขอบฟ้าที่ไม่อาจข้ามไป โดยมันปิดกั้นความเป็นไปได้ของ “มนุษยชาติแบบใหม่ มุมมองแบบใหม่ วิธีคิดแบบใหม่ วิธีรักแบบใหม่” 

จริง ๆ แล้วการต่อสู้ล้มล้างทุนนิยมเกิดขึ้นเรื่อย ๆ แต่ใครก็ตามที่ปฏิเสธคาถาอันศักดิ์สิทธิ์นี้ก็ล้วนถูกประณามอย่างไม่ปราณีว่า เป็นพวกอ่อนต่อโลกและไม่อยู่กับความเป็นจริง การแสวงหาทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่ทุนนิยมถูกเพ่งเล็งว่า เป็นอุดมการณ์ที่อันตราย 

โลกสัจนิยมแบบทุน มันขอแค่ให้คุณ “keep calm and carry on” ตั้งสติและใช้ชีวิตต่อไป ก็เท่านั้น

มันพยายามตัด “การเมือง” ออกไปและโยนให้เป็นปัจเจกที่ต้องรับผิดชอบต่อทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิต มองว่าเรื่องส่วนตัวก็คือเรื่องส่วนตัว ไม่จำเป็นที่จะเกี่ยวข้องกับเรื่องไม่ส่วนตัว เช่น ประเด็นสังคม เศรษฐกิจ หรือการเมือง 

แต่ถ้าเรากับตัวเราคืออย่างเดียวกัน เราก็จะไม่อาจแยกออกจากตัวเราเองได้ และไม่สามารถมองเห็นระบบโครงสร้างที่เข้ามาจัดการกับตัวเรา 

Fisher บอกว่าสมาชิกของชนชั้นล่างถูกผลักให้รู้สึกว่าที่พวกตนยังยากจน ด้อยโอกาส หรือไม่มีงานทำนั้นเป็นความผิดของตัวเองเท่านั้น ปัจเจกแต่ละคนโทษตัวเองมากกว่าโทษโครงสร้างทางสังคม การรับความคิดนี้ ก็เท่ากับเราค้ำจุนและเอ็นจอยกับระบบทุนนิยม  

ความเพ้อฝันที่โยนมาให้ตัวเราต้องรับผิดชอบเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจ ให้เราอยู่กับความไม่พอใจและยอมรับสภาพความเป็นจริงที่โหดร้าย คือถ้าเราเป็นคนคิดบวก ไม่ย่อท้อ มีเป้าหมายอย่างจริงจัง ลงทุนกับตัวเองอย่างสมเหตุสมผล พัฒนาไม่หยุดหย่อน เราจะได้ทุกอย่างที่ต้องการ ใครทำไม่ได้ก็จะเป็น “คนขี้แพ้” เราจะไม่มีใครให้โทษนอกจากตัวเอง 

แม้แต่ Fisher เองเขาก็เป็นโรคซึมเศร้า เขาต่อสู้เป็นพัก ๆ และสุดท้ายก็พ่ายแพ้แก่มันและปลิดชีวิตตัวเองในปี 2017 

เขาเขียนว่า “โรคซึมเศร้าของผมเกี่ยวพันกับความเชื่อมั่นที่ว่า ตัวผมมันไม่มีอะไรดีเลยสักอย่างจริง ๆ” 

Fisher เคยสรุปมุมมองของจิตวิทยาคลินิก David Smail เอาไว้ว่าสำหรับคนที่ตั้งแต่เกิดมาก็ถูกสอนให้ตัวเองด้อยกว่า การได้มาซึ่งคุณวุฒิหรือความมั่งคั่งในภายหลังนั้น แทบไม่ช่วยสร้างความรู้สึกลบล้างว่า ตนไร้ค่าที่มีมาแต่เดิมซึ่งสร้างรอยไว้สมัยยังเด็กออกไปได้ คนเหล่านี้จะรู้สึกว่าตนไร้ความสามารถและไร้ประโยชน์อยู่เรื่อยไป แม้กระทั่งยามประสบความสำเร็จ 

Fisher จึงมุ่งสร้างความเป็นการเมืองให้กับสุขภาพจิตเสียใหม่ 

เขาเห็นว่าทุนนิยมยุคปลาย ความเจ็บป่วยทางจิตเป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าจะทิ้งไว้ให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์หรือบริษัทยายักษ์ใหญ่เป็นคนแก้ หรือให้เป็นเรื่องของการรับการบำบัดและกินยา 

ทุนที่เป็นตัวการให้คุณป่วย ก็คอยจะขายยาให้คุณ และผลิตซ้ำความซึมเศร้า วิตกกังวล  เหงา ด้านชา คาดหวังต่ำ เครียด นอนไม่หลับ 

การจ่ายยามันง่ายกว่าการลุกขึ้นมาต่อสู้และจัดการสังคมใหม่  
และเราไม่ควรเป็นผู้บริโภคแบบตัวใครตัวมันในการแก้ปัญหาสุขภาพจิต  

แนวทางของ Fisher คล้ายกับตัวแบบ ชีว-จิต-สังคม คือเน้นสำรวจบริบทที่กว้างกว่า เราทนทุกข์ทรมานเพราะเราเป็นบุคคลไม่ใช่แค่ร่างกาย สิ่งที่เรียกว่าบุคคลเกิดขึ้นเมื่อร่างกายถูกจัดวางในสังคมซึ่งมีปฏิสัมพันธ์กับมัน  

บาดแผลทางใจที่เกิดจากสภาวะเศรษฐกิจถดถอยใช้เวลายาวนานกว่าจะเยียวยาให้หายขาดได้ 
เพราะฉะนั้น การรักษาความเจ็บป่วยจึงต้องใช้ยาและการเมืองเพื่อการปลดปล่อยควบคู่กันไป 

สิ่งสำคัญยิ่งกว่ายา Prozac (ยาต้านเศร้าชนิดหนึ่ง) และ Xanax (ยากล่อมประสาท) คือการต่อสู้ทางชนชั้นและความเป็นธรรมในด้านการจัดสรรกระจายทรัพยากรความมั่งคั่งคืนสู่สังคม 

ปีหลัง ๆ เราได้เห็นหนุ่มสาวมิลเลนเนียลในสหรัฐและอังกฤษต่างหันมาสนใจสังคมนิยม 
ในประเทศไทย เราก็เห็นคนหนุ่มสาวพูดเรื่องรัฐสวัสดิการด้วยเสียงดังจริงจังแน่วแน่ 

มีการสำรวจทางเลือกอื่นๆ และจินตนาการทางสังคมในแบบใหม่ๆ เพราะเราต่างตระหนักแล้วว่า การถูกทำให้เชื่อว่าความรู้สึกอยากแข่งขันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ และการแข่งขันจะนำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าทางสังคมนั้นไม่จริงเลย 

ความจริงตรงหน้าคือคนรวยแทบไม่เคยแข่งขันเพราะคนรวยสามารถพึ่งพาอำนาจรัฐและกฎหมาย ตรงข้ามกับคนจนที่ถูกสอนมาให้ตระหนักถึงการช่วยเหลือตัวเอง การงานคือสิ่งที่วัดคุณค่า ถ้างอมืองอเท้าจะอดตาย  

การเมืองเพื่อการปลดปล่อยจึงจัดเป็นยาต้านเศร้า ในโลกที่นับวันจะซึมเศร้าลงเรื่อย ๆ แต่เราต้องหยุดลงโทษตัวเองก่อนและยืนกรานว่าเรื่องส่วนตัวไม่เคยใช่เรื่องส่วนตัวจริง ๆ 

เมื่อโลกซึมเศร้า: Mark Fisher โลกสัจนิยมแบบทุน และลัดดาแลนด์
ผู้เขียน: สรวิศ ชัยนาม 
สำนักพิมพ์: ILLUMINATIONS EDITIONS 

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ขึ้นไว้บนเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี