“รักเอย” ไยอยุติธรรมพรากลื้อไปไม่หวนคืน? - Decode
Reading Time: 3 minutes

8 พ.ค. เธอลาจากพรากไปจากฉัน 
ทั้งที่ฉันเฝ้ารอให้เธอกลับมาทุกคืนวัน
แล้วฉันจะอยู่ได้อย่างไรไม่มีเธอ
ถึงเธออยู่ข้างใน ฉันอยู่ข้างนอก
เรายังพร่ำบอกห่วงกันเสมอ

ถึงจะมีเวลาเล็กน้อยก็คอยเจอ
ไม่เคยเผลอจืดจางห่างกัน
หลับเถิดคนดีสุดที่รัก
เธอจงพักอย่าได้โศรกศัลย์
เราจากแต่กายที่ห่างกัน
แต่ใจเธอใจฉันนั้นไม่ไกล

(8 พ.ค. 2555 : ป้าอุ๊)

ถึงการพลัดพรากจะเป็นเรื่องสามัญที่ปุถุชนต้องเผชิญอย่างน้อยสักครั้งในชีวิต ไม่เป็นคนพรากก็เป็นคนถูกพราก แต่การพลัดพรากใดเล่าที่กรีดหัวอกหัวใจคุณให้เจ็บแสบสุด ๆ ชนิดที่แม้ล่วงผ่านคืนวันเนิ่นนานเท่าไหร่ก็ยังฝากรอยแผลไว้ให้ดูต่างหน้า สำหรับ “ป้าอุ๊-รสมาลิน ตั้งนพกุล” ที่สามีถูกพรากเข้ากรงขังในสภาพเดินดี แต่กลับออกมาในสภาพนอนนิ่ง นับเป็นการสูญสิ้นแสนอัศจรรย์เกินกว่าหัวใจจะรับได้ เพราะนอกจากต้องแบกความเหงาระทมไว้เต็มทรวงอกแล้ว ยังจุกแค้นกับสิ่งที่กระบวนการยุติธรรมไทยหยิบยื่นอย่างต้องจำนน


“ฉันเข้าใจว่าบางครั้งชีวิตของเรามันก็ต้องมีคลื่นแรง บางครั้งก็นิ่งสนิท ไม่มีความพอดี
แต่นี่มันเกินเลยถึงขนาดนี้ ฉันรับไม่ได้ ครอบครัวฉันเป็นครอบครัวที่ธรรมดามาก ๆ
ไม่รู้ว่ามาเกิดเรื่องแบบนี้ได้อย่างไร” (หน้า 59)


ย้อนไปเมื่อ พฤษภาคม 2555 คงยังจดจำกันได้บ้างถึงข่าวคราวการจากไปของ “อากง-อำพล ตั้งนพกุล” ผู้ต้องหาคดี มาตรา 112 ที่ต้องแบกรับชะตากรรมแสนขื่นขม เขาไม่ได้แม้กระทั่งสิทธิ์ประกันตัว และโซ่ตรวนที่พันธนาการก็ไม่แยแสต่อสุขภาพพลานามัยที่ย่ำแย่ แอกอันโสมมจึงกักเขาจวบจนสิ้นลมหายใจ และความจริงที่ว่าเป็นสิ่งไม่ตายก็ได้ตายไปพร้อมกับเขาอย่างน่าอดสู กระนั้นนี่ไม่ใช่หรือคือความผิดปกติที่คล้ายกลายเป็นปกติ ซึ่งผู้ต้องหาคดีนี้เกือบทุกชีวิตต้องเผชิญ ทั้งที่ก่อนนั้นพวกเขาคือสามัญชนคนธรรมดาที่ดำรงอยู่ด้วยรักอันบริสุทธิ์ และแย้มยิ้มได้ด้วยไออุ่นจากครอบครัวเหมือนกันกับเรา

รักบริสุทธิ์ของสามัญชนคนชื่อ “อากง”

“ทุกวันนี้อั๊วะไม่ได้อยากได้อยากดีอะไรทั้งนั้น อยากให้ลื้อออกมา มาอยู่ตามประสาของเรา เราเคยจนของเราอยู่แล้ว เราทนมาได้ของเราอยู่แล้ว เรารับของเราได้ แค่อยากให้ลื้อออกมา”(หน้า 46)


ถ้อยสนทนาจากปากหญิงวัย 60 เอื้อนเอ่ยกับชาววัย 62 ในเรือนจำ สะท้อนสัมพันธ์อันแน่นหนักของรักแท้ที่ไม่ปรารถนาการพรากจาก แม้ 44 ปี ที่ครองคู่เคียงกันชีวิตของอากงและป้าอุ๊จะโรยด้วยกลีบกุหลาบบ้าง โรยด้วยตะปูใบเรือบ้าง แต่ก็ไม่เคยมีสักครั้งที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะทอดทิ้งกันให้ไกลห่าง รักแรกพบซึ่งก่อตัวขึ้นในโรงไม้จึงนำพาชายหญิงให้มีลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง ใต้เงาหลังคาบ้านเช่าเล็ก ๆ มีทั้งเสียงหัวเราะและเสียงทะเลาะประชดประชัน ป้าอุ๊ออกตัวว่าเธอไม่ใช่สุภาพสตรีแบบไทย ๆ ส่วนอากงก็เป็นคนตรง ๆ นึกอะไรก็เอ่ยออกมาไม่อ้อมค้อม กระนั้นการเป็นคู่ผัวเมียก็ไม่ต่างจากลิ้นกับฟันไม่ใช่หรือ กระทบกระทั่งกันบ้างแต่ก็ไม่อาจแยกจากกัน


“พอถึงเวลาฉันไม่สบาย เขาก็ทำได้หมด เช็ดตัวให้ หายาให้กิน ดูแลอย่างดี
ครั้งหนึ่งเขาถึงกับอุ้มฉันไปบนที่นอน เล่นเอาเกือบตกมาตายเพราะหลุดมือ
แต่เขาทำให้ได้ เวลาใครถามว่ามีเรื่องประทับใจอะไร ฉันมักนึกถึงตรงนี้” (หน้า 44)


รักบริสุทธิ์ของอากงไม่ได้มอบแก่เพียงป้าอุ๊เท่านั้น หากแต่กับลูกหลานและพ่อแม่ เขาก็เอาใจใส่ทุกคนอย่างไม่บกพร่อง หลานชอบดื่มนมวัวแดงไทย-เดนมาร์ก อากงก็จัดหามาให้ ครั้นหลานไม่สบายเขาก็ต้มยาขมให้กิน ส่วนพ่อแม่หากป่วยไข้ก็เป็นเขาที่คอยเฝ้าดูแลที่โรงพยาบาลไม่ห่าง ด้วยเหตุนี้กระมังชายผู้ย่างสู่วัยชราจึงเป็นที่รักของทุกคนในครอบครัว ถึงขั้นหลาน ๆ เรียงลำดับกันไว้ว่า “รักอากงที่หนึ่ง รักย่าที่สอง รักพ่อแม่ที่สาม”

แต่ความไม่แน่นอนในประเทศที่กระบวนการยุติธรรมกระพร่องกระแพร่งก็เหยียบย่ำมาพลิกผันทุกความรัก ไม่มีใครในบ้านคาดคิดว่าวันหนึ่งศูนย์รวมจิตใจของพวกเขาจะถูกพิพากษาให้จำคุกถึงยี่สิบปี แม้คำให้การของป้าอุ๊ยอมรับว่าก่อนถูกจับสามีของตนไปร่วมชุมนุมกับทั้งกลุ่มคนเสื้อเหลืองและเสื้อแดง แต่เธอก็ไม่เห็นว่าการไปของเขาจะเป็นภัยต่อสถาบันและชาติได้อย่างไรกัน


“บางทีเขายังมาบอกว่า เฮ้ยวันนี้ข้าวต้มเสื้อเหลืองอร่อยนะ กินเสร็จก็ไปนั่งอยู่กับเสื้อแดง
แล้วจะให้ฉันสรุปว่าอย่างไร คือเขาแค่เป็นคนที่มีช่วงเวลาที่ว่าง มีหน้าที่รับส่งหลาน
ถ้าเสาร์อาทิตย์ไม่ต้องรับส่ง เขาก็จะไปของเขา” (หน้า 59)


ไม่ว่าอากงจะเป็นเหลือง เป็นแดง หรือเป็นอะไร แต่เช้ามืดวันที่ 3 สิงหาคม ปี 2553 เขาก็กลายเป็นผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 อย่างจำยอม ตำรวจเข้าค้นบ้านเช่าทุกซอกทุกมุม และตะโกนเรียกหาอากงไม่ขาดสาย นักข่าวก็ตามเข้ามาถ่ายรูป เดินเหยียบไปบนที่นอน ถ่ายรูปหลาน ๆ ของอากงจนร้องไห้ระงม


“ค้นบ้านเสร็จ…นายตำรวจคนหนึ่งบอกฉันว่า รู้มั้ยแฟนป้าไปทำอะไรผู้ใหญ่ในบ้านเมือง
ถ้าทำจริงครอบครัวป้าเดือดร้อนแน่ ลูกหลานป้าลำบากแน่” (หน้า 61)


จะฟังให้เป็นคำเตือนที่หวังดีก็ไม่ผิด แต่สภาวะที่เป็นลูกไก่ในกำมือเช่นนี้กลับฟังคล้ายคำขู่เข็ญเสียมากกว่า ป้าอุ๊บอกว่าเธอไม่รู้หรอกว่าหนทางข้างจะเป็นเช่นไรต่อ ไม่รู้ว่ามันรุนแรงหรือเลวร้ายถึงขั้นไหน และไม่เคยคิดถึงว่าบั้นปลายชีวิตของคนรักจะต้องสิ้นใจในสภาพนักโทษ

เช่นนั้นหัวใจที่พลัดพรากจากไปอย่างกะทันหันจึงนำความเจ็บปวดรวดเร้ามาสู่หัวอกคนเป็นภรรยาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง หากลองสมมติว่าพ่อแม่ ลูก หรือคู่ครองของเราถูกกระทำเยี่ยงอากง เราเองก็คงต้องโกรธชนิดเลือดขึ้นตากันบ้าง เว้นแต่คุณจะเป็นมนุษย์เฉยชาที่ไม่เคยรักใครนอกจากตัวเองก็คงไม่รู้สึกรู้สากับความระทมของคนรายรอบเท่าไรนัก สำหรับป้าอุ๊ เธอทำทุกวิถีทางที่ถูกต้องเพื่อพาคนรักกลับบ้าน ตั้งแต่โทรขอความช่วยเหลือจากคุณปลา ผู้สื่อข่าวประชาไท เขียนจดหมายไปให้กำลังใจอาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ แต่สู้แค่ไหนก็เหมือนวิ่งวนอยู่กลางถ้ำมืด ไม่เห็นแสงสว่าง ไม่เห็นปลายทาง เพราะปากถ้ำถูกปิดไว้ด้วยยักษ์ตัวใหญ่เหลือเกิน ความเหนื่อยท้อมิเพียงเกิดแก่ทรวงอกป้าอุ๊  อากงเองก็เกินกว่าสังขารและหัวใจจะแบกไหว ในจดหมายที่เคยเขียนถึงทนายอานนท์ นำภา อากงระบุว่า

“ที่ผ่านมาผมยอมรับว่าเหนื่อยมาก ๆ เหนื่อยที่จะมีชีวิตอยู่ เหนื่อยที่จะต่อสู้เพื่อค้นหาความยุติธรรมให้กับตัวเองและคนในครอบครัว ผมหมดกำลังใจหลายครั้ง คิดถึงแต่ลูก เมียและหลาน ๆ…..ในแต่ละวันผมจะเฝ้ารออุ๊มาเยี่ยม บางวันพาหลาน ๆ มาทำให้ผมมีกำลังใจยิ้มได้บ้าง”

มิอาจหาญกล้าอาฆาตมาดร้าย
แต่ไยประหัตรักกันได้ลงคอ

“แม้โจทก์จะไม่สามารถนำสืบแสดงให้เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่า จำเลยเป็นผู้ที่ส่งข้อความตามฟ้องจากโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 08-1349-xxxx ไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ สมเกียรติ โดยตรง แต่ก็เพราะเป็นการยากที่โจทก์จะนำสืบด้วยประจักษ์พยาน เนื่องจากผู้ที่กระทำความผิดร้ายแรงย่อมจะต้องปกปิดการกระทำ จึงจำเป็นต้องอาศัยเหตุผลจากพยานแวดล้อม ซึ่งจากพยานแวดล้อมที่โจทก์นำสืบมาทั้งหมดนั้น ก็สามารถนำสืบแสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์ทั้งหมดโดยไม่มีข้อพิรุธ จึงมีน้ำหนักว่าจำเลยเป็นผู้ส่งข้อความทั้งสี่ข้อความ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการนำเข้าสู่ข้อมูลทางคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ และเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรด้วย”

คือส่วนหนึ่งจากคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่กล่าวโทษอากงด้วยพยานแวดล้อมเป็นหลัก ซึ่ง สถิต ไพเราะ อดีตรองประธานศาลฎีกาเห็นแย้งต่อคำตัดสินดังกล่าวว่าโจทก์ยังไม่สามารถนำสืบพยานอย่างชัดแจ้งว่า จำเลยเป็นผู้ส่งข้อความตามฟ้อง แล้วไปลงโทษจำเลยนั้นขัดกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 ซึ่งเขียนไว้ชัดเจนว่าให้ชั่งน้ำหนักพยาน อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นและจำเลยเป็นผู้กระทำ


“คำว่าแน่ใจก็คือ ชัดแจ้ง เมื่อคุณบอกว่าไม่ชัดแจ้งคุณไปลงโทษได้อย่างไร
ยิ่งตอนท้ายยิ่งเขียนผิดใหญ่เลย “แต่เป็นการยากที่โจทก์จะสืบด้วยประจักษ์พยาน”
มีกฎหมายใดที่บอกว่าเป็นการยากแล้วจะลงโทษจำเลยได้เลย หลักมีอันเดียวคือ
พยานโจทก์ต้องแน่ใจว่าจำเลยกระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็น ประจักษ์พยานหรือพยานแวดล้อม

ไม่ใช่ว่าพยานแวดล้อมแล้วมั่วลงโทษได้นะครับ และคำพิพากษานี้ก็จะอยู่ไปจนตายเพราะคำพิพากษานี้ ไม่ได้แก้ เนื่องจากอากงตายไปแล้ว จะถูกวิจารณ์ชั่วกัลปาวสาน เพราะศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่ได้แก้

อย่างนี้ผมเข้าใจว่าถ้าขึ้นศาลสูง ศาลสูงไม่ปล่อยไว้หรอกเพราะมันผิดกฎหมาย ขัดมาตรา 227
อย่างชนิดที่ว่าพระอาทิตย์ขึ้นทางตะวันตกเลย”


แม้ไม่รู้ถึงการกระทำของสามีทั้งหมด เพราะไม่ได้ตัวติดกันตลอด แต่ 44 ปี ที่ใช้ชีวิตผ่านร้อนผ่านหนาวมาด้วยกัน ภรรยาอย่างป้าอุ๊เองก็พอจะรู้ใจคอและอ่านความคิดของอากงออกบ้าง เธอยืนกรานอย่างขันแข็งว่าเขาไม่ผิด เขาไม่ได้ทำ และเขาไม่สมควรได้รับโทษแม้สักครึ่งวันก็ตามที


“ตอนที่ศาลตัดสินจำคุก 20 ปี ฉันไม่ยอม ฉันยอมไม่ได้จะยอมได้ไงคนไม่ผิด” (หน้า 70)

“…อาปอเป็นคนจงรักภักดี เจอที่ไหนจะต้องเข้าไปตรงนั้น ไปถวายพระพร ไปไหนมาก็จะเก็บมาไว้เป็นอนุสรณ์ ทั้งพระบรมฉายาลักษณ์ อาปอเก็บมาเป็นสิบ ๆ ปี” (หน้า 76)

แจ๊คไม่ได้ฆ่ายักษ์ ขอเพียงยักษ์อย่าฆ่าแจ๊ค อีกหนึ่งประโยคสะเทือนใจที่ป้าอุ๊เขียนไว้ใน รักเอย แต่คำอ้อนวอนนั้นดูเหมือนไม่สมปรารถนา แรกทีป้าอุ๊คิดว่าเจอแสงสว่างแล้วเพราะคดีของอากงกำลังยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ แต่เมื่อย่างสู่เช้าวันที่ 8 พฤษภาคม 2555 แสงรำไรก็วูบดับ ฟ้าหม่น หัวใจหมอง อากงตายลงอย่างไม่อาจอุทธรณ์ต่อชะตากรรมชีวิต ผลชันสูตรระบุสาเหตุการตายว่าเกิดจากมะเร็งตับลุกลาม อย่างไรเสียความตายของเขาก็อยู่ในความดูแลของราชทัณฑ์

และแม้จะจริงอยู่ว่าคนตายจากไปไม่หวนคืนส่วนคนเป็นต้องดำเนินชีวิตต่อ แต่ชีวิตที่ไร้รสรักเหมือนวันวานจะเป็นชีวิตที่สมบูรณ์โดยไม่ขาดพร่องได้อย่างไรกัน หัวเราะนะหัวเราะได้ ยิ้มแย้มก็คงยิ้มได้ แต่เพียงความทรงจำที่ติดตรึงวาบเข้ามาสักเพียงครู่ขณะ คิดหรือว่าจะกลั้นกลืนโดยไม่หวนทวนทบถึงมันอีก

“ความรู้สึกของฉันหลังจากไม่มีอาปอแล้ว แน่นอนว่ามันแย่มาก เราอยู่กันมาสี่สิบสี่ปี ฉันกับเขาเหมือนเราโตมาพร้อมกัน เป็นทั้งที่ปรึกษา ทั้งที่ดูแล และก็เป็นคู่ทะเลาะ พอเขามาจากไปกะทันหัน มันเหมือนขาดหายอะไรไป เหมือนอะไรที่มันเป็นคู่อยู่ แล้วมันหายไปข้างหนึ่ง มันก็ไม่มีความพอดีเลย” (หน้า 76)


“หลาน ๆ ยังถามว่าย่าเป็นอะไร…พอเห็นเราเฉย ๆ เขาก็บอกว่า ย่าไม่ได้คิดถึงอากงคนเดียวนะ
พวกหนูก็คิดถึง บางทีมานอนหนุนตักสองคนแล้วก็บอกว่า ย่า อากงอยู่ในหัวใจพวกเรานะ
ฉันยังพูดกับตัวเองในใจ อืม ดูมันพูดเหมือนเราเลย” (หน้า 80)


นี่สินะคือความหมายของรักบริสุทธิ์ที่ไม่ต้องบังคับหัวใจด้วยคำขู่เข็ญใด นี่สินะคือความห่วงแหนอันสัตย์ซื่อที่ไม่จำเป็นต้องทุ่มเงินตราเสกสรรค์ และนี่สินะคือรักแท้ที่พูดได้ทั้งคำว่ารักและติเตือนกันได้เมื่อเห็นว่าไม่เข้าท่า ฉันคิดว่าตัวเองและใครหลายคนก็คงปรารถนาเจอะเจอรักเฉกเช่นนี้บ้าง หากมีเพียงสักคนสองคนที่รักเราจริง ๆ รักอันเสแสร้งจากคนรายรอบเป็นร้อยเป็นพันก็คงไม่อาจเทียบเคียงได้เลย

ถึงวันนี้ป้าอุ๊หญิงผู้ถูกอยุติธรรมพรากรักยังคงดำเนินชีวิตแสนธรรมดาต่อไป และไม่ปฏิเสธว่าความเหงา ความเศร้ายังคงประเดประดังแทรกซึมเข้ามาในหัวใจ เธอบอกเล่าถึงชีวิตปัจจุบันผ่านซีรีส์ Still Live ของสำนักพิมพ์อ่าน เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมาว่าเธอยังคงบำบัดความเหงา ความเศร้าเสียใจด้วยกลิ่นหอม และบทเพลงที่ชื่นชอบ

“วันนี้มันเหงานะ…แต่พูดไม่ได้หรอกกับคนอื่น มันพูดได้แต่กันคนที่มันไม่มีแล้ว เรื่องราวในโลกนี้มันมีเยอะแยะทั้งที่เราพูดได้และพูดไม่ได้…เลยขอแค่ได้อยู่ในที่เงียบ ๆ แล้วได้ฟังเพลงที่ชอบ พร้อมกับมีกลิ่นหอมบ้างอะไรบ้าง แค่นี้ก็พอแล้ว แค่นี้ก็สุขแล้ว บางทีป้าอุ๊ก็บอกตัวเองว่าเพียงฝันก็สุขหนักหนา”

เมื่อปิดเล่ม ฉันเพียงหวังว่า “รักเอย” จะเป็นหนังสือเล่มสุดท้ายที่บันทึกความทรงจำอันเจ็บปวด อย่าให้มีใครสักคนในประเทศนี้ต้องเขียนร่ำรำพันถึงคนรักที่ถูกพรากจากด้วยกระบวนยุติธรรมที่ไม่เป็นธรรมอีกเลย เพราะอ่านแล้วมันเจ็บและจุกเกินกว่าความเป็นมนุษย์จะรับได้

หนังสือ: รักเอย
เรื่องโดย: รสมาลิน ตั้งนพกุล
เรียบเรียงโดย: เพียงคำ ประดับความ , ไอดา อรุณวงศ์
สำนักพิมพ์: อ่าน

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ขึ้นไว้บนเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี