ประโยคอกหักไปตลอดชีวิตของนักมนุษยศาสตร์ และหลายอย่างก็เป็นเรื่องเข้าใจผิด - Decode
Reading Time: 3 minutes

“สมมติว่าผมคิดประโยคขึ้นมาสามประโยคแล้วใครก็ตามได้ยินสามประโยคนี้จะไม่อกหักตลอดชีวิต คุณว่าเป็นนวัตกรรมไหม”

นั่นเป็นตอนหนึ่งของบทสนทนาระหว่างทีม De/code กับ ธีรภัทร รื่นศิริ อาจารย์ปรัชญา ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่องความท้าทายของมนุษยศาสตร์ ซึ่งเขาคิดว่าปัญหาใหญ่ที่สุดของมนุษยศาสตร์คือ ความเข้าใจผิด

“ผมว่าในปัจจุบันปัญหาที่หนักที่สุดของมนุษยศาสตร์คือความเข้าใจผิด ส่วนใหญ่เวลาได้ยินชื่อมนุษยศาสตร์จะมีภาพในหัวที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ตัวอย่างที่ผมขอยกจากประสบการณ์ส่วนตัว วันหนึ่งผมเคยไปสัมภาษณ์เรื่อง A.I. แล้วมีคนมาถามว่านักปรัชญาศึกษาอะไรโบราณ 2,000 ปีก่อนใช่ไหมซึ่งไม่ถูกสักทีเดียวเพราะเราก็ศึกษาเรื่องสมัยใหม่ด้วย อย่างเรื่องปรัชญาเทคโนโลยีแบบเรื่องปัญญาประดิษฐ์ (AI : Artificial Intelligence) เราก็ให้ความสนใจด้วยเหมือนกัน แต่ขนาดชื่อที่ฟังดูไฮเทคมาก ๆ อย่างปรัชญาเทคโนโลยีเขาก็ยังมีภาพในหัวอยู่เลยว่า เราศึกษาเรื่องอิทธิพลของไฟที่มีต่ออารยธรรมอยู่เลย ซึ่งนั่นเผลอ ๆ ไม่ใช่มนุษยศาสตร์ด้วยซ้ำ”

หนึ่งในความเข้าใจผิดที่อาจารย์ธีรภัทรได้ยกขึ้นมาเป็นสิ่งที่คนทั่วไปน่าจะรู้จักกันดีพอสมควร ความคุ้มค่าต่อการสร้างสังคมที่ดีของมนุษยศาสตร์ ซึ่งไม่แปลกเพราะมนุษยศาสตร์มีวิชาในสาขาที่ค่อนข้างกว้าง และหลายวิชาก็ไม่ได้เป็นวิชาที่มีสาขาอาชีพรองรับโดยตรง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ข้อสรุปดังกล่าวจะเป็นจริง

ด้วยเหตุนั้นทาง De/code จึงได้ทำการไปสอบถาม เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ว่ามนุษยศาสตร์เรียนไปแล้วตกงานจริงไหม ซึ่งก็ไม่ได้จริงขนาดนั้น ทั้งแม้วิชาที่ได้ตอนเรียนจะไม่ได้ใช้ในตอนทำงาน แต่ก็ยังคงมีประโยชน์ในทางอ้อมไม่มากก็น้อยซึ่งส่วนมากมักจะเกี่ยวพันกับการใช้ชีวิตในสังคม

เรียนมนุษยศาสตร์ไม่(รับประกัน)ตกงาน

คำถามว่าเรียนมนุษยศาสตร์ไปทำไม ในเมื่อสุดท้ายยังไงก็ตกงาน เป็นคำถามที่อยู่คู่กับมนุษยศาสตร์มานาน ด้วยการที่ทักษะของมนุษยศาสตร์ดูไม่ค่อยจะตรงกับตลาดแรงงานเสียเท่าไหร่ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ามนุษยศาสตร์จบไปจะไม่มีงานทำ ในฐานะอาจารย์และคนเรียนมนุษยศาสตร์ ธีรภัทร ได้เน้นยํ้าถึงจุดนี้ในตอนหนึ่งของบทสนทนา 

“จริง ๆ แล้วมนุษยศาสตร์ทำมาหากินได้ ผมมีรุ่นน้องเป็นนักการทูต มีรุ่นพี่ที่เป็นนักธุรกิจ มีลูกศิษย์ที่เป็นนักบัญชี มีลูกศิษย์ที่ตอนนี้กำลังฝึกงานอยู่ในบริษัทไอทีเป็นคนเขียนโปรแกรม ผมมีรุ่นน้องที่ทำงานเป็นวิศวะข้อมูล และเพื่อนในรุ่นเป็นทหาร คุณอาจบอกมันเป็นข้อยกเว้น แต่มันไม่จริงเลย” 

ทว่าคำพูดเมื่อออกมาจากปากนักมนุษยศาสตร์อย่างธีรภัทรในฐานะนักมนุษยศาสตร์ก็อาจถูกมองได้ว่า มีอคติเข้าข้างสาขาวิชา เราจึงได้ทำการพูดคุยกับคนที่เรียนจบสายมนุษยศาสตร์โดยตรงทั้งสิ้น 3 ชีวิตจากรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อหาว่าข้อเท็จจริง

ภานุพงศ์ จบจากคณะศิลปศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ ปัจจุบันทำงานตำแหน่งเป็น Search Engine Optimization โดยดูแลตั้งแต่ขั้นตอนวางแผน วิเคราะห์ เขียน และดูแลเว็บไซต์ เขาได้กล่าวว่าแม้วิชามนุษยศาสตร์จะไม่ได้ช่วยในงานสายที่ทำตรง ๆ แต่ก็ยังช่วยในเรื่องการจัดการทำในการทำงานและชีวิตตัวเอง

“ไม่​ได้​ช่วย​ตรง ๆ เพราะ​ไม่ได้ทำงานตรงสาย เท่าที่เห็นว่าช่วยก็อย่างเช่นปรัชญาช่วยให้จัดระเบียบความคิดได้ดีขึ้น ถูกต้องขึ้น ทำให้ใช้พัฒนาเป็นกระบวนการสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูล มี​ผลอย่างมากเวลาใช้คุยกับลูกค้าที่ไม่มีความรู้ทางการตลาด คือบางคนในเอเจนซี่อาจจะหงุดหงิดกับพฤติกรรมลูกค้า แต่เรามีภูมิเพราะเราเจอตัวละครงง ๆ มาเยอะ อย่างพวกตัวละครในนิยายของฟีโอดอร์ มิคาอิลโลวิช ดอสโตเยฟสกี ”

นรวัฒน์ เรียนรุ่นเดียวกับกับภานุพงศ์ โดยจบเอกภาษาญี่ปุ่นทำงานเป็น project coordinator โดยมีหน้าที่หลัก ๆ เป็นการจัดทัวร์ให้ชาวต่างชาติ นอกจากนั้นนรวัฒน์ยังได้ทำงานสอนวิชาด้านศาสนาอีกด้วย

“เจ้านายก็เห็นว่าเราชอบด้านศาสนา ก็เลยให้เราสอนด้านศาสนา ก็ถือว่าได้ใช้ทั้งศาสตร์ของปรัชญาร่วมกับภาษาญี่ปุ่น/อังกฤษที่จะเอาไปสอนชาวต่างชาตินั้น”

กรณีของนรวัฒน์ จึงแตกต่างจากภานุพงศ์ตรงที่ได้ใช้วิชาที่เรียนโดยตรง ทั้งกรณีของนรวัฒน์ถ้าเป็นไปได้เขายังแสดงถึงความชอบของวิชาปรัชญาอย่างเห็นได้ชัด และมีความพยายามจะไปเรียนต่อในสาขาวิชานี้

“พอดีเป็นคนชอบคิดตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว แล้วเห็นว่าปรัชญาก็น่าจะตอบโจทย์เรา ให้เราได้คิดมากขึ้น ได้วิเคราะห์มากขึ้น ทำให้เรามองโลกได้กว้างมากขึ้น ซึ่งเราก็แฮปปี้มากที่เราได้เรียน เพราะสุดท้ายการเรียนปรัชญา มันไม่ได้อะไรมาตรง ๆ แต่การตั้งคำถามหลาย ๆ อย่าง มันมีผลทางอ้อม ทุกวันนี้ทำให้เราตั้งคำถามกับโจทย์ที่เราได้รับ และทำให้เราเห็นลู่ทางที่หลากหลายและเอาไปปรับใช้ได้ในทุก ๆ สายอาชีพ”

แต่ขณะเดียวกันความรู้และทักษะอาจจะไม่ได้ใช้เลยก็ได้ กรณีของนมเย็น (นามสมมติ) จบเอกปรัชญา ปัจจุบันทำงานเป็นบุคลากรในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ได้กล่าวว่า เธอแทบไม่ได้ใช้ทักษะที่เรียน

“ไม่เถียงเลยว่า มนุษยศาสตร์อย่างปรัชญามันแทบไม่มีประโยชน์ในโลกทุนนิยมตอนนี้ แต่ในฐานะที่เรียนเอกปรัชญาแล้วชอบบรรยากาศ มันดูขัด ๆ กับที่พูดตอนแรกนิดนึง” ซึ่งข้อคิดเห็นของนมเย็นที่ว่า ทักษะการเรียนรู้อาจไม่ได้มีประโยชน์ตอนทำงาน แต่เธอก็ชอบในวิชาสาขานี้ ทั้งต่อให้เลือกใหม่ก็ยังคงเลือกเรียนวิชาสาขานี้อีก

เราสามารถดีลกับระบบจริยธรรมของตัวเองได้ดีจนเรารู้สึกชอบมัน ถึงจะหากินกับมันยังไม่ได้ แต่เราว่ามันให้เครื่องมือที่น่าจะเป็นประโยชน์กับเราได้ เอาจริง ๆ เราชอบที่ได้เรียนแนวคิดต่าง ๆ แล้วพอรู้ว่ามันมีแนวคิดอะไรแบบนี้ด้วย มันตื่นตาตื่นใจอะ แล้วมันสนุกที่ได้รู้”

การเรียนมนุษยศาสตร์ จึงดูจะไม่ได้หมายความว่าผู้เรียนจะไม่มีงานทำ แต่ไม่ได้รับประกันว่า จะได้ใช้วิชาที่เรียนโดยตรงเสียมากกว่า นั่นทำให้ผู้เรียนมนุษยศาสตร์ประกอบอาชีพได้หลากหลายในภาคส่วนทางเศรษฐกิจ ตั้งแต่ด้านไอที จนถึงความมั่งคง ซึ่งบางอย่างต้องอาศัยทักษะแรงงานมากกว่าที่เรียนอยู่ในระบบ ประเด็นทักษะแรงงานนี้ผู้เรียนมนุษยศาสตร์แต่ละคนก็มีความคิดว่าคณะหรือมหาวิทยาลัยควรจะช่วยเพิ่มทักษะบางอย่างเห็นได้จากความคิดเห็นของนมเย็น

“เป็นไปได้หลักสูตรก็ควรจะช่วยเพิ่มอะไรที่ส่งเสริมการงานอาชีพหน่อย ถ้าปรัชญาต้องการให้เด็กของตัวเองสำรวจโลกได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น หลักสูตรอาจจะต้องสอดคล้องกับโลกทุนนิยมมากหน่อย ทำให้เด็กของตัวเองภูมิใจได้ว่าเราขัดเกลามาดีนะ และมันใช้ทำมาหากินได้”

ภานุพงศ์ได้ขยายประเด็นนี้ และเสนอว่าหลักสูตรควรเอื้อให้ผู้เรียนได้แสดงทักษะที่ตนถนัดหรือได้ร่ำเรียนมามากกว่านี้

“ถ้า​มองในฐานะเด็กศิลปศาสตร์ ผมว่าหลักสูตรไม่อำนวยให้เด็กแสดงทักษะ คือ​สอนเขียนสอนคิดสร้างสรรค์มันก็มีสอนบ้าง (ถึงจะยังไม่ดีพอ)​ แต่คณะไม่มี platform ให้สร้างผลงานไปให้ HR ดู​ อันนี้พูดแทนคนทำงานตรงสายนะ แต่ถ้าคนเบี่ยงสายอย่างผมมันก็ต้องไปนั่งเรียนทักษะเฉพาะเองอยู่แล้ว มันน่าจะมีช่องให้พัฒนา hard skill อย่าง workshop writing for SEO หรือ workshop copy writing”

ดูแล้วปัญหาเรื่องทักษะแรงงานจะเป็นเรื่องของหลักสูตรที่ไม่สามารถทำให้เด็กแสดงความสามารถออกมาเท่าที่ควรเสียมากกว่าตัวสาขาวิชาเอง ซึ่งแม้ผู้เรียนมนุษยศาสตร์อาจไม่ได้ใช้ความรู้ตามที่เรียนมาโดยตรง แต่ก็ได้ประโยชน์จากองค์ความรู้ในทางอ้อมอยู่ไม่ใช่น้อยโดยเฉพาะการใช้ชีวิตในสังคม ทั้งการทำงานหรือว่าเรื่องความสัมพันธ์ แต่ความเข้าใจผิดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความเข้าใจผิดในตัวมนุษยศาสตร์เท่านั้น เพราะยังมีความเข้าใจผิดอื่น ๆ อีก โดยเฉพาะในระดับของรัฐ แต่ก่อนที่จะทำความเข้าใจในส่วนนี้เราควรต้องมาทำความเข้าใจเสียก่อนว่า มนุษยศาสตร์คืออะไร

มนุษยศาสตร์เป็นชื่อเรียกรวม ๆ ของกลุ่มวิชาที่ให้ความสนใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมและมนุษย์ในเชิงวิพากษ์ ซึ่งมีความแตกต่างจากสาขาวิชาอื่นตรงที่มนุษยศาสตร์ไม่ได้มุ่งแสวงหาข้อเท็จจริงเสียทีเดียว อาจารย์ธีรภัทรอธิบายว่า

“มนุษยศาสตร์โดยทั่วไปเขาจะนิยามทำนองว่าเป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรม เกี่ยวกับการแสดงออกหรือความเป็นมนุษย์ ในเชิงวิพากษ์ ผมว่าคำที่เราควรโฟกัสเลยคือคำว่าวิพากษ์ วิพากษ์ในที่นี้แปลว่า เราไม่ได้คิดถึงในเชิงข้อเท็จจริง (แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธข้อเท็จจริงด้วยเช่นกัน) เราไม่ได้คิดในเชิงว่าสังคมนี้มีวัฒนธรรมในการปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่อย่างไร มันเป็นเรื่องในเชิงเราไปพิจารณา ตั้งคำถามกับมันว่ามีปัญหาอะไรไหม เราไม่ได้พยายามศึกษาว่าโลกจริง ๆ เป็นยังไง แต่เราไปเสนอแนะทางวัฒนธรรมว่าวัฒนธรรมที่ดีขึ้นมันจะหน้าตาเป็นยังไง”

โดยการวิพากษ์ของมนุษยศาสตร์ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องส่วนตัวไปจนถึงเรื่องสังคม และมีลักษณะเด่นที่แตกต่างจากการวิพากษ์แบบสาขาวิชาอื่น ตรงที่มนุษยศาสตร์มีลักษณะเน้นการวิพากษ์ตัวเองมากกว่าสาขาวิชาอื่นอย่างเห็นได้ชัด

“ลักษณะสำคัญของมนุษยศาสตร์ คือ การวิพากษ์ตัวเอง นี่ไม่ได้ชมมนุษยศาสตร์นะ มันเป็นข้อจำกัดของมนุษยศาสตร์เลย ในวิทยาศาสตร์มันมีการทดลอง แต่นักมนุษยศาสตร์มันทดลองไม่ได้ เลยตั้งสมมติฐานแล้ววิพากษ์ตัวเอง ถ้าดีหน่อยก็ไปหาข้อมูล ไม่งั้นก็ต้องจินตนาการ อย่างจินตนาการว่าถ้าคนจะเถียงเราอย่างหนักแน่นที่สุด เขาจะเถียงว่ายังไง ถ้าสังเกตสิ่งที่วัดว่านักปรัชญาคนนั้นเก่งขนาดไหน จะเป็นการดูว่ามันวิพากษ์ตัวเองได้หนักแน่นแค่ไหน ถ้าแบบเสนอมาตอนแรกแล้วรู้สึกว่ามึงเก่งมาก พอถึงจุดวิพากษ์ตัวเองคนอ่านอุทานว่า แบบไอเดียมึงมีปัญหาตรงนี้นี่หว่า ก่อนที่จะสรุปออกมาเป็นไอเดียมึงเจ๋งแต่แรกแล้ว ถ้าสามารถทำอะไรแบบนี้ได้คนนั้นคือนักมนุษยศาสตร์ที่เก่งสุด ๆ”

ปัญหาเรื่องความเข้าใจว่ามนุษยศาสตร์เรียนอะไรเป็นปัญหาใหญ่ในวงการวิชาสายมนุษยศาสตร์ โดยแม้แต่เด็กนิสิตนักศึกษาที่เรียนหลายคนก็ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังเรียนอะไรอยู่ โดยเฉพาะเด็กปีหนึ่งซึ่งเพิ่งเข้ามาในรั้วมหาวิทยาลัยเป็นปีแรก

“ผมคิดว่าเด็กปรัชญาปีหนึ่งจำนวนมากไม่รู้ด้วยซ้ำปรัชญาคืออะไร หรือเด็กประวัติศาสตร์ก็ไม่เข้าใจประวัติศาสตร์คืออะไร หลาย ๆ คนเข้าเอกประวัติศาสตร์ด้วยเหตุผลอยากมาฟังอาจารย์เล่าเรื่องซึ่งไม่ใช่เรื่องไม่ดีที่อยากจะฟังคนเล่าเรื่อง แต่คุณไม่ควรเข้าเอกประวัติศาสตร์เพราะเอกประวัติศาสตร์ฝึกให้คุณเป็นนักประวัติศาสตร์ และฝึกการอ่านระหว่างบรรทัด”

การจะแก้ปัญหาในจุดนี้ได้จำเป็นต้องทำการสื่อสารให้เข้าใจอย่างทะลุปรุโปร่งเสียก่อน ซึ่งไม่ใช่แค่ในหมู่คนนอกวงการมนุษยศาสตร์ แต่รวมไปถึงคนในวงการรวมถึงภายในมหาวิทยาลัยเองด้วย ส่วนหนึ่งเพื่อให้เห็นว่าการเรียนมนุษยศาสตร์ก็มีทักษะบางอย่างที่ได้รับมากอย่างแน่นอน

“จุดแรกเราต้องทำให้เคลียร์กันภายในวงการก่อน เด็กจำนวนมากก็ยังไม่เคลียร์เลย เราควรพูดกับมหาวิทยาลัย พูดกับเด็กให้เคลียร์ แล้วขยายวงไปในระดับสังคม ผมเคยนั่งคิดว่าควรจะส่งจดหมายไปยัง HR บริษัทใหญ่ ๆ ว่าเราไม่ใช่แบบนี้แต่เป็นแบบนี้ อย่างประวัติศาสตร์ก็ส่งไปเลยว่าไม่ได้มานั่งสอนท่องจำ แต่สอนการอ่านเอกสาร และทำความเข้าใจข้อมูลเชิงเอกสาร HR อาจบอกไม่มีประโยชน์ก็ได้ ไม่แปลกไม่ใช่ว่าอะไรจะมีประโยชน์กับทุกบริบท แต่อย่างน้อยสร้างความกระจ่างชัดให้กับทุกฝ่าย”

แต่เรื่องความเข้าใจนี่ยังมีที่ใหญ่มากกว่าระดับตัวบุคคล หรือเอกชน แต่ยังรวมไปถึงในระดับรัฐซึ่งมีปัญหาเรื่องความเข้าใจในตัวมนุษยศาสตร์และศาสตร์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่ศาสตร์เชิงประยุกต์หรือสร้างนวัตกรรม

รัฐมองมนุษยศาสตร์ในแบบไหน

รัฐไม่ได้มีเพียงภาพจำของมนุษยศาสตร์ที่ค่อนข้างคลาดเคลื่อน แต่มีภาพจำของสาขาวิชาอื่นที่คลาดเคลื่อนไปด้วย

กรณีของมนุษยศาสตร์เมื่อไปถามอาจารย์ธีรภัทร เขาก็ตอบว่ามหาวิทยาลัยและรัฐมีปัญหาเรื่องความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับมนุษยศาสตร์ไม่ต่างจากสังคมทั่วไป โดยยกประเด็นเรื่องความเข้าใจว่ามนุษยศาสตร์ไม่สามารถสร้างนวัตกรรมได้ขึ้นมา

“ช่วงก่อนโควิด มีคนจากกระทรวงมาพูดว่ามนุษยศาสตร์จะทำนวัตกรรมได้ยังไง เขาก็บอกมนุษยศาสตร์ทำนวัตกรรมยากไม่เหมือนทางวิทยาศาสตร์ แต่ก็ควรจะพยายามทำ ผมตั้งคำถามมาทันทีว่ามันยากกว่าวิทยาศาสตร์ได้ยังไง เราไม่ได้พูดถึงวิทยาศาสตร์ประยุกต์เช่นวิศวกรรม นั่นเป็นคณะนวัตกรรมอยู่แล้วหน้าที่ของมันคือใช้และสร้างนวัตกรรม ถามว่าผมเป็นนักปรัชญา ผมสร้างนวัตกรรมยากกว่า เป็นนักคณิตศาสตร์ นักฟิสิกส์ยังไง ปัญหาคือ เขามีภาพในหัวว่า เรียนสายวิทย์มันจะสร้างนวัตกรรมเต็มไปหมดเลย ทั้ง ๆ ที่วิทย์ที่เน้นสร้างนวัตกรรมมันเป็นแค่ส่วนย่อย ถ้าเราไปดูงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ส่วนมากวิจัยเป็นสิบปีค่อยเกิดนวัตกรรมบางอย่างขึ้น”

โดยเขาได้ขยายต่อไปว่าเพราะนี่เป็นความเข้าใจในเรื่องของนวัตกรรมที่คลาดเคลื่อนและเป็นปัญหาต่อวงวิชาการ

“เขาบอกว่านวัตกรรมเป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมขายได้ โดยยกตัวอย่างดิกชันนารีในสมาร์ทโฟน เรื่องรูปธรรมยังพอพูดกันได้ แต่เรื่องขายได้เนี่ยไม่ใช่เลย ผมก็ถามเขาโดยยกตัวอย่างสิ่งที่เป็นนวัตกรรมแน่ ๆ อย่างถ้าคณะวิศวกรรมสร้างเครื่องหว่านเมล็ดข้าวที่สามารถหว่านเมล็ดข้าวที่หนึ่งเร็วขึ้นสามเปอร์เซ็นต์ เขาก็ยอมรับว่าเป็น และผมก็เห็นด้วย คราวนี้ผมก็สมมติว่า ผมคิดประโยคขึ้นมาสามประโยคแล้วใครก็ตามได้ยินสามประโยคนี้จะไม่อกหักตลอดชีวิต คุณว่าเป็นนวัตกรรมไหม

“เขาก็ทำท่าครุ่นคิดแล้วถามว่ามันอยู่ในแอปฯหรืออยู่ในมือถือหรือเปล่าอาจารย์ นี่คือความผิดพลาด นวัตกรรมไม่ใช่เรื่องของการมีแอป ไม่ใช่เรื่องของการขายได้ แต่คือเรื่องของการเอาความรู้มาประยุกต์ใช้แล้วเกิดความใหม่ขึ้นจากการประยุกต์ ถ้าผมประยุกต์ใช้ความรู้ปรัชญาของผมแก้ปัญหาอกหักให้คนทั้งโลกได้ด้วยสามประโยค มันโคตรของความเป็นนวัตกรรม ถ้าทำได้ผมควรจะได้รางวัลเกียวโต รางวัลโนเบล แต่เขาไม่มองว่ามันเป็นนวัตกรรม ถ้าเราคิดแบบที่ผมว่าอริยสัจ 4 ก็เป็นนวัตกรรมไม่ต่างจากเครื่องหว่านเมล็ดข้าว (แต่เป็นนวัตกรรมที่ดีไหมสามารถถกเถียงกันได้) นวัตกรรมมันไม่เกี่ยวกับการขายได้ด้วยซํ้า เราสามารถสร้างนวัตกรรมที่รัฐไทยขาดทุนเป็นสิบเป็นร้อยล้าน แต่เป็นที่สุดของนวัตกรรมก็ได้”

เนื่องจากความเข้าใจนวัตกรรมเช่นนี้มนุษยศาสตร์รวมถึงสาขาวิชาวิทยาศาสตร์บางสาย จึงง่ายต่อการถูกมองข้าม เพราะนวัตกรรมส่วนใหญ่ค่อนข้างจะเป็นนามธรรม และมักจะไม่มีเจ้าของที่ชัดเจน ทั้งนวัตกรรมเหล่านั้นแม้จะช่วยทำให้ชีวิตดีขึ้นจริง แต่ก็ไม่ได้จำเป็นเสียขนาดขาดไม่ได้ หากขณะเดียวกันธีรภัทรก็ได้เสนอว่ามนุษยศาสตร์เป็นวิชาที่ถึงจะไม่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต แต่ก็มีประโยชน์มากๆ กับประเทศกำลังพัฒนาแบบประเทศไทย

ความคุ้มค่าที่ไม่จำเป็นของมนุษยศาสตร์

จากมุมของอาจารย์ธีรภัทรเขาตอบอย่างชัดเจนว่า มนุษยศาสตร์ไม่จำเป็นต่อสังคม แต่มีความคุ้มค่าต่อสังคม โดยเฉพาะสังคมไทย

“อาจเป็นคำตอบที่สุดโต่งในฐานะนักมนุษยศาสตร์ แต่ผมคิดว่ามนุษยศาสตร์ไม่จำเป็น ถ้าให้เลือกสังคมที่ไม่มีช่างประปากับนักวิจารณ์วรรณคดี ผมเลือกสังคมที่ไม่มีนักวิจารณ์วรรณคดีเลยดีกว่า แต่ทำไมเราต้องเลือกล่ะ”

“เราไม่ได้อยู่ในภาวะขาดแคลนจนเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งสักหน่อย สมมติให้เปลี่ยนนักปรัชญาทั้งหมดเป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์หมดเลยผมก็ว่าไม่คุ้ม ถ้าวิศวกรคอมพิวเตอร์มี 5,000 คน ส่วนอาจารย์ปรัชญามีประมาณ 50 เปลี่ยนคน 50 คนเป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์ยังไงก็ไม่น่าจะมีความเปลี่ยนแปลงแบบสำคัญอะไร แต่สังคมจะไม่มีการวิพากษ์แบบนักปรัชญาเลย ถ้าเรามองว่าการวิพากษ์มีประโยชน์ในตัวเอง ยังไงก็คุ้มที่จะมีวิชาสายมนุษยศาสตร์ แต่ถ้าไม่เห็นประโยชน์ของการวิพากษ์ วิชาพวกนี้ก็จะไม่จำเป็น ทั้งไม่คุ้มค่าด้วย”

ความคุ้มค่านี้เห็นได้จากการอิทธิพลทางความคิดของงานมนุษยศาสตร์ในประเทศไทย อย่างงานประวัติศาสตร์จำนวนมากก็มีอิทธิพลต่อความคิดของคนในสังคมและทำให้คนมองปัญหาที่ตนเผชิญได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น การมีอยู่ของมนุษยศาสตร์จึงช่วยในการพัฒนาคุณภาพของสังคมในอีกทางหนึ่ง

“มนุษยศาสตร์เติบโตได้จากเศรษฐกิจ ถ้าเราอยู่ในสถานะลำบากมาก ๆ อย่างอยู่กลางทะเลทราย แล้วเหลือน้ำให้คนดื่มได้แค่คนเดียว ระหว่างให้ผมดื่มกับให้หมอดื่มคุณให้หมอดื่มเถอะ มีประโยชน์กับคณะเดินทางกว่าเยอะเลย ยังไงนักปรัชญาก็ช่วยอะไรคุณกลางทะเลทรายไม่ได้ ไม่แปลกที่ถ้าเศรษฐกิจแย่ก็ต้องไปลงทุนกับอาชีพที่จำเป็นมากกว่า ประเทศที่มีทรัพยากรเหลือเฟือก็ลงทุนกับมนุษยศาสตร์ได้มากขึ้น

ในประเทศเจริญมาก ๆ มนุษยศาสตร์มีความใกล้ชิดกับสังคมมากจนคุณค่าไม่ค่อยชัดเจน ในไทยพออาจารย์ประวัติศาสตร์เขียนเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ สถาบันทหาร มันเปิดหูเปิดตาคนมาก เพราะมันโดนปิดมาเยอะ แต่พอไปเขียนในอังกฤษมันอาจจะเปิดหูเปิดตา แต่ไม่สร้างอิมแพคเหมือนของไทย มนุษยศาสตร์ในไทยจึงมีประโยชน์มาก แต่มีความหวังน้อยด้วยเช่นกัน เพราะมนุษยศาสตร์ในประเทศเรา มันไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะเปลี่ยนแปลง มันอยู่ในฐานะที่ต้องอธิบายให้เขารู้อยู่บนกระดานด้วยซํ้า”

แต่การพัฒนาสังคมแบบมนุษยศาสตร์ก็เสี่ยงที่จะถูกละเลยจากสังคม ส่วนหนึ่งเพราะลักษณะของมนุษยศาสตร์เป็นวิชาที่เกิดมาเพื่อสร้างประโยชน์สาธารณะทำให้ไม่สามารถสร้างกำไรได้ เพียงแต่แนวคิดหลายอย่างก็เกิดขึ้นจากสาขาวิชามนุษยศาสตร์ เช่น แนวคิดเพศสภาพ หรือแนวคิดทางด้านสิทธิและเสรีภาพก็ได้รับการพัฒนาผ่านนักมนุษยศาสตร์ แต่สังคมก็ไม่ได้เอื้อต่อตัวสาขาวิชานี้ขนาดนั้น แล้วนั้นทำให้สาขาวิชานี้เติบโตยากในประเทศกำลังพัฒนาโดยที่บางที่สาขานี้อาจจะมีประโยชน์ไม่ด้อยกว่าสาขาวิชาอื่นเสียด้วยซํ้าก่อนจะทิ้งท้ายว่า

“คุณจะเป็นนักมนุษยศาสตร์ในสังคมที่ไม่เอื้อให้คุณเป็นนักมนุษยศาสตร์คุณต้องรวย ถ้าคุณมีเงินเก็บในบัญชีสักสองร้อยล้าน คุณนั่งๆ นอนๆ คุณก็ใช้เงินเป็นหมื่นๆ ได้ แต่ถ้าคุณต้องใช้หนี้หนึ่งแสนบาทให้หมดภายในหนึ่งปีหลังเรียนจบ คุณไม่ควรเรียนมนุษยศาสตร์ ซึ่งนั่นไม่ใช่ความผิดของมนุษยศาสตร์ มนุษยศาสตร์เกิดมาเพื่อ charity และ public service สังคมต่างหากที่ไม่เอื้อให้เกิด public service”