ตอบแสงตะวันว่าครั้งนึงเราเคยโรมานซ์ - Decode
Reading Time: 2 minutes

ตอบแสงตะวันว่าครั้งนึงเราเคยโรมานซ์

ความเรียงในวันที่ชีวิต “เคลื่อน” ออกไปจากคอกรั้วและชวนนั่งเครื่องบินไปดูด้วยตาว่าไม่มีเทวดาลอยอยู่บนก้อนเมฆของวรพจน์ พันธุ์พงศ์

“ทำไมพ่อ ไม่ทำงานอะไรที่ได้เงินมากกว่านี้”
“จนก็อยู่อย่างจนสิลูก”
นั่นเป็นคำถาม – คำตอบของพ่อ – ลูกเมื่อ15 ปีที่แล้ว

นักเขียนผู้เป็นพ่อ “พี่หนึ่ง – วรพจน์ พันธุ์พงศ์” เขียนเล่าอย่างนี้ในความเรียง “ตอบแสงตะวัน”
ระหว่างเงินกับงาน เขาสนใจอย่างหลังมากกว่า
อย่าเพิ่งฟูมฟายในรายได้ของตัวเอง หากมันน้อย
อย่าหยิ่งผยองกับตัวเลขบัญชีในธนาคารหากมันมากมายมหาศาลเพราะยังมีปัจจัยแวดล้อมอื่นแทรกแซงอยู่อีกหลายอย่าง

เขาอาจไม่ได้เป็นพ่อดีเด่น ตามนิยามครอบครัวอบอุ่นชนชั้นกลาง
ที่จะทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อลูกและไม่เชื่อด้วยว่านั่นจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสม
เขาเกิดก่อนลูก หน้าที่การงานก็มีทำ ไม่ได้วิเศษวิโส แต่ก็ไม่เลวร้าย
งานขีดเขียนในโลกหนังสือเป็นสิ่งที่เขาภูมิใจ สนุก หลงไหล

รายรับ ไม่ใช่หมายความเฉพาะเงิน
ปราชญ์โบราณสอนว่า สิ่งมีค่าจริงๆ มักมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น

เจ๋ง! เราอ่านแล้วก็ทึ่งเพราะเห็นด้วยที่สุด
“ช่างลึกซึ้ง มีพลัง และโรแมนติก” ถ้อยคำในความเรียงที่ตอบลูกของพี่หนึ่ง

แต่…นั่นเป็นต้นฉบับเดิมค่ะ
พี่หนึ่งเล่าในหนังสือเล่มนี้ว่า 15 ปีผ่านไป ความคิดเรื่องเงินทองของเขาก็เปลี่ยน
จาก “จนก็อยู่อย่างจน” เป็น “ไม่มีก็หา” และ “ห้ามจมอยู่กับความจน”

เขาว่าจนแล้วพอใจไม่ได้
เพราะขึ้นชื่อว่าจน ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี จะต้องตะเกียกตะกายให้มีมากกว่านี้
เรื่องเงิน ต้องเปิดขอบฟ้าออกไป ทุกคนต้องมีเงินล้านได้
ให้โยนความเชื่อจอมปลอมที่ทำลายมนุษย์ทิ้งไป
พ้นจากมรสุมในจิตใจ เงินคือปัจจัยปราบเซียน

“จริง! เรียลมาก” อ่านแล้วเราก็ฮีกเหิมเพราะเห็นด้วย (อีกแล้ว)

พี่หนึ่งว่า
เงินสร้างความรัก – ความรู้ได้ ถ้าใช้เป็น
เงินสร้างชีวิตคนได้ สร้างศิลปะได้
ยิ่งใช้ ยิ่งคุ้ม
ยิ่งใช้ ดอกไม้แห่งมิตรภาพยิ่งผลิบาน ระบบนิเวศวิทยาได้ทำงาน สิ่งแวดล้อมและสังคมก็จะน่าอยู่

และเพื่อไม่ให้ลูกหลานติดกับดักวาทกรรมลวงหลอกหลอน เขาเสนอให้สังคมลบประโยคนี้ทิ้ง
“เงินทองเป็นมายา ข้าวปลาสิของจริง” !!!

น่าสนใจว่าความคิดอ่านของเราเปลี่ยนไป ในวัน-เวลาที่เปลี่ยนผ่าน
และเรากล้าเผชิญหน้ากับความคิดเดิมโดยไม่คิดหนี เพื่อตรวจทานและยอมรับมัน

เมื่อวาน (10 มีนาคม 64) เราถามพี่หนึ่งถึงเรื่องนี้
“ชีวิตมันคือการ ’เคลื่อน’ ไปเรื่อยๆ
‘เคลื่อน’ แล้วเราก็มองไป อันไหนไม่ใช่ ก็ดึงออก
อันไหนใช่ ก็กอดรัดไว้ให้แน่นขึ้น ลงลึกจริงจังกับมันมากขึ้น

นักเขียนในวันนึงก็เคยโรมานซ์
แต่เดิมอาจแตะนิดหน่อยด้วยความไม่เข้าใจ มีแต่ความเห็น แต่ไม่ได้ถ่องแท้
เวลาผ่านไป คิดกับมันมากขึ้น เข้าใจมากขึ้น ก็ยืนยัน
มนุษย์ก็เคลื่อนไปในทุกเรื่องตามข้อมูล ตามประสบการณ์”

การ ‘เคลื่อน’ ที่พี่หนึ่งพูดถึงเมื่อวาน
เมื่อเรากลับมาอ่านความเรียงอีกบท “คิดถึงไม้หนึ่ง ก. กุนที”
ตีความว่ามันก็คงหมายถึงการเคลื่อนออกมาจากคอก

“ขอบใจมากที่พากูออกไปจากคอกรั้ว” 

พี่หนึ่งเขียนขอบคุณพี่ไผ่ – ไม้หนึ่ง เพื่อนผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิด ชี้ชวนให้ตั้งคำถาม และเป็นคนที่ได้เรียนรู้วิชาการเงินจากเข

พี่ไผ่ – กวีที่ทำมาหากินด้วยการเป็นพ่อค้าขายข้าวหน้าเป็ด เอาตัวรอดทางเศรษฐกิจ รู้จักทุนนิยม ไม่ต้องง้อการหยิบยื่นจากอำนาจเก่าในระบอบอุปถัมภ์

ก่อนที่เขาจะไม่อยู่แล้ว
พี่ไผ่ออกไปเดินถนนหลังรัฐประหาร 2006 ในวันที่ไม่มีข้อมูลมากพอจากสื่อสารมวลชน
ถ้าไม่ออกไปก็โดนหลอกให้อยู่ในคอกรั้ว – พี่หนึ่งว่าอย่างนั้น

การสนทนา – โต้เถียงกับพี่ไผ่
การพบปะผู้คนบนท้องถนนและหนังสือสายทางเลือกทำให้คอกรั้วเดิมของพี่หนึ่งถูกรื้อทิ้ง สลายกลายเป็นอดีต
ถ้าไม่มีพี่ไผ่ พี่หนึ่งบอก เขาก็ไม่รู้ว่าจะอยู่จุดไหนในวันนี้

ระหว่างก้มหมอบกราบหรือยืนขึ้น
แต่นิทานเรื่องเก่า สู้เรื่องเล่าแบบคนเท่ากันไม่ได้
พี่หนึ่งจึงขอเลือกทางเดินไปสู่โลกกว้าง ส่วนใครอยากเป็นสัตว์เลี้ยงหรือสิ่งของก็สุดแล้วแต่
เป็นกวีมันต้องเท่ – พี่ไผ่กล่าว
เกิดมาเป็นคนมันต้องเท่ – พี่หนึ่งกล่าว
เท่ที่มีความหมายตรงกันข้ามกับทาส

เท่ที่แปลว่า เสรีชน

อีกแล้ว! เราเห็นด้วย
ช่างเป็นคำที่คม มีพลังและเท่

การ “เคลื่อน” ออกนอกคอกรั้ว ก็คงจะเหมือนการ “บิน” ของนกที่ออกนอกกรง
“นกมองเห็นท้องฟ้าแล้ว เราถอยกลับเข้าไปในกรงไม่ได้หรอก
ถัดจากนี้ มีแต่ต้องบิน ล้มแล้วลุก ร่วงก็เชิดหน้าออกแรงบินใหม่”
เป็นข้อความในความเรียงเรื่อง “ให้มันจบที่รุ่นเรา” ที่พี่หนึ่งพูดถึงข้อเรียกร้องของนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ไว้
โลกมันจะเปลี่ยน – จะชอบหรือไม่ชอบเราหยุดกักขังมันไม่ได้

ในประเทศที่รุงรังไปด้วยพิธีกรรม ที่กักขังปัญญาของผู้คนให้สาละวนอยู่แต่กับเรื่องเล็กๆ ที่จำนวนมากหาสาระไม่ได้
คล้ายกับว่ามีคนจงใจที่จะทำให้เวลาในชีวิตของเราจมปลักอยู่กับบุญคุณและความศักดิ์สิทธิ์ที่ห้ามตั้งคำถาม

“หรือว่ามันเป็นความตั้งใจ”

คือชื่อของความเรียงที่ชวนตั้งคำถามว่าแท้ที่จริงแล้วเป็นความจงใจหรือไม่
มีผู้ขุดหลุมพรางให้เราหลงวน บิดเบือนประเด็น ยกมือปิดแผ่นฟ้า ไม่ให้เรามองเห็นใจกลางของปัญหาหรือไม่
ทำให้เราย่ำอยู่กับเปลือกและเดินไปไม่ถึงแก่น
ทำให้ทั้งสังคมจมอยู่กับความกลัว

สำหรับเรา ในสังคมรัฐ-ราชการเป็นใหญ่
กว่าจะเดินไปถึงแก่น เราก็อาจจะตายคาเปลือก

อีกครั้ง
“นกมองเห็นท้องฟ้าแล้ว เราถอยกลับเข้าไปในกรงไม่ได้หรอก
ถัดจากนี้ มีแต่ต้องบิน ล้มแล้วลุก ร่วงก็เชิดหน้าออกแรงบินใหม่”
ในวันที่มีนกทยอยออกจากกรง  นกล้มแล้วลุก  นกออกแรงบินใหม่
ในวันที่มีคนกล้ามากขึ้น เสียงเริ่มดังมากขึ้น

แม้ว่าจะเป็นความตั้งใจ จงใจ
พี่หนึ่งบอกว่าหน้าที่ของเราคือรื้อถอน  ลบสลายความจงใจนั้น เปิดให้เห็นความจริง ความลวง นั่งเครื่องบินไปดูด้วยตาว่าไม่มีเทวดาลอยอยู่บนก้อนเมฆ

สำหรับเรา ในฐานะที่ก็เคยโรมานซ์

ความเรียงใน “ตอบแสงตะวัน” ชวนให้เรา‘เคลื่อน’ออกจากความโรมานซ์ – รื้อถอนคอกรั้วเพื่อเตรียมซื้อตั๋วนั่งเครื่องบินไปดูด้วยตาว่าไม่มีเทวดาลอยอยู่บนก้อนเมฆนั้นพร้อมกับใครอีกหลายคน  

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ขึ้นไว้บนเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี